การกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้

 

ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558

การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีชีวิตตามปกติของสังคมมนุษย์ และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง" ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 123 กำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น


การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตามมาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423 ได้ โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น


การที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อน เพิ่งมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่ ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็ดี หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ดี ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการที่จะควบคุมอำนาจรัฐและผดุงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการทั่วไป มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความรับผิดของบุคคลในกรณีที่มีการกระทำละเมิดกันไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2558

การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมไม่เป็นการละเมิด เพราะเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายให้กระทำได้ เว้นแต่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งฟ้องโดยมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล การที่จำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนเรียกให้ชำระหนี้ฐานผิดสัญญาซื้อขายและจ้างทำของ โดยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องคดีนี้ไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยฟ้องโจทก์โดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งฟ้องโดยมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21420/2556

ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริงก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แล้ว ร. ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมราชวงศ์ จ. ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่รายชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 10 บริษัท โดยมีชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. รวมอยู่ด้วย ซึ่งการแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวเป็นการแถลงต่อสาธารณชนตามปกติวิสัยเพื่อยุติกระแสความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง การการะทำของบุคคลดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10448/2553

ข้อความทั้งหมดตามบทความสรุปว่า โจทก์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำกับดูแลกรมศาสนา ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ท่าดีทีเหลว โอบอุ้มพระธัมมชโยเนื่องจากรับเงินสินบนจากพระธัมมชโย 150,000,000 บาท เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยทั้งสามจึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553

ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่าโจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1712/2551

โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่า จำเลยทั้งสามลงพิมพ์ข้อความเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 อันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเป็นละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญในกิจการของโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ ส่วนการคิดคำนวณค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ มิใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสืบเนื่องจาก ว. เพื่อนของจำเลยที่ 2 มาแจ้งให้ทราบว่าได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของโจทก์ 1 คืน เสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4,000 บาท แพงกว่าที่โรงพยาบาลประมาณไว้ 3,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ลงข่าวมีข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์อ่านแล้วเป็นที่เข้าใจว่าโรงพยาบาลศรีสยามได้กลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ แพทย์ของโรงพยาบาลเป็นโจรในเครื่องแบบสีขาว โรงพยาบาลเป็นโรงทรมานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ซึ่งไม่ได้เป็นข้อความที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลคิดค่ารักษาพยาบาลแพงเกินกว่าความเป็นจริงตามที่จำเลยที่ 2 รับทราบมา จึงไม่ใช่ข้อความที่ติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรมเพื่อปกปักรักษาประโยชน์สังคมโดยส่วนรวม การที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงพิมพ์โฆษณาต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำมาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด จะอ้างว่าโดยปกติตนจะตรวจข่าวในกรอบพาดหัวหน้า 1 เป็นหลัก ข่าวในส่วนปลีกย่อยจะไม่ให้ความสนใจนั้นไม่ได้ เมื่อข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะต้องรับผิดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275/2545 

ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษาคดีอาญานอกจากจะผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีแล้ว ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังว่า ข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณานั้นเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อเท็จจริง จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อคดีฟังว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ลำพังการเป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2539 

ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ (ศูนย์ กนช.กอ.รมน.)ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำชื่อกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์และเครื่องหมายราชการไปใช้ได้ในขณะเปิดที่ทำการของจำเลยที่ 1 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองขณะนั้นจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองนำชื่อดังกล่าวไปใช้ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมยกเลิกความยินยอมนั้นเสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ยกเลิกแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจจะใช้ชื่อและเครื่องหมายดังกล่าวได้อีกต่อไป ดังนี้ การที่โจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังคงใช้ชื่อ "กลุ่มสมาชิก กนช." เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และยังคงนำเอาเครื่องหมายราชการรูปคันไถ เปลวเพลิง ดาบปลายปืนล้อมรอบด้วยสามเหลี่ยมและวงกลมของศูนย์ กนช.กอ.รมน.ดังกล่าวซึ่งเป็นของโจทก์ไปติดไว้ที่ป้ายชื่อที่ทำการของจำเลยที่ 1 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต่อไปอีกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ย่อมเป็นการแอบอ้าง อาศัยชื่อหน่วยงานของโจทก์ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการของตน และเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไป และหน่วยราชการต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าศูนย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการค้าด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของจำเลยที่ 1 เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 423


