ผลแห่งสัญญา การบอกเลิกสัญญา มัดจำ เบี้ยปรับ

มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระ หนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่าย หนึ่งยังไม่ถึงกำหนด


มาตรา 370 ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อ ให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือ เสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรค ก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้น กลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบท บัญญัติแห่ง มาตรา 195 วรรค 2 นั้นไป


มาตรา 371 บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยัง ไม่สำเร็จถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษ เจ้าหนี้มิได้และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลงหรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่าย ลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่


มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตรา ก่อนถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลย เสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่ นั้นตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้


มาตรา 373 ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ


มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้ จากลูกหนี้โดยตรงได้ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อม เกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์ จากสัญญานั้น


มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติ แห่ง มาตรา ก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้น ในภายหลังได้ไม่


มาตรา 376 ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดั่งกล่าวมาใน มาตรา 374 นั้นลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จาก สัญญานั้นได้


มาตรา ๓๗๗ เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย


มาตรา ๓๗๘ มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(๑) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้

(๒) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น

(๓) ให้ส่งคืนถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ


มาตรา ๓๗๙ ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น


มาตรา ๓๘๐ ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป


ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้


มาตรา ๓๘๑ ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้


ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๘๐ วรรค ๒


ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้


มาตรา ๓๘๒ ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับ ไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗๙ ถึง ๓๘๑ มาใช้บังคับ แต่ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป


มาตรา ๓๘๓ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป


นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย


มาตรา ๓๘๔ ถ้าการชำระหนี้ตามที่สัญญาไว้นั้นไม่สมบูรณ์ การที่ตกลงกันด้วยข้อเบี้ยปรับในการไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน แม้ถึงคู่กรณีจะได้รู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์


มาตรา ๓๘๕ ถ้าลูกหนี้โต้แย้งการริบเบี้ยปรับโดยอ้างเหตุว่าตนได้ชำระหนี้แล้วไซร้ท่านว่าลูกหนี้จะต้องพิสูจน์การชำระหนี้ เว้นแต่การชำระหนี้อันตนจะต้องทำนั้นเป็นการให้งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง


มาตรา ๓๘๖ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง


แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่


มาตรา ๓๘๗ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้


มาตรา ๓๘๘ ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย


มาตรา ๓๘๙ ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้


มาตรา ๓๙๐ ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่นๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย


มาตรา ๓๙๑ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่


ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้


ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น


การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่


มาตรา ๓๙๒ การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๙


มาตรา ๓๙๓ ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ว่าจะเลิกสัญญาหรือหาไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้น สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป


มาตรา ๓๙๔ ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญเพราะการกระทำหรือเพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาก็ดี หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็นพ้นวิสัยก็ดี เปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลงก็ดี ท่านว่าสิทธิเลิกสัญญานั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป


แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจากการกระทำหรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาไซร้ สิทธิเลิกสัญญานั้นก็หาระงับสิ้นไปไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563

โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน


การชุมนุมทางการเมืองตามที่จำเลยอ้าง ยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6837/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นมีเพียงตามมาตรา 19 ที่บัญญัติถึงกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับว่า สิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กับมาตรา 20 ที่บัญญัติว่า กรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นตามที่บัญญัติในมาตรา 691 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 681/1 ที่กำหนดให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะไว้ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบกับผู้เช่าซื้ออย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันจึงยังคงใช้บังคับได้


ข้อความตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงออกถึงเจตนาจะให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับ และจำนวนค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าซื้อคงเหลือจากที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผ่อนชำระตามสัญญาเดิมและไม่มีการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนก่อนทำสัญญาใหม่ จึงเป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้นไม่ใช่เป็นการทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดชำระซึ่งเดิมกำหนด 72 งวด เป็น 84 งวด อันมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลย 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวกว่าเดิม มีลักษณะของการที่เจ้าหนี้ยอมขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงว่า หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ ... ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามมาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) นั้น เมื่อมาตรา 18, 19 และ 20 ไม่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กับทั้งมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังบัญญัติว่า ข้อตกลงที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แม้จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วย ดังนั้น การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเพราะเหตุผ่อนเวลา ส่วนที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันตามมาตรา 691 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น ก็มีผลเพียงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะเท่านั้น ข้อตกลงอื่นสามารถแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตามมาตรา 173 จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว


พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถาม และบอกกล่าวเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าไม่มารับตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าว จึงถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวได้ส่งถึงจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แม้หนังสือบอกกล่าวจะส่งไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง และเมื่อการเลิกสัญญาเช่าซื้อมีผลให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของ หรือเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 ก็มีผลให้ทรัพย์สินต้องกลับคืนสู่ความครอบครองของเจ้าของ ดังนั้นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของหรือการใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการไม่อาจส่งมอบวัตถุแห่งหนี้ จึงไม่ใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง อันจำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดจากเหตุบอกกล่าวเกินหกสิบวันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่มีสิทธิ และเป็นความเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยด้วยตามวรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3811/2562

การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ข้อตกลงที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) เป็นข้อตกลงที่แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้ ป. จ. และ ว. กรรมการโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วยดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะเบี้ยปรับอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ จำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาเป็นความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562

เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส


ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้..." จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่


ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8505/2561

จำเลยแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์ตั้งแต่หน้า 10 ถึงหน้า 19 เป็นการคัดลอกมาจากอุทธรณ์ในหน้า 39 ถึงหน้า 55 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งนั้น ฎีกาของโจทก์ในหน้า 10 ถึงหน้า 19 กับอุทธรณ์ของโจทก์หน้า 39 ถึงหน้า 55 เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบเป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)


หนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์ผู้จองกับจำเลยผู้รับจองกำหนดเวลาการตกแต่งไว้ 4 เดือน นับแต่วันที่รับมอบพื้นที่จากจำเลย โดยระบุวันรับและส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 มกราคม 2557 วันเริ่มต้นสัญญาเช่าและบริการวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาปลอดค่าเช่าและค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 กำหนดเวลาชำระเงินจองโดยแบ่งออกเป็น3 งวด งวดละ 1,169,343 บาท งวดที่ 1 ชำระวันทำหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และกำหนดเวลาที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการกับจำเลยภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 หากโจทก์ไม่มาทำสัญญาเช่าและบริการตามที่กำหนด ยินยอมให้จำเลยยึดเงินจองและให้นำพื้นที่ที่จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้เช่ารายอื่นทันที แต่พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ที่จองตามกำหนด โจทก์ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินจองงวดที่ 3 กับเลื่อนการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการ ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์และจำเลยมีการตรวจวัดรับพื้นที่เช่าและงานระบบกันแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยเรียกโจทก์เข้ามาเจรจาเนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์เข้าไปตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและเปลี่ยนแบบแปลนประเภทร้านค้าเป็นร้านอาหาร ทำให้จำเลยต้องเปลี่ยนแก้ไขระบบงานสาธารณูปโภค เปลี่ยนและติดตั้งระบบดูดควันใหม่ เทพื้นใหม่ เปลี่ยนและวางท่อก๊าซแอลพีจีใหม่ตามคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยยอมผ่อนปรนและพยายามทำทุกอย่างเท่าที่โจทก์ร้องขอมาโดยตลอดนั้น กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาที่ระบุในหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่เป็นข้อสำคัญ เช่นนี้ที่โจทก์ไม่ชำระเงินจองงวดที่ 3 ไม่เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการภายในกำหนดเวลาตามหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวทันทีไม่ได้ หากแต่จำเลยต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังคงค้างและให้เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการเสียก่อน และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่ ส. พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าและบริการหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมายืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังค้างและเข้าทำสัญญาเช่ากับสัญญาบริการมาก่อนแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไปยังโจทก์บอกเลิกหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ ด้วยเหตุว่าโจทก์คงค้างชำระเงินจองงวดสุดท้าย และไม่ได้เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อนจึงไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 จากจำเลยแล้ว โจทก์กลับมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปยังจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่กันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยและนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจองที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก


โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการเพิ่มค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าเสียหายส่วนนี้เกินไปจากที่ฟ้องได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้อง และชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการคำนวณค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเพิ่มเป็นเงินเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาแต่ละชั้นศาลให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565 - 7567/2561

จำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามแทนบริษัท อ. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 แม้หลังจากที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ทั้งสามยังกลับไปเรียกร้องบริษัท อ. โดย จ. ให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมและ จ. ได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ทั้งสามไว้ ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมาตรา 374 สิ้นสุดไปด้วย ถือว่าโจทก์ทั้งสามยังมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย


ตามสัญญาจะซื้อจะขายพิพาทไม่ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องแปลความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อมีการจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. จดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ย่อมถือว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามถึงกำหนดในวันดังกล่าว หาใช่ถึงกำหนดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามทราบว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2561

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย ดังนั้น เงินที่ให้ต่อกันโดยมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว แม้จะให้ในวันทำสัญญาก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นมัดจำ แม้โจทก์จะมอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาและระบุในสัญญาข้อ 2 ว่าเป็นมัดจำก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 สามารถสรุปใจความว่า หากโจทก์ผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงิน 500,000 บาท ดังกล่าว เงิน 500,000 บาท จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 ซึ่งเบี้ยปรับนั้นสูงเกินสมควร ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับนั้นลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 130,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ 370,000 บาท


เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน 370,000 บาท จำเลยจึงมีหนี้เป็นจำนวนที่แน่นอนและเป็นที่ยุติว่าต้องชำระนับแต่วันที่จำเลยทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตรา


ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2561

เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 4.1 วรรคสองว่า หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่า... และหากการผิดนัดดังกล่าวดำเนินไปเกินกว่า 30 วัน ถือว่าผู้เช่าจงใจประพฤติผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าฉบับนี้ได้ทันที และผู้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่ามาแล้วทั้งหมด และที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันตามสัญญาบริการ ข้อ 5.3 ว่า ผู้รับบริการยินยอมให้ผู้ให้บริการริบเงินประกันการบริการได้ทันที หากผู้รับบริการผิดข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาบริการฉบับนี้หรือสัญญาเช่าพื้นที่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบค่าเช่าและค่าประกันการบริการที่โจทก์ชำระในงวดแรกได้ แต่ข้อตกลงตามสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งสองทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรลดเบี้ยปรับในส่วนที่เป็นค่าเช่าพื้นที่ลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน ค่าประกันการบริการลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 398,816 บาท จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 17,284 บาท และการที่จำเลยทั้งสองริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยทั้งสองต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5193 - 5208/2561

โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อตามประกาศขายทอดตลาดได้ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยไม่เสนอจะชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 หาได้ไม่


แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนด เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินในส่วนนี้จึงเป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชอบที่จะคิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก็ได้


โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561

คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้


ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ


การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2561

การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า "ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ... ทุจริตต่อหน้าที่.." เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2561

ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383


ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561

แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2561

สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาท ต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาท ต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724 - 5725/2560

การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน


โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ


โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560

โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท


โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560

มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10300/2559

การวินิจฉัยปัญหาว่าสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น เมื่อสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮ. ระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และสัญญาดังกล่าว ข้อ 8.1 ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9961/2559

สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" และข้อ 11 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้ง หากผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใด ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่น ๆ" เมื่อพิจารณาข้อสัญญาทั้งสองข้อประกอบกันด้วยแล้ว เห็นได้ว่า แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ไม่อาจถือเป็นเด็ดขาดว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องเลิกกันทันทีตามสัญญา ข้อ 9 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาให้ผู้เช่าซื้อ ดังที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 โดยยินยอมให้เวลาผู้เช่าซื้อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายหลังจากครบกำหนดเวลาชำระค่างวดตามสัญญาได้ และถือว่าสัญญายังคงมีความผูกพันกันต่อไป คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 13 งวด โดยตั้งแต่การชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยโจทก์เองก็ยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัด และยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดในคราวการชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 แม้จะครบกำหนดระยะเวลาชำระแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยอีก หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญา ข้อ 9 แล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484 - 8485/2559

การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออก ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 แม้โจทก์ทั้งสองจะรับว่าได้ลงชื่อในใบลาออกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าที่โจทก์ทั้งสองยอมลงชื่อในใบลาออกนั้นเพราะถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่สมัครใจลงชื่อในใบลาออก เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559

การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7570/2559

คู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 ที่กำหนดให้พนักงานขายต้องรับผิดชอบบัญชีขายทุกรายการที่ตนเองขาย เช่น ร้านค้าเก็บเงินไม่ได้ เช็คคืน เป็นต้น เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนการขายจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนสิทธิและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่มีผลเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดระเบียบให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นระเบียบที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง คู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวคงมีผลบังคับใช้ให้โจทก์ที่ 1 รับผิดชำระค่าสินค้าแทนลูกค้าของจำเลยได้เฉพาะกรณีที่โจทก์ที่ 1 ตัดสินใจขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยได้เท่านั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นเช็คและต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าถูกต้องตามคู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวแล้ว หาได้มุ่งหมายให้จำเลยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าไม่ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริต โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายในจำนวนเงินค่าสินค้าตามเช็คให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559

สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า "เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ" ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559

โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2559

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่ตรงตามประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินมัดจำแก่โจทก์นั้น แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลล้มละลายกลางอันเป็นศาลที่มีเขตอำนาจแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและไม่คืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปนั้น หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้บุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายโดยกระทำหรือวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 อันเป็นบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งหรือดำเนินการภายในกำหนดเวลา 14 วัน การที่โจทก์ดำเนินคดีนี้โดยทำเป็นคำฟ้องนั้นถือได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาตามมาตรา 146 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2559

ส. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลย โดย ส. ชำระราคารวมมัดจำให้แก่จำเลยแล้ว 1,691,272 บาท คงมีหนี้ค้างชำระ 22,828 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. กับจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์จะเลิกสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายยังมีความประสงค์ที่จะให้มีการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ดังนี้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ต่อกัน หากบังคับฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ก็ต้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ตอบแทนได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้มีคำขอท้ายฟ้องเสนอขอชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือให้แก่จำเลยตามสัญญาก็ตาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่เข้าใจว่า ส. ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วเช่นนี้ ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา โดยบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของโจทก์ทั้งสี่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2559

เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วน ย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) นั้นไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2559

ตามคำโฆษณาโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลย ภายในโครงการนอกจากจะมีพื้นที่ให้เช่าขายสินค้าแล้วยังมีร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่อื่น ๆ อีก แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลูกค้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการ การเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเหตุผลให้เชื่อว่า เกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวตามที่จำเลยโฆษณาไว้ และโจทก์ได้แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทันสมัยมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนเช่าพื้นที่ แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความตามที่จำเลยโฆษณาไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสถานที่บริการตามคำโฆษณาที่โฆษณาไว้ต่อโจทก์และลูกค้ารายอื่น คำโฆษณาของจำเลยที่มีลักษณะเป็นการจูงใจโจทก์ให้เข้าทำสัญญาเช่านั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดโครงการจำเลยยังดำเนินการจัดให้มีสถานบริการและกิจการตามคำโฆษณาดังกล่าวของจำเลยไม่ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559

หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559

จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559

การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2559

เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกข้อ 3 ระบุว่า "วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ" แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ข้อกำหนดสัญญาบอกรับสมาชิกข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญายูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2464/2559

ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า "เจ้าของร่วม (หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด) ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ" เจ้าของร่วมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคสอง ดังกล่าว และในกรณีที่จะต้องมีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ผู้ขอจดทะเบียนก็จะต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง" โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและแม้โจทก์จะมิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 18 วรรคสองก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่า จะรับผิดชอบชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีให้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ดังนั้น เมื่อเจ้าของห้องชุดเดิมมีหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระอยู่แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้แก่จำเลยด้วย โจทก์จะมาอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อหนี้ที่จำเลยเรียกให้ชำระจึงไม่ต้องมารับผิดชำระหนี้ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558

การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15407/2558

สัญญาข้อ 2 มีใจความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอม โดยโจทก์ตกลงจดทะเบียนให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36717 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้มีความกว้าง 12 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 9 เมตร ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นทางภาระจำยอม สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36716, 36717 และ 341 ของโจทก์ ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้ใช้เป็นทางภาระจำยอมตลอดไป เว้นแต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้ทางภาระจำยอมเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ก็ยินยอมให้จดทะเบียนยกเลิกทางภาระจำยอมได้ ตามคำฟ้องและคำให้การทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ฝ่ายตนตามสัญญา ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากันแล้ว หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้ศาลบังคับให้โจทก์จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนด้วยนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปในคราวเดียวกัน


ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ หากจำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามา โจทก์อาจมีข้อต่อสู้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะพิพากษาบังคับโจทก์ก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้งเข้ามาโดยมีคำขอให้ศาลบังคับโจทก์ ศาลย่อมไม่อาจวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้และพิพากษาบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวเป็นการตอบแทนได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์เช่นกันได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ


ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558

ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558

จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้


คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามแบบแปลนท้ายสัญญาเช่า โดยมีการกำหนดเวลาเริ่มลงมือก่อสร้างและเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จไว้ การที่โจทก์ไม่สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่เช่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานภายหลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ของโจทก์เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาเช่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ถือได้ว่าการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้


แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนกัน แม้จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าตอบแทนการเช่าที่ชำระไปแล้วในวันทำสัญญาคืนจากจำเลยที่ 1 ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558

แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและ บุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือ ว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่ โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับ จำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2558

ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้น ไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา..." ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยคดีนี้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2558

ตามสัญญารับดำเนินการข้อ 2.1 และ 2.2 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะเร่งรัดดำเนินการเก็บเงินที่ลูกหนี้ของโจทก์ค้างชำระโดยใช้ใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นหลักฐานในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ หากจำเลยที่ 1 ยึดหน่วงเงินไว้ไม่ส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริต นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 2.3 ยังระบุว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถติดตามเร่งรัดหนี้สินและส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 2,841,051 บาท โจทก์จะโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของโจทก์ 1,529,796 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนไม่มีข้อความในสัญญาตอนใดกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในกรณีไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่ามุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์เพียงอย่างเดียวรวมทั้งมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มอบเงินที่เก็บได้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้อีก 1,099,529.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2558

ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่เป็นข้อโต้แย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากที่คู่ความนำสืบโต้แย้งในระหว่างการพิจารณา คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าการที่ไม้สักต้องห้ามขนย้ายออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน ถือว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบบ้านไม้สักให้แก่โจทก์อันจะถือว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก และหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ที่รับไว้ที่เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้นก็ไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องขออนุญาตรื้อถอนบ้านหรือขออนุญาตย้ายไม้สัก ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตรื้อถอนบ้านต่อเจ้าพนักงานจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่ยังไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยเช่นกันและถือว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญานั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น คำว่า "มัดจำ" ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว..." ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า " สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท" ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557

ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่ การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17245/2557

สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินหรือรายงานผลการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเกิดโดยความประมาทเลินเล่อ จงใจ หรือทุจริต ซึ่งมีผลให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินราคาสูงขึ้น หรือต่ำกว่าตามปกติที่เป็นจริง หรือผิดไปจากวิชาชีพการประเมินราคา โดยจำเลยที่ 1 ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดดังกล่าวนั้นจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินราคาหลักประกันลูกค้าของโจทก์ทั้งสามรายไม่ถูกต้อง โดยประเมินราคาหลักประกันลูกค้ารายที่ 1 และที่ 2 สูงกว่าความเป็นจริง และรายที่ 3 ไม่ได้รายงานผลการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำถนนสาธารณะซึ่งต้องไม่ประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทำให้ราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สตอ. ส. จสต. อ. และ ว. ลูกค้าของโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์ได้ฟ้องบังคับคดีขายทอดตลาดหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โดยคณะทำงานดำเนินการเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ได้กำหนดวิธีชดใช้ค่าเสียหาย เงื่อนไขหลุดพ้นความรับผิดชอบ


และการฟ้องบังคับคดีลูกหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 3.3.1 และข้อ 3.3.2 ว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้เอาไว้ก่อน ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ลดลงจนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ ให้ถือว่าบริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ และกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ให้ฟ้องบังคับคดีและเอาหนี้ส่วนที่ขาดจากบริษัทประเมินตามที่ได้รับสภาพหนี้ไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยประเมินราคาหลักประกันสูงกว่าความเป็นจริงและไม่รายงานสภาพที่แท้จริงของหลักประกัน ย่อมทำให้โจทก์ใช้ราคาประเมินดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณวงเงินกู้และอนุมัติเงินกู้ให้แก่ลูกค้าสูงกว่ามูลค่า ที่แท้จริงของหลักประกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับชำระหนี้คืนในส่วนยอดหนี้ที่เกินกว่าราคาหลักประกันมีผลถึงการประกอบกิจการโดยรวมของโจทก์ กรณีย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้แล้ว หาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น


แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 890,000 บาทนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์กำหนดตามข้อสัญญาที่ว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น และโจทก์กำหนดตามราคาประเมินหลักประกันของลูกค้าทั้งสามรายที่สูงกว่าความเป็นจริง กรณีจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16524/2557

โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายและทายาทของ ส. ต้องไปจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่โจทก์ผู้จะซื้อเป็นผู้กำหนด นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งจำเลยและทายาท ส. จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อภายหลังจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกัน ปรากฏว่าจำเลยมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดินพิพาทกับ อ. จนต่อมาจำเลยต้องฟ้องขับไล่ อ. ให้ออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น ระหว่างที่เป็นความคดีดังกล่าวกันอยู่เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีทางที่จะดำเนินการให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ และโจทก์กับจำเลยยังได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์เลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าที่ดินบางส่วน ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ออกไปจนกว่าจะตกลงกันเรื่องที่ อ. รุกล้ำที่ดินพิพาทเสร็จเรียบร้อยก่อน การที่โจทก์ยังไม่ชำระราคา และไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นไปตามข้อตกลงส่วนที่เพิ่มเติมในสัญญา ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับริบเงินมัดจำได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ยังคงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยคู่สัญญาอยู่ อีกทั้งเมื่อเหตุแห่งความขัดข้องที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ยังคงมีอยู่ กับไม่ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ดังนั้น การที่จำเลยยังไม่ไปขอแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ย่อมไม่เป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขายเช่นกัน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญากับเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16520/2557

เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15948/2557 

สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15124/2557

ข้อความที่ระบุในแผ่นพับโฆษณาให้เช่าพื้นที่อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นต้นว่า มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารและร้านค้า ชั้น 3 เป็นพื้นที่สถาบันสอนภาษาและกวดวิชา ศูนย์อาหาร และสำหรับสถานที่จอดรถมีพื้นที่รองรับได้ร่วม 100 คัน ล้วนเป็นการชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจสนใจโดยเชื่อมั่นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ระบุไว้ การเข้าประกอบธุรกิจในสถานที่นี้ย่อมจะบังเกิดผลดีแก่ตน และจำเลยที่ 1 ยังออกบู๊ธประชาสัมพันธ์โครงการ ติดแผ่นป้ายโฆษณา และพนักงานของจำเลยที่ 1 อธิบายต่อผู้สนใจซึ่งรวมทั้งโจทก์ว่า ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านค้าที่มีชื่อเสียง รวมตลอดทั้งจำเลยที่ 1 จะทำแผนการตลาดให้ทีมบริหารที่มีความสามารถทำการชักจูงลูกค้าให้เข้าใช้บริการประกอบธุรกิจภายในอาคาร แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนี้ สัญญาให้ได้รับสิทธิการเช่าบู๊ธและสัญญาเช่าพื้นที่ในอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้ต่อกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแม้แผ่นพับโฆษณามิได้แนบรวมอยู่ในสัญญาด้วยก็ตาม ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่โฆษณาไว้เป็นสาระสำคัญที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาชักจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือมิได้ว่าโจทก์ได้รับมอบพื้นที่ให้เช่าตรงตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินเพื่อให้ได้รับสิทธิในการเช่าแก่โจทก์ รวมทั้งค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ที่โจทก์เสียไปในการเข้าดำเนินการตามสิทธิแห่งสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13357/2557

เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20333/2556

ตามข้อกำหนดในการยื่นซองประกวดราคา โจทก์ได้ให้ผู้เสนอราคาตรวจสอบสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างก่อนการเสนอราคา ก่อนยื่นซองประกวดราคาจำเลยร่วมส่งพนักงานไปดูพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง แสดงว่าก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นซองประกวดราคาย่อมทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าการก่อสร้างอาจจะมีปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ แต่ก็ยังสมัครใจและตกลงเข้าเสนอราคาในการประกวดราคากับโจทก์จึงต้องผูกพันในอันที่จะต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามข้อกำหนดการประกวดราคา ไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างโจทก์ จำเลยร่วม และเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาอ้างเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ทำสัญญา ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ในการตรวจสอบพื้นที่เป็นเพียงการตรวจสอบโดยทั่วไปเพื่อเสนอราคาก่อสร้างเท่านั้น มิได้ตรวจสอบอย่างละเอียดจึงยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะมีต่อที่ดินแปลงข้างเคียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยร่วมบกพร่องหรือละเลยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเอง จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อจะไม่ต้องผูกพันตามข้อกำหนดการประกวดราคา และที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ต้องดำเนินการบอกเลิกสัญญาก่อนจึงจะใช้สิทธิในการริบเงินประกันของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมไม่เข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อกำหนดการประกวดราคา จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นความรับผิดตามข้อกำหนดก่อนสัญญา โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยตามข้อกำหนดดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2556

แม้ภายหลังที่จำเลยเข้าทำงานแล้วจะปรากฏว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่แล้วโดยไม่ปรากฏความเสียหายแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงงานที่จำเลยได้กระทำไปในหน้าที่ และเมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นจากโจทก์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นก่อนที่จะพ้นจากหน้าที่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย


ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด


ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ


โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี


สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11379/2556

เงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีลักษณะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามไว้ล่วงหน้า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับและค่าธรรมเนียมจากจำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจและเป็นเบี้ยปรับ หากกำหนดกันไว้สูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาเป็นข้อสัญญาหรือข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด อันจะถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556

แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2556

สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา


หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน มีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลง หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556

การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย


ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)


ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม


ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2555

ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้าน โจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนเพื่อทำถนนเพียงแต่ยังไม่มีการสำรวจแนวเขตถนนที่แน่นอน เมื่อภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงผ่านที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่จึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์เพื่อได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตา 372 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระคืนจากจำเลยทั้งสี่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9473/2555

โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร - 6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45 - 51 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้คำนวณกระแสไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนังสือบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เข้ามาครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาดไป ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าความจริง เหตุเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) โจทก์ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องได้เป็นเงิน 340,879.50 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าที่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2545 จำนวน 86,767 บาท โจทก์ได้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้มาแล้วและเงินที่ชำระให้ตามสัญญาค้ำประกันมาหักออกจากจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว คงเหลือหนี้ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระ 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,915.73 บาท คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียด และคำขอบังคับโดยแจ้งชัดพอที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์หาต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ไฟที่แท้จริงในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม


พยานโจทก์สามปากซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์ได้จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ายี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ที่โจทก์นำมาเปลี่ยนให้กับจำเลยที่ 1 ใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 427,646.50 บาท


จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วย โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความจริงได้ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535 ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด


ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15235/2553

แม้การขนส่งสินค้าตามฟ้องผู้ขายหรือผู้เอาประกันภัยตกลงว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งแบบสินค้าทั่วไป โดยมีเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่ขนส่งก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาสินค้าตามฟ้องอันเป็นการผิดวิสัยผู้ประกอบวิชาชีพขนส่งทำให้สินค้าตามฟ้องสูญหาย ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้องมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่งสินค้าครั้งนี้ แต่สัญญาขนส่งทางอากาศเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 373 ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งทางอากาศตามฟ้อง ย่อมไม่อาจใช้บังคับได้ในกรณีที่ผู้ขนส่งกระทำการโดยฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้อจำกัดดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับแก่จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2553

จำเลยเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ บ. บุตรของ น. ในคดีที่พิพาทกันเรื่องมรดกของ น. โดยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันหลายรายการและมีข้อตกลงให้จำเลยรับชำระหนี้ของ บ. ที่มีต่อธนาคารและหนี้สินในการค้าผลไม้ซึ่งมีหนี้ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้รวม อยู่ด้วย ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งไม่ ได้เป็นคู่สัญญา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ได้โดยตรงตามบท บัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552

เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมา เป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของ งานลงไปด้วย


ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383


ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2552

เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้ เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง สมควรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้น้ำบาดาลจากโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าใช้น้ำบาดาล เพิ่มขึ้นเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ศาลจึงไม่อาจปรับลดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2552

แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงวางเงินมัดจำราคาซื้อขายที่ดินจะเรียกเงินที่ โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. ว่าเป็น "มัดจำ" ก็ตาม แต่เนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงและนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับเงินดัง กล่าวหาใช่เป็น "มัดจำ" ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 และ มาตรา 378 ไม่ เพราะเนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงในข้อ 2 และข้อ 3 เพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันในสาระสำคัญ และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามที่ระบุไว้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยระบุถึงผลของการที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เพียงว่าให้โจทก์คืนเงินมัดจำแก่บริษัท ท. เท่านั้น หาได้มีข้อตกลงให้ริบหรือส่งคืนเงินมัดจำไม่ เงินมัดจำตามข้อตกลงเช่นนี้จึงมิใช่เงินที่บริษัท ท. ให้ไว้แก่โจทก์เมื่อเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกัน ขึ้นแล้ว และเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 อีกทั้งความในข้อตกลงข้อ 3.2 ระบุว่า หากคู่สัญญาไม่สามารถเจรจาตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินได้ภายในเวลาที่ กำหนด โจทก์ตกลงคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งเป็นการตกลงยกเว้นหลักการเกี่ยวกับผลของมัดจำที่มาตรา 378 (1) ถึง (3) กำหนดให้ส่งคืนหรือให้ริบเสียทั้งสิ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์ได้คืนเงินมัดจำทั้งหมดให้บริษัท ท. ไปแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์โดย เลือกวิธีปฏิบัติที่จะเสียภาษีโดยคำนวณฐานภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีรายรับจากเงินมัดจำดังกล่าวอันจะต้องนำไปเสีย ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4584/2552

สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นสัญญาโอนขายสิทธิบัตร โดยมีข้อกำหนดว่าผู้โอนคือโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 369 กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้โจทก์ทั้งสี่ ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสี่รับว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริง และแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลย ต่อมาจำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9753/2551

สัญญาแฟรนไชส์มีข้อตกลงที่ให้โจทก์นำเงินมาลงทุนประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทโดยใช้ เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลย โจทก์เป็นผู้ประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทและรับผิดชอบต่อลูกจ้างของตนในฐานะนายจ้าง โดยโจทก์จะต้องโอนเงินรายได้จากการขายสินค้าให้จำเลยและจำเลยจะจ่ายเงินปันผลกำไรประจำเดือนและเงินส่วนแบ่งกำไรสะสมให้โจทก์ สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 369


โจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งเงินรายได้จากการขายให้จำเลย โดยที่สัญญาแฟรนไชส์ที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาแก่จำเลยก่อน โจทก์จะมาขอให้จำเลยส่งร้านให้โจทก์เข้าครอบครองไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบร้านโจทก์จะอ้างเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้เช่นเดียว กัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2551

แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและ เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วง หน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่าง ร้ายแรงของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวัน แห่งปฏิทิน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชย 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ขอให้คืนเงินชดเชย 1,779,673.94 บาท ครั้งที่สองวันที่ 14 สิงหาคม 2547 ขอให้คืนเงินชดเชยเพิ่มเติม 307,017.61 บาท ซึ่งเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยคนละจำนวนกันและตามหนังสือทวงถามดังกล่าวไม่ อาจทราบได้ว่าฉบับใดเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษีในคดีนี้ ตามหนังสือทวงถามทั้งสองฉบับระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตร ภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือ แต่ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ 19 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะให้ระยะเวลาชำระหนี้เพียงใด นับได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่ง จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องถือว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการทวงถามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 4 กันยายน 2547 และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาตามฟ้องแล้ว ดังนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่อง ละเมิดหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกประเด็นดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2551

บันทึกหลังทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. ที่ระบุว่าบ้านพร้อมกับที่ดินปลูกสร้างบ้านยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บุตรทั้ง 3 คน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ส. ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามได้และสิทธิเรียก ร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดย เฉพาะจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ


โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. ซึ่งสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้ โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยให้โอนที่ดินพร้อมบ้านตาม สัญญาให้ตนเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ ส. โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญานับแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวซึ่งนับถึงวัน ฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี


โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแล้ว ส. ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 ส. จึงไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนให้โดยเสน่หาระหว่าง ส. กับจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2551

จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน เพื่อทำสวนโดยเสียค่าเช่าปีละ 7,500 บาท มีการทำสัญญาเช่ากันครั้งละ 1 ปี โดยโจทก์ให้จำเลยเช่าตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปีแล้ว แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินพิพาทให้เป็นไปที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และหากมีระยะเวลาการเช่าเพียง 1 ปี ตามปกติจักทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ไม่คุ้มกับที่จำเลยได้ลงทุนไปในการพัฒนาที่ดินและทำสวนมะนาว ทั้งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์เป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย โจทก์เองก็ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งตกลงยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นการตอบแทน สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2551

ส. กับ ม. ซึ่งเป็นทายาทของ ก. เอาเงินจำเลยไปคนละ 7,000 บาท แล้วบุคคลทั้งสองตกลงยกทรัพย์มรดกของ ก. ส่วนของตนตีใช้หนี้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. เช่นกัน ถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง สามารถใช้บังคับกันได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2551

ผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือ โดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมื่อพิจารณาสัญญาจะคืนที่ดินแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยว่าให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติวงเงิน ให้จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา


สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดิน 5 ไร่ เข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุกำหนดตัว บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. มีผลบังคับได้ เมื่อต่อมา บริษัท ส. โจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้ โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาเป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2551

โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักไว้มีข้อความว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ มีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพัก งวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6136/2551

ค่าขาดประโยชน์เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลย สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยผิด สัญญา โจทก์จึงชอบจะฟ้องเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่า ขาดประโยชน์เอาแก่จำเลยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันในระหว่างเวลาที่จำเลยผิด นัดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 6.3 เป็นเงินที่จำเลยสัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2551

สัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่งมีระยะเวลาที่แน่นอนชั่ว ระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย กำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2551

เบี้ยปรับแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามจำนวนนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6498/2551

โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้ง 6 แปลงให้โจทก์และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท หากไม่สามารถโอนที่ดินได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 35,000,000 บาท ซึ่งศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด ซึ่งมิใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับคืนหรือขอให้ลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด เมื่อทาวน์เฮาส์จำนวน 18 ห้อง ที่ ศ. ปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงว่าหาก ศ. ผิดสัญญาให้ริบเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้จะขายโดยไม่ต้องใช้ราคาเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่ผู้จะซื้อให้ สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้จะ ขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 382 เมื่อโจทก์ฟ้องและขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดิน 6 แปลง ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551

ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็น จำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10161/2551

โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมี สิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่าย หนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ จึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ ไม่มีความผิด ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551

ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้าน ตัวอย่างไปบ้างดังเช่นการเปลี่ยนวิธีสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมา เป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่ มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อ สัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่ จะส่งมอบก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2551

จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ได้ตามกำหนดเวลาในสัญญา และไม่ได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้ตรงตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 ดังนั้น เมื่อสิทธิเลิกสัญญาเมื่อเกิดขึ้นมีอยู่แล้วย่อมใช้ได้โดยฝ่ายที่มีสิทธิเลิกนั้นแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาจะทำอย่างไร และมีผลขึ้นเมื่อใดต้องไปตามหลักนิติกรรมและการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 149, 150 และมาตรา 168 เมื่อโจทก์เบิกความว่า สิ้นปี 2541 จำเลยก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืน แต่พนักงานของจำเลยอ้างว่าต้องปรึกษาคณะกรรมการก่อนแล้วเพิกเฉยไม่ชำระเงิน คืนให้แก่โจทก์ ซึ่ง ว. เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า หลังครบกำหนดในปี 2541 โจทก์เคยไปขอเงินคืน แต่จำเลยไม่ได้คืนเงินให้โจทก์ แสดงว่าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่โอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยได้แสดงเจตนาทวงถามเงินคืนให้จำเลยทราบ จึงถือว่าชอบตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ทั้งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาก่อนที่จำเลยจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียน รับโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว มิพักต้องบอกกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 393 ทั้งไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจถือเอาเงื่อนเวลาการส่งมอบห้องชุดเป็นสำคัญ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2551

เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นอันเลิก กันตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391


เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญากรณีไม่ อาจบังคับให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับในการทำงานเกินกำหนดจากจำนวนเงินที่จำเลย ยังค้างชำระต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10452 - 10453/2551

โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญากิจการร่วมค้าและอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ช. เป็นต่างหาก เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวได้ แม้การเลิกบริษัท ช. จะได้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การบอกเลิกสัญญากิจการร่วมค้าและอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาก็ไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2551

ผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือ โดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมื่อพิจารณาสัญญาจะคืนที่ดินแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยว่าให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติวงเงิน ให้จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551

แม้ตามคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อและผู้ ค้ำประกันรายใหม่และอนุมัติให้มีการโอนสิทธิการเช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและ สัญญาค้ำประกัน และยอมให้ ศ. มอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่ ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจาก ข. ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายแล้ว โดยถือว่า ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

การที่จำเลย (ผู้เช่า) บอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ (ผู้ให้เช่า) ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึงมาตรา 389 กล่าวคือ โจทก์ต้องเป็นฝ่ายผิดนัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ หรือการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งอันเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าอยู่อาศัย ตรงกันข้ามกลับได้ความว่า หลังจากที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ได้มีหนังสือไปถึงจำเลย แจ้งให้จำเลยใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ด้วย อันเป็นการทักท้วงจำเลยแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบ ทั้งยังยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งหนังสือโต้แย้งของโจทก์ก็ยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้จากจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2550

หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลา โจทก์ยอมรับค่าเช่าซื้อไว้โดยไม่ทักท้วงแสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลา ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้เช่าซื้อ ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระโดยกำหนดเวลาพอสมควรก่อน ตาม ป.พ.พ มาตรา 387 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้ออีก เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เพราะเหตุดังกล่าว ชำระค่าเช่าซื้อโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน แต่ภายในเดือนเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 ได้ไปติดต่อขอชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย ค่าปรับ รวมค่าใช้จ่ายให้โจทก์ แล้วโจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ต่อ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ทั้งผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพัน กันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6961/2550

โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจัดสรรจากจำเลยได้ชำระเงินงวดให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญาในวันที่ 11 เมษายน 2540 แต่จำเลยก็ยังมิได้พัตนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านให้โจทก์แล้วเสร็จจนล่วงเลย ไปจนกระทั่งปี 2545 แสดงว่าจำเลยไม่อาจปฎิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2550

โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทต่อจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสีย ภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386, 387 และ 391 วรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันพิพาทต่อไป สัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจึงยังไม่ระงับ แม้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้ แต่การที่โจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คัน พิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่า โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาด ประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550

เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่าย หนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืน สู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่อง ให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่า นั้น


เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2550

ก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจ่าหน้าซองตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องปรากฏว่า ส่งไม่ได้ พนักงานไปรษณีย์ได้ระบุข้อขัดข้องไว้ที่หน้าซองจดหมายว่าไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า และได้ออกใบแจ้งความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรับจดหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ แสดงว่าพนักงานไปรษณีย์พบบ้านอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ส่งจดหมายไม่ได้เพราะไม่มีบุคคลใดลงชื่อรับจดหมาย โจทก์จึงได้ประกาศบอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 แล้ว


สัญญาขายลดตั๋วเงิน ข้อ 2 ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดและโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินนั้นไม่ได้เมื่อถึงวันกำหนดใช้เงินนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนลดเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2550

ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครอง ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้ก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550

เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ย ปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น หรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนด ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550

เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979/2550

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับเฉพาะกรณีลูกหนี้ยอมชำระหนี้ โดยสิ้นเชิงแล้วเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงกรณีที่ลูกหนี้ขอชำระหนี้บางส่วน การที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ตามเช็คมิใช่เป็นการชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้บอกกล่าวสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับในเวลาที่รับชำระหนี้ที่ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระ โจทก์ก็ไม่หมดสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองตามเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกบัตรเครดิต โจทก์จึงชอบที่จะเรียกเบี้ยปรับดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2550

หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 และข้อ 4 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราคงที่ตามบันทึกต่อท้าย สัญญากู้เงิน โดยในปีแรกอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้วจึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะ 3 ปีแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิด นัดชำระหนี้ เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้ง สองผิดนัดไม่ชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 373 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2550

หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศ ของธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามใน อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้มีการผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แม้จะปรากฏว่าในทางปฏิบัติโจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และต่อมาในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา โดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 1 วรรคสอง ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่า ที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็มิใช่ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นเพราะเหตุผิดนัดตามสัญญาข้อ 3 เพราะโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 1 แต่อย่างใด จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550

แม้สัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 จะระบุให้ดอกเบี้ยเป็นอัตราลอยตัว ซึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือลดลง ได้ตลอดเวลา ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่สัญญาข้อ 11 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญาเมื่อไม่ปรากฏว่านับแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ถึงวันที่โจทก์บังคับจำนำ โจทก์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินตามสัญญาข้อ 2 แต่ปรากฏว่าโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 16.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 11 ซึ่งกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยส่วนที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2550

แม้เงินมัดจำจะมีลักษณะเป็นเงินประกันความเสียหาย แต่เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 378 ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นให้จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้แล้ว เงินมัดจำจึงเข้าลักษณะเป็นเงินชำระค่ารถยนต์ล่วงหน้าบางส่วน ต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 และ 78 (1) (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2550

จำเลยได้ฟ้อง จ. ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แล้วต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยตกลงให้ทายาทของ จ. นำที่ดินแปลงที่ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยไปขายให้แก่ผู้อื่นได้โดยทายาทของ จ. ยินยอมชำระเงินให้จำเลย 1,000,000 บาท จึงเป็นผลให้จำเลยไม่มีที่ดินโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ถือว่าการโอนที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้อง รับผิดชอบ จำเลยจึงต้องคืนมัดจำที่รับไปแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) จึงฟังได้ว่าหนี้เงินมัดจำที่รับไว้จากโจทก์จำนวน 2,450,000 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2550

สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับ ผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นสัญญาอีกอย่างหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาใช้เงินที่ บริษัท ป. ออกให้ไว้แก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการ ส่งสินค้าออกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ ป.พ.พ.มาตรา 985 ประกอบมาตรา 941 บังคับให้ผู้ทรงต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนด


ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิด ของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำ ประกัน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกไว้ต่อโจทก์ แม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวก็ไม่มีผล กระทบต่อความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์ไม่นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกของ บริษัท ป. ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน กรณีนี้ไม่อาจปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2550

ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่ โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น นั้น เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่าในการขอรับสิทธิตามบัตรภาษี หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและ เกิดความเสียหายแก่โจกท์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายห้ามและมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความ ยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่ เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2550

ฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง


หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาที่จำเลยสัญญาว่าหาก ส. หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อ ส. ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2550

การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์และได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์นั้น น่าเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามพฤติการณ์ที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ทั้งยังยอมให้ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนอง ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการแสดงว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 4 นำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2549

โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แต่จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย ถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อน โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไป การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์ ตามมาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2548

ป.พ.พ.มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ เกิดจากข้อสัญญา หรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาซื้อขาย สำหรับสัญญาซื้อขาย แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลของสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อตามสัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่


ผลของการเลิกสัญญาต้องเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ซึ่งการใช้สิทธิเลิกสัญญาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น สัญญาซื้อขายเครื่องจักรระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์ และต้องชดใช้เงินค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้ และเนื่องจากคู่สัญญามิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องคืนเงินแก่กันไว้ จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินจำนวนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7282/2549

ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยนั้น ได้ความตามฟ้องว่านับแต่จำเลยกู้และรับเงินไปจากโจทก์ จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกๆ เดือนตามสัญญา ค้างชำระติดต่อกันหลายงวดซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญา และจากเอกสารบัญชีเงินกู้ก็ได้ความว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2545 เป็นต้นมา และโจทก์ได้ปรับดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 8.11 เป็น 13.5 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดอกเบี้ยจำนวนนี้เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิด นัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้ เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549

คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2549

จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ บริษัท ล. ผู้รับจ้างนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เงินที่บริษัท ล. มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่า บริษัท ล. จะปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัท ล. ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออก หนังสือค้ำประกันนั้นแทน จำนวนเงินตามสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัท ล. ให้ไว้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 377 และ 378 จึงมิใช่หลักประกันที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัท ล. ผิดสัญญา แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้หากมี และจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ล. ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่ากับความรับผิดที่ บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4651/2549

โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่าจำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนด้วย ขณะจำเลยยึดรถยนต์คืนนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 4 งวด ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดรถคืนได้ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยึดรถคืนแสดงว่าจำเลยไม่ยอมผ่อนผันให้โจทก์อีกจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายจากการใช้รถ แม้โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2946/2549

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ว่า "โครงการ ฯ ตามสัญญาจะจัดให้มีสโมสรโครงการ โรงเรียนอนุบาล และสระว่ายน้ำเพื่อเป็นสถานที่ส่วนกลางในการให้บริการ" เป็นการระบุสิ่งที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัตินอกเหนือไปจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามแบบอาคารที่กำหนด ตามแผ่นพับก็ปรากฏภาพสโมสรโครงการและสระว่ายน้ำ อีกทั้งสถานที่ก่อสร้างโครงการมิได้อยู่ในเขตการค้าหรือย่านธุรกิจสำคัญ และเนื้อที่ของที่ดินตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียง 67.50 ตารางวา แต่ราคาตามสัญญาสูงถึง 3,955,000 บาท ย่อมชี้ชัดให้เห็นเจตนาของบุคคลทั่วไปที่จะเข้าเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 1 จะสร้างให้เป็นสถานที่ส่วนกลางในการให้บริการแก่ลูกค้าของโครงการด้วย จึงเป็นเงื่อนไขและสาระสำคัญแห่งสัญญาโดยชัดแจ้ง


สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มิได้โต้แย้งการส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ติดต่อสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ ก็เพียงเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่พร้อมจะปฏิบัติการชำระหนี้ตามหน้าที่ของตนเท่านั้น จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าโจทก์มิได้ถือสัญญาเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการสร้างสโมสรโครงการ โรงเรียนอนุบาล และสระว่ายน้ำตามสัญญา ซึ่งล่วงเลยจากสัญญาที่ทำไว้ต่อกันประมาณ 1 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้าง จึงเป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ต่างตอบแทนดังกล่าวภายในเวลาอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2549

ป.พ.พ. มาตรา 369 บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้...ฯลฯ... หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนเนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นจากสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพจะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้


จำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2548

คำว่า ขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรอันต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ซื้อขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 เพราะยังหมายความรวมถึงการจำหน่าย จ่าย โอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามนิติกรรมสัญญาประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ด้วย การที่โจทก์ทำสัญญาต่างตอบแทนเพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของ พ. โดย พ.โอนกรรมสิทธิ์ใน ที่ดินบางส่วนให้โจทก์ก่อนทำการก่อสร้าง ต่อมาโจทก์กับ พ. ยกเลิกสัญญาการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ดังกล่าว โจทก์จึงโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้ พ. โดยไม่มีค่าตอบแทนก็ถือเป็นการขายตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แล้ว และเมื่อที่ดินที่ขายเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้โดยวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือ หากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 244 มาตรา 3 (5) โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2548

โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง ซึ่งตามข้อตกลงเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์มาเป็นของโจทก์แต่ เพียงผุ้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนจำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินพร้อมที่จะจดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยหรือ ไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตาม ข้อตกลงในสัญญาได้ สัญญายังคงมีผลผูกพันให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในเวลาต่อมาแต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2548

ตึกแถวพิพาทมีมาแต่เดิมแล้ว โจทก์ได้ทำสัญญาให้ อ. เช่าตึกแถวพิพาทดังกล่าวพร้อมที่ดิน อ. ไม่ได้ช่วยค่าก่อสร้างให้โจทก์ ดังนี้ แม้ อ. ได้จ่ายเงินให้ ส. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขายตึกแถวพิพาทและสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ อ. เป็นเงินจำนวน 1,400,000 บาท ก็ดี หรือ บ. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจาก ส. และ ส. จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้ บ. ก็ดี ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงเงินที่จ่ายให้แก่กันเพื่อรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากบุคคลที่มีสิทธิก่อนตน คือจาก ส. มาเป็น อ. หรือจาก บ. มาเป็น ส. เท่านั้น หาใช่เงินค่าก่อสร้างไม่ และไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ อ. มีลักษณะตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าทรัพย์ธรรมดาแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2548

สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดทั้งโจทก์และนางสาว ส. ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยในโครงการเดียวกันกับโจทก์เบิกความเพียงว่า โครงการจะสร้างเสร็จภายในปลายปี 2540 จึงยังไม่พอถือได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีกำหนดเวลาสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุว่าผู้จะขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้จะซื้อเมื่อผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์ให้ผู้จะขายครบถ้วน สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาไว้โดยปริยายนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่สร้างบ้านและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา และถึงแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย เมื่อโจทก์ชำระเงินตามงวดให้จำเลยไปแล้ว 220,300 บาท ทั้งได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือขอให้บฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้ไปยังจำเลยครั้งสุดท้ายนับเป็นเวลา 5 ปีเศษ จำเลยยังไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการภายในกำหนด 15 วัน มิเช่นนั้นให้คืนเงินที่ชำระไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับจากเวลาดังกล่าว ในกรณีนี้ต้องนับว่าเป็นระยะเวลาอันสมควรแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8673/2547

