วัตถุแห่งหนี้

มาตรา ๑๙๔  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา ๑๙๕  เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกำหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง

ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป

มาตรา ๑๙๖  ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้

การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน

มาตรา ๑๙๗  ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้นั้นไซร้ การส่งใช้เงินท่านให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น

มาตรา ๑๙๘  ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง แต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๙๙  การเลือกนั้นท่านให้ทำด้วยแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

การชำระหนี้ได้เลือกทำเป็นอย่างใดแล้ว ท่านให้ถือว่าอย่างนั้นอย่างเดียว เป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมา

มาตรา ๒๐๐ ถ้าจะต้องเลือกภายในระยะเวลาอันมีกำหนด และฝ่ายที่มีสิทธิจะเลือกมิได้เลือกภายในระยะเวลานั้นไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกนั้นย่อมตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาให้เลือกไซร้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกอาจกำหนดเวลาพอสมควรแก่เหตุ แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายโน้นใช้สิทธิเลือกภายในเวลาอันนั้น

มาตรา ๒๐๑  ถ้าบุคคลภายนอกจะพึงเป็นผู้เลือก ท่านให้กระทำด้วยแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ และลูกหนี้จะต้องแจ้งความนั้นแก่เจ้าหนี้

ถ้าบุคคลภายนอกนั้นไม่อาจจะเลือกได้ก็ดี หรือไม่เต็มใจจะเลือกก็ดี ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกตกไปอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้

