การจำนำ (บททั่วไป)

มาตรา ๗๔๗ อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา ๗๔๘ การจำนำนั้นย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ดอกเบี้ย
(๒) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
(๔) ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งจำนำ
(๕) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินจำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์

มาตรา ๗๔๙ คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้

มาตรา ๗๕๐ ถ้าทรัพย์สินที่จำนำเป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร และมิได้ส่งมอบตราสารนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ ทั้งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการจำนำแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยไซร้ ท่านว่าการจำนำย่อมเป็นโมฆะ

มาตรา ๗๕๑ ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้สลักหลังไว้ที่ตราสารให้ปรากฏการจำนำเช่นนั้น
อนึ่ง ในการนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งตราสาร

มาตรา ๗๕๒ ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลโดยนามและจะโอนกันด้วยสลักหลังไม่ได้ ท่านว่าต้องจดข้อความแสดงการจำนำไว้ให้ปรากฏในตราสารนั้นเอง และท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้แห่งตราสารหรือบุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้บอกกล่าวการจำนำนั้นให้ทราบถึงลูกหนี้แห่งตราสาร

มาตรา ๗๕๓ ถ้าจำนำใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บริษัทหรือบุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้จดลงทะเบียนการจำนำนั้นไว้ในสมุดของบริษัทตามบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ ๒๒ ว่าด้วยการโอนหุ้นหรือหุ้นกู้

มาตรา ๗๕๔ ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่งประกันไว้นั้นไซร้ท่านว่าลูกหนี้แห่งสิทธิต้องส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสิทธิให้แก่ผู้รับจำนำ และทรัพย์สินนั้นก็กลายเป็นของจำนำแทนสิทธิซึ่งจำนำ
ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นเป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงิน และถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่งประกันไว้นั้นไซร้ ท่านว่าต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับจำนำและผู้จำนำร่วมกัน ถ้าและเขาทั้งสองนั้นไม่ปรองดองตกลงกันได้ ท่านว่าแต่ละคนชอบที่จะเรียกให้วางเงินจำนวนนั้นไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน

มาตรา ๗๕๕ ถ้าจำนำสิทธิ ท่านห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไปหรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหายแก่ผู้รับจำนำโดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย

มาตรา ๗๕๖ การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา ๗๕๗ บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ ๑๓ นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548
จำเลยจำนำตั๋วแลกเงินเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงิน ไว้ในครอบครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 และ 766 นั้น เมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนด ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหัก ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน
ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระ หนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่ง จำนำออกขายทอดตลาดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่า ด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็น ประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าว บังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าว โดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋ว นี้ ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋ว แลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อย ลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้น หรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2545
เงินฝากของลูกหนี้ที่ฝากไว้กับธนาคารผู้ร้องย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน ลูกหนี้มีสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้ ผู้ร้องคงมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 การส่งมอบสมุดเงินฝากจึงมิใช่เป็นการส่งมอบเงินฝากซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ สมุดเงินฝากเป็นเพียงหลักฐานการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากออกให้แก่ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีของผู้ฝาก สมุดเงินฝากจึงไม่อยู่ในลักษณะของสิทธิซึ่งมีตราสารข้อตกลงที่ลูกหนี้มอบ สมุดเงินฝากให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ต่อผู้ร้องจึงไม่ใช่เป็นการ จำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2544
สัญญา จำนำเครื่องจักรระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านระบุว่า คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเป็นผู้รักษาเครื่องจักร แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่า เครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องจักรที่จำนำนั้น ช. เป็นผู้รักษาโดยลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด จึงเป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อย คำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนำยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จาก ทรัพย์สินจำนำเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำ เครื่องจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2544
เงินฝากตามบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่จำเลยฝากไว้กับผู้ร้องนั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องมาตั้งแต่มีการฝากเงินแล้ว จำเลยผู้ฝากคงมีเพียงสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้และผู้ร้องมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ขอถอนเท่านั้น จึงมิใช่การส่งมอบสังหาริมทรัพย์ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องตามลักษณะจำนำแต่ อย่างใด กรณีมิใช่จำนำเงินฝาก ส่วนสมุดคู่ฝากออมทรัพย์ที่จำเลยมอบไว้แก่ผู้ร้องก็เป็นเพียงการตกลงมอบ สิทธิที่จะได้รับเงินฝากคืนให้ไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของผู้กู้ทุกราย ทั้งสิทธิดังกล่าวก็เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างอันจะส่งมอบแก่กันได้ โดยเฉพาะไม่ใช่สิทธิซึ่งมีตราสารตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการจำนำสิทธิมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 ดังนั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยจำนำเงินฝากหรือจำนำสิทธิ ซึ่งมีตราสารไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจะอ้างบุริมสิทธิจำนำมาบังคับเหนือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการอายัดเงินฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2541
ความ ตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ต้องเป็นข้อยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ว่า หากสินค้าที่ธนาคารโจทก์ รับจำนำเกิดความชำรุด บุบสลาย เสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ว่าจะโดยเหตุใด ๆ โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดไม่มีข้อตกลงชัดเจนยกเว้นมิให้โจทก์รับผิดเพื่อกล ฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อกฎหมายสามารถใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าโกดังเก็บน้ำตาล ไม่ปรากฏว่าน้ำตาลที่จำนำไว้สูญหายไปเพราะโจทก์เป็นผู้เอาไป หรือโจทก์เป็นผู้กระทำ หรือมีส่วนกระทำ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้น้ำตาลสูญหายไป ทั้งตามข้อตกลงในการจำนำ โจทก์ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบุบสลายเสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมของน้ำตาล ที่จำนำ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2540
โจทก์ และญ.ได้นำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ไปฝากประจำไว้แก่ธนาคาร ก. โดยมีเงื่อนไขว่า การสั่งจ่ายเงินและปิดบัญชีโจทก์และ ญ. จะต้องลงชื่อร่วมกันและธนาคารก.ได้ออกสมุดคู่ฝากไว้ให้ ต่อมา ญ. ได้นำสมุดเงินฝากดังกล่าวไปจำนำสิทธิการถอนเงินฝากจากบัญชีไว้แก่ธนาคาร จำเลย เพื่อค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ที่มีต่อจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.10 ดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 การจำนำผู้จำนำจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ คดีนี้แม้ ญ. ส่งมอบสมุดเงินฝากให้แก่จำเลยไปแล้วก็ตามแต่เมื่อ ญ. กับโจทก์ได้ร่วมกันฝากเงินตามจำนวนในสมุดเงินฝากดังกล่าวไว้แก่ธนาคาร ก.กรรมสิทธิ์ในตัวเงินฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ก.ไปแล้วธนาคาร ก. คงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่ ญ. นำสมุดเงินฝากประจำดังกล่าวมอบให้ไว้แก่จำเลยจึงมิใช่การจำนำเงินฝาก และลักษณะของสัญญาเอกสารหมาย จ.10ดังกล่าวก็หาใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 บัญญัติไว้ไม่ เพราะสมุดเงินฝากดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารหลักฐานแสดงถึงการรับฝากและถอนเงิน ที่ผู้รับฝากให้ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีฝาก ประจำของผู้ฝาก และแสดงถึงการเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ระหว่างผู้ฝากกับธนาคารผู้รับฝากเท่านั้น จึงเป็นเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป มิใช่สิทธิซึ่งมีตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตาม แบบพิธีในกฎหมายและโอนกันได้ด้วยวิธีของตราสาร แม้เอกสารหมาย จ.10 จะไม่ใช่สัญญาจำนำ แต่การที่ ญ.ซึ่งเป็นผู้ฝากเงินตามสมุดเงินฝากที่พิพาทร่วมกับโจทก์ได้ทำสัญญาเอกสาร หมาย จ.10 ไว้แก่จำเลยและมอบสมุดเงินฝากให้จำเลยไว้ตามสัญญา ในเมื่อ ญ. เป็นเจ้าของร่วมในสมุดเงินฝากคนหนึ่งซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน กรณีจึงผูกพันและบังคับกันได้ในส่วนของ ญ. เพราะมิใช่สัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบตามสัญญาที่จะยึดถือสมุดเงินฝากไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งจะขอให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากให้โจทก์ ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2535
