ความรับผิดจากการละเมิด

มาตรา ๔๒๐  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563

เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว


โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง


ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ.


ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน


ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2562

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ จึงเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ซึ่งแม้จำเลยจะมีสิทธิครอบครองแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดให้รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำการเกษตรและตั้งเคหสถานบ้านเรือน โดยรัฐจะเข้าไปจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ทำการเกษตรในแปลงที่ดินที่จัดให้มีประสิทธิภาพ การที่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งทางพิพาทไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อไปทำการเกษตรในที่ดินที่ทางราชการจัดให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง และการจัดแปลงที่ดินในเขตนิคมที่ประสงค์จะให้สมาชิกของนิคมได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินที่ทางนิคมจัดให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้


แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก


เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5


จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3


ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2562

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539


กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง


จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2562

วันที่ 11 ธันวาคม 2556 เป็นวันที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่งสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมานได้ขอทราบแนวทางการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เป็นต้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมานจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ในส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้จะไม่สามารถฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ก็ตาม แต่เทศบาลตำบลชานุมานก็ย่อมสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420 แห่ง ป.พ.พ. ได้ และวันที่ 13 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานใหม่แทนจำเลยเป็นเงิน 183,587.50 บาท ดังนั้น ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเงิน 183,779.50 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญจึงส่งหนังสือแจ้งโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 2 มิถุนายน 2559 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยกับให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน ดังนั้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานเป็นเงิน 183,587.50 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 99 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ เป็นเงิน 183,779.50 บาท เพราะไม่สามารถฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 ได้ แต่โจทก์สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 ของศาลชั้นต้นเมื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งตัวความเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ให้พนักงานอัยการนำความเห็นของตัวความประกอบการพิจารณาสั่งคดี หากยังเห็นว่าคดีนั้นตัวความอยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่สามารถชนะคดีได้และดำเนินคดีไม่เกิดประโยชน์ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิว่าจ้างให้ทนายความดำเนินคดีในศาลได้ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 และความเห็นฉบับย่อของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จ 549/2550 ให้ความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำการใด ๆ ภายในขอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมถึงการจ้างทนายความว่าต่างหรือแก้ต่าง แต่การใช้จ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจ่ายจากเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความได้ การที่โจทก์จ้างทนายความฟ้องจำเลยโดยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณได้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562

คดีที่ อ. ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีกับพวกต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว


วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง


โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงพิพาท แม้เป็นภารยทรัพย์ แต่เมื่อถูกทำลายไปโดยผู้ไม่มีสิทธิ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธินำแท่งปูนวางแทนรั้วกำแพงพิพาทเพื่อยังประโยชน์การใช้รั้วกำแพงพิพาทให้คงอยู่ดังเดิม การกระทำของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดี พื้นที่ส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ซื้อบ้านในโครงการรวมทั้งจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้สัญจร โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย


จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องคืนทรัพย์สินอันโจทก์ทั้งสองต้องเสียไปเพราะละเมิดนั้น หรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าว


แม้โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้นถนนอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าทำให้ไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสามส่วนที่อยู่นอกโครงการได้ อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาท หากรั้วกำแพงพิพาทไม่ถูกทุบทำลาย จำเลยทั้งสามก็ไม่สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ผ่านรั้วกำแพงพิพาทนั่นเอง การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ อันจะอ้างต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสอง


คำฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำขอด้วยว่า ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ของจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิง ยินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 แม้จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้แล้ว และยังคงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายที่ 2 ได้อีก


การที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านของจำเลยเอง แล้วจำเลยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านโดยจำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรา และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา ถือว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2562

สะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 สร้างอยู่บนคลองระบายพระยาพิสูตร์หรือคลองแสมขาว ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในสะพานมาก่อน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสะพานรวมทั้งที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองรื้อถอนสะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 เหลือแต่เสาบางส่วน สร้างบ้านพักคนงานคร่อมบนสะพานและทำคานไม้สำหรับวางสิ่งของ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถนำเรือมาจอดเทียบสะพานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562

โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ และโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าตามสัญญาแล้ว โดยข้อ 7 วรรคสอง กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องสำรวจศึกษาพื้นที่โครงการ ผู้บุกรุก ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในพื้นที่เช่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไข โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง อันมีความหมายว่าหากต้องมีการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าให้อำนาจแก่ผู้เช่าหรือมอบหมายให้ผู้เช่าฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยแทนผู้ให้เช่าได้ โดยผู้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการดำเนินการจัดหาประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา ถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้โจทก์ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้บุกรุกที่ดินที่เช่า ฉะนั้น แม้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าแล้วไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้เพราะจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน


หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม


ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297 - 308/2562

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ไปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมอนุญาต น่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกไปข้างนอกกับจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 430 แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร


การที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกไปขับโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ห้ามปรามทั้งที่จำเลยที่ 4 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จะขับรถไปเสี่ยงแก่การเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ จำเลยที่ 4 ผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอันเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ป.พ.พ. มาตรา 430


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2561

การที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพราะเหตุที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ย อ้างว่าจำเลยร่วมมีส่วนประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยร่วมให้การว่าไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อกับจำเลยที่ 2 คำให้การของจำเลยร่วมย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 2 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยร่วม เป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดได้


พฤติการณ์ที่จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีเครื่องหมายจราจรเขตปลอดภัยเส้นทึบห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ ทั้งจอดรถล้ำส่วนกระบะบางส่วนเข้าไปในทางเดินรถลงสะพานจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หากจำเลยร่วมไม่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรไปจอดรอบริเวณดังกล่าว เหตุเฉี่ยวชนย่อมไม่เกิดขึ้น เช่นนี้จำเลยร่วมจึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิจารณาความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายขึ้นสะพานซึ่งไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถเมื่อขับลงสะพานให้หยุดได้ในระยะปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับจอดกีดขวางอยู่ และความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบริเวณทางลงสะพานซึ่งเป็นจุดที่ผู้ขับขี่รถอื่นไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถได้อย่างชัดเจนทั้งยังหยุดรถกีดขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยร่วม แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาทเลินเล่อ แต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนความรับผิดหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนก็ได้


