เงื่อนไข และ เงื่อน เวลา

มาตรา 182 ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 183 นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมได้แสดงเจตนาไว้ด้วยกันว่า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสำเร็จ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเช่นนั้น

มาตรา 184 ในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแห่งนิติกรรมอันอยู่ในบังคับเงื่อนไขจะต้องงดเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะพึงได้จากความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้น

มาตรา 185 ในระหว่างที่เงื่อนไขยังมิได้สำเร็จนั้น สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของคู่กรณีมีอย่างไร จะจำหน่าย จะรับมรดก จะจัดการป้องกันรักษา หรือจะทำประกันไว้ประการใดตามกฎหมายก็ย่อมทำได้

มาตรา 186 ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดเสียเปรียบ และคู่กรณีฝ่ายนั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นไม่สำเร็จ ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดได้เปรียบและคู่กรณีฝ่ายนั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นสำเร็จให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นมิได้สำเร็จเลย

มาตรา 187 ถ้าเงื่อนไขสำเร็จแล้วในเวลาทำนิติกรรม หากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนให้ถือว่านิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข หากเป็นเงื่อนไขบังคับหลังให้ถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ
ถ้าเป็นอันแน่นอนในเวลาทำนิติกรรมว่าเงื่อนไขไม่อาจสำเร็จได้หากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนให้ถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ หากเป็นเงื่อนไขบังคับหลังให้ถือว่านิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข
ตราบใดที่คู่กรณียังไม่รู้ว่าเงื่อนไขได้สำเร็จแล้วตามวรรคหนึ่งหรือไม่อาจสำเร็จได้ตามวรรคสองตราบนั้นคู่กรณียังมีสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 184 และมาตรา 185

มาตรา 188 นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 189 นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ
นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลังและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัยให้ถือว่านิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข

มาตรา 190 นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 191 นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด
นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด

มาตรา 192 เงื่อน เวลาเริ่มต้นหรือเงื่อน เวลาสิ้นสุดนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะปรากฏโดยเนื้อความแห่งตราสารหรือโดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าได้ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหนี้หรือแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยกัน
ถ้าเงื่อน เวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้ หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น

มาตรา 193 ในกรณีดังต่อไปนี้ ฝ่ายลูกหนี้จะถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อน เวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดมิได้
(1) ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(2) ลูกหนี้ไม่ให้ประกันในเมื่อจำต้องให้
(3) ลูกหนี้ได้ทำลาย หรือทำให้ลดน้อยถอยลงซึ่งประกันอันได้ให้ไว้
(4) ลูกหนี้นำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาให้เป็นประกันโดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ยินยอมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2546
สัญญาจ้างว่าความระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ทั้งสองได้กำหนดข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษโดยให้เป็นผลต่อเมื่อมีการถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว ทั้งในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องงดเว้นไม่กระทำการให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะพึงได้จากความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 182,183 และ 184 ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งมูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้ทั้งสองนั้นเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ทั้งสองตามข้อตกลงย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ทั้งสองจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความดังกล่าวได้ต่อเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว แต่เนื่องจากขณะที่เจ้าหนี้ทั้งสองขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ยังไม่มีการถอนคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีดังกล่าว และไม่แน่ว่าจะมีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้นั้นหรือไม่ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษนั้นได้ทันที แต่ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความเพียงจำนวน 2,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบุในสัญญาจ้างว่าความจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544
ธุรกรรมของจำเลยในการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทร โดยการจ่ายจำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ก็คือการรับประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
เมื่อ อ. พนักงานของจำเลยได้รับคำขอและเงินฝากงวดแรกจาก ช. อ. ต้องส่งเรื่องไปให้ผู้อำนวยการภาคของจำเลยเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ภายใน 1 เดือนนับแต่จำเลยได้รับเงินฝากงวดแรกของ ช. คือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้อำนวยการภาคของจำเลยได้พิจารณาอนุมัติให้ออกกรมธรรม์ให้แก่ ช. ย่อมแสดงชัดว่าจำเลยยอมรับว่า ช. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ ส่วนข้อกำหนดในคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทรที่ว่า "ข้าพเจ้ายอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว..." นั้น ย่อมมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้เท่านั้น
จำเลยผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันรับฝากเงินคือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้ง ช. ยังได้ส่งเงินฝากงวดที่ 2 ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนก่อนวันครบกำหนดคือวันที่ 3 ถึงสองวันด้วยกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เพราะกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในเรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2544
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลเป็นหนังสือระบุว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีทางแพ่งเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างที่เป็นมูลเหตุให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทคดีนี้อีก อันเป็นการะงับข้อพิพาท จึงบังคับกันได้ตามกฎหมายไม่ต้องทำต่อหน้าศาลเสมอไป แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์ดำเนินคดีอาญาต่อไปทันที และเมื่อจำเลยชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว ยอมให้หนี้ตามเช็คในคดีอาญาสิ้นผลผูกพัน โจทก์จะถอนฟ้อง ก็มิใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่เป็นผลให้มูลหนี้ระงับต่อเมื่อจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วน ดังนั้น มูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทจึงได้สิ้นผลผูกพันไปแล้วคดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6902/2543
ในการชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ดำเนินคดีหรือไม่ และจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190 พิพากษาให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ และให้โจทก์คืนเงินมัดจำแก่จำเลยเป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24แม้โจทก์ไม่ได้โต้แย้งไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยสัญญาระบุไว้ว่า "หากในกรณีที่ผู้จะซื้อยังไม่พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม ผู้จะขายยินยอมผ่อนผันเลื่อนกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปจนกว่าผู้จะซื้อพร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่"สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินถือว่าผู้จะซื้อคือจำเลยเป็นเจ้าหนี้ ส่วนฝ่ายผู้จะขายคือโจทก์เป็นลูกหนี้ จึงมิใช่สัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้หากแต่เป็นเงื่อนไขแล้วแต่ใจของเจ้าหนี้ สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2542
ส. กับโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทจึงเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับ ก. พิพาทกัน การที่ ส. กับโจทก์ทำสัญญาตกลงออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆให้จำเลยในการดำเนินคดีโดยหวังจะได้ที่ดินพิพาทนั้นเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีข้อตกลงให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นความ ซึ่ง ส. กับโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีนั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) ไม่ใช่สัญญาที่เข้าลักษณะจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2541
แม้ใบสั่งจองบ้านและที่ดินฉบับพิพาทมีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยจะทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกันนับตั้งแต่วันสั่งจองเป็นต้นไป และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายดังกล่าวกันก็ตาม แต่ใบสั่งจองฉบับดังกล่าวได้ระบุราคาขายบ้านและที่ดินดังกล่าวไว้และระบุว่าในวันสั่งจองโจทก์ได้วางเงินจำนวน 100,000 บาทกับระบุถึงค่าโอนกรรมสิทธิ์ไว้ว่าผู้ซื้อและผู้ขายออกฝ่าย ละครึ่ง แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยและโจทก์ว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่กันต่อไป ใบสั่งจองบ้านและที่ดินจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย และเงินที่โจทก์วางในวันสั่งจองจำนวน 100,000 บาท เป็นเงินมัดจำอันเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาดังกล่าวได้ทำกันขึ้นแล้วทั้งเงินมัดจำนี้ยังเป็นประกันการที่จำเลยและโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินนั้นด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 และ 456 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจองบ้านและที่ดินจึงมิใช่นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนที่ยังไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจนกว่าจะได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจองบ้านและที่ดินและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ เพราะถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้เพื่อขายทอดตลาด ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าวตามราคาซื้อขายขณะนั้น ซึ่งหากโจทก์จะซื้อบ้านและที่ดินใกล้เคียงกับบ้านและที่ดินดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ที่ใกล้เคียงกันโจทก์ต้องซื้อบ้านและที่ดินใหม่ในราคาที่สูงกว่าเดิม ดังนี้ การ ผิดสัญญาของจำเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และต้องรับผิดในเงินค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์รวมทั้งค่าธรรมเนียมถอนการยึดเป็นความเสียหายซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยผิดสัญญาไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4093/2540
ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.5.1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมของบริษัทผู้รับประกันภัยจำเลยเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น และข้อ 1.10เงื่อนไขบังคับก่อนระบุว่า บริษัทอาจจะไม่รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้ เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่คู่กรณี ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับผิดต่อคู่กรณี การที่พนักงานสอบสวนสั่งปรับโจทก์ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายนั้น เป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนเอง หาใช่โจทก์ยอมรับผิดต่อคู่กรณีไม่โจทก์จึงมิได้กระทำผิดเงื่อนไขซึ่งจำเลยจะอ้างเป็นเหตุที่จะไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเลยค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องก็อยู่ในวงเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540
หนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงระบุว่า"ฝ่ายขวาและฝ่ายหญิงตกลงที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าในวันที่ณสำนักงานเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครหลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว"ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อนเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่สำเร็จเพราะยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่ได้ตกลงไว้แม้จะมีการอ้างว่าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ตามแต่เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงกรณีจะอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงจึงยังไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ยังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2539
สัญญาจะซื้อขายดินที่ระบุว่าผู้ขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินหลังจากผู้ขายได้ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเรียบร้อยแล้วไม่เกิน18เดือนนั้นไม่ใช่เงื่อนไขบังคับก่อนแต่เป็นข้อตกลงในการไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ซื้อว่าผู้ขายจะต้องแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้ซื้อภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวซึ่งไม่พ้นวิสัยไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทตรงตำแหน่งที่โจทก์ตกลงซื้อจากจำเลยมีผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแต่ผู้เดียวให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินตรงตำแหน่งดังกล่าวโอนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงจึงอาจมีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นซึ่งไม่ได้เข้ามาในคดีและไม่มีส่วนรู้เห็นตกลงในการแบ่งแยกโฉนดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364วรรคสองคำขอของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่อาจบังคับได้ศาลต้องยกคำขอแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายโดยไม่สามารถแบ่งแยกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาและแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเท่ากับจำนวนที่ระบุในสัญญาศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2538
โจทก์จำเลยทำ ข้อตกลงกันแม้จะเรียกว่าเป็น หนังสือรับสภาพหนี้ แต่มีข้อสาระสำคัญว่าจำเลยยอมรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์และจะชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ ถ. และผู้จัดการมรดกได้จำหน่ายทรัพย์มรดกแล้วโดยโจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์ในคดีเช็คพิพาทที่โจทก์ร้องทุกข์ไว้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเข้าลักษณะสัญญา ประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ ส่วนข้อตกลงระบุว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อผู้จัดการมรดกได้จำหน่ายที่ดินทรัพย์มรดกเป็น เงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่มิใช่ขึ้นอยู่กับจำเลยหรือสุดแล้วแต่ใจจำเลยหากแต่ขึ้นอยู่กับ ผู้จัดการมรดก ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นเรื่องวิธีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวหาตกเป็น โมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152(เดิม)ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2537
