การแปลงหนี้ใหม่


มาตรา ๓๔๙  เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น

ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

มาตรา ๓๕๐  แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่

มาตรา ๓๕๑  ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่

มาตรา ๓๕๒  คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้ เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559
ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13073/2558
เมื่อจำเลยทั้งสองขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ยอมรับคำขอของจำเลยทั้งสอง โดยเรียกค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจากจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน เมื่อได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมย่อมระงับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก และมาตรา 350 โจทก์ไม่อาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14941/2556
การโอนสิทธิเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้โอนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือบุคคลที่สาม และไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวด้วยตนเอง จึงขอโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ แต่ตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้โอนภาระการชำระหนี้ของตนที่มีต่อโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ส่วนการโอนกิจการและที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็หาใช่สิทธิอันจะพึงเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกิจการและที่ดินในโครงการจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงหามีสิทธิอันใดที่จะเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ทำการค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในกิจการที่รับโอนมาได้ กรณีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่เห็นได้ว่าเป็นการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้เท่านั้น หาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงหามีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9649/2555
แม้จำเลยที่ 2 จะทำหนังสือรับสภาพชำระหนี้ต่อโจทก์ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้แทนให้ไว้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับสภาพชำระหนี้ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไปโดยให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 กรณีถือไม่ได้ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 หนังสือสัญญาชำระหนี้แทนที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์จึงไม่ระงับ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9161/2555
ก. กับ จำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาแต่งตัวแทนและนายหน้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันไว้หลายประการอันรวมถึงข้อตกลงที่กำหนดให้ ก. ในฐานะตัวการต้องเปิดบัญชีทดลองจ่ายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนใช้จ่ายในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์การที่ ก. กับจำเลยที่ 1 มาตกลงกันใหม่ โดยกำหนดให้ ก. ต้องเปลี่ยนระบบการชำระหนี้อันเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์จากระบบ พี/เอ็น มาร์จิ้นเป็นระบบ แคช มาร์จิ้น จึงเป็นเพียงการตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข การชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและนายหน้า หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9945/2554
แม้หนี้ตามสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งขาดอายุความแล้ว แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมีหนี้เดิมต่อกัน หนังสือสัญญากู้ยืมที่แปลงหนี้มาก็ย่อมมีมูลหนี้และทำให้หนี้เงินกู้เดิมย่อมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 349 ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้คือการจำนองย่อมโอนไปเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นหนี้รายใหม่และยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่นำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7339/2554
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารในโครงการเมืองทองสุขสวัสดิ์กับจำเลย และได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยแล้ว 24 งวด แต่จำเลยยังมิได้ก่อสร้างอาคารตามสัญญา อันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่อาจคืนเงินได้และเสนอขอชำระหนี้เป็นที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี โดยให้นำเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมรวมทั้งเงินรางวัลส่วนลดถือเป็นเงินค่าจองมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่จึงเป็นการตกลงเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยพึงกระทำเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ในขณะนั้น หากจำเลยสามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะไม่ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมโดยมิได้กล่าวถึงสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ และมิได้นำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่มาอ้างอิงต่อศาล เพราะโจทก์ทั้งสองได้คืนต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่จำเลยไปแล้วเนื่องจากจำเลยขอคืนโดยจำเลยแจ้งว่าไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้เพราะติดจำนองกับธนาคารตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจริง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ต่อกันด้วยต่างล่วงรู้ในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่สามารถโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ประกอบกับข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมให้เป็นอันระงับสิ้นไป การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เช่นนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับเงินรางวัลส่วนลดซึ่งจำเลยยินยอมให้ถือเอาส่วนลดนี้เป็นเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแล้วเป็นสิทธิอันพึงมีของโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แม้โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสิทธินั้นแล้ว และต่อมามีการถือเอาเงินส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ทั้งสองย่อมได้สิทธิตามส่วนลดนี้ก็ต่อเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมถูกบอกเลิกแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม สิทธิในเงินรางวัลส่วนลดอันสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมจึงหมดไปและไม่อาจถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2553
สัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในวันที่ 28 กันยายน 2544 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้ค้างชำระเป็นยอดหนี้ตามบัญชี 2,719,380 บาท และดอกเบี้ยนอกบัญชี 1,408,325.13 บาท ตกลงให้มีการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้โดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนกับเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด โดยให้ถือหลักประกันตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้เช่นนี้ แม้สัญญาระบุว่า "โดยมีเงื่อนไขการชำระคืนดังนี้..." ก็ไม่อยู่ในความหมายของการเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขที่จะทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 349 เพราะเป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ใหม่เท่านั้นกรณีจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553
บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ ส. และ น. บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อแล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์แจ้งความเพื่อนดำเนินคดีแก่บุตรจำเลย ก. บุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของ ว. ซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้เจรจากัน ต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 สัญญากู้ยืมเงินจึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2552
การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อเป็นประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ก็ตามก็หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2552
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิม คือ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3514/2551
ธนาคาร ม. เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้แก่ ว. โดยลูกหนี้สัญญากับธนาคาร ม. ว่าจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคาร ม. ต่อมาธนาคาร ม. ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ ว. หลังจากนั้นธนาคาร ม. และลูกหนี้ได้ตกลงกันให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้ามารับผิดชอบชำระหนี้อาวัลตั๋ว สัญญาใช้เงินดังกล่าวแทนลูกหนี้ โดยออกบัตรเงินฝากให้แก่ธนาคาร ม. เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้มูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง ธนาคาร ม. ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ในฐานะเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร ม. จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551
บริษัท ร. นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท ร. ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 อันถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีก ประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้ เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัง กล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ

เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่ กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2550
จำเลย ที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งวัสดุเชื่อมรอยต่อ โจทก์ติดตั้งและส่งมอบงานทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่เหลือและคืนเงินประกันแก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ยังทำงานไม่เสร็จเนื่องจากมีการรั่วซึมของน้ำตลอดเวลา การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกันผลงานให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์กำหนดการจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกัน ที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ที่จะเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมี ผลทำให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระงับสิ้นไป แต่ข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวยังมีผลที่จะบังคับกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550
ป.กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขาย ไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย

หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387 - 5388/2550
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนโจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2550
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายของ ก. ต่อโจทก์ แต่เมื่อโจทก์และ ก. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ ก. จะต้องรับผิด ความรับผิดของ ก. ที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้ ก. ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของ ก. ต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของ ก. ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามมาตรา 698
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2549มูลหนี้เดิมที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญากู้เงินตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้การนำสืบว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องไม่เป็นการต้องห้ามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2548สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงว่า การที่จำเลยที่ 1 ยอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์ คู่สายโทรศัพท์ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิม และไม่ตัดสิทธิโจทก์จะระงับการให้บริการตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม เมื่อไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมจึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้และเมื่อหนี้ตามสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับแต่วันผิดนัดตามสัญญาร่วมชำระหนี้ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548การที่ ณ. ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวมีเงื่อนไขระบุไว้ว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นยังมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 ยังไม่ระงับสิ้นไป ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้ว และไม่เป็นกรณีที่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป. รัษฎากรฯคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3272/2547จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่บริหารงานขาย จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ของโจทก์ให้ลูกค้า แล้วลูกค้าได้นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นประกันการทำงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็นโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. และจำเลยที่ 2ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้ายการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2545การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5247/2545หลังจากที่จำเลยเป็นหนี้ค่าทองรูปพรรณและออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ย. ภริยาโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญากู้ขึ้นมีเนื้อความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินภริยาโจทก์ไปจำนวน 500,000 บาท จะใช้คืนให้ภายใน 6 เดือนนับจากวันทำสัญญาโดยภริยาโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้และจำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมให้นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเปลี่ยนมาเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างจำเลยกับภริยาโจทก์ สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมย่อมระงับสิ้นไป แม้ว่าจำเลยไม่เคยชำระเงินตามสัญญากู้แต่อย่างใดก็หามีผลทำให้การแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวเสียไปไม่ มูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น จึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2545การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียวแต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2544จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกันจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตามเพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง