การบังคับจำนอง แก้ไขใหม่(ข้อสังเกตุ)

















มาตรา ๗๒๘ เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันพ้นกำหนดสิบห้าวันดังกล่าว

มาตรา ๗๒๙ ในการบังคับจำนองตามมาตรา ๗๒๘ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้

(๑) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ

(๒) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ

มาตรา ๗๒๙/๑ เวลาใดๆหลังจากที่ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้รับจำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยให้ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้รับจำนองไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภารติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว

เมื่อผู้จำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิจำนวนเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนองหรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๓๓ และในกรณีที่ผู้จำนองเป็นบุคคลซึ่งจำนองทรัพ์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้จำนองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่มาตรา ๗๒๗/๑ กำหนดไว้

มาตรา ๗๓๐ เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่านให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

มาตรา ๗๓๑ อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

มาตรา ๗๓๒ ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง

มาตรา ๗๓๓ ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

มาตรา ๗๓๔ ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้น ๆ ทั้งหมด หรือแต่เพียงบางสิ่งก็ได้ แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน

ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน ท่านให้แบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้น ๆ เว้นแต่ในกรณีที่ได้ระบุจำนวนเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่ง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด ท่านให้แบ่งกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้น ๆ

แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้ ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อนและจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น

มาตรา ๗๓๕ เมื่อผู้รับจำนองคนใดจำนงจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ท่านว่าต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2562
สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ และย่อมระงับสิ้นไปเพียง 6 กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น เมื่อการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองดังกล่าวได้ การจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงครอบติดอยู่ตามสัญญาจำนอง ไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ออกไปเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 อีกแปลงหนึ่ง ต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 ที่แบ่งแยกออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงมีการจำนองครอบติดอยู่ด้วยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการจดแจ้งไว้ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 204439 ว่ามีการจำนองครอบติดอยู่ และแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากเสียค่าตอบแทนและได้มาโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 แต่ก็หาทำให้สิทธิจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์จำนองเสื่อมเสียไปไม่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

ฟ้องโจทก์เพียงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยไม่ชอบให้คงปรากฏภาระจำนองเป็นหลักประกันแก่หนี้กู้ยืมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และตามคำขอบังคับโจทก์ก็ยังไม่ได้ทรัพย์สินใดมา เพราะโจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) หรือฟ้องบังคับชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นของตน คดีโจทก์จึงหาใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2562
ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50

ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้เป็นการยื่นเข้ามาก่อนคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด ก็ต้องถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 50 เพราะไม่ทราบถึงประกาศของศาลและหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230

สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป

การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2562
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินนั้นภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้

ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562
จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562
ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)

ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95

แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2562
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ไปยังบริษัท อ. ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 อันเป็นการดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2549 แล้ว กล่าวคือ โจทก์เดิมได้ขอศาลออกหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 และวันที่ 9 กันยายน 2553 และศาลได้ออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ยังไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นของจำเลยได้ และมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและหากระยะเวลาการบังคับคดีสิ้นสุดลง ก็ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 60 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ย่อมเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาการบังคับคดี และชอบที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่จำต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องอีก เพราะขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 อยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับคดี แม้ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอแยกสำนวนไปดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 60 วันตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ให้ตามคำร้องขอของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626 - 627/2562
การที่โจทก์ที่ 3 พนักงานของบริษัทจำเลยทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย แม้การจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจะเป็นการนอกเหนือความประสงค์ของจำเลย จำเลยไม่อาจยกความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริต จำเลยจึงต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ที่ 3 ทำกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2562
โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561
การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2561
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับ A โดยมีข้อสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาหลักทรัพย์ประกันการปฏิบัติงานโดยหนังสือค้ำประกันต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาตามที่กำหนดและต้องจัดทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก A หนังสือค้ำประกันที่ A กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหามาให้นั้นต้องมีข้อความสำคัญระบุว่า เมื่อธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันได้รับหนังสือเรียกร้องจาก A ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทันที อันเป็นการที่ต้องชำระเงินเพียงเพราะได้รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่จำต้องตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวได้เนื่องจากมีข้อความตอนต้นว่า ธนาคารตกลงรับรองและรับประกันต่อ A อย่างไม่มีเงื่อนไขและปราศจากสิทธิในการแก้ต่างหรือฟ้องแย้งใด ไม่ว่าในนามของธนาคารหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อความแสดงถึงการสละสิทธิในการต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้ง และการที่ A กำหนดรายละเอียดของหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหามาให้ A โดยธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันที่มีรายละเอียดดังกล่าวได้และจำเลยที่ 1 ทำคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันโดยมีข้อความที่รับกับข้อความตามหนังสือค้ำประกันที่ A ต้องการดังกล่าว รวมทั้งการที่หนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานที่โจทก์ออกไปตามข้อความที่ A ต้องการ แสดงว่าการที่ผู้ว่าจ้างต้องการหนังสือค้ำประกันที่มีข้อความเช่นนี้และการที่ธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสถาบันการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้างได้รับหลักประกันของสถาบันการเงินที่มั่นคง และเรียกร้องให้ชำระเงินได้รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาได้โดยเร็ว โดยไม่จำต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่ผู้รับจ้างและธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็สามารถว่ากล่าวกันต่างหากได้ ข้อตกลงนี้แม้จะมีลักษณะที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระเงินได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องค้ำประกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามทำข้อตกลงเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในลักษณะดังกล่าวและไม่เป็นการพ้นวิสัย เมื่อโจทก์จะต้องออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ต้องชำระตามหนังสือค้ำประกันเมื่อได้รับหนังสือเรียกร้องให้ชำระเงินจากธนาคาร ส. ในประเทศไทยโดยไม่มีสิทธิคัดค้านไม่ว่าด้วยประการใด โจทก์จึงกำหนดข้อสัญญาในคำขอของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันที่ระบุถึงการยอมให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน และจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะทักท้วงการจ่ายเงินของโจทก์ ทั้งจะต้องชดใช้เงินที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยเงื่อนไขในการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นพิจารณาเฉพาะการได้รับหนังสือเรียกร้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย และให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2561
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745

การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561
ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)

แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9988/2560
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 24/2552 เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ข้อ 5.2.1 กำหนดให้สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) กำหนดให้สินทรัพย์ที่ลูกหนี้ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว สำหรับสินทรัพย์ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมีวงเงินและครบกำหนดสัญญาแล้วไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดสัญญา ให้จัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินกู้ว่า วันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระต้นเงิน 45,465,894.73 บาท ดอกเบี้ย 292,031.04 บาท และในวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ค้างชำระต้นเงิน 45,077,068.42 บาท ดอกเบี้ย 649,385.86 บาท การนับระยะเวลาหนี้ค้างชำระตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย แต่ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ เมื่อนับถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ทั้งเป็นกรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ตามข้อ 5.2.3 (2) วรรคท้าย ยังให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นดังกล่าวด้วย ส่วนทรัพย์ที่จำนองเป็นหลักประกันมีมูลค่าเพียงใด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้นำมาพิจารณาในการจัดชั้นสินทรัพย์ แต่ให้นำมาพิจารณาเพื่อการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเมื่อจัดชั้นสินทรัพย์แล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์หนี้กู้ยืมเงินให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สำหรับสินทรัพย์หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่า ในวันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญา โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระ 1,999,750.54 บาท หลังจากนั้นมีการโอนเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และมีหนี้ค้างชำระในวันสิ้นเดือนดังกล่าว 2,052,861.12 บาท แม้เห็นได้ว่านับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ย้อนหลังขึ้นไปยังมีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินกว่า 6 เดือน ไม่อาจจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ได้ก็ตาม แต่ในการจัดชั้นสินทรัพย์นั้น ข้อ 5.2.2 วรรคแรก ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต้องจัดชั้นสินทรัพย์เป็นรายบัญชี โดยคำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของกระแสเงินสดรับของแต่ละบัญชี ซึ่งหากกระแสเงินสดของลูกหนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อาจต้องจัดชั้นไว้ด้วยกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันเพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจโรงแรมของโจทก์ ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 12 และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 6 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไปลงรายการในบัญชีกระแสรายวันและถือเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กระแสเงินของแต่ละบัญชีจึงมีความเกี่ยวเนื่องกันและชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์ไว้ด้วยกันได้ การที่จำเลยที่ 1 จัดชั้นหนี้กู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจึงเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชอบที่จะรับโอนไว้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 แต่กลับฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 ที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง

โจทก์กล่าวในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทางเลือกอื่นในการบังคับชำระหนี้ โดยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายและไม่ควรเลือกใช้ช่องทางตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีไม่ได้ ตามคำฟ้องย่อมไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ฟ้องคดีได้หรือไม่ แม้โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2560
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ

ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10933 และ 11652 ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงฟ้องขอให้บังคับจำนอง จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไว้แก่โจทก์ เพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์นำค่านายหน้าและดอกเบี้ยล่วงหน้ารวมเป็นต้นเงินเป็นการไม่ชอบ ถือว่าจำเลยรับแล้วว่าจำนองที่ดินทั้งสองแปลงไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบหรือส่งพยานหลักฐานเกี่ยวกับการจำนองที่ดินทั้งสองแปลงต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งโฉนดที่ดิน 11652 ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา..." ถ้อยคำว่า "ไปถึง" นั้น หมายความว่า ได้มีการแสดงเจตนาโดยมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้ แม้ขณะจดหมายบอกกล่าวไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้จะไม่พบลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงลูกหนี้โดยชอบแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 และมาตรา 169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2559
แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559
ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปี แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอลงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลย ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตามทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2559
แม้การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจะเป็นการขายโดยวิธีปลอดจำนอง แต่การบังคับจำนองดังกล่าวไม่เป็นการทำให้หนี้ของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้และผู้รับจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๔ (๕) เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้จำนองตามมาตรา ๗๒๘ หรือเป็นการฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองตามมาตรา ๗๓๕ และมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญฟ้องคดีแล้วไปยึดทรัพย์ที่ติดจำนองและนำไปขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองเท่านั้น เช่นนี้ ในระหว่างผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องจึงยังมีสิทธิตามสัญญาจำนองในฐานะผู้รับจำนองและเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทำกับรับเงินไปจากผู้ร้องและยังไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้กับผู้ร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้สามัญรายอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2559
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 เมื่อสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีขาดอายุความ อย่างไรก็ตามในมูลหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 3 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ และ ป. เจ้าหนี้อื่นในคดีแพ่งได้นำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาเจ้าหนี้ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเท่ากับสิทธิของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2559
เจ้าหนี้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันของลูกหนี้โดยเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 74181, 58539 และ 58540 ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของลูกหนี้ในทางจำนอง แม้จะได้ความว่าหนี้ประธานของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ตามมาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 การที่เจ้าหนี้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เท่ากับว่าเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามบุริมสิทธิจำนองในลำดับสองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ. 2770/2548 ของศาลแพ่ง ซึ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้จำนองลำดับหนึ่งโดยเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 81/2554 โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีแพ่งต่อไปและให้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่น แล้วส่งเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งเข้ามาในคดีล้มละลาย ดังนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทนตามนัยมาตรา 6 นิยาม "เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" และมาตรา 112 อันเป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15161/2558
คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอหักส่วนได้ของตนในฐานะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเพื่อใช้แทนราคาซื้อจากการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเรื่องนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีจึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าคำร้องนี้อาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ต้องให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์หักส่วนได้ใช้แทนโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองคัดค้านก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายในการพิจารณาคดีดังกล่าวอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 ส่วนผู้ซื้อทรัพย์ในฐานะผู้จำนองก็มีภาระหนี้จำนองที่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่ผู้ร้องและจะขอกันส่วนในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองเสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในการบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองทั้งหมดดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด ส่วนหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้พอชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องแล้วมีเงินเหลืออยู่อีกก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการจ่ายคืนส่วนของผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในภายหลังต่อไป อันเป็นคนละเรื่องคนละส่วนกับเรื่องนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15158/2558
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558
ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง คดีนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการโอนที่ดินพิพาทจาก ร. ให้แก่ทางราชการ และผู้รับจำนองได้ฟ้องบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนองไป กรณีไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ. มาตรา 722 ซึ่งเป็นเรื่องขอให้ลบสิทธิที่จดทะเบียนออกจากทะเบียน หากผู้รับจำนองเสื่อมสิทธิได้รับความเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้จำนองต่อไป ร. ผู้จำนองจึงมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการได้ เมื่อ ร. ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาโอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนับแต่วันที่ ร. แสดงเจตนายกให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 การอุทิศที่ดินพิพาทของ ร. ให้แก่ทางราชการจึงชอบด้วยกฎหมาย

ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะที่ดินพิพาท จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ธนาคาร อ. ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทต่อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ตาม เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14493/2558
คำร้องของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2109/2549 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นการร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจของเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งเป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ในการได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองเท่านั้น ส่วนคำฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะลูกหนี้สามัญตามสัญญากู้ยืมเงิน หาได้ฟ้องขอบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำนอง และฟ้องเฉพาะมูลหนี้ส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับจากการขอรับชำระหนี้ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2109/2549 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เท่านั้น ซึ่งเป็นฟ้องคนละประเด็นกัน ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกันกับคำร้องของโจทก์ในคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2109/2549 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14118/2558
โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 อันเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินเดิมอันถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิตามสัญญาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคือที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ในคดีที่จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจยึดนำที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวออกขายทอดตลาดในคดีดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิในฐานะผู้รับจำนองของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อทรัพย์จำนอง ซึ่งสิทธิตามสัญญาจำนองจะระงับไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น อันได้แก่ เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น เมื่อถอนจำนอง เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด เมื่อเหตุที่โจทก์อ้างไม่ใช่เหตุตามบทบัญญัติที่กล่าว สัญญาจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10774/2558
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จำนองเป็นประกัน และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ในกรณีบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ หรือในกรณีผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์ที่จำนองต่ำกว่าจำนวนหนี้อยู่เท่าใด ลูกหนี้ผู้จำนองยอมชำระหนี้ที่ขาดนั้นจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ผู้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และหากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) หรือ (4) ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันเหล่านี้จะต้องได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หนี้ส่วนที่เหลือจึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 130 (7) และการที่แผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เป็นเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/46 ทวิ (2) ก็ย่อมแสดงว่าในจำนวนหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกันนั้น นอกจากนี้เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/28 และแม้ว่าในระหว่างลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้มีประกันจะถูกจำกัดสิทธิมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ แต่การจำกัดสิทธินั้นจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (6) และมาตรา 90/13 แผนฟื้นฟูกิจการจึงต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันโดยเจ้าหนี้มีประกันที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผนจะต้องได้รับชำระหนี้เมื่อดำเนินการสำเร็จตามแผนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3)

เมื่อพิจารณาสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลายในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสาม หรือเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้โดยตีราคาทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้ส่วนที่ขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (4) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์หลักประกันจนเต็มจำนวนบุริมสิทธิที่ตนมีอยู่ เจ้าหนี้มีประกันจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลค่าปัจจุบันในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน หากว่ายังไม่ได้มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันโดยเต็มจำนวนและในทันทีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ลูกหนี้ย่อมจะต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้านั้นเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน ส่วนการประเมินมูลค่าหลักประกันที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมโรงงานซึ่งในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะมีการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ในส่วนนี้ต่อไป มิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันไปในราคาบังคับขายแต่อย่างใด ราคาประเมินที่เหมาะสมซึ่งจะนำมาใช้ก็คือ ราคาตลาดอันมีราคา 228,788,921 บาท หาใช่ราคาบังคับขายอันมีราคา 148,974,000 บาท ไม่

