ค้ำประกัน (บททั่วไป)

มาตรา ๖๘๐ อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น


อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


มาตรา ๖๘๑ อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

 

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา ๖๙๙ จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้


สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น


หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน


มาตรา ๖๘๑/๑ ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ


มาตรา ๖๘๒ ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นได้

ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน


มาตรา ๖๘๓ อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย


มาตรา ๖๘๔ ผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ถ้าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้นั้นก่อนไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิดเพื่อใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเช่นนั้นไม่


มาตรา ๖๘๕ ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น


มาตรา ๖๘๕/๑  บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา ๖๘๑ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา ๖๙๔ มาตรา ๖๙๘ และมาตรา ๖๙๙ เป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563

คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)


เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้" ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)


เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2562

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์


แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2562

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6837/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นมีเพียงตามมาตรา 19 ที่บัญญัติถึงกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับว่า สิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กับมาตรา 20 ที่บัญญัติว่า กรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นตามที่บัญญัติในมาตรา 691 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 681/1 ที่กำหนดให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะไว้ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบกับผู้เช่าซื้ออย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันจึงยังคงใช้บังคับได้


ข้อความตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงออกถึงเจตนาจะให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับ และจำนวนค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าซื้อคงเหลือจากที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผ่อนชำระตามสัญญาเดิมและไม่มีการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนก่อนทำสัญญาใหม่ จึงเป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้นไม่ใช่เป็นการทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดชำระซึ่งเดิมกำหนด 72 งวด เป็น 84 งวด อันมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลย 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวกว่าเดิม มีลักษณะของการที่เจ้าหนี้ยอมขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงว่า หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ ... ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามมาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) นั้น เมื่อมาตรา 18, 19 และ 20 ไม่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กับทั้งมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังบัญญัติว่า ข้อตกลงที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แม้จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วย ดังนั้น การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเพราะเหตุผ่อนเวลา ส่วนที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันตามมาตรา 691 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น ก็มีผลเพียงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะเท่านั้น ข้อตกลงอื่นสามารถแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตามมาตรา 173 จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว


พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถาม และบอกกล่าวเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าไม่มารับตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าว จึงถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวได้ส่งถึงจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แม้หนังสือบอกกล่าวจะส่งไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง และเมื่อการเลิกสัญญาเช่าซื้อมีผลให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของ หรือเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 ก็มีผลให้ทรัพย์สินต้องกลับคืนสู่ความครอบครองของเจ้าของ ดังนั้นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของหรือการใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการไม่อาจส่งมอบวัตถุแห่งหนี้ จึงไม่ใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง อันจำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดจากเหตุบอกกล่าวเกินหกสิบวันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่มีสิทธิ และเป็นความเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยด้วยตามวรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2562

จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท ส. ผู้เช่า และตกลงว่า ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวในบรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้าพร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัท ส. หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามรถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562

เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม


จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4611/2562

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า "เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าว ภายหลังพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังเวลา 60 วัน เท่านั้น แต่หนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นหนี้ประธานหาใช่ค่าภาระติดพันอันเป็นหนี้อุปกรณ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 686 วรรคสอง ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2562

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง...ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง...แล้วแต่กรณี" ฉะนั้นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลนำเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างแพ้คดีก็เพื่อมุ่งที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยเร็วและทันที ไม่ต้องการให้มีกระบวนการบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นหรือให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวการชำระเงินให้ชักช้า หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์ทั้งสี่นำมาวางศาลนั้น เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารให้ไว้แก่ศาลว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 (นายจ้าง) ชำระเงินตามคำสั่งของจำเลยแล้ว หากนายจ้างไม่ชำระเงิน ธนาคารจะชำระแทน เช่นนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนายจ้างไม่ชำระเงิน ศาลต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ธนาคารชำระเงินนั้นก่อน โดยที่ธนาคารก็อาจมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดได้ หนังสือค้ำประกันของธนาคารในคดีนี้จึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2562

