กำหนดอายุความ

มาตรา ๑๙๓/๓๐  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี


มาตรา ๑๙๓/๓๑  สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้


มาตรา ๑๙๓/๓๓  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี

(๑) ดอกเบี้ยค้างชำระ

(๒) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ

(๓) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๖)

(๔) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา

(๕) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑) (๒) และ (๕) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี


มาตรา ๑๙๓/๓๔  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(๑) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

(๒) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

(๓) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๔) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๕) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ

(๖) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า

(๗) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (๑) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๘) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

(๙) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

(๑๐) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๑๑) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๑๒) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๑๓) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๑๔) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน

(๑๕) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

(๑๖) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

(๑๗) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าวเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป


มาตรา ๑๙๓/๓๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๓/๒๗ สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันตามมาตรา ๑๙๓/๒๘ วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563

คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)


เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้" ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)


เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2563

ในคดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ก. เป็นจำเลย ภายหลังจากนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกสมาคมและตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว การฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องผิดตัว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องสมาคมเพื่อนำมูลหนี้ไปฟ้องผู้ชำระบัญชีของสมาคมโดยศาลชั้นต้นมีสั่งจำหน่ายคดี กรณีจึงถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่เช็คถึงกำหนด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 พ้นกำหนด 1 ปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1 - 3/2563

เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้


หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้


การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ


การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212


การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก


การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความโดยถือวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่ บ. ผู้หลอกลวง อันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง


เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่า บ. กับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัว บ. กับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562

แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6915/2562

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์


คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539


กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง


จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2562

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ


เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคาและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4424/2562

จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าการเดินอากาศ และได้ทำสัญญากับโจทก์มีข้อตกลงกันให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ของโจทก์ และจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะใช้ใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นเรื่องที่โจทก์มีหน้าที่เพียงให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่จำเลยเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


ประกาศกระทรวงคมนาคมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) เป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียดของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทของประกาศกระทรวงนั้น เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวถูกยกเลิก ประกาศกระทรวงนั้นย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562

จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้


จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้


จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2562

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คือ เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ตามที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้กว้างขวางกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายฉบับอื่น และยังเปลี่ยนแปลงปลายทางของทรัพย์สินเหล่านี้ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดของประเทศ โดยมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทันที โดยมิต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพิ่มเติมอีก ส่วนการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีเงินฝากของธนาคารไปเป็นชื่อของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และระยะเวลาในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนเช่นว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องของกำหนดอายุความไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา จึงไม่ตกอยู่ในกำหนดอายุความทั่วไป 10 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2562

การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง


จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง


แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวัน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้


แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2562

ความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จลง


ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ


ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งห้ามใช้อาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดใช้อาคาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562

ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)


ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95


แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562

ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้


จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้


การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562

จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2562

ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่า ผู้ร้องมิได้ส่งมอบสินค้าล่าช้า ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านรับมอบสินค้าไว้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องส่งมอบสินค้าตามสัญญาและตามใบสั่งซื้อแก่ผู้คัดค้านครบถ้วนแล้ว ทั้งในการประชุมเจรจาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังถกเถียงกันเรื่องตัวเลขค่าปรับและการเริ่มคำนวณดอกเบี้ย ยังไม่เป็นที่ยุติ การโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ใช่ข้ออ้างที่ผู้ร้องจะยกขึ้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังโต้แย้งกันเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยโดยยังไม่ได้ข้อยุติ ข้อความในการประชุมและในจดหมายโต้ตอบจึงไม่อาจถือว่าผู้คัดค้านยอมรับสภาพหนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ทั้งการที่ผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทนี้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลแพ่งเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็มิอาจอ้างว่าได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เพราะเป็นข้อพิพาทที่ต้องเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 193/14 (4) ดังนั้น ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาด


ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าเพราะเหตุขาดอายุความ และคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ยกข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้ง โดยให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบในค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2562

วันที่ 11 ธันวาคม 2556 เป็นวันที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่งสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมานได้ขอทราบแนวทางการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เป็นต้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมานจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ในส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้จะไม่สามารถฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ก็ตาม แต่เทศบาลตำบลชานุมานก็ย่อมสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420 แห่ง ป.พ.พ. ได้ และวันที่ 13 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานใหม่แทนจำเลยเป็นเงิน 183,587.50 บาท ดังนั้น ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเงิน 183,779.50 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญจึงส่งหนังสือแจ้งโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 2 มิถุนายน 2559 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยกับให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน ดังนั้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานเป็นเงิน 183,587.50 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 99 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ เป็นเงิน 183,779.50 บาท เพราะไม่สามารถฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 ได้ แต่โจทก์สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 ของศาลชั้นต้นเมื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งตัวความเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ให้พนักงานอัยการนำความเห็นของตัวความประกอบการพิจารณาสั่งคดี หากยังเห็นว่าคดีนั้นตัวความอยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่สามารถชนะคดีได้และดำเนินคดีไม่เกิดประโยชน์ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิว่าจ้างให้ทนายความดำเนินคดีในศาลได้ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 และความเห็นฉบับย่อของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จ 549/2550 ให้ความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำการใด ๆ ภายในขอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมถึงการจ้างทนายความว่าต่างหรือแก้ต่าง แต่การใช้จ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจ่ายจากเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความได้ การที่โจทก์จ้างทนายความฟ้องจำเลยโดยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณได้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562

โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562

เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต


ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น


กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562

แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง


ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง


คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา


ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน


หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม


ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การขอให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและออกหนังสือปลอดชำระหนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่และขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 โดยตรง เมื่อทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวกระทำการนอกเหนือจากขอบอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 อันมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 14


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่


ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนดนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) จะไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินส่วนนี้เป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบที่จะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เรียกไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ทราบถึงภาระหนี้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแล้วเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ก็ต้องถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้สำหรับห้องชุดแต่ละห้องให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6751/2561

คดีที่เสร็จไปโดยการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 นั้น เป็นผลจากการที่โจทก์ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2)


คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561

การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์


จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ


จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2561

โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ


จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี


สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2561

เมื่อพิเคราะห์ถึงแผนผังโครงการจัดสรรในส่วนของโจทก์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้โจทก์จะสร้างกำแพงคอนกรีตเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ทางด้านหลังอาคารพาณิชย์ โดยไม่ได้สร้างกำแพงคอนกรีตในส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเหมือนโครงการจัดสรรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นเพราะโจทก์ทำถนนภายในโครงการเชื่อมต่อกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยใช้ทางเข้าออกโครงการตามทางที่โจทก์กำหนดเท่านั้น มิใช่เข้าออกทุกทิศทางตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัยโดยโจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออก ดังนั้น หากโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์เพียงเพื่อแสดงเป็นแนวเขตที่ดินโครงการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ก็ไม่จำต้องสร้างให้สูงถึง 3 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก กำแพงคอนกรีตสูง 3 เมตร ที่โจทก์ก่อสร้างนอกจากจะบอกแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์จำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้าขายหรือติดต่อ กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินมิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่า สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินหรือเอกสารการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น


แม้กำแพงคอนกรีตในส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่โจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินจัดสรรส่วนที่คาดหมายว่าเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จัดสรรขายแก่ผู้ซื้อทั่วไปอันมีผลทำให้กำแพงคอนกรีตที่สร้างไว้ต้องกระจายไปอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกและแบ่งขายแก่ผู้ซื้อทุกแปลง ก็เพราะโจทก์ไม่อาจแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่มีกำแพงคอนกรีตปลูกสร้างอยู่นั้นออกเป็นที่ดินแปลงย่อย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแนวตะเข็บหรือมีเศษเป็นเสี้ยว เป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในข้อ 7 (1) และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในปี 2540 โดยที่กำแพงคอนกรีตนี้มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นที่จะต้องตกติดไปกับที่ดินจัดสรรตลอดไป การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องได้


โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นเดิม ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องจำเลยให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมา โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้และหากจำเลยไม่ได้ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5193 - 5208/2561

โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อตามประกาศขายทอดตลาดได้ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยไม่เสนอจะชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 หาได้ไม่


แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนด เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินในส่วนนี้จึงเป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชอบที่จะคิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก็ได้


โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5127/2561

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด แต่คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ได้ทำละเมิด เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเสียแล้ว การวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่ามิได้ทำละเมิดจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่สูงกว่าย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 อีกต่อไป และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิฎีกาได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หาได้กระทบกระเทือนหรือมีผลทำให้จำเลยที่ 1 อาจได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นละเมิด จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับปกติและฉบับยื่นเพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท โดยกรอกรายการรายได้ส่วนที่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีไว้ในแบบแสดงรายการแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้โจทก์ส่งเอกสารเพิ่มเติมจึงเป็นการตรวจสอบตามรายการที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า รายการรายได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีที่โจทก์กรอกไว้ถูกต้องหรือไม่ มิได้เป็นการใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่นเพื่อนำมาประเมินภาษีโจทก์นอกเหนือจากรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการแต่อย่างใด เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตามรายการที่โจทก์แสดงไว้โดยนำมาปรับปรุงวิธีการคำนวณเท่านั้น เป็นการประเมินโดยใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 จึงชอบด้วยกฎหมาย


โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 เพื่อปรับปรุง เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าแบบที่โจทก์ยื่นไว้เดิมไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมได้ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 จึงยังอยู่ในอายุความ


พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องคำนวณภาษีเป็นรายบัตรส่งเสริมหรือเป็นรายนิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีอย่างไร กรณีจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร เป็นหลักในการคำนวณ ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกี่โครงการก็ตาม การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องถือว่าทุกโครงการเป็นหน่วยภาษีเดียวกันที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงต้องนำผลประกอบการทั้งหมดมารวมกัน ได้แก่ ผลประกอบการของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทุก ๆ โครงการและผลประกอบการของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษี


กรณีใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 36 (4) (เดิม) เพื่อหักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การคำนวณเงินได้พึงประเมินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต้องคำนวณจากรายได้การส่งออกโดยรวมในแต่ละปี มิใช่คำนวณแต่ละโครงการ เมื่อวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากร การประเมินจึงชอบแล้ว

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442


จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561

โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์


ตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระได้เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2561

ร. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561

คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี


คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี


ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9993 - 9994/2560

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากเห็นสมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการต่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับเอากับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมุ่งต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุน หรือการช่วยเหลือการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่ายโอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ จึงเป็นการดำเนินคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่เป็นเรื่องโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นการใช้อำนาจรัฐในการติดตามหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนโดยมิชอบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะกรณีมิใช่เป็นการบังคับใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง และไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ผู้ร้องย่อมมีอำนาจขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีขอบเขตเรื่องระยะเวลาในการติดตามยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9811/2560

ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่คดีอาญา ย่อมไม่อยู่ในบังคับอายุความทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 แต่เป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปโดยให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทางแพ่ง กรณีย่อมไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2560

ในการเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิเป็นหลักสำคัญการรับรู้รายได้และรายจ่ายคือ การนำรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นมาบันทึก หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจริงก็ต้องบันทึกเป็นรายได้ค้างรับหรือรายจ่ายค้างจ่าย โดยต้องนำไปรวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ดอกเบี้ยค้างรับเกิดขึ้นตามระยะเวลาที่ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไป โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้แม้ยังไม่ได้ดอกเบี้ย จะอ้างบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 ว่า เป็นดอกเบี้ยค้างรับเกินห้าปีย่อมขาดอายุความแล้วไม่ได้ โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้ หากโจทก์ไม่อาจได้รับชำระหนี้อย่างแน่นอนก็ชอบที่จะจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)


เนื่องจากธุรกิจบางประเภทอาจไม่เหมาะสมที่จะคำนวณรายได้และรายจ่ายตามมาตรา 65 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นธุรกิจเฉพาะ แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่องการใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วางแนวทางปฏิบัติในการคำนวณรายได้และรายจ่ายแตกต่างออกไปในรายละเอียด โดยข้อ 3.1 วรรคแรก "การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ... เว้นแต่รายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือนแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้" กรณีดังกล่าวใช้เฉพาะกิจการที่ระบุไว้ในข้อ 3.1 ข้างต้น แต่โจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ การค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไรและประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ย่อมไม่อาจรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