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3805/2537

กว่าที่โจทก์จะเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณเป็นที่รู้จักและยอมรับแก่บุคคลทั่วไปได้ โจทก์ต้องสร้างคุณงามความดีเป็นเวลานาน การที่จำเลยไขข่าวแพร่หลายใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันว่าภรรยาโจทก์กำลังหาทนายความทำเรื่องขอหย่าขาดจากโจทก์ เพราะโจทก์มีความสนิทชิดชอบกับหญิงอื่น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนความจริง ย่อมทำให้ผู้ที่รู้จักโจทก์และได้อ่านข่าวดังกล่าวคิดว่าโจทก์มีความประพฤติไปในทางไม่ดี กระทำผิดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ครอบครัวของโจทก์เกิดความร้าวฉานก่อให้เกิดความเกลียดชังและดูหมิ่นโจทก์ ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบข่าวนี้แล้วย่อมขาดความเคารพเชื่อถือ เป็นผลเสียต่อหน้าที่การงานและความเจริญก้าวหน้ากับทำให้เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่เคยมีอยู่ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดในมูลละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2535 

เหตุที่โจทก์ถูกออกจากงานเนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารให้พิจารณาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของธนาคาร เนื่องจากโจทก์ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการแจ้งให้ธนาคารทราบเท่านั้น ธนาคารจะพิจารณาและมีคำสั่งลงโทษโจทก์หรือไม่เป็นเรื่องของธนาคาร แม้การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงธนาคารเป็นการกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ได้ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความต่อศาลในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ร. โดยกล่าวถึงคำพิพากษาที่โจทก์ถูกลงโทษจำคุก ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ในฐานะพยาน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายมิใช่เป็นการใช้สิทธิของจำเลยโดยเจตนาแกล้งให้โจทก์เสียหายฝ่ายเดียวทั้งเป็นการไขข่าวตามความเป็นจริง จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 104/2534

การฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์คนละเท่าใดเพราะจำเลยต้องร่วมกันรับผิดเต็มตามฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศจะพูดกับจำเลยที่ 1 ผู้มาขอให้โจทก์ช่วยตรวจสอบเรื่องของจำเลยที่ 1ว่า "ผมไม่ชอบให้พ่อค้าเร่งข้าราชการ ผมรู้หน้าที่ของผมดี ผมไม่ชอบ"ก็ไม่ใช่ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ เชื่อว่าเกิดจากความไม่พอใจที่จำเลยที่ 1 มาเร่งรัด ประกอบกับโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโดยไม่ชักช้า โจทก์จึงไม่มีอคติในการทำงาน การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ยอมทำงานเอาแต่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ มีอคติในการทำงาน และกระทำการหน่วงเหนี่ยวเป็นกำแพงป้องกันการส่งสินค้าออก จึงเป็นการร้องเรียนกล่าวหาที่ฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นการละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2543

โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2485 มาตรา 48 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษา ส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46จำเลยไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2543

โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ตลอดจนเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารในตำแหน่งประธานกรรมการ และมีหุ้นถืออยู่ร้อยละ 80.93 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ถือได้ว่าโจทก์มีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าวเป็นพิเศษ ความเชื่อถือของประชาชนต่อธุรกิจของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. จึงอาศัยชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์เป็นสำคัญ ฉะนั้น เมื่อมีผู้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงที่เป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. แล้ว โจทก์ก็ย่อมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณทางทำมาหาได้ของโจทก์ด้วย แม้ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ก็ตาม ดังนั้น การที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจากการแถลงข่าวอันเป็นเท็จของจำเลยทั้งสอง เป็นผลให้ประชาชนผู้ฝากเงินเกรงว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. จะไม่มีเงินให้ถอนคืนเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงมารุมถอนเงินมากผิดปกติ อีกทั้งจำเลยได้สั่งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. หยุดกิจการ และให้โจทก์พ้นจากหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่มีผลถึงโจทก์ ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2536

ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เมื่ออ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นผู้ไขข่าว เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความ จำเลย การที่จำเลยฟ้องโจทก์ในข้อหาหมิ่นประมาทจึงไม่เป็นความเท็จ และแม้จำเลยจะฟ้องโจทก์หลายศาลจำเลยก็คงเข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีวางจำหน่ายทั่วประเทศ ประชาชนทั่วไปย่อมมีโอกาส อ่านและพบเห็นข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้ดังนั้น การใช้สิทธิของจำเลยที่ฟ้องโจทก์ดังกล่าวก็ไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อีกเช่นกัน จึงไม่เป็นละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2532

การที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นทางสาธารณะและเมื่อโจทก์มีชื่อใน น.ส.3 ด้วย จำเลยจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากทางสาธารณประโยชน์และนำประกาศคำสั่งไปปิดประกาศในที่ที่พิพาทและที่อื่น ๆ เพื่อให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่เป็นละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2528

การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 นั้น ผู้กระทำจะต้องรู้หรือควรจะรู้ได้ว่าไม่จริง จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์เพื่อให้นักข่าวของตนซึ่งถูกฆ่าตายได้รับความเป็นธรรม ถึงหากข่าวนั้นจะไม่เป็นความจริง โดยมีผู้แอบอ้างชื่อโจทก์นำสร้อยไปมอบให้ภริยารัฐมนตรีเพื่อวิ่งเต้นล้มคดีที่โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่านักข่าว แต่เมื่อมีเหตุที่จำเลยที่ 3 จะคาดคิดเช่นนั้นได้จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่าไม่จริง การกระทำของจำเลยที่3 จึงไม่เป็นการทำละเมิด


การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความทำนองว่า โจทก์เป็นผู้กระทำความผิด นำความชั่วและเสื่อมเสียมาสู่จังหวัดตราดจนเมื่อโจทก์ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ จึงมีฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงเป็นการชำระล้างความชั่วให้หมดสิ้นไป โดยที่โจทก์มิได้เป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์นั้น ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียหรือเกียรติคุณของโจทก์ แม้หนังสือพิมพ์จะลงพิมพ์โฆษณาข้อความตามที่ได้รับฟังมาจากบุคคลอื่น เมื่อข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง การกล่าวหรือไขข่าวซ้ำก็เป็นการทำละเมิด ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 3 นำลงพิมพ์โฆษณาหาใช่เป็นการป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่แม้ โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่านักข่าวของหนังสือพิมพ์และถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำเอาคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านมาลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์โฆษณาข้อความซึ่งควรจะรู้ได้ว่าไม่จริง จึงเป็นการทำละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2526

การที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ว่า.....โจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม......โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีนิสัยชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ ......ฯลฯ.....นั้น หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ เมื่อข้อความนั้นไม่เป็นความจริง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 และการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรรู้ได้ก็ต้องรับผิด แม้มูลกรณีเดียวกันนี้ศาลในคดีส่วนอาญาจะได้พิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์แล้วก็ตาม การที่ศาลในคดีส่วนแพ่งยังพิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์อีกด้วยนั้น ก็เป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 หาใช่เป็นการลงโทษจำเลยสองครั้งในความผิดเดียวกันไม่แต่เมื่อจำเลยได้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์แล้ว ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะแก้ไขให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาต่อไปอีก จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แม้จะมิใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์และมิได้เป็นผู้เขียนหรือมีส่วนรู้เห็นในการเขียนข้อความอันเป็นละเมิดก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8446/2538

โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดโดยยกข้ออ้างว่า จำเลยกล่าวหรือไข่ข่าวซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ซึ่งเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 423แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อข้อความที่จำเลยพูดทางโทรศัพท์แก่ น. ภริยาโจทก์เป็นความจริงการที่จำเลยกล่าวแก่ น. ซึ่งมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 423จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 420จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2531

ความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดเกี่ยวกับการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณนั้น มีแต่เฉพาะการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศ เพราะถูกจำคุกตามคำพิพากษา


ค่าจ้างทนายความต่อสู้คดีที่โจทก์ผู้สั่งจ่ายถูกผู้ทรงฟ้องไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาและแม้จะเป็นเรื่องละเมิดก็นับว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาแก่จำเลย