ความรับผิดในการรอนสิทธิ

มาตรา ๔๗๕  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

มาตรา ๔๗๖  ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด

มาตรา ๔๗๗  เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอก ผู้ซื้อชอบที่จะขอให้ศาลเรียกผู้ขายเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ซื้อในคดีนั้นได้ เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน

มาตรา ๔๗๘  ถ้าผู้ขายเห็นเป็นการสมควร จะสอดเข้าไปในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของบุคคลภายนอก ก็ชอบที่จะทำได้ด้วย

มาตรา ๔๗๙  ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

มาตรา ๔๘๐  ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องศาลแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภาระจำยอมโดยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นไว้แต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่าทรัพย์สินนั้นปลอดจากภาระจำยอมอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น หรือปลอดจากภาระจำยอมอันนั้น

มาตรา ๔๘๑  ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

มาตรา ๔๘๒  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

(๑) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง หรือ

(๒) ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามาคดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ หรือ

(๓) ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้ซื้อเอง

แต่ถึงกรณีจะเป็นอย่างไรก็ดี ถ้าผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีและไม่ยอมเข้าว่าคดีร่วมเป็นจำเลยหรือร่วมเป็นโจทก์กับผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ขายคงต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2559
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่ ม. เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่า ม. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของ ม. เพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนในการฟ้องคดี โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดได้

โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ที่ 1 หนังสือมอบอำนาจ ย. ผู้ว่าการของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ม. อันเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2558
ส. บิดาโจทก์เช่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และ ส. อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากกรมธนารักษ์ต่อจาก ส. โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทอีกต่อไปจึงฟ้องให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท แม้โจทก์ในฐานะผู้เช่าจะมีสิทธิเข้าใช้สอยทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน และจำเลยอยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. ผู้เช่าเดิมไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อกรมธนารักษ์เจ้าของที่พิพาท หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเรียกกรมธนารักษ์ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 545 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยลำพัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16897/2557
โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ... และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2555
ความรับผิดของจำเลยเกิดจากที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกรอนสิทธิ หาใช่เพราะจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ อันจะอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาปรับใช้หาได้ไม่ ซึ่งอายุความในเรื่องการรอนสิทธิมีบัญญัติไว้ในมาตรา 481 เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง เมื่อที่ดินถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มีกำหนดสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2554
โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังกับโจทก์ร่วมโดยให้โจทก์มีสิทธิเช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี แต่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุพิพาทไม่ได้เพราะมีบ้านจำเลยปลูกอยู่ ทำให้โจทก์ร่วมผู้ให้เช่าส่งมอบที่ราชพัสดุพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรอนสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทโดยลำพัง

โจทก์ในฐานะผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ถูกจำเลยรอนสิทธิชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมในฐานะผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 แต่จำเลยกลับเป็นฝ่ายยื่นคำร้องขอให้เรียกโจทก์ร่วมเข้าเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เมื่อโจทก์ร่วมอยู่ในฐานะจำเลยร่วมตามฟ้องแย้ง มิใช่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ จึงเข้าเป็นคู่ความในฐานะถูกฟ้องตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมย่อมไม่อาจมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทได้ดังเช่นคำฟ้อง และคงเป็นเพียงคำให้การแก้ฟ้องแย้งและขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ราชพัสดุพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4467/2553
การซื้อขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว หลังจากนั้นปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อขายและส่งมอบกันแล้วเป็นของบุคคลภายนอกบางส่วน กรณีจึงเป็นเรื่องการรอนสิทธิที่ผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 เมื่อโจทก์ยอมคืนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกจึงต้องฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 481 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่โจทก์ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องคือกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2545 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 กรกฎาคม 2545 จึงเกินสามเดือน ถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2553
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรอง และคุ้มครองไว้โดยเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย อันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 478 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6036/2551
จำเลยสร้างถนนพิพาทบนที่ดินตามฟ้องขึ้นมาก่อนที่โจทก์จะเช่าที่ดินนั้นจากโจทก์ ร่วมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แต่เป็นการรอนสิทธิของโจทก์ที่โจทก์มีต่อโจทก์ร่วมตามสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามฟ้องจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2548
ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ฉ. กับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อันมีผลให้โจทก์ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่ ฉ. เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปกติสุขเพราะ ฉ. มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่โจทก์ก็รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้คืนพิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475

