หลายคนร่วมกันทำละเมิด

มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้นคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2551
จำเลย ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาการอนุมัติเบิกจ่ายเงินและใน ชั้นตรวจจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่จะเก็บฎีกาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อการตรวจสอบ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงนามโดยมิได้มีการตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าว อันทำให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปใช้ส่วนตัวโดยทุจริต จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์คาบเกี่ยวก่อนและหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 8 วรรคสี่ ที่บัญญัติเป็นคุณแก่เจ้าหน้าที่มาใช้บังคับต่อการทำละเมิดหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มีผลใช้บังคับ ส่วนการทำละเมิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8271 - 8272/2550
จำเลย ที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของทางราชการกลับจากตรวจงานและได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์ที่มี ม. เป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้ ม. กับผู้โดยสารในรถ 2 คน ถึงแก่ความตาย แม้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้อง ม. ด้วยก็ตาม แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนตามรายงานการสอบสวนไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ

กรณีมีผู้ทำละเมิดหลายคน ผู้ทำละเมิดทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์เต็มจำนวน

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญงานศพ การทำหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและเหมาะสมในการจัดการ ศพของผู้ตายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะยังเป็นผู้เยาว์และ พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายก็ไม่ทำให้ความ รับผิดในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองลดน้อยลง

แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึง ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยว ด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2547
จำเลย ที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารนำนักทัศนาจรไปเที่ยวและพาเข้าพักที่รีสอร์ท จึงมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวในระหว่างที่พักอยู่ที่รีสอร์ท ให้ปลอดภัยด้วย อันเป็นหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 เมาสุราไม่เฝ้ารถยนต์โดยสารเอง แต่กลับให้ ก. พนักงานประจำรถนอนเฝ้ารถยนต์โดยสารแทน ทั้งที่ได้ยิน ก. พูดว่าจะออกไปเที่ยวข้างนอก และยังได้เสียบกุญแจรถไว้ที่สวิตช์ติดเครื่องยนต์ มิได้นำไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ก. ถือโอกาสลักลอบขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวไปเที่ยวข้างนอกและทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ ก. ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกัน อันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับ ก. ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษารถยนต์โดยสารอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักร กลให้ปลอดภัยตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมทำละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2546
ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำ ขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้งเพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายเงินให้ แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไปโดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือ ชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี ที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มา พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์

โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อใจจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของโจทก์และเป็นผู้จัดการให้โจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ 1 แม้ในปกหน้าด้านในจะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเอง ก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงินทั้งโจทก์ไม่ได้รับสมุดเงินฝาก และไม่เห็นคำแนะนำหรือคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับและเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้แทนตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 2ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2546
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ขณะที่คนขับรถยนต์คันที่บริษัทโจทก์รับประกันภัยไว้ขับรถแซงรถคันหน้าขึ้นไป แล้วกลับเข้ามาในช่องเดินรถเดิม จำเลยซึ่งขับรถอยู่ห่างจากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ทางด้านหลัง ย่อมมองเห็นตลอดเวลาและควรใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วของรถลงเนื่องจาก เป็นเวลาหลังฝนตกถนนลื่น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ การที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้แล่นกลับเข้ามาในช่องเดินรถเดิมและ อยู่ห่างรถยนต์ที่จำเลยขับประมาณ2 เมตร แต่จำเลยไม่สามารถห้ามล้อหยุดรถได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตาม วิสัยและพฤติการณ์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายประมาทยิ่งกว่าคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายสองในสามส่วนให้แก่โจทก์ที่รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอา ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6392/2545
จำเลย ที่ 1 รับเหมาก่อสร้างอาคารซึ่งติดกับแนวเขตที่ดินของบิดามารดาโจทก์ซึ่งโจทก์พัก อาศัยอยู่ด้วย ทำให้มีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นเข้าไปในบริเวณบ้านดังกล่าวและบ่อปลา เป็นเหตุให้ปลาแฟนตาซีคาร์พที่โจทก์เลี้ยงในบ่อตายจำเลยที่ 1 ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมงาน และจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ปลาแฟนซีคาร์พ 7 ตัวของโจทก์ เป็นปลาพันธุ์ดีที่โจทก์ซื้อซึ่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โจทก์เลี้ยงดูปลาอย่างดี มีบ่อเลี้ยงปลาที่ดีทั้งระบบนิเวศน์ระบบพักน้ำและระบายน้ำ เมื่อคำนึงถึงราคาที่ซื้อมา ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงดูแลรักษาตลอดจนระยะเวลาที่โจทก์ใช้ในการเลี้ยงดูปลาจนถึงวันที่ปลา ตายเป็นเวลาเกินกว่า6 ปี ประกอบกับปลาทั้งเจ็ดตัวนี้เคยส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลทุกตัวจนมีผู้ เสนอขอซื้อในราคาตัวละ 150,000 บาท จึงย่อมเป็นปลาที่โจทก์ภาคภูมิใจและมีค่าอย่างสูงในด้านจิตใจของโจทก์ ไม่อาจนำราคาปกติของปลาแฟนตาซีคาร์พทั่วไปในท้องตลาดมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด ค่าเสียหายได้ เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 700,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6933/2540
แม้จะฟังได้ความว่า จำเลยทำการตอกหรือหล่อเสาเข็มแล้วเสร็จ แต่งานก่อสร้างอาคารชุดพิพาทก็ยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่องไปจนเสร็จ บริบูรณ์ จะถือเอางานช่วงใดช่วงหนึ่งที่จำเลยก่อสร้างเสร็จเป็นวันเริ่มนับอายุความ ฟ้องร้องหาได้ไม่ ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยยังกระทำการก่อสร้างต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้อาคารโจทก์ได้รับ ความเสียหาย ย่อมถือ ได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์ติดต่อกันตลอดมาอยู่ตราบนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เพราะการกระทำนั้นได้ นับแต่วันที่จำเลยก่อสร้างอาคารชุดพิพาทเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2535 อันถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คือจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก

จำเลยฎีกาอ้างว่า ผู้ทำการตอกเจาะหล่อเสาเข็มในการก่อสร้างอาคารชุดนั้น คือ บริษัท ส. จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นกรณีบุคคลหลายคนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยร่วมกันทำละเมิด แม้จะไม่สามารถรู้ตัวได้แน่ว่าคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นก็ตาม จำเลยก็ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 432


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5653/2537
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถชนรถโจทก์โดยละเมิดโดยต่างคนต่างประมาทและไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครประมาทมากน้อยกว่ากันจึงต้องฟังว่าประมาทเท่าเทียมกัน ศาลมีอำนาจกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตนกระทำขึ้นต่อโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2506
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดร่วมในผลที่บุตรผู้เยาว์(ของจำเลย ทำละเมิด จำเลยไม่อุทธรณ์ในข้อนี้ ทั้งยังแก้อุทธรณ์ยอมรับว่าศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้วจำเลยฎีกาในข้อนี้ไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคท้าย เป็นบทบัญญัติสำหรับแยกความรับผิดระหว่างผู้ละเมิดด้วยกัน มิใช่ว่ารับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมีวรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าต้องร่วมกันรับผิดใช้ คำว่า "ร่วมกันใช้" มีความหมายว่า แต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แต่เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากคนใดทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ถึงกระนั้นลูกหนี้ทั้งหมดก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระสิ้นเชิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291
การทำให้ทรัพย์เขาเสียหายโดยผิดกฎหมายเป็นละเมิด เมื่อร่วมกันกระทำก็เป็นการร่วมกันทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิด กฎหมายมุ่งหมายถึงการกระทำ มิใช่ดูผลของความเสียหายว่าแยกกันได้หรือไม่ แม้จะไม่รู้ตัวว่าคนไหนก่อให้เกิดเสียหาย แต่ถ้าเป็นพวกที่ทำละเมิดร่วมกันแล้ว ก็ต้องรับผิดร่วมกันทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432