โจทก์ที่ 2 เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่าย หลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล แม้โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมางานศพจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการเดินทางและค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อพิเคราะห์ระยะเวลาจัดงานศพ 5 วัน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ รวมกัน 110,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นควรกำหนดให้ 80,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือญาติผู้ตาย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม มิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดามารดาแต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 1,800,000 บาท กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 22,700 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 4 ส่วน เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 20,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,675 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่


การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง


เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2561

ตามคำขออนุญาตและใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ส่วนการก่อสร้างและต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการนั้น ในสัญญาดำเนินการก็เป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในที่ดินพิพาท ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2561

ป.วิ.พ. มาตรา 304 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะฟ้อง บัญญัติสรุปได้ว่า การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาเก็บรักษาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย เช่นนี้ การยึดอสังหาริมทรัพย์ดังเช่นการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้โดยที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก. อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเอา น.ส.3 ก. มาเก็บรักษาไว้และฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินทราบ ย่อมถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว การที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ต้องนำส่งภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น หากภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหรือแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ไม่ถูกต้อง ก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ย่อมมีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้องได้ การที่ จ. ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยผู้แทนจำเลยที่ 1 ระบุว่าเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ซึ่งผิดไปจากความจริง เพราะที่ถูกแล้วจะต้องเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 นั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 แถลงผิดพลาดไป แต่หาทำให้การยึดเสียไปไม่ เพราะขั้นตอนการยึดได้กระทำโดยครบถ้วนตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจาก ถ. กรรมการโจทก์คดีนี้ว่า ที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นการซื้อเหมา รวม 64 แปลง รวมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จประมาณ 30 ห้อง และก่อนที่จะซื้อทอดตลาดโจทก์เข้าไปตรวจสอบที่ดินทุกแปลง โดยทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่อยู่บนที่ดินต้องทำการปรับปรุงซ่อมแซมทุกหลัง อีกทั้งได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดแต่ละหลังยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การที่ จ. ผู้นำยึดทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ได้ทำการยึดทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง และโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดที่มีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ รวม 64 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง เมื่อดูตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่าสภาพภายนอกของทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 และ 129/78 มีสภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 มีประตูโครงเหล็กกั้นเท่านั้น ส่วนสภาพภายในไม่ปรากฏชัด และเมื่อพิเคราะห์สภาพโครงการตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุที่ทาวน์เฮาส์ของโครงการยังสร้างไม่เสร็จเพราะมีการทิ้งร้างโดยมีสภาพเหมือนกันทุกหลัง การที่ จ. ระบุเลขที่บ้านผิดพลาดไปซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จนถึงกับทำให้สำคัญผิดไปได้ว่าทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่ตนซื้อต้องมีสภาพที่เหมือนทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ตามที่อ้าง เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 มีสภาพต่างจากทาวน์เฮาส์หลังอื่นๆ ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดในคราวเดียวกันอย่างไร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาในการประมูลซื้อทอดตลาด กรณีความผิดพลาดในการระบุเลขที่บ้านของ จ. จึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2561

เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์เข้ามาบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้ ธ. สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของ ธ. ได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องและหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์


โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2561

โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร พ. ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. หมู่บ้านจัดสรร พ. มีบ้านอยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง นับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีเพียงจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการ ไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับจำเลยแต่ละคนต่างประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานของตนเอง การจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร จึงมีความจำเป็น คดีปรากฏว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก แม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ก่อนการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ค. ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ให้ติดต่อจัดหาผู้รับเหมาสามรายที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้เสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยทั้งเจ็ดพิจารณา จำเลยทั้งเจ็ดลงมติเลือกบริษัท จ. ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน แต่เมื่อทางนำสืบโจทก์ทั้งสิบไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งสามรายที่บริษัท ค. หามาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นพรรคพวกกัน เอื้อเฟื้อประโยชน์กัน ฮั้วประมูลกัน ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคา หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรืออ้อมของจำเลยทั้งเจ็ด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท ค. นำเสนอ ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาดังที่หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัตินั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ และตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ก็มิได้ระบุให้ต้องมีการประเมินราคากลางก่อน การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางจึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบ หรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการ อันแสดงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบไม่มีพยานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินสูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2561

เมื่อพิเคราะห์ถึงแผนผังโครงการจัดสรรในส่วนของโจทก์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้โจทก์จะสร้างกำแพงคอนกรีตเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ทางด้านหลังอาคารพาณิชย์ โดยไม่ได้สร้างกำแพงคอนกรีตในส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเหมือนโครงการจัดสรรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นเพราะโจทก์ทำถนนภายในโครงการเชื่อมต่อกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยใช้ทางเข้าออกโครงการตามทางที่โจทก์กำหนดเท่านั้น มิใช่เข้าออกทุกทิศทางตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัยโดยโจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออก ดังนั้น หากโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์เพียงเพื่อแสดงเป็นแนวเขตที่ดินโครงการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ก็ไม่จำต้องสร้างให้สูงถึง 3 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก กำแพงคอนกรีตสูง 3 เมตร ที่โจทก์ก่อสร้างนอกจากจะบอกแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์จำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้าขายหรือติดต่อ กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินมิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่า สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินหรือเอกสารการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น