สัญญากู้เงินข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่า "หากผู้กู้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้กู้ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ตนเองถือกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 265906 ให้แก่ผู้กู้ในวันที่ผู้กู้ชำระหนี้ครบถ้วน" ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนในวันที่จำเลยชำระหนี้ครบถ้วน ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นหนี้ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกันทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ มิใช่เพียงข้อผูกพันที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถแยกการชำระหนี้ออกจากกันได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 คือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดแก่โจทก์ โดยไม่ได้เสนอว่าโจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ตอบแทนแก่จำเลยด้วย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินตาม ข้อ 1. ให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะขอชำระหนี้ตอบแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546

การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกให้จำเลยสีเป็นข้าวสารแล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าวนั้น ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำข้าวเปลือกจำนวนที่ได้รับมอบจากโจทก์อันกำหนดไว้แน่นอนมาดำเนินการสีเป็นข้าวสารส่งมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาเกิดไฟไหม้โรงสีข้าวของจำเลยซึ่งขณะนั้นในโรงสีไม่มีข้าวเปลือกมีแต่ข้าวสารแสดงว่าข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์นั้นเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ฉะนั้น การที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะเหตุไฟไหม้ที่ไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเหตุไฟไหม้นั้นเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ การชำระหนี้ของจำเลยด้วยการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


ส่วนกรณีที่จำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแม้การชำระหนี้จะกลายเป็นพ้นวิสัยนั้น ปรากฏว่าการที่จำเลยจะต้องส่งข้าวสารคืนแก่โจทก์นั้นต้องรอคำสั่งจากโจทก์ว่าจะให้ส่งไปจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์ยังมิได้เรียกให้จำเลยส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์อันจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 217


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539

วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทนั้นคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลยเมื่อปรากฎตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดินและที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ดังนั้นการปฎิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 372 ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีกกรณีไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาแต่ประการใดโจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ 40,000,000 บาท นั้น เมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4733/2539

การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยหมายถึงลูกหนี้ไม่อาจปฏิบัติการชำระหนี้ได้เลย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่ามีบริษัทอื่นสามารถขนถ่ายสินค้าได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ จึงหาใช่กรณีที่ไม่อาจปฏิบัติได้อันเป็นการพ้นวิสัยไม่ความสามารถในการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกลุ่มเรือแต่ละกลุ่มเมื่อจำเลยไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าจากจำเลยได้ตามข้อตกลงในบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2511

ข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยนั้น จะต้องเป็นข้อสัญญาที่ผู้ให้สัญญาไม่มีทางปฏิบัติได้เลย


จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาโจทก์เจาะบ่อน้ำบาดาล เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาที่ให้รับประกันปริมาณและคุณภาพน้ำให้ใช้บริโภคได้มีกำหนดเวลา 4 ปีนั้น เป็นเงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้ หาเป็นการพ้นวิสัยไม่ การที่จำเลยไม่สามารถเจาะบ่อน้ำบาดาลให้โจทก์ใช้ได้ถึง 4 ปีตามสัญญา จึงไม่ใช่กรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2545

ว. มีหนังสือถึงจำเลยมีข้อความแสดงเจตนาแก่จำเลยว่าต้องการให้จำเลยจ่ายเงิน 2,112,450 บาท ให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องตรวจรับงานติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นตัวแทนของจำเลยได้ตรวจรับงานจากโจทก์และจ่ายเงินให้โจทก์ไป 360,000 บาท กับทำบันทึกภายในบริษัทจำเลยยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,752,450 บาท หนังสือของ ว. ย่อมมีลักษณะเป็นคำเสนอ ส่วนการที่จำเลยตรวจรับมอบงานจากโจทก์ จ่ายเงินให้โจทก์ไปบางส่วน และทำบันทึกภายในยอมรับว่าค้างชำระหนี้แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นคำสนองด้วยการแสดงเจตนาโดยปริยาย เกิดเป็นสัญญาระหว่าง ว. กับพวกและจำเลย สัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือโจทก์ โดยจำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงได้ และสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ


จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ในการว่าจ้างให้โจทก์ติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมแต่จำเลยเป็นลูกหนี้ของ ช. ว. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยยังค้างชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อไป มูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีอายุความ 10 ปี อันเป็นข้อที่จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้ผู้ขายได้ เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก จำเลยมีข้อต่อสู้คู่สัญญาเดิมคือผู้ขายที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยอยู่อย่างไรจำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้เพราะเป็นข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาที่ทำให้จำเลยตกลงจะชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 376 แต่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยยกเอาข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาซื้อขายและติดตั้งสินค้าดังกล่าวของ ช. กับพวกซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาซื้อขายของจำเลยได้ คดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2539

โจทก์ผู้เช่าซื้อรถโดยสารเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถที่เช่าซื้อมีสิทธิเอาประกันภัยความเสียหายอันอาจเกิดแก่รถนั้นได้เมื่อโจทก์นำรถนั้นไปร่วมรับส่งคนโดยสารกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อหาประโยชน์ร่วมกันแล้วไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกโดยประมาทเลินเล่อโจทก์และบริษัท ขนส่ง จำกัด จึงต้องร่วมกันรับผิดโดยจำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของโจทก์เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ส่วนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยเป็นข้อตกลงเพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัยไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายถูกเท่านั้นจำเลยจะยกเอาเงื่อนไขนี้มาปัดความรับผิดไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2524

โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยแม้จะชำระค่าเช่าซื้อยังไม่หมด มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ แต่ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจึงมีสิทธิทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยได้


แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงระบุให้บริษัทผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยอันเป็นสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก แต่บริษัทดังกล่าวยังมิได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยสิทธิจึงยังไม่เกิด โจทก์ย่อมเปลี่ยนแปลงข้อตกลงโดยเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเสียเองได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2732/2519

จำเลยที่ 1 (ผู้ให้เช่าซื้อ) และจำเลยที่ 2(ธนาคารผู้รับจำนองที่ดินที่ให้เช่าซื้อ) ได้ทำสัญญาตกลงกันเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้เช่าซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่เดิม ให้มีโอกาสได้ที่ดินโดยแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นที่ดินที่เช่าซื้อเดิมและจำเลยที่ 1 โอนชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว หรือที่ดินที่จำเลยที่ 1 จะจัดหาให้ใหม่แห่งใดแห่งหนึ่งเมื่อจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อ โจทก์แสดงความประสงค์ว่าจะได้ที่ดินที่เช่าซื้อเดิม จำเลยที่ 2 ก็รับว่าเมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ โจทก์จึงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 เรื่อยมาจนครบ เห็นได้ว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว เป็นสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 374 โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผูกพันต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีหาใช่เป็นการจัดสรรที่ดินขายอันจะถือว่าเป็นกิจการนอกวัตถุประสงค์ของธนาคารจำเลยที่ 2 ไม่ แต่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดใช้เบี้ยปรับ