เพิกถอนการฉ้อฉล


มาตรา ๒๓๗  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559
คดีก่อนเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีก่อน การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

มาตรา ๒๓๘  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน
อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

มาตรา ๒๓๙  การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน

มาตรา ๒๔๐  การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560
คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559
ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ ๓รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๖ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558
การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558
ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5696/2558
คำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 และมาตรา 88 ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เป็นอันเสียเปล่าไม่มีผล ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาท ดังนี้ จึงหาใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ แต่เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14934/2557
การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วมีระยะเวลาห่างกันเพียง 1 เดือนเศษ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้โดยเสน่หาจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12781/2557
เมื่อพิจารณาทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ และมีอยู่ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับรายได้ประจำของจำเลยที่ 1 ย่อมเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินฝากไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555
การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552
    แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้น อ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

    ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2551
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกได้ชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ของศาลชั้นต้นจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551
 จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้

จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2551
 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้

ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2551
อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ โจทก์ที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะของทรัพยสิทธิ เมื่อเป็นเรื่องของทรัพยสิทธิ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 แต่ต้องไปว่ากล่าวเอาตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 ในส่วนที่ว่าด้วยภาระจำยอม ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นได้ความเพียงว่าเป็นผู้เช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนการฉ้อฉลได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8999/2550
 จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ ค. ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523 จำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6514/2550
เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2544 และการร้องขอให้เพิกถอนการโอนต้องนับถึงวันที่ยื่นคำร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลชั้นต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนแล้วจึงไม่ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ตามที่กำหนดจึงให้คืนเพื่อทำมาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ถือว่าได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจในการตรวจคำคู่ความและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เท่านั้น โดยคำร้องดังกล่าวยังอยู่ที่ศาลและผู้ร้องได้ทำคำร้องมายื่นใหม่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ภายในกำหนดที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องที่ยื่นมาแต่แรกนั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ที่ต้องนับอายุความถึงวันดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความ

นิติกรรมการโอนขายรถยนต์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้กระทำลงโดยลูกหนี้และผู้คัดค้านได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนด ศาลจึงชอบที่จะเพิกถอนซึ่งนิติกรรมนั้นเสียได้ตามคำร้องของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113, 114 แต่ผู้คัดค้านได้โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริตแล้วและการเพิกถอนดังกล่าวนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 สิทธิในรถยนต์พิพาทของบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้ แต่เมื่อไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างผู้คัดค้านกับบุคคลภายนอก ผู้ร้องย่อมไม่สามารถติดตามเอารถยนต์พิพาทกลับมาเป็นกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ศาลฎีกาจึงยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทและบังคับให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาแทนให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องมีคำขอมาในท้ายคำร้องแต่เพียงอย่างเดียวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2550
การโอนทรัพย์พิพาทเป็นนิติกรรมที่กระทำภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ทั้งเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนอันเป็นการให้โดยเสน่หา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 113 ประกอบมาตรา 114 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ผู้โอนและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนอันเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย เนื่องจากทรัพย์พิพาทแม้จะมีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าเป็นเวลาอีกกว่า 10 ปี ทรัพย์พิพาทก็ยังคงมีมูลค่าอยู่ แต่จำเลยที่ 2 กลับโอนให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่มีค่าตอบแทนในขณะที่คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 5 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 86,908,418.05 บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 โอนทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน โดยจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าเป็นทางที่ทำให้เจ้าหนี้ทั้งหลายต้องเสียเปรียบ อันเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2550
การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับกับบุคคลนอกคดีได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ เพราะโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ
การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2548
บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบปีบัญชี 2539 จำนวน 18,779 บาท ซึ่งต่ำกว่าการประเมินของพนักงานโจทก์ถึง 8,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 2,817,028.21 บาท เมื่อโจทก์มีหมายเรียกให้จำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำเพื่อการไต่สวนตรวจสอบจำเลยที่ 1 จึงต้องทราบแล้วว่าเจ้าพนักงานจะต้องประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ใหม่ และจำเลยที่ 1 ต้องมีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจะยังไม่ทราบจำนวนแน่นอนจากการประเมินของเจ้าพนักงาน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงให้ที่ดินดังกล่าวพ้นจากการถูกยึดบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้

กรมสรรพากรโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์คืออธิบดี พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของโจทก์ทุกระดับแม้จะมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่โจทก์แต่ก็ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ เมื่อนิติกรของโจทก์ได้ทำบันทึกข้อความเสนอให้อธิบดีโจทก์ทราบเรื่องการโอนที่ดินเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสองในวันที่ 17 มีนาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้มูลเหตุให้เพิกถอน จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10252/2546
 เอกสารหมาย จ. 4 เป็นเอกสารที่โจทก์อ้างอิงและยื่นต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามข้อ 15 แห่งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ดังนั้น แม้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความถึงเอกสาร ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถหยิบยกเอกสารดังกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
เอกสารหมาย จ. 4 เป็นหนังสือทั่วไปที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ ของธนาคารจำเลยที่ 4 รวมทั้งแจ้งถึงผู้จัดการธนาคารอื่นว่า จำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นตามบัญชีรายชื่อผู้ค้างชำระภาษีอากรดังกล่าว มีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหรือไม่ หากมีเป็นเงินฝากประเภทใด เลขที่บัญชีใด จำนวนเท่าใด แล้วแจ้งให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 ทราบ โดยไม่ได้แจ้งว่าโจทก์กำลังจะบังคับชำระหนี้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนรับจำนอง ที่ดินพิพาทโดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 4 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738 - 5739/2545
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 กับพวก โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าทราบเรื่องดีแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยังรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดตามที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ไว้แล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา แต่เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของใน น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5207/2545
อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้

การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2544
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมากไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 จึงไม่ผูกพันกองมรดกตามมาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลัง ไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามมาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2543
การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามมาตรา 214 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวและต้องเสียเปรียบเนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้เพราะการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรือเจ้าหนี้ที่ยังมิได้ฟ้องร้องเพื่อให้บังคับชำระหนี้ก็ตาม
ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 240 หมายถึง เจ้าหนี้ได้รู้ทั้งข้อที่ว่าลูกหนี้กระทำนิติกรรมที่จะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และข้อที่ว่าลูกหนี้รู้ว่านิติกรรมดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งการรู้ต้นเหตุในกรณีโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลหมายถึงการรู้ของอธิบดีกรมป่าไม้ซึ่งเป็นผู้แทนผู้แสดงเจตนาความประสงค์ของโจทก์ ไม่อาจถือว่าการรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลของพนักงานอัยการที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีแพ่งเดิมเป็นการรู้ของอธิบดีกรมป่าไม้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2541
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และสละสิทธิครอบครองให้ แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไปจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3จะได้ออก น.ส. 3 ก. แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยที่ 3 มีชื่อใน น.ส.3 ก. จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ไป แม้จำเลยที่ 4 ซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดในที่ดินพิพาท ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองไปขายโดยไม่ชอบ และขอให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.ที่จำเลยที่ 3 ออกโดยไม่ชอบ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทราบมูลคดีนี้ คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2541
สิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์ที่จำนอง และจะระงับสิ้นไปด้วยเหตุ 6 ประการ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทที่ซื้อจากผู้ตายไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก.ก่อนที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลและหากฟังได้ว่าธนาคาร ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไว้โดยสุจริตแล้วเช่นนี้สัญญาจำนองย่อมจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและไม่ระงับสิ้นไปแม้จะมีคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2ก็ตาม คำขอของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตายจึงไม่กระทบถึงสิทธิของธนาคาร ก. ผู้รับจำนองและมีผลบังคับได้ แม้ราคาประเมินของที่ดินและบ้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น450,000 บาท ผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ 1 ใน 4 ส่วน คิดเป็นเงิน112,500 บาท ก็ตาม แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับญาติพี่น้องของผู้ตายรวม 4 คน ดังนั้นการที่ผู้ตายจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลภายนอกย่อมทำได้ยากและได้ราคาต่ำ เมื่อผู้ตายกำลังเดือดร้อนเพราะถูกธนาคารทวงถามให้ชำระหนี้ ประกอบกับเป็นการขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายด้วยเช่นนี้ แม้จะขายในราคาเพียง 50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นการร่วมกันฉ้อฉลอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7440/2540
การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น มิใช่เป็นการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4439/2540
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ด้วยการให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1778 ซึ่งรวมทั้งที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้กลับคืนสู่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 โอนคืนแก่จำเลยที่ 1 ทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกมาให้แก่โจทก์อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ส่วนข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งเรื่องก่อนเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา ให้แก่โจทก์แล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกมาให้โจทก์พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอกอีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์จะมีผลสุดท้ายเป็นอย่างเดียวกัน คือ ขอให้โอนที่ดินพิพาทจำนวน 15 ไร่ 3 งาน71 ตารางวา เป็นของโจทก์ก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4384/2540
บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วยและเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2540
โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้ดำเนินการโอนหุ้นกลับให้จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของหุ้นตามเดิม แม้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3คบคิดกันโอนหุ้นตามคำฟ้องโดยฉ้อฉล อันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ก็ตาม แต่การให้เพิกถอนการโอนหุ้นรายนี้ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งได้รับโอนหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ อันเป็นการบังคับคดีต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิได้ถูกฟ้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2540
ในชั้นร้องขัดทรัพย์ศาลที่ออกหมายบังคับคดีจะชี้ขาดได้แต่เพียงว่าสมควรปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือไม่เท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา288วรรคแรกและถ้าหากได้ความจริงว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับโอนทรัพย์นั้นมาโดยไม่สุจริตเป็นการหลีกเลี่ยงการชำระหนี้แก่โจทก์แล้วศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237ได้อยู่แล้วฉะนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนชื่อผู้ร้องทั้งสองออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2539
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์แล้วไม่ชำระเงินค่าแชร์คืนโจทก์เจ้าหนี้จึงฟ้องคดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี แล้วจำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันจำเลยทั้งสามได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสีย เปรียบอันเป็นการฉ้อฉล จึงขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโดยให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้นเพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดี แต่คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามไว้ในสำนวนเดียวกันตั้งแต่ต้น โดยฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่างหากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน ประกอบกับคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 โดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบกับมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2ซึ่งศาลจะต้องมีคำพิพากษารวมกัน คำพิพากษาศาลย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 3 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แต่เป็นเลขโฉนดที่ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 โดยมิได้เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ เพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้น ฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078/2539
ว.แทนโจทก์ทราบเมื่อประมาณเดือนกันยายน2534ว่าที่ดินพิพาทมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งถือได้ว่าโจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลแล้วแต่โจทก์ก็ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่1กรกฎาคม2535ซึ่งเป็นการกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลและยังอยู่ภายในกำหนดเวลา1ปีนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนดังกล่าวอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/14(5)และตราบใดที่ที่ดินพิพาทยังถูกยึดอยู่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ยังไม่สิ้นสุดอายุความไม่เริ่มนับใหม่ตามมาตรา193/15วรรคสองดังนั้นเมื่อผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องโจทก์ต่อสู้ว่ายังเป็นของจ. โดยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลคดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2539
จำเลยที่2รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของม. ซึ่งเป็นบิดายังถือไม่ได้ว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่1รับโอนที่พิพาทมาในฐานะเป็นมรดกของม.โดยยังไม่ได้มีการแบ่งให้แก่ทายาทอื่นและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของม. ถือว่าจำเลยที่1ครอบครองที่พิพาทไว้แทนทายาทอื่นด้วยทั้งจำเลยที่1ก็ไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังทายาทอื่นแม้จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของม. ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันจากจำเลยที่1แม้พ้นกำหนด1ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือเมื่อโจทก์ทั้งหกรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกคดีก็ไม่ขาดอายุความส่วนที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1และที่2นั้นมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3923/2539
