การชำระหนี้ และ การวางทรัพย์



มาตรา ๓๑๔  อันการชำระหนี้นั้น ท่านว่าบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้


บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560
มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๑๕  อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2554
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น แจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง

มาตรา ๓๑๖  ถ้าการชำระหนี้นั้นได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ ท่านว่าการชำระหนี้นั้นจะสมบูรณ์ก็แต่เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ได้กระทำการโดยสุจริต

มาตรา ๓๑๗  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตราก่อน การชำระหนี้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับนั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น

มาตรา ๓๑๘  บุคคลผู้ถือใบเสร็จเป็นสำคัญ ท่านนับว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ถ้าบุคคลผู้ชำระหนี้รู้ว่าสิทธิเช่นนั้นหามีไม่หรือไม่รู้เท่าถึงสิทธินั้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน

มาตรา ๓๑๙  ถ้าศาลสั่งให้ลูกหนี้คนที่สามงดเว้นทำการชำระหนี้แล้ว ยังขืนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเองไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ผู้ที่ร้องขอให้ยึดทรัพย์จะเรียกให้ลูกหนี้คนที่สามนั้นทำการชำระหนี้อีกให้คุ้มกับความเสียหายอันตนได้รับก็ได้
อนึ่งข้อความซึ่งกล่าวมาในวรรคข้างต้นนี้หาเป็นข้อขัดขวางในการที่ลูกหนี้คนที่สามจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหนี้ของตนเองนั้นไม่

มาตรา ๓๒๐  อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2555
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ระบุเนื้อที่ดินตามโฉนดแต่ละแปลง 16 ตารางวา และระบุราคาที่ดินตารางวาละ 150,000 บาท ทั้งยังระบุด้วยว่าหากว่ามีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นหรือลดลง คู่สัญญาจะคิดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามราคาที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยสามารถชำระหนี้ตามสัญญาในส่วนที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เมื่อครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์ตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาคือ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่ดินซึ่งจำเลยสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งไม่เป็นการบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้บางส่วนแต่อย่างใด

มาตรา ๓๒๑  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้

ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13390 - 13391/2558
ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18801/2557
การระงับไปแห่งหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ด้วยการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ จะถือว่าหนี้นั้นระงับก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้วเท่านั้น ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินของลูกหนี้ที่ 2 มิได้ระบุว่าหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 มีอยู่กับเจ้าหนี้ ได้ระงับลงทั้งหมดหรือบางส่วนในทันทีที่ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง แต่มีข้อตกลงว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการรับโอนสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้ที่ 2 ยอมให้เจ้าหนี้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ การที่เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน เมื่อลูกหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนอื่นที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด และไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2554
ป.พ.พ. มาตรา 761 มิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน และในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้ โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินปันผลที่รับไว้แก่โจทก์

มาตรา ๓๒๒  ถ้าเอาทรัพย์ก็ดี สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกก็ดี หรือสิทธิอย่างอื่นก็ดี ให้แทนการชำระหนี้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย

มาตรา ๓๒๓  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าบุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่จะพึงส่งมอบ

ลูกหนี้จำต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ด้วยความระมัดระวังเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2558
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับทรัพย์ที่เช่าซึ่งโจทก์ในฐานะลูกหนี้นำมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ โดยมีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนให้ถูกต้องตามคำพิพากษา เพราะยังไม่มีการตรวจสอบว่าทรัพย์ดังกล่าวใช้การได้ อีกทั้งโจทก์ต้องส่งมอบคืนยังสถานที่ที่ถูกต้องคือภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์โดยชอบแล้วโจทก์ในฐานะลูกหนี้จึงมีภาระต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 323 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาทรัพย์ที่เช่าและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสอง

มาตรา ๓๒๔  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้

มาตรา ๓๒๕  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้ในข้อค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ท่านว่าฝ่ายลูกหนี้พึงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าหนี้ย้ายภูมิลำเนาก็ดี หรือเพราะการอื่นใดอันเจ้าหนี้ได้กระทำก็ดี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าใดเจ้าหนี้ต้องเป็นผู้ออก

มาตรา ๓๒๖  บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้น และถ้าหนี้นั้นได้ชำระสิ้นเชิงแล้ว ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย ถ้าและเอกสารนั้นสูญหาย บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะให้จดแจ้งความข้อระงับหนี้ลงไว้ในใบเสร็จหรือในเอกสารอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ได้

ถ้าหนี้นั้นได้ชำระแต่บางส่วนก็ดี หรือถ้าเอกสารนั้นยังให้สิทธิอย่างอื่นใดแก่เจ้าหนี้อยู่ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้ชอบแต่ที่จะได้รับใบเสร็จไว้เป็นคู่มือ และให้จดแจ้งการชำระหนี้นั้นลงไว้ในเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2554
ป.พ.พ. มาตรา 326 มีความหมายแต่เพียงว่า บุคคลผู้ชำระหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จให้แก่ตนเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานใช้ยันต่อเจ้าหนี้ว่าตนได้ชำระหนี้แล้ว หากเป็นการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงผู้ชำระหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้เวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นได้ด้วย แต่ไม่ได้หมายความถึงว่าหากไม่มีใบเสร็จเป็นสำคัญ หรือไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือไม่มีการขีดฆ่าเอกสารนั้นแล้ว ลูกหนี้จะไม่อาจนำสืบด้วยพยานหลักฐานอย่างอื่นว่ามีการชำระหนี้แล้ว

มาตรา ๓๒๗  ในกรณีชำระดอกเบี้ย หรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้น ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว

ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อการชำระต้นเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับดอกเบี้ยแล้ว
ถ้าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้เวนคืนแล้วไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว

มาตรา ๓๒๘  ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป

ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น รายใดเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่า ๆ กัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน และถ้ามีหนี้สินหลายรายเก่าเท่า ๆ กัน ก็ให้หนี้สินทุกรายเป็นอันได้เปลื้องไปตามส่วนมากและน้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2552
ใบแจ้งหนี้ทั้งหมดที่โจทก์ส่งให้จำเลยรวม 10 ฉบับ มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้ ฉบับที่ 9 และ 10 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้ ฉบับที่ 1 ถึง 8 เกิน 2 ปีแล้ว แต่หลังจากนั้นจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน กรณีเป็นการที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระโดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมด อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ดังนั้น หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้ทั้ง 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง ที่โจทก์นำไปชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับแรก ซึ่งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระก่อน จึงเป็นการนำไปชำระหนี้ถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2552
เมื่อนับจากวันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เพียง 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 เกิน 2 ปีแล้ว แต่จำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ซึ่งจำเลยย่อมทราบแล้วว่าจำเลยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระตามใบแจ้งหนี้ เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เพราะวันที่ถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ อยู่ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระหนี้โดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมดแล้ว อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความด้วย ส่วนวิธีการชำระหนี้กรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

มาตรา ๓๒๙  ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องชำระดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน
ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2559
เมื่อข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการในคดีก่อนสิ้นผลไปด้วยเหตุที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้จะนำเงินบางส่วนที่ได้ชำระหนี้ไปหักกับต้นเงินตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการย่อมไม่ได้ อย่างไรก็ตามการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีผลกระทบและถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องนำไปจัดใช้เป็นค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามลำดับเสียก่อน ในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธานตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2559
เมื่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามแผนในคดีก่อนเป็นการชำระหนี้บางส่วน ทำให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้ระงับไปเพียงเท่าจำนวนที่เจ้าหนี้เดิมได้รับชำระหนี้เท่านั้น เจ้าหนี้เดิมได้รับชำระเงินจากลูกหนี้รวม 55,782,026.86 บาท จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง มิใช่หักต้นเงินดังที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ แม้คดีก่อนศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ก็ไม่กระทบถึงการใดที่ผู้ทำแผนได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/76

มาตรา ๓๓๐  เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น

มาตรา ๓๓๑  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16097/2557
ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15383/2555
โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนและไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวมาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตาม มาตรา 324 อีก

มาตรา ๓๓๒  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะกำหนดว่าต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนจึงให้มีสิทธิรับเอาทรัพย์ที่วางไว้นั้นก็ได้

มาตรา ๓๓๓  การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้

ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น

ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน

มาตรา ๓๓๔  ลูกหนี้มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางนั้นได้ ถ้าลูกหนี้ถอนทรัพย์นั้น ท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้วางทรัพย์ไว้เลย
สิทธิถอนทรัพย์นี้เป็นอันขาดในกรณีต่อไปนี้
(๑) ถ้าลูกหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าตนยอมละสิทธิที่จะถอน
(๒) ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น
(๓) ถ้าการวางทรัพย์นั้นได้เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาลและได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2557
เมื่อจำเลยและธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น สิทธิถอนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันขาดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 334 วรรคสอง (2) เหตุที่สำนักงานวางทรัพย์กลางยังไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยและธนาคาร ก. ต่างขอรับเงินจำนวนนี้ จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าแท้จริงแล้วผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ สำนักงานวางทรัพย์กลางต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิที่แท้จริง แม้จะล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้รับการบอกกล่าว ก็ไม่ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้ระงับสิ้นไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 339

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2556
การที่ระหว่างฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องของจำเลยให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่แล้ว ทั้งฎีกาของจำเลยก็อ้างเหตุที่จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่ากับศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ขอวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและศาลฎีกานำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่การวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น เมื่อต่อมาปรากฏตามคำร้องของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้

มาตรา ๓๓๕  สิทธิถอนทรัพย์นั้น ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดหาได้ไม่
เมื่อได้ฟ้องคดีล้มละลายเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิถอนทรัพย์ในระหว่างพิจารณาคดีล้มละลาย

มาตรา ๓๓๖  ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการชำระหนี้ไม่ควรแก่การจะวางไว้ก็ดี หรือเป็นที่พึงวิตกว่าทรัพย์นั้นเกลือกจะเสื่อมเสีย หรือทำลาย หรือบุบสลายได้ก็ดี เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล บุคคลผู้ชำระหนี้จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด แล้วเอาเงินที่ได้แต่การขายวางแทนทรัพย์นั้นก็ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ค่ารักษาทรัพย์จะแพงเกินควรนั้นด้วย

มาตรา ๓๓๗  ท่านไม่อนุญาตให้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดจนกว่าจะได้บอกให้เจ้าหนี้รู้ตัวก่อน การบอกนี้จะงดเสียก็ได้ถ้าทรัพย์นั้นอาจเสื่อมทรามลง หรือภัยมีอยู่ในการที่จะหน่วงการขายทอดตลาดไว้
ในการที่จะขายทอดตลาดนั้น ท่านให้ลูกหนี้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า ถ้าละเลยเสียไม่บอกกล่าว ลูกหนี้จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

การบอกให้รู้ตัวและบอกกล่าวนี้ ถ้าไม่เป็นอันจะทำได้ จะงดเสียก็ได้

เวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด กับทั้งคำพรรณนาลักษณะแห่งทรัพย์นั้น ท่านให้ประกาศโฆษณาให้ประชาชนทราบ

มาตรา ๓๓๘  ค่าฤชาธรรมเนียมในการวางทรัพย์หรือขายทอดตลาดนั้น ให้ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้ออก เว้นแต่ลูกหนี้จะได้ถอนทรัพย์ที่วาง

มาตรา ๓๓๙  สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อพ้นเวลาสิบปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์

อนึ่ง เมื่อสิทธิของเจ้าหนี้ระงับสิ้นไปแล้วถึงแม้ลูกหนี้จะได้ละสิทธิถอนทรัพย์ก็ยังชอบที่จะถอนทรัพย์นั้นได้
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9053/2552
จำเลย ที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบางส่วน เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 5 ปี นับจากวันที่จำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์อีก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2552
ใบแจ้งหนี้ทั้งหมดที่โจทก์ส่งให้จำเลยรวม 10 ฉบับ มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 9 และ 10 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้ ฉบับที่ 1 ถึง 8 เกิน 2 ปีแล้ว แต่หลังจากนั้นจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน กรณีเป็นการที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระโดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมด อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ดังนั้น หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้ทั้ง 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง ที่โจทก์นำไปชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับแรก ซึ่งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระก่อน จึงเป็นการนำไปชำระหนี้ถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2552
จำเลยแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตีใช้หนี้และส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 525 ประกอบด้วยมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครองจึงถือได้ว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่ได้มาตามสัญญายกให้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2551
การหักกลบลบหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน และต้องมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ มีวัตถุแห่งหนี้เหมือนกัน เช่น เงินต่อเงินหรือสิ่งของต่อสิ่งของ และหนี้ทั้งสองฝ่ายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะนำมาขอหักกลบลบหนี้กันได้ จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงิน แม้จำเลยจะโต้แย้งว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะโจทก์มีหนี้ที่ต้องส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้ทำการชุบ สีให้แก่จำเลยก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวหามีมูลหนี้อันเป็นวัตถุอย่างเดียวกันไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วแต่อย่างไร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องหักกลบลบหนี้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอชำระหนี้ด้วยสิ่งของอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 321 ซึ่งจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยินยอมตกลงด้วยเท่านั้น แต่ได้ความว่าก่อนฟ้องและหลังฟ้องโจทก์กับจำเลยได้เจรจาตกลงหนี้กันแล้วแต่ ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์จึงยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ยังอยู่ที่โจทก์ไว้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างไรด้วย จำเลยจึงไม่อาจนำวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยึดหน่วงไว้ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีกเช่นกัน จึงให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยนำฟ้องแย้งไปฟ้องเป็นคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2551
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมอบบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ การที่โจทก์ใช้บัตรดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2550
ป.พ.พ. มาตรา 328 บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่าง เดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย ไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน..." แสดงว่ากฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าจะชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุไว้ก็ต้องชำระหนี้รายที่ระบุไว้นั้นตามความประสงค์ของลูกหนี้ เมื่อฟังว่าจำเลยออกเช็คตามใบส่งของอันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ ชำระหนี้รายใดตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550
ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้ เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลัก ฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้า บัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2551
อ. เป็นพนักงานขายของโจทก์ จำเลยติดต่อสั่งซื้อสินค้าจาก อ. ตลอดมา จำเลยทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าบัญชีเงินฝากที่จำเลยโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าเป็นของมารดา อ. ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2549
ในการจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อบังคับเอาแก่ประชาชนผู้ต้อง รับผิดเสียภาษีอากรนั้น หน่วยงานที่จัดเก็บต้องปฏิบัติให้ถูกต้องภายในกรอบแห่งกฎหมายที่บัญญัติไว้ ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อการนี้ รวมทั้งในเรื่องลำดับการหักชำระหนี้ภาษีอากรนั้น เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำ ป.พ.พ. มาบังคับใช้ และกรณีนี้ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่และความรับผิดของผู้เสียภาษีอากรตาม กฎหมายภาษีอากรซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่มีบทลงโทษทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ลำดับการหักชำระหนี้ภาษีอากรนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบ ร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การไว้ ศาลภาษีอากรกลางก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

ในระหว่างหนี้ภาษีสรรพสามิต หนี้เบี้ยปรับ หนี้เงินเพิ่ม และหนี้ภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย ซึ่งมีประกันเท่า ๆ กันนั้น หนี้ภาษีสรรพสามิตเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลย เพราะหนี้ภาษีสรรพสามิตมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย ฉะนั้น จึงต้องนำเงินที่อายัดและเงินประกันมาหักชำระหนี้ภาษีสรรพสามิตก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2549
โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 155,505 บาท แต่จำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้สินรายใด เมื่อหนี้สินมีจำนวน 150,000 บาท และจำนวน 30,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หนี้สินรายแรกมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย ส่วนหนี้รายหลังมีผู้ค้ำประกันเพียงรายเดียว หนี้สินรายหลังจึงเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จึงต้องถือว่าหนี้รายหลังเป็นอันปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2549
จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่มาชำระวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแก่โจทก์ ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 320, 321 และ 326 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540

กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่มิใช่เรื่องการชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง เพราะการที่จำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังระงับการดำเนินกิจการนั้น จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะ และการดำเนินงานสำเร็จตามแนวนโยบายของทางการ ทั้งการระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้

จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้เพราะจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการอันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2549
แม้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไปเพราะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์ แต่โจทก์มิได้เจตนาประสงค์จะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยพ้นจากความรับผิด ถึงจำเลยจะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลัก ฐานแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยังคงต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยจะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต และจำเลยคืนหลักประกันไปจำเลยก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน แล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน อันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7548/2549
ในสัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยยินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินหักเงินได้รายเดือนของจำเลยตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระส่งชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนี้ การบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตั้งแต่มาตรา 271 ถึงมาตรา 323 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์กับจำเลยจะตกลงกันให้บังคับคดีโดยวิธีการอย่างอื่นไม่ได้ คำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิขอรับเงินได้รายเดือนจากผู้มีอำนาจจ่ายเงินเพื่อจ่ายให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมจนกว่าจะครบถ้วนนั้น เท่ากับยินยอมให้โจทก์ขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้มีอำนาจหักเงินรายได้ของจำเลยได้โดยไม่ต้องขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและไม่ต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลย จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ศาลฎีกาไม่อาจสั่งให้ได้
แม้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องตกลงวิธีการชำระหนี้กันไว้ล่วงหน้าโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย แต่ข้อตกลงเกี่ยวพันไปถึงบุคคลภายนอกผู้ทำหน้าที่หักเงินได้ ตราบใดที่โจทก์และจำเลยยังสมัครใจปฏิบัติต่อกันตามสัญญา บุคคลภายนอกก็ดำเนินการหักเงินได้ของจำเลยส่งให้โจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยเปลี่ยนใจไม่ยอมชำระหนี้ให้ บุคคลภายนอกก็ไม่ยอมหักเงินส่งให้โจทก์ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะเป็นสิทธิของโจทก์และจำเลยที่จะตกลงกันเกี่ยวกับวิธีชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า แต่บุคคลภายนอกไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่ถูกผูกพันว่าจะต้องมีหน้าที่หักเงินส่งให้โจทก์ตลอดไป การที่จะบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อสัญญาเป็นเรื่องวัตถุแห่งหนี้ที่คู่สัญญาตกลงกัน กรณีนี้วัตถุแห่งหนี้คือการบังคับให้จำเลยยินยอมชำระหนี้ต่อไปโดยบุคคลภายนอกดำเนินการหักเงินได้รายเดือนของจำเลยเพื่อจ่ายให้โจทก์ เป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ต่อไปตามสัญญาได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3636/2548
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งมาตราดังกล่าวมิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงอันจะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เพิ่มค่าอากรก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้นำเงินของผู้ค้ำประกันไปหักชำระค่าอากรก่อน เป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080/2548
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม กำหนดให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินอากร และตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 89/2 กำหนดให้เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และมาตราดังกล่าวก็มิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค้ำประกันมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อน กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกันหนี้สินรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับการ ปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง โจทก์ต้องนำเงินค้ำประกันมาชำระค่าอากร และภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2548
จำเลยนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี และขอวางหนังสือค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้า เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออก โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าอากรมาชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงทวงถามไปยังธนาคาร ก. ผู้ค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้าของจำเลย ซึ่งธนาคารได้นำเงินมาชำระตามที่ได้ค้ำประกันไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากที่จำเลย สำแดงไว้ในใบขนสินค้า จึงคำนวณค่าภาษีอากรใหม่พร้อมเงินเพิ่มแต่การที่โจทก์นำเงินค้ำประกันไปหัก ชำระเงินเพิ่มก่อนนั้นไม่ชอบ เพราะเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระ หนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ต้องได้รับปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2548
โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกันวันที่ 13 มกราคม 2535 ส่วนประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 จึงไม่ใช่ประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่ให้สิทธิโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อย ละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่ปรากฏว่ามีประกาศของ โจทก์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงเป็นปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีในสัญญากู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ

เงินที่จำเลยได้ชำระมาและโจทก์นำไปหักดอกเบี้ยก่อนส่วนที่เหลือจึงเป็นต้น เงินตามรายการในการ์ดบัญชี เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะเหตุโมฆะแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแล้วไปหักดอกเบี้ยได้ จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาจึงต้องนำไปหักต้นเงินอย่างเดียว และไม่เป็นการชำระดอกเบี้ยอันไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2547
การที่จำเลยให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องขอวางเงินจำนวน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลชั้นต้นแจ้งให้ผู้เสียหายมารับไปอันเป็นการบรรเทาความเสียหายบาง ส่วน แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อจะชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปโดยไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทา ความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลเพื่อให้ผู้เสียหายรับไป แม้ต่อมาจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย โดยอ้างเหตุที่ได้วางเงินชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยและไม่ ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่วาง ศาลและไม่วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายหรือความเสียหายด้วยการ วางเงินชำระค่าเสียหายบางส่วนให้แก่ผู้เสียหายเพื่อใช้ดุลพินิจรอหรือไม่รอ การลงโทษจำคุกจำเลย และเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว โดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4920/2547
โจทก์ จำเลย และ ร. เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวส่วนของตนก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินไว้นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ ย่อมขัดต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้เฉพาะกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดิน ศาลจึงไม่อาจสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2545
จำเลยเป็นตัวแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพขณะที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยกลับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคาร โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยการปลอดจำนองเช่นเดิม แต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วนจึงจะปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามลำดับต่อไปได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2544
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระเงิน 5,575,551.53 บาท จากโจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลย 5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ 6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมาก โจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็น ว่าถูกต้อง ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากเป็นจำนวนที่ถูกต้องโจทก์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2542
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ในสภาพ เรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยกับพวกส่งมอบรถหรือชำระเงินที่ศาลทั้งตามคำบังคับที่ศาลชั้นต้นออกให้ตามคำขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาก็มิได้ระบุสถานที่ส่งมอบรถและสถานที่ใช้เงินไว้ด้วย กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 324 หนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อเป็นการชำระหนี้ทรัพย์เฉพาะสิ่ง จึงต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้นเมื่อปรากฏว่า หนี้ของจำเลยที่จะต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์เกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำ พิพากษาให้คืนซึ่งขณะนั้นรถอยู่ในความครอบครองของจำเลยจึงต้องส่งมอบรถกัน ณ ภูมิลำเนาของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2542
จำเลยได้นำเฉพาะต้นเงินจำนวน 60,000 บาทที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2529 แต่โจทก์ได้ปฏิเสธการรับเงินดังกล่าวตลอดมาเพราะเห็นว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของเงิน 60,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2529 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยวางทรัพย์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ก็ ตาม แต่เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กล่าวอ้างถึงการวางเงินของจำเลย ต่อสำนักงานวางทรัพย์เลย อีกทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวได้ถึงที่สุดไปแล้วโดยจำเลยมิได้ฎีกา ย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยตาม คำพิพากษาดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2542
ที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ไม่ปรากฏว่า อ. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้ผู้ใด เมื่อ อ. ตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ อ. ทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง จำเลยเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ อ. มีสิทธิได้รับมรดกของ อ. ในลำดับแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินทันทีตั้งแต่ อ. ถึงแก่ความตาย และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของอ. มีหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ อ. ทำไว้ ในอันที่จะต้องจดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทด้วย การบังคับให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทด้วยเป็นการบังคับในส่วนอันเป็นสิทธิของจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ อ. ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นในที่ดินพิพาท และไม่ได้เป็นเรื่องที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้
การฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2540
คำฟ้องของโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ศาลเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน14,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวรวมถึงราคาพร้อมที่ดินที่ค้างชำระรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นราคาอาคารพร้อมที่ดินที่ค้างชำระตามที่โจทก์ได้กล่าวบรรยายมาในฟ้องแล้ว ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่ค้างชำระตามจำนวนที่ระบุในเช็ค ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2540
จำเลย ที่ 1 ได้นำรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อพร้อมกับค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมไป วางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์และแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ก่อนโจทก์ขอหมายบังคับคดี ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับคดีอีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2โดยผิดหลงว่าจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมี สิทธิเรียกโจทก์มาถอนการยึดทรัพย์รายนี้ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 นำมาวางต่อสำนักงานวางทรัพย์มีสภาพเสื่อมโทรมโจทก์จึงไม่รับนั้นศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาเพียงว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถจักรยานยนต์ ฯลฯ เท่านั้น มิได้ระบุว่ารถจักรยานยนต์จะต้องมีสภาพอย่างไรและโจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1495/2538