การที่ข้อเสนอขอแก้ไขแผนกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขเดิม ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้วนั้นย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขแล้วย่อมผูกพันบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการขอแก้ไขดังกล่าวยังเป็นการกระทบสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้บริหารแผนจะอ้างราคาบังคับขายทรัพย์หลักประกันเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 ได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายหาได้ไม่ เนื่องจากกิจการของลูกหนี้มิได้ปิดลง ทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายในการขายทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใด ดังนี้ การประเมินราคาทรัพย์สินตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนจึงเป็นการประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยมิชอบ ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้มีประกันไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3) ประกอบมาตรา 90/13 อันมีผลให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 อาจได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่มีการขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/58 (3) ทั้งเป็นการขัดต่อผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วซึ่งไม่อาจทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10011/2558
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นหลักประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติและเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสามยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดนั้นให้โจทก์จนครบถ้วน และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสามในทางแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงิน รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งสามก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งสาม เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9897/2558
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 นั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำพิพากษาได้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเทียบกับรายการที่ต้องมีในคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 แล้ว พบว่าคำพิพากษาของศาลดังกล่าวในหน้า 2 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้ว คดีฟังได้ว่า" ถึงหน้า 7 บรรทัดที่ 7 สิ้นสุดที่ข้อความว่า "และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26" เป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนหน้า 7 บรรทัดที่ 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "คดีฟังได้ดังกล่าว" จนสิ้นสุดบรรทัดที่ 11 นั้นเป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากที่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามข้อความก่อนหน้านี้ ตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ส่วนข้อความในหน้า 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิพากษาให้..." เป็นต้นไปจนจบนั้นเป็นส่วนของคำวินิจฉัยของศาลตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กล่าววินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจของโจทก์ที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้า หลังจากการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ว่าจะสามารถยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีกหรือไม่ และเมื่อพิจารณารายละเอียดต่อไปในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยให้โจทก์มีอำนาจยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีก ดังนั้น คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทั้งสองส่วนจึงสอดคล้องกัน ไม่ใช่เรื่องที่คำพิพากษาเกิดข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 แต่โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 38 เมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2558
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2558
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับจำนองแก่ห้องชุดเลขที่ 60/630 ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนองตามคำพิพากษา ส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลางที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดดังกล่าวค้างจ่ายแก่ผู้ร้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือห้องชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของจำเลย และเมื่อปรากฏว่าผู้จัดการผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว บุริมสิทธิของผู้ร้องจึงอยู่ในลำดับก่อนจำนองตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) และ (2) และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่า หนี้ของผู้ร้องที่นำมาขอรับชำระหนี้นั้นขาดอายุความแล้วเพื่อมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจากทรัพย์สินจำนองก่อนโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองซึ่งมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในทรัพย์สินจำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2558
การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นราชการประจำตามปกติที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่โจทก์ยังมีธนาคารอื่นที่ได้รับใบอนุญาตเช่นกัน ดังนั้น ปลัดกระทรวงการคลังย่อมใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์โดยตั้งเป็นสาขาในประเทศไทยได้ โดยไม่จำต้องผ่านความเห็นชอบของบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 6 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ข้อ 1 การที่ปลัดกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตให้แก่โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย และตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ บัญญัติว่า "ผู้ใดจะกระทำการแทนธนาคารต่างประเทศโดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักร หรือธนาคารพาณิชย์ใดนอกจากสาขาของธนาคารต่างประเทศจะตั้งสำนักงานเพื่อกระทำการแทนธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย..." เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช้บังคับแก่สาขาของธนาคารต่างประเทศ ดังนั้น ห. ผู้จัดการสาขาของโจทก์ในประเทศไทยซึ่งกระทำการแทนโจทก์มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ข้อตกลงตามสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจะชำระส่วนที่ขาดจนครบ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะผิดไปจากบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงตามบันทึกต่อสัญญาจำนองที่กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากบังคับจำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ก็เป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างทราบดีอยู่แล้ว จะถือว่าโจทก์ได้เปรียบในการต่อรองในการปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยทั้งสามต้องรับภาระหนักกว่าโจทก์มากตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 10 (1) (3) และ (4) หาได้ไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

หนังสือสัญญาค้ำประกันแม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ แต่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และ 681 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีจำนวนแน่นอน โดยหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นได้จริงก็ค้ำประกันได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับได้

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์พร้อมกับคำพิพากษา จำเลยทั้งสามชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งจนพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงยุติไป จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาได้อีก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558
แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับ คดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้น กำหนด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2551
จำเลย ที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์และทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ ดังกล่าว โดยมีข้อสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินดังกล่าว เป็นการร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นและได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้นั้นจึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ในฐานะภริยาต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นสามีรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย

ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติเพียงว่า ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลา อันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น มิได้บัญญัติบังคับว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือด้วยการมอบอำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3802/2551
เจ้าหนี้จำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองให้เอา เงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องฟ้องบังคับจำนองโดยตรงที่จะต้องบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551
โจทก์ ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้ รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สิน ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้" ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือ ไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปีคำ

พิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2551
โจทก์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 4,200,000 บาท โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้เงิน ต่อมาจำเลยกู้เงินโจทก์อีกโดยได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 เป็นเงิน 3,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองและบังคับจำนอง โดยคำขอท้ายฟ้องระบุว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำ เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยประสงค์จะบังคับคดี เอาจากทรัพย์ที่จำนองเท่านั้น มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวไม่มีข้อความว่า หากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำ พิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 733

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3802/2551
เจ้าหนี้จำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองให้เอา เงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องฟ้องบังคับจำนองโดยตรงที่จะต้องบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะ ต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้

การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึด ทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไป ยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2551
โจทก์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 4,200,000 บาท โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้เงิน ต่อมาจำเลยกู้เงินโจทก์อีกโดยได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 เป็นเงิน 3,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองและบังคับจำนอง โดยคำขอท้ายฟ้องระบุว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำ เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยประสงค์จะบังคับคดี เอาจากทรัพย์ที่จำนองเท่านั้น มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวไม่มีข้อความว่า หากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำ พิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 733

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550
จำเลย ค้างชำระหนี้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงินจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจาก เงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอชำระหนี้โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 207

มาตรา 733 แห่ง ป.พ.พ. เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณี ของสังคม จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอัน ดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2550
การจำนองเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นการประกันหนี้โดยมีหนี้ประธานและจำนอง อันเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ เจ้าหนี้จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือ บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 หรือจะบังคับจำนอง คือ ใช้บุริมสิทธิ์บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 728 ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าในกรณีซึ่งเป็นหนี้จำนองแล้ว ผู้เป็นเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับลูกหนี้อย่างหนี้สามัญตามมาตรา 214 ไม่ได้ เป็นแต่เพียงกฎหมายบังคับว่า ในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบังคับจำนองสิทธิของโจทก์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 733 เท่านั้น ประกอบกับมาตรา 733 มิได้บังคับว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้แต่ทางเดียว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยรวมทั้งทรัพย์ที่จำนองได้ มิใช่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้แต่เฉพาะที่ดินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน หนี้เงินกู้เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550
โจทก์ ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตาย ของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็น ประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวน นั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม

แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116 - 6117/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 วรรคสอง เป็นกรณีที่มีการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิ ได้ระบุลำดับไว้ เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันจึงแบ่งกระจาย ภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สินนั้นๆ แต่ผู้ร้องมิใช่ผู้รับจำนองที่ใช้สิทธิดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อชำระหนี้ จำนองให้แก่ผู้ร้องแล้วยังคงมีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยกเหตุตามมาตราดังกล่าวขึ้นอ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2550
สัญญาจำนองที่ดินระหว่างกรมสรรพากรโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 733 กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ทั้งมาตรา 733 มิได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่า นั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1657/2550
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน..." มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อ ว. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องคดี แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ ว. เป็นการบอกกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ถือว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2550
การจำนองเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นการประกันหนี้โดยมีหนี้ประธานและจำนอง อันเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ เจ้าหนี้จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือ บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 หรือจะบังคับจำนอง คือ ใช้บุริมสิทธิ์บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 728 ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าในกรณีซึ่งเป็นหนี้จำนองแล้ว ผู้เป็นเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับลูกหนี้อย่างหนี้สามัญตามมาตรา 214 ไม่ได้ เป็นแต่เพียงกฎหมายบังคับว่า ในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบังคับจำนองสิทธิของโจทก์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 733 เท่านั้น ประกอบกับมาตรา 733 มิได้บังคับว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้แต่ทางเดียว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยรวมทั้งทรัพย์ที่จำนองได้ มิใช่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้แต่เฉพาะที่ดินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน หนี้เงินกู้เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2550
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อจะบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเท่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนองไปในคำบอกกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นทั้งลูกหนี้และผู้จำนองย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์สินซึ่งจด ทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ไว้แก่โจทก์คือ ห้องชุดเลขที่ 54/225 หาใช่ห้องชุดเลขที่ 0225 การที่หนังสือบอกกล่าวระบุทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นห้องชุดเลขที่ 0225 เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องการพิมพ์ตัวเลขห้องชุดผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทำการไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ว่าให้ชำระหนี้ภายใน เวลาอันสมควรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5. ระบุไว้ว่า ...ถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกัน อัคคีภัยเอง ผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบ ถ้วนภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบ... ตามข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ย ประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2549
การ ที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใดโดยอาศัย เหตุอย่างใดแล้ว คู่ความเดียวกันจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้น โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับ พ. ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนองเนื่องจาก พ. ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีแพ่งหมายเลข แดงที่ 11353/2534 ที่ ส. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. ขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่ ส. แม้จำเลยจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง แต่จำเลยก็มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ที่โจทก์ฟ้อง พ. ทั้งจำเลยมีสิทธิที่จะไถ่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 เมื่อจำเลยไม่ไถ่จำนองและโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยตามมาตรา 735 แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดี แพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว มูลคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นคนละอย่างกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2549
คดีก่อนโจทก์ฟ้อง พ. และนาวาอากาศตรี พ. ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดง ที่ 5957/2537 ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. นำยึดออกขายทอดตลาด ดังนี้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ แต่หาทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตาม ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 4 มิใช่ว่าโจทก์จะอาศัยความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ติดตามบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องการสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อ ร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2545
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ ท. ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้หลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตายไปแล้วเกิน 1 ปี ซึ่งทำให้คดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์ เอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อทนายโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการ บังคับจำนองที่ทนายโจทก์ได้บอกกล่าวในนามของโจทก์แล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 และถือว่าได้มีการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแล้ว

ท. เป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตายลง จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดย ธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ส่วนการที่จำเลยทั้งสามจะได้รับมรดกของ ท. และ ท. จะมีทรัพย์มรดกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8843/2544
จำเลย ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อ เป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้จำนองที่ดินกับโจทก์ ดังนั้น การบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนฟ้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวบังคับ จำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 โจทก์จึงหาจำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 ก่อนไม่ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1จะไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ก็ไม่มีผลอย่างใด

สัญญากู้เงินข้อ 6 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดเงื่อนไข ผู้กู้ยอมให้ถือว่าเป็นการผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดและให้ถือว่าบรรดา หนี้สินทั้งหลายตามสัญญานี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ผิดนัดผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องทวงถามก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2544
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระคลาดเคลื่อนไป แต่จำเลยก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งจำนวนเงินดังกล่าวได้ จึงไม่เป็นเหตุให้การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ

จำเลยจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น การที่หนี้ดังกล่าวขาดอายุความ และจำเลยสละประโยชน์แห่งอายุความเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 745ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนฟ้องย้อนหลังไปมีกำหนด 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2543
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงินทั้งสามฉบับและหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 1 รายการ จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามสัญญา จึงเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ เมื่อข้อตกลงในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ทั้งสามฉบับยอมให้โจทก์ บอกกล่าวเลิกสัญญาได้ก่อนสัญญาครบกำหนด การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยก่อนสัญญาครบกำหนดจึงหาใช่เป็นการ ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เพราะหากโจทก์จะปล่อยให้จำเลยกู้เงินต่อไปก็ยิ่งจะเป็นภาระหนักแก่จำเลยที่ ไม่อาจชำระหนี้คืนแก่โจทก์ได้แน่นอน และการที่โจทก์ยอมให้บริษัท ร. อันเป็นบริษัทในเครือของจำเลยกู้เงินจากโจทก์ มาชำระหนี้แก่โจทก์เพื่อลดหนี้ของจำเลย และยอมให้จำเลยกู้เงินจากโจทก์ นำมาลดหนี้ของจำเลย ตามฎีกาของจำเลยก็ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยเองทั้งสิ้น หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

จำเลยได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับ จำนองแล้ว แต่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วนเท่านั้น มิได้ชำระทั้งหมดตามจำนวนที่โจทก์ทวงถาม ย่อมไม่ทำให้การทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองสิ้นผลไป เพราะสามารถนำส่วนที่จำเลยชำระนั้นมาหักลดหนี้เดิมได้ แล้วคิดดอกเบี้ยในหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระอยู่ต่อไปจนถึงวันฟ้อง แม้ยอดหนี้ตามคำฟ้องจะมีตัวเลขไม่ตรงตามหนังสือทวงถามก่อนที่จำเลยจะชำระ หนี้บางส่วน ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองใหม่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2543
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองได้ ผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลา อันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และแสดงความจำนงจะบังคับจำนองไปยัง จำเลยทั้งห้า โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันชำระหนี้และบังคับจำนองได้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ โดยชำระหนี้ให้บางส่วน โจทก์ก็ให้โอกาสแก่จำเลย มิได้ฟ้องคดีเสียทันที เมื่อพ้นกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวย่อมเป็นคุณแก่ จำเลยทั้งห้าอยู่แล้ว และจะกลับนำมาเป็นข้ออ้างว่าการกระทำของโจทก์เป็นการยกเลิกการบอกกล่าว บังคับจำนองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543
แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออก ขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080/2543
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่ จำเลยแล้ว แม้ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ ทำให้ยอดหนี้ใหม่มีจำนวนสูงกว่าที่ปรากฏในหนังสือที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลย ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก็ตาม แต่จำนวนหนี้ที่ระบุในหนังสือดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองในหนี้ส่วนที่ เพิ่มขึ้นอีกแต่อย่างใด เพราะหนี้จำนวนดังกล่าวก็เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์นั่นเอง ถือได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7141/2542
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับเงินต้นแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้านั้น มีผลบังคับใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้จะครบกำหนดชำระหนี้และลูกหนี้ผิดนัดแล้วโจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตาม วิธีการดังกล่าวได้

โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยไม่ได้ จึงประกาศให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์ เป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2542
ในกรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็น ลูกหนี้ และต้องกำหนดเวลาอันสมควรเพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อน จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดคือผู้จำนองฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้น ไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกรวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600 ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว หากโจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ ส. ผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวเป็นจดหมายหรือหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน แก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2542
ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุว่าบรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าว และเอกสารใด ๆของผู้รับจำนอง หากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ผู้จำนองระบุว่าเป็น ภูมิลำเนาของผู้จำนองตามสัญญาฉบับนี้ หรือสถานที่แห่งอื่นที่ผู้จำนองแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าผู้รับจำนองจะได้นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่ก็ตามผู้จำนองยินยอมให้ถือว่า บรรดาหนังสือหรือเอกสารดังกล่าวได้จัดส่งให้แก่ผู้รับจำนองโดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปให้จำเลยตามที่อยู่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่ จำเลยระบุไว้ในสัญญาจำนอง จึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปให้แก่จำเลยที่บ้าน ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยอีกด้วย การส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลย ทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นทางการโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและส่งถึงสถานที่อยู่ทั้งสองแห่งแล้ว เช่นนี้ ย่อมถือ ได้ว่าจำเลยได้รับและทราบหนังสือที่โจทก์บอกกล่าวบังคับ จำนอง และการที่โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายใน กำหนดอันเป็นเวลาพอสมควรก่อนที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำนองโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตาม สัญญากู้เงินฉบับพิพาทแล้ว จำเลยผิดนัด โจทก์จึงมีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน วันที่กำหนด อันเป็นระยะเวลาอันสมควร แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินโดยเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและ บอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ดังนั้นความผูกพันที่โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มสูงขึ้น ตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมสิ้นสุดไปด้วยภายในวันที่กำหนด และปรากฏว่าในวันที่ดังกล่าวตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลด เงินให้สินเชื่อที่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ดังนี้โจทก์หาอาจจะอ้างประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้ สินเชื่อในขณะฟ้องคดีที่ให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเรียกร้องเอาจาก จำเลยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ได้ไม่เพราะเงื่อนไขให้สิทธิแก่โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ใน สัญญากู้สิ้นผลไปก่อนแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2541
แม้ ตามสัญญาจำนองที่ดินจะระบุว่า สัญญาจำนองมีกำหนดเวลา 5 ปี แต่ก็มีข้อตกลงในสัญญาจำนองเกี่ยวกับการชำระ ดอกเบี้ยไว้ว่า ผู้จำนองตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งเสมอไป ดังนั้น การที่จำเลยผู้จำนองจะไม่ต้องถูกบังคับจำนองก่อนครบเวลา 5 ปี จำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองคือต้อง ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือน เมื่อปรากฏว่า จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดนัด ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองทั้งหมดโจทก์ย่อมมีอำนาจบอกกล่าวทวงถาม และฟ้องบังคับจำนองได้ โดยไม่จำต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 5 ปี เสียก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บังคับจำนองกับที่ดิน โฉนดเลขที่ 3382 เป็นการคลาดเคลื่อนไป โดยที่ดินแปลงที่จำเลย นำมาจำนองไว้กับโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3386 ศาลฎีกาควรแก้ไข เสียให้ถูกต้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2541
จำเลย ร่วมกู้เงินโจทก์ โดยจำเลยนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน จำเลยร่วมค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปีเศษโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือ ไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น กล่าวคือ ห้ามบังคับจำนองหนี้ประเภทเดียวคือดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ว่า หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยในส่วนที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี เท่านั้น โจทก์รับจำนองที่ดินของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2530เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 100,000 บาท ขณะนั้นที่ดินจำเลยมีราคามากกว่าหนึ่งแสนบาทประกอบกับในระยะเวลาตั้งแต่รับ จำนองราคาที่ดินโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแม้ขณะนี้ราคาที่ดินจะลดไป บ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการลดเพียงเล็กน้อยแม้ในขณะฟ้องคดีราคาที่ดิน ของจำเลยก็ยังต้องสูงกว่าราคาขณะจำนองหลายเท่าตัว อยู่นั่นเอง ปัญหาในเรื่องราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนเงิน ที่ค้างชำระหรือไม่ เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จำเลยไม่ได้นำสืบ แต่เมื่อข้อนำสืบของโจทก์หรือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและที่รู้กันอยู่ทั่วไปบ่งชี้ไว้ ศาลก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2541
ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์จำนองนั้นไม่มี ราคาสูงกว่าหนี้ค้างชำระคลาดเคลื่อนต่อเงื่อนไข ซึ่งกำหนดหน้าที่ของฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้จำนองต้อง แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า ราคาทรัพย์สินนั้นท่วมเงินอันค้างชำระนั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินซึ่งเป็น ทรัพย์จำนอง มีราคาประมาณ 64,500 บาท แต่มีหนี้ทั้งหมดเพียง 26,290 บาท และคดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดจะมีภาระการพิสูจน์ ผลแห่งคดีก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปข้อกฎหมายที่โจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3551/2541
ส.เป็น กรรมการผู้จัดการโจทก์ และมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารโจทก์กระทำการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับธนาคารโจทก์ส.ได้มอบอำนาจให้ ป. รองผู้จัดการมีอำนาจกระทำการบอกกล่าว ทวงถาม เรียกเก็บหนี้สิน ฟ้องคดีแพ่ง และต่อสู้คดีทั้งปวงแทนได้ และมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อกระทำการดังกล่าวได้ และ ป.ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ. และหรือ ค.ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อการมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย การฟ้องและดำเนินคดีของโจทก์จึงชอบแล้ว

