ขายทอดตลาด

มาตรา ๕๐๙ การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ถ้ายังมิได้แสดงเช่นนั้นอยู่ตราบใด ท่านว่าผู้สู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนเสียก็ยังถอนได้

มาตรา ๕๑๐ ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนประเดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป

มาตรา ๕๑๑ ท่านห้ามมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาในการทอดตลาดซึ่งตนเป็นผู้อำนวยการเอง

มาตรา ๕๑๒ ท่านห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาเว้นแต่จะได้แถลงไว้โดยเฉพาะในคำโฆษณาบอกการทอดตลาดนั้น ว่าผู้ขายถือสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย

มาตรา ๕๑๓ เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้

มาตรา ๕๑๔ ผู้สู้ราคาย่อมพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป ไม่ว่าการที่ผู้อื่นสู้นั้นจะสมบูรณ์หรือมิสมบูรณ์ประการใด อีกประการหนึ่งเมื่อใดถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน

มาตรา ๕๑๕ ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสด เมื่อการซื้อขายบริบูรณ์ หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาบอกขาย

มาตรา ๕๑๖ ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด

มาตรา ๕๑๗ ถ้าเงินรายได้ในการทอดตลาดส่วนหนึ่งส่วนใดค้างชำระอยู่ เพราะเหตุผู้ทอดตลาดละเลยไม่บังคับตามบทในมาตรา ๕๑๕ หรือมาตรา ๕๑๖ ไซร้ ท่านว่าผู้ทอดตลาดจะต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2560
             เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไป ในคดีนี้ ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เงินที่ได้จากขายทอดตลาดส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายแก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง ล. โดยผู้ร้องผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีสิทธิขอให้จ่ายให้แก่ผู้ร้องได้โดยตรง แต่เนื่องจาก ล. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ซึ่งพิพากษาบังคับจำเลยให้จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคา 40,000,000 บาท การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในคดีนี้แล้ว มีผลทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ล. ได้ ล. จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีดังกล่าวโดยให้จำเลยใช้ราคาที่ดินแปลงนี้แทน เมื่อการขายทอดตลาดโฉนดเลขที่ 44249 ไปทำให้จำเลยได้เงินมาแทน กรณีถือได้ว่า ล. เจ้าหนี้จำเลยในคดีแพ่งหมายเลข 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว ไปให้ศาลจังหวัดภูเก็ตดำเนินการในชั้นบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต โดยนำไปชดใช้ราคาที่ดินที่จำเลยต้องชดใช้แทนให้แก่ ล. โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวเสียก่อน หากไม่มีราคาที่ดินที่ต้องชดใช้หรือเมื่อชดใช้ราคาที่ดินแล้วมีเงินเหลือเพียงใด ก็ให้จ่ายเงินนั้นแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2559
          โจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนประมูลซื้อห้องชุดว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ทั้งตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่ค้างชำระด้วย การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดรายนี้เท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป แต่การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของร่วมเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8415/2559
                ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง" และวรรคสอง "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร... โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง..." แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์ไม่เสียภาษีตามการประเมินภายในกำหนด ถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559
               เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2559
         ป.รัษฎากร มาตรา 83/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย" และวรรคสองบัญญัติว่า "ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี" และมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย นอกจากนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ทำหน้าที่ทอดตลาด จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า ราคาหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่ผู้ซื้อนำมาชำระแก่กรมบังคับคดีเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว การที่กรมบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์จนหมด โดยมิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยตามมาตรา 83/5 จึงเป็นกรณีที่กรมบังคับคดีได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและหักภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วแต่มิได้นำส่งแก่จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีแต่ฝ่ายเดียว มีผลให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าจำนวนที่กรมบังคับคดีได้หักไว้แล้วนั้น ตามมาตรา 54 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2559
                 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินดังกล่าว เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่ง และ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2559
                แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458/2559
                แม้มูลเหตุคดีนี้เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินและได้รับเงินน้อยลงจากการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการที่จะบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้ หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะบังคับเอาจากจำเลย ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว ทั้งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมีมติไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างดังกล่าวจากจำเลย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างจากจำเลยเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ในส่วนที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อว่าที่ดินทั้งสามแปลงมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลง อันเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากจำเลยมีข้อสงสัยประการใดหรือประสงค์จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นที่ดินมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลงหรือไม่ จำเลยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากทางราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยง่าย การที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินครั้งแรกแล้ว จำเลยจึงเพิ่งตรวจสอบที่ดิน นับว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนเข้าประมูลซื้อที่ดิน จำเลยจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดในที่ตั้งของที่ดินมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินทั้งสามแปลงเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินส่วนต่างจากการขายทอดตลาดที่ดินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2559
            ในวันนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ ศาลพิเคราะห์คำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวน แล้วศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่า กรณีไม่มีเหตุให้เลื่อนคดี ให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์เพราะไม่มีเหตุตามคำร้องหรือไม่เชื่อว่าพยานโจทก์เจ็บป่วยจริง ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่จะให้เลื่อนคดีตามคำร้องของโจทก์ หรือสั่งให้เจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูอาการเจ็บป่วยของพยานโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41 แต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีตามคำร้องของโจทก์ในประเด็นใด อย่างไร ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์แล้วมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามคำร้องของโจทก์ต่อไปโดยไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว กรณีที่จะเป็นการขายทอดตลาดอันฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดไปโดยไม่ขยายระยะเวลาขายทอดตลาด แต่ตามคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์อ้างว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของโจทก์ ผู้แทนโจทก์ออกไปทำธุระส่วนตัวซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อผู้แทนโจทก์กลับเข้าห้องขายทอดตลาดอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปโดยไม่มีผู้คัดค้าน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายใดที่จะต้องประกาศหรือโทรศัพท์ติดตามโจทก์เพื่อให้โจทก์มาคัดค้านราคาขายทอดตลาดก่อนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เป็นการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ว่าผู้แทนโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีราคาซื้อขายสูงถึง 1,000,000 บาท และผู้แทนโจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าสู้ราคาไม่ต่ำกว่า 680,000 บาท ฟังไม่ขึ้น เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ มิได้เป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร ทั้งไม่มีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง มิใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2559
                ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกันของจำเลยซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ว. และผู้คัดค้านนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 438,291 บาท ให้แก่ผู้ร้อง และได้กันเงินในส่วนของ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้จำนวน 467,650 บาท เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านขอให้จ่ายเงินที่กันไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยและ ว. ได้นำทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้ และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยและ ว. เป็นหนี้ร่วมกันต่อผู้ร้องโดย ว. เป็นหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 935,291.23 บาท เมื่อทรัพย์หลักประกันเป็นของจำเลยและ ว. ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันและผู้คัดค้านใช้อำนาจยึดออกขายทอดตลาดรวมกันโดยแบ่งแยกกันมิได้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ ว. จะไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยก็ตามแต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งมีบุริมสิทธิที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์หลักประกันที่ผู้คัดค้านยึดไว้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องต่อศาลก่อน ซึ่งผู้คัดค้านสามารถส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีโอกาสคัดค้านแล้วสอบสวนพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้ การที่ผู้คัดค้านและศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2559
               พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระ ส่วนบทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามกฎหมาย โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประมูลซื้อห้องชุดเลขที่ 83/15 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ 1 ของอาคารชุด ศ. อาคาร 3 อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยการขายทอดตลาดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ผู้ซื้อย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิมและต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามข้อบังคับของจำเลย เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบด้วย ในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุด ตามปกติของเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุเงื่อนไขการขายทอดตลาดไว้ว่า ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน (หากมี) ต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วยซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดี โจทก์จึงสามารถตรวจสอบภาระหนี้สินได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าประมูลสู้ราคาได้ ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระมีจำนวนมากหรือสูงกว่าราคาห้องชุดที่โจทก์ซื้อ โจทก์สามารถตัดสินใจที่จะเข้าสู้ราคาในการประมูลขายทอดตลาดหรือไม่ตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่จำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์และระงับการให้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2559
             โจทก์บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของฟ้องว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทเลขที่ 30/540 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ขอให้จดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้โจทก์ โดยบรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การว่า กรณีห้องชุดเลขที่ 30/540 นั้น จำเลยตรวจสอบพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ส. พนักงานของจำเลยเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของ ส. แล้ว จึงเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ ประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีว่าห้องชุดเลขที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้หรือไม่เท่านั้น ไม่มีปัญหาว่าจำเลยค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยหรือไม่ การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นเหตุให้จำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ เป็นการนำสืบนอกประเด็นคำให้การ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับห้องชุดดังกล่าวแก่จำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ส่วนคำให้การที่ต่อสู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ห้องพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ แต่กลับอ้างว่ามีบุคคลภายนอกครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยไม่มีหลักฐานคำพิพากษาของศาลแสดงกรรมสิทธิ์ของบุคคลดังกล่าวหรือมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นของบุคคลอื่นแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจทำให้ศาลวินิจฉัยให้จำเลยชนะคดีในประเด็นนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2559
              ป.พ.พ. มาตรา 510 บัญญัติว่า "ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป" คดีนี้แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโดยระบุว่า ขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน แต่ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน และได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงให้ผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สนใจเข้าฟังการขายทอดตลาดทราบแล้วว่าจะรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 2 มาดูแลการขายทอดตลาดด้วย แต่จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งคำโฆษณาบอกขายว่าเป็นการรวมขายหรือแยกทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันเป็นรายละเอียดของการขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดหรือข้อกำหนดของศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำคำโฆษณาบอกขายระบุถึงรายละเอียดวิธีการขาย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าการรวมขายไปด้วยกันเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจจัดรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 (1) (ข) ถือได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่นซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 510 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดต้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2559
              การที่จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่ใช้ราคาซื้อทรัพย์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่ง และได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น จำเลยผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย การที่จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกและต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 309 ทวิ ในอันที่จะโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้หากดำเนินการไปโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่มาดูแลการขายโดยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อ้างว่าการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และไม่ได้คัดค้านว่าการที่โจทก์ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคา 4,440,000 บาท เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ การขายทอดตลาดครั้งใหม่จึงเป็นการดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่ขาดจำนวน 8,760,000 บาท ซึ่งการที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากเพียงนั้นก็เกิดจากจำเลยเองด้วยที่เสนอราคาสูงสุดในครั้งก่อนสูงถึง 13,200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินทรัพย์รายพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเพียง 8,870,000 บาท โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2559
              ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านนำทรัพย์หลักประกันออกขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองขอเอาบุริมสิทธิในทรัพย์ที่รับจำนองไว้ไม่เกินกว่าหนี้ที่รับจำนองเท่านั้น หากขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าหนี้จำนอง เงินส่วนที่เกินย่อมตกเข้าแก่กองทรัพย์สินของจำเลยผู้ล้มละลาย แต่ถ้าขายไม่ได้ถึงราคาทรัพย์จำนองหนี้ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นพับแก่ผู้รับจำนองไป ฉะนั้นต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องจนถึงวันขายทอดตลาด เมื่อเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกัน มิใช่การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 96 จึงไม่ต้องห้ามคิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 100

