วิธีการเฉพาะการฝากเงิน

มาตรา ๖๗๒ ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบ
จำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น

มาตรา ๖๗๓ เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2553
การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไป โดยทุจริต เงินฝากในบัญชีของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลย ทั้งสอง จำเลยทั้งสองผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากประการใดก็ได้ คงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินตามที่โจทก์ทั้งสองฝากไว้เท่านั้น โดยไม่จำต้องคืนเงินจำนวนเดียวกับที่ฝากไว้ การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์

ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือประโยชน์ของประชาชนหรือ เป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม... เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ กับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2550
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบเป็นสมาชิกกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ โดยมีเงินฝากออมทรัพย์ฝากไว้กับกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ดังกล่าวรวมเป็นเงิน 8,443,700 บาท จึงเป็นสัญญาฝากเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งเงินคืนเป็นเงินอันเดียวกับที่รับฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิที่จะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ เงินที่ฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝาก ผู้รับฝากคงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนนั้นเท่านั้น เงินที่ฝากไว้และจำเลยยักยอกไปมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบ จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบตามมาตรา 420 จำเลยไม่มีความผูกพันเป็นหนี้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (2) โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบจึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7658/2549
ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับธนาคารจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลที่มาถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2545
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับธนาคารโจทก์ สัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับฝากให้จำเลยเพียงเท่าจำนวนเงินที่โจทก์รับฝากไว้จากจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 การที่พนักงานของโจทก์บันทึกรายการในบัญชีของจำเลยซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีสูงกว่าความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยอาศัยความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานโจทก์ เป็นการกระทำผิดสัญญาฝากทรัพย์ เงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2545
เงินฝากของลูกหนี้ที่ฝากไว้กับธนาคารผู้ร้องย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน ลูกหนี้มีสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้ ผู้ร้องคงมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 การส่งมอบสมุดเงินฝากจึงมิใช่เป็นการส่งมอบเงินฝากซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ สมุดเงินฝากเป็นเพียงหลักฐานการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากออกให้แก่ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีของผู้ฝาก สมุดเงินฝากจึงไม่อยู่ในลักษณะของสิทธิซึ่งมีตราสารข้อตกลงที่ลูกหนี้มอบสมุดเงินฝากให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ต่อผู้ร้องจึงไม่ใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2540
ญ. กับโจทก์ร่วมกันฝากเงินไว้แก่ธนาคารกรุงเทพกรรมสิทธิ์ในตัวเงินฝากย่อมตกเป็นของธนาคารกรุงเทพไปแล้วธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นการที่ญ. นำสมุดเงินฝากประจำมอบไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำเลยจึงมิใช่การจำนำเงินฝากและแม้ในสัญญาระหว่างญ. กับจำเลยจะมีข้อความว่า"จำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากนี้ไว้กับธนาคารกรุงไทย (เจ้าหนี้)เพื่อเป็นประกันหนี้ของหจก.ส. (ลูกหนี้)ต่อธนาคารนี้เป็นจำนวนเงิน1,000,000บาทบัญชีเงินฝากประจำ3เดือนจำนวนเงินในบัญชี1,0000,000บาท"ก็ตามลักษณะดังกล่าวก็หาใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา750บัญญัติไว้ไม่เพราะสมุดเงินฝากเป็นเพียงเอกสารหลักฐานแสดงถึงการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากให้ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีเงินฝากประจำของผู้ฝากและแสดงถึงการเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ระหว่างผู้ฝากกับธนาคารผู้รับฝากเท่านั้นจึงเป็นเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไปมิใช่สิทธิซึ่งมีตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและโอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ใช่สัญญาจำนำแต่การที่ญ. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในสมุดเงินฝากคนหนึ่งมอบสมุดเงินฝากให้จำเลยไว้ตามสัญญาเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1357ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากันกรณีจึงผูกพันและบังคับกันได้ในส่วนของญ. เพราะมิใช่สัญญาที่ขัดต่อกฎหมายจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบตามสัญญาที่จะยึดถือสมุดเงินฝากไว้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งจะขอให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากให้โจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2540
โจทก์ร่วมเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝากหรือจากการเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา672ว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนดังนั้นเงินที่ฝากไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นเงินของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของส. ในใบคำขอใช้บริการบัตรเอ.ที.เอ็ม.แล้วนำมายื่นต่อโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมออกบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ส่งมาให้ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท. แล้วจำเลยลักบัตรนั้นรวมทั้งซองบรรจุรหัสเพื่อใช้กับบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ในชื่อของส.ไปต่อจากนั้นจำเลยจึงได้นำบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าวไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่เป็นนายจ้างของจำเลยจากเครื่องฝาก-อัตโนมัติครั้งละ10,000บาทรวม16ครั้งการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264วรรคแรก,268วรรคแรก,335(11)วรรคสอง<