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์กับเดินสะพัด ทางบัญชีกัน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้ยังระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและวันที่คิดดอกเบี้ย ในแต่ละอัตราต่าง ๆ และระบุยอดหนี้คิดถึงวันที่ 31ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 128,931,527.86 บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน12,169,017.73 บาท รวมเป็นหนี้ 141,100,555.59 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นรายละเอียดที่แสดงถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดแล้ว ส่วนรายละเอียดหรือเอกสารเกี่ยวกับการคิดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นข้อเท็จ จริงที่คู่ความชอบที่จะนำสืบพิสูจน์พยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาได้ แม้คำฟ้องโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดหรือเอกสารดังกล่าวมา ก็หาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ.บอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ก็ตาม แต่การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ.มาตรา 728 บังคับให้ทำเป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้แต่อย่างใด เมื่อ อ.ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องบังคับจำนอง ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันการบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 แล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์เป็นไปโดยชอบ มิได้ตกเป็นโมฆะ

ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันทุกฉบับ และข้อความในสัญญาก็ระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการแสดงฐานะของจำเลยที่ 3 ไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าค้ำประกันในฐานะส่วนตัว หาใช่จำเลยที่ 3 อ้างว่าลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนเรื่องการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด

ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในต้นเงินจำนวน 63,200,000 บาท ซึ่งเป็นการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการนำเงินเข้าและถอนออกในบัญชี ช่วงเวลาใดที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ครบวงเงินค้ำประกันผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดเต็มวงเงินค้ำ ประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็น ต้นไป แต่หากต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นนำเงินชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงิน ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแล้ว คงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะมีการเบิกถอนเงินจนเต็มวงเงินค้ำประกัน ใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินค้ำประกันครั้งสุดท้าย เมื่อปรากฏว่าครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินตามสัญญาค้ำประกันคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปแต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน2528 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2528 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ต้องคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1 และต้องนำเงินฝากในช่วงเวลาดังกล่าวตามรายการในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสราย วันมาหักทอนบัญชีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2540
ในส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และ ไถ่ถอนจำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือบอกกล่าว ให้ชำระหนี้เงินกู้ หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ค้ำประกัน และให้ไถ่ถอนการจำนองไว้ท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง นอกจากนี้แล้วคำขอบังคับท้ายคำฟ้องโจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจน ทั้งจำเลยทั้งห้าก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องโดยมิได้หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องประทับตราของโจทก์ การที่ ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป.ดำเนินคดีนี้แทน รวมทั้งให้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ด้วย หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือมอบอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่ง ป.สามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่าง บุคคลนั้น ๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้ โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุให้ ป.มีอำนาจฟ้องจำเลยคนใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนี้ ป.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้

จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์โดยวิธีหักทอนบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ ซึ่งโจทก์จะออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกครั้งและจะมีใบแจ้งการหักทอนบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบ รวมข้อตกลงเมื่อได้มีการหักเงินจากบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้โดยวิธี ดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโดยปริยายให้มีการกระทำดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์หักทอนบัญชีไปดัง กล่าว

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้การที่โจทก์ได้มี หนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วแต่ละเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันซึ่งเป็นวันครบกำหนดตาม หนังสือบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันนั้น

ป.พ.พ.มาตรา 728 มิได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลามากน้อยเพียงใดเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แม้จำนวนหนี้ที่โจทก์เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระมีจำนวนมากถึง 9,799,838.75 บาท ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในอันที่จำเลยที่ 1 จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอันสมควร การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2540
การบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 728 บังคับให้ทำเป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้ โจทก์มอบอำนาจให้ อ. บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย โดยมิได้มอบอำนาจเป็นหนังสือ อ. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามโจทก์ เมื่อต่อมาโจทก์ได้แต่งตั้งให้ อ. เป็นทนายความฟ้องร้องบังคับจำนองต่อจำเลย โจทก์ได้เบิกความยืนยันการมอบอำนาจให้ อ. บอกกล่าวบังคับจำนองต่อจำเลย ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันการบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยทราบแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2540
การที่ ส.เจ้าของที่ดินพิพาทผู้ให้เช่านาถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับจำนองและ นำยึดที่ดินพิพาทที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หาใช่เป็นการที่ ส.ประสงค์ที่จะขายนา หรือจะโอนนาชำระหนี้จำนองตามจำนวนหนี้จำนองที่ค้างชำระอยู่ไม่ แต่เป็นเรื่องที่ ส.หรือที่ดินของ ส. ถูกบังคับหรือถูกยึดทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินมา ชำระหนี้จำนองแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามอำนาจแห่งบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องหนี้ การจำนองและการบังคับจำนองซึ่งบัญญัติวิธีการไว้เป็นพิเศษต่างหาก การซื้อขายนาจากการขายทอดตลาดของศาลในกรณีเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ผู้ให้เช่านาขายนาตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 วรรคแรก

ผู้ร้องทั้งสามได้ร่วมกับ ฉ.ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดจริง การใส่ชื่อผู้ร้องทั้งสามในภายหลังเป็นเพราะเจ้าพนักงานที่ดินต้องปฏิบัติ ตามคำสั่งศาลที่สั่งตามรายงานการขายทอดตลาดที่ระบุว่า ฉ.เพียงคนเดียวเป็นผู้ซื้อได้ จึงไม่อาจจะใส่ชื่อผู้ร้องทั้งสามว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทร่วมกับ ฉ.ตั้งแต่ต้นได้อยู่ดี การที่ผู้ร้องทั้งสามและ ฉ.ไปดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องทั้งสามเข้าถือ กรรมสิทธิ์ร่วมกับ ฉ.ตามความเป็นจริง จึงหาได้เป็นการซื้อขายที่ดินพิพาทกันใหม่ระหว่าง ฉ.กับผู้ร้องทั้งสามไม่ ดังนั้นผู้ร้องทั้งสามในฐานะผู้ร่วมซื้อที่ดินพิพาทของ ส.เจ้าของที่ดินผู้ให้เช่าจากการขายทอดตลาดของศาล จึงไม่จำต้องขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เช่าตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 54

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2535
จำเลย กับผู้ร้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยอมโอนที่ดินแปลงพิพาทให้ผู้ ร้อง หากผิดสัญญาให้ผู้ร้อง บังคับได้ทันทีและให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมแสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์แทนจำเลย ได้ เมื่อศาลได้พิพากษา ตามยอมเสร็จเด็ดขาดแล้ว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิตามคำพิพากษา ที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้งดการบังคับคดีของโจทก์ได้ โจทก์ฟ้องบังคับจำนอง ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลย ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หนี้ตามสัญญาจำนองจึงกลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิไถ่จำนองตามจำนวนหนี้ในสัญญาจำนอง แต่มีสิทธิเข้าชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์แทนจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 230

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2538
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา289วรรคหนึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะ เลือกว่าให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินที่ได้จากการขายมา ชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นก็ได้แต่อย่างไรก็ตามหากผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะ ใช้สิทธิบังคับจำนองก็อาจให้ขายทรัพย์นั้นโดยติดจำนองก็ได้เพราะการบังคับ คดีแก่ทรัพย์สินไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิจำนองซึ่งผู้รับจำนองอาจร้องขอให้ บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา287และ ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์วรรคสองของมาตรา289ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองยื่น คำร้องเสียก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดทั้งนี้เพื่อเจ้าพนักงานบังคับ คดีจะได้ดำเนินการไปได้โดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองการที่ผู้ร้องซึ่ง เป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอด ตลาดจึงหาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองแล้วก็จะต้องชำระหนี้จำนอง ให้แก่ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา732

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2530
ทรัพย์ที่มีการจำนองสองราย เมื่อผู้รับจำนองรายแรกขอให้ศาลขายทอดตลาดทรัพย์อย่างปลอดจำนองแล้ว ก็เป็นการปลอดจำนองตลอดไปถึงผู้รับจำนองรายหลังด้วย ผู้รับจำนองรายหลังจะขอให้ขายทอดตลาดไปโดยคงคิดจำนองของตนแย้งกับผู้รับ จำนองรายแรกไม่ได้ เพราะเป็นการบังคับตามสิทธิของตนเป็นที่เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2527
เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนองไม่มีบทบัญญัติบังคับ ผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้า พนักงานบังคับคดีหรือต่อศาล เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด ตลาดในกรณีที่จะขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดชำระ แก่ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด สิทธิของผู้รับจำนองหาได้ระงับไปไม่ เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้น ไป ก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 เท่านั้น จำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองก็ หมายความเพียงเจ้าหนี้จำนองมิได้แจ้งยอดหนี้มาให้ทราบมิใช่เป็นการปลอดหนี้ จำนอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดของ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและ ไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนถึงจำนวนหนี้จำนอง การละเลยจึงเป็น การเสี่ยงต่อความเสียหายของโจทก์เอง โจทก์ผู้รับโอนที่ดินซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภาระจำนองโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติ ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2526
 ถึงแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736,737 บัญญัติให้สิทธิผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติ ไม่ใช่บทกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาใช้ในการบังคับคดีได้และตามคำพิพากษาก็เป็น หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำการไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเสียก่อนแล้วจึงโอนให้แก่ โจทก์โดยปลอดจำนอง หาใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะทำการไถ่ถอนจำนองเองไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับซึ่งออกบังคับเอาแก่จำเลย จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะพึง ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297(2)ศาลมีอำนาจที่จะกักขังจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2485
ที่ดินที่ตกอยู่ในภาระจำนองหลายราย เมื่อมีการบังคับจำนองตามภาระจำนองรายแรกแล้ว ย่อมหยุดจากภาระจำนองรายหลังๆไปทั้งหมด. เมื่อราคาที่ดินที่ขายได้ พอแก่การชำระหนี้จำนองรายแรกเท่านั้น. และไม่เหลือเงินอีกผู้รับจำนองรายหลังย่อมไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้.