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ แม้ต่อมามี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ แต่ในมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ก็ยังคงบัญญัติไว้มีเนื้อความเช่นเดิม เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินบัญญัติให้จำเลยผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้คงสภาพดังเดิม และจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ โดยไม่ได้มีบทบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองจะเรียกเก็บเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้ แม้จำเลยกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธินำเงินค่าส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค แต่เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยเป็นผู้ครอบครองและเก็บรักษาเงินค่าส่วนกลาง กับนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความถูกต้องของบัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย จึงตกแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ในด้านรายรับ จำเลยบันทึกรายรับไม่ถูกต้อง จำเลยต้องนำเงินค่าบริการที่จัดเก็บล่วงหน้าไปรวมกับรายรับ คิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 62,539,739 บาท และจำเลยไม่ได้นำเงิน 90,900 บาท ที่เรียกเก็บจาก ส. บันทึกไว้ในรายรับ นอกจากนี้ จำเลยนำเงินค่าส่วนกลางไปฝากไว้ที่ธนาคาร แต่ไม่ได้นำดอกเบี้ยสะสม 1,009,696.88 บาท ไปบันทึกรายรับ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้แต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าส่วนกลางที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 เมื่อรวมทั้งหมดแล้วคิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 63,640,335.88 บาท ส่วนค่าส่วนกลางที่ยังเรียกเก็บไม่ได้อีก 17,970,672 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะเรียกให้จำเลยรับผิดชำระแทนไม่ได้ สำหรับเงินค่าส่วนกลาง 10,587,904.20 บาท ที่ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยร่วมออกสมทบ เนื่องจากจำเลยได้ใช้บริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมาตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งจำเลยและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก็ไม่มีข้อตกลงกันเช่นว่านั้น ส่วน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 ถึงมาตรา 50, 53 และมาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีและการบำรุงรักษาบริการสาธารณะ สำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ซื้อต่อเมื่อได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเงินในส่วนนี้ ในด้านรายจ่าย ค่าดูแลสวนสาธารณะและค่าซ่อมแซมสาธารณูปโภค เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้มีสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาบันทึกเป็นรายจ่ายไม่ได้ สำหรับค่าบำรุงรักษาสโมสร จำเลยนำอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำออกให้บุคคลภายนอกเช่าแต่ไม่ได้นำรายได้จากค่าเช่าสโมสรไปบันทึกเป็นรายรับ จึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสโมสรไปบันทึกเป็นรายจ่าย คงมีสิทธิเพียงนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณะ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานจัดเก็บขยะ กวาดถนน ค่ากระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายป้อมยามรักษาความปลอดภัยและสำนักงานโครงการรวมเป็นเงิน 22,341,467.67 บาท ไปหักออกจากเงินค่าส่วนกลางเท่านั้น จำเลยส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 10,637,319 บาท คงเหลือเงินค่าส่วนกลางที่จำเลยต้องส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 อีกจำนวน 30,661,549.21 บาท จำเลยจะปฏิเสธการส่งคืนโดยอ้างว่ามีข้อตกลงให้เรียกเก็บในลักษณะเหมาจ่ายหาได้ไม่ แต่จำเลยไม่ต้องส่งมอบเงินสมทบค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องจัดหาสถาบันการเงินมาทำสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือต้องรับผิดชอบชำระเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในอัตราร้อยละ 7 ของราคาก่อสร้างสาธารณูปโภคกลางของทางราชการให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคสองและมาตรา 44 วรรคสองตอนท้ายซึ่งประกาศใช้ภายหลังมาบังคับแก่จำเลยได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง ปรากฏว่า คอสะพานข้ามคลองรางใหญ่ทรุดตัวค่อนข้างมาก ทำให้พื้นถนนบริเวณคอสะพานกับพื้นสะพานมีระดับต่างกัน จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้คงสภาพการใช้งานได้โดยสะดวก จำเลยจึงต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงในส่วนนี้ เห็นสมควรกำหนดให้ 400,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมท่อระบายน้ำ จำเลยก่อสร้างไม่ถูกต้อง ทำให้ระบบระบายน้ำฝนออกจากถนนด้วยท่อระบายน้ำลงสู่คลองรางใหญ่ทำไม่ได้ตามโครงการจัดสรรที่จำเลยขออนุญาตไว้ จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเห็นสมควรกำหนดให้ 300,000 บาท สำหรับค่าซ่อมแซมถนน แม้ถนนจะทรุดตัวและมีระดับต่ำกว่าถนนประชาอุทิศ ส่วนหนึ่งเพราะถนนประชาอุทิศได้ปรับปรุงยกระดับให้สูงขึ้น ประกอบกับสภาพโดยทั่วไปของถนนยังอยู่ในสภาพดีและใช้สัญจรได้โดยสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม ส่วนค่าก่อสร้างผนังคอนกรีตทั้งสองด้านของถนน มิใช่ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดให้มีขึ้นและมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาตามโครงการจัดสรรที่ดิน โจทก์จะเรียกร้องหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144


อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94


โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230


สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป


การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562

จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้


ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2562

โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้


อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562

ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)


ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95


แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562

ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561

โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3)


กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561

การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2561

จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับ A โดยมีข้อสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาหลักทรัพย์ประกันการปฏิบัติงานโดยหนังสือค้ำประกันต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาตามที่กำหนดและต้องจัดทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก A หนังสือค้ำประกันที่ A กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหามาให้นั้นต้องมีข้อความสำคัญระบุว่า เมื่อธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันได้รับหนังสือเรียกร้องจาก A ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทันที อันเป็นการที่ต้องชำระเงินเพียงเพราะได้รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่จำต้องตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวได้เนื่องจากมีข้อความตอนต้นว่า ธนาคารตกลงรับรองและรับประกันต่อ A อย่างไม่มีเงื่อนไขและปราศจากสิทธิในการแก้ต่างหรือฟ้องแย้งใด ไม่ว่าในนามของธนาคารหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อความแสดงถึงการสละสิทธิในการต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้ง และการที่ A กำหนดรายละเอียดของหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหามาให้ A โดยธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันที่มีรายละเอียดดังกล่าวได้และจำเลยที่ 1 ทำคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันโดยมีข้อความที่รับกับข้อความตามหนังสือค้ำประกันที่ A ต้องการดังกล่าว รวมทั้งการที่หนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานที่โจทก์ออกไปตามข้อความที่ A ต้องการ แสดงว่าการที่ผู้ว่าจ้างต้องการหนังสือค้ำประกันที่มีข้อความเช่นนี้และการที่ธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสถาบันการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้างได้รับหลักประกันของสถาบันการเงินที่มั่นคง และเรียกร้องให้ชำระเงินได้รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาได้โดยเร็ว โดยไม่จำต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่ผู้รับจ้างและธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็สามารถว่ากล่าวกันต่างหากได้ ข้อตกลงนี้แม้จะมีลักษณะที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระเงินได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องค้ำประกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามทำข้อตกลงเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในลักษณะดังกล่าวและไม่เป็นการพ้นวิสัย เมื่อโจทก์จะต้องออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ต้องชำระตามหนังสือค้ำประกันเมื่อได้รับหนังสือเรียกร้องให้ชำระเงินจากธนาคาร ส. ในประเทศไทยโดยไม่มีสิทธิคัดค้านไม่ว่าด้วยประการใด โจทก์จึงกำหนดข้อสัญญาในคำขอของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันที่ระบุถึงการยอมให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน และจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะทักท้วงการจ่ายเงินของโจทก์ ทั้งจะต้องชดใช้เงินที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยเงื่อนไขในการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นพิจารณาเฉพาะการได้รับหนังสือเรียกร้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4


จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย และให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561

ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง


แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561

การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์


จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ


จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2561

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่... (1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์" เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ดังนั้นจะนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีทั่วไปมาใช้บังคับแก่การค้ำประกันกรณีลูกจ้างเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่ ณ. ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2561

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า "หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ... ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน." และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน


การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2561

สัญญาค้ำประกันการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งระบุว่า "...หาก ร. ผู้ต้องหา/จำเลย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หรือก่อให้นายประกันต้องถูกสั่งปรับในฐานะนายประกัน หรือการกระทำอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายประกัน ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบยอมใช้หนี้สินและค่าเสียหายอย่างใด ๆ นั้นทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ให้กับนายประกันทันที..." ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ต่อโจทก์ต่อเมื่อ ร. ไม่ชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 ที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2561

จำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญาและเขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย แต่ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2561

คดีนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าว่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 5 หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนภายในกำหนด สัญญานี้เป็นอันยกเลิกโดยปริยายทันที เมื่อปรากฏว่าถึงกำหนดชำระงานที่จำเลยที่ 1 ทำให้แก่จำเลยที่ 5 ชำรุดบกพร่อง ต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้ชำระเงินในวันที่ครบกำหนดตามใบวางบิล จึงถือว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงถูกยกเลิกไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 5 และเมื่อภายหลังจำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานแล้ว จำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายดังกล่าว มิได้เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442


จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561

ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย...และข้าพเจ้าทำสัญญานี้...ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน" และในข้อ 1 ระบุว่า "ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย...หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ...เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย..." กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2561

ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง โจทก์ในฐานะผู้รับโอนหนี้จากธนาคาร ด. มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทที่ทำกับธนาคาร ด. ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาสินเชื่อกับโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาร่วมใช้วงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 เคยได้รับจากธนาคาร ด. พร้อมกันนั้นได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและเปลี่ยนแปลงประเภทวงเงินสินเชื่อ โดยไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับและบังคับตามหนี้ใหม่ สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์


ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทระบุว่า "สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ให้ใช้บังคับโดยเอกเทศ ไม่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาระผูกพันของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเองที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนหรือหลังวันทำสัญญานี้ และให้มีผลผูกพันตลอดถึงกองมรดก ทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ก็ให้ใช้สัญญาฉบับนี้บังคับได้ด้วย" เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากธนาคาร ด. โดยชอบ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินสินเชื่อเดิมกับโจทก์มิใช่การทำสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเดิม จำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ทรัสต์รีซีทที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาสินเชื่อด้วย


โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 46 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์นั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด คดีนี้ ธนาคารโจทก์มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วง ๆ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดต่ำตามประกาศธนาคารโจทก์นับถัดจากวันฟ้องต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อัตราดังกล่าวก็จะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์พึงเรียกได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย แม้จำเลยดังกล่าวจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561

ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560

จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2560

ในการเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิเป็นหลักสำคัญการรับรู้รายได้และรายจ่ายคือ การนำรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นมาบันทึก หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจริงก็ต้องบันทึกเป็นรายได้ค้างรับหรือรายจ่ายค้างจ่าย โดยต้องนำไปรวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ดอกเบี้ยค้างรับเกิดขึ้นตามระยะเวลาที่ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไป โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้แม้ยังไม่ได้ดอกเบี้ย จะอ้างบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 ว่า เป็นดอกเบี้ยค้างรับเกินห้าปีย่อมขาดอายุความแล้วไม่ได้ โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้ หากโจทก์ไม่อาจได้รับชำระหนี้อย่างแน่นอนก็ชอบที่จะจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)


เนื่องจากธุรกิจบางประเภทอาจไม่เหมาะสมที่จะคำนวณรายได้และรายจ่ายตามมาตรา 65 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นธุรกิจเฉพาะ แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่องการใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วางแนวทางปฏิบัติในการคำนวณรายได้และรายจ่ายแตกต่างออกไปในรายละเอียด โดยข้อ 3.1 วรรคแรก "การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ... เว้นแต่รายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือนแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้" กรณีดังกล่าวใช้เฉพาะกิจการที่ระบุไว้ในข้อ 3.1 ข้างต้น แต่โจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ การค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไรและประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ย่อมไม่อาจรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


มาตรา 65 ทวิ "การคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอนให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน" โจทก์จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ให้แก่บริษัท ช. โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งมิใช่การประกอบธุรกิจตามปกติทั่วไปของผู้ทำการค้า เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทโจทก์ก็มุ่งหมายหาผลประโยชน์จากการประกอบการ กรณียังไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องผูกพันตนเข้าค้ำประกันหนี้ของบริษัทอื่นโดยไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินค่าบริการตามราคาตลาดในวันที่ให้บริการ เมื่อไม่มีข้อตกลงเป็นอื่น การจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินที่จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 โรงเรือนที่โจทก์ปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณค่าตอบแทนจากการค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย่อมถูกต้องแล้ว ทั้งการอ้างอิงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์อัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ก็เป็นตามราคาตลาดของการให้บริการดังกล่าว ชอบแล้ว


มาตรา 91/8 วรรคสอง "การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้" กรณีการปฏิบัติของโจทก์เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเป็นคนละกรณีกับอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับที่โจทก์ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้หรือบันทึกเป็นรายได้ไว้ต่ำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยสภาพโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาอยู่แล้ว จึงอ้างเกณฑ์เงินสดในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 51/16 (6) ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560

การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2560

เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่า ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อน จึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 และ 7 ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง


แม้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องหลังจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการและอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. นี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความข้อนี้สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2560

จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ให้แก่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งค่าจ้างที่แขวงการทางดังกล่าวจะชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เมื่อใด ทั้งแขวงการทางดังกล่าวก็ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวมาให้แก่โจทก์ แต่แขวงการทางหนองคายที่ 2 ส่งเงินจำนวน 2,403,558.82 บาท ไปยังศาลจังหวัดหนองคายตามคำสั่งอายัดเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จนถึงอายัดเงินดังกล่าวชั่วคราว การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกให้โจทก์แทนการชำระหนี้ เมื่อค่าจ้างงานที่โอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 322 และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดของโจทก์ตามมาตรา 482 (1) แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ผู้ค้ำประกันจำต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจขอให้เพิกถอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2782/2560

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประกาศข้อ 10 กำหนดว่าวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับจากประกาศดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดก็ได้ แต่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยไม่ได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะหากทำเช่นนั้นได้ นายจ้างก็สามารถฉวยโอกาสทวงถามเรียกร้องค้ำประกันให้ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเกินกว่า 60 เท่าดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายเต็มตามสัญญาหรือเกินกว่า 60 เท่า ตามกฎหมายจากผู้ค้ำประกันซึ่งอาจไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว เหมือนที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนซึ่งเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยก่อนที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันตามฟ้องตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องชอบด้วยเหตุและผลแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560

แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมดดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560

แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา


สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี


อนึ่ง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน


สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดเพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้


จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยมีข้อความว่า เพื่อเป็นการค้ำประกันความเสียหายหรือความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ค้ำประกันขอให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่เสียหายจริงแทนลูกจ้างจนหมดสิ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยกข้อกฎหมายใดๆ มากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่มีข้อความชัดแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดกรณีจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2559

วันที่ 3 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 250,000 บาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนด ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม


การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559

ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่


พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2559

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้แทนของกองทุน และมีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด เมื่อมีข้อบังคับของกองทุนโจทก์ว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุนที่กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทนตนได้แล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ จึงชอบด้วยกฎหมาย


สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง


ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัยอีกและไม่มีกรณีต้องรับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2559

หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2559

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 (ประกาศฉบับปัจจุบัน) ที่ออกโดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 10 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 กำหนดว่า ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศฉบับเดิมปี 2541 ที่ถูกยกเลิก ไม่ได้จำกัดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ ขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันนี้ ข้อ 10 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่นนี้ เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับ ข้อ 12 กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับปัจจุบันด้วย นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรับผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและประกาศดังกล่าวกำหนด


เมื่อประกาศฉบับปัจจุบันลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว โดยในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะต้องพิจารณาว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อนายจ้างเกิดมีขึ้นในวันใด หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดมีขึ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551อันเป็นวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนกรณีหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นตั้งแต่หรือหลังจากวันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะถูกจำกัดไว้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของลูกจ้างที่ได้รับ อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นการแน่นอน กรณีนี้จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษนี้ โดยให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น


แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดในการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ แต่เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขายทำให้สินค้าแต่ละรายการสูญหายไปเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลให้ไม่ทราบว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เกิดมีขึ้นในช่วงขณะประกาศฉบับใดมีผลบังคับใช้ การตีความใช้กฎหมายจำต้องกระทำไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน โดยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นประกาศฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้บังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15638/2558

ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15341/2558

แม้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ท. และบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแล้วก็ตาม แต่ในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว..." เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน แต่ในหนี้ส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อได้ความว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากส่วนที่เป็นต้นเงิน 12,299,632.50 บาท หาใช่เต็มจำนวน 44,820,878.50 บาท ตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ เมื่อส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท


จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัท ท. ลูกหนี้ชั้นต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558

คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2558

แม้ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ถ้าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท. ในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ บสท. สั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดปังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน ให้ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็วก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องได้รับโอนหนี้สินของลูกหนี้ทั้งสองซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคาร ท. เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ซึ่งผู้ร้องไม่มีหลักฐานแห่งหนี้มาแสดง โดยขอนำเสนอในชั้นไต่สวนคำร้อง ประกอบกับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่และเสรีภาพของลูกหนี้ทั้งสองโดยตรง อีกทั้งบทบัญญัติของมาตรา 58 วรรคสี่ ดังกล่าว มิได้บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด โดยห้ามมิให้ศาลไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง จึงสมควรที่ศาลจะทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดตามคำร้องก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยทันที ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย


พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "คดีล้มละลาย" หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย..." ซึ่งนอกจากคดีที่ฟ้องหรือร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้วยังหมายความรวมถึงการร้องขอให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันล้มละลายตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ด้วย ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 14 บัญญัติให้ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลายโดยกระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายตามมาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง...มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่กำหนดให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำสืบและการรับฟังพยานเอกสารไว้จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 90 และมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นให้คู่ความฝ่ายอื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และการอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น แต่ผู้ร้องนำสืบอ้างส่งเอกสารแห่งหนี้เป็นสำเนาเอกสารโดยมิได้ส่งสำเนาให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองก่อนวันสืบพยานและส่งต้นฉบับเอกสารต่อศาล ทั้งการที่ผู้ร้องแถลงต่อศาลว่าต้นฉบับเอกสารอยู่ที่เจ้าหนี้เดิม ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 93 (1) ถึง (3) ที่จะให้รับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับเอกสารได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13204/2558

จำเลยเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ บ. ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัท ค. ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ค. ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับ หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย


แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัท ค. ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13073/2558

เมื่อจำเลยทั้งสองขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ยอมรับคำขอของจำเลยทั้งสอง โดยเรียกค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจากจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน เมื่อได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมย่อมระงับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก และมาตรา 350 โจทก์ไม่อาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12851/2558

เมื่อบริษัท ธ. ผู้ให้เช่าซื้อตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของบริษัท ธ. ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้หาใช่เป็นการซื้อขายความไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องได้จากการขายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และฝ่ายจำเลยผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12711/2558

หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน หรือยังมีหนี้ประธานที่ผู้ให้กู้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ การที่โจทก์ฟ้อง บ. ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม แล้วทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจนศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมทำให้หนี้ประธานคือหนี้กู้ยืมระงับ เกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อหนี้กู้ยืมระงับ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์


(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2558)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558

ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี


ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2558

การที่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหนังสือปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นแล้วก็ตาม หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาของเจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์ที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ไม่มีผลทำให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้แต่อย่างใดเพราะหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12368/2558

โจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นข้อแพ้ชนะคดีโดยมิได้กำหนดว่าให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ทำการตรวจพิสูจน์โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ท้ากัน อันเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของคำท้า ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์อยู่เป็นเวลานานมาก จำเลยที่ 3 เพียงฝ่ายเดียวยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นสอบถามผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีหนังสือเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำท้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าและโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคำท้าเป็นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เพราะคำท้าของคู่ความนั้นจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ก็โดยคู่ความตกลงกันเท่านั้น จำเลยที่ 3 หาอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกคำท้าแต่ฝ่ายเดียวได้ไม่


แม้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐานแล้วส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ ก็หามีผลผูกพันถึงโจทก์ไม่ เพราะทนายโจทก์มอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์มารับทราบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการตรวจพิสูจน์เท่านั้น และกรณีตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นกิจการที่สำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายโจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจแถลงต่อศาลว่าจะคัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 หรือไม่ คำแถลงของผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนทุนทรัพย์ 4,828,975.63 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 จึงควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี


การที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในจำนวนทุนทรัพย์ 4,709,472.66 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอยู่เพียง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น จำนวนทุนทรัพย์ 4,209,472.66 บาท ที่จำเลยที่ 3 ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จึงเกิดจากการดำเนินคดีของโจทก์เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงเห็นสมควรให้โจทก์รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์


จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องในส่วนของคำท้าและหากศาลฎีกาเห็นว่า คำท้าของคู่ความเป็นไปโดยถูกต้องตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีหรือยกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12251/2558

สัญญาประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นมีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า... ขอทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่าใด ข้าพเจ้ายอมให้บังคับคดีเอาจากหลักประกันในคดีนี้ได้ทันที..." ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์แล้ว เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุในสัญญาประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามสัญญาประกันฉบับนี้จะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง หรือโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยและผู้ร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อคดียังอยู่ในระยะเวลาสิบปีที่โจทก์จะบังคับคดีได้ตามบทมาตราดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับหลักประกันคืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12164/2558

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. (เจ้าหนี้รายที่ 131) จำนวน 5,067,601,483.97 บาท ผู้ทำแผนของบริษัท พ. โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยขอถอนคำขอรับชำระหนี้บางส่วนคงเหลือหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. จำนวน 1,589,191,974.13 บาท ต่อมาวันที่ 5 และ 30 กันยายน 2544 ผู้บริหารแผนของจำเลยมีหนังสือถึงบริษัท พ. เพื่อขอหักกลบลบหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของบริษัท พ. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยในหนี้ดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่เนื่องจากบริษัท พ. โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยและยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จึงไม่อาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. ในมูลหนี้ค่าก่อสร้างค้างจ่ายและเงินทดรองจ่ายค้างจ่าย การคืนเงินค้ำประกันและมัดจำต่าง ๆ เงินชดเชยความเสียหายตามสัญญารับจ้างช่วงลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,389,191,974.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,388,831,921.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หนี้ของจำเลยจึงไม่มีข้อต่อสู้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้บริหารแผนของจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 16 มีนาคม 2547 ถึงผู้บริหารแผนของบริษัท พ. เพื่อขอหักกลบลบหนี้อีกครั้ง การแสดงเจตนาดังกล่าวจึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก ซึ่งคือ วันที่ 5 และ 30 กันยายน 2544 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 เป็นเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. ทั้งสิทธิเรียกร้องของจำเลยและบริษัท พ. ต่างเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. (วันที่ 12 มิถุนายน 2543) ผู้บริหารแผนของจำเลยจึงชอบที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/33 ได้ ดังนั้น มูลหนี้ของบริษัท พ. จึงหมดสิ้นไปตั้งแต่วันที่แจ้งหักกลบลบหนี้ครั้งแรก เมื่อบริษัท พ. ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยการหักกลบลบหนี้ไปแล้ว บริษัท พ. จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ดังกล่าวที่จะทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และโอนสิทธิเรียกร้องนั้นให้แก่โจทก์ต่อไป การที่จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่บริษัท พ. จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ


ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558

แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง


ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้


ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2558

การที่ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 7 ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ซึ่งมีผลต่อผู้ค้ำประกันด้วย เมื่อสัญญากู้ยืมเงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


ผู้ร้องมีหนังสือให้ลูกหนี้ที่ 7 มาปรับโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรก ลูกหนี้ที่ 7 ได้รับหนังสือ ครั้งที่ 2 ลูกหนี้ที่ 7 ไม่มารับหนังสือภายในกำหนด ผู้ร้องจึงประกาศหนังสือพิมพ์แทน แต่ลูกหนี้ที่ 7 มิได้มาติดต่อกับเจ้าหนี้แต่ประการใด จึงถือว่าลูกหนี้ที่ 7 ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่เจ้าหนี้สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนที่ลูกหนี้ที่ 7 ยื่นคำคัดค้านต่อสู้ว่า ตนเองมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้นั้น ก็มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าตนเองมีทรัพย์สินใดบ้างพอชำระหนี้หรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ตามที่ลูกหนี้ที่ 7 อ้าง กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 7 ล้มละลาย แต่ลูกหนี้ที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 7 เด็ดขาดตามที่ผู้ร้องขอมาในอุทธรณ์ไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ 7 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 และมาตรา 84


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10095/2558

สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ถึงแม้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด การที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอลดวงเงิน แสดงว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เดิมย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องคือนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2543 และวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ตามลำดับ เมื่อต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ว่า เพียง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง 268,157,036.43 บาท ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 3 ผู้ค้ำประกันด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 และมาตรา 193/14 ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผู้ร้องนำสิทธิเรียกร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้วันที่ 8 มิถุนายน 2553 คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9928/2558

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย" ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวย่อมมีผลเฉพาะบริษัทดังกล่าวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผน ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นไปด้วยไม่ เนื่องจากแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวตามแผนซึ่งเมื่อพิจารณาตามมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่นำมาชำระหนี้ทำให้หนี้ลดลงไปได้บางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยผู้ค้ำประกันย่อมระงับไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน จำเลยจึงต้องมีความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือตามฟ้องให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท


จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และหลังจากนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยและสาขาธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างในส่วนนี้ได้ว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้อง และไม่มีพฤติการณ์อย่างอื่นที่แสดงว่ามีเหตุอื่นที่จำเลยไม่ควรล้มละลายแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7365/2558

ตามคำฟ้องกล่าวว่าโจทก์รับ ร. เข้าทำงานและทำงานในตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการสาขาย่อยลำปาง มีหน้าที่บริหารงานสาขา รับผิดชอบรายรับ รับจ่าย ขายกรมธรรม์ประกันภัยและรับเงินค่าเบี้ยประกันเพื่อนำเข้าบัญชีของโจทก์ ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของ ร. ต่อโจทก์ หาก ร. ก่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยยอมผูกพันร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยไม่จำกัดจำนวน ระหว่างเดือนมกราคม 2540 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ร. ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัย 1,394,118 บาท แล้วยักยอกเงินดังกล่าวพร้อมกับเงินที่โจทก์โอนมาสาขาย่อยลำปางเพื่อทดรองจ่าย 43,774 บาท รวมเป็นเงิน 1,437,892 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับกรณี ร. ผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของ ร. จะยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาต่อสู้คดีหาได้ไม่และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้ค้ำประกันกฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2552

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกัน นั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง


โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้น อุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จ จริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วน นี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขได้ตามมาตรา 142 (5)


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไปเพื่อให้ เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความ ลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุก กรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ประกอบกับหนังสือค้ำประกันระบุว่า ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับ ลูกหนี้ชั้นต้น และให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งมีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2551

ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้กรมศุลกากรโจทก์ทำให้หนี้ค่า อากรและเงินเพิ่มระงับลงบางส่วน แม้ธนาคารจะรับช่วงสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 693 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229 (3) แต่เมื่อเงินที่ธนาคารชำระยังไม่คุ้มค่าอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาดจากจำเลยในฐานะ ลูกหนี้ชั้นต้นได้


โจทก์เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันล่าช้า แต่เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาตรา 19 ตรี มิได้กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญา ค้ำประกันการไม่ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มของผู้นำเข้าตามมาตรา 19 ทวิ จึงมึอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551

เจ้าหนี้และลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229, 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ในคดีแพ่ง ก็คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดหนี้ไปเท่านั้น ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ดังนั้น หากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป และมิใช่กรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่ เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 101 เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2551

จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัด ส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษา ดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2550

ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งสมัครเข้าทำงานในบริษัทโจทก์ตามใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่จำเลยที่ 2 ระบุในสัญญาค้ำประกันข้อ 1 แม้ว่าสัญญาค้ำประกันข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมและตกลงด้วยว่าหากโจทก์โยกย้าย แต่งตั้ง สับเปลี่ยน หรือถอดถอนจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทในเครือหรือสำนักงานสาขาแห่งใดให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันนี้มีผลบังคับได้เช่นเดิมตลอดไป ก็มีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น เมื่อโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปทำหน้าที่พนักงานขาย อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2550

