ความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก

มาตรา ๘๒๐ ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา ๘๒๑ บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา ๘๒๒ ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๘๒๓ ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

มาตรา ๘๒๔ ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน

มาตรา ๘๒๕ ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559
สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า "เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ" ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2559
      คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปใช้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบก็ดี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดผลว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เป็นการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โดยโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในเวลาอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ดังนี้ การจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 ยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของโจทก์ในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยก ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกมาปรับแก่คดีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยสุจริตมิได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2559
           ตามหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการและสามารถกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำต้องมีตราประทับสำคัญของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 3 คนเดียวจึงลงนามมอบอำนาจในฐานะกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และในฐานะส่วนตัวของโจทก์ที่ 3 ได้ ตามหนังสือมอบอำนาจมีใจความชัดเจนว่า ขอมอบอำนาจให้ อ. เป็นตัวแทนฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบ อันเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสามเพียงคดีเดียว ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว และแม้โจทก์ทั้งสามมอบอำนาจในตราสารเดียวกันก็ต้องคิดตามรายบุคคล จึงต้องปิดอากรแสตมป์รายละ 10 บาท ตามบัญชีอัตราแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารข้อ 7 (ก) ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ใบมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์มา 30 บาท จึงครบถ้วนบริบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 108, 118 ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามปิดอากรแสตมป์เพิ่มและขีดฆ่าก่อนมีคำพิพากษานั้น หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นตราสารใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้อยู่แล้วกลับเป็นใช้ไม่ได้แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559
          ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

            ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2559
             เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวเป็นผู้มีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ดังนั้น การยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวม จึงเป็นอำนาจของผู้คัดค้าน ผู้ร้องเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำบันทึกข้อความขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปราจีนบุรี สาขากบินทร์บุรี ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแทน ไปยื่นและดำเนินการแทนผู้คัดค้านเท่านั้น หาใช่ผู้ร้องโดยส่วนตัวเป็นผู้ยึดทรัพย์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด อันส่งผลให้ผู้คัดค้านหมดอำนาจในการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวเอง ไม่อาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำยึดไปดำเนินการถอนการยึดและชำระค่าธรรมเนียมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2559
              สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงานในกรณีที่พนักงานมีหนี้สินรุงรัง และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้ บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไปด้วย การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อที่โจทก์อ้างว่ามูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นมูลหนี้ที่ ส. และโจทก์ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ก. ซึ่งต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งมีกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวอันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มีหนี้สินอยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เมื่อธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีหนี้สินขณะจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยกเว้นไม่นำกรณีที่โจทก์มีหนี้สินรุงรังมาเป็นเหตุเลิกจ้างนั้น ก็เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว ข้อที่โจทก์อ้างว่าระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 วางเกณฑ์ไว้สูงกว่าคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้วโจทก์ยังมีคุณสมบัติเป็นตัวแทนประกันชีวิต ระเบียบดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 ทุกคน ไม่ได้เลือกบังคับใช้เฉพาะโจทก์ เงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างลูกจ้างตามระเบียบดังกล่าวเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมใช้บังคับได้ และขณะที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จะอ้างว่าระเบียบดังกล่าวไม่เป็นธรรมย่อมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2559
           โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่ง ช. ผู้เป็นเจ้าของเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ช. ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ ช. ขับให้รับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ ช. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ประมาท แต่จำเลยเพิกเฉย ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนแล้ว ทั้งตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็สนับสนุนข้ออ้างที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประจักษ์ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทน หลังเกิดเหตุ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์จนมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อได้แสดงตนแล้ว และกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อเช่นโจทก์ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559
          จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้ง การเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2559
           โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท และนำที่ดินที่แบ่งแยกขายให้แก่นางสาว ก. แต่จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินแล้วจำเลยไม่นำเงินมาให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์และขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน บรรพ 3 ลักษณะ 15 ไม่ได้เป็นเรื่องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558
          การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369

           แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14778/2558
          จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดไว้กับธนาคารและระบุเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็คว่า ว. กรรมการของจำเลยจะลงลายมือชื่อในเช็คและประทับตราสำคัญของจำเลย ซึ่งตรงกับการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลที่จะผูกพันจำเลยได้จะต้องลงลายมือชื่อ ว. กรรมการกับประทับตราสำคัญตามหนังสือรับรองบริษัท แต่ ว. ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยไม่ประทับตราสำคัญ เมื่อเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของจำเลยและด้านหน้าก็พิมพ์ชื่อจำเลยไว้ บุคคลที่รับเช็คย่อมเข้าใจว่าเป็นเช็คของจำเลย การที่ ว. กรรมการจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ถือได้ว่าจำเลยเชิด ว. แสดงออกเป็นตัวแทนของตน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ว. สั่งจ่ายเช็คพิพาทในนามของตนเอง จึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14047/2558
          โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัท ต. โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัท ต. ซื้อรถยนต์ตามคำร้องของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่ามีกำหนดเช่า 36 เดือน จำเลยนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์มาตลอดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ประสงค์นำค่าเช่าไปชำระเอง แต่ก็ไม่นำไปชำระ บริษัท ต. ทวงถามค่าเช่ารถยนต์มายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่กรณีจำเลยจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์ จึงมิใช่ข้อตกลงหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามมาตรา 76 (3) และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12352/2558
            การระบุวัน เดือน ปีในหนังสือมอบอำนาจเป็นการมุ่งหมายให้ทราบว่ามีการมอบอำนาจเมื่อใดเพื่อแสดงว่าขณะตัวแทนทำการนั้นตัวแทนมีอำนาจหรือไม่ แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ส. ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์โดยแนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งหนังสือมอบอำนาจระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องจำเลยโดยให้มีอำนาจถอนฟ้องและประนีประนอมยอมความ จึงเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวว่าโจทก์มอบอำนาจก่อนหรืออย่างน้อยในวันที่ ส. ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนั้นเอง ส. จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ การที่ ส. แถลงขอถอนฟ้องซึ่งกระทำได้ตามหนังสือมอบอำนาจและศาลแรงงานกลางอนุญาตจึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558
          การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558
          แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9365/2558
             จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความปลอมรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ขึ้นทั้งฉบับโดยมีใจความสำคัญว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 นำเอกสารปลอมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโดยมีโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อโจทก์ได้ชำระราคาที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด

           จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต หรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อ นาง พ. หัวหน้าส่วนงานหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเบิกความว่า ไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ปลอมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อโจทก์จะถือเอาคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 และกระทำการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วสรุปว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 หาได้ไม่

            เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) และหากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้โจทก์สามารถเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายและจะถือว่าจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) กระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 - 8566/2558
             แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง เวทีการแสดงต่าง ๆ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8547/2558
               ขณะที่ ส. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้ฝ่ายการคลังคืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามหนังสือรับรอง ซึ่งไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และโจทก์ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทไปยังผู้อำนวยการของโจทก์ (ปัจจุบัน คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่) เพื่อทำการตัดสิน คำตัดสินของผู้อำนวยการของโจทก์ถือเป็นที่สุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะร้องขอให้ส่งข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าปรับเกิดขึ้น จำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตัดสินชี้ขาด ส. ได้เรียกพนักงานผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมพิจารณาและต่อมามีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม เห็นได้ว่า ส. มีคำตัดสินดังกล่าวในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาข้างต้น ส่วนคำตัดสินชี้ขาดจะถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่า ส. มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการของโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่ง ส. ควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของ ส. ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินชี้ขาดของ ส. ไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับ ส. ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส. ต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ส. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่ ส. ไม่นำคำตัดสินชี้ขาดไปให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ มาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกับ ส. กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2558
            จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558
            สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558
             การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2558
              ตามคำฟ้องเป็นการฟ้องคดีในมูลละเมิด แม้จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 รับขนส่งช่วง จำเลยที่ 3 นำเรือไปบรรทุกโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมเรือ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือไปจากจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และมาตรา 427 คำฟ้องโจทก์จึงไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้ในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ และศาลจะพิพากษาคดีให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2558
            คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าตนเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขับรถยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้กระทำ และถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2558
            จัดการงานนอกสั่งนั้น ป.พ.พ. มาตรา 395 บัญญัติว่า "บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี..." ดังนั้น บุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตาม ป.พ.พ. มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่นโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ตามมาตรา 401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2558
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) กับโจทก์ต้องทำการด้วยตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 808 ประกอบกับข้อสัญญาข้อ 8 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วง ดังนั้นการตั้งตัวแทนช่วงให้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทน แม้โจทก์ทราบเรื่องแล้วไม่ทักท้วง ก็เป็นเพียงการให้สัตยาบันต่อการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้นิติกรรมการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของตัวแทนช่วงซึ่งไม่ผูกพันโจทก์กลับเป็นผูกพันโจทก์โดยตรง และทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 แต่ในระหว่างตัวการตัวแทนด้วยกัน จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจการที่ตนได้กระทำนอกเหนือขอบอำนาจนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 812 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุตัวแทนช่วงเป็นผู้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.มาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมจะทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าประกันภัยจากการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันถึง 2 ครั้ง เพราะโจทก์มีหนังสือแจ้งตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ให้ส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายให้แก่โจทก์โดยตรง เป็นทำนองตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยส่วนนี้แล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์จัดส่งหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่ทำเรื่องขอเบิกจ่าย และยังมีตารางกรมธรรม์ประกันภัยค้างอยู่กับฝ่ายจำเลย 147,157 ชุด จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่เบิกมาอยู่ที่ตัวแทนช่วงทั้งหมด มิได้อยู่ที่จำเลยที่ 1 แม้แต่ฉบับเดียว ตามคำเบิกความของ น. พยานโจทก์ การเบิกตารางกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องตรวจสอบว่าไม่มีหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระ แต่ในรอบขายเดือน ก.ค. และเดือน ส.ค. 2551 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็คธนาคารพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2,155,704.18 บาท โจทก์คงไม่จัดส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 อย่างแน่นอน โดยฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์ รวม 147,157 ชุด

ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญา ข้อ 6.2 ที่ให้ตัวแทนต้องชำระค่าเสียหายกรณีหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสูญหาย เสียหาย ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือไม่สามารถส่งคือให้แก่โจทก์ได้เป็นเงินชุดละ 300 บาท เป็นค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนช่วงหรือทีมขายของจำเลยที่ 1 ได้นำตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ไม่ส่งคืนไปขาย หรือมีลูกค้ารายใดเรียกร้องให้โจทก์รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. ดังกล่าว และโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยังไม่มีการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินชุดละ 50 บาท นั้น สูงเกินไป เห็นสมควรลดลงเป็นจำนวนพอสมควรกับแนวทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่คิดค่ายกเลิกตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. และค่าปรับตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ชำรุด ชุดละ 20 บาท จำนวน 147,157 ชุด เป็นเงิน 2,943,140 บาท

สัญญาที่โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ระบุจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดต่อเบิกหน้ากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปขาย และนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมสำเนาหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายได้หรือส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังขาดไม่ได้ให้แก่โจทก์ หากผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาอันเดียว ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 804 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถให้โจทก์แยกต่างหากจากกัน ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า ในการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. จำเลยที่ 2 มีตัวแทนช่วงหรือทีมงานรับกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขายเอง แต่เมื่อตัวแทนหรือทีมงานขายได้จะส่งสำเนากรมธรรม์และค่าเบี้ยประกันภัยให้จำเลยที่ 2 รวบรวมส่งต่อให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ตามลำดับโดยจำเลยที่ 2 ได้รับค่าใช้จ่ายด้วย ตามพฤติการณ์ถือว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนร่วมกันผูกพันตนในอันที่จะขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ให้แก่โจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำหน้าที่ตัวแทน จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 297

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558
               สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2558
            การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558
               ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2558
             การตั้งผู้สอบบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลที่บริษัทจัดทำขึ้นโดยตรวจจากสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชีและหลักฐานอื่น ๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามแนวทางปฏิบัติงานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ เพื่อวินิจฉัยและแสดงความเห็นว่า งบการเงินที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใด ฐานะและบทบาทผู้สอบบัญชีจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่และตามกฎหมายหรือไม่ ดูแลว่าบัญชีของบริษัทได้ลงไว้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงินของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นว่าฐานะทางการเงินตามที่แสดงไว้นั้นถูกต้อง ผู้สอบบัญชีจึงต้องแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สอบบัญชีจะเป็นกรรมการ ตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทในขณะที่ตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้ ผู้สอบบัญชีต้องขึ้นตรงต่อผู้ถือหุ้น กฎหมายจึงกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนและให้บำเหน็จแก่ผู้สอบบัญชีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1208 ถึง 1211 เว้นแต่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี ตามมาตรา 1212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558
               ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557
              การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557
               ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557
               สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2557
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกพิพาทมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว แล้วต่อมาจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์และทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามมาตรา 1720 และมาตรา 823 จำเลยที่ 2 ผู้รับการยกให้ไม่อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แม้จำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์มรดกพิพาทจากจำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่มีสิทธิ ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งมีทายาทด้วยกันรวม 6 คน การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามมาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ 1 ใน 6 ส่วน จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการให้และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15911/2555
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุน และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จาก พ. ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอย่างใด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10625/2554
ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาปรับแก่คดีแล้วเห็นว่าไม่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนเฉพาะกิจการของโจทก์สาขาย่อยนวนครหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า "...กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ส. ผู้จัดการสาขาย่อยนวนคร ซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้เป็นตัวแทนของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะกระทำแทนธนาคารในกิจการของสาขาที่กล่าวข้างต้น... รวมทั้งให้มีอำนาจ ดังนี้ 6. ...ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง ...เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ ของธนาคาร..." ย่อมหมายความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ในฐานะผู้จัดการสาขาย่อยนวนครดำเนินคดีแทนโจทก์ในกิจการของสาขาย่อยนวนครของโจทก์เท่านั้น ส. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของโจทก์สาขาอื่น ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะหนี้เงินกู้ที่โอนจากสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังสาขาย่อยนวนคร

โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์แล้วโจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามจำนวนที่คิดคำนวณเอง โดยโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

แม้ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองจะมิใช่ผู้รับจำนองและไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับจำนอง แต่โจทก์ผู้รับจำนองยอมรับเอาการกระทำของผู้บอกกล่าวบังคับจำนองที่ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2554
ขณะที่กรรมการบริษัทจำเลยทำบันทึกจ่ายค่าตอบแทนการทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์นั้น โจทก์สมัครใจทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว และเหตุที่ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เห็นได้ว่าทำขึ้นจากการขอร้องของฝ่ายโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำการใดเพื่อเป็นการตอบแทน มีแต่จะขอปลดเปลื้องภาระที่ตนทำขึ้นเท่านั้น มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้มีรายได้ดังที่นาย ส. กรรมการจำเลยเบิกความ บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกขอบ วัตถุประสงค์ของจำเลย และในเรื่องการชำระเงินนี้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านาย ส. เป็นผู้จ่ายเงินตามบันทึกข้อตกลงเอง ซึ่งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยเช่นกัน ไม่อาจถือว่าจำเลยให้สัตยาบัน บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554
ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์

เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคัน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6324/2552
จำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาค่าสิทธิการเช่าโดยไม่มีอำนาจกระทำการซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองที่ต้องมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนซึ่งต้องมิใช่จำเลยที่ 3 และประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้สัตยาบันการกระทำดังกล่าวตามรายงานการประชุมกรรมการจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823, 1167 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551
เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821

สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2551
   ตัวแทนที่จะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังจะต้องเป็นตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการ ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว

ผู้ขนส่งได้รับสินค้าไว้จากผู้ส่ง ณ ต้นทางในสภาพเรียบร้อยแต่ความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความ ดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่ขนส่งสินค้าจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 5 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2551
สำเนาเอกสารไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง แต่ขณะที่โจทก์นำสืบพยานเอกสารดังกล่าว จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 จึงต้องถือว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับและรับฟัง เป็นหลักฐานพยานได้

ข้อความในหนังสือขอตรวจสอบยอดค้างชำระและเงินตามที่ พ. รับรองความถูกต้องของยอดหนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของ โจทก์มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ พ. กระทำการรับรองถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 กันยายน 2541 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1), 193/15 และ 193/34 (1)

จำเลยผู้เห็นยินยอมให้ พ. เชิดตนเองกระทำการรับรองความถูกต้องของหนังสือตรวจสอบยอดหนี้ของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือน พ. เป็นตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550
จำเลย ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์โดยกำหนดชำระค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองว่าผิดสัญญาดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่ง ธนบุรีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตาม สัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง กับไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กลางขอให้บังคับตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2550
จำเลย ที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดอันเนื่องมาจากการเป็นตัวการตัวแทน จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5

การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ทั้งมีหน้าที่รับเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ย่อมเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปซึ่งรวมทั้งโจทก์เข้าใจและเชื่อว่าสิ่งที่จำเลย ที่ 2 พูดหรือกระทำนั้นเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน แม้การที่จำเลยที่ 2 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าจะเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจของการเป็นตัว แทน จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าดังกล่าวหรือไม่

การที่จำเลยที่ 1 มิได้มีระเบียบให้ตัวแทนรับเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า และในการสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ ระบุไว้ในใบรับเงินชั่วคราว แต่จำเลยที่ 1 จะมีระเบียบในเรื่องการรับชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นข้อปฏิเสธความรับผิดได้

ข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 2 มิได้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว แต่ยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลงข้ออื่นๆ ครบถ้วนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่ทำให้หนี้ เดิมระงับ จำเลยที่ 1 จึงยังผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5256/2550
แม้ การประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาจะไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ข้อ 35 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับค้ำประกันหนี้ ความรับผิด หรือการปฏิบัติตามสัญญา ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าได้ทำสัญญาประกัน ซ. ตามสัญญาประกันอันเป็นการให้สัตยาบันการทำสัญญาประกันนั้นแล้ว สัญญาประกันดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1657/2550
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน..." มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อ ว. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องคดี แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ ว. เป็นการบอกกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ถือว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2312/2550
จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือมีหลักประกันใดๆ ให้ไว้ต่อโจทก์ และเบิกเงินเกินบัญชีหลังจากยื่นคำขอเปิดบัญชีเพียง 3 วัน การที่ธนาคารโจทก์ยอมให้จำเลยใช้เช็คถอนเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักกันเป็นอย่างดีหรือจำเลยเป็นบุคคลพิเศษ แสดงว่าจำเลยมีความผูกพันกับ ช. ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรง ที่เป็นคนเซ็นอนุมัติให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีได้ เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านให้ ช. หลังจากเปิดบัญชีแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็ครับเงินไม่เกินจำนวนเงินค่าจ้างรับ เหมาก่อสร้างบ้านให้ ช. หลังจากนั้นจำเลยก็หยุดใช้เช็คเบิกถอนเงินอีก และน่าเชื่อว่า ช. เป็นคนนำเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลยเป็นการชำระหนี้ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง บ้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวก็เพื่อให้ ช. ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงนำเงินค่างวดในการจ้างเหมาก่อสร้างบ้านชำระ หนี้แก่จำเลยโดยนำเงินเข้าบัญชีให้ และจำเลยจะใช้เช็คเบิกถอนเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านตามงวด จำเลยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ ดังนั้น หาก ช. ไม่นำเงินเข้าบัญชีให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ แสดงว่า ช. ผิดนัดชำระหนี้จำเลยย่อมจะใช้เช็คถอนเงินไม่ได้โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย เงินให้จำเลยแทน ช. แต่อย่างใด แต่การที่ ช. ยอมอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการรับเงินค่างวดที่ ช. นำเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านเข้าบัญชีให้เพื่อชำระหนี้ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ หาก ช. ไม่ใช่ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรง จำเลยก็ย่อมไม่สามารถจะใช้เช็คถอนเงินตามที่ปรากฏในคดีนี้ได้ และหากเงินในบัญชีไม่มี ธนาคารก็ต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยจะได้รีบดำเนินการทวงถามหรือ ระงับการก่อสร้างบ้านตามสัญญาให้แก่ ช. ทันท่วงที หรือดำเนินการฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจาก ช. โดยเร็ว ในขณะที่พยานหลักฐานยังอยู่ครบถ้วน การกระทำของ ช. ถือได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงโดย ไม่ชอบ โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวแทนของตน การที่จำเลยรับเงินไปจากธนาคารโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นเงินค่างวดที่จำเลยมี สิทธิได้รับ จำเลยจึงไม่มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ทำนิติกรรมเบิกเงินเกินบัญชีกับ โจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยในฐานะเป็นลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2550
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องทุพพลภาพ ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย และศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2550
ส. เป็นกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยแล้วมีอำนาจกระทำการ แทนจำเลยได้ แม้ ส. ไม่ได้ประทับตราของจำเลยในหนังสือที่ ส. มีไปถึงโจทก์ แต่หนังสือดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ด้านบนของกระดาษ ถือว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำของจำเลย ข้อความในหนังสือที่ว่าขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันการชำระค่าอุปกรณ์เป็นรายเดือนต่อไป จึงเป็นการกระทำการใดๆ ของจำเลยอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับตามสิทธิเรียก ร้อง จึงเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7970/2549
แม้ตัวแทนทำการเกินอำนาจ แต่ทางปฏิบัติของตัวการย่อมทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรจะเชื่อว่าการ อันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนเช่นนี้ ตัวการย่อมต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สิน ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ

การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำ สิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะ ยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2549
จำเลย ทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณามาก่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา แม้ในครั้งที่พิพาทกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้แต่ก็เป็นเรื่องข้อตกลงภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งบุคคลภายนอก ทั้งข้อความที่ลงโฆษณาก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดชำระสินจ้างแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7739/2549
แม้ ตราที่ประทับของบริษัทโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจจะมิใช่ตราประทับอันเดียวกับ ตราที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่ก็มีรูปลักษณ์ ขนาดและตัวอักษรชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับที่จดทะเบียนไว้ ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นตราของโจทก์ เมื่อกรรมการ 2 ใน 5 คน ลงชื่อกระทำการแทนบริษัทโจทก์ตามข้อบังคับถูกต้อง หนังสือมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ใช้บังคับผูกพันโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7728 - 7729/2548
ลูกหนี้ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางให้บริษัทเขมจิราขนส่ง จำกัด เช่ารถบรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุโดยมีชื่อและเครื่องหมายของลูกหนี้อยู่ที่รถ แล้วนำไปบรรทุกน้ำมันส่งให้แก่ลูกค้าทั่วราชอาณาจักร ถือได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของลูกหนี้ในการขนส่งน้ำมัน เมื่อผู้ขับรถบรรทุกน้ำมันซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวได้กระทำละเมิด ต่อเจ้าหนี้ทั้งสองในทางการที่จ้าง ลูกหนี้ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างของตัวแทนได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425, 427, 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803 - 804/2548
ตัวแทนเชิกที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนไว้ชัดแจ้งเหมือนกรณีสัญญาตั้งตัวแทนตามปกติธรรมดาทั่วไป

จำเลยที่ 1 รู้และยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำที่ดินจัดสรรออกขายแก่บุคคลภายนอกซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำไปเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำไปเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548
โจทก์ บรรยายฟ้องว่า ฮ. เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยมีสำเนาหนังสือมอบอำนาจแนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือ เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมี ป. และ จ. ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าขณะยื่นฟ้องคดี ป. มิได้เป็นรองประธานธนาคารโจทก์และ จ. มิได้เป็นเลขานุการผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แล้ว จึงถือว่าจำเลยทั้งสองรับว่าบุคคลทั้งสองยังมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ใน ขณะที่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเมื่อในขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้มีหนังสือเพิกถอนการมอบอำนาจดังกล่าว การมอบอำนาจดังกล่าวจึงยังสมบูรณ์อยู่และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทน โจทก์จาก ป. และ จ. ไปเป็นบุคคลอื่นภายหลังจากที่ทั้งสองคนลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้โดยชอบ แล้ว ก็หาทำให้กิจการของโจทก์ที่ได้กระทำไปแล้วโดยบุคคลทั้งสองต้องเสียไป หรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด โจทก์ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาสืบว่าขณะฟ้องคดีนี้บุคคลทั้งสองยังคงมีอำนาจ กระทำการแทนโจทก์อยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2548
บันทึก ตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างจำเลยกับ ม. มีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงนำรถยนต์ของ ม. ซึ่งเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ไปทำการตรวจซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และตกลงช่วยเหลือเป็นค่าสินไหมให้แก่ ม. ที่ได้รับบาดเจ็บตอนท้ายมีข้อความว่า คู่กรณีไม่มีการเรียกร้องหรือฟ้องร้องค่าเสียหายใดอันเกิดจากเรื่องนี้อีก ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งคู่กรณีโดย ม. และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และพฤติการณ์หลังเกิดเหตุที่โจทก์มอบให้ ม. ไปตกลงกับจำเลยเรื่องค่าซ่อมรถและค่าเสียหายและโจทก์ยอมรับบันทึกดังกล่าว จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้เชิดให้ ม. เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลละเมิดจากจำเลย คงได้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 852

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12523/2547
หนังสือ มอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องคดีระบุว่า ให้เป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลย รวมทั้งแต่งทนายความถอนฟ้อง ประนีประนอมยอมความ ใช้สิทธิหรือสละสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา ผู้รับมอบอำนาจจึงเป็นตัวแทนโจทก์ในการดำเนินคดีฟ้องจำเลยในคดีเกี่ยวกับทาง จำเป็นเท่านั้น การที่ผู้รับมอบอำนาจได้แถลงต่อศาลตกลงจะขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย จึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของโจทก์ ย่อมไม่ผูกพันตัวการ แต่หลังจากผู้รับมอบอำนาจกับจำเลยได้ตกลงจะซื้อที่ดินกันแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการให้ผู้อาศัยในที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินหมดสิ้นตาม เงื่อนไขที่ผู้รับมอบอำนาจและจำเลยตกลงกัน ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำนอกเหนือ ขอบอำนาจแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 โจทก์จึงต้องผูกพันตามนิติกรรมนั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2547
แม้ จำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายหรือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์โดยแสดงออกชัด แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากผู้ผลิตแล้วจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์คันดังกล่าวแก่บริษัท ต. และยังยินยอมตรวจสภาพรถยนต์คันดังกล่าวตามระยะให้แก่โจทก์ โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้ทักท้วงหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ามิได้เป็นตัวการ ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 กับบริษัท ต. มีกรรมการบริษัทเป็นชุดเดียวกันและมีจำนวน 2 คนเช่นเดียวกัน คือ ช. และ ส. จึงน่าเชื่อว่าบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัท ต. เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาให้บริษัท ต. จัดจำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแทนตนโดยไม่กำหนดว่าต้องจัดการจำหน่ายอย่างไร เป็นการเชิดบริษัท ต. เป็นตัวแทนเชิดและบริษัท ต. ได้ใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าบริษัท ต. โดยจำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2546
ตาม บัญชีพยานอันดับ 1 ในช่องชื่อพยาน โจทก์ระบุว่าผู้รับมอบอำนาจขออ้างตนเองเป็นพยานโดยมิได้ระบุที่อยู่ของพยาน เป็นการระบุถึงสถานะของพยานโจทก์ว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ปรากฏตามฟ้องว่าผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์คือ ข. ส่วน ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ข. แม้ตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ให้อำนาจข. มอบอำนาจช่วงได้ แต่สถานะของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงต่างกันจึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ระบุ ป. เป็นพยาน แต่โจทก์นำ ป. มาเบิกความเพื่อประกอบเอกสารที่แสดงว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างคงนำสืบเพียงว่า การที่กรรมการของจำเลยลงชื่อในใบสั่งซื้อคนเดียวแสดงว่าจำเลยมิได้ซื้อ สินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์นำ ป. เข้าเบิกความ จำเลยก็มิได้คัดค้าน กรณีไม่ปรากฏว่าโจทก์ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี อีกทั้งจำเลยไม่เสียเปรียบและไม่เสียหาย ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังคำเบิกความของ ป. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)

ตามหนังสือรับรองระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้ง ว. ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่ ว. ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่ง พนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมา ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4684/2528
การ ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมหลอกลวงลูกค้าของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าหลงเชื่อซื้อตามนั้น เงินส่วนที่ขายเกินกำหนดเป็นเงินของลูกค้าส่งมอบให้จำเลยเพราะถูกจำเลยหลอก ลวง มิใช่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 810 จึงเป็นเงินของลูกค้าผู้ถูกหลอกลวง หาใช่เงินของโจทก์ร่วมไม่ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อลูกค้าผู้เป็นเจ้าของเงินซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2528)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2527
การ ที่จำเลยที่ 2 ผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสาขาของธนาคารจำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองการใช้เงินตามเช็คแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการที่ตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอก แต่ในการเข้าทำสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่โจทก์ได้ให้เป็นลาภส่วนตัวแก่จำเลยที่ 2 คือโจทก์ยอมรับชำระหนี้ด้วยเช็คและคืนหลักฐานที่จำเลยที่ 2 ยืมเงินจากโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการเป็นลูกหนี้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยการเข้าทำสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 825