บุคคลที่จะอ้างอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237ได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ในขณะที่ลูกหนี้กระทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินส่วนการที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา113บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องร้องขอต่อศาลได้เป็นเรื่องกฎหมายล้มละลายให้อำนาจให้แก่ผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้นอายุความที่จะใช้บังคับย่อมต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงเป็นเกณฑ์พิจารณาจะถือเอาวันที่ผู้ร้องได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นหลักในการเริ่มต้นนับอายุความไม่ได้ เมื่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทได้รู้หรือควรจะรู้เหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่15พฤศจิกายน2527ซึ่งนับถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่24 มีนาคม2531เป็นเวลาเกินกว่า1ปีแล้วคำร้องของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา240และพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2539
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7636/2538
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์จำเลยที่1เป็นผู้ครอบครองดูแลแทนโจทก์การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1ที่2และที่3ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนไม่อยู่ในบังคับอายุความเพิกถอนการฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2538
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา27และมาตรา91เจ้าหนี้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตามจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่1เด็ดขาดเมื่อวันที่19พฤษภาคม2529ในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่1เป็นบุคคลล้มละลายแต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่1เมื่อวันที่11กันยายน2532เพราะหนี้สินของจำเลยที่1ได้ชำระเต็มจำนวนแล้วตามมาตรา135(3)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ซึ่งเป็นผลให้จำเลยที่1หลุดพ้นจากบรรดาหนี้สินทั้งปวงโจทก์จะอ้างว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่1ถูกฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้เพราะการฟ้องคดีล้มละลายได้กระทำโดยเปิดเผยและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483บัญญัติบังคับไว้แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 790/2538
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำต่อบุคคลภายนอกได้ถ้าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่1เป็นเพียงภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของ พ.ลูกหนี้จำเลยที่1จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของ พ.เพราะไม่ใช่หนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1490จำเลยที่1ไม่ใช่ลูกหนี้ของโจทก์อันโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่1และที่2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 733/2538
คดีก่อนอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเพื่อประโยชน์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562อันเป็นการฟ้องแทนจำเลยซึ่งห้ามมิให้ฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นบุพการีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคแรกที่พิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์เมื่อประเด็นพิพาทในคดีนี้มีเพียงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเท่านั้นคดีก็ไม่ต้องสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยอีกต่อไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งแปลงแต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมแทนโจทก์ด้วยและขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ถือกรรมสิทธิ์รวมออกจากโฉนดจึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30และไม่พ้นอายุความห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา240ซึ่งใช้เฉพาะสำหรับกรณีฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2538
ในระหว่างจำเลยที่1ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่1ตกลงหย่าขาดกับภริยาและยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่บุตรย่อมเป็นข้อพิรุธว่าเตรียมจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินพฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยที่1รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบการที่จำเลยที่1รู้จักจำเลยที่2มานานจำเลยที่2รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทในระหว่างจำเลยที่1ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการฉ้อฉลโจทก์โจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3566/2537
อธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ได้ทราบเรื่องการโอนที่ดินอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นเหตุให้เพิกถอนการโอนได้ การนับระยะเวลาที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเพิกถอนการโอนจึงต้องนับแต่วันดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆของโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนโอนเกินกำหนด 1 ปีแต่บุคคลดังกล่าวมิใช่ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จึงยังถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2530จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2745/2537
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวล-กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2537
เมื่อโจทก์ได้ว่าจ้างให้สำนักงานกฎหมาย ท. สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้โจทก์ สำนักงานกฎหมาย ท.ได้มอบหมายให้อ.เป็นผู้ไปสืบหา เมื่อ อ. ไปสืบและทราบว่าจำเลยที่ 1 มีบ้านและที่ดิน แต่ได้ทำนิติกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร การที่อ.ทราบก็ต้องรายงานให้สำนักงานกฎหมายท. ทราบ และสำนักงานกฎหมาย ท.ต้องรายงานให้โจทก์ทราบเพียงแต่อ. ทราบมิได้ถือว่าโจทก์ทราบด้วย เพราะ อ. มีหน้าที่เพียงแต่สืบให้ทราบเรื่องทรัพย์สินของจำเลย เพื่อโจทก์จะได้ทำการบังคับคดีต่อไปอ. มีหน้าที่เพียงแต่จะต้องรายงานต่อไปตามลำดับจนถึงตัวโจทก์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2530 ถือว่าโจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลวันที่ 8 มิถุนายน 2531 ยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2535
คดีร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่าได้ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง นั้น หากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยมิชอบก็จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการขาย ซึ่งมีผลทำให้เสมือนไม่มีการขาย แม้จะมีการโอนทรัพย์ให้ผู้ซื้อไปแล้ว ก็จะต้องเพิกถอนการโอนนั้นหรือหากผู้ซื้อได้โอนให้แก่บุคคลอื่นก่อนแล้วไม่ว่าจะโอนไปกี่ทอดและไม่ว่าผู้รับโอนจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องเพิกถอนการโอนหมดเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายตราบนั้นก็ยังต้องถือว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยชอบผู้ซื้อย่อมมีสิทธิรับโอนทรัพย์มาได้และมีสิทธิโอนต่อ ๆ ไปได้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องในคดีหมายเลขแดงที่ 265/2528ของศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้อ้างว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดย่อมมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาลและมีสิทธิโอนต่อให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างไรและจำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ในการที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2535
การขายทอดตลาดฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองนั้นถ้าศาลสั่งเพิกถอนการขาย มีผลเสมือนไม่มีการขาย แม้มีการโอนทรัพย์นั้นให้ผู้ซื้อ แล้วก็จะต้องเพิกถอนการโอนไม่ว่าผู้รับโอนจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อมีสิทธิรับโอนทั้งมีสิทธิโอนให้ผู้อื่นโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ยังไม่ได้การรับโอนและการโอนไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ซื้อและผู้รับโอนต่อ ๆ มาซึ่งทรัพย์นั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2535
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3 โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชายโดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่าลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น และการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่าลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อน หรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเป็นหนี้โจทก์หลังจากได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วถึง 3 ปี ขณะที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้