โจทก์รับมอบรถยนต์คันที่สองไว้จากจำเลยโดยไม่ได้สงวนสิทธิจะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยอีกตามสัญญาแม้จำเลยจะส่งมอบรถยนต์ล่าช้าโจทก์ก็เรียกเบี้ยปรับเพราะเหตุนี้อีกไม่ได้เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนสภาพรถยนต์ให้เป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลและการจดทะเบียนต้องรอกำหนดที่กรมการขนส่งทางบกนัดให้นำรถยนต์ไปตรวจสภาพความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์จึงไม่ได้อยู่ที่การส่งมอบรถยนต์ล่าช้า โจทก์ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันเพื่อนำไปใช้ในกิจการของวิทยาลัย ก.จึงได้มีข้อตกลงในสัญญาให้จำเลยมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนสภาพรถยนต์ให้เป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลและจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จำเลยจึงมีหน้าที่กระทำการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อให้ได้มีการจดทะเบียนตามสัญญาโจทก์ย่อมขอบังคับให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวได้แต่เมื่อโจทก์ต้องจัดส่งเอกสารที่จำเป็นในการจดทะเบียนให้จำเลยครบถ้วนด้วยศาลย่อมพิพากษาโดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ส่งเอกสารให้จำเลยครบถ้วนสมบูรณ์ได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยส่งมอบรถยนต์คันที่สองโดยรถยนต์ชำรุดบกพร่องช้ากว่ากำหนดในสัญญาไม่จดทะเบียนเปลี่ยนสภาพรถยนต์ให้เป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลและไม่จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์คันที่สองณภูมิลำเนาของโจทก์เรื่องสถานที่ส่งมอบรถยนต์คันที่สองจึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยไม่มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่สองหากเจ้าของแท้จริงของรถยนต์คันที่สองไม่ยินยอมจดทะเบียนเปลี่ยนสภาพรถยนต์ให้เป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลและจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้วการจะบังคับให้จำเลยโอนรถยนต์คันที่สองย่อมทำไม่ได้สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยโอนรถยนต์คันที่สองให้โจทก์การบังคับคดีทำได้เพียงให้โจทก์คืนรถยนต์คันที่สองให้จำเลยและให้จำเลยคืนราคารถยนต์ให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5767/2537
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 5677 ซึ่งผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 5677 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. สามีผู้ตาย โดยส.ให้น.ถือกรรมสิทธิ์แทนส. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่เพียงใดย่อมหมายรวมถึงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ด้วย เพราะหากว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นของผู้ตายก็ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในตัว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นมรดกของส. ซึ่งตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ผู้ตายไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทซึ่งเป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าทรัพย์มรดก จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งตกได้แก่ ส. ผู้ตายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของตนให้แก่ผู้ใดหาได้ไม่พินัยกรรมซึ่งผู้ตายทำจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น ส. เบิกความไว้ในคดีอาญา สรุปได้ว่า ก่อนที่ผู้ตายจะไปทำพินัยกรรมได้ปรึกษาหารือกับส. ที่บ้านเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินแก่ทายาท ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ส. จะไปด้วยหรือไม่จำไม่ได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ส. ได้บอกให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ ต่อมา ส. จำเลยที่ 2 โจทก์ และ ก. ไปฟังพินัยกรรม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งสามคนโดย ส. รู้เห็นยินยอมด้วยเมื่อได้มีการอ่านพินัยกรรม ส. ก็มิได้คัดค้านหรือเรียกร้องที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากผู้รับพินัยกรรมทั้งสาม ทั้ง ส. ยังได้สละมรดกของผู้ตายตามหนังสือการสละมรดกอีก จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาแสดงว่า ส. มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 5677พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ผู้ตายตั้งแต่ก่อนที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแล้ว และเนื่องจากโฉนดที่ดินมีชื่อผู้ตายแต่ผู้เดียว เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอีก ผู้ตายจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้อง ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายไป 58,700 บาท แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย 30,000 บาท นั้น เป็นจำนวนตามสมควรแล้ว สำหรับค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกของผู้ตายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำแทนทายาทอื่นจึงต้องหักค่าจ้างว่าความ 300,000 บาท จากกองมรดกของผู้ตายสำหรับค่าไถ่ถอนจำนองจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรมเป็นเงิน 130,000 บาท โจทก์ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม จึงต้องรับผิดชอบในการไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรม สำหรับค่าซ่อมบ้านพิพาทตามสภาพบ้านพิพาทปลูกสร้างมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการซ่อมแซมใหญ่ค่าซ่อมแซมจำนวน 20,000 บาท เป็นจำนวนอันสมควร ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ต้องรับผิดค่าซ่อมแซมบ้านพิพาท 20,000 บาท นั้น ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายผู้หนึ่งเท่านั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แต่อย่างใด โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวยังไม่ได้รับส่วนได้ตามพินัยกรรมโจทก์ย่อมเรียกร้องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และส่งมอบค่าเช่าบ้านพิพาทแก่โจทก์ กับขอให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวด้วยตนเองแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์ มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้ถูกเวนคืนไปแล้ว เป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับคดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงขอให้บังคับโดยขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ เพราะพฤติการณ์ซึ่งทำให้การโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งเงินค่าทดแทน การจัดการมรดกนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกันของกองมรดก โจทก์จึงต้องรับผิดชอบตามส่วนที่โจทก์ได้รับมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2537
