บุคคลไร้ความสามารถ



มาตรา ๒๘  บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2558
         โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้อนุบาล จ. หาได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวไม่ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายและเปิดทางเข้าออก อาจดูเหมือนเป็นการบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะส่วนตัวดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจก็เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดี หาทำให้ฟ้องโจทก์ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้อนุบาลของ จ. กลายเป็นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล จ. และสาระสำคัญของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องสัญญาเช่าเดียวกันกับที่โจทก์ใช้เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาศัยข้ออ้างดังกล่าวเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องแย้งโจทก์ให้ออกไปจากห้องพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสของ จ. เป็นผู้อนุบาลของ จ. ที่เป็นคนไร้ความสามารถนั้น บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในคดีหมายเลขแดงที่ 25/2548 ระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลของ จ. ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ และมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่จำเลยทั้งสองกระทำการแทน จ. ต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมให้การและฟ้องแย้งมานั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมา จ. ถึงแก่ความตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของจำเลยทั้งสองที่มีต่อ จ. ซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลงในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1572 (เดิม), 1581 (เดิม) แก้ไขใหม่มาตรา 1598/6 และ 1598/18 แล้ว และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้ามรดกจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม ก็หามีผลทำให้การขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ของจำเลยที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจขัดต่อกฎหมาย กลับมีผลเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10507/2556
             เมื่อ ส. คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถย่อมสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของ ส. และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายกองมรดกของ ส. ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้น หากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. อย่างไร ความเสียหายที่ ส. ได้รับย่อมเป็นมรดกของ ส. ที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาล เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยาย หาผูกพันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556
           จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551
             พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 บัญญัติว่า "บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคล และการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า "ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท มิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า "ผู้จัดการ" หรือ "ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ไว้ จึงต้องนำ ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงโดยในบริษัทจำกัด "ผู้จัดการ" หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้นจึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัท ส. บริษัท ท. บริษัท ม. บริษัท ป. บริษัท จ. และบริษัท ว. ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด อ. แทนบริษัทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551
              อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง ว. ภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้ง ว. เป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ว. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนวิกลจริตมาตั้งแต่ ว. ยื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงไม่มีสิทธิทำการแทนเท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้ ว. เป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้แล้ว
มาตรา ๒๙  การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2550
               จ. เจ้ามรดกถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถแต่ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นผลให้ จ. ยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิม แม้ในระหว่างที่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คำสั่งที่ให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงยกเลิก เพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นศาลเดียวกันที่ได้สั่งให้ จ. เป็นคนไร้ความสามารถมาก่อน ทั้งไม่มีผลทำให้สถานภาพการเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลต้องขาดช่วงไปหรือสะดุดหยุดชั่วคราวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด การที่ จ. โดยความยินยอมของผู้พิทักษ์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ จ. ตกเป็นคนไร้ความสามารถพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550
             โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้ ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2549
              โจทก์ฟ้องคดีอาญาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาบุกรุก แม้ปรากฏว่าโจทก์อยู่ในฐานะเป็นบุคคลล้มละลายที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น หมายถึง เฉพาะแต่การฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น ไม่รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วย และการที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้ล้มละลายก็ไม่มีฐานะถึงขนาดจะตกเป็นผู้ไร้ความสามารถอันจำต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) อีกทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5 และ 6 มิได้มีบทมาตราใดกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วด้วย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534
              โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วของส. ผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส.ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 ได้ และโดยนัยเดียวกันแม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควร โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530
     จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม
เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

มาตรา ๓๐  การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2542
             ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการป่วยทางสมองอย่างชัดแจ้งถึงขนาดเป็นคนวิปลาส ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบ เนื่องจากโจทก์ยังคงช่วยเหลือตนเองได้ในระดับกิจวัตรประจำวัน มีการตัดสินใจพอใช้ มีสติสัมปชัญญะรู้ได้ในระดับทั่วไป และสามารถพูดจาโต้ตอบได้ อีกทั้งยังปรากฏว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทหลังจากโจทก์ไปทำงานตามปกติประมาณ 1 เดือน ซึ่งโจทก์ระบุว่าเหตุที่ไปทำงานเพื่อที่จะได้วันเวลาราชการโดยไม่ต้องลาป่วยหรือขาดราชการ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์มีความรำลึก มีความรู้สึก และมีความรับผิดชอบเช่นบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะทั่วๆ ไป อาการป่วยของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ใน ม. 30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองจึงไม่ตกเป็นโมฆียะตาม ม. 30 ดังกล่าว ดังนั้นนิติกรรมการขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทสมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวเพื่อเพิกถอนนิติกรรมและไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้

มาตรา ๓๑  ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา ๒๘ ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา