ผลภายหลังการชำระหนี้(ค้ำประกัน)

มาตรา ๖๙๓ ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น อนึ่ง ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา ๖๙๔ นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

มาตรา ๖๙๕ ผู้ค้ำประกันซึ่งละเลยไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้นท่านว่าย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้เพียงเท่าที่ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เช่นนั้น และที่ไม่รู้นั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของตนด้วย

มาตรา ๖๙๖ ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้ ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอกลูกหนี้ และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก
ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ค้ำประกันก็ได้แต่เพียงจะฟ้องเจ้าหนี้เพื่อคืนลาภมิควรได้เท่านั้น

มาตรา ๖๙๗ ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2553
จำเลย ที่ 1 เป็นหนี้บรรษัท ง. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้จำนองที่ดินในวงเงิน 4,000,000 บาท เพื่อประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน เช่นนี้ความรับผิดของโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีต่อบรรษัท ง. นั้นอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมที่จะต้องชำระหนี้ตามฐานะของตน และวงเงินที่มีการกำหนดความรับผิดไว้ โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองซึ่งกำหนดวงเงินจำกัดความรับผิดไว้ การที่โจทก์ได้ชำระหนี้ตามภาระค้ำประกันให้แก่บรรษัท ง. ไปนั้น โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัท ง. ที่จะมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นโดยเต็มจำนวน แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินประกันหนี้ในวงเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และบรรษัท ง. ได้ฟ้องบังคับจำนองจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้บังคับจำนองแล้ว และหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบรรษัท ง. นั้น มีจำนวนมากกว่าวงเงินที่จำนองอยู่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จำกัดความรับผิดของตนต่อบรรษัท ง. ไว้ และมีภาระต้องรับผิดต่อบรรษัท ง. ตามวงเงินที่จำนอง แต่โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าการชำระหนี้เงินของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อบรรษัท ง. หรือรับผิดน้อยกว่าวงเงินที่แต่ละคนเข้าผูกพันแล้ว โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในความรับผิดระหว่างลูกหนี้ร่วมกันอันจะก่อให้เกิด ความเสียหายต่อบรรษัท ง. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 230 วรรคสอง หาได้ไม่ โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ยังไม่อาจกำหนดได้แน่นอน โจทก์จึงยังไม่อาจนำหนี้ในส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551
เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ส. และ ว. ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับโจทก์ จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 682 วรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง และรับช่วงสิทธิของโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 อีกด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ในภายหน้าได้ทั้งจำนวนหรือตามส่วนแล้วแต่กรณี เว้นแต่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 หรือที่ 2 แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เมื่อบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ชั้นต้นอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันอันมีต่อลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อลูกหนี้ที่ 2 ได้
เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2551
ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษาดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2550
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกไว้ต่อโจทก์ แม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์ไม่นำหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกของบริษัท ป. ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน กรณีนี้ไม่อาจปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้น มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ บ. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆเพราะการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย และสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิที่เจ้าของมีอยู่ไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันชอบที่จะใช้สิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามมาตรา 226 เท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ที่โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้วโดยผลของมาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4356/2545
ความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตอนแรกที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 นั้นหมายถึงความในมาตรา 1754วรรคสาม ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในมาตรา 193/27 ซึ่งใช้สิทธิเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้ได้แม้หนี้นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม มิใช่ว่าความในมาตรา 1754 วรรคสามบังคับใช้เฉพาะเจ้าหนี้มีประกัน ไม่ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ
การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเจ้ามรดกแม้จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มิได้ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ร่วมเต็มตัวอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 แต่เป็นการยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 ซึ่งคงเสียสิทธิเพียงไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 688,689 และ 690 ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิตามมาตรา 694 ที่จะยกข้อต่อสู้ทั้งหลาย ซึ่งเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นทายาทของของเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้
ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า ผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ตามสัญญา ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนให้ทั้งสิ้น เพียงแต่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดแม้ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับไปแล้วหรือผู้กู้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดรวมไปถึงเรื่องการสละสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้เมื่อผู้กู้ถึงแก่กรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2544
การที่บริษัท ภ. เจ้าหนี้ของจำเลยได้นำเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. ผู้ค้ำประกันจำนำไว้ไปหักชำระหนี้แทนจำเลย โดยบริษัท ภ. นำไปคิดหักเป็นค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระจำนวนหนึ่งด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัท ภ. ที่คิดหักเอาไปเอง ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ คงมีแต่เพียงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินคืนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2543
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มรวมกับเงินเพิ่มตลอดจนหนี้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่โจทก์ที่ 1 อาจจะต้องเสียแก่กรมศุลกากรโดยไม่ได้มีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยกเลิกสัญญาค้ำประกันหรือมีสิทธิที่จะสั่งระงับมิให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรและภาษีอากรเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดจนหนี้อุปกรณ์อื่น ๆ ตามกฎหมายได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะสั่งให้จำเลยที่ 1 ระงับการจ่ายเงินให้แก่กรมศุลกากร เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือให้ไปชำระค่าภาษีอากร เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกรมศุลกากรผิดนัด กรมศุลกากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องชำระเงินจำนวนที่ค้ำประกันไว้ให้แก่กรมศุลกากร เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากโจทก์ที่ 1 ลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2541
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 จะบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเรียกหนี้สินเฉพาะที่ห้างหุ้นส่วนหรือผู้เป็นลูกหนี้อยู่ในฐานะเช่นนั้นเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีก็ตาม แต่ตามมาตรา 694ก็ได้บัญญัติไว้ว่านอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันหรือจำเลยที่ 1 มีต่อเจ้าหนี้หรือโจทก์นั้น ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้หรือห้างดังกล่าวมีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้ข้อสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับห้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในหนี้สินที่ลูกหนี้ยังคงมีอยู่ต่อธนาคารโจทก์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นและหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ซึ่งห้างลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามมาตรา 694 ไม่ ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างจึงชอบที่จะยกอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้และเมื่อนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ก. จนถึงวันฟ้องเกินกำหนด2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2540
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ตามสัญญากู้เงินส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าว โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ค้ำประกันไว้ ซึ่งตามหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า"นอกจากนี้ผู้ค้ำประกันย่อมไม่พ้นจากความรับผิดเพราะเหตุธนาคารอาจกระทำการใด ๆ ไปเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในสิทธิใด ๆ ก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิซึ่งลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ตามได้ให้ไว้แก่ธนาคารแต่ก่อนหรือในขณะหรือหลังจากวันทำสัญญาค้ำประกันนี้"และข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาดังนี้ แม้โจทก์ผู้รับจำนองเพิกเฉยไม่คัดค้านการร้องขอกันส่วนของจำเลยที่ 4 สามีจำเลยที่ 1 ในฐานะสินสมรสทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับเงินส่วนที่ขอกันไว้750,000 บาท จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องเสียหายก็ตามจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2540
ตามหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยผู้กู้ได้กู้ยืมเงินไปจาก ท.โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมรับผิดในค่าพาหนะและค่าเสียหายต่าง ๆซึ่งผู้ให้กู้ต้องเสียไปในการทวงถาม ฟ้องร้อง จำเลยยอมใช้ให้ตามที่เสียหายจนครบถ้วน ต่อมา ท.นำสัญญากู้ฉบับนี้ไปฟ้องจำเลยและโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษา 89,220 บาท และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น 2,080 บาท ให้ ท.แม้เงินส่วนนี้ ท.จะมิได้เรียกร้องไว้ในขณะฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน2,080 บาท ให้ ท.ไปจริง จึงรวมเป็นต้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระให้ ท.ไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 693

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2538
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้และได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้วหากจะขอรับชำระหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา27,91การที่ผู้ร้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วผู้ร้องจะขอเข้ารับช่วงสิทธิการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นไว้แล้วไม่ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ ล้มละลายพ.ศ.2483ให้กระทำได้เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาที่ว่าการถอนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่จึงไม่ต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่เปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319 - 1320/2538
สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยย่อมจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนจำเลยแล้วตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา693แต่การชำระหนี้โดยวิธีการที่โจทก์ยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของ ธ.เพื่อชำระหนี้ของจำเลยอีกคนหนึ่งหาใช่เป็นการที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ ธ. เสร็จสิ้นแล้วไม่ทั้งไม่ทำให้หนี้ระหว่าง ธ.กับจำเลยที่มีอยู่เดิมระงับสิ้นไปเพราะมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ธ. ยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวได้เช่นเดิมเมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยให้แก่ ธ. ไปแล้วหรือไม่เป็นจำนวนเท่าใดโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9156/2538
จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องโดยมี ก. ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลย ที่ 2 ที่ 3 และ ก. ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลย ที่ 2 ที่ 3 และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วยกรณีนี้จำเลย ที่ 2 ที่ 3 และ ก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่จำนองได้ร่วมกันเอาทรัพย์สินจำนองไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลย ที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่2และที่3เป็นลูกหนี้ชั้นต้นส่วนก. เป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่สองตามสัญญาค้ำประกันและจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 724 มิได้ให้สิทธิแก่จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นผู้จำนองได้และแม้ว่า ก. จะทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลย ที่ 2 และที่ 3 อย่างลูกหนี้ร่วมก็มีความหมายเพียงว่า ก. ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลย ที่ 2 และที่ 3 หาได้หมายความว่า ก. จะมีฐานะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลย ที่ 2 และที่ 3 ไปด้วยไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 หาได้ให้สิทธิแก่จำเลย ที่ 2 และที่ 3 ที่จะไล่เบี้ยเอาจาก ก. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ ก. และจำเลย ที่ 2 และที่ 3 ต่างไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกันอันจะทำให้มีการหักกลบลบหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านได้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลย ที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ชำระหนี้จำนวน 9,429,863 บาท ให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้วผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน 3,143,287.66 บาทไปขอหักกลบลบหนี้กับเงินส่วนของ ก. ที่จะได้รับจากการขายทอดตลาดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2538
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 696 วรรคหนึ่งผู้ค้ำประกันจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ก็ต่อเมื่อได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปโดยมิได้บอกลูกหนี้และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ซ้ำอีกเพียงกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ป. ชำระหนี้จำนวน 390,000 บาท ให้แก่บริษัท ธ. เจ้าหนี้ของ ป. ไปแล้ว คงเหลือยังไม่ได้ชำระอยู่อีกจำนวน 43,441.43 บาท หนี้จำนวนที่ยังไม่ได้ชำระนี้ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ป. ซึ่งถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาถูกฟ้องและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ให้แก่ บริษัท ธ. โดยไม่ได้ซ้ำกับยอดหนี้ส่วนที่โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บอกแก่จำเลยว่าโจทก์ ได้ชำระหนี้แทน ป. ให้จำเลยทราบก็ตามก็ชอบที่จะรับช่วงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเงินจำนวน 390,000 บาทเอาแก่จำเลยได้ สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของป. เกิดจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ที่ ป.เจ้ามรดกมีอยู่ต่อบริษัท ธ. ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ไปอันเป็นเวลาหลังจากที่เจ้ามรดกตาย เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเรื่องอายุความแห่งการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คืออายุความสิบปี จะนำอายุความหนึ่งปีตาม มาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดก มาใช้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2536
โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือความรับผิดของโจทก์ย่อมเป็นเพียงอาวัลผู้สั่งจ่ายเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่ผู้ทรงไปแล้วย่อมเกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะไล่เบี้ยเอาจากผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคท้ายเป็นสิทธิที่มีลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้วย่อมเกิดสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพราะการค้ำประกันนั้น ตามมาตรา 693 วรรคแรก หาใช่สิทธิการรับช่วงสิทธิอื่นเหนือลูกหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองไม่เป็นสิทธิที่เกิดจากนิติกรรมการอาวัลหรือค้ำประกันนั้นเองหาได้รับช่วงสิทธิของผู้ทรงที่มีอยู่ต่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมาไม่ เป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ซึ่งเป็นบททั่วไปและมีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 695 ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะอ้างขึ้นเถียงผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ไม่ให้ไล่เบี้ยลูกหนี้
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ ในกรณีที่โจทก์ถูกเรียกร้องให้ชำระเงินตามภาระที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยจะเป็นผู้ชดใช้ให้โจทก์ จำเลยจึงไม่ใช่ตัวลูกหนี้ แต่เป็นผู้ทำสัญญาผูกพันไว้กับโจทก์อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จะใช้สิทธิของลูกหนี้ตาม มาตรา 695 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2518
โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับผู้ว่าจ้างแทนการที่จำเลยที่ 1 จะต้องวางเงินมัดจำในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างเหมาทำการก่อสร้างอาคารให้ผู้ว่าจ้าง หนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาที่โจทก์ผูกพันต่อผู้ว่าจ้างเพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและไม่ชำระหนี้เท่านั้น โจทก์มิได้วางเงินตามหนังสือค้ำประกันให้ไว้ต่อผู้ว่าจ้างขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับผู้ว่าจ้างหนังสือค้ำประกันจึงมิใช่มัดจำ และเมื่อตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างไม่มีข้อความให้ผู้ว่าจ้างริบเงินตามหนังสือค้ำประกัน ผู้ว่าจ้างจึงริบเงินจำนวนนี้ไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ 1722/2513)
เมื่อผู้ว่าจ้างแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และสั่งริบเงินตามหนังสือค้ำประกัน กับให้โจทก์ส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระโจทก์ย่อมสามารถตรวจดูสำเนาสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 มอบให้ไว้ และทราบได้ว่าผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิริบเงินตามหนังสือค้ำประกัน แม้ตามหนังสือค้ำประกันโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแต่ผู้ว่าจ้างก็มิได้เรียกร้องให้โจทก์ส่งเงินไปเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งเงินไปชำระตามข้อเรียกร้องของผู้ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระเงินให้ผู้ว่าจ้างไปโดยจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระและทั้งๆ ที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ทักท้วงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และจากจำเลยที่ 2,3,4,5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2527
จำเลยนำเช็คมาขายลดให้โจทก์และออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนเท่ากันกำหนดใช้เงินให้โจทก์เมื่อครบ 58 วันเท่ากับระยะเวลาที่เช็คถึงกำหนดชำระเงินพร้อมกับได้ทำหนังสือรับรองการมอบตั๋วสัญญาใช้เงินโดยระบุให้เช็คดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ประกันในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อตกลงในการชำระเงินว่า เมื่อถึงกำหนดชำระเงินให้โจทก์นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ถ้าโจทก์ได้รับเงินตามเช็คก็ให้ถือว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยเป็นผู้ออกนั้นได้ใช้เงินแล้วหนี้ที่ซื้อขายลดเช็คเป็นอันระงับไป หากเช็คเบิกเงินไม่ได้ จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ การออกตั๋วสัญญาใช้เงินและหนังสือรับรองการมอบตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นความสมัครใจของโจทก์และจำเลย เกิดเป็นสัญญามีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวสูญหายไปจำเลยต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้นำเช็คไปเบิกจากธนาคารก่อนหรือการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ และเรื่องนี้มิใช่เรื่องสัญญาค้ำประกัน จำเลยจะยกเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 มาปัดความรับผิดก็ไม่ได้เช่นกัน หนี้ที่จำเลยนำมาขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์เป็นหนี้ที่เกิดจากความเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ทำเช็คสูญหายไปมิใช่เป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามเช็คให้จำเลยโจทก์มิได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจึงไม่มีหนี้อะไรตามเช็คที่จำเลยจะนำมาหักกลบลบหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ต่างหาก