ที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์เพราะการรอนสิทธิ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์คือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์เสียหายไปจริง ส่วนการที่โจทก์ไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอกได้เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์จึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่ต้องเสียหายไปตามความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2546
โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 3 มาเป็นของโจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและอาคารพิพาทแล้ว ต่อมา ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทดังกล่าวโดยฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเป็นจำเลย ศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยในคดีดังกล่าว และให้จำเลยในคดีดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่ ส. พร้อมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ผลของคดีดังกล่าวย่อมทำให้สิทธิแห่งความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์หมดสิ้นไปทันที ทั้งที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่ฝ่ายจำเลยผู้ขายไปครบถ้วนแล้ว กรณีจึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของฝ่ายจำเลยผู้ขาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทคืนจากฝ่ายจำเลยผู้ขายได้ การที่ ส. โจทก์ในคดีดังกล่าวยังมิได้ชำระเงินค่าที่ดินและอาคารพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ขายหรือยังมิได้ดำเนินการบังคับคดีในคดีดังกล่าวเป็นกรณีที่ ส. กับจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีนั้น หาทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์คดีนี้ที่ถูกเพิกถอนไปแล้วกลับคืนมาอีกไม่

การที่ ส. สละสิทธิไม่ยอมบังคับคดีหรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวโดย ส. กับโจทก์ในคดีนี้ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อที่ดินและอาคารพิพาทแล้ว ไม่ว่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมและภาษีที่รัฐจะได้รับจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือลดค่าใช้จ่ายก็ตาม เป็นเรื่องที่มิได้เกี่ยวกับการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาคืนจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ส. จะปฏิบัติตามคำบังคับของศาลในคดีดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีดังกล่าว มิใช่คดีนี้ การที่โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทแล้วไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทจึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้คืนเงินค่าซื้อที่ดินและอาคารพิพาทจึงมีอำนาจกระทำได้ มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8296/2544
โจทก์ทำสัญญาเช่าแท่นขายสินค้ากับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าในแท่นขายสินค้านั้นได้ เพราะจำเลยที่ 5 เข้าไปขายสินค้าอยู่ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 5 เข้าไปครอบครองแท่นขายสินค้าหาได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์และจำเลยที่ 5 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการละเมิดต่อผู้ให้เช่าหรือเจ้าของที่ดิน หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองแท่นขายสินค้า จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในแท่นขายสินค้าที่เช่า โจทก์ต้องบังคับผู้ให้เช่าส่งมอบแท่นดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 การกระทำของจำเลยที่ 5 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2543
เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย โดยฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายผู้ขายเป็นผู้ก่อเหตุขึ้น ด้วยการไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา และจะต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7218/2542
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลย และชำระค่าที่ดินให้จำเลยครบถ้วนแล้วจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันทำสัญญาแต่ที่ดินพิพาทเป็นของ ผ. และ ผ. ได้แจ้งความกล่าวหาว่าคนงานของโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท ดังนี้เป็นกรณีที่ ผ. มาก่อการรบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อในอันจะครองที่ดินพิพาทเป็นปกติสุข เพราะ ผ. มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทอยู่ในเวลาที่โจทก์ซื้อจากจำเลยจึงเป็นการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 475 เมื่อโจทก์มิได้รู้ในเวลาซื้อขายว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ผ. และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิทธิของโจทก์ได้สูญไปโดยความผิดของโจทก์เอง จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าที่ดินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

