การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๐๘ อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

มาตรา ๙๐๙ อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย
(๔) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(๕) สถานที่ใช้เงิน
(๖) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(๗) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
(๘) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๑๐ ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

มาตรา ๙๑๑ ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

มาตรา ๙๑๒ อันตั๋วแลกเงินนั้นจะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้
อนึ่ง จะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้

มาตรา ๙๑๓ อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ
(๒) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ
(๓) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
(๔) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น

มาตรา ๙๑๔ บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา ๙๑๕ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
(๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
(๒) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตนบางอย่างหรือทั้งหมด

มาตรา ๙๑๖ บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา ๙๑๗ อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดั่งนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

มาตรา ๙๑๘ ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา ๙๑๙ คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา ๙๒๐ อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(๑) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(๒) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(๓) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา ๙๒๑ การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๒๒ การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย
อนึ่ง การสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา ๙๒๓ ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

มาตรา ๙๒๔ ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินนั้นแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่ายกับสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น
แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรองต่อผู้สั่งจ่าย และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น

มาตรา ๙๒๕ เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ” ก็ดี“เพื่อเรียกเก็บ” ก็ดี “ในฐานจัดการแทน” ก็ดี หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานเป็นตัวแทน
ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อันจะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น

มาตรา ๙๒๖ เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า”ราคาเป็นประกัน” ก็ดี “ราคาเป็นจำนำ” ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิด หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่ กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญา จักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้า บัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2550
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ข้อที่จำเลยนำสืบเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ท. นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็น สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่ ท. ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่า ท. เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ไม่
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อ ท. ผู้ทรงคนก่อน การที่ ท. ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยการส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับ ท. ผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และ ท. ผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2549
ตาม ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุวันออกตั๋วคือวันที่ 30 กันยายน 2540 วันถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 31 ตุลาคม 2540 กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ BBL MOR +1 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกมีข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ และมิได้ระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันใด จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วัน ที่ลงในตั๋ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968, 985 เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามก่อนแต่อย่างใด เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้รับโอนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมจึงมีสิทธิเรียกร้องตามมูล หนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้จากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548
เช็ค พิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548
เช็ค พิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น
จำเลยจำนำตั๋วแลกเงินเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงิน ไว้ในครอบครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 และ 766 นั้น เมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนด ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหัก ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548
ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระ หนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่ง จำนำออกขายทอดตลาดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่า ด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็น ประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าว บังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าว โดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋ว นี้ ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋ว แลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อย ลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้น หรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548
จำเลย ให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียก เก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับ จำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่ง จำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไป เช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2547
จำเลย ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ และผู้โอนเช็คพิพาทกับโจทก์ผู้รับโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่อ้าง เมื่อจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนก่อน การที่ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ ทั้งเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ จำเลยไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ ทั้งจำเลยจะอ้างว่าโจทก์และผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินต่อกันหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
(ปัญหานี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2547
จำเลย สั่งจ่ายเช็คให้ใช้เงินแก่ บ. หรือผู้ถือ มีผู้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากโจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับ ผิดตามเช็คได้ จำเลยหาอาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคล ระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยให้การเพียงว่าเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่ บ. ไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพราะจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คนั้นไปแล้ว เป็นการกล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับผู้ทรง คนก่อนเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้ทรงคนก่อน อย่างไร จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 916
จำเลยให้การว่าโจทก์ใช้อำนาจในการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตโดยมิได้บรรยายให้ชัด ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2545
จำเลย ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ มีแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้แต่เนื่องจากมูลความแห่งคดี เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 4 ด้วย
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกำหนดวันชำระเงินเมื่อทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 913(3) ประกอบกับมาตรา 985 ซึ่งอายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ออกตั๋วแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนการทวงถามจำเลยที่ 2 ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีเดียวกัน จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 3 ปี ตามมาตรา 1001
โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่ง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30(2) ข้อกฎหมายดังกล่าวศาลรู้ได้เองโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ตามที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4383/2545
เช็ค พิพาทระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน แต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือจึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย หากมีการสลักหลังเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 จึงบัญญัติว่าเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังไม่ ดังนั้น การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาท ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีของผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทน ของโจทก์ หรือโอนเช็คพิพาทไป เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เช็คพิพาทกลับมาครอบครอง โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ตามมาตรา 904ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดตามมาตรา 1002 ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับตามมาตรา 1003ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน
ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค มิได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรง เช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ ดังนั้น โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9539/2544
เช็ค เป็นตั๋วเงินที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เพื่อทวงถาม ผู้ทรงเช็คจึงมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึง วันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็ค แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ผู้ทรงอาจบังคับตาม สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12
โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คพิพาท เดิม และยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการขาด ตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็ค เมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลงวันออกเช็คในครั้งหลังเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คจึงเป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2543
เช็ค พิพาททั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายระบุผู้รับเงินคือจำเลยที่ 2โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือ ในเช็คออก จึงเป็นเช็คผู้ถือผู้จ่ายอาจจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดก็ได้ที่มีเช็คอยู่ในครอบครอง การที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339/2539
เช็ค พิพาทเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารก.เพื่อขายลดเช็ค ย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นธนาคารก. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ และเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยัง เป็นผู้ทรงเช็คอยู่ครั้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระ เงินตามเช็คให้ธนาคารก.และรับเช็คพิพาทคืนมาโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลัง หาใช่ผู้ทรงเช็ค ขณะนั้นไม่จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2539
ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าผู้ออกตั๋วได้ออกตั๋วเมื่อวันที่17มิถุนายน2528สัญญาว่า จะจ่ายเงิน10,030,000บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5ต่อปีในวันที่ 17มิถุนายน2529ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่17มิถุนายน 2528ซึ่งเป็นวันออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 911ประกอบมาตรา985

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547
อายุ ความเช็คต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ใช่นับแต่วันมอบเช็คให้ เมื่อขณะที่โจทก์รับมอบเช็ค เช็คยังไม่ลงวันที่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออก เช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ตาม ป.พ.พ. มารตรา 910 ประกอบมาตรา 989 เมื่อนับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้องไม่เกินหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7545/2538
จำเลย เป็นผู้สลักหลังเช็คที่ ย.สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินโจทก์ไม่ได้ รับชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลังย่อมต้องรับผิดร่วมกับย . ชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อหนี้เดิมจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามเช็คแต่ต่อมาได้ทำสัญญากู้ เงินกันแทนหนี้จำนวนนี้ย่อมเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแม้ ตอนทำสัญญากู้เงินจำเลยมิได้รับเงินจากโจทก์แต่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อน แล้วตามจำนวนหนี้ที่ ย.สั่งจ่ายเช็คและจำเลยเป็นผู้สลักหลังโดยจำเลยไม่จำต้องเกี่ยวข้องหรือมีผล ประโยชน์ร่วมกับ ย. จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้รายนี้เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์และได้มี การทำสัญญากู้เงินกันแทนถือว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และโจทก์สามารถบังคับให้ ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามกฎหมายแม้ในวันทำสัญญากู้เงินจำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค โดยลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้เงินการสั่ง จ่ายเช็คดังกล่าวถือว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับ ได้ตามกฎหมายเมื่อธนาคารปฎิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คการกระทำของจำเลยย่อมเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2538
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับจำเลยจึงมีความ ผูกพันร่วมกับบริษัทจ.ผู้ออกตั๋วรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา919,967และ985 โจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามหนี้จากจำเลยเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน2530จำเลยได้รับการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามเมื่อวัน ที่26พฤศจิกายน2530กรณีเช่นนี้ถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยมี ผลตามกฎหมายเมื่อวันที่26พฤศจิกายน2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยให้ ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงินเพราะก่อนหน้า นั้นจำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท เพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีเท่านั้นเมื่อ จำเลยทราบแล้วเพิกเฉยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดอายุความแห่งสิทธิเรียกร้อง ของโจทก์ต้องเริ่มนับแต่วันที่26พฤศจิกายน2530โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23ธันวาคม2530ยังไม่เกิน1ปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยคดีโจทก์จึง ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2522
เมื่อ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินดังกล่าว หาได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินไม่สัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มี กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะดังนั้น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนดอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2530
ตั๋ว แลกเงินระบุว่า ธนาคาร ฮ.เป็นผู้รับเงิน มีชื่อบริษัทจำเลยและตราบริษัท กับลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งอันหมายความถึง การรับรองตั๋วแลกเงินจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายหาจำต้องมีข้อความระบุว่า 'ผู้จ่าย' ด้วยไม่ ส่วนบริษัทค.ซึ่งในตั๋วแลกเงินมีระบุชื่อบริษัทดังกล่าวและลายมือชื่อ กรรมการผู้จัดการด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้สั่งจ่าย และไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า 'ผู้สั่งจ่ายเช่นกัน
ธนาคาร ฮ. ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นผู้ทรงได้สลักหลังให้ธนาคาร ก. จัดการแทน และธนาคาร ก. ได้สลักหลังต่อไปยังโจทก์ในฐานะจัดการแทน โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋ว นั้นได้ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงินและฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2521
ใน กรณีตั๋วแลกเงินมิได้ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แม้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ทรงใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงจากจำเลยที่ 1 ผู้จ่ายซึ่งได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 968 โจทก์ก็มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดชำระและมีการผิด นัดแล้วตามหลักหนี้ทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204,224
เมื่อโจทก์ผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่ วันถึงกำหนดชำระจากบรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นได้แล้วก็ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละห้าต่อปีจากจำเลยที่ 1 ผู้รับรองตั๋วแลกเงินซึ่งต้องร่วมกันกับบุคคลดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967,968(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2499
หนังสือ ตราสารที่ขาดรายการตาม มาตรา 909 ย่อมไม่เป็นตั๋วแลกเงินที่สมบูรณ์ และเมื่อไม่มีข้อความว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถืออยู่ด้วยแล้ว เพียงการส่งมอบเท่านั้นยังไม่เป็นการโอนโดยชอบ
หนังสือ ตราสารซึ่งไม่มีลักษณะว่าผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินให้แก่อีก บุคคลหนึ่งหรือตามคำสั่งของอีกบุคคลหนึ่งนั้นย่อมไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน