ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด

มาตรา ๔๘๓ คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา ๔๘๔ ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๔๘๕ ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1537/2525
ศาลมีคำสั่งให้บริษัทจำเลยเลิกกิจการ จำเลยได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ โดยให้ผู้ซื้อประมูลราคา โจทก์ได้ซื้ออ่างอาบน้ำจากจำเลย และได้ชำระราคาแล้ว จำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ ด้านหลังใบเสร็จรับเงินได้หมายเหตุไว้ว่า'แตกร้าวคืนเงินภายหลัง' เช่นนี้เป็นการขายอ่างอาบน้ำโดยมีเงื่อนไขรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่อง เฉพาะที่แตกหรือร้าวเท่านั้น ไม่รวมถึงรอยสีถลอกหรือมีสนิมขึ้น เมื่ออ่างอาบน้ำมีแต่เพียงรอยถลอกและสนิมขึ้น ไม่มีรอยแตกร้าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งเงินคืนตามราคาหรือใช้ค่าเสียหายได้ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 มาใช้บังคับในกรณี นี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2516
หน้าที่ของจำเลยผู้ขายที่ดินและห้องแถว นอกจากจะต้องจดทะเบียนเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์ มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์โอนไปยังโจทก์ผู้ซื้อแล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์นั้นแก่โจทก์ โดยกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะเป็นผลให้ทรัพย์นั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของ โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 461 และ 462 อีกด้วย หาใช่เพียงแต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วก็ถือว่าผู้รับโอนได้เข้าครอบ ครองทรัพย์ทีเดียวโดยไม่ต้องมีการส่งมอบกันอีกไม่

เมื่อมีการรบกวนขัดสิทธิปรากฏขึ้นก่อนที่จะมีการโอนต่อกันก็ย่อมเป็นหน้าที่ของ จำเลยผู้ขายจะต้องขจัดเหตุนั้นให้หมดไปเสียก่อนจะบังคับให้โจทก์รับโอนไป ทั้ง ๆ ที่การรบกวนขัดสิทธิดังกล่าวยังมีอยู่ไม่ได้ แม้จำเลยจะยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยปฏิเสธหน้าที่ในการส่งมอบทรัพย์นั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยังไม่ยอมรับโอนได้ และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา

การที่จำเลยได้ตกลงไว้ล่วงหน้าในสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเสียหาย ในกรณีที่ตนผิดสัญญา ย่อมถือว่าเงินค่าเสียหายจำนวนที่กำหนดไว้นั้นเป็นเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาจากจำเลยได้ตามข้อตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 379 และ 381 โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบในเรื่องค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2292/2515
โจทก์ซื้อรถยนต์โดยสุจริตจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มายึดรถยนต์นั้นจากโจทก์ไปเป็นของกลางในคดีอาญา และศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถยนต์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 โจทก์มีสิทธิ์ไม่จำต้องคืนรถยนต์ที่ซื้อขายให้แก่เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่ เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาแต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ในการซื้อรถยนต์ก็เพื่อ จะได้รถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ หาใช่เพื่อรับชดใช้ราคาคืนไม่ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ก็มิได้ บัญญัติว่า ผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตตามมาตรา 1332 ไม่ อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิดังนั้น เมื่อเจ้าของที่แท้จริงมารบกวนขัดสิทธิโจทก์ผู้ซื้อและโจทก์จำต้องคืนรถยนต์ ให้ไปตามคำพิพากษาของศาลไม่ว่าโจทก์จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือมีสิทธิ ได้รับชดใช้ราคาหรือไม่ ก็ต้องถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายต้องรับผิดในผลนั้น

การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้ คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว รถยนต์ที่ซื้อขายจึงหลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คืนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 479 และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามมาตรา 475 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2515)