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ตามที่โจทก์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ขอสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะกระทำการดังที่ระบุไว้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันจะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ หนี้จึงเกิดขึ้นตามที่จำเลยที่ 2 ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2550

หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาที่จำเลยสัญญาว่าหาก ส. หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อ ส. ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550

ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน

ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2550

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ตามที่โจทก์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ขอสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะกระทำการดังที่ระบุไว้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันจะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ หนี้จึงเกิดขึ้นตามที่จำเลยที่ 2 ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549

โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2549

สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำให้ไว้แก่จำเลย ข้อ (1) ระบุว่า "ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป..." สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีต่อจำเลย การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2548

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ ระบุว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันหนี้ของบริษัท ศ. ไม่ว่าหนี้นั้นมีอยู่แล้วขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่ธนาคาร ก. ซึ่งโอนขายสินเชื่อให้โจทก์ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่บริษัท ศ. เป็นหนี้ธนาคาร ก. ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท และไม่ว่าขณะก่อนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัพสต์รีซีท จำเลยที่ 2 จะได้รู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็มีผลผูกพันบังคับกันได้ และมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมเพื่อประกันความรับผิดในหนี้ของบริษัท ศ. ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งย่อมมีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2548

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ จำเลยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ภ. วันใดย่อมหมายถึงจำเลยยอมค้ำประกันการทำงานของ ภ. นับแต่วันที่ทำสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นต้นไป มิใช่หมายความถึงยอมค้ำประกันหนี้ที่ ภ. เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วก่อนหน้าวันที่จำเลยตกลงยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นการขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกันก็ต้องระบุไว้ให้ชัดเจน เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นแล้วก่อนวันทำสัญญา แต่หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2548

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ ระบุว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันหนี้ของบริษัท ศ. ไม่ว่าหนี้นั้นมีอยู่แล้วขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่ธนาคาร ก. ซึ่งโอนขายสินเชื่อให้โจทก์ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่บริษัท ศ. เป็นหนี้ธนาคาร ก. ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท และไม่ว่าขณะก่อนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัพสต์รีซีท จำเลยที่ 2 จะได้รู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็มีผลผูกพันบังคับกันได้ และมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมเพื่อประกันความรับผิดในหนี้ของบริษัท ศ. ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งย่อมมีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5242/2547

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบและโจทก์บังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 แล้วไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จึงหาจำต้องระบุว่าหากบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 อีกด้วยไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369/2547

จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ อ. ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่า ตามที่โจทก์ตกลงรับ อ. เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย หาก อ. ได้ก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นแก่โจทก์หรือกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยยินยอมรับผิดชอบชดใช้หนี้สินและค่าเสียหายทั้งหมดที่ อ. ได้ก่อขึ้นโดยจะไม่อ้างเหตุผลใด ๆ มาปัดความรับผิดชอบเป็นอันขาด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อความจำกัดว่าเป็นการค้ำประกันเฉพาะในตำแหน่งพนักงานขายและไม่มีกำหนดเวลาก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยค้ำประกันการทำงานของ อ. ในตำแหน่งพนักงานขายเท่านั้น เมื่อโจทก์เลื่อนตำแหน่งให้ อ. เป็นผู้จัดการสาขาอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยมากขึ้นโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายที่ อ. ได้กระทำขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาของโจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2545 จำเลยทำสัญญาค้ำประกันระบุข้อความว่า "ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันบริษัท ท. จำกัด ต่อกรมสรรพากรเป็นเงินไม่เกิน 2,097,425 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่ม" ตามข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยค้ำประกันหนี้ค่าภาษีอากรส่วนหนึ่งไม่เกินจำนวน 2,097,425 บาท กับเงินเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง หาใช่ค้ำประกันหนี้ค่าภาษีรวมกับเงินเพิ่มไม่เกินจำนวน 2,097,425 บาท ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2544

สัญญาค้ำประกันและจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสองบัญญัติว่าหนี้ในอนาคตก็ประกันได้ และมาตรา 707 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ครั้งที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินครั้งที่ 3 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2541

ข้อความในเอกสารซึ่งมีความหมายว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ขอรับรองจำเลยที่ 1 ว่ามีฐานะสมควรที่จะเป็นผู้จำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชำระแทนนั้น เป็นเอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ในอนาคตและเป็นการค้ำประกันไม่จำกัดจำนวนต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2515

การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ในฐานที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้แพ้คดีแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 นั้น จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันจะอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ทวงถามก่อนฟ้อง ขึ้นเป็นข้อยกเว้นความรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 684 หาได้ไม่