แม้กำแพงคอนกรีตในส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่โจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินจัดสรรส่วนที่คาดหมายว่าเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จัดสรรขายแก่ผู้ซื้อทั่วไปอันมีผลทำให้กำแพงคอนกรีตที่สร้างไว้ต้องกระจายไปอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกและแบ่งขายแก่ผู้ซื้อทุกแปลง ก็เพราะโจทก์ไม่อาจแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่มีกำแพงคอนกรีตปลูกสร้างอยู่นั้นออกเป็นที่ดินแปลงย่อย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแนวตะเข็บหรือมีเศษเป็นเสี้ยว เป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในข้อ 7 (1) และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในปี 2540 โดยที่กำแพงคอนกรีตนี้มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นที่จะต้องตกติดไปกับที่ดินจัดสรรตลอดไป การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องได้


โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นเดิม ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องจำเลยให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมา โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้และหากจำเลยไม่ได้ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442


จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561

จ. ผู้เอาประกันภัย เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาจากธนาคาร ธ. หากรถยนต์สูญหายไปโจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร ธ. เจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับประกันภัยของโจทก์หลงลืมระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ และยังคงยืนยันว่าผู้รับผลประโยชน์คือธนาคาร ธ. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับ จ. มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. จึงฟังได้ว่า จ. ยินยอมให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง


จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้า บริเวณทางเข้าและทางออกลานจอดรถไม่มีการมอบและคืนบัตรจอดรถ ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ คงมีแต่เพียงกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อบันทึกภาพรถเข้าและออก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถป้องกัน ระงับ หรือยับยั้งการโจรกรรมรถยนต์ได้ เช่นนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลย งดเว้น ไม่สอดส่อง ตรวจตรา ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถตามหน้าที่ตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งจอดอยู่ในลานจอดรถศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 สูญหายไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย


สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ความตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ณ อาคารศูนย์การค้า ซ. แต่สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยและเอกสารแนบท้ายหาได้ระบุให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินตลอดจนรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ แม้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 จะทำให้เข้าใจได้ว่ามีการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าด้วย แต่ความเข้าใจของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเช่นว่าไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 เกินไปกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป จำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน


เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561

การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้


จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2561

ในการพิจารณาเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาลักษณะโดยรวมของเครื่องหมาย เครื่องหมายของโจทก์และของจำเลยมีเพียงเสียงเรียกขานที่พ้องกัน โดยของโจทก์เรียกและอ่านติดกันไปว่า สกาเจล ส่วนของจำเลยเรียกและอ่านแยกคำกันว่า สการ์ เจล เครื่องหมายของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนได้เนื่องจากนำคำว่า SCAR ซึ่งแปลว่าแผลเป็น มาตัดตัว R ออก แล้วเชื่อมติดกับคำว่า GEL ที่แปลว่า สารแขวนลอย วุ้น ทำให้มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่ให้มีความหมายเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายโดยตรง แต่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งถือเป็นเครื่องหมายใช้คำว่า SCAR และ GEL อันเป็นคำพรรณนาถึงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้า ซึ่งเจ้าของสินค้าทั่วไปมีสิทธิจะใช้ได้เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าเป็นสินค้าเกี่ยวกับอะไรแต่ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าเพราะเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายเพื่อรักษาแผลเป็นโดยตรง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ชื่อสินค้ากับประกาศหรือประชาสัมพันธ์สินค้าโดยมีลักษณะเป็นเครื่องหมายเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงควรพิจารณาเฉพาะชื่อสินค้าของจำเลยว่าเลียนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์หรือไม่เท่านั้น เมื่อพิจารณาตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ติดกัน แต่ของจำเลยเขียนตัวแรก S ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ส่วน CAR เป็นตัวพิมพ์ใหญ่แต่ขนาดเท่าตัวพิมพ์เล็ก ซึ่งเห็นชัดว่าแตกต่างกัน หากพิจารณาเปรียบเทียบไปถึงหลอดและกล่องสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เห็นว่าแตกต่างกัน ทั้งสีพื้นและสีตัวอักษร นอกจากนี้ตลาดที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เป็นคนละตลาดกัน โดยของโจทก์วางขายในโรงพยาบาลและร้านขายยา ส่วนของจำเลยขายตรงแก่สมาชิกของจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้สาธารณชนผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นเครื่องหมายใช้พรรณนาคุณสมบัติและคุณภาพสินค้ามีเสียงเรียกขานพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่เป็นการละเมิดโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2561

จำเลยแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้ธนาคาร ธ. เช่าประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าผู้เอาประกันภัยของโจทก์ที่เข้าไปใช้บริการธนาคาร ธ. เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าและให้บริการ จำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจ เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการ โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ดังนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยแจกบัตรและควบคุมดูแลการเข้าออกของรถยนต์ลูกค้า เป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยได้ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับจำเลยร่วม ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ระบุความรับผิดในเรื่องผลกระทบจากผู้มาเยือนและยานพาหนะในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งความเสียหายดังกล่าวรวมถึงความสูญหายด้วย การที่รถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกแต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกต้องรับผิดในความสูญหาย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561

การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2560

ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ และพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ..." แสดงว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย และมารดาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2560

จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยครรภ์โจทก์ที่ 1 ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรอง การตรวจอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหาความผิดปกติของทารกแบ่งได้เป็น 3 ระดับ การตรวจระดับ 1 เป็นการตรวจคัดกรองอย่างง่ายดูจำนวนทารก การมีชีวิตของทารก การประมาณอายุครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ส่วนนำของทารก ตำแหน่งทารก และความพิการบางอย่างที่สามารถเห็นได้ง่าย จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นในการตรวจว่า ทารกมีชีวิต เพศชาย บุตรในครรภ์ 1 คน รกอยู่ด้านหลังของมดลูกปริมาณน้ำคร่ำปกติ ลักษณะลำตัว ตับ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ และกระดูกสันหลังปกติ ความยาวของกระดูกต้นขา 21 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 16.3 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงให้เห็นว่าในการตรวจอัลตราซาวด์สามารถเห็นอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของทารกในครรภ์ได้ หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งผลการตรวจให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่ายังไม่สามารถตรวจพบความพิการในส่วนแขนและขาของทารกได้เพราะยังมองเห็นไม่ครบถ้วน การที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งๆที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรง ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาหรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 มากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจอันเป็นความเสียหายแก่อนามัย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย


แม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเรื่องจากมีความผิดปกติในขณะที่โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม และจำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของโจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ กรณีของโจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่า หากจำเลยที่ 3 พบความพิการของโจทก์ที่ 2 แล้วจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการนั้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากขึ้น แต่กลับได้ความว่า หากพบความพิการของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ความพิการทางร่างกายของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8908/2560

แม้จำเลยจะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยประกอบกิจการค้าห้างขนาดใหญ่ ขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างของจำเลยซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินตามสมควร ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นผู้ระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอง จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของการประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยจะพึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้า แม้จำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้าโดยตรง หรือมิได้มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถก็ตาม ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้าง และแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถจะต้องมีหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของรถและยังต้องเสียค่าปรับจึงจะนำรถออกไปได้ แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ตำแหน่งทางเข้าออกแทน และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลจุดทางเข้าออกของห้างเพื่อสกัดกั้นมิให้มีการขับรถออกไปจากลานจอดรถของห้างได้โดยสะดวก มีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากพื้นที่ได้โดยง่าย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยงดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


ตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยระบุว่า จำเลยร่วมตกลงรับจ้างบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยมีหน้าที่สอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการ ซึ่งได้แก่อาคาร สถานที่ และอาณาบริเวณของอาคารให้มีความปลอดภัย จำเลยร่วมผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยตามสมควร รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมไปเช่นเดียวกับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้างและแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอดโดยเพียงแต่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้าออกแทนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมไป การที่จำเลยสั่งให้จำเลยร่วมจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 5 คนประจำตามจุดที่จำเลยกำหนดเพื่อดูแลพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาด 1,096 คัน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่และมีการแบ่งพื้นที่จอดรถเป็นหลายส่วนรอบอาคารของห้าง การสอดส่องตรวจตราดูแลย่อมกระทำได้ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้าไป เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งบกพร่องอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้อยู่ในความรู้เห็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม การที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560

จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2560

จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2560

ได้ความว่าตลาดไทมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ มีการแบ่งตลาดย่อยๆตามประเภทสินค้าหลายตลาดและมีลานซื้อขายสินค้า อาคารพาณิชย์และที่จอดรถหลายจุด ทั้งลักษณะกิจการของตลาดไทเป็นศูนย์กลางซื้อขายสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทำให้มีรถยนต์เข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ปรากฏว่าการเข้าออกตลาดไทซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น รถยนต์ของผู้ที่มาใช้บริการสามารถเข้าออกตลาดย่อยต่างๆและลานจอดรถได้ตามความสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตหรือแลกบัตรในการผ่านเข้าออก เว้นแต่รถยนต์ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ป้อมยาม ส่วนรถยนต์อื่นๆไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าจอดรถและไม่ได้มีบริการรับฝากรถ ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเลือกที่จอดรถในบริเวณที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เป็นพื้นที่จอดรถได้ตามอิสระ ไม่ได้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลเป็นการเฉพาะในการนำรถยนต์เข้าหรือออกจากลานจอดรถ ผู้ที่มาใช้บริการจะขับรถยนต์ออกไปก็สามารถกระทำได้ทันที ไม่มีการตรวจสอบของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งรถยนต์ที่เข้าออกส่วนใหญ่บรรทุกหรือขนส่งสินค้าเกษตรนำมาเสนอขายเพื่อให้ผู้ซื้อรับซื้อสินค้าไปในลักษณะการขายส่งเป็นหลัก การขับรถยนต์เข้ามาในตลาดไทเพื่อนำสินค้ามาขายหรือเพื่อมาซื้อสินค้ามุ่งในการซื้อขายกระจายสินค้าโดยมีรถยนต์เป็นพาหนะขนส่งซึ่งแตกต่างจากการที่บุคคลไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า โดยนำรถยนต์ไปจอดในลานจอดรถแล้วเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการในฐานะลูกค้าของของกิจการนั้น ส่วนสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และบริวาร ผู้ค้าขาย ผู้ซื้อ ผู้มาติดต่อ หรือใช้บริการภายในตลาดไท เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานทั่วไปของจำเลยที่ 2 โดยในสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุเพียงว่า ตระเวนและตรวจตราดูแล จัดระบบและควบคุมดูแลจัดระเบียบการจราจรภายในบริเวณโครงการตลาดไท โดยไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการ หรือต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำลานจอดรถ พนักงานรักษาความปลอดภัยเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจตราดูแลเพื่อจัดระเบียบการจราจรเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาหรือตามความสัมพันธ์ที่เคยปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของผู้ใช้บริการที่นำมาจอดในลานจอดรถของตลาดไท จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในการที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายในลานจอดรถ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2560

จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จัดเตรียมเช็คให้โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินให้แก่คู่ค้าและลูกค้าของโจทก์ โดยเป็นผู้พิมพ์ข้อความในเช็ค เป็นผู้เก็บเช็คนำเช็คเข้าบัญชี และนำเช็คมามอบให้แก่คู่ค้าหรือลูกค้าของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความไว้วางใจและเชื่อใจจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำการดังกล่าวโดยมิได้มีระบบการตรวจสอบที่ดี เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ปลอมแปลงเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่คู่ค้าและลูกค้า โดยวิธีลบชื่อผู้รับเงินเดิมในช่องจ่าย แล้วพิมพ์ชื่อของตนเองทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 3 กับนำเช็คที่ปลอมดังกล่าวทั้ง 48 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินเสียเอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้สมุดคู่ฝากหรือเช็คไปและนำใบถอนเงินหรือเช็คมาขึ้นเงินกับธนาคารและธนาคารได้จ่ายเงินไปตามใบถอนเงินหรือเช็คนั้น ธนาคารไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ตามข้อ 3 ของคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งได้ความว่า ตัวอักษรที่พิมพ์เช็คพิพาทนั้นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเครื่องเดียวกัน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าจะมีส่วนที่สามารถลบคำผิดได้อยู่ในตัว จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีโอกาสลบข้อความเดิมในเช็คและพิมพ์ข้อความได้อย่างแนบเนียนโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเดิม จึงเป็นการยากที่จะสามารถเห็นความแตกต่างของตัวอักษรที่ปรากฏใหม่กับตัวอักษรของข้อความอื่นที่มีอยู่เดิมได้ เมื่อพิเคราะห์ในช่องผู้รับเงินด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่า ตัวอักษรพิมพ์ชื่อผู้รับเงินกับตัวอักษรจำนวนเงินเหมือนกันและไม่ปรากฏร่องรอยพิรุธที่ทำให้เห็นว่ามีการลบชื่อผู้รับเงินเดิมออกและพิมพ์ทับชื่อผู้รับเงินใหม่ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับเงินดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 48 ฉบับให้แก่ผู้นำเช็คมาเรียกเก็บเงิน จึงไม่เป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คคืนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2560

แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าว โจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2560

การยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89431 ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้แทนจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้นำยึด ซึ่งได้ความว่าก่อนนำยึดที่ดินดังกล่าวผู้แทนจำเลยได้สืบหาและตรวจสอบทรัพย์สิน บ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา พบว่า บ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว จึงแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยผู้แทนจำเลยถ่ายรูปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแนบท้ายรายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยมีสถานที่ตั้งที่ดินตามแผนที่การไปที่ผู้แทนจำเลยจัดทำแนบท้ายประกาศขายทอดตลาด การที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยต้องนำส่งภาพถ่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปหรือที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ก่อนตัดสินใจเข้าประมูลซื้อ ทั้งนี้จำเลยหรือผู้แทนต้องทำข้อตกลงหรือสัญญาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรองว่าทรัพย์ที่นำยึดและจะขายทอดตลาดถูกต้องตามสภาพและทำเลที่ตั้งของทรัพย์ตามภาพถ่ายและแผนที่การไปที่นำส่งตามประกาศขายทอดตลาด และความถูกต้องตามกฎหมายของทะเบียนหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองและภาระติดพันของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด หากเกิดความผิดพลาดหรือเสียหายประการใดจำเลยยินยอมเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึดให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด การที่ผู้แทนจำเลยแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยนำส่งภาพถ่ายและแผนที่การไปแสดงสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อทรัพย์ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำเตือนผู้ซื้อว่าก่อนเข้าสู้ราคาผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศและถือว่าผู้ซื้อทราบถึงสภาพทรัพย์นั้นโดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็ได้ความว่า โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินตามสถานที่และแผนที่การไปตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ที่ดินมีสถานที่ตั้งและสภาพตรงตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเข้าสู้ราคา ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560

โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด


ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560

การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปดูป้ายโครงการก่อสร้างที่ระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิกโครงการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างโดยใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อปลอมของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ถือว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


จำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้างว่าโจทก์เป็นสถาปนิก การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2560

โจทก์ฟ้องคดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์และสมาชิกจากการบริหารจัดการของจำเลยทั้งยี่สิบสามจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ที่ฝ่ายจำเลยยกปัญหาว่าการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์เพื่อตัดอำนาจฟ้องโจทก์มิให้ฟ้องร้องบังคับคดีแก่ตน ฝ่ายจำเลยชอบที่จะขอให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ยับยั้งหรือเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 20 ขอให้นายทะเบียนสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะแล้วตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวเข้าดำเนินการแทนตามมาตรา 21 หรือขอให้นายทะเบียนสหกรณ์ตีความข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมตามมาตรา 58 ได้ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 45 เมื่อไม่ปรากฏว่านายทะเบียนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับการตีความข้อบังคับของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาว่ามีการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ชอบ ข้อกล่าวอ้างของฝ่ายจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่อาจรับฟัง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10312/2559

ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ในทางเดินรถที่สวนกันได้ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถหรือเลี้ยวรถทางขวาในเมื่อมีรถอื่นสวนหรือตามมาในระยะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร เว้นแต่เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่น" สภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถไป 3 ช่อง และกลับ 3 ช่อง แยกจากกันโดยมีเกาะกลางถนน รถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวของรถหัวลากรวมถึงท่อนซุง 20 ม. ในขณะความกว้างของทางเดินรถทั้ง 3 ช่อง มีเพียง 10.5 ม. การเลี้ยวกลับรถไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียวโดยเฉพาะท่อนซุงมีน้ำหนักมาก สภาพถนนที่เปียกแฉะทำให้ไม่สามารถเลี้ยวกลับรถด้วยความเร็ว จำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งกว่ารถบรรทุกที่มีความยาวปกติจะเลี้ยวกลับรถได้ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นที่อยู่ในทางเดินรถที่สวนทางมา การที่จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวากลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุโดยขับเลยเข้าไปในช่องทางเบี่ยงที่อยู่คู่ขนานด้านซ้ายของทางเดินรถที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อออกไปยังทางเดินรถอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าทางเดินรถปกติ แสดงว่าการเลี้ยวกลับรถเข้าทางเดินรถที่เกิดเหตุ ณ จุดกลับรถตามปกติไม่อาจทำได้โดยก่อนเลี้ยวจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเห็นแสงไฟรถในทางเดินรถที่เกิดเหตุอยู่ในระยะไกลเกินกว่า 200 ม. หากเป็นจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในช่องทางเบี่ยงคู่ขนานดังกล่าวได้ทันก่อนรถคันที่จำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจะแล่นมาถึง แต่ ร.ต.อ. อ. พนักงานสอบสวนเบิกความว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยล้อปัดของรถยนต์ของโจทก์เป็นทางยาว 70 ม. รอยปัดเริ่มจากช่องเดินรถช่องกลางเมื่อใกล้จุดเกิดเหตุได้เบนไปทางซ้ายเข้าสู่ช่องเดินรถซ้ายสุด เชื่อว่า ก. ต้องห้ามล้อรถด้วยความแรงพอสมควรถึงขนาดทำให้ล้อรถยนต์โจทก์มีรอยลื่นปัดและเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องกลางไปยังช่องซ้ายสุด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุในขณะที่มีรถยนต์ของโจทก์แล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 100 ม. ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รอให้รถยนต์ของโจทก์ที่สวนมาผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน อันเป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นและไม่ปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559

ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2559

โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน 1,927,770.08 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดจะชำระภาษีและเบี้ยปรับมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 โดยในหนังสือแจ้งการประเมินระบุให้นำเงินมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,927,770.08 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2559

ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 758,467 บาท เพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริง หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การไว้ ก็ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559

การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2559

การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิมได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อมาตามสภาพและราคาขณะเกิดเหตุ ไม่อาจเรียกจากราคาเช่าซื้อรวมถึงเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระไปแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15108/2558

แม้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32 จะบัญญัติให้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา และคณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่ใช้สิทธิตามบทกฎหมายนั้น มิให้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กระทำละเมิดต่อตนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่จำต้องรอฟังผลคำสั่งของแพทยสภา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12849/2558

จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้า ซ. จัดลานจอดรถเพื่อให้บริการแก่ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่และลูกค้าของร้านค้าเพื่อจอดรถยนต์ขณะเข้าไปใช้บริการยังร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในอาคารศูนย์การค้าและมอบให้บริษัท น. เป็นผู้จัดการให้บริการด้านสาธารณูปโภคทั้งหมดรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารและนอกอาคารโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่และรับบริการ จำเลยที่ 2 กับบริษัท น. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้อาคารศูนย์การค้า ซ. ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 จัดเก็บค่าเช่าพื้นที่อาคาร ส่วนบริษัท น. จัดเก็บค่าบริการด้านสาธารณูปโภค การที่บริษัท น. เข้าทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่อาคารศูนย์การค้าจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่อาคารศูนย์การค้า จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้าจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้าย่อมแสดงให้ผู้มาใช้บริการที่อาคารศูนย์การค้าเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พฤติการณ์ของบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบการค้าร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการด้วยกันในการทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 รักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้า เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558

แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10955/2558

ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้บริหารกิจการ และตามมาตรา 26 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเป็นผู้กระทำการแทน สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ การที่จำเลยทั้งสองยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงินโดยนำหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งออกโดยพันเอก ศ. โดยมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พันเอก ศ. เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการของโจทก์ หรือไม่ กรณีจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 ถ. นำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอก ศ. ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายทั้งสี่ลงในสำเนาบัตร และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยทั้งสองเพื่อไว้ตรวจสอบลายมือชื่อ จำเลยทั้งสองตรวจสอบหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และเอกสารต่าง ๆ แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ใช้ชื่อบัญชีว่า "โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" โดยจำเลยทั้งสองมิได้สอบถามไปยังโจทก์ว่าขอเปิดบัญชีหรือไม่ การที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทั้งสี่มิได้มาลงลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของจำเลยทั้งสองจึงถือเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยทั้งสอง อันเป็นความประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชีของจำเลยทั้งสอง แต่การที่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเอกสารต่าง ๆ มายื่นคำขอเปิดบัญชีต่อจำเลยทั้งสองกับการที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบกพร่องไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเปิดบัญชีให้แก่ ถ. นั้น การกระทำของ ถ. เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2558

การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 แม้ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ แต่ไม่เป็นการถอนสภาพที่ดินที่มีผู้ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ใช้บังคับ ดังนั้น แม้จะมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2558

อ. ครูประจำชั้นของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนของจำเลยมีส่วนประมาทเลินเล่อในการดูแลความปลอดภัยของโจทก์โดยละเลยไม่รีบนำโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษาดวงตา หลังจากทราบว่าโจทก์ถูกเด็กชาย ณ. ใช้หนังยางยิงแท่งดินสอถูกดวงตาข้างซ้าย ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีส่วนทำให้ดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ติดเชื้อ โดย ว. จักษุแพทย์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า หากดวงตาข้างซ้ายของโจทก์ไม่ติดเชื้อก็อาจจะไม่ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็น เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า โจทก์ต้องสูญเสียการมองเห็นในเวลาต่อมาตามใบรับรองแพทย์ โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2558

โจทก์บรรยายฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยนำพวกและบริวารบุกรุกเข้ามาในโรงแรมของโจทก์ รื้อค้นปิดล็อกประตูห้องทำงานของพนักงานและสั่งให้พนักงานของโจทก์เปิดห้องเพื่อให้บริวารของจำเลยเข้าพัก สั่งอาหาร เครื่องดื่มแล้วไม่ยอมจ่ายเงิน ทั้งมีการข่มขู่เอาเงินจากพนักงานของโจทก์ไปและแสดงตัวว่าจำเลยเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าห้องพัก ค่าอาหารและเรียกเงินที่จำเลยเอาไปจากพนักงานของโจทก์ ตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลละเมิดที่ทำให้โจทก์ฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองโรงแรมเสียหาย หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ที่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีเดิมที่ว่า จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้หุ้นกลับคืนเป็นของจำเลย และต้องพิจารณาถึงอำนาจของผู้ฟ้องคดีว่าต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการโรงแรมหรือเป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนเสียงข้างมาก หรือเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ดังข้อฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ประกอบกับหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวให้หุ้นกลับคืนเป็นของจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการจดแจ้งการโอนชื่อจำเลยลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เมื่อการฟ้องคดีของโจทก์ได้กระทำโดยผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี ทั้งตามคำฟ้องโจทก์มิได้ประสงค์ให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ถือหุ้นโจทก์ หรือเกี่ยวกับการบริหารกิจการโจทก์ที่ต้องอาศัยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังข้ออ้างของจำเลยตามที่กล่าว แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดในมูลละเมิดที่โจทก์ฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองโรงแรมอ้างว่าจำเลยกับพวกกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้


แม้ว่าจำเลยจะชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตาม แต่จำเลยมีสิทธิอย่างไรตามคำพิพากษาดังกล่าว ก็ชอบที่ต้องไปดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือต้องไปว่ากล่าวฟ้องร้องเอากับโจทก์อีกส่วนต่างหาก การที่จำเลยพาพวกและบริวารบุกรุกเข้าไปในโรงแรมของโจทก์โดยพลการ จึงเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558

แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ต่อพนักงานสอบสวนเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม มาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นตามมาตรา 423 ได้ โดยจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และแม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4097/2558

การที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ลงมติออกเสียงในที่ประชุมลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้องตรงตามกับความจริง เท่ากับโจทก์โต้แย้งว่ามติของที่ประชุมไม่ชอบ โจทก์ในฐานะสมาชิกของสมาคมย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ในคราวนั้นได้ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 100 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวเกินหนึ่งเดือน มติที่ประชุมใหญ่จึงมีผลใช้บังคับหาเสียไปไม่ และการที่จำเลยทั้งห้าร่วมประชุมและลงมติในการประชุมดังกล่าวจึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558

สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2558

กองทัพบกเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก สิบเอก ต. เป็นทหารสังกัดกองทัพบก จึงถือว่าเป็นทหารในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยด้วย เมื่อสิบเอก ต. ขับรถบรรทุกน้ำคันเกิดเหตุตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งทั้งกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทั้งกองทัพบกซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และฟ้องกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นต้นสังกัดในลำดับสูงขึ้นไปได้ด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องกระทรวงกลาโหมให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่สิบเอก ต. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของจำเลยผู้กระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบ เพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความ เสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้ เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1272


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552

แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลย สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความ รู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียน มากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุด ในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง นั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของ จำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอัน สมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนาน เกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิด เหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มี การสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอด ชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย


ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551

คำฟ้องคดีแพ่งของโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมาอ้างในคำฟ้อง เพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอ ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 เมื่อโจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2536 ศาลมีอำนาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีได้


ธนูที่เกิดเหตุใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวังคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะยังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะถือปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย


จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2551

จำเลยทำทางลาดในที่ดินภารยทรัพย์ของโจทก์เพราะจำเลยต้องใช้รถบรรทุกถังแก๊สเข้าไปจอดในร้านเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินภารยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้ ทั้งจำเลยสามารถทำทางขึ้นลงเป็นการชั่วคราวแทนการเทคอนกรีตเป็นการถาวรได้ การที่จำเลยทำทางลาดเข้ามาในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2551

 ตาข่ายป้องกันลูกกอล์ฟออกนอกรั้วสนามฝึกซ้อมกอล์ฟส่วนที่จำเลยต่อเติมเป็นไนล่อนซึ่งมีลักษณะเบา สายลมสามารถพัดผ่านทะลุได้ การที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการที่การต่อเติมมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าการต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาตแต่แข็งแรงก็ไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ หรือการต่อเติมได้รับอนุญาตแต่การกระทำไม่แข็งแรงก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ มิใช่ว่าหากต่อเติมแล้วมิได้มีการขออนุญาตต่อทางราชการแล้ว จะเป็นการกระทำละเมิดไปทั้งหมด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2551

 โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2551

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 รับจ้างรักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนดรวมทั้งลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยกำหนดให้ต้องรักษาความปลอดภัยด้านโจรกรรม และดูแลรถของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 จะจัดให้มีพนักงานประจำที่ทางเข้าลานจอดรถเพื่อคอยมอบบัตรผ่านลานจอดรถและเขียนหมายเลขทะเบียนกำกับไว้ก่อนมอบให้ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอด เมื่อจะนำรถออกผู้ขับรถจะต้องคืนบัตรผ่านลานจอดรถและชำระค่าบริการจอดรถให้แก่พนักงานที่ประจำทางออกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงขับรถผ่านออกไปได้ ก. และ ว. ผู้เอาประกันภัยได้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดในลานจอดรถของอาคารดังกล่าว และได้รับบัตรผ่านลานจอดรถจากพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้จึงมีผู้นำรถยนต์พิพาทผ่านออกจากลานจอดรถได้ โดยที่บัตรผ่านลานจอดรถและหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยังอยู่กับ ว. ผู้เอาประกันภัย เหตุที่รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ในบัตรผ่านลานจอดรถและไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำรถออกไป เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถ ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหาย ถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย


เงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถที่ว่า การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายต่อรถใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6406/2550

ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินสูง ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินต่ำ การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ลำน้ำเสียวจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องยอมรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และ 1340 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าโจทก์และประชาชนจะใช้ร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเวลานานเพียงใด ก็หาทำให้กลายเป็นลำรางสาธารณะหรือตกเป็นภาระจำยอมไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองไถดินกลบลำรางร่องน้ำพิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมขังที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2550

 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของ ม. และ ส. ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. และ ส. บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550

โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2550

การที่จะถือว่าบุคคลหนึ่งปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูในขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไปครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต


จำเลยทั้งสองรู้แล้วว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในขณะที่เริ่มก่อสร้างแต่เพียงบางส่วน แต่จำเลยทั้งสองยังจงใจก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่โจทก์ได้แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2550

วันเกิดเหตุฝนตกไม่มากและลมพัดไม่แรง การที่ต้นจามจุรีริมทางหลวงล้มทับผู้ตายขณะขับรถจักรยานยนต์ไปตามทางหลวงจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความบกพร่องของกรมทางหลวงจำเลยที่ไม่โค่นเหรือปล่อยปละละเลยไม่สั่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปโค่นต้นจามจุรีที่มีสภาพผุกลวงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5018/2550

จำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล ส. และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1 มีอาการเจ็บครรภ์ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ส. มีจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำคลอดแต่ทารกในครรภ์ได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 3 สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550

ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 - 540, 547 - 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336


ที่จอดรถยนต์ในอาคารชุดโดยสภาพย่อมถือเป็นทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อสัญญาขายห้องชุดที่โจทก์ซื้อกรรมสิทธิ์มาระบุว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ ที่จอดรถยนต์ตามที่ระบุไว้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์พร้อมห้องชุดและไม่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนกลาง" ของอาคารชุดอีกต่อไป แต่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนบุคคล" ของโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่อาจออกระเบียบหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่จอดรถยนต์ดังกล่าวในภายหลังให้เป็นที่เสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเกินกว่า 6 เดือน จำเลยก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก เมื่อจำเลยออกระเบียบห้ามมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้ามาจอดในที่จอดรถยนต์ตามสัญญาขาย กระทั่งโจทก์ต้องนำรถยนต์ไปจอดในสถานที่อื่น จนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อันถือเป็นการขัดขวางสิทธิใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญาขายห้องชุดของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2550

สินค้ารถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความไว้แล้ว การที่กรมสรรพสามิตจำเลยออกคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 ให้รถยนต์ซึ่งทำจากชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย แม้มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับและด้านหลังเปิดโล่งเป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 05.01 ด้วย เป็นการเปลี่ยนประเภทรถยนต์กระบะตามความหมายของรถยนต์กระบะ ให้เป็นรถยนต์นั่ง มิใช่การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบอำนาจโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่


ระหว่างที่รถยนต์คันของโจทก์ถูกจำเลยยึดไว้ ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ และระยะเวลาที่ผ่านไปเกือบ 2 ปี ย่อมทำให้รถยนต์ที่จอดทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานเก่าลง อุปกรณ์บางอย่างหมดสภาพหรือหมดอายุการใช้งานซึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์มีราคาลดลงจากเดิม อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์มิได้ใช้รถยนต์ และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ให้แก่โจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7975/2549

รถบรรทุกและข้าวสารบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง 200 กระสอบ มูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 นำรถบรรทุกไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อยๆ แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่าย จำเลยที่ 3 จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไปถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2549

สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำให้ไว้แก่จำเลย ข้อ (1) ระบุว่า "ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป..." สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีต่อจำเลย การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548

การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง


เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป


การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น


ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2548

รถยนต์โจทก์ชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ หลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงค่าเสียหายว่าโจทก์เรียกร้องให้ฝ่ายจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของตัวรถยนต์ของโจทก์ โดยนำไปซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมทุกประการ และฝ่ายจำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าเสียหายของรถยนต์ของโจทก์โดยทางบริษัท ล. ซึ่งทางเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นผู้เอาประกันไว้ ซึ่งโจทก์ไม่ขัดข้อง ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องไปตกลงค่าเสียหายผ่านผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับอีก ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องความรับผิดของบริษัทประกันภัยที่มีต่อโจทก์และจำนวนค่าเสียหาย จึงเป็นข้อตกลงที่ยังไม่ปราศจากการโต้แย้ง ถือไม่ได้ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับไป



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548

โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานกระทำละเมิด โดยโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออ้างว่าจำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในการดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐาน เร่งรัด ติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และมีหน้าที่ประสานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมแล้วนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริงและรับรองเอกสาร จำเลยกลับปล่อยปละละเลยโดยไม่รับดำเนินการจัดหา เร่งรัด และติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ส่งไปให้พนักงานรับการดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมิน จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวพอแปลได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2546

เมื่อมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเชื่อว่าได้มีการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย การที่จำเลยใช้วิธีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ เป็นการขอรับความคุ้มครองเพื่อให้มีการบังคับตามสิทธิบัตรที่จำเลยได้รับอยู่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการแก่โจทก์อย่างไรต่อไปเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิ ซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2546

ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้งเพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายเงินให้ แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไปโดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มา พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์


โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อใจจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของโจทก์และเป็นผู้จัดการให้โจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ 1 แม้ในปกหน้าด้านในจะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเอง ก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงินทั้งโจทก์ไม่ได้รับสมุดเงินฝากและไม่เห็นคำแนะนำหรือคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับและเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้แทนตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 2ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2546

ในคดีก่อนแม้จะยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ ก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้ให้คนนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันที่ดินพิพาทแล้วจุดไฟเผาต้นไม้ต่าง ๆ ที่โจทก์ปลูกไว้จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากแม้จะอ้างว่ากระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาว่าจ้างก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สินของโจทก์บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2546

โจทก์ตกลงซื้อโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้จากจำเลย การที่จำเลยส่งมอบโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้ชำรุดบกพร่อง เป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่นเป็นเหตุให้เขาเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2545

จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ เมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดและอายัดมาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีไม่ครบถ้วนตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2545

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง การที่จำเลย(นายจ้าง)ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์(ลูกจ้าง) โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2544

โจทก์ผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534และสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่รับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์และรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ กลับส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วย แต่เมื่อจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