หลังจากที่โจทก์ถูก ผ. อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ผ. และถูกแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ยอมตามที่ ผ. เรียกร้อง โดยจะไม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอีก แต่เมื่อการที่โจทก์ยินยอมตามที่ ผ. เรียกร้อง เพราะคนงานของโจทก์จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและมีโทษถึงจำคุกได้ การยอมของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ และไม่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขายจึงไม่อยู่ภายในบังคับอายุความ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 และมิใช่กรณีโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ แต่อยู่ภายในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1192/2541
จำเลยทำสัญญาขายต้นยางพาราซึ่งอ้างว่าปลูกอยู่ในที่ดินจำเลยให้โจทก์ โจทก์จึงสั่งจ่ายเช็คสองฉบับให้จำเลยฉบับแรกเรียกเก็บเงินได้ โจทก์จึงเข้าตัดโค่นต้นยางพาราแต่ผู้ใหญ่บ้านได้คัดค้านและสั่งห้ามโจทก์ตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์โดยใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ โจทก์จึงมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่สอง แล้วบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ดังนั้น กรณีไม่ว่าที่ดินซึ่งปลูกต้นยางพาราจะเป็นของจำเลยจริงหรือไม่และกรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้โอนไปยังโจทก์แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ในเมื่อหลังจากนั้นจำเลยมิได้ดำเนินการใดหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ใหญ่บ้านผู้เข้ามารบกวนขัดขวางการตัดโค่นต้นยางพาราของโจทก์เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่โจทก์ว่าการตัดโค่นต้นยางพาราจะได้รับความสะดวกและจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการประการใดจำเลยจึงต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายต้นยางพารา การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 นั้น มีความหมายว่าต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ แต่การยอมตามข้อคัดค้านหรือการเรียกร้องในทางอาญาหรือในทางปกครองอันมีรูปเรื่องเป็นเชิงมีสภาพบังคับให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือโจทก์ต้องจำยอมปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีในทางอาญาได้นั้น กรณีย่อมไม่อยู่ในความหมายและในบังคับอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2597/2541
ที่ดินที่จำเลยทั้งสองขายให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาพิพากษาให้โอนไปเป็นของบุคคลอื่น จึงเป็นกรณีบุคคลอื่นมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือที่ดินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 475

จำเลยที่ 1 ผู้ขายเป็นคู่ความในคดีเดิม โจทก์ไม่ได้ประนี-ประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง กรณีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 481 และมีอายุความ10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับแต่วันที่ 4เมษายน 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2534 คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1จึงไม่ขาดอายุความ แต่จำเลยที่ 2 นั้นปรากฏว่าไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม กรณีจึงต้องตามมาตรา 481 คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตามกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008/2540
หนังสือที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เสนอขอซื้อ มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า การตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้รวมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 2 พร้อมกับเครื่องจักรและเครื่องชั่งซึ่งปรากฏในแผนที่สังเขปตามที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ยังตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ดังนี้โจทก์ทราบถึงการรบกวนขัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ในที่ดินที่ซื้อแล้ว แม้ว่าผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายให้อยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อตาม ป.พ.พ.มาตรา 461 และ 462 และผู้ขายต้องรับผิดในกรณีที่มีผู้มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขตามมาตรา 475 แต่ในกรณีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบอยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่ามีทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในการรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักร เครื่องชั่ง และค่าเสียหายแก่โจทก์ตามมาตรา 476

จำเลยที่ 2 รบกวนสิทธิของโจทก์ในการเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุข ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยที่ 1 ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่ออาคาร เครื่องจักร และเครื่องชั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้จำนองไว้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ที่จะคงอยู่บนที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนไปภายใน 15 วัน และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้ว ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยของค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 นับแต่ผิดนัดแต่ละเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2539
การที่จำเลยนำรถยนต์มาขายให้แก่โจทก์เท่ากับว่าจำเลยผู้ขายได้รับรองโดยปริยายว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่นำมาขายเมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นให้แก่โจทก์ได้จึงเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน240,000บาทคืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้หาใช่การฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิอันมีอายุความ3เดือนตามมาตรา481แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่การฟ้องคดีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป10ปี
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839/2538
โจทก์ได้ซื้อรถคันพิพาทไปจากจำเลยทั้งสองในราคา 300,000บาท โดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นเอกสารปลอมจึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากโจทก์เพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทจากโจทก์ด้วยนั้น การที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทนั้น มิใช่เป็นค่าหรือราคารถคันพิพาทที่จำเลยจะต้องส่งคืน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับราคาของรถคันพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2538
จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการ รอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา475แม้จะไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตามและเมื่อโจทก์จำต้องยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมาความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481 แต่มีอายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2538
ที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่1บางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวกับโจทก์ที่1จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2769/2535
โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์จากจำเลยทั้งสอง แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองโอนรถยนต์ให้กับโจทก์นั้น บุคคลอื่นเป็นเจ้าของ มิใช่จำเลยทั้งสองต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปเป็นของกลางเพื่อคืนให้แก่เจ้าของเดิม ถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ รถยนต์ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไปทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ได้ ต้องเช่ารถผู้อื่นมาใช้แทนนับได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้นับตั้งแต่วันที่ถูกยึดไปและสามารถคิดดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อน โจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะคาดคิดได้ว่าถ้าโจทก์ไม่ยอมให้ยึดรถยนต์ โจทก์อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ไม่ใช่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งมีอายุความ 3 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ต้องใช้อายุความธรรมดา10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106/2535
โจทก์กับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายร่วมกันออกเงินซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลย และสามีได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์เพื่อฟ้องจำเลยแต่ปรากฏจากเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์และการโอนทะเบียนรถยนต์ว่า สามีโจทก์เท่านั้นที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาท โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ประการใดกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับการรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2531
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทเดิมค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนต่อโจทก์ก่อนโอนขายให้จำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างด้วยในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม โดยผลแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 45

การที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระมาตั้งแต่จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของ ไม่ใช่เรื่องที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 479 ศาลจึงจะพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระนั้นต่อจำเลยที่ 3 ให้เสร็จไปในคดีเดียวกันตามมาตรา 477 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2530
กรมที่ดินย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และแบ่งแยกโฉนดโดยมิชอบ โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ระงับสิ้นไปแล้วเพราะผู้มอบอำนาจตายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา61

แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่พิพาทมาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตก็ตาม แต่โจทก์ก็รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตเช่นกัน เมื่อกรมที่ดินสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนดที่พิพาท เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริงกรณีเช่นนี้ถือว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิ์ จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2529
จำเลยที่3เป็นพนักงานสอบสวนในการสืบสวนสอบสวนจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับความผิดเพื่อทราบข้อเท็จจริงพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษการที่จำเลยที่3สืบสวนทราบว่ารถยนต์ของช.ที่ถูกยักยอกไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์และยึดรถยนต์ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่3และกรมตำรวจจำเลยที่4ต้นสังกัดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ซื้อรถยนต์จากท้องตลาดโดยสุจริตก็หาได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อนั้นไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1332เพียงแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาดังนี้เมื่อเจ้าของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืนโดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธิแล้วโจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2523
การที่พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยเอาไปเป็นของกลางในคดีอาญาและไม่ยอมคืนให้โจทก์เนื่องจากเป็นรถยนต์ของบุคคลภายนอกที่ถูกคนร้ายลักมานั้นตามพฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าบุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทอันแท้จริงมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อในอันจะใช้สอยหรือครอบครองรถยนต์พิพาทโดยปกติสุขเพราะมีสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทอยู่ในเวลาซื้อขายกันจึงถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิที่โจทก์ไม่ต้องคืนรถเว้นแต่จะได้รับใช้ราคาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 นั้น ไม่ทำให้กรณีไม่เป็นการรอนสิทธิฉะนั้นเมื่อรถพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อจำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์พิพาทคืนให้แก่โจทก์ตาม มาตรา 479