ลาภมิควรได้

มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้นหรือเป็นเหตุที่ได้ สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย


มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่


มาตรา 408 บุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ

(1) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น

(2) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว

(3) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมหรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม


มาตรา 409 เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิดเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลายหรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันถ้าจะพึงมี


มาตรา 410 บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดีหรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสีย มิให้เกิดผล เช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์


มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่


มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

มาตรา 413 เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงินและบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้อง คืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่และมิต้องรับผิดชอบในการที่ ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลายแต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย

ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินได้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง


มาตรา 414 ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดีหรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยทุจริต ท่านว่าต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน

ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใดให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น


มาตรา 416 ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การเพื่อรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ท่านว่าต้องชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน

แต่บุคคลเช่นว่านี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามธรรมดาเพื่อบำรุงซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นหรือค่าภาระติดพันที่ต้องเสียไปในระหว่างที่ตนคงเก็บดอกผลอยู่นั้นหาได้ไม่


มาตรา 417 ในส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่ง มาตราก่อนนั้นบุคคลผู้คืนทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริตและเมื่อทรัพย์สินนั้นได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืนและจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

อนึ่ง บทบัญญัติแห่งมาตรา 415 วรรคสองนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยแล้วแต่กรณี


มาตรา 418 ถ้าบุคคลรับทรัพย์สินอันมิควรได้ไว้โดยทุจริตและได้ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมขึ้นในทรัพย์สินนั้น ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นต้องจัดทำทรัพย์สินนั้นให้คืนคงสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง แล้วจึงส่งคืน เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในกรณีเช่นนี้เจ้าของจะใช้ราคาค่าทำดัดแปลงหรือต่อเติม หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นราคาทรัพย์สินเท่าที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ได้แล้วแต่จะเลือก

ถ้าในเวลาที่จะต้องคืนทรัพย์นั้นเป็นพ้นวิสัยจะทำให้ทรัพย์สินคืนคงสภาพเดิมได้หรือถ้าทำไปทรัพย์สินนั้นจะบุบสลายไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ได้รับไว้จะต้องส่งคืนทรัพย์สินตามสภาพที่เป็นอยู่และไม่มี สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพราะการดัดแปลงหรือต่อเติมนั้นได้


มาตรา 419 ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562

จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2562

โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับ ก. ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 การกู้เงินและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1


เมื่อการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ รวมทั้งการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ได้กระทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาดแล้ว การกู้ยืมและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้จึงต้องรับผิดคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ก. และชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 ไปแทน ก. ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดย ก. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินที่โจทก์ชำระส่วนหนึ่งไปเป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ต้องร่วมรับผิดในการคืนเงินแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ สำหรับจำเลยที่ 3 แม้มีส่วนได้รับเงินจากโจทก์แต่ก็เป็นการได้รับเงินที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 แทน ก. ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำขึ้น จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไว้โดยสุจริต และได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ก. ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์


คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2561

แม้สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มุ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ได้ทำจริง โดยมุ่งเพื่อให้การจ่ายเงินใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ได้ทำจริงมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อ 4 ก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงว่าจำนวนปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่เป็นจำนวนโดยประมาณเท่านั้น จำนวนปริมาณงานที่แท้จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและประมาณราคากับขั้นตอนการกำหนดราคากลาง ทำให้ค่างานก่อสร้างที่คำนวณได้และนำไปใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นสูงเกินค่าก่อสร้างจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิเพียงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริงตามข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง หากโจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินในส่วนที่เกินราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ย่อมเป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างไปจากโจทก์ซึ่งเกินไปกว่าปริมาณงานตามความเป็นจริงที่กำหนดไว้ในสัญญา ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ต่างตอบแทนที่ยังมีข้อโต้แย้งจากการทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ จำเลยที่ 1 กับพวก หาจำต้องร่วมกันคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2561

ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเวอร์จิน ผู้ร้องจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 การที่นิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ต้องเป็นนิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติว่า "...นิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ ถ้าเป็น...นิติบุคคลดังต่อไปนี้...(4) นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน..." เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ผู้ร้องผู้จะซื้อจะขายถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้คัดค้านผู้จะขายตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 ได้ ผู้ร้องจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 มีคุณสมบัติที่จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามสัญญาดังกล่าวได้ปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทผู้ร้องว่า บริษัทผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจการลงทุนทั่วไปและถือครองทรัพย์สินในการประกอบกิจการของบริษัทผู้ร้อง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าก่อนที่บริษัทผู้ร้องจะเข้าถือครองทรัพย์สินโดยซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ผู้ร้องจะไปซื้อทรัพย์สินแล้วว่าบริษัทผู้ร้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าถือครองทรัพย์สินในประเทศนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้ร้อง ในคดีนี้ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ห้องชุดที่ผู้ร้องจะซื้อจากผู้คัดค้านมีราคาสูงถึง 72,960,361 บาท จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า บริษัทผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายไทย โดยเฉพาะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แล้ว และทราบดีว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประเทศไทยได้ บริษัทผู้ร้องต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนก่อน ส่วนบริษัทผู้คัดค้านผู้จะขายห้องชุดให้แก่ผู้ร้องซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ถือว่าเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัทผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามบทกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ และเชื่อว่าผู้คัดค้านตรวจสอบแล้วทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกัน สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์และนำสืบว่า ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ส่งมอบห้องชุดให้ผู้ร้องภายในกำหนด ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงทำบันทึกยกเลิกการซื้อขายห้องชุดและตกลงกันตามข้อตกลง เปลี่ยนข้อตกลงเดิมเป็นการตกลงคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนนั้น แม้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะมิได้ตกลงยกเลิกการซื้อขายห้องชุดดังกล่าวและมิได้ตกลงให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตกเป็นโมฆะ และหากผู้คัดค้านต้องคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านผิดนัดไม่คืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วนตามข้อตกลงผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ขาดตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลง ซึ่ง ส. คณะอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านแต่งตั้งตามข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลงก็ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 17,136,747.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 7,134,408.14 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท และค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการกึ่งหนึ่งที่ผู้ร้องทดรองจ่ายแทนผู้คัดค้านไปก่อนจำนวน 65,258 บาท แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ถือว่าเป็นคนต่างด้าวรู้อยู่แล้วว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากผู้คัดค้านซึ่งตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องได้ชำระค่าห้องชุดให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนถือเป็นการที่ผู้ร้องได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนในฐานลาภมิควรได้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ได้ ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 411 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินแก่ผู้ร้องตามข้อตกลง จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 411 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560

เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ


เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2560

ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของทายาทตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์หลังจากวันฟ้องตลอดเวลาที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาทได้ แม้วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจะเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งบริบูรณ์อยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหาได้สิ้นสุดลงไม่ ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนที่ดินพิพาท เป็นบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรง เพราะหากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง


ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) หมวดที่ 3 ว่าด้วยลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานีบรรจุก๊าซ ข้อ 15 (5) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 3 กำหนดว่า สถานีบริการต้องมีกำแพงกันไฟสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยรอบยกเว้นด้านที่ใช้เป็นทางเข้าและทางออกของสถานีบริการ กำแพงกันไฟต้องมีระยะห่างจากตู้จ่ายก๊าซไม่น้อยกว่า 6 เมตร... ถ้ากำแพงกันไฟด้านใดห่างจากผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซเกิน 20 เมตร จะทำประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสถานที่ของเจ้าของที่ดินเดียวกันก็ได้ แต่ประตูดังกล่าวต้องกว้างไม่เกิน 3 เมตร และต้องปิดประตูตลอดเวลา จะเปิดได้เมื่อมีการเข้าออก และตามข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามข้อ 3 (2) (3) หรือ (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้สถานีบริการก๊าซรถยนต์ต้องมีกำแพงกันไฟโดยรอบสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร เพื่อป้องกันอัคคีภัยอันอาจเกิดจากก๊าซมิให้ลุกลามจากสถานีบริการ ไปก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีบริการ ผู้ฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีข้อตกลงให้จำเลยต้องเปิดแนวกำแพงกันไฟด้านหลังสถานีบริการก๊าซรถยนต์กว้าง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของ อ. และบริวาร โดยไม่มีประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนสำหรับเปิดปิด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่อาจแยกข้อตกลงในส่วนที่เป็นโมฆะออกจากข้อตกลงอื่นที่ไม่เป็นโมฆะได้ และไม่ต้องคำนึงว่าคู่สัญญาจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจยกความไม่รู้ของ อ. ขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลลบล้างกฎหมายได้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่แรก ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเลย โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ กรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 406 จำเลยจึงต้องรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แล้วส่งมอบคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย นอกจากนี้การที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ด้วยการเปิดสถานีบริการก๊าซรถยนต์ในที่ดินพิพาทมาแต่แรก ประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการใช้ที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมสามารถคำนวณราคาเป็นเงินได้ เงินที่คำนวณได้นี้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับจากโจทก์และโจทก์ร่วม โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมฐานลาภมิควรได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2560

โจทก์กับ บ. และ ว. ร่วมกันทำกิจการค้าใช้ชื่อว่า "กิจการร่วมค้า ซ." เข้าทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี - บางประกง กับจำเลย ต่อมาเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บ. กับพวก ผู้ร้อง ก. ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกิจการร่วมค้า ซ. ไม่ได้รับราคาที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า ซ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ โดยไม่จำเป็น ต้องฟ้องร่วมกับ บ. และ ว. และเมื่อคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559

จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559

การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2559

การที่จำเลยที่ 2 หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ 1 โดยอาศัย ป.รัษฎากร มาตรา 52 และจำเลยทั้งสองไม่คืนเงินภาษีแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกินกำหนดตามมาตรา 27 ตรี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เงินภาษีไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559 

แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559

จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2558

แม้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายมีหน้าที่ต้องรับภาระในการชำระเงินค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และโจทก์เป็นฝ่ายออกชำระเงินดังกล่าวแทนจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญาอันทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวเนื่องจากมีข้อกำหนดในสัญญาและโจทก์ได้ชำระในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ หาถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จึงไม่อาจนำอายุความในมูลลาภมิควรได้มาใช้บังคับ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14208/2558 

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ คดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่เพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลาที่โจทก์เรียกรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175 - 6177/2558 

โจทก์ทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน ต้องห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่น ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 จึงหาอาจเรียกคืนได้ไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558 

เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558 

โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12847/2557 

จำเลยทั้งสองชำระภาษีให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาขอคืนภาษีโดยอ้างว่าชำระไว้เกิน เพราะใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัท ช. ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างมูลเหตุตามกฎหมายที่ควรได้รับคืนภาษี และเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับคืนภาษี จึงคืนเงินภาษีให้ เช่นนี้ ย่อมมิใช่การคืนเงินภาษีโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ที่จะถือว่าเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบเห็นว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาเงินค่าภาษีอากรที่มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนลาภมิควรได้ที่มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1122/2557 

บริษัท ด. ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2548 ให้แก่จำเลยเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระ แม้จำเลยจะมีสิทธิรับเช็คดังกล่าวและมีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของเช็คนั้นได้เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท ด. ในวันที่ 11 สิงหาคม 2548 อันเป็นวันก่อนที่เช็คนั้นถึงกำหนดชำระ เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามลูกหนี้ชำระหนี้ มาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ที่ให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ย่อมหมายความว่า เช็คพิพาทที่ลูกหนี้ออกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าถึงกำหนดชำระภายหลัง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ธนาคารตามเช็คต้องงดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าว ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 992 (3) ดังนี้ จำเลยชอบที่จะนำเช็คพิพาทไปยื่นเป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไม่ใช่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่จำเลยไปจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง การจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามโจทก์ ลูกหนี้ชำระหนี้ ถือเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับไปจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 542,397.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11407/2556 

เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่จำเลยโดยผิดหลง ทำให้จำเลยได้รับเงินเกินไปโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และทำให้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้แบ่งให้แก่เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียเสียเปรียบ โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีสิทธิเรียกเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยเพื่อนำไปจ่ายแก่ผู้มีสิทธิต่อไป เป็นการเรียกเงินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลตามกฎหมายในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้เสียได้รับการชดใช้จากลูกหนี้ตามขั้นตอนของการบังคับคดีแพ่ง เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11344/2556 

การที่ ว. ฝากเงินเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่ ว. ยืมเงินโจทก์ไป ถือว่าโจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องในการที่ ว. กระทำความผิดแสดงว่าโจทก์รับเงินดังกล่าวมาโดยสุจริต ซึ่งสิทธิของโจทก์ผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นมิใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1331 โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน" 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2556 

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินส่วนต่างของราคาที่เกินไป อันสืบเนื่องมาจากที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายมิได้ส่งมอบรถให้ตรงตามรุ่นตามความประสงค์ของผู้ซื้อโดยมีผลต่างราคากันอยู่เป็นเงิน 94,000 บาท กรณีดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันจะถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ตกแก่จำเลยซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6124/2556 

แม้คดีอาญาศาลจะยกฟ้อง พ. ระบุว่า พ. มิได้กระทำโดยประมาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า พ. เป็นคนขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้แล่นข้ามเกาะกลางถนนพุ่งชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยสารมาด้วยเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจาก พ. และโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก พ. และโจทก์ โจทก์ยอมชำระค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่ เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่รับมาโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เงินที่จำเลยทั้งสี่รับมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายที่จะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่รถที่ พ. ขับเสียหลักเป็นเพราะความประมาทของผู้ใดก็เป็นเรื่องที่ พ. จะไปว่ากล่าวกับบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสี่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556 

ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2556 

โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบลในตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ระดับ 3 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และกฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2538) ข้อ 2 ประกอบมติคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้มีความผูกพันกันตามกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานของโจทก์และปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตลอดมา การที่โจทก์จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นการให้เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของจำเลยในฐานะที่เป็นพนักงานของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นพนักงานของโจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครนายกจะตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็นผู้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ในการรับบุคคลเข้ารับราชการอันเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างหรือให้จำเลยพ้นจากราชการได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555 

จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555 

การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12258/2555 

จำเลยนำเช็คของธนาคาร ส. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 จำนวนเงิน 9,450 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับเงินไทย 385,371 บาท ซึ่งมี ก. เป็นผู้สั่งจ่ายมาให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของเช็คแทนจำเลย เมื่อโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยเท่ากับจำนวนเงินในเช็ค ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้จำเลยในฐานะผู้ทรงเช็คเข้าใจได้ว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินตามเช็ค การที่จำเลยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยเพียงบางส่วนจำนวน 120,000 บาท ทั้งที่สามารถเบิกถอนออกจากบัญชีได้ในคราวเดียวทั้งหมด จึงไม่น่าจะเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินไว้โดยไม่สุจริต จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 เมื่อปรากฏว่าจำนวน 120,000 บาท ที่จำเลยเบิกถอนไปนั้น ส่วนหนึ่งจำเลยได้โอนคืนให้ บ. ภริยาของ ก. อีกส่วนหนึ่งนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ของวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยได้รับแจ้งจากพนักงานของโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยให้โจทก์เรียกเก็บแทนนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงถือว่าในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาขณะเมื่อเรียกเงินคืน จำเลยไม่มีเงินเหลือที่จะคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2555 

คดีนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ในการเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว จำเลยถูกผู้อื่นแอบอ้างและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยจำเลยไม่มีเจตนารับโอนเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เพียงพอโดยไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง กรณีเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีผู้แอบอ้างและใช้เอกสารปลอมขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งซื้อมาด้วยเงินของโจทก์มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงชอบด้วยความเป็นธรรมที่โจทก์จะเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้เสมือนเป็นการติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนแทนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไป เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำอันมิชอบ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่ไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้หนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยตามฟ้องได้เพราะจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398 - 399/2555 

คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญาซื้อขายโดยตรง สัญญาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุที่มาของการหักเงินชำระแก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8680/2554 

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อกันไว้ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองว่า ให้ถือเอาจำนวนเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ จึงมิใช่การซื้อขายเหมาแปลง เมื่อจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน และโจทก์ทั้งสามเลือกรับที่ดินที่จำเลยทั้งสองส่งมอบ โจทก์ทั้งสามจึงต้องชำระราคาค่าที่ดินตามส่วนของที่ดินที่ได้รับมอบเท่านั้น สำหรับเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามชำระแก่จำเลยทั้งสองเกินส่วนไป แม้จะถือว่าเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และจำต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสามฐานลาภมิควรได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2554 

ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 65 ที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางโดยชอบได้นั้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครอง แต่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางในตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ที่ประกาศสงวนที่ดินริมทางหลวงหมายเลข 22 จำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตาราง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ซึ่งออกก่อนวันออกประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวกว่า 13 ปี ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ยังไม่เสียไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมได้สิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ไปทั้งแปลง ซึ่งได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้ว ตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดระบุว่า "เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้ารับซื้อไว้เท่านั้น การกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาวและการบอกประเภทที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดนั้น เป็นแต่กล่าวไว้โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ดินจะขาดหรือเกินไปหรือบอกประเภทของที่ดินผิดไปประการใดก็ดี ไม่ถือว่าเป็นข้อที่จะทำลายสัญญาซื้อขายนี้ได้" แม้แขวงการทางจะคัดค้านการรังวัดที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องต่อสู้กับกรมทางหลวง เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและจ่ายให้จำเลยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถูกต้องตามขั้นตอนการบังคับคดีแพ่ง ไม่เป็นลาภมิควรได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2554 

แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความว่า โจทก์คืนเงินให้นาย อ. ครั้งแรกโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากผู้มีชื่อ ส่วนการสั่งคืนเงินให้จำเลยในครั้งหลังจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คก็ตาม กรณีเป็นเพียงวิธีการสั่งคืนเงินโดยฝากเข้าบัญชีเงินฝากเท่านั้น เงินซึ่งนาย อ. และจำเลยนำมาวางไว้แก่โจทก์ก็เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันให้บริษัท พ. หาใช่เป็นการฝากเงินหรือฝากทรัพย์ไม่ ฉะนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่รับไปนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีจึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 มิใช่เรื่องการติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามมาตรา 1336 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2553 

โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากการที่พนักงานของโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้า เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ควรจะได้รับ เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับโดยปราศจากมูลจะอ้างตามกฎหมาย เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าจะมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น การที่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 มีการตรวจหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้าย พบว่าโจทก์ส่งเงินมูลค่าสูงกว่าให้จำเลยทั้งสอง วันดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ที่จะเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินที่ส่งผิดพลาดคืน คดีจึงไม่ขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553 

โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินกับ ส. ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน และเมื่อไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ปรากฏว่า มีการแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ แม้จะมีพิรุธที่มีการจดทะเบียนการโอนจาก ส. ไปยัง ณ. ก่อน แล้วจึงโอนต่อไปให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกันก็ไม่มีข้อห้ามมิให้กระทำ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแล้วนำมาแบ่งแยกและว่าจ้างให้ ช. ถมดินและปรับสภาพที่ดินโดยเปิดเผย จึงไม่อาจฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยรู้เห็นที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินแล้วไม่ขัดขวางหรือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ที่ดินมีข้อโต้แย้งฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ ก็ยังไม่อาจถือว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตเช่นกัน การที่จำเลยได้ที่ดินมาเป็นของตนตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่นำมาถมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 จึงไม่อาจคืนดินที่ถมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดิน แต่ขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้เพียงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจ และราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท หนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2553

ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 อีก การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะต้องการที่ดินพิพาทโดยไม่รู้มา ก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามโอนไว้ กรณีดังกล่าวไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดย รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหรือกระทำการชำระหนี้อันเป็นการ ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ค่าที่ดินที่ได้ชำระมาแล้วให้แก่โจทก์


โจทก์อ้างหนังสือสัญญาซื้อขายเพื่อแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลว่าได้มีการทำสัญญา ซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5817/2551

โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ก็ย่อมจำเป็นต้องถมดินเพื่อปรับระดับพื้นให้สูงพ้นจากน้ำท่วม อันเป็นการกระทำเพื่อครอบครองใช้สอยที่ดินพิพาทของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ว่าขณะนั้นโจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่า จำเลยกำลังร้องขอต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อขอซื้อที่ดินพิพาทกับได้ฟ้องร้องต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ก็ยังมิได้มีผลแพ้ชนะกันออกมา ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยที่ดินของตน จึงไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาในราคาเดียวกับราคาที่โจทก์ทั้งสองซื้อมา จำเลยจึงได้ดินถมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมดิน และได้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับราคาที่ดินพิพาทที่ ยังไม่ได้ถม ดินถมดังกล่าวและมูลค่าที่ดินพิพาทที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการเพิ่มพูนกองทรัพย์สินของจำเลย จึงเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยจึงต้องชดใช้ราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองถมที่ดินไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3624/2551

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยเบิกไปโดยจำเลยไม่มีสิทธิเบิกจากทางราชการตาม พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 มาตรา 7 (1) อันเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายให้จำเลยและจำเลยก็ไม่มีสิทธิรับ เงินดังกล่าว แต่จำเลยรับไปโดยสุจริตเข้าใจว่า ตนมีสิทธิที่จะเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จึงอยู่ในบังคับกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ที่โจทก์ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกคืนจากจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2551

จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากโจทก์เพียงเฉพาะส่วน ที่เกินจากที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แม้โจทก์จะหลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจ่ายเงินทั้งหมดให้แก่จำเลยไป แต่เมื่อโจทก์นำส่งเงินภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่โจทก์นำส่งให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจาก จำเลยได้ จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2551

นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้เป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทที่ได้รับจากลูกหนี้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ จนเต็มจำนวน เว้นแต่ผู้คัดค้านที่ 1 จะได้รับไว้โดยสุจริต จึงมีหน้าที่ต้องคืนเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามมาตรา 412 และเป็นหนี้เงินต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดเป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2551

จำเลย ที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคาร ธนาคารหรือโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้นำไปหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารหรือโจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับธนาคารเป็นสถาบันการเงินอันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าธนาคารหรือโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นเป็นการกระทำการที่ตามอำเภอใจเสมือน หนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550

โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไป จัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์ คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืน ข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่า ตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะ ได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่า กับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้ว ไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2549

คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระแก่โจทก์ มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินแปลงอื่นอีก การที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดินแปลงอื่นจำนวน 3 แปลง ไปขายฝากแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวน 200,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 แต่ที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่ ก. บุตรชายโจทก์และโจทก์หักเงินที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืม เป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบถึงการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ย เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 ซึ่งจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้


คำแถลงรับของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6784/2549

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 ความตกลงทำใว้ล่วงหน้าที่จะตกเป็นโมฆะจะต้องมีข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของ จำเลยที่ 1 และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จึงมิใช่สัญญาที่ยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี เนื่องจากกระทำการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหาย แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนบัตรภาษีจึงต้องรับผิดตามที่ให้สัญญาแก่โจทก์ไม่จำต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 412 ถึง 418 แห่ง ป.พ.พ.ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์โดยเฉพาะอันเป็นนิติกรรมแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2549

บัตรภาษีมีมูลค่าเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในบัตรภาษีนำไปใช้แทนเงินสดในการชำระภาษีแก่กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตได้ หากการได้รับบัตรภาษีไว้เป็นลาภมิควรได้ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไว้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 412

กฎหมายบัญญัติหลักในการคืนเงินที่เป็นลาภมิควรได้ว่า ผู้ได้รับนั้นต้องคืนเงินเต็มจำนวน ส่วนการคืนลาภมิควรได้เพียงบางส่วนที่ยังคงมีอยู่ในขณะที่เรียกคืนเพราะได้รับมาโดยสุจริตเป็นข้อยกเว้น เมื่อจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การของตน เพราะปัญหาว่าสุจริตหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยรับเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้ไว้โดยสุจริตหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548

จำเลยมีหน้าที่จะต้องคืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิ ได้เรียกคืนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อมีการเรียกคืนแล้ว แต่จำเลยไม่คืนให้ จึงจะถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442 - 5468/2548

จำเลยได้รับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์คำนวณจ่ายให้ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2536 แต่มีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทำให้สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินบำเหน็จต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ต้องคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเงินบำเหน็จส่วนต่างที่โจทก์จ่ายเกินไปเพราะการคำนวณตามระเบียบเดิมที่จำเลยได้รับไปย่อมเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 อายุความในการฟ้องเรียกให้คืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปและต้องคืนเป็นจำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ กรณีมิใช่จำเลยได้ยึดถือเงินบำเหน็จส่วนที่เกินไว้ โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์สามารถติดตามเอาคืนได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2548

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ในปี 2539 โจทก์มีตำแหน่งเป็นช่างอิเล็กทรอนิคการบินสอง โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานภายในของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์ในปี 2540 และส่งผลให้ฐานเงินเดือนในการเลื่อนเงินเดือนในปีงบประมาณ 2541 คลาดเคลื่อนคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์จึงคลาดเคลื่อนไปด้วย เงินที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลยโดยคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคแรก โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลย แต่จำเลยทราบถึงความบกพร่องในการเลื่อนเงินเดือนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยฟ้องแย้งวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่จำเลยรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตามมาตรา 419 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547

ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150


สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ ป.พ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2546

การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไปแม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 419

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2546

เมื่อสัญญาขายฝากที่ดิน น.ส.3 ตกเป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3923 - 3932/2546

การที่โจทก์จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นการจ่ายตามคำสั่งที่ 63/2539 และที่ 64/2539 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรับเงินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 จากโจทก์จึงมิใช่เป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แม้ต่อมาคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิกก็ตาม ทั้งการสิ้นผลบังคับของคำสั่งดังกล่าวมิใช่เป็นเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้ว อันจะถือว่าเป็นการได้ทรัพย์มาในฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ที่กำหนดสำหรับลาภมิควรได้มาใช้แก่กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2546

โจทก์บอกเลิกการจองห้องพักอันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกันเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ในเรื่องการคืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขณะจำเลยรับเงินค่าห้องพักเป็นการรับไว้โดยชอบมิใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างกฎหมายได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546

ขณะที่มีการชำระบัญชีอยู่บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างกรมสรรพากรโจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยไป ไม่ว่าจำเลยจะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ.มาตรา 1269 ถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินส่วนแบ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจำต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตามมาตรา 406

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905 - 4927/2545

โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยคืนค่าชดเชยที่รับมาให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 406 กรณีดังกล่าวมิใช่จำเลยเอาทรัพย์ของโจทก์มายึดถือไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามมาตรา 1336


ป.พ.พ.มาตรา 419 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินจากผู้ที่ได้ทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน มิใช่ภายในหนึ่งปีนับแต่ผู้เสียหายประสงค์ใช้สิทธิเรียกคืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2545

โจทก์ทำสัญญาจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทจำเลย โดยชำระเงิน274,600 บาท แต่เมื่อถึงวันทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์เห็นว่ามีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมลักษณะเอาเปรียบโจทก์หลายข้อ จึงแสดงเจตนาขอแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องและเป็นธรรมเสียก่อนว่าจำเลยจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จเมื่อใด จะแบ่งแยกโฉนดพร้อมโอนกรรมสิทธิ์รวมถึงการชำระเงินเมื่อใด ซึ่งล้วนแต่เป็นปกติประเพณีของการซื้อขายที่อยู่ในวิสัยของจำเลยต้องกระทำและกระทำได้ ข้อสัญญาดัง แก้ไขสัญญาตามที่โจทก์ขอทุกข้อ โจทก์กับจำเลยจึงยังมิได้มีสัญญาต่อกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 366 วรรคหนึ่ง สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่เกิดขึ้นเงินที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ต้องคืนให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 406 วรรคหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2545

กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อบรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งผู้รับประโยชน์หาต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ไม่ กรณีเช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ซึ่งบรรษัท ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยต่อเมื่อได้แสดงเจตนาว่า จะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่อโจทก์แล้ว ตามมาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทันที เมื่อบรรษัท ง. มิได้แสดงเจตนาเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อสิทธิของบรรษัท ง. ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2545

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการตกลงซื้อขายกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่จำเลยผู้ถูกเวนคืน เมื่อปรากฏจากการรังวัดว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่ รับไว้โดยที่ดินมิได้ถูกเวนคืนแก่โจทก์ กรณีหาใช่เรื่องจำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์เพราะโจทก์กระทำการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ไม่ และเมื่อการฟ้องร้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ชำระเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเนื่องจากการดำเนินตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความเป็นพิเศษ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2544

โจทก์มอบที่ดินให้จำเลยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายการที่จำเลยขุดดินในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เพราะเป็นการตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยถูกต้อง จึงไม่เป็นเรื่องลาภมิควรได้และโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ


ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมและวรรคท้ายบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ โดยไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรก่อนจึงจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยขุดดินไปขายเป็นหลุมขนาดใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถมดินให้กลับสู่สภาพเดิม แม้โจทก์จะมีสิทธิบังคับให้จำเลยถมดินให้กลับมีสภาพเดิมก่อน แต่เมื่อโจทก์เลือกที่จะบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เลยก็ย่อมทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ การที่ศาลพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์จึงไม่เป็นการพิพากษาข้ามขั้นตอน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2544

จำเลยนำดินเข้าไปถมและปรับระดับพื้นที่ในที่ดินราชพัสดุที่เกิดเหตุโดยสมัครใจ เพราะเชื่อว่าตนจะได้รับโอนสิทธิในที่ดินราชพัสดุดังกล่าว แม้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุจะได้ดินนั้นมาในฐานลาภมิควรได้ก็ตาม แต่เมื่อภายหลังไม่มีการโอนสิทธิการเช่าที่ดินกัน จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะนำดินที่ถมไว้ในที่ดินราชพัสดุคืนไป พฤติการณ์ที่จำเลยได้ให้พวกของจำเลยขุดเอาดินในที่ดินราชพัสดุไปเกินกว่าดินที่จำเลยนำมาถมไว้ โดยไม่รับฟังข้อทักท้วงห้ามปรามของผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จึงเป็นการขุดเอาดินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544

โจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทที่ทำกันไว้สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาขายก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสอง และมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะ โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2543

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 537 และมาตรา 546 กำหนดให้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในรถยนต์พิพาทตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อ เมื่อฟังได้ว่า ฉ. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อและรับมอบรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์นำจำเลยทั้งสองมาทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทและสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ หลังจากโจทก์ยื่นฟ้อง ฉ. กับพวกว่าผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาท ให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ ขณะโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อนั้นสภาพรถยนต์พิพาทจอดซ่อมอยู่ในอู่ซ่อมรถโดยไม่มีกระบะท้ายต้องซ่อมเครื่องยนต์และใส่กระบะท้ายใหม่ จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ได้รับรถยนต์พิพาทไปใช้ประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงไม่อาจอ้างสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้


เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่อาจอ้างสัญญาเช่าซื้อมาฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนไปในสภาพที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าซ่อมไปแล้ว เป็นการได้ประโยชน์ในค่าซ่อมรถยนต์พิพาทโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกคืนค่าซ่อมรถยนต์พิพาทจากโจทก์ในฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2543

โจทก์ชำระมัดจำหรือเงินราคาค่าซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ห้ามโอนซึ่งเป็นโมฆะ จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7218/2542

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลย และชำระค่าที่ดินให้จำเลยครบถ้วนแล้วจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันทำสัญญาแต่ที่ดินพิพาทเป็นของ ผ. และ ผ. ได้แจ้งความกล่าวหาว่าคนงานของโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท ดังนี้เป็นกรณีที่ ผ. มาก่อการรบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อในอันจะครองที่ดินพิพาทเป็นปกติสุข เพราะ ผ. มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทอยู่ในเวลาที่โจทก์ซื้อจากจำเลยจึงเป็นการรอนสิทธิตาม            


ป.พ.พ.มาตรา 475 เมื่อโจทก์มิได้รู้ในเวลาซื้อขายว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ผ. และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิทธิของโจทก์ได้สูญไปโดยความผิดของโจทก์เอง จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าที่ดินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

 

หลังจากที่โจทก์ถูก ผ. อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ผ. และถูกแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ยอมตามที่ ผ. เรียกร้อง โดยจะไม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอีก แต่เมื่อการที่โจทก์ยินยอมตามที่ ผ. เรียกร้อง เพราะคนงานของโจทก์จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและมีโทษถึงจำคุกได้ การยอมของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ และไม่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขายจึงไม่อยู่ภายในบังคับอายุความ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 และมิใช่กรณีโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ แต่อยู่ภายในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2542

ป.พ.พ.มาตรา 467 ห้ามฟ้องในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนจากที่ตกลงซื้อขายกันเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบดังนั้น หากผู้ซื้อต้องการเรียกร้องให้ผู้ขายส่งมอบที่ดินที่ขาดจำนวนเพื่อให้ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ซื้อต้องฟ้องให้ผู้ขายรับผิดส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดดังกล่าวแก่ผู้ซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนซื้อขาย


โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ซื้อขายกันแก่โจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปบางส่วนคืนด้วยเหตุที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน และจำเลยไม่อาจอ้างกฎหมายที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยชอบ จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 406 กรณีต้องบังคับด้วยอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตาม มาตรา 419 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น โจทก์จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 อันถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์โดยชอบในวันดังกล่าว สิทธิที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินฐานลาภมิควรได้เกิดขึ้นแล้วแต่โจทก์เพิ่งมารู้ว่าที่ดินที่ซื้อจากจำเลยขาดตกบกพร่องจำนวนไปเมื่อได้มีการเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 และนำคดีมาฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536 จึงยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2542

โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินบางส่วนที่ชำระให้จำเลยเกินไปคืน ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เป็น การฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานทรัพย์ซึ่งซื้อขายขาดตกบกพร่อง ป.พ.พ.มาตรา 419 กำหนดอายุความของลาภมิควรได้ไว้ 1 ปี นับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหาย คือ โจทก์ทั้งสองรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ระบุเนื้อที่ดินขาดไปจากที่โจทก์ทั้งสองชำระราคาให้จำเลย หลังจากรังวัดตรวจสอบให้เป็นที่แน่นอนอีกครั้งแล้วจึงแก้ไข ในโฉนดระบุเนื้อที่ดินใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536ดังนั้น อายุความ 1 ปี ย่อมเริ่มนับตั้งแต่ตรวจสอบทราบแน่นอนแล้ว คือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2537 ยังไม่เกิน 1 ปี และไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันชำระราคาเกินไป คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท(ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน)ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 ที่โจทก์ ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์