ซ.ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องคดีโดยซ.จะชำระค่าจ้างให้โจทก์เมื่อได้รับเงินตามฟ้องเรียบร้อยแล้ว เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน เพราะ ซ. จะได้รับเงินหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคต และไม่แน่นอน ซ.หรือกองมรดกของซ.จะชำระค่าจ้างให้โจทก์ต่อเมื่อเงื่อนไขสำเร็จ เมื่อเงื่อนไขตามสัญญายังไม่สำเร็จ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2540
สิทธิเช่าซื้อเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด หาใช่เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขบังคับหลังไม่เพราะโจทก์ผู้ซื้อกับจำเลยผู้ขายได้ตกลงชื้อและตกลงขายในสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเป็นที่ยุติเสร็จสิ้นแล้ว โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อได้ส่งมอบสิทธิแห่งสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อและโจทก์ผู้ซื้อก็ได้ชำระค่าสิทธิตามสัญญาให้แก่จำเลยผู้ขายแล้ว และภายหลังจากทำสัญญาซื้อขาย จำเลยผู้ขายได้ส่งมอบรถยนต์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ผู้ซื้อสิทธิได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตามสิทธิแห่งสัญญาเช่าซื้อแล้ว
การใดจะเป็นลาภ มิควรได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 406 ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นได้ทรัพย์เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย แต่คดีนี้ขณะทำสัญญาซื้อขายจำเลยมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยขายสิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ เงินที่ได้จากการขายสิทธิอันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมิใช่เรื่อง ลาภ มิควรได้จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ส่วนการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่างวดที่เช่าซื้อต่อบริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนเป็นเหตุจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อเสียหายต้องติดตามยึดรถคืนเพื่อส่งมอบให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเกิดแต่ความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ไม่ถือว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าซื้อต่อกันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถคันพิพาทคืนจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7151/2538
จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 5 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่และเพื่อเป็นหลักประกันการใช้เงินจำเลยตกลงจะโอนที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสองข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งในสัญญาที่ตกลงกันไว้ทั้งเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันเพื่อให้โจทก์ทั้งสองมีความมั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยตามสัญญาที่ตกลงทำกันขึ้นใหม่เพื่อมิให้หนี้เดิมของโจทก์ทั้งสองต้องสูญไปเท่านั้นไม่ใช่เงื่อนไขบังคับหลังที่จะทำให้สัญญาที่ตกลงกันไว้ต้องยกเลิกหรือระงับสิ้นไปเพราะโจทก์ไม่ได้รับโอนที่ดินภายในกำหนดเวลาตามสัญญาการที่จำเลยมิได้โอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสองหาทำให้ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง5ฉบับที่จำเลยได้ออกชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองต้องถูกยกเลิกหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใดจำเลยยังต้องผูกพันรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับ ที่ออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่ หนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่1และโจทก์ ที่ 2 เป็นคนละจำนวนต่างหากจากกันมิใช่หนี้ร่วมโจทก์แต่ละคนสามารถแยกฟ้องจำเลยต่างหากจากกันได้อยู่แล้วการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันก็เพราะจำเลยเป็นคนเดียวกันและเพื่อเป็นการสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลสำหรับคดีของโจทก์ที่1และโจทก์ที่2แยกต่างหากจากกันนั้นถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2537
ข้อความตอนต้นในพินัยกรรมระบุว่า ข้าพเจ้าทำหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นก่อนหน้าที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศมีกำหนด 45 วัน หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ให้มีผลใช้บังคับได้ เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตไปแล้วข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงการระบุข้อเท็จจริงให้ทราบว่าได้ทำพินัยกรรมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากตนเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วให้พินัยกรรมสิ้นผลบังคับ พินัยกรรมฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2535
ตามหนังสือสัญญามีข้อความว่า วันที่ 7 เมษายน 2529 จำเลยได้ขายบ้านพร้อมที่ดิน 1 แปลง ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท ได้รับชำระราคาจากโจทก์แล้ว และยอมมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์วันที่ 30 สิงหาคม 2529 เมื่อสิ้นกำหนดสัญญานี้แล้ว หากจำเลยไม่นำเงินมาชำระคืนในจำนวนดังกล่าว จำเลยจะมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อเพียงผู้เดียว สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ในข้อสัญญาไม่มีข้อความว่าคู่สัญญาจะไปทำการจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง เพียงแต่มีข้อกำหนดในการชำระราคาคืนอันเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง และข้อกำหนดในการมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์อันเป็นเงื่อนเวลาเท่านั้น จึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดหาใช่สัญญาจะซื้อจะขายไม่ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 115โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนโดยอาศัยมูลจากสัญญาซื้อขายได้