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2559
            การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวและจะต้องขายทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ในการขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด จึงชอบแล้ว ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์กล่าวอ้างว่าจำเลยขอร้องให้ผู้ซื้อทรัพย์ช่วยประมูลซื้อทรัพย์และให้สัญญาว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ชนะการประมูล จำเลยจะโอนสิทธิการเช่าทรัพย์ที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ แล้วจำเลยผิดสัญญา หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคดีนี้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 หาใช่เป็นผู้แทนจำเลยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2559
           คดีปรากฏว่า ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดได้เงินแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 เสร็จ ผู้แทนโจทก์ได้ตรวจบัญชีดังกล่าวแล้วรับเงินไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2550 จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การบังคับคดีในส่วนนี้จึงเสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 มกราคม 2557 จึงเป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2559
             ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของ ป. ผู้ขอประกันจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินมีสภาพและที่ตั้งไม่ตรงตามรายงานการยึดทรัพย์ แผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยปกติศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ว่าจะคัดค้านหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน ส่งสำเนาให้ผู้ประกันและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นคำขอที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ว่าจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2464/2559
        ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า "เจ้าของร่วม (หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด) ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ" เจ้าของร่วมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคสอง ดังกล่าว และในกรณีที่จะต้องมีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ผู้ขอจดทะเบียนก็จะต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง" โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและแม้โจทก์จะมิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 18 วรรคสองก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่า จะรับผิดชอบชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีให้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ดังนั้น เมื่อเจ้าของห้องชุดเดิมมีหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระอยู่แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้แก่จำเลยด้วย โจทก์จะมาอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อหนี้ที่จำเลยเรียกให้ชำระจึงไม่ต้องมารับผิดชำระหนี้ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2559
              เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินสี่แปลงรวมกันโดยมิได้แยกขายรายแปลง การโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องกระทำโดยครบถ้วนให้ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ได้ ก่อนถึงกำหนดชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงส่วนที่เหลือ บริษัท พ. ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดิน 1 ใน 4 แปลง โดยอ้างว่าออกเอกสารทับที่ดินของบริษัท พ. ดังนี้เมื่อการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผู้ร้องอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จนเป็นที่เสียหายแก่ผู้ร้องในภายหลังได้ ทั้งผู้ร้องนำสืบว่าพร้อมชำระราคาที่ดินที่เหลือได้ กรณีจึงมิใช่ความผิดของผู้ร้องหรือเป็นเรื่องที่ผู้ร้องหาเหตุไม่ชำระราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะให้เลื่อนกำหนดเวลาชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงที่เหลือไปจนกว่าคดีที่บริษัท พ. ฟ้องจำเลยจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559
             โจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) และภาษีที่คำนวณหักไว้ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559
                ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15009/2558
            ตามคำเตือนในการขายทอดตลาดระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดมีหน้าที่ตรวจสอบยอดหนี้ว่าเจ้าของห้องชุดเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ และหากมีโจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากซื้อห้องชุดพิพาทแล้ว การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยเสนอว่าโจทก์จะชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะภายหลังจากโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เป็นต้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ตอบหนังสือว่าข้อเสนอชำระหนี้ของโจทก์ชอบหรือไม่ และไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ได้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม บัญญัติว่า ผู้จัดการต้องดำเนินการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามวรรคสองให้แก่เจ้าของร่วมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องและเจ้าของร่วมได้ชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ครบถ้วนแล้ว จะเห็นว่าการชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรา 18 เป็นเงื่อนไขสำคัญของการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ เมื่อกรณีไม่ได้ความว่าเจ้าของห้องชุดพิพาทเดิมค้างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือไม่ และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ศาลย่อมกำหนดได้ว่าหากมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นับถึงวันที่โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดซึ่งเจ้าของห้องชุดพิพาทเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ก็ให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 ให้เรียบร้อยแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ และเมื่อทางนำสืบโจทก์ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าของห้องชุดเดิมค้างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14890/2558
              เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 245 มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ เนื้อที่ 54.6 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการขายด้วย คือ บ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียว ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 1 หลัง ไม่ปรากฏเลขทะเบียน ผู้ร้องซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ หลังจากนั้นผู้ร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด ปรากฏว่าบ้านหลังดังกล่าวมีส่วนที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียง 6x2 เมตร เท่านั้น จึงถือว่าบ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียวขนาด 6x12 เมตร ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การยึดบ้านทั้งหลังออกขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการบังคับคดีไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลมีอำนาจเพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและทราบว่ามีส่วนของบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียงบางส่วนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โดยมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ ทั้งมิได้ให้สัตยาบันหลังจากได้ทราบเรื่องการบังคับคดีไม่ชอบ ผู้ร้อง (ผู้ซื้อทรัพย์) จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558
               ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง คดีนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการโอนที่ดินพิพาทจาก ร. ให้แก่ทางราชการ และผู้รับจำนองได้ฟ้องบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนองไป กรณีไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ. มาตรา 722 ซึ่งเป็นเรื่องขอให้ลบสิทธิที่จดทะเบียนออกจากทะเบียน หากผู้รับจำนองเสื่อมสิทธิได้รับความเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้จำนองต่อไป ร. ผู้จำนองจึงมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการได้ เมื่อ ร. ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาโอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนับแต่วันที่ ร. แสดงเจตนายกให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 การอุทิศที่ดินพิพาทของ ร. ให้แก่ทางราชการจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะที่ดินพิพาท จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ธนาคาร อ. ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทต่อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ตาม เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13069/2558
              ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุว่าผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินและเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ เมื่อโจทก์ประมูลซื้อห้องชุดได้แต่ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือการปลดหนี้ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12247/2558
                แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินจำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 จำนวน 595,045 บาท และในวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ตามคำพิพากษา 1,346,641.92 บาท หากขายทอดตลาดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 ไปตามราคาดังกล่าวก็ยังคงเหลือหนี้ตามคำพิพากษาอีกมากเพียงพอสมควรแก่การให้ยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มเติม และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความประมาณ 2 ปี 6 เดือน แต่ยังขายไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ขอบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองภายในเวลาอันสมควร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ทำให้การจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อาจล่าช้า นอกจากนี้ หากต้องรอให้มีการขายทอดตลาดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 เสร็จก่อนถึงจะกลับมายึดทรัพย์สินอื่นได้ก็เกือบครบ 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นเหตุให้โจทก์อาจเสียสิทธิในการบังคับคดีทั้ง ๆ ที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้นมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ การยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อนแต่ยังไม่ต้องนำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองเสร็จสิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงค่อยนำห้องชุดของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดก็ไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธินำยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมได้ เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น แม้จะพ้นกำหนดเวลา 10 ปี ดังกล่าวแล้วก็ตามหรือไม่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เสร็จแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาให้โจทก์มีสิทธินำยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติม กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนครบถ้วนภายในเวลาการบังคับคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุขยายระยะเวลาบังคับคดีให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2558
       โจทก์ประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขาย ทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์เสนอราคาสูงสุด และได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนรวมแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว และโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้ชำระราคา แล้วบางส่วนมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขาย ทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2551
   การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งของคู่ความโดยคำสั่งและคำพิพากษาของศาล ชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ดีเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลดำเนินการ ไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขัดต่อรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าการขายทอดตลอดของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวมทั้งคำสั่งศาลชั้นต้น และ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้

โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้ขายซึ่งต้องห้ามมิให้เข้าสู้ราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 512

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีรวม 5 ครั้ง และมีหมายแจ้งวันนัดให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดแล้วทุกครั้ง วันนัดขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนด แต่ไม่เข้าไปติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดขายทอดตลาดโดยชอบและเดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัด จันทบุรีตามกำหนดนัดแล้ว แต่ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่สอบถามเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อันเป็นความบกพร่องของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เอง โจทก์และจำเลยที่ 2 จะอ้างความเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีการขายทอดตลาดดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้น วินิจฉัยไม่ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องประกาศขายอย่างเปิดเผย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าสู้ราคา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 ไม่ใช่ขายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจังหวัด จันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูก จำกัดให้น้อยลงขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการ เข้าสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้การขายทอดตลาดนัดนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้ เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้ว แต่กรณี เป็นราคาที่สมควรขาย แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกิน สมควร เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขใหม่ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ. นี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที

การขายทอดตลาดที่มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด กรณีมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา ดังนั้น แม้การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ

ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสีย ในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดย ประการอื่น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8694/2549
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าสู้ราคาและข้อสัญญาว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไปนั้น ระยะเวลา 15 วัน ที่กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการชำระหนี้ มิใช่อายุความตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/11 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์ตกลงกันขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือออกไปอีกจึงหาเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 510 และ 515 ไม่ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งและการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีเช่นว่านี้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่จำต้องไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2549
ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะเข้าสู้ราคาและซื้อที่ดินว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรเมื่อใด อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนที่ดินล่าช้าจะทำให้ผู้ร้องเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจถึงขนาดว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีไม่อาจถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรู้เรื่องดังกล่าว

การขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาลนั้นบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 388 ที่จะถือว่าการซื้อขายจะเป็นผลสำเร็จก็แต่ด้วยมีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาดและคดีในชั้นที่ อ. ร้องคัดค้านการขายทอดตลาดศาลมีคำสั่งยกคำร้อง หาได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องกลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 ไม่
การขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาล ผู้สู้ราคาจะพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด แต่กรณีของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเสนอราคาสู้สูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจยกบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 514 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความผูกพันหรือบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4241/2545
ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีฯข้อ 85 กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องชำระเงินทันที เว้นแต่ทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,000บาทขึ้นไป เจ้าพนักงานอาจผ่อนผันให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินมัดจำไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ก็ได้นั้น ปรากฏว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวทุกประการโดยชำระราคาค่าเช่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ร้องได้เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แม้ผู้ร้องจะได้รับเงินค่าซื้อทรัพย์คืนไปจำนวน 2,090,000 บาท เงินส่วนที่เหลือก็เป็นเงินที่ผู้ร้องวางไว้เป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาทั้งหมด มิใช่เงินมัดจำที่วางไว้ในการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปจำนวน2,090,000 บาทไปชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อ หากผู้ร้องไม่นำเงินดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ร้องจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดอยู่ หากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงมีสิทธิยึดเงินจำนวน 110,000 บาท ไว้เป็นประกันราคาทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินจำนวน 110,000 บาทคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7038/2543
คดีนี้แม้ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือเกินเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้ในหมาย แต่เมื่อพิจารณาจากคำสั่งกรมบังคับคดีประกอบกับหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ซื้อทรัพย์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เห็นได้ว่ามิได้มีการบังคับตายตัวว่าถ้าหากผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระราคาภายในกำหนดเวลาแล้วให้ถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดินต้องเลิกกันทันทีหรือผู้ซื้อทรัพย์หมดสิทธิซื้อที่ดินพิพาทและจะต้องริบเงินมัดจำเสมอไป หากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมบังคับคดี เมื่อรองอธิบดีกรมบังคับคดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดีในขณะนั้นมีคำสั่งเห็นชอบกับบันทึกของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เห็นควรให้รับเงินส่วนที่เหลือจากผู้ซื้อทรัพย์ และผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงเท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 515 แล้ว ย่อมได้สิทธิในที่ดินพิพาทแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 เมื่อที่ดินแปลงที่ซื้อถูกเวนคืนทั้งหมด และกรมทางหลวงได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดีแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2542
ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องการขายทอดตลาด ที่ดินได้ระบุที่ดินที่จะขายที่ดินระวาง เลขที่ดิน หน้าสำรวจ เลขที่โฉนด แขวง เขต ที่ที่ดินตั้งอยู่ซึ่งมีชื่อจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยระบุเนื้อที่ตามโฉนดขนาดกว้างยาว ของที่ดินทั้งสี่ด้าน รวมทั้งรายชื่อเจ้าของที่ดินทั้งสี่ทิศ กับระบุว่าเป็นที่ว่างเปล่ารถยนต์เข้าถึงทั้งได้ระบุการไป ให้ดูตามแผนที่สังเขปท้ายประกาศ กับมีคำเตือนผู้ซื้อว่า การรอนสิทธิค่าภาษีอากรต่าง ๆ เรื่องเขตเนื้อที่ กับระบุว่า การบอกประเภทและสภาพของทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่รับรองและไม่รับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้อง ไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง ดังนี้ ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังกล่าวได้ระบุข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่จะขายพอสมควร แก่กรณีแล้ว หากผู้ซื้อมีความสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียด สิ่งใดเพิ่มเติม ก็ย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินตลอดจน หลักฐานของทางราชการได้ก่อนทำการประมูล ผู้ร้องได้ทราบข่าวการประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาก่อน และผู้ร้องได้ซื้อประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีมาดูรายละเอียดจนทราบที่ตั้งของที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด กับผู้ร้อง ได้ขับรถยนต์ไปดูที่ดินเห็นที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ห่างจากถนนประมาณ 150 เมตร ตามแผนที่ท้ายประกาศ ก็เข้าใจว่าเป็นที่ดิน แปลงที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้อง ทราบว่ามีการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537จนถึงวันที่ประมูลที่ดินได้เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน ผู้ร้องย่อมมีเวลาสามารถตรวจสอบที่ดินได้อย่างละเอียดถี่ ถ้วน การที่ผู้ร้องไม่ได้ทำการตรวจสอบสภาพที่ดิน ตำแหน่งที่ดินที่ขายทอดตลาด ให้ดีก่อนทำการประมูล จึงเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง เพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อ ไว้แล้วว่า เรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับรองและไม่รับผิดชอบ เป็นหน้าที่ ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง เช่นนี้ฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ ของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีผู้ร้องย่อมไม่อาจร้องขอให้ เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2846/2541
สำเนาเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ซึ่งโจทก์ใช้เป็นหลักฐานในการนำยึดที่ดินพิพาทและนำออกขายทอดตลาดไม่ปรากฏว่ามีรายการจำนอง เพราะจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารหลังการคัดสำเนา แต่เป็นเวลาก่อนนำยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทแบบไม่มีภาระผูกพัน ผู้ร้องประมูลซื้อได้ในราคาสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการ 3-7 เท่า โดยผู้ร้องไม่ทราบเรื่องที่ดินพิพาทติดจำนองมาก่อน และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินตามสำเนา น.ส.3 ก. โดยไม่ติดจำนองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์แล้วแม้การขายทอดตลาดนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 308 ให้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 กล่าวคือ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ต้องทำตามคำโฆษณาบอกขายและตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยไม่ติดจำนอง คำประกาศดังกล่าวย่อมผูกพันเฉพาะเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องไปตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทติดจำนองหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามสำเนา น.ส.3 ก. ซึ่งไม่มีรายการจดทะเบียนจำนอง เป็นการสั่งโดยผิดหลง และเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการบังคับคดีเมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจที่สั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคสอง ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ จะต้องเป็นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม การที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองจึงมิใช่ความสำคัญผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่ เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาดซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้ว ตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้อง จึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2539
เงินที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาลชั้นต้นในวันประมูลซื้อทรัพย์ได้นั้นเป็นเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์ใช้ราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา515เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วนับแต่วันที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาลแม้จำเลยจะยื่นคำร้องว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่ผลที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ซื้อทรัพย์แล้วเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ใช้ราคาทรัพย์ในวันที่วางเงินต่อศาลชั้นต้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อคดีไม่ถึงที่สุดเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่กลับมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4596/2539
การขายทอดตลาดแม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 509 เท่านั้น ประกอบกับมาตรา515 ได้บัญญัติให้ผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อการซื้อขายบริบูรณ์และในมาตรา 516 ยังได้บัญญัติต่อไปว่าถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดซ้ำอีก หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด แต่หากขายได้เงินจำนวนสุทธิสูงกว่าที่ผู้สู้ราคาเดิมได้ให้ราคาไว้ในชั้นเดิม ก็หาได้มีบทบัญญัติให้ต้องคืนเงินส่วนที่สูงกว่าดังกล่าวแก่ผู้สู้ราคาเดิมไม่ ฉะนั้นแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดได้เคาะไม้ในการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สู้ราคาแล้วแต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขายทอดตลาดอยู่ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2537 ทำให้ข้อโต้แย้งดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งผู้ร้องได้ชำระเงินครบถ้วนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าว เมื่อการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จบริบูรณ์ในวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ร้องทั้งสามเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533ผู้ร้องทั้งสามจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิได้ซึ่งผลประโยชน์อันเป็นดอกผลในที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2538
ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิการเช่าตึกแถวได้จากการขายทอดตลาดในราคา1,940,000บาทผู้ร้องได้ชำระราคาครบถ้วนในวันขายทอดตลาดและกรมบังคับได้มีหนังสือถึงศาลแพ่งให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้วแสดงว่าการซื้อขายเสร็จสิ้นลงแล้วคงอยู่ในระหว่างดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าเท่านั้นแต่จำเลยที่1ร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการบังคับคดีไว้เพื่อรอคำสั่งศาลและได้ให้ผู้ร้องรับเงินค่าซื้อสิทธิการเช่าตึกแถวคืนไปบางส่วนโดยเหลือเงินไว้ร้อยละ5ของราคาที่ซื้อได้คิดเป็นเงิน97,000บาทปรากฏว่าการขายทอดตลาดครั้งใหม่มีบุคคลอื่นประมูลได้ในราคา2,320,000บาทซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลได้กรณีไม่มีความเสียหายใดๆที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา516กรณีไม่มีความเสียหายใดๆที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา516กรมบังคับคดีจึงไม่มีสิทธิที่จะริบเงินจำนวนนี้จึงต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2537
การที่ ส. ผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่วางเงินมัดจำค่าซื้อทรัพย์ตามสัญญาจนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่งและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น ส. ผู้สู้ราคาเดิมจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 และการกระทำของ ส. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หาใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรืออำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของ ส. ถือได้ว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งผู้ร้องขอจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจะต้องมีคำพิพากษาของศาลให้ส. ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียก่อน ประกอบกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลในการที่จะบังคับคดีเท่านั้นไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ด้วยประการใด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของ ส.โดยไม่ต้องฟ้องส.เป็นคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7017/2537
ผู้คัดค้านได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินของลูกหนี้โดยกำหนดเงื่อนไขในการขายไว้ว่าผู้คัดค้านจะขานราคาครั้งแรกเป็นเงิน 11,400,000 บาท และผู้สู้ราคาจะต้องเสนอสู้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เมื่อผู้สู้ราคาเสนอสู้ราคาแล้วผู้คัดค้านจะขานราคาและนับ 1 สามสี่ครั้ง หากมีผู้สู้ให้ราคาสูงขึ้นก็จะขานราคาและนับ 1 สามสี่ครั้งใหม่ การขานราคาแต่ละครั้งผู้คัดค้านจะบันทึกราคาไว้เป็นหลักฐานแล้วอ่านให้ผู้สู้ราคาซื้อทรัพย์ฟังด้วย หากไม่มีผู้ใดสู้ราคาอีกก็จะนับ 2 สามสี่ครั้ง เพื่อรอให้มีการสู้ราคาสูงขึ้น ถ้าหากไม่มีผู้ใดสู้ราคาแล้ว ผู้คัดค้านจะหยุดราคาไว้แล้วนำเสนอผู้อำนวยการขายทอดตลาดพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะอนุมัติให้ขายหรือไม่ เมื่อมีคำสั่งประการใดผู้คัดค้านก็จะปฎิบัติตามคำสั่งนั้น ในกรณีมีคำสั่งอนุมัติให้ขายผู้คัดค้านจะนับ 3 และเคาะไม้โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการสู้ราคาต่อไปอีก เป็นคำโฆษณาบอกขายที่ผู้คัดค้านได้แถลงไว้ก่อน เผดิมการสู้ราคา ซึ่งมีผลผูกพันผู้ซื้อตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 เมื่อผู้คัดค้านเปิดประมูลการขายทอดตลอด ผู้เข้าสู้ราคาซื้อทรัพย์ได้เสนอราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้ทรัพย์เสนอราคาที่ 12,100,000 บาท ผู้คัดค้านได้ขานราคาและนับไปถึง 2 แล้ว ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดสู้ราคาให้สูงขึ้นไปอีกผู้คัดค้านจึงหยุดราคาไว้แล้วเสนอเรื่องให้ผู้อำนวยการขายทอดตลาดพิจารณา ระหว่างนี้ผู้ร้องได้เสนอราคาสูงขึ้นไปอีกเป็นเงิน 12,200,000 บาท แต่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมให้มีการสู้ราคาต่อไปและได้นับ 3 แล้วเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ตามที่ได้รับอนุมัติให้ขายจากผู้อำนวยการขายทอดตลาด เช่นนี้การกระทำของผู้คัดค้านจึงชอบกฎหมาย การที่ผู้ร้องได้เสนอสู้ราคาสูงขึ้นไปอีกในระหว่างนั้น เป็นการสู้ราคาเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ผู้คัดค้านได้โฆษณาเปิดโอกาสให้มีการสู้ราคาได้ การสู้ราคาดังกล่าวจึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่เป็นเหตุให้ต้องเปิดการประมูลสู้ราคากันต่อไปอีก เพราะมิฉะนั้นแล้วการขายทอดตลาดก็อาจจะยืดเยื้อออกไปไม่มีที่สิ้นสุด การขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลายหรือในคดีอื่น ๆผลปฎิบัติย่อมจะต้องเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือจะต้องขายให้เป็นผลดีทั้งแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้รวมตลอดถึงบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อมีการขายทอดตลาดไม่มีข้อโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด จึงไม่มีข้อที่จะยกขึ้นมาอ้างว่าการขายทอดตลาดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่จะยกมาเป็นเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2535
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 515 ผู้ซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ราคาเมื่อมีการตกลงซื้อขาย หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาการบอกขายหรือตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดเงื่อนไขในการขายไว้ด้านหลังประกาศขายทอดตลาดว่า เมื่อตกลงรับซื้อแล้วให้ผู้ซื้อวางเงินไว้ก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน และตามหนังสือสัญญาซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังที่ซื้อทรัพย์ได้แล้วก็ระบุว่า เงินส่วนที่เหลือจะนำมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ทำหนังสือสัญญานี้เป็นต้นไป ผู้ซื้อทรัพย์จึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านขอให้ทำการทอดตลาดใหม่ก็ตาม ผู้ซื้อทรัพย์ก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามกำหนด จะนำมาชำระภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2535
โจทก์ขอรับเงินที่วางไว้ในการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดครั้งก่อนคืน ซึ่งตามประกาศขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดเงื่อนไขในการขายว่า เมื่อตกลงรับซื้อ ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินทันที แต่ถ้าเป็นที่ดินหรือทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจให้ผู้ซื้อวางเงินก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาซื้อ และทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระกับค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ก็ได้ และตามรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงินมัดจำ ดังนี้ เงินที่โจทก์วางไว้ในการซื้อทรัพย์ครั้งก่อนเป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาค่าซื้อไม่ใช่เงินมัดจำ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ศาลจึงสั่งริบไม่ได้ และในการขายทอดตลาดครั้งหลังโจทก์ก็เป็นผู้ซื้อทรัพย์ในราคาเดิม โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นและชำระราคาครบถ้วนแล้ว กรณีไม่มีความเสียหายใด ๆจึงต้องคืนเงินที่โจทก์วางไว้ดังกล่าวทั้งหมด เหตุที่ต้องมีการขายทอดตลาดครั้งหลังเพราะโจทก์ไม่ชำระราคาภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงเป็นฝ่ายที่ทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้ดำเนินไปโดยไม่จำเป็น จึงต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2534
ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด และทำสัญญาซื้อขายไว้ จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาคือชำระเงินส่วนที่เหลือใน15 วัน นับแต่วันทำสัญญาต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงขอเลื่อนการวางเงินที่เหลือออกไปอีก การที่ศาลอนุญาตให้เลื่อนการวางเงินไปได้เพียง 7 วัน เป็นการขยายเวลาชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะกระทำได้ เพราะการขายทอดตลาดกระทำไปโดยคำสั่งของศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ไม่ยึดถือระยะเวลาเป็นสำคัญซึ่งนอกจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวแล้วยังมีคำสั่งต่อไปอีกว่าหากไม่ชำระให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับไปตามสัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องได้ทำไว้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ชำระเงินภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ขยายให้ไว้ผู้ร้องก็ได้ชื่อว่าผิดนัด หมดสิทธิที่จะซื้อทรัพย์พิพาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องริบเงินที่ผู้ร้องได้วางไว้โดยศาลชั้นต้นหาต้องมีคำสั่งว่าผู้ร้องผิดสัญญา และมีคำสั่งให้ริบเงินที่ผู้ร้องได้ชำระไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2534
การที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำร้องขอให้ศาลขยายเวลาการชำระเงินส่วนที่เหลือ และขอให้รับเงินไว้เป็นประกันความเสียหายเพียงส่วนหนึ่ง แล้วคืนเงินมัดจำบางส่วนที่ชำระไว้แล้วโดยอ้างว่าจำเลยกับพวกได้คัดค้านการขายทอดตลาดโดยขอให้เพิกถอนการขาย คดีอยู่ระหว่างพิจารณา นั้นเป็นการขอให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แม้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็อาจยังไม่เห็นสมควรเสนอรายงานขอให้ศาลแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เพราะข้อพิพาทเกี่ยวกับการขายทอดตลาดยังไม่ถึงที่สุด และยังไม่อาจทราบได้ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นกรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งให้งดการชำระราคาส่วนที่ขาดอยู่ไว้ก่อนได้ จนกว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับการขายทอดตลาดจะถึงที่สุด และหากเห็นสมควรจะสั่งให้คืนเงินมัดจำแก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปบางส่วนคงเหลือไว้เพียงบางส่วนก็ได้ แล้วส่งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามป.วิ.พ. มาตรา 292(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5242/2533
การขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาททุกครั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลสู้ราคาทราบก่อนขายทอดตลาดว่าเมื่อมีผู้ให้ราคาสูงสุดแล้วจะนับหนึ่งถึงสามก่อนเคาะไม้ตกลงขายแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้วิธีเสนอให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาตให้ขาย เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายจึงตกลงขายให้ หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตก็จะประกาศขายทอดตลาดใหม่ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้ให้ราคาสูงสุดแล้ว การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อมีผู้ให้ราคาสูงสุดก็ได้รายงานศาลเพื่อให้พิจารณาว่า สมควรขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุดหรือไม่ เมื่อไม่มีพฤติการณ์ส่อให้ศาลเห็นว่าการประมูลซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดรายนี้ เป็นการสมรู้กันกดราคาซื้อจึงมีคำสั่งอนุญาตขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ถือว่าการขายทอดตลาดเป็นอันสมบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 2 จะมาขอให้ยกเลิกการขายและขายทอดตลาดใหม่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2533
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนับหนึ่งถึงสองในการขายทอดตลาดแล้วเสนอรองอธิบดีเพื่อขอคำสั่งอนุมัติให้ขายตามราคาสูงสุดที่มีผู้ประมูลได้ ซึ่งหากมีคำสั่งประการใดก็ให้ถือว่าเป็นเด็ดขาดนั้น เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมบังคับคดี และโจทก์ก็ทราบคำสั่งนั้นแล้ว จึงเป็นคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่น ๆ ซึ่งผู้ขายทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการขายทรัพย์เฉพาะรายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 และแม้จะยังมิได้นับสามก็หาขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 83 ไม่ เพราะระเบียบดังกล่าวขึ้นต้นด้วยข้อความว่า "ตามปกติ" แสดงว่ามิได้บังคับตายตัว จึงอาจจะตกลงหรือปฏิบัติตามคำสั่งอันเป็นที่รับรู้กันแล้วได้ ดังนั้น เมื่อรองอธิบดีมีคำสั่งอนุมัติให้ขายแล้ว แม้โจทก์จะขอสู้ราคาโดยที่ยังไม่ทันได้นับสาม แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาตและได้นับสามพร้อมกับเคาะไม้ก็ตามก็เป็นการขายทอดตลาดที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2973/2532
 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้เมื่อผู้ร้องไปทำการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้ร้อง ผู้ร้องได้ชำระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรแสตมป์แก่เจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อประกาศขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ ผู้ร้องจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาด และมีสิทธิขอรับเงินที่ได้ชำระภาษีเงินได้คืนโดยให้หักจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ส่วนค่าอากรแสตมป์ได้กำหนดเงื่อนไขในการขายทอดตลาดให้ผู้ซื้อต้องเสียค่าธรรมเนียมเองและตามหนังสือที่ศาลชั้นต้นแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องก็ระบุว่าค่าอากรแสตมป์การขายให้เรียกเก็บจากผู้ร้อง ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าอากรแสตมป์คืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2532
 การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคาที่ดินที่โจทก์เป็นผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดได้ ทำให้ต้องประกาศขายทอดตลาดที่ดินนั้นใหม่อีกหลายครั้ง ในระหว่างนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ต้นลำใย บนที่ดินแปลงดังกล่าวทำให้ราคาที่ดินลดลง โจทก์ต้องรับผิดราคาที่ดินในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300/2531
การขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาล ผู้สู้ราคาจะพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป หรือเมื่อได้ถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้เข้าสู้ราคาเสนอราคาสูงสุด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแก่ผู้ร้อง การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ แม้จำเลยจะได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้ร้องไม่ต้องวางเงินส่วนที่ค้างชำระกับคืนเงินที่ผู้ร้องได้วางไว้ต่อศาลให้แก่ผู้ร้องนั้น ก็มีผลเพียงผู้ร้องยังไม่ต้องใช้ราคาค่าซื้อทรัพย์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดเท่านั้น หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องพ้นความผูกพันในราคาสูงสุดที่ตนสู้ไม่ต่อมาเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องต้องใช้ราคาที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมด เมื่อผู้ร้องละเลยเสียไม่ใช้ราคา จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดใหม่ ถ้าได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734 - 1735/2529
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ในอันที่จะรับชำระหนี้ยึดหรืออายัดยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาดจ่ายเงินตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้ามีเงินเหลือก็คืนให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเหตุนี้ในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจกำหนดให้ผู้สู้ราคาวางเงินสดเป็นประกันและจะริบหากผู้สู้ราคาสูงสุดไม่ชำระราคาได้และเมื่อได้ประกาศโฆษณาบอกขายให้ผู้ทอดตลาดทราบก่อนเผดิมการสู้ราคาว่าถ้าผู้ให้ราคาสูงสุดไม่ชำระราคาเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ขายแก่ผู้สู้ราคาต่ำคนถัดไปได้แล้วข้อกำหหนดดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้หาขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา516ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2523
อธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งว่า การรับเงินจากการขายทอดตลาดให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินในการที่จะรับเช็คส่วนบุคคลหรือไม่แม้ในการประกาศขายทอดตลาดจะกำหนดให้ชำระเป็นเงินสดก่อน 15 น. ก็ตามแต่ก็หาได้หมายความว่าจะต้องชำระเป็นธนบัตรเสมอไปเมื่อผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินใช้ดุลพินิจรับเช็คส่วนตัวของโจทก์ไว้ แม้เลยเวลา15 น. ไปบ้างและต่อมาก็ได้ชำระเงินแล้ว จึงเป็นการกระทำโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2526
        แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 บัญญัติเป็นหลักบังคับไว้ว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่ก็ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะจัดขายอสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไป รวมขายไปด้วยกันได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยสองแปลงรวมไปด้วยกัน หากจำเลยเห็นว่าควรแยกขายทีละแปลง จำเลยก็ชอบที่จะร้องคัดค้านไว้ตามมาตรา 309 วรรคท้าย จำเลยจะยกความข้อนี้เป็นเหตุคัดค้านเมื่อการขายทอดตลาดสำเร็จบริบูรณ์แล้วหาได้ไม่