มาตรา ๒๐๒  ถ้าการอันจะพึงต้องทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง และอย่างใดอย่างหนึ่งตกเป็นอันพ้นวิสัยจะทำได้มาแต่ต้นก็ดี หรือกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลังก็ดี ท่านให้จำกัดหนี้นั้นไว้เพียงการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่พ้นวิสัย อนึ่งการจำกัดอันนี้ย่อมไม่เกิดมีขึ้น หากว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกนั้นต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10346/2559
เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้หลายอย่างอันจะพึงเลือกได้ตามมาตรา 198 ดังนั้น หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำก่อนจึงเป็นหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน อันแสดงว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อและมีสิทธิติดตามเอาคืนเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ อีกทั้งโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ กรณีไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดได้โดยแน่นอน ดังนั้นจึงไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนของราคารถใช้แทนให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9274/2559
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทยแก่โจทก์ได้ ส่วนหนี้ค่าชดเชยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนหนึ่งโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 40,249.98 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ คงค้างโจทก์อยู่อีก 4,750 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนี้ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ หากจำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินไทยก็ทำได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ในการเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดเป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีการชำระค่าชดเชยบางส่วนไปแล้วนั้น จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13244/2558
การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอาศัยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินโจทก์ก็นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9784/2556
แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเลือกชำระเป็นเงินไทยตามเงื่อนไขใน ป.พ.พ. มาตรา 196 ได้ โดยหากจำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินไทย ให้คิดอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สถานที่และในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีการใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12430/2556
ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2 เป็นเรื่องนาง ก. ผู้รับสัญญาตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่นาง ก. ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นาง ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เหตุนี้ ข้อความต่อมาตามข้อตกลงที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนนาง ก. เต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนนาง ก. ด้วยอันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2555
แม้จำเลยจะเป็นผู้ยื่นแบบขอใช้ไฟฟ้าและมีชื่อในทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยที่บ้านพิพาทก็ตาม แต่เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ ป. ไปแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิการใช้ไฟฟ้าซึ่งติดกับตัวบ้านให้แก่ ป. แล้วโดยปริยาย ป. จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาการใช้ไฟฟ้าที่จำเลยมีต่อโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงด้วย แม้จำเลยจะยังไม่บอกเลิกการใช้ไฟฟ้าและโอนทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้าให้ ป. ก็ตาม เมื่อขณะตรวจพบการทำละเมิดต่อคร่อมสายไฟฟ้า จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านพิพาทหรือร่วมรู้เห็นหรือได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ก็ฟ้องบังคับเอาแก่ ป. แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผูกพันต้องชำระหนี้ค่าไฟฟ้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8972/2553
จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อชำระค่าสินค้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากต่างประเทศ เมื่อสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ธนาคารในต่างประเทศไปแล้ว และรับมอบใบตราส่งสำหรับสินค้าและรายการบรรจุสินค้าไว้จากธนาคารในต่างประเทศ ดังนี้ การที่โจทก์อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งสินค้ารถยนต์ก็เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชำระเงินค่าสินค้ารถยนต์แทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน สินค้ารถยนต์ตามใบตราส่งจึงเป็นการประกันหนี้ตามคำขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้และไม่มาติดต่อขอรับเอกสารเพื่อไปขอออกสินค้า และต่อมาโจทก์นำสินค้ารถยนต์ดังกล่าวออกขายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ต้องนำเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ไปชำระหนี้ตามคำขอเลตเตอร์ออฟเครดิตอันเป็นมูลเหตุให้มีการส่งมอบรถยนต์มาทางเรือเดินทะเลนั้น ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปหักกับหนี้รายอื่นหรือหักกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2553
จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน เมื่อการซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง เมื่อ จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นการสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา 1377, 1378 แล้ว จึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ แต่โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2550 
โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดซึ่งพิพากษาให้โจทก์ส่งรถยนต์คันพิพาทที่โจทก์เช่าซื้อไปจากจำเลยคืนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทน หนี้ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษามีลักษณะบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับก่อนหลัง แต่การบังคับตามคำพิพากษาถือว่าเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษาที่อาจยอมรับการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดตามคำพิพากษาได้ แม้จะมิได้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา เมื่อจำเลยยอมรับเงินที่โจทก์นำไปวางชำระต่อกรมบังคับคดีครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทให้เป็นของโจทก์ โดยจำเลยได้รับชดใช้ราคาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2550
แม้ตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับ ให้โจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อการชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างอันโจทก์จะพึงเลือกได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ต้องใช้ราคาแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่จำเลยจนครบถ้วน แล้วจำเลยรับไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าจำเลยได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในรถยนต์ที่เช่าซื้อและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2548
หนี้ของจำเลยในคดีนี้เป็นหนี้เงินต่างประเทศสกุลมาร์กเยอรมัน อันเป็นเงินตราของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปที่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในประเทศดังกล่าว สมควรกำหนดวิธีการคิดคำนวณมูลค่าเงินไว้เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีด้วย หากในเวลาใช้จริงเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินตราชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้ว ให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์กเยอรมันที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ต้นเงินมาร์กเยอรมัน พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น โดยคิดดอกเบี้ยถึงวันก่อนวันคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้เงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทน ทั้งนี้โดยการคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่เป็นเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนนั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ในขณะหรือก่อนเวลาใช้เงินจริงและคิดดอกเบี้ยของต้นเงินที่เปลี่ยนเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์กเยอรมันนั้นนับแต่วันเปลี่ยนเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2548
ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดว่า หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองและโจทก์ได้จัดการเอาประกันภัยเอง จำเลยยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายแทนไปมาชำระจนครบถ้วน ดังนี้หากโจทก์ยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลย จำเลยก็ยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปทุก ๆ สามปี จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในหนี้อนาคตที่ยังมิได้เกิดมีขึ้นและขณะฟ้องยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้โจทก์ชนะคดีน้อยกว่าเดิมทั้งที่โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2548
โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกันวันที่ 13 มกราคม 2535 ส่วนประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 จึงไม่ใช่ประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่ให้สิทธิโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่ปรากฏว่ามีประกาศของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงเป็นปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีในสัญญากู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ

เงินที่จำเลยได้ชำระมาและโจทก์นำไปหักดอกเบี้ยก่อนส่วนที่เหลือจึงเป็นต้นเงินตามรายการในการ์ดบัญชี เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะเหตุโมฆะแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแล้วไปหักดอกเบี้ยได้ จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาจึงต้องนำไปหักต้นเงินอย่างเดียว และไม่เป็นการชำระดอกเบี้ยอันไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548
จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อนนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้น ตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7548/2549
ในสัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยยินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินหักเงินได้รายเดือนของจำเลยตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระส่งชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนี้ การบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ต้องดำเนินการตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ตั้งแต่มาตรา 271 ถึงมาตรา 323 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์กับจำเลยจะตกลงกันให้บังคับคดีโดยวิธีการอย่างอื่นไม่ได้ คำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิขอรับเงินได้รายเดือนจากผู้มีอำนาจจ่ายเงินเพื่อจ่ายให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมจนกว่าจะครบถ้วนนั้น เท่ากับยินยอมให้โจทก์ขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้มีอำนาจหักเงินรายได้ของจำเลยได้โดยไม่ต้องขอหมายตั้งเจ้าพนักงาน บังคับคดีและไม่ต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลย จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ศาลฎีกาไม่อาจสั่งให้ได้

แม้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องตกลงวิธีการชำระหนี้กันไว้ล่วงหน้าโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย แต่ข้อตกลงเกี่ยวพันไปถึงบุคคลภายนอกผู้ทำหน้าที่หักเงินได้ ตราบใดที่โจทก์และจำเลยยังสมัครใจปฏิบัติต่อกันตามสัญญา บุคคลภายนอกก็ดำเนินการหักเงินได้ของจำเลยส่งให้โจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยเปลี่ยนใจไม่ยอมชำระหนี้ให้ บุคคลภายนอกก็ไม่ยอมหักเงินส่งให้โจทก์ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะเป็นสิทธิของโจทก์และจำเลยที่จะตกลงกันเกี่ยวกับวิธีชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า แต่บุคคลภายนอกไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่ถูกผูกพันว่าจะต้องมีหน้าที่หักเงินส่งให้โจทก์ตลอดไป การที่จะบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อสัญญาเป็นเรื่องวัตถุแห่งหนี้ที่คู่สัญญาตกลงกัน กรณีนี้วัตถุแห่งหนี้คือการบังคับให้จำเลยยินยอมชำระหนี้ต่อไปโดยบุคคลภายนอกดำเนินการหักเงินได้รายเดือนของจำเลยเพื่อจ่ายให้โจทก์ เป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ต่อไปตามสัญญาได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5020/2547
กรณีที่หนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ให้เป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกว่าจะชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทย ศาลไม่มีอำนาจไปบังคับหรือเลือกแทนลูกหนี้ในการชำระหนี้ เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้เงินตามคำพิพากษาที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ลูกหนี้จึงอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ทั้งการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ใช่กรณีศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ จึงไม่ต้องด้วย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 98 ที่ให้ต้องคิดหนี้เป็นเงินตราไทย แต่เป็นการขอรับชำระหนี้เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ซึ่งต้องบังคับตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 90/26 อันเป็นกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมาตรา 90/26 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 98 มาใช้บังคับ ส่วนกรณีตามมาตรา 90/31 ที่ว่า ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นกรณีที่มีการประชุมเจ้าหนี้และเจ้าหนี้เงินตราต่างประเทศนั้นเข้าประชุมเพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน จึงให้คำนวณหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย กรณีเจ้าหนี้รายนี้ไม่มีประเด็นปัญหาการเข้าประชุมเจ้าหนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะไปสั่งบังคับให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ต้องคำนวณยอดหนี้จากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4920/2547
โจทก์ จำเลย และ ร. เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวส่วนของตนก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินไว้นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ ย่อมขัดต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้

ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้เฉพาะกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดิน ศาลจึงไม่อาจสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้ให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดิน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2545
กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการและให้จำเลยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแต่แผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จำเลยต้องปิดกิจการโดยถาวรคณะกรรมการดังกล่าวจึงดำเนินการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท กรณีจึงเข้าเงื่อนไขที่โจทก์สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดตามข้อกำหนดในหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ ด้อยสิทธิ ข้อ 1.6.2 แม้สิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะได้ระบุถึงกรณีที่มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้จะพึงได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว ก็มิได้หมายความว่าสิทธิของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ของหุ้นกู้ที่จะพึงได้รับชำระหนี้ยังไม่เกิดมีขึ้นจนกว่าเจ้าหนี้สามัญจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น เมื่อจำเลยปิดกิจการและมีการชำระบัญชี ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามหุ้นกู้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2544
ตาม พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับมิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่ระบุว่า "คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ" จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนข้อตกลงที่ให้คิดค่าทนายความเป็นร้อยละของทุนทรัพย์ และลดส่วนลงหากบังคับคดีได้เพียงบางส่วน หรือมีการประนีประนอมยอมความกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความจึงไม่เป็นโมฆะ และตามสัญญาจ้างว่าความเมื่อไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชค และไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกัน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่ทนายความต้องลงแรงว่าต่างให้แก่ลูกความจึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2544
ผู้ขายฝากได้ไถ่ที่ดินพิพาทจากผู้ซื้อภายในกำหนดในสัญญาขายฝากแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่การขายฝากก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่มีผลใช้บังคับยันกันเองได้ แม้ยังมิได้มีการจดทะเบียนไถ่ ที่ดินที่ขายฝากก็ตกเป็นของผู้ขายฝากทันที ซึ่งมีผลบังคับยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้จัดการมรดกของผู้ขายฝากย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้ผู้ซื้อจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินในระยะเวลาใดก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2543
เมื่อจำเลยมีมูลหนี้ที่จะต้องชำระค่าแชร์แก่โจทก์ และโจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนจากมูลหนี้ค่าแชร์มาเป็นหนี้เงินกู้ จึงเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้ค่าแชร์จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นการส่งมอบเงินกู้แล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับโดยสมบูรณ์ โจทก์จำเลยจึงมีความผูกพันต่อกันในลักษณะหนี้กู้ยืม การที่จำเลยให้การและนำสืบว่าโจทก์ ได้หักเงินค่าแชร์ของจำเลยชำระหนี้แทนหนี้เงินกู้ของจำเลยแล้ว เป็นการอ้างว่าจำเลยได้ชำระหนี้อย่างอื่นโดยการ หักกลบลบหนี้แทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8007/2543 
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยไม่ชอบขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินให้กระทำการหรือไม่กระทำการ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลย จึงขอให้บังคับ เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2543
ในคู่มือการใช้บัตรเครดิต ผู้ถือบัตรหลักสามารถมอบเครดิตของตนให้ได้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ด้วยการสมัครให้เป็นสมาชิกบัตรเสริม นอกจากนี้การแจ้งยอดค่าใช้จ่ายของบัตรหลักและบัตรเสริมกำหนดให้แจ้งแก่ผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าผู้ถือบัตรหลักต้องร่วมรับผิดชอบในการใช้บัตรของผู้ถือบัตรเสริมซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกบัตรเสริมแก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นสามีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรหลักจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบัตรเสริมเสมือนกับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรของตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วางหลักในเรื่องการเลิกสัญญาไว้ 2 กรณี คือ เลิกสัญญาโดยข้อสัญญาและเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้น แม้จะมีข้อสัญญากำหนดไว้ให้เลิกสัญญาได้ในกรณีใดบ้าง หากมีกรณีที่ไม่ตรงตาม ข้อสัญญา แต่ตรงตามบทบัญญัติของกฎหมายก็เลิกสัญญาได้

ตามเอกสารแนบท้ายเงื่อนไขการจะซื้อจะขายที่ระบุไว้ว่า "ในกรณีที่ผุ้จะขายนั้นไม่สามารถทำการก่อสร้างอาคารชุดหรือห้องชุดผู้จะซื้อให้แล้วเสร็จหรือไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจะซื้อภายในเวลที่กำหนดในสัญญานี้และการผิดสัญญาดังกล่าวดำเนินต่อไปภายหลังจากผู้จะซื้อส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้จะขายไม่น้อยกว่าหกเดือน ผู้จะซื้ออาจบอกเลิกภาระ ผูกพันของผู้จะซื้อตามสัญญานี้" เป็นการกำหนดให้ผู้จะซื้อบอกเลิกสัญญาได้ 2 กรณี คือ ผู้จะขายก่อสร้างห้องชุดไม่แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ห้องชุดได้ การที่ผู้จะขายมิได้ก่อสร้างฝ้า เพดานให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญา ผู้จะซื้อจึงเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาไม่ได้

โจทก์ทำสัญญาจะซื้ออาคารชุดจากจำเลยและชำระเงินแก่จำเลยตามสัญญาบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ตามเงื่อนไขในสัญญากำหนดให้ผู้จะขายใช้วัสดุและอุปกรณ์อื่นแทนได้เฉพาะ รายการก่อสร้างและวัสดุและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อสร้างห้องชุดของผู้จะซื้อเท่านั้น และตามสัญญาระบุไว้ใน รายการฝ้าเพดานระบุว่าห้องทั่วไปเป็นคอนกรีต แต่งผิว ทาสี ส่วนกลางเป็นโครงสร้างอะลูมิเนียมทีบาร์บุยิปซัมบอร์ด ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิก่อสร้างโดยใช้วัสดุและอุปกรณ์อื่นในทรัพย์ส่วนกลาง ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยมิได้ทำฝ้าเพดาน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และฝ้าเพดานอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางนี้ แม้โจทก์ยังมิได้เป็นผู้มีส่วนถือกรรมสิทธิ์รวมเพราะยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดก็ตาม แต่โจทก์ก็มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกับจำเลยในอันที่จะบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้

ตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 216 เป็นเรี่องการผิดนัดชำระหนี้และผลของการผิดนัดทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ ส่วนกรณีที่เป็นเรื่องที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งรวมถึงการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยให้ก่อสร้างฝ้าเพดานอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางให้ถูกต้องภายในกำหนดระยะเวลา 1 เดือน อันเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่จำเลยไม่ก่อสร้างให้ถูกต้อง จึงเท่ากับจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อกรณีเป็นการเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่ต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2543
จำเลยที่ 1 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายเพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจำต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2พูดกับผู้เสียหายว่า คิดจะโกงหรือ อย่ามาเล่นกับฉันนะ ในขณะที่ จำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อผู้เสียหายอยู่ และต่อมาจำเลยที่ 1 ต่อยที่ บริเวณหางคิ้วซ้ายผู้เสียหายจนบาดเจ็บเลือดออก และพูดกับผู้เสียหาย ว่าให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน มิฉะนั้นจะเจ็บตัวอีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และร่วมกัน ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน สัญญากู้เงินก่อให้เกิดสิทธิในหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินแก่ผู้ให้กู้ จึงเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ให้กู้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งสัญญากู้เงินจากการข่มขืนใจโดยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้เงินจากจำเลยที่ 2 อันเป็นการได้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแล้วจึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานกรรโชก และทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้เพื่อเป็นการปลดเปลื้องไม่ให้ลูกหนี้ต้องได้รับความเสียหายกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และเมื่อวางทรัพย์แล้วย่อมหลุดพ้นจากหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไปอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 334 และ 335 แสดงว่า ลูกหนี้เท่านั้นมีสิทธิถอนทรัพย์ที่วางได้เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในอีกคดีหนึ่งและไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางเพื่อไปชำระหนี้รายอื่นไม่ได้และเมื่อการอายัดต้องห้ามตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่าย จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้

คำร้องอ้างว่าการอายัดไม่ชอบและขอให้ถอนการอายัด เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2541
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงจะโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับ ตามข้อตกลงนั้น ก็เป็นการตกลงที่จะโอนให้ใช้ทำมาหากินคือการใช้ทำประโยชน์นั่นเอง และการที่โจทก์ขอให้จำเลยร่วมกันชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าเสียหายที่ผิดสัญญา เมื่อการตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทวัตถุแห่งหนี้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ ส่วนการตกลงให้เข้าใช้หรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท วัตถุแห่งหนี้มิได้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ หากเพียงแต่ให้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงเป็นข้อตกลงหรือการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างคนละอย่างกัน เมื่อตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันจะบังคับแต่เพียงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมิได้ทำนองเดียวกัน ถ้าตกลงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็จะบังคับให้โอนที่ดินพิพาทมิได้เช่นเดียวกัน และคำขอบังคับให้ชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าทดแทนตัวทรัพย์ ก็เป็นคนละอย่างต่างกันกับการบังคับให้ชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองซึ่งกรณีหลังเป็นการคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว แม้จะเป็นการชำระหนี้ด้วยเงินเหมือนกันก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7091/2541
สัญญากู้ฉบับพิพาทระบุว่า ในกรณีผู้กู้สิ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้ให้กู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และผู้กู้ยังมีเงินกู้ค้างชำระอยู่ผู้ให้กู้อาจเลือกพิจารณาได้ดังนี้ คือ ให้จ่ายเงินกู้ค้างชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวนที่ค้างชำระโดยหักจากเงินเดือน เงินโบนัส หรือเงินได้อื่น ๆ ที่ผู้กู้มีสิทธิพึงได้รับจากบริษัท (ผู้ให้กู้) ถ้าหากจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอ ผู้กู้จะต้องหาเงินจากที่อื่นมาเพื่อปิดยอดเงินกู้ที่ค้างชำระทั้งสิ้นต่อไป ตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่เมื่อจำเลยมีเงินที่จะได้รับจากโจทก์ ก็ให้โจทก์หักเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้จากโจทก์ออกจากเงินกู้เพื่อหักกลบลบหนี้กันก่อน เหลือเท่าใด จำเลยก็จะต้องชำระให้โจทก์จนหมดสิ้น เป็นเพียงเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่จะหักเงินจำนวนใด ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์ชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ได้เมื่อจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ กรณีมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์

ดังนี้ เมื่อจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์โดยจำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ตามสัญญา และจำเลยไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนการที่จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสะสมสวัสดิการ โดยโจทก์จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานของโจทก์ไปหักชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมตามฟ้องก่อน เป็นการยกข้อต่อสู้ซึ่งสิทธิที่จำเลยจะพึงได้รับเงินสะสมสวัสดิการจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ และจำเลยมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่โจทก์โดยการฟ้องแย้ง จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3508/2541
เมื่อการซื้อขายรายพิพาทที่จำเลยกระทำต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์มีการชำระเงินสดให้เพียง 100,000 บาท ส่วนราคารถที่เหลืออีก 1,416,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระเป็นเช็ค แม้จะเป็นการผิดระเบียบการขายรถยนต์และข้อบังคับในการ ปล่อยรถยนต์ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ ซึ่งปรากฏต่อมาว่า โจทก์ผู้เป็นนายจ้างไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่การที่ผู้ซื้อได้นำเช็ค ฉบับใหม่มาเปลี่ยนถึงสองครั้ง และโจทก์ไม่สามารถ เรียกเก็บเงินตามเช็คที่นำมาแลกเปลี่ยนได้ โจทก์จึง ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้ซื้อ พฤติการณ์ที่โจทก์กระทำต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าถือได้ว่า โจทก์ยอมรับเอาประโยชน์จากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็น ลูกจ้างแล้วและไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ ทั้งเป็น กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 แต่กรณีมิใช่เป็นเรื่องตัวการให้สัตยาบันในการขายรถยนต์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าขาดราคาจำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อหนี้รายนี้เป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีเหตุที่ศาลฎีกาควรพิพากษาให้จำเลยที่มิได้อุทธรณ์ให้ได้รับผลเป็นคุณตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4384/2540
บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วยและเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539 
วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดิน และที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น การปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก กรณีไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ และจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5888/2539
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์กำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้หลายอย่างทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ เมื่อไม่สามารถกระทำอย่างแรกแล้วให้กระทำอย่างหลัง เมื่อการชำระหนี้อย่างแรกยังไม่ตกเป็นพ้นวิสัยการกำหนดให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันชำระหนี้เป็นเงินซึ่งเป็นการชำระหนี้อย่างหลังไปเสียทีเดียว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 202

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5885/2539 
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองหากไม่สามารถโอนได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายต้องถือราคาทรัพย์พิพาทในขณะยื่นคำฟ้องเป็นจำนวนค่าเสียหายและการนำสืบราคาซื้อขายที่ดินไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือโจทก์ทั้งสองจึงนำสืบพยานบุคคลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110/2539
การซื้อทรัพย์ในท้องตลาดหมายถึงการซื้อทรัพย์จากร้านค้าที่ตั้งอยู่ในท้องตลาด ไม่ใช่เป็นการที่ร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ในท้องตลาดซื้อทรัพย์จากบุคคลที่นำมาขายให้แก่ร้านค้านั้น จำเลยตั้งร้านค้าอยู่ในท้องตลาดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ที่ถูกคนร้ายลักไปจากผู้ทีี่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในท้องตลาด จำเลยจึงต้องคืนสลากกินแบ่งรัฐบาลให้โจทก์ วัตถุแห่งหนี้ในการคืนสลากกินแบ่งรัฐบาลให้โจทก์มิใช่เป็นการบังคับให้กระทำนิติกรรม จึงพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาในกรณีที่จำเลยไม่ยอมคืนสลากกินแบ่งรัฐบาลให้โจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9188/2538 
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารให้ตามข้อผูกพันอันสืบเนื่องจากสัญญาต่างตอบแทนระหว่างจำเลยกับ ต.ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโดยต.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้สิทธิแก่ ต.ที่จะรับเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้มาขอเช่า โดยจำเลยจะทำสัญญาและจดทะเบียน การเช่าให้แก่ผู้เช่ามีกำหนด 25 ปี มิใช่ฟ้องให้ส่งมอบ ทรัพย์สินที่เช่าอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าที่ทำไว้เพราะสิทธิดังกล่าวจะมีและพึงบังคับได้ต่อเมื่อสัญญาเช่านั้นได้ก่อเกิดเป็นผลแล้ว คดีโจทก์จึงมิได้อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 474 โจทก์ไม่ได้เข้าใช้ประโยชน์ในอาคารพิพาทตามสัญญาเช่าเพราะเหตุจำเลยได้คล้องกุญแจไว้ และจำเลยเป็นฝ่ายปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์ตามข้อผูกพันมาตั้งแต่แรก โดยจำเลยมีหน้าที่จะต้องทำสัญญาให้แก่ผู้เช่ามีกำหนดเวลาเช่า 25 ปี ด้วยการจดทะเบียนการเช่า ดังนี้ตราบใดที่สัญญาเช่ายังมิได้ทำขึ้น ระยะเวลาแห่งการเช่ายังไม่อาจ เริ่มต้นได้ ศาลพิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนการเช่า ให้แก่โจทก์มีกำหนด 25 ปี นับแต่วันจดทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2537
หลังจากโจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพียง 7 วัน จำเลย สามีจำเลย และบุตรร่วมกันตั้งบริษัทจำเลยร่วมโดยจำเลยสามีจำเลย และบุตรเป็นกรรมการบริษัท ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เพราะขณะนั้นจำเลยร่วมยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลไม่อาจเชิดผู้ใดเป็นตัวแทนได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองฉบับ จำเลย สามีจำเลยและบุตรรู้เห็นการทำสัญญาทั้งสองฉบับวัตถุแห่งหนี้กับวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือการโอนที่ดินพิพาทในราคาและกำหนดเวลาเดียวกัน ทั้งเมื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันแล้ว ได้มีการเปิดทางให้ตามที่มีข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนานถึง 2 ปีเศษ แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยร่วมเป็นผู้ซื้อมิใช่จำเลย และไม่มีข้อตกลงเปิดทางก็ตาม โดยพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าจำเลยทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของจำเลยร่วม และเท่ากับเป็นการตกลงโดยปริยายของจำเลยร่วมยอมรับและถือเอาข้อตกลงเรื่องเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมด้วย ข้อตกลงเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท มีลักษณะคล้ายภารจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิ ถ้าไม่จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 แต่ก็เป็นอันใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาซึ่งรวมทั้งโจทก์กับจำเลยร่วมด้วยในฐานะบุคคลสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2537
ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการบังคับยึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยโดยวิธีอื่น แต่ในคำร้องของจำเลยปรากฎว่าคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้โจทก์ชำระหนี้เงินวัตถุแห่งหนี้จึงเป็นคนละอย่างต่างกัน ไม่อาจที่จะหักกลบหนี้กันได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคแรกจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2537
เอกสารแม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งถึงข้อตกลงของคู่กรณีในอันที่จะทำการซื้อขายที่ดินโดยระบุชัดเจนทั้งตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ ราคาที่ซื้อขายทอดตลาดจนวิธีการและกำหนดเวลาในการปฏิบัติการชำระหนี้ได้สาระสำคัญครบถ้วน จึงมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายบริบูรณ์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1ตามกฎหมายโดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจ เอกสารสัญญาจะซื้อจะขายเป็นข้อตกลงที่เกิดจากการเสนอของคู่กรณีโดยถูกต้องสมบูรณ์ มีสาระสำคัญครบถ้วนมีผลเป็นนิติกรรมแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้สนองรับคู่กรณีผู้แสดงเจตนาย่อมต้องผูกพันตามผลนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2535 
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาที่ประกอบด้วยสัญญาเช่าและคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สิน เมื่อรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสูญหายไป ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อไม่ได้รับประโยชน์ในรถยนต์พิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่อาจจะขายหรือให้รถยนต์พิพาทตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามคำมั่น สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันระงับไป โจทก์คงมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ส่งไว้แล้ว และกลับเข้าครองครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ แต่ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบเป็นข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อได้หายไปในระหว่างการครอบครองของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถกลับเข้าครอบครองได้ และถือว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับโดยเอาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาเป็นจำนวนค่าเสียหาย ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์ได้ตามควรแก่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2534
การที่จำเลยจะมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีต้องเป็นกรณีที่ปรากฏว่าหนี้ที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอื่นในศาลเดียวกันนั้นเป็นหนี้ที่อาจหักกลบลบหนี้กันได้กับหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยขอให้งดการบังคับคดีไว้นั้น เมื่อปรากฏว่าคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์นั้นเป็นการฟ้องเรียกให้โจทก์ชำระหนี้เป็นเงินแก่จำเลย ส่วนหนี้ที่ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระให้โจทก์ในคดีนี้เป็นหนี้ให้แบ่งทรัพย์สิน วัตถุแห่งหนี้ในคดีดังกล่าวจึงมิได้มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันกับหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ หนี้ตามตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จึงไม่อาจนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีในคดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2534
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยยักยอกข้าวเปลือกของโจทก์จำนวน 400 กระสอบซึ่งฝากไว้ที่ยุ้งข้าวของจำเลย โดยข้าวเปลือกจำนวนดังกล่าวจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ แต่พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่ามีการตรวจนับจำนวนหรือคัดเลือกข้าวเปลือกเพื่อกำหนดส่งมอบให้แก่โจทก์ ข้าวเปลือกที่โจทก์กล่าวอ้างจึงยังไม่เป็นวัตถุแห่งหนี้ที่จะชำระให้แก่กัน และกรรมสิทธิ์ในข้าวเปลือกยังไม่โอนไปเป็นของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองข้าวเปลือกของโจทก์ ไม่อาจเป็นความผิดฐานยักยอก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2534
รถคันพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 มิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ดังนั้น จำเลยที่ 2จึงไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดเกี่ยวกับรถคันพิพาทกับโจทก์ การโอนทะเบียนรถยนต์อันเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 2 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ได้ต่อไป สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนรถคันพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2533
ลูกหนี้เอาที่ดินของเจ้าหนี้ซึ่งใส่ชื่อลูกหนี้ไว้แทนไปจำนองและรับจะไถ่ถอนจำนองและโอนคืนให้เจ้าหนี้ภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่ไถ่ถอนและโอนคืนตามที่รับรองไว้ ต่อมาลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังนี้มูลหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังมิได้ไถ่ถอนจำนองซึ่งถ้าเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้นแต่โดยที่ขณะขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอไถ่ถอนจำนองนั้นเมื่อใด เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ทันที แต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้จึงย่อมขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 หนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้นซึ่งถ้ามี ดอกเบี้ย รวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคำขอที่มีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้ ไม่ใช่หนี้เงินแม้จะมีคำขอว่า หรือให้ใช้ราคาที่ดิน กำกับอยู่ด้วยก็เป็นเพียงคำขอสำรองสำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1789/2532
การที่โจทก์ผู้จะขายได้มอบตึกแถวและที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยผู้จะซื้อตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นการชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลย ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและเป็นผลให้จำเลยได้ใช้ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญา อันได้แก่การที่โจทก์ยอมให้ใช้ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยจะต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการใช้ตึกแถวและที่ดินนั้นแม้โจทก์จะฟ้องเรียกเป็นค่าเสียหายแต่ตามสภาพเป็นการชดใช้ค่าที่ยอมให้ใช้ทรัพย์ ดังนี้ ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ได้รับการชดใช้ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2532
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินตามฟ้องและให้จำเลยใช้ ค่าเสียหายแก่โจทก์ และออกคำบังคับให้ตาม คำขอของโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตาม คำพิพากษาด้วย การออกไปจากที่ดินและใช้ ค่าเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง ขอให้โจทก์กับพวกขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาเช่านั้น หากจำเลยชนะคดีจำเลยก็มีสิทธิเพียงบังคับให้โจทก์กับพวกขายที่ดินให้จำเลย คดีทั้งสองจึงมีวัตถุแห่งหนี้เป็นคนละอย่างต่าง กัน โดยสภาพไม่อาจหักกลบลบหนี้กันได้ ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 การออกคำสั่งอนุญาตตาม คำขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 หรือไม่ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจะต้อง ทำการไต่สวนเสียก่อน แต่ ตาม มาตรา 21(4) ศาลก็มีอำนาจทำการไต่สวนตาม ที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งได้ เมื่อกรณีตาม คำร้อง ของ จำเลย ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะทำการไต่สวน.