การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉย เสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่าน ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเอง แทนลูกหนี้เพื่อ ป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของ ลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา 234 เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอ หมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

มาตรา 235 เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็ม จำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระ แก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้าง ชำระแก่เจ้าหนี้นั้นคดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็น โจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วน จำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระ แก่ตนนั้นเลย

มาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ๆ ท่านว่าจะ ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2550
การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นที่จะต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งไม่ใช่กรณีที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ซึ่งหมายถึง การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้ รวมทั้งเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าวมาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องได้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ, 311 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2547
ก่อนยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย รับสภาพหนี้ และใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ โดยฟ้องว่า บริษัท ส. ผิดสัญญาไม่ชำระค่าสินค้าให้เจ้าหนี้ ซึ่งต่อมาบริษัท ส. ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,065,534.81 บาท และขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่ก็ผิดนัดชำระหนี้และปรากฏว่าก่อนหน้านี้ลูกหนี้ได้ว่าจ้างบริษัท ส. ดังกล่าว ก่อสร้างและติดตั้งระบบภายในอาคารของลูกหนี้ โดยมีการส่งมอบงานแก่ลูกหนี้ 3 งวด รวมทั้งสิ้น 76 ครั้ง คิดเป็นเงิน 127,000,000 บาท และบริษัท ส. รับสมอ้างว่าได้รับค่าจ้างจำนวนดังกล่าวไปจากลูกหนี้แล้วซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าหนี้จึงแจ้งให้บริษัท ส. ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อจะได้นำมาชำระหนี้ค่าสินค้าแก่เจ้าหนี้ แต่บริษัท ส. เพิกเฉยทำให้เจ้าหนี้เสียหายและเสียประโยชน์ ขอให้บังคับบริษัท ส. และลูกหนี้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ย บริษัท ส. และลูกหนี้ให้การต่อสู้คดี แต่ระหว่างการพิจารณาคดีลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ชั่วคราว และต่อมาได้พิพากษาให้บริษัท ส. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ คดีถึงที่สุด ดังนี้ การที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งแทนการขอให้ศาลออกหมายเรียกให้บริษัท ส. เข้ามาในคดีในการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ ก็ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 ที่มุ่งหมายให้ลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อรักษาสิทธิของตนแล้ว และการที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในนามตนเองแทนบริษัท ส. เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้นั่นเอง เมื่อบริษัท ส. ไม่มีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะบังคับมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ และบริษัท ส. ก็มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ด้วย จึงเป็นกรณีที่บริษัท ส. เพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เจ้าหนี้จึงใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ในนามตนเองขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามจำนวนหนี้ที่บริษัท ส. เป็นหนี้เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546
ขณะที่มีการชำระบัญชีอยู่บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างกรมสรรพากรโจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยไป ไม่ว่าจำเลยจะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 ถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินส่วนแบ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจำต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตามมาตรา 406

บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540
จำเลย ทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและ กันและเป็นหนี้เงินเหมือนกันทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วยจึงเป็น หนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341การ ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่1เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์แต่ จำเลยที่1ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่2ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่1เป็น เหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของ จำเลยที่1ในนามของโจทก์เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่2เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา233และ ในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา236กำหนดให้จำเลยที่มีข้อ ต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้นเว้นแต่ข้อ ต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้วปรากฏว่าจำเลยที่1เป็นลูกหนี้ของจำเลย ที่2ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่2จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับ จำเลยที่1ขึ้นต่อสู้โจทก์โดยขอหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา341และ342ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2537
ก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดคดีที่ ส.ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยฟ้องผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ซึ่ง ส. เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยได้ขอหมายเรียกจำเลยมาในคดีนั้นแล้ว แต่จำเลยมิได้เข้ามาในคดี ดังนั้นส. จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องเท่าจำนวนที่ผู้ร้องลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่จำเลยนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234,235 แล้ว และไม่มีหนี้ในส่วนนี้ที่ ส. จะนำไปใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้อีก เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่ ส.ส. จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง ซึ่งอาจบังคับเอาแก่ผู้ร้องได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องได้ชำระหนี้แก่ ส. ไปตามคำพิพากษาแล้วจึงเป็นการชำระหนี้ที่ได้ทำให้บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 การชำระหนี้ดังกล่าวหาใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 ไม่ ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยอีกต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวซ้ำอีก