ผู้เยาว์ คนวิกลจริต และคนไร้ความสามารถ ทำละเมิด

มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้ อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล ซึ่งทำอยู่นั้น


มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร


มาตรา 431 ในกรณีที่กล่าวมาในสองมาตราก่อนนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 426 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297 - 308/2562

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ไปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมอนุญาต น่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกไปข้างนอกกับจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 430 แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร


การที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกไปขับโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ห้ามปรามทั้งที่จำเลยที่ 4 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จะขับรถไปเสี่ยงแก่การเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ จำเลยที่ 4 ผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอันเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ป.พ.พ. มาตรา 430


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558

ป.พ.พ. มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ชั่วครั้งคราว จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน บุคคลซึ่งรับดูแลต้องมีเจตนาที่จะรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ อาจเกิดจากหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตามสัญญา ตามวิชาชีพ หรือตามพฤติการณ์ ส่วนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายถึง ผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ถือว่าเป็นผู้เยาว์ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. ขับรถยนต์ของทางราชการนำจำเลยที่ 1 กับพวกไปส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ แต่ไม่มีเจตนาที่จะรับดูแลจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 430 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จ่าสิบตำรวจ ว. ลงจากรถ โดยดับเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้นำกุญแจรถยนต์ติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลบหนี โดยขับรถยนต์ของทางราชการไปและก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของจ่าสิบตำรวจ ว. การที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถไปก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง ผลแห่งละเมิดมิได้เกิดจากจ่าสิบตำรวจ ว. ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับในผลแห่งละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2558

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการในการที่จะเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 249 ยังคงให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ ดังนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 เป็นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558

เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13789/2555

ป.พ.พ. มาตรา 429 บัญญัติให้บิดามารดาต้องร่วมรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ตามคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองให้ชัดแจ้ง คงให้การเพียงว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างเดียวกันกับการใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชัดแจ้ง ย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบพิสูจน์ให้พ้นความรับผิดตามกฎหมาย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8138/2555 

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุ 19 ปีเศษ ใกล้บรรลุนิติภาวะ แม้จะยังเป็นผู้เยาว์และต้องอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองไม่เป็นภาระแก่บิดามารดา การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ก็เนื่องมาจากต้องใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีวุฒิภาวะพอสมควรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไว้วางใจจำเลยที่ 1 ในการดำรงชีวิตในสังคมที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถจักรยานยนต์ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น หรือเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอยู่เสมอ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรต้องทักท้วงหรือห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์อีกจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2548 

โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย


การที่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดต่อกันเพียงใดนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วย มาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้


จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ และจะต้องรับผิด ก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้


หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9774/2544 

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้


จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์ ปกติจำเลยที่ 1 จะขับออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาแต่ต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2540

จำเลยร่วมบุตรโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวสถานบันเทิงโดยจำเลยร่วมให้ ฉ. เป็นผู้ขับไปยังสถานบันเทิง ครั้นเลิกจากเที่ยวเมื่อเวลา 3 นาฬิกาของวันใหม่เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 ขับกลับจากสถานบันเทิงแล้วเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปเที่ยวและที่จำเลยร่วมยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์พาจำเลยร่วมกับเพื่อน ๆ กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์แทน ฉ. การที่จำเลยที่ 1 อาสาขับรถยนต์โจทก์ตอนขากลับต้องถือว่าเป็นการสุดวิสัยของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะรู้เห็นได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่ในขณะนั้นแล้ว เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้ไปกระทำหรือรู้แล้วยังยอมให้กระทำดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แต่หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3


จำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และมีอาการเมาสุรา การที่จำเลยร่วมนำรถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นมารดาออกไปให้จำเลยที่ 1 ขับไปเที่ยวเช่นนี้ ตามพฤติการณ์ต้องเล็งเห็นว่าจะต้องเกิดอุบัติภัยอย่างแน่แท้ จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมมีส่วนก่อให้เกิดเหตุละเมิดในคดีนี้ด้วย จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9184/2539

จำเลย ที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3 ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกัน ภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2534

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกไปเที่ยวใช้หนังสติ๊กยิงด้วยกระสุนในทางเดินสาธารณะในเวลากลางคืนจนเกิดเหตุคดีนี้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มักออกเที่ยวกลางคืนด้วยกันบ่อย ๆ การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แสดงว่า บิดามารดามิได้ดูแลอบรมสั่งสอนตามสมควรแก่หน้าที่ ระหว่างนั้นแม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะไปอยู่บ้านญาติช่วยเลี้ยงกระบือหรือช่วยทำนา แต่การที่ผู้เยาว์ทำละเมิดในขณะที่มิได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10นำสืบเพียงว่าได้สั่งสอนให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้เป็นคนดี มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2526 

บุตรโจทก์กับบุตรจำเลยเป็นเพื่อนกันได้พากันขับรถพาเพื่อนออกไปเที่ยวโดยมีบุตรโจทก์เป็นผู้ขับ หลังจากพาเพื่อนกลับมาแล้วบุตรโจทก์ได้ขับรถออกไปกับบุตรจำเลยอีก โดยจำเลยไม่ทราบและไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าบุตรจำเลยจะทำหน้าที่ขับรถแทนบุตรโจทก์หลังจากนั้นบุตรจำเลยโดยความประมาทเลินเล่อขับรถโจทก์ไปประสบอุบัติเหตุเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบุตรจำเลยตามสมควรแก่หน้าที่ในขณะนั้นแล้วจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ด้วย


แม้จำเลยจะไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ในผลแห่งละเมิดที่บุตรผู้เยาว์กระทำลงเพราะจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุจำเลยได้ไปตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่บุตรจำเลยทำละเมิดต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการทำละเมิดของบุตรจำเลยข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523

แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจะเคยห้ามปรามจำเลยที่ 1ผู้เป็นบุตรผู้เยาว์ไม่ให้เอารถยนต์ไปใช้ และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บและเคยเอารถออกไปขับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถหาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1


การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2488

บิดามารดาซึ่งนำสืบได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว ไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์ที่ไปทำการละเมิดบุตรผู้เยาว์ไปฉุดคร่าห์กักขังและข่มขืนกระทำชำเราหญิง เมื่อบิดามารดาใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้วไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2535

จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของหอพักที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เช่าอยู่ และเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจธุระของตนเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ และจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 เพราะเจ้าของหอพักมีหน้าที่เพียงดำเนินกิจการหอพักและควบคุมการเข้าพักในหอพักเท่านั้น