มาตรา 65 ทวิ "การคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอนให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน" โจทก์จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ให้แก่บริษัท ช. โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งมิใช่การประกอบธุรกิจตามปกติทั่วไปของผู้ทำการค้า เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทโจทก์ก็มุ่งหมายหาผลประโยชน์จากการประกอบการ กรณียังไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องผูกพันตนเข้าค้ำประกันหนี้ของบริษัทอื่นโดยไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินค่าบริการตามราคาตลาดในวันที่ให้บริการ เมื่อไม่มีข้อตกลงเป็นอื่น การจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินที่จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 โรงเรือนที่โจทก์ปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณค่าตอบแทนจากการค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย่อมถูกต้องแล้ว ทั้งการอ้างอิงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์อัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ก็เป็นตามราคาตลาดของการให้บริการดังกล่าว ชอบแล้ว


มาตรา 91/8 วรรคสอง "การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้" กรณีการปฏิบัติของโจทก์เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเป็นคนละกรณีกับอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับที่โจทก์ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้หรือบันทึกเป็นรายได้ไว้ต่ำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยสภาพโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาอยู่แล้ว จึงอ้างเกณฑ์เงินสดในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 51/16 (6) ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560

เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ


เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2560

จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. ก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในขณะนั้น ภายหลังเมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้ว อ. จึงโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 จะให้การในตอนหลังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส อันจะถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ และศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าว แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกับฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่สุจริต จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริต และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอน โดยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นสินสมรส คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เช่นนี้ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง และคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบดูเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ทั้งยังได้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่บ้านของ ส. กำนันตำบลตาลชุม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงย่อมแสดงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว


เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่


แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2560

การที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยขุดน้ำบาดาลไปใช้ในกิจการของจำเลย และจำเลยต้องชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย หาใช่สัญญาซื้อขายดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 มิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หาใช่อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724 - 5725/2560

การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน


โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ


โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560

โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด...ให้มีอายุความสิบปี... แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า


เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว


กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2560

ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก


การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2560

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงย่อมมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันที่มีการขายทอดตลาดโดยมิชอบ แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่วันที่ละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาและเป็นวันคดีถึงที่สุดมิใช่วันทำละเมิด แต่เป็นผลของการทำละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560

การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560

จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560

โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท


โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2560

ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในการเลิกจ้างกรณีปกติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และการที่ลูกจ้างจะเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรอผลการวินิจฉัยในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง" ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่จ่ายให้ กรณีนายจ้างไม่บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 และ ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี กรณีฟ้องของโจทก์อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 จึงเกินกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559

การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2559

เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559

คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2559

ช. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่ที่ได้รับ คำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว ผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณี

ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2559

หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2558

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน ลงรายการรับเงิน เลขที่ใบเสร็จและจำนวนเงินในสมุดควบคุมเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าเช่าซื้อของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนัก จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นพนักงานจัดการทรัพย์สิน จำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้าสำนักงานภายหลังจำเลยที่ 2

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ทำงานและมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บเงินรวมถึงทรัพย์สินของโจทก์แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นสภาพการจ้างตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996/2558

การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันอันเนื่องจากสัมปทานสิ้นสุด มิใช่เป็นการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสัมปทาน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกเงินประกันดังกล่าวคืนเกินสิบปีนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2558

เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคารถที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาได้นับแต่วันเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่นับแต่วันที่ประมูลขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขาดราคาจึงขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8546/2558

ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2558

ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้เสียหายในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในทางปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่

การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2558

การใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันระบุว่า การเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องกระทำภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญา ข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการตกลงกันย่นอายุความตามมาตรา 193/11 จึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557

ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557

ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14700/2557

โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และ ย. ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 9 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นของรัฐ อันเป็นการทำให้เป็นอันตราย และทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกพืชไร่ในท้องที่ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,330 ไร่ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้อง โดยเรียกร้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น" ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่การฟ้องขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในมูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13273/2557

จ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะคู่สัญญาก็ยังต้องผูกพันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยไปรับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1407 เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นการฝ่าฝืนบันทึกข้อตกลง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงจึงไม่ใช่คดีมรดก จำเลยไม่อาจยกเรื่องอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาตัดฟ้องได้ เพราะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทของ จ. แต่เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557

บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11571/2557

จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ อ. เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ฯ สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12847/2557

จำเลยทั้งสองชำระภาษีให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาขอคืนภาษีโดยอ้างว่าชำระไว้เกิน เพราะใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัท ช. ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างมูลเหตุตามกฎหมายที่ควรได้รับคืนภาษี และเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับคืนภาษี จึงคืนเงินภาษีให้ เช่นนี้ ย่อมมิใช่การคืนเงินภาษีโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ที่จะถือว่าเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบเห็นว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาเงินค่าภาษีอากรที่มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนลาภมิควรได้ที่มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2553

โจทก์คืนภาษีให้จำเลยไปโดยอาศัย ป.รัษฎากร จำเลยได้ภาษีคืนโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงไม่ใช้อายุความ 1 ปี แต่ใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

มาตรา ๑๙๓/๓๒  สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี  ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2556

การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ในการนับอายุความนั้น มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 กำหนดให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 12 ตกลงผ่อนชำระงวดละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่การชำระหนี้งวดแรกเช่นนี้การเริ่มนับอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2542 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ดังนั้น การที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงพ้นไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้ามาในอายุความตามมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำมูลตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จึงยังไม่ล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 193/32 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2555

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7919/2551

หนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.6 มีขึ้นเนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 จนกระทั่งโจทก์ต้องดำเนินคดีในทางอาญาแก่ผู้ที่สั่งจ่ายเช็คให้ไว้แต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ได้ถอนฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาเหล่านั้น อีกทั้งโจทก์ยังได้ลดจำนวนหนี้ ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 ให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. และ ท. และให้ผ่อนชำระดังรายละเอียดในหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.6 ดังนี้ แม้เอกสารหมาย จ.6 จะใช้คำว่า "หนังสือรับสภาพหนี้" แต่เมื่อข้อกำหนดและเหตุผลในการจัดทำเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามต่างตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งเกิดจากหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.5 ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 จำเลยทั้งสามปฏิบัติการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 อายุความที่โจทก์จะต้องบังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงมีกำหนดสิบปีนับแต่วันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2545 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560

จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559

ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2559

สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ผิดนัด อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ เมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2769/2559

ดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญากู้เงินระยะยาวและสัญญากู้เงินระยะสั้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า หนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ขาดอายุความเพราะเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดอายุความตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/15 นั้น เห็นว่า หนี้ดอกเบี้ยค้างรับที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ หนี้ดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระในระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2541 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ซึ่งครบกำหนดอายุความตั้งแต่ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2546 เมื่อในคดีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 เห็นได้ว่าอายุความดอกเบี้ยส่วนหนึ่งครบกำหนดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และอายุความดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่งครบกำหนดภายใน 6 เดือน นับแต่วันดังกล่าว มีผลให้อายุความดอกเบี้ยค้างรับทั้งหมดยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/15 อายุความดอกเบี้ยค้างรับจึงครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2547 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ ดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญากู้เงินระยะยาวและสัญญากู้เงินระยะสั้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558

ค่าใช้จ่ายรายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และที่ 6 เป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) จึงไม่ขาดอายุความ

ส่วนค่าปรับในรายการที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558

แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19692/2557

จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายกระดาษ จำเลยซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานของจำเลยเพื่อผลิตกระดาษอันเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้จำเลยทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยนั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15064/2557

โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และงานก่อสร้างทุกชนิด ฟ้องเรียกร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ส่งช่างพ่นสีและช่างพ่นทรายพร้อมอุปกรณ์ไปทำงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นค่าแรงงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ และค่าทำงานล่วงเวลาของคนงานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าการงานที่ได้ทำ และงานที่ได้ทำก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่อายุความ 2 ปีไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด

ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2556

โจทก์กับจำเลยต่างอยู่ในฐานะผู้ประกอบเกษตรกรรมตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (2) แต่เนื่องจากลักษณะการดำเนินการระหว่างกันเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ส่งมอบต้นตอยางพาราและวัสดุแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ เพื่อให้จำเลยนำไปเพาะเลี้ยงให้เป็นต้นกล้ายางพาราชำถุงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์ โดยหักราคาค่าต้นตอยางพารากับค่าวัสดุที่รับไปก่อนนั้นกับต้นกล้ายางพาราที่นำมาส่งมอบ ต้นตอยางพาราที่จำเลยรับไปจากโจทก์เพื่อให้จำเลยเพาะเลี้ยงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์นั้นเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556

จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19744/2555

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ซื้อ จัดหา รับเช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ จัดการโดยประการอื่นซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ตลอดจนดอกผลของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย ฯลฯ การที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานและเป็นจำนวนมากประกอบกับมีการชำระค่าสินค้าเป็นราคาตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 1 นำสินค้าที่ซื้อมานั้นไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น รวมทั้งรับเหมาก่อสร้างอาคารตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 นำไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ซึ่งอาคารดังกล่าวจำเลยที่ 1 ใช้เป็นสำนักงานในการบริหารงานการค้าขายที่ค้าขายในต่างประเทศ จึงเป็นการกระทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ฝ่ายลูกหนี้เอง อันเข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่มีอายุความเพียง 2 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560

จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8546/2558

ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2333/2558

ข้อหาตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ขนส่งเรียกร้องเอาค่าระวางขนส่งทางอากาศจากจำเลยผู้ว่าจ้าง แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าระวางขนส่งทางอากาศไว้โดยเฉพาะ แต่การให้บริการของโจทก์เป็นการรับขนส่งสิ่งของเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ขนส่งสิ่งของเรียกเอาค่าระวางขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) ที่บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 2 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางขนส่งทางอากาศจึงตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2558

แม้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีกิจการคือการส่งหรือออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่การที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายได้จากการเรียกเอาสินจ้างที่เรียกว่าค่าเช่าเวลา และเป็นปกติธุระที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้ผู้จัดรายการมากมายหลายรายเช่าเวลา เพื่อออกอากาศรายการที่ผู้จัดรายการแต่ละรายการนำเทปบันทึกรายการที่ตนรับผิดชอบในการผลิตมาส่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ออกอากาศให้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกเอาสินจ้างเป็นรายได้ ทั้งเมื่อพิจารณาระเบียบของโจทก์ว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 แล้ว ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินการหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ หรือไม่สามารถให้เอกชนผู้จัดรายการเช่าเวลาที่ออกอากาศ แต่กลับมีข้อที่แสดงให้เห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. สามารถหารายได้ด้วยการเรียกเอาสินจ้างค่าเช่าเวลาจากการให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าการกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ถือได้ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) บัญญัติให้สิทธิเรียกเอาสินจ้างที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกว่าค่าเช่าเวลา มีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเวลาและค่าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14319/2557

โจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ดำเนินการหรือบริการภายใต้ข้อตกลงตามสัญญาและเงื่อนไขตามสัญญาเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และในการดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 ตลอดจนการควบคุมจัดการการตกลงกำหนดวันเวลาที่จะแพร่ภาพออกอากาศที่มีการกำหนดกันไว้เป็นการแน่นอน โดยคิดค่าบริการหรือค่าตอบแทนตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ค้ารับทำการงานดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับบริการ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2557

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้า แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 อันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้า โดยมีการสลับสายนิวตรอนทางด้านเข้าเครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้า และสร้างสายดินพิเศษภายในบ้านนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ มีผลทำให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีกร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ที่ต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16139/2556

โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงการรับบริการชำระเงินเพื่อการสั่งสินค้าและ/หรือขอใช้บริการของร้านค้าผ่านสื่อต่าง ๆ ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ จึงมิใช่กรณีผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ทั้งไม่ใช่การฟ้องให้ชำระหนี้เงินตามสัญญาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต การฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17738/2555

โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงในการรับบัตรเครดิต เนื่องจากผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์หรือบัตรเครดิตที่ร่วมกับบริษัทอื่นหรือสถาบันอื่นออกบัตรเครดิตภายใต้ข้อตกลงร่วมกับโจทก์ ได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่จำเลยแทนการชำระเงิน และจำเลยได้นำบัตรเครดิตของลูกค้ารูดผ่านเครื่องบันทึกข้อมูลแล้วส่งข้อมูลการขายให้โจทก์เพื่อขอรับเงินค่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตได้ เนื่องจากจำเลยไม่นำส่งใบบันทึกค่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกัน กรณีจึงไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7191/2558

ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปีเช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551

การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงาน ต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558

แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ จะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิก เงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้น ไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้น ต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551

หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้


การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้ สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551

ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการ ชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา


โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตมี ลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้า และการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2551

โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์โดยผู้เช่าจะต้องเสียเงินค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) และค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยมีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าตอบแทนเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ จึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ ย่อมขาดอายุความด้วยตามมาตรา 193/26


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2551

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัตรเครดิตยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตร การที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ ของสถาบันการเงินอื่น โจทก์จำเป็นต้องชำระเงินแทนจำเลยไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง จึงเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) มิใช่กรณีของลักษณะสัญญาพิเศษอันไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่อง อายุความจึงมีอายุความ 2 ปี


จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 2 มกราคม 2536 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2536 เป็นต้นไป ครบกำหนดอายุความในวันที่ 3 มกราคม 2536 การที่โจทก์นำเงินจำนวน 4,326.42 บาท ของจำเลยมาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นการนำเงินฝากจากบัญชีอื่นตามที่โจทก์และจำเลยได้เคยตกลงกันไว้มาหักชำระ หนี้โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วยจึงเป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลย อีกทั้งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 พ้นกำหนดเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2551

โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยซึ่งเป็น ธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์เรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2551

จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านให้จำเลยเพื่อที่จำเลยจะนำไปขายเป็นกรณีที่โจทก์รับจ้างทำของให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างให้แก่จำเลยนั้น จำเลยกระทำเพื่อนำไปจำหน่ายในโครงการจัดสรรที่ดินตามวัตถุประสงค์ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2551

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ออกแบบตกแต่งและโฆษณาโครงการโฆษะ คอมเพล็กซ์ และโอเอซิส พลาสซ่าของจำเลย จำเลยให้การรับว่าได้ว่าจ้างโจทก์จริง ดังนั้น การดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างของโจทก์แม้จะปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ก็เป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำเพื่อกิจการของจำเลย จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2551

ลิฟท์ซึ่งติดตั้งไว้ที่อาคารชุด มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมจึงถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาลิฟท์จึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเป็นรายเดือน ค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) และต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องประเภทนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2551

กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่


จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2551

สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยสัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) (มาตรา 166 เดิม) มิใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5522/2550

โจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายอะไหล่รถยนต์ฟ้องเรียกเอาค่าสินค้าอะไหล่รถยนต์ที่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลย โดยจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยรวมทั้งผู้มีกรณีพิพาทกับผู้เอาประกันภัยในกรณีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นฝ่ายผิด อันเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นกิจการการประกันวินาศภัยภายในวัตถุประสงค์ของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยซื้อสินค้าอะไหล่รถยนต์จากโจทก์ จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยเอง จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7693/2550

การ นับระยะเวลาไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันสุดท้ายของกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2541 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ครั้งแรกสิทธิเรียกร้องทั้งหมดของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2550

โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยไปสำหรับขนสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยซึ่งอยู่ในต่างประเทศอันเป็นการเรียกค่าการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง จึงอยู่ในข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่มีกำหนดอายุความสองปี แต่มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550

การที่โจทก์ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ชำระราคา และโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระราคาเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตามมาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550

หนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวีธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ


หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8021/2549

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ดอกเบี้ยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะที่เป็นอยู่เดิมจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งหรือดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8419/2550

ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ใดย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น


โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า การที่จำเลยซื้อเฉพาะบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่ยอมรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทได้


โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยและจำเลยไม่ได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จำเลยจึงยกความอายุความ 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550

ท. ขับรถไปในทางการที่จ้างของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างชนรถยนต์ของ ธ. ที่เอาประกันภัยไว้ต่อบริษัท ว. ได้รับความเสียหาย หลังจาก ท. ตายโจทก์ทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้โจทก์ชำระแก่ ธ. และบริษัท ว. และโจทก์ได้ชำระไปแล้ว สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจาก ท. ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 จึงเพิ่งเกิดเมื่อวันที่โจทก์ชำระเงิน


สิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตามมาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้บังคับในการฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. รับผิดไม่ได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. (วันที่โจทก์ชำระเงิน) ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2550

โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 บุรกรุกเข้าไปแย่งทำนาในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ตามแผนที่โดยประมาณท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งแผนที่ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและได้ระบุบริเวณที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไว้อย่างชัดเจนพอให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม


โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ซึ่งการฟ้องเช่นนี้มีอายุความ ส่วนมาตรา 1363 วรรคสอง นั้น เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่อายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6335/2550

เงินประกันผลงานที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6109/2550

สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2550ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิดนั้นวันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนผลของการทำละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งวันทำละเมิดกับวันที่ผลของการทำละเมิดเกิดขึ้นจึงต่างกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาณเลินเล่อ รังวัดที่ดินออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ของโจทก์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ มูลละเมิดย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2523 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) โจทก์กับจำเลยไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยได้รับมอบการงานที่ทำแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง จำเลยประสงค์ให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ดำเนินคดีให้แก่จำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาอันถือได้ว่าโจทก์ ได้ส่งมอบและจำเลยได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาค่าจ้างย่อมเกิดขึ้นทันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2550

โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ ออกทดรองแทนจำเลยไปสำหรับขนสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยซึ่งอยู่ในต่างประเทศอันเป็นการเรียกค่าการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็น ลูกหนี้นั้นเอง จึงอยู่ในข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่มีกำหนดอายุความสองปี แต่มีอายุความห้าปีตาม มาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2550

เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และในวันที่ 8 มกราคม 2544 ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวง ได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 31,373.75 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่า ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2544 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 มกราคม 2546 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2550

ส. เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยกระทำการแทนจำเลยได้ แม้ ส. ไม่ได้ประทับตราของจำเลย แต่หนังสือรับสภาพหนี้มีชื่อของจำเลยที่ด้านบนของกระดาษประกอบพฤติการณ์ของ ส. จึงถือว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลย การที่ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ ถือเป็นการกระทำของจำเลย หนังสือรับสภาพหนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า "...ขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันชำระค่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายเดือนต่อไป" จึงเป็นการกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องไม่เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550

สัญญาที่โจทก์รับจ้างจำเลยทั้งสามว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของนั้นมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) ส่วนการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าว่าความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า "อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป..." และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ" ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งการส่งมอบและรับมอบการงานการที่ทำนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสามพอใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้นซึ่งคือศาลจังหวัดเชียงใหม่จนศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษา หาใช่เมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์นั้นก็น่าเชื่อว่าโจทก์ทำไปโดยพลการ โจทก์จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2550

โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทน การนับอายุความละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน


น. เป็นนายช่างแขวงการทางซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้ น. จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2539 แล้ว แต่อธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 26 กันยายน 2546 นับถึงวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2550

โจทก์ทราบเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์จำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2541 แสดงว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวมิใช่ถือเอาวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้เอง โดยไม่จำต้องรอฟังคำสั่งจากจำเลย แม้โจทก์จะเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งให้ทราบถึงมติของจำเลยในวันที่ 21 มกราคม 2541 ก็ไม่มีผลต่อการเพิ่งเริ่มนับอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550

การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2550

การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิด มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550

การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2550

จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารและศาลพิพากษาตามยอมว่าข้อ 1 ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ตกลงชำระค่าธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 และข้อ 3 หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 9 มีนาคม 2538 ย่อมถือว่าผิดนัดและธนาคารสามารถบังคับคดีได้ทันทีตามสัญญาข้อ 3 ดังนั้น อายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2538 เมื่อครบ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 1 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 เกิน 10 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2550

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ส. โดยยอมร่วมรับผิดกับ ส. จำเลยที่ 4 ในฐานะสามีของจำเลยที่ 3 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ส. ลูกจ้างโจทก์ได้ยักยอกเงินของโจทก์ และทำหนังสือรับสภาพหนี้กำหนดว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์งวดแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ดังนี้ ความรับผิดของ ส. เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 กำหนดเวลานี้เริ่มนับแต่วันเกิดเหตุทุจริตยักยอกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 แต่เมื่อ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์ งวดแรก 200,000 บาท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และอายุความที่สะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 กรณีหาใช่การรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ไม่ เมื่อต่อมาปรากฏว่า ส. ไม่ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 เมษายน 2537 เมื่อนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความใหม่ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2549

จำเลยที่ 1 ซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 หากำไรอีกทอดหนึ่งอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 นั้นเอง ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาคอนกรีตผสมเสร็จที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2549

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาของที่ได้ส่งมอบซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ก็ตาม แต่ความในตอนท้ายของมาตรานี้บัญญัติกรณีเป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งต้องพิจารณาถึงกิจการของลูกหนี้ว่าประกอบกิจการประเภทใดเป็นกรณีไป การที่จำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ไปใช้กับรถยนต์โดยสาร โดยที่จำเลยทั้งสองประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารและขนส่งสินค้า ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของจำเลยทั้งสอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้น ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261/2549

การซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปุ๋ยไม่ครบจำนวนในวันทำสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี หากชำระเกิน 12 เดือน ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เกิน 12 เดือน ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งหรือค้างชำระตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009 - 9014/2549

โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4644/2549

สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดและเมื่อผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถยนต์ที่ เช่าซื้อแล้ว ถ้าขายได้ราคาไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังคงต้องชำระตามสัญญารวม ถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดหักด้วยค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระแล้ว ผู้เช่าซื้อตกลงจะชดใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่เป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า จึงไม่ตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ทั้งไม่ใช่เป็นคดีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่อยู่ในอายุความ 6 เดือน เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8696/2549

โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8694/2549

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าสู้ราคาและข้อสัญญาว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไปนั้น ระยะเวลา 15 วัน ที่กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการชำระหนี้ มิใช่อายุความตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์ตกลงกันขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือออกไปอีกจึงหาเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 และ 515 ไม่ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งและการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีเช่นว่านี้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่จำต้องไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242 - 8246/2549

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ... และคำว่า "ค่าล่วงเวลา" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7875/2549

โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเครื่องเคหภัณฑ์ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว การที่โจทก์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบกิจการโรงแรม การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7611/2549

โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อมีอายุความ 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6785/2549

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวนี้ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความการเรียกคืนลาภ มิควรได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5996/2549ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า "อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น" เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยวาจากับโจทก์ว่า หากโจทก์สามารถตรวจสอบพบการทุจริตและนำเงินที่ทุจริตกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ตรวจสอบพบการทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับคืนจำนวน 9,403,007.63 บาท ตามเงื่อนไขในการตกลงด้วยวาจาจึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนพิเศษให้นับแต่นั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 หาใช่นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของผลงานที่ทำได้ จึงเป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอันเป็นค่าจ้าง จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2549

การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งคืนแล้วทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ เพียงแต่อ้างว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานประกอบว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้ด้วยเท่านั้น หนี้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549

จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสิน จ้างไว้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5033/2549

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง" ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549

การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ


การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้น มิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสองผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ ส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้นคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องคดีในระหว่างที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด จึงไม่ขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2549

สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)


โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15


โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ


การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4787/2549

โจทก์เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบกระเป๋าเดินทางสูญหายให้แก่โจทก์ อายุความย่อมเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2542 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือยินยอมชดใช่ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 400 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะไม่เต็มตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณษความแพ่ง มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4206/2549

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้รับตราส่งหรือผู้ส่งของฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อความสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น

โจทก์ฟ้องว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดเพราะจัดส่งเอกสารไปให้แก่ลูกค้าที่ปลายทางตามข้อตกลงล่าช้า ทำให้ลูกค้าไม่ยอมรับสินค้าเท่านั้น โจทก์ไม่ได้อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งของทางทะเลและให้จำเลยรับผิดเพราะเหตุการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งสินค้าที่รับขนเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 46 มาใช้บังคับได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับ แต่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ว่าด้วยอายุความก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะอีกเช่นกัน จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ทราบในวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ว่าจำเลยกระทำผิดข้อตกลงทำให้ลูกค้าไม่สามารถรับสินค้าได้ทันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นกรมตำรวจฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และมีอายุความ 10 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์กับโจทก์ร่วมกันคืนเป็ดแก่ ป. หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลชำระหนี้แก่ ป. ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ซึ่ง ป. ได้รับเงินแล้วโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พระราชบัญญัติดัังกล่าว แต่อยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการฟ้องของโจทก์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


ศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีก่อนว่า จำเลยทั้งสองยึดเป็ดของ ป. ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อ ป. แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย คำพิพากษาของศาลฎีกาจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสองด้วยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่อาจกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งให้ฟังเป็นอื่นได้อีก


จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อ ป. เป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อใช้ราคาเป็ดแก่ ป. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2549

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาของที่ได้ส่งมอบซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ก็ตาม แต่ความในตอนท้ายของมาตรานี้บัญญัติกรณีเป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งต้องพิจารณาถึงกิจการของลูกหนี้ว่าประกอบกิจการประเภทใดเป็นกรณีไป การที่จำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ไปใช้กับรถยนต์โดยสาร โดยที่จำเลยทั้งสองประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารและขนส่งสินค้า ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของจำเลยทั้งสอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้น ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2549

การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ และให้โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนนั้น เป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือรับทำการงานต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ตามความใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ไม่ จึงไม่อาจนำเอาอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีได้ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิจากโจทก์ไปรับสินค้าก่อน แล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ในภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความโดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2549

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ต้องผูกพันโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารจากโจทก์ไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนด หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมิใช่เป็นหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 วรรคหนึ่ง หมายความว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นคงขาดอายุความเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป ดอกเบี้ยที่ค้างชำระส่วนที่ยังไม่เกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2549

ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นบทบัญญัติกำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ เมื่อเจ้าพนักงานมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ โดยการออกหมายเรียกดังกล่าวจะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ และถ้าหากเป็นกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายระยะเวลาทำการออกหมายเรียกก็ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ หากพ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงให้เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงได้เท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ ทั้งการออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ตามมาตรา 91/21 (5) บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 88 มาใช้บังคับโดยอนุโลม อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 ด้วย ส่วนในเรื่องอายุความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะประเมินเก็บภาษีจากโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี ตั้งแต่วันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อระยะเวลายังอยู่ในกำหนดอายุความดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินย่อมประเมินให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2549

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549

โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และตกลงซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่อยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาทีล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง แม้ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในหมู่บ้านที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารย ทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระ จำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารย ทรัพย์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2549

การประกันภัยค้ำจุนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิด จึงต้องบังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบททั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้


การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัย ค้ำจุน รับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง..." โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยก็เป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2549

สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2548

บทบัญญัติมาตรา 193/33 และมาตรา 193/34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้นเป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักอันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) มิใช่ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8007/2548

หนี้ที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรมได้ซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวพร้อมการติดตั้งจากเจ้าหนี้ เป็นการกระทำเพื่อหากำไรในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ต่อไป จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2548


จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ


การที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้มิใช่กรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วที่จะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2547สิทธิเรียกร้องตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความ ภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ซึ่งมีอายุความ 10 ปี โดยขณะที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นยังไม่ขาดอายุความจึงไม่เข้าลักษณะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่มีการรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 และ193/15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2549

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งมีกำหนดอายุความสองปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ก็ตาม แต่ความในตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) บัญญัติกรณีเป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในกำหนดอายุความสองปีไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งต้องพิจารณาถึงกิจการของลูกหนี้ว่าประกอบกิจการประเภทใดเป็นกรณีไป การที่จำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ไปใช้กับรถยนต์โดยสารโดยที่ จำเลยทั้งสองประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารและขนส่งสินค้า ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของ จำเลยทั้งสอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความสองปีตามความในตอน ท้ายของมาตรา 193/34 (1) แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื่อเพลิงจากโจทก์เพื่อนำไป จำหน่ายต่อหรือนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4342/2548

การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าบริการในการปรึกษากฎหมาย ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่า การงานที่ทำให้แก่ลูกหนี้จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) โดยไม่จำต้องเป็นค่าว่าความในคดีทื่ถือเอาผลสำเร็จของแต่ละคดีและกรณีมิใช่ เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4) และแม้จะมีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลารายเดือนก็มิใช่เป็นเงินเดือนที่จ่ายให้ ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4858/2548

โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างถนน สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของโจทก์ได้ออกเงินชำระ ค่าของที่ใช้ในการก่อสร้างให้แก่ร้านค้าแทนจำเลยไปก่อน แล้วโจทก์นำเงินดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์ จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน ดังนี้ มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็น ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเงินที่ตนได้ทดรอง จ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจาก ผู้ว่าจ้างตามมาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเงินที่ตนได้ทดรองจ่ายแทนผู้ รับจ้างไปจากผู้รับจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2548

โจทก์ประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้ามีสัญญากับจำเลยซึ่งเป็น ผู้รับประกันวินาศภัยที่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือซ่อมรถยนต์ของผู้ เอาประกัน วินาศภัยกับจำเลยซึ่งเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของเหล่าผู้เอาประกัน วินาศภัยกับจำเลยจึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบกับมาตรา 193/34 (1) มีอายุความ 5 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6198/2548

โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจากจำเลย ทั้งจำเลยก็ประกอบการค้าโดยซื้อสินค้าจากโจทก์มาแล้วนำไปจำหน่ายให้ลูกค้า อีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ เข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม มาตรา 193/33 (5) ส่วนเงินค่าขนส่งสินค้าดังกล่าวที่โจทก์ออกทดรองแทนจำเลยไปก็เกิดขึ้นเกี่ยว เนื่องจากที่โจทก์ขายสินค้าให้แก่จำเลยดังกล่าว จึงเป็นเงินที่โจทก์ผู้ประกอบการค้าได้ออกทดรองไปเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ นั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย มิใช่เป็นเงินที่ผู้ขนส่งสิ่งของได้ออกทดรองไปตาม มาตรา 193/34 (3) หนี้เกี่ยวกับค่าขนส่งที่โจทก์ออกทดรองไปดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม มาตรา 193/33 (5) เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2548

คำว่า "ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น" ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายจ้างตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) หมายถึงสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ ลูกจ้างเรียกร้องเอาจากนายจ้าง อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ไม่ใช่สิทธิตามสัญญาจ้าง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2548

ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและสัญญาเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสิน เชื่อธนวัฏบัตรเครดิต ระบุไว้ชัดเจนว่า มีความมุ่งหมายเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ อันเกิดจากใช้บัตรเครดิต รวมทั้งเพื่อถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเป็นธุรกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้บัตรเครดิตทั้งสิ้น การเปิดบัญชีกระแสรายวันจึงมิใช้เป็นการเปิดเพื่อให้มีการเบิกถอนเงินตามปกติ หากแต่เป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้ บัตรเครดิตแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ มิใช่กรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันโดยให้ตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแต่กิจการใน ระหว่างโจทก์จำเลยนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลืออันเป็นลักษณะสำคัญของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หนี้ที่เกิดขึ้นจึงหาใช่หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหนี้ตามสัญญาบัญชี เดินสะพัดไม่ การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยไปก่อน หรือการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงิน อัตโนมัติแล้วจึงเรียกเก็บจากจำเลยในภายหลังย่อมถือว่าได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนตามลักษณะของการประกอบธุรกิจประเภทบัตรเครดิต จึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2547

การที่โจทก์ให้บริการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ ให้สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงิน อัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไป ก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) คดีนี้แม้จำเลยจะชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 ก็ตาม แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยงดใช้บัตรเครดิตหรือบอกเลิกสัญญาการใช้บัตรเครดิต ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายแล้วจำเลยยังนำ บัตรเครดิตไปใช้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยไป โจทก์ส่งใบแจ้งยอดบัญชีเรียกเก็บเงินไปยังจำเลย ให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันครบกำหนดดังกล่าว ไม่ใช่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2547

จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้คือ จำเลยนั้นเอง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าการซื้อมาเพื่อขายต่อไปแต่อย่างเดียว เพราะยังครอบคลุมถึงกรณีที่ลูกหนี้อาจต้องมีการกระทำใดเช่น การดัดแปลงสินค้าก่อนนำไปจำหน่ายอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องมิใช่การซื้อ มาเพื่อบริโภคเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี มิใช่ 2 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6180/2547

สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าจากผู้ซื้อของผู้ประกอบการค้ามีอายุความต่าง กันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ประกอบกับมาตรา 193/33 (5) กล่าวคืออายุความสองปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และห้าปีตามข้อยกเว้นในมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ที่ว่า "...เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวจะต้องนำกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อสินค้า ประกอบการค้าอยู่นั้นมาพิจารณารวมกับสินค้าที่ซื้อว่า ผู้ซื้อนำสินค้านั้นไปใช้ในกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อประกอบการค้าหรือไม่ หากผู้ซื้อนำสินค้าที่ซื้อไปใช้ในกิจการที่ผู้ซื้อประกอบการค้าแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าของผู้ประกอบการค้ามีอายุความห้าปี ทั้งนี้ หาได้มีข้อจำกัดว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนั้นต้องเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการ ค้าผลิตขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อโดยเฉพาะเจาะจงไม่ แม้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วไปในท้องตลาดก็อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง กฎหมายสองมาตรานี้ดุจกัน สำหรับคำว่า "กิจการ" ก็มีความหมายครอบคลุมถึงการใด ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นการทำมาหาได้ ลักษณะเป็นการประกอบอาชีพ มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะต่อการเลี้ยงสัตว์เพื่อขายหรือซื้อสินค้ามาเพื่อขาย ต่อหรือเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ จำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงแรมและห้องอาหารอันเป็นกิจการให้บริการ และจำหน่ายอาหารแก่ผู้มาใช้บริการของโรงแรมของจำเลย สินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์ก็เป็นเครื่องอุปโภคจำพวกถ้วย โถ จาน ชาม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารและให้บริการจำหน่ายอาหารในห้อง อาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของจำเลย ทั้งจำเลยก็รับว่าจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการให้บริการใน กิจการของจำเลย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2547

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 6 บัญญัติว่า "ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า "การประปานครหลวง" มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ (3) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา" จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายน้ำประปา ทั้งดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการประปาด้วย ซึ่งคำว่า "ผู้ประกอบการค้า" ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เป็นถ้อยคำที่เปลี่ยนแปลงจากถ้อยคำใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165 (1) เดิม ที่ใช้คำว่า "พ่อค้า" ดังนั้น คำว่า "ผู้ประกอบการค้า" จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "พ่อค้า" แม้โจทก์จะไม่ใช่พ่อค้าแต่ก็ถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แล้ว เมื่อคดีนี้มีการจดหน่วยน้ำประปาหลายครั้ง โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าน้ำประปาได้ตั้งแต่วันที่ทำการจดหน่วยน้ำ ประปาในแต่ละครั้งตามที่ปรากฏใบเสร็จรับเงินแต่ละฉบับ แต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าน้ำประปาอันเป็นการเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อ เกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547

เงินจำนวน 100 บาท ในบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมีมานานแล้วตั้งแต่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรก ซึ่งตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตให้โจทก์หักเงินนี้ชำระหนี้ได้ทันที การที่โจทก์ปล่อยเวลาเนิ่นนานให้ผ่านไปถึง 1 ปี แล้วจึงนำมาหักชำระหนี้ พฤติการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่ เพียงฝ่ายเดียวโดยได้รับดอกเบี้ยระหว่างนั้น และเพื่อจะให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาบัตรเครดิตเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2547

โจทก์เป็นผู้ประกอบการกิจการสาธารณูปโภคตาม พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการดำเนินการตามวัตถุประสงค์จะได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินทุนตาม มาตรา 12 (3) ด้วยหรือไม่ เป็นความสัมพันธ์ของโจทก์กับรัฐ ส่วนการที่ทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 เป็นนิติสัมพันธ์ของโจทก์ฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่เหนือเอกชนเฉพาะการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น สำหรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ ประชาชนของโจทก์นั้น เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันโดยเฉพาะคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้อง หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ โจทก์จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เมื่อจำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2540 คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้ชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามปกติ อันเป็นการเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำให้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าตามฟ้องจึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6683/2545

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงาน ไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) สิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ค้างชำระจึงมีอา ยุความ 2 ปี


ตามสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือน ค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในเดือนพฤษภาคม2538 ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดได้