การรับรองตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๒๗ อันตั๋วแลกเงินนั้นจะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย ณ ที่อยู่ของผู้จ่าย เพื่อให้รับรองเมื่อไร ๆ ก็ได้ จนกว่าจะถึงเวลากำหนดใช้เงินและผู้ทรงจะเป็นผู้ยื่นหรือเพียงแต่ผู้ที่ได้ตั๋วนั้นไว้ในครอบครองจะเป็นผู้นำไปยื่นก็ได้
ในตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่าให้นำยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้
ผู้สั่งจ่ายจะห้ามการนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อรับรองก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นตั๋วเงินอันได้ออกสั่งให้ใช้เงินเฉพาะ ณ สถานที่อื่นใดอันมิใช่ภูมิลำเนาของผู้จ่าย หรือได้ออกสั่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น
อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่ายังมิให้นำตั๋วยื่นเพื่อให้รับรองก่อนถึงกำหนดวันใดวันหนึ่งก็ได้
ผู้สลักหลังทุกคนจะลงข้อกำหนดไว้ว่า ให้นำตั๋วเงินยื่นเพื่อรับรอง โดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ห้ามการรับรอง

มาตรา ๙๒๘ ผู้ทรงตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็นนั้น ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้

มาตรา ๙๒๙ ภายในบังคับบทบัญญัติมาตรา ๙๒๗ ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิที่จะยื่นตั๋วเงินแก่ผู้จ่ายได้ในทันใดเพื่อให้รับรอง ถ้าและเขาไม่รับรองภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงไซร้ ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน

มาตรา ๙๓๐ ในการยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองนั้น ผู้ทรงไม่จำต้องปล่อยตั๋วนั้นให้ไว้ในมือผู้จ่าย
อนึ่ง ผู้จ่ายจะเรียกให้ยื่นตั๋วแลกเงินแก่ตนอีกเป็นครั้งที่สองในวันรุ่งขึ้นแต่วันที่ยื่นครั้งแรกนั้นก็ได้ ท่านห้ามมิให้คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียยกเอาการที่มิได้อนุวัตตามคำเรียกอันนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่การเรียกนั้นได้ระบุไว้ในคำคัดค้าน

มาตรา ๙๓๑ การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า “รับรองแล้ว” หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

มาตรา ๙๓๒ ตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ก็ดี หรือตั๋วเงินฉบับใดสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น แต่หากคำรับรองตั๋วนั้นมิได้ลงวันไว้ก็ดีตั๋วแลกเงินเช่นว่ามานี้ ท่านว่าผู้ทรงจะจดวันออกตั๋วหรือวันรับรองลงตามที่แท้จริงก็ได้ แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้น
อนึ่ง ท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริตแต่ลงวันคลาดเคลื่อนไปด้วยสำคัญผิด และในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตั๋วเงินจะเสียไปเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้ และพึงใช้เงินกันเสมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง

มาตรา ๙๓๓ ถ้าการรับรองมิได้ลงวัน ท่านให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอันกำหนดไว้เพื่อรับรองนั้นเป็นวันรับรอง

มาตรา ๙๓๔ ถ้าผู้จ่ายเขียนคำรับรองลงในตั๋วแลกเงินแล้ว แต่หากกลับขีดฆ่าเสียก่อนตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นไปจากมือตนไซร้ ท่านให้ถือเป็นอันว่าได้บอกปัดไม่รับรอง แต่ถ้าผู้จ่ายได้แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ทรง หรือคู่สัญญาฝ่ายอื่นซึ่งได้ลงนามในตั๋วเงินว่าตนรับรองตั๋วเงินนั้นก่อนแล้ว จึงมาขีดฆ่าคำรับรองต่อภายหลังไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายก็คงต้องผูกพันอยู่ตามเนื้อความที่ตนได้เขียนรับรองนั้นเอง