ทรัพย์ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทั้ง 7 รายการ เป็นของจำเลยจำเลยเพียงแต่มอบทรัพย์ดังกล่าวให้ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันเงิน กู้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากผู้ร้องเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระ หนี้ได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2528
จำเลยทำสัญญากับธนาคารผู้คัดค้านไว้ว่า จำเลยยอมมอบเงินฝากประจำของจำเลยพร้อมด้วยใบรับฝากไว้เป็นหลักประกันหนี้ของ จำเลยต่อธนาคารถ้าจำเลยผิดสัญญายอมให้ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินจากบัญชีเงิน ฝากดังกล่าวชำระหนี้ได้ทันที และตราบใดที่ธนาคารยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยจะไม่ถอนเงินฝาก และจะไม่กระทำการใดให้เป็นการเสื่อมสิทธิในหลักประกันหนังสือสัญญา ดังกล่าวเป็นการจำนำสิทธิตามตราสารใบรับฝากเงินประจำของจำเลย เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา747,750 ธนาคารผู้คัดค้าน เป็นผู้รับจำนำสิทธิตามตราสารนั้นจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสาม
สิทธิซึ่งจำนำตามตราสารใบรับฝากเงินเป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงินตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 754 วรรคสอง จำเลยได้ตกลงกับธนาคารผู้คัดค้านให้หักเงินฝากของจำเลยชำระหนี้ได้โดยไม่ ต้องนำไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนำธนาคารผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ หักเงินฝากประจำของจำเลยซึ่งจำนำต่อธนาคารไว้นั้นเอาชำระหนี้ธนาคารได้ใน ฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
ธนาคารผู้คัดค้านซึ่ง เป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่ก่อนพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 102 โดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของจำเลยและ สิทธิในการขอหักกลบลบหนี้ตามมาตรานี้ย่อมกระทำได้แม้จะเป็นเวลาหลังพิทักษ์ ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิ ขอเพิกถอนการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 115 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2527 ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697/2528
โจทก์(ผู้จำนำ)ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำได้เสมอตราบใดที่จำเลย(ผู้รับจำนำ)ยัง ไม่บังคับจำนำ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ถอนเพราะพ้นกำหนดตามสัญญาและไม่มีบท บัญญัติใดบัญญัติว่าถ้ายังไม่บังคับจำนำ ผู้จำนำมีสิทธิไถ่ถอนเมื่อพ้นกำหนดไถ่ถอนตามสัญญาแล้วนั้น เห็นว่าได้มีบทบัญญัติอยู่ว่า การตกลงก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระว่าถ้าไม่ชำระหนี้ให้ผู้รับจำนำเป็นเจ้าของ ทรัพย์สินที่จำนำหรือจัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติ ทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 756แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2527
ลูกหนี้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารผู้คัดค้าน โดยจำนำใบฝากเงินประจำเพื่อเป็นประกัน พร้อมกับทำหนังสือยินยอม ให้ผู้คัดค้านมีสิทธิหักเงินฝากประจำตามใบรับฝากนั้นชำระหนี้ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้ ก่อนมีการฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย 9 เดือนเศษ ผู้คัดค้านใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมหักเงินตาม ใบรับฝากเงินประจำชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีภายหลังที่ลูกหนี้ ถูกฟ้องล้มละลายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงของลูกหนี้ ซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ตลอดมาถึงวันหักเงินนั่นเอง การที่ลูกหนี้จำนำใบรับฝากเงินประจำ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ มีประกันก็มีเพียงสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคือใบรับฝาก ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 95 ซึ่งผู้คัดค้านมีแต่เพียง สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ใบรับฝากโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก เพื่อชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านได้ ทั้งเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิแก่ผู้รับจำนำ จัดการแก่ทรัพย์สินที่จำนำเป็นประการอื่น นอกจากบทบัญญัติทั้งหลาย ว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 756. ข้อตกลงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิหักเงินตามใบรับฝากไว้ชำระหนี้ได้ ถือได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการกระทำที่ลูกหนี้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบ เจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะเพิกถอนการใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก ที่ได้กระทำไปนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 การขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ตามใบรับฝากดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นกรณีนอกเหนือบทบัญญัติมาตรา 115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินการเป็นกรณีต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2516
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับเงิน 3,500 บาท ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยและให้จำเลยมอบปืนที่โจทก์จำนำไว้เป็นประกันคืนให้แก่ โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้ชำระเงินยืมคืนภายในกำหนดรวมทั้งดอกเบี้ยจำเลยยอมรับชำระหนี้จาก โจทก์แต่ขอคิดค่าดอกเบี้ยด้วย ดังนี้ ศาลย่อมพิพากษาตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยรับชำระเงิน 3,500บาท รวมทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดด้วยได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ดอกเบี้ยก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2513
การ จำนำเป็นการเอาทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้อาจแบ่งแยกการจำนำกับหนี้ที่เอา ทรัพย์เป็นประกันเป็นคนละส่วนได้ เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญโดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สิน ทั่วไปของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 หรือจะบังคับจำนำก็ได้ การจำนำมิได้ผูกพันผู้รับจำนำให้ต้องบังคับจำนำเฉพาะแต่ทางเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2522
โจทก์จำนำใบหุ้นกับธนาคารจำเลยประกันหนี้ของ บ. ต่อจำเลย บ. เป็นลูกหนี้คนภายนอกโดยจำเลยค้ำประกันจำเลยใช้หนี้ของ บ. แก่คนภายนอก บ. ย่อมตกเป็นลูกหนี้จำเลยในเงินที่จำเลยใช้แทนไปแล้วและที่จะต้องใช้แทนในภายหน้า จำนำใบหุ้นจึงยังผูกพันโจทก์อยู่โจทก์เรียกใบหุ้นคืนจากจำเลยไม่ได้
ข้อความในเอกสารจำนำใบหุ้นแสดงเจตนาแท้จริงชัดแจ้งอยู่แล้วไม่ต้องสืบพยานบุคคลตีความ