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2539
จำเลยฝากเงินไว้กับผู้ร้องเงินที่ฝากจึงตกเป็นของผู้ร้องผู้ร้องคงมีแต่หน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนการที่จำเลยทำสัญญาจำนำและมอบสมุดคู่ฝากเงินประจำไว้แก่ผู้ร้องก็เพียงเพื่อประกันหนี้ที่มีต่อผู้ร้องแม้จะยินยอมให้ผู้ร้องนำเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก็เป็นเรื่องความตกลงในการฝากเงินเพื่อเป็นประกันไม่เป็นการจำนำเงินฝากอีกทั้งสมุดคู่ฝากเงินประจำก็เป็นเพียงหลักฐานการรับฝากและถอนเงินที่ผู้ร้องออกให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีของจำเลยเท่านั้นไม่อยู่ในลักษณะของสิทธิซึ่งมีตราสารผู้ร้องจึงไม่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนำไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2534
ในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์จำเลย โจทก์รับเงินมาแล้วนำเข้าฝากธนาคารในบัญชีของจำเลยโดยมิได้นำมาลงบัญชีสมุดเงินสดรับเป็นเหตุให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเห็นว่าเงินขาดบัญชีไป จำเลยจึงได้ให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดบัญชี ซึ่งต่อมาจำเลยได้ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากโจทก์ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินนั้น แสดงว่าโจทก์ต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้ยังอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลย เงินดังกล่าวแม้จะตกเป็นของธนาคารแต่จำเลยในฐานะเจ้าของบัญชีก็มีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินนั้นให้แก่จำเลยเมื่อใดก็ได้ เมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่ฝากธนาคารไปจากโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเงินที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2511
ผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารมีนิติสัมพันธ์กันตามลักษณะฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 673 ผู้ฝากเงินจะถอนเงินคืนก่อนถึง เวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ และธนาคารผู้รับฝาก จะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกันแต่เมื่อผู้ฝากเงินตาย ธนาคาร มีหน้าที่ต้องคืนเงินนั้นให้แก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 665 วรรค 2
ธนาคารมีหน้าที่จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการอาชีวะของธนาคารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659
ผู้จัดการมรดกของผู้ฝากเงินตามคำพิพากษาของศาลของถอนเงินของผู้ฝากคืนจากธนาคาร ธนาคารขอผัดคืนเงินนั้นใน 1 เดือน เพื่อให้คดีขอตั้งผู้จัดการมรดกขาดอายุอุทธรณ์ โดยธนาคารมีเงินพร้อมที่จะคืนให้ถือได้ว่าธนาคารได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659เป็นการใช้ความระมัดระวังตามหน้าที่ สมควรแก่กรณีโดยสุจริต ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของของผู้จัดการมรดก จึงไม่เป็นการผิดสัญญาหรือเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาของศาลมีอำนาจจัดการมรดกได้ตามกฎหมาย คำพิพากษาตั้งผู้จัดการมรดกมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้นไม่ใช่คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล ไม่เข้าอยู่ในข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(1)(2)และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1),245,274 จึงไม่ผูกพันธนาคารผู้รับฝากเงินของเจ้ามรดกซึ่งเป็น บุคคลภายนอก