มาตรา ๙๓๕ อันการรับรองนั้นย่อมมีได้สองสถาน คือรับรองตลอดไป หรือรับรองเบี่ยงบ่าย
การรับรองตลอดไป คือยอมตกลงโดยไม่แก้แย้งคำสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย
ส่วนการรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น กล่าวเป็นเนื้อความทำผลแห่งตั๋วเงินให้แผกไปจากที่เขียนสั่งไว้
กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า ถ้าคำรับรองมีเงื่อนไขก็ดี หรือรับรองแต่เพียงบางส่วนก็ดีท่านว่าเป็นรับรองเบี่ยงบ่าย

มาตรา ๙๓๖ คำรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะบอกปัดเสียก็ได้ และถ้าไม่ได้คำรับรองอันไม่เบี่ยงบ่าย จะถือเอาว่าตั๋วเงินนั้นเป็นอันขาดความเชื่อถือรับรองก็ได้
ถ้าผู้ทรงรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย และผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังมิได้ให้อำนาจแก่ผู้ทรงโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้รับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่ายเช่นนั้นก็ดี หรือไม่ยินยอมด้วยในภายหลังก็ดี ท่านว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้น ๆ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วเงินนั้นแต่บทบัญญัติทั้งนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการรับรองแต่บางส่วนซึ่งได้บอกกล่าวก่อนแล้วโดยชอบ
ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วเงินรับคำบอกกล่าวการรับรองเบี่ยงบ่ายแล้วไม่โต้แย้งไปยังผู้ทรงภายในเวลาอันสมควร ท่านให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นเป็นอันได้ยินยอมด้วยกับการนั้นแล้ว

มาตรา ๙๓๗ ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6054/2550
การที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วแลกเงินจึงเป็นผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 927 ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตาม มาตรา 937 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 967 วรรคสาม ดังนั้นเมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ ไปแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะได้สละประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงิน คืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่า เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2536
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นหนี้เงินกู้และจากการเอาเช็คแลก เงินสด เมื่อไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้โจทก์ย่อมทวงถามให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็คที่จำเลยมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ภาย หลังจากวันที่โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำการโดยสุจริตจดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2538
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้จ่ายและได้รับรองตั๋วแลกเงินอันต้องผูกพันจ่ายเงินตามเนื้อ ความแห่งคำรับรองของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา937ย่อมอยู่ในฐานะ ลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินลูกหนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนเจ้าหนี้ตามมาตรา967วรรคสาม เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ลูกหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2536
ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมมีความผูกพันเป็นอย่างเดียวกับลูกหนี้ซึ่งเป็น ผู้ออกตั๋ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 940 วรรคแรก การฟ้องให้ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดจึงต้องฟ้องภายใน 3 ปี นับแต่วันตั๋วถึงกำหนด ตามมาตรา 1001 ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่ได้ระบุเวลาใช้เงิน ต้องถือว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 984 วรรคสองซึ่งกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดดังกล่าวต้องเป็นไปตามบท บัญญัติว่าด้วยกำหนดใช้เงินของตั๋วแลกเงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 กล่าวคือในวันเมื่อยื่นตั๋ว แต่ทั้งนี้ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้ รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น สำหรับกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรอง ตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 928 ว่า ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือ ภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้ แสดงว่าผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงิน เมื่อได้เห็นอาจนำตั๋วยื่นให้ผู้ออกตั๋วใช้เงินได้ตั้งแต่วันออกตั๋วซึ่งก็ คือวันที่ลงในตั๋วแต่จะยื่นให้ใช้เงินภายหลังพ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วไม่ได้ กำหนดเวลาใช้เงินตามตั๋ว สัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็นจึงมีได้ตั้งแต่วันที่คงในตั๋วจนถึง วันครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋ว อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจยื่นให้ใช้เงินได้ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะมีการยื่นตั๋ว ให้ใช้เงินวันใด ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทลงวันที่ 31 มกราคม 2520 เมื่อครบกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2520ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนำตั๋วไปยื่นให้ ใช้เงิน จึงต้องถือว่าวันที่ 31 กรกฎาคม 2520 อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจบังคับให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ เป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท กำหนดอายุความ 3 ปี ตามาตรา 1001 ต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเมื่อผู้คัดค้านเพิ่งใช้สิทธิของลูกหนี้เรียก ร้องให้ผู้ร้องใช้เงินเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2530 จึงขาดอายุความตามมาตรา 1001ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2532
การที่โจทก์ซึ่ง เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัล ใช้เงินตาม ตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินได้ เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 944 และมาตรา 985 วรรคแรก ที่ผู้ทรงจะต้อง นำตั๋ว ยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2530
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ค. ได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยจ่ายเงินแก่ธนาคาร ฮ.ซึ่งเป็นธนาคารตัวแทนของบริษัทค.และเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงิน ธนาคาร ฮ. สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคาร ก. ดำเนินการแทนโดยธนาคาร ก. ได้จัดการให้จำเลยรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ยอมชำระเงินแก่ธนาคาร ก. บริษัท ค. มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดตามเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วแลกเงินธนาคาร ก. จึงสลักหลังตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ในฐานะจัดการแทน การสลักหลังของธนาคาร ก. เป็นการสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 925 โจทก์ผู้รับสลักหลังจึงเป็นตัวแทนของบริษัท ค. ซึ่งเป็นตัวการ ดังนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้เดิม โจทก์บรรยายฟ้องว่า "ธนาคาร ฮ. ได้สลักหลังให้ธนาคาร ก. ดำเนินการแทน" ต่อมาโจทก์แก้ฟ้องเป็นว่า"บริษัท ค. ได้มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการแทน" คำฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม รายการในตั๋วแลกเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 909(3) ระบุเพียงว่า"ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย" จะถือว่าต้องมีข้อความระบุว่า "ผู้จ่าย"ด้วยไม่ได้และมาตรา 909(8) ระบุเพียงว่า "ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย"ไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า "ผู้สั่งจ่าย" ด้วย เมื่อธนาคาร ฮ. ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงิน ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคาร ก. จัดการแทน และธนาคาร ก. สลักหลังต่อไปยังโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋ว นั้นย่อมได้ทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงิน และฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง จำเลยมีชื่อ ในตั๋วแลกเงิน และยังมีตรา บริษัท และลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งด้วย อันหมายความถึงการรับรองตั๋วแลกเงิน จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2523
โจทก์ ออกตั๋วแลกเงินสั่งสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือตามคำสั่ง โดยสาขาธนาคารของจำเลยที่ 3 ผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วแลกเงินใต้ข้อความว่า 'เป็นอาวัลค้ำประกันผู้สั่งจ่าย' ต้องถือว่าการลงลายมือชื่อของสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นอาวัล และผู้จ่ายเป็นผู้รับอาวัลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 938 วรรคสองตอนสุดท้าย
มาตรา 939 วรรคสามที่บัญญัติว่า 'อนึ่งเพียงแต่ลงลงลายมือชื่อผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย' นั้นหมายความว่า ถ้าผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วเงินอย่างเดียวโดยไม่มีถ้อยคำสำนวน ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง กฎหมายจึงไม่ให้ถือว่าเป็นคำรับอาวัล เพราะการลงลายมือชื่อดังกล่าวเป็นการรับรองการจ่ายเงินตามมาตรา 931 อยู่แล้ว หากมาตรา939 วรรคสามไม่ยกเว้นไว้ก็จะเป็นทั้งคำรับรองการจ่ายเงินและคำรับอาวัลซ้ำกัน ไม่อาจทราบได้ว่าลงลายมือชื่อในฐานะใด
สาขาธนาคาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลต้องบังคับตามมาตรา 940 คือจำเลยที่ 3 มีความผูกพันอย่างเดียวกับโจทก์ผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งสาขาของตนรับอาวัลจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมาย โจทก์ผู้สั่งจ่ายไม่มีอำนาจสั่งห้ามจำเลยที่ 3 จ่ายเงิน
อำนาจสั่งห้ามตามมาตรา 992 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องเช็คโดยเฉพาะจะนำมาใช้กับตั๋วแลกเงินไม่ได้