การขายทอดตลาดครั้งก่อนผู้สู้ราคาสูงสุดไม่วางเงินค่าซื้อตามเงื่อนไข การขายทอดตลาด จึงประกาศขายใหม่ การขายทอดตลาดครั้งหลังแม้จะได้ราคาต่ำกว่าการขายครั้งก่อนก็ตาม ศาลก็อนุญาตให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุดในครั้งหลังได้ และถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะราคาส่วนที่ต่ำหรือขาดไปนี้ผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อนยังต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2514
        ในการขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อเอาเงินชำระค่าปรับฐานผิดสัญญาประกันมีทรัพย์ 3 รายการ รวมทั้งทรัพย์รายพิพาทด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้โฆษณาบอกขายเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าสู้ราคาได้โดยเปิดเผยแล้ว เวลาขายทรัพย์อีก 2 รายการนั้น มีผู้เข้าสู้ราคา 2-3 คน แต่เมื่อขายทรัพย์รายพิพาทมีผู้สู้ราคาเพียงคนเดียว เมื่อไม่มีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไปอีกแล้ว ผู้สู้ราคาคนเดียวนี้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้สู้ราคาสูงสุด ศาลย่อมอนุญาตให้ขายให้แก่ผู้สู้ราคานี้ได้เมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควรแล้ว แม้จะมีผู้สู้ราคาเพียงคนเดียวก็จะถือว่าการขายทอดตลาดทรัพย์รายพิพาทนี้ ไม่เป็นไปตามวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513, 514 หาได้ไม่