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยและที่พิพาทแก่โจทก์โดยบุตรจำเลยที่ปรากฎชื่อว่าเป็นผู้จะขายที่พิพาทในสัญญาจะซื้อขายมิได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญากับโจทก์ จึงเป็นกรณีจำเลยตกลงจะขายที่พิพาทแก่โจทก์ด้วย แม้ขณะทำสัญญาจะซื้อขายจำเลยมิใช่เจ้าของที่พิพาทก็ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัยและตกเป็นโมฆะ เพราะจำเลยมีโอกาสขวนขวายเพื่อให้ได้ที่พิพาทมาโอนแก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันได้ ที่พิพาทเป็นของบุตรจำเลยซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาจะซื้อขายเพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์หรือมอบอำนาจให้จำเลยกระทำการแทน และไม่รู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทด้วย โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทแก่โจทก์เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2535
โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ชำระราคาและรับมอบรถยนต์พิพาทมาแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันจัดทำทะเบียนรถยนต์และโอนทะเบียนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ดังนี้ เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้น ที่จะต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำทะเบียนและจดทะเบียนโอนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง ถ้าไม่ไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนเท่านั้น เมื่อรถยนต์พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทกับโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นการจัดทำและโอนทะเบียนรถยนต์เกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ทั้งสองได้ต่อไป สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดได้ตามฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้ายานพาหนะและของเก่าทุกชนิด มีสำนักงานที่ทำการเป็นหลักแหล่งเปิดเผย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาเพื่อขายให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้นำรถยนต์เก่าของโจทก์ทั้งสองแลกกับรถยนต์พิพาท และชำระราคาส่วนที่เหลือ มิใช่เป็นการเช่าซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะการแสวงหากำไรเช่นปกติของพ่อค้ารับแลกเปลี่ยนรถยนต์ทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงเป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 การที่โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริตแม้รถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 อยู่ โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 3จนกว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะชดใช้ราคาให้ และในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมิใช่เป็นการละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองระหว่างที่ครอบครองรถยนต์พิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินบ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมาบ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086 - 2087/2550
สัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากทำกับจำเลยผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากตามราคาที่ขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคแรก หากจำเลยมีเงินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากด้วยการนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าที่ดินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้เพื่อเป็นการปลดเปลื้องไม่ให้ลูกหนี้ต้องได้รับความเสียหายกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และเมื่อวางทรัพย์แล้วย่อมหลุดพ้นจากหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไปอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 334 และ 335 แสดงว่า ลูกหนี้เท่านั้นมีสิทธิถอนทรัพย์ที่วางได้เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในอีกคดีหนึ่งและไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางเพื่อไปชำระหนี้รายอื่นไม่ได้และเมื่อการอายัดต้องห้ามตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่าย จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้
คำร้องอ้างว่าการอายัดไม่ชอบและขอให้ถอนการอายัด เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949 - 2951/2540
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำพื้นที่อาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ ของโจทก์บริเวณชั้น1บางส่วนไปให้ม. ส. และป. เช่าโดยไม่มีอำนาจต่อมาโจทก์ทราบเรื่องจึงให้ผู้เช่าทั้งสามรายทำสัญญาเช่ากับโจทก์เป็นเหตุให้ผู้เช่าทั้งสามรายไม่อาจหยั่งรู้ถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิให้เช่าที่แท้จริงจึงไม่นำเงินค่าเช่ามาชำระแก่โจทก์แต่นำไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดีภายใต้เงื่อนไขว่าเพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่แท้จริงตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดโจทก์ติดต่อขอรับเงินแล้วแต่ไม่สามารถรับเงินได้การที่โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าเช่านี้เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยไม่มีสิทธิให้เช่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์นั้นเห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าทั้งสามรายวางไว้นั้นเกิดจากการที่ผู้เช่าทั้งสามรายทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วไม่ชำระค่าเช่าแต่กลับนำเงินค่าเช่าไปวางณสำนักงานวางทรัพย์กลางโดยวางเงื่อนไขว่าจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่แท้จริงตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดเป็นการกระทำของผู้เช่าทั้งสามรายไม่ใช่การกระทำของจำเลยการที่โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าเช่าได้ก็เพราะมีเงื่อนไขดังกล่าวที่ผู้เช่าทั้งสามรายกำหนดไว้มิใช่เพราะว่าจำเลยไปคัดค้านการขอรับเงินของโจทก์แต่อย่างใดทั้งจำเลยได้ทำสัญญากับผู้เช่าทั้งสามรายมาก่อนการวางทรัพย์จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์รับเงินค่าเช่าจากสำนักงานวางทรัพย์กลางไม่ได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6070/2539
การที่จำเลยนำเงินค่าเช่าไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์โดยกำหนดเงื่อนไขในการรับเงินว่าต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มีคำสั่งศาลถึงที่สุดมาแสดงนั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองหรือบริษัท อ. เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิให้เช่าอันแท้จริงซึ่งจำเลยไม่อาจหยั่งรู้ได้แน่นอน การวางเงินของจำเลยจึงมีเหตุผลโดยชอบและมิใช่ความผิดของจำเลยจำเลยมีสิทธิที่จะวางทรัพย์ชำระเงินค่าเช่าได้อันเป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ค่าเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8253/2538
จำเลยทำสัญญาเช่าช่วงพื้นที่พิพาทจากโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าช่วงแต่บริษัท อ. ผู้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ให้เช่าเดิมก็ยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าจากจำเลยผู้เช่าช่างได้โดยตรง ทั้งบริษัท อ. ได้แจ้งให้จำเลยทำสัญญาเช่ากับตน โดยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อผู้เช่าเดิมแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจะฟ้องขับไล่จนทำให้จำเลยต้องทำสัญญาเช่ากับบริษัท อ.ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยย่อมไม่อาจทราบได้ว่าฝ่ายใดมีสิทธิดีกว่ากัน การที่จำเลยนำเงินค่าเช่าซึ่งได้รับการทวงถามจากโจทก์และบริษัท อ. ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถหยั่งรู้ถึงสิทธิหรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ทราบว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน จึงจำเป็นที่จำเลยจะต้องกำหนด เงื่อนไขไว้ว่า ให้ผู้มีสิทธิที่แท้จริงในการให้เช่าพื้นที่พิพาทเป็นผู้รับเงินค่าเช่าที่วางไว้ ไม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขอันเป็นการทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินได้การวางเงินของจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 331 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3789/2538
โจทก์ได้ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าผู้เช่าทั้งห้ารายนำเงินค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าเช่าที่วางไว้ได้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้เช่าทั้งห้ารายทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วไม่ชำระค่าเช่ากลับนำเงินค่าเช่าไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่แท้จริงตามคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งเป็นการกระทำของผู้เช่าทั้งห้ารายไม่ใช่การกระทำของจำเลย การที่โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าเช่าได้เพราะมีเงื่อนไขดังกล่าวที่ผู้เช่าทั้งห้ารายกำหนดไว้ มิใช่เพราะจำเลยไปคัดค้านการขอรับเงินค่าเช่าของโจทก์แต่อย่างใด ทั้งจำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าทั้งห้ารายมาก่อนการวางทรัพย์ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์รับเงินค่าเช่าจากสำนักงานวางทรัพย์กลางไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2537
จำเลยเช่าอาคารรวมทั้งอุปกรณ์เครื่องครัวใช้ในการประกอบธุรกิจค้าอาหารจากโจทก์ ต่อมาเจ้าของที่ดินได้ฟ้องขับไล่โจทก์ จำเลยและผู้เกี่ยวข้องออกจากที่เช่าโดยอ้างว่า ที่ดินและอาคารที่เช่าเป็นของตน จำเลยจึงได้นำค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางเพราะไม่สามารถหยั่งรู้สิทธิอันแท้จริงของเจ้าหนี้ หรือผู้มีสิทธิรับชำระหนี้ได้ แม้ต่อมาอธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งให้คืนเงินค่าเช่าแก่จำเลย โดยมีความเห็นว่า เจ้าพนักงานไม่ควรรับการวางทรัพย์จำเลยได้รับคืนและนำไปวางต่อศาลชั้นต้นในคดีที่เจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ และคดีดังกล่าวเจ้าของที่ดินได้ถอนฟ้อง โดยมีข้อตกลงว่าเจ้าของที่ดินยอมชำระเงินชดเชยสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ผู้เกี่ยวข้องและจำเลยยอมให้ทรัพย์สินทั้งหมดในที่เช่าเป็นของเจ้าของที่ดิน ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาต่อกันข้อตกลงในการถอนฟ้องของโจทก์และจำเลยในคดีฟ้องขับไล่นั้น หากจะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่มีข้อตกลงอันใดระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเจตนาให้ข้อพิพาทในคดีนี้ระงับหรือเสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันเมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าสัญญาเลิกกันให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจึงต้องพิเคราะห์ว่า จำเลยผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือไม่ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพราะถูกเจ้าของที่ดินกล่าวหาว่าอยู่ที่เช่าโดยละเมิดและฟ้องขับไล่และต่อมาได้นำไปวางต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวเช่นนี้จะถือว่าเป็นการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าอันจะเป็นเหตุให้สัญญาเช่าเลิกกันหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2535
การวางทรัพย์ต่อศาลเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ข้อ 21แม้จะมี พ.ร.ฎ. ให้สำนักงานวางทรัพย์กลางเป็นส่วนราชการ ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม การวางทรัพย์ก็ยังคงเป็นงาน ที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมอยู่ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการวางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีฯ ข้อ 2 กำหนดว่า ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกอาจวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ได้ในกรณี ต่อไปนี้...(5) กรณีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น (6) กรณีตามคำสั่ง ศาลภายใต้บทบัญญัติแห่ง กฎหมาย เช่นป.วิ.พ. มาตรา 264 ดังนั้น การวางเงินค่าทดแทนต่อศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคแรก ย่อมหมายถึงการวางเงินค่าทดแทนต่อสำนักงาน วางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์นำเงินค่าทดแทนที่โจทก์ไม่ยอมรับไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางดังกล่าวถือว่าเป็นการวางเงินค่าทดแทนต่อศาลโจทก์รับเงินแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่โจทก์เห็นว่า ควรจะได้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนต่อศาล ดังนี้คดีจึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2534
การที่ ต. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับเงินงวดค่าก่อสร้างโจทก์และ ต. แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย จำเลยได้มีหนังสือตอบรับการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ต. หมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง ต. ไม่มีสิทธิจะมาระงับไม่ให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ กรณีเป็นเรื่องจำเลยรู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนแล้ว ไม่ต้องด้วยมาตรา 331 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยตรง จำเลยไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยให้โจทก์ไปรับจากสำนักงานวางทรัพย์กลางซึ่งโจทก์ไม่อาจรับได้ ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือตอบรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้อง ระบุว่า ต. ขอโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินจากจำเลยให้โจทก์แต่ผู้เดียว รวมทั้งเงินเพิ่มอื่น ๆอีกด้วย แสดงเจตนาว่าจะโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินงวดดังกล่าวทั้งหมดซึ่งรวมถึงค่าเดินท่อประปาและค่าติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วย การวางเงินของจำเลย ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง มิใช่วางให้โจทก์รับไป หากแต่วางโดยมีเงื่อนไขให้สำนักงานวางทรัพย์กลางจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่แท้จริง ไม่ใช่วางเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 331 จำเลยจึงเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยตามมาตรา 224
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588 - 593/2497
ศาลอุทธรณ์หาจำต้องผูกมัดตามคำสั่งรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นไม่
การวางทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331,333 นั้นเป็นเรื่องการปลดเปลื้องให้พ้นความรับผิดในการชำระหนี้ส่วนเรื่องลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้แล้วหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง