การตัดมิให้รับมรดก และการสละมรดก


มาตรา ๑๖๑๐  ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี


มาตรา ๑๖๑๑  ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดังต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้วคือ

(๑) สละมรดก

(๒) รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข

มาตรา ๑๖๑๒  การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา ๑๖๑๓  การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้

มาตรา ๑๖๑๔  ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่ง เพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๖๑๕  การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

มาตรา ๑๖๑๖  ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖๑๕ แล้ว ผู้ที่ได้สละมรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๖๑๗ ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดกผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา ๑๖๑๘  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา ๑๖๑๙ ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562
       ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้  

      จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้  

      การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10810/2559 
      ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส. โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559
       ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558
       ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558
พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2557
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้าน 4 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้าน 4 หลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านอีก 7 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง หากเป็นการสละมรดกก็เป็นการสละเพียงบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดก และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลังแล้วได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท โดยโจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9599/2553
การตัดไม่ให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือเจ้ามรดกแสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมโดยชัดแจ้งด้วยการระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก กรณีที่สองคือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดโดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น เมื่อตามพินัยกรรมไม่ระบุว่าตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งและที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีสิทธิในกองมรดกของ อ. ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกที่ได้รับการยกให้มาจาก พ. จึงเป็นคนละส่วนกัน เมื่อตามพินัยกรรมข้อ 5 คงมีแต่คำสั่งของเจ้ามรดกที่ให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของเจ้ามรดกว่า หากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ทั้งปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 และ 1620 วรรคสอง โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตร 8 คน ของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 1633
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2552
การสละมรดกมี ป.พ.พ. มาตรา 1612 บัญญัติให้กระทำได้ 2 แบบคือ แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ คำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 หมายถึง ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือหัวหน้ากิ่งอำเภอและหมายรวมถึงบุคคลที่กระทำหน้าที่แทนด้วย ดังนั้น การที่บุตรทั้งเจ็ดของเจ้ามรดกไปให้ถ้อยคำและทำบันทึกหลักฐานเป็นหนังสือ ระบุชัดแจ้งว่าไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินไว้ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำอยู่ใน อำเภอปฏิบัติราชการแทนได้ จึงเป็นการแสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว แต่การที่บุตรทั้งเจ็ดระบุว่าไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยรับมรดกแปลงนี้แต่ผู้ เดียว ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 เพราะเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1613 อย่างไรก็ตามบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้ บังคับผูกพันบุตรทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 และ 1750

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2550
การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ เจ้าพนักงานที่ดินจึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612

ต. ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ทุกคนรวมทั้ง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ต. ในฐานะทายาทคนหนึ่งของ ค. คงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดิน เฉพาะส่วนของ ต. ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 และมาตรา 1646 แต่ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของทายาทอื่นของ ส. ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของ ต. ที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสองได้ เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของ ส. ทายาท ค. รื้อบ้านทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือเรียกค่าเสียหาย ได้

ต. ลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ซึ่งรวมถึง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วน หนึ่งของที่ดินดังกล่าว โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550
ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับ พินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดใน พินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตาม นิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548
การ ที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลง แบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดัง กล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อม ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2548
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ล. สละมรดกส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการแบ่งปันมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกมาตรา 1750 ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ

บันทึกคำให้การของศาลชั้นต้นที่ ล. ตอบทนายโจทก์ซักถามว่า "ที่ดินส่วนที่เหลือเป็นสิทธิของข้าฯ ที่จะได้ 5 ไร่ นั้น ข้าฯ ได้ยกให้เป็นของโจทก์แล้ว ข้าฯ ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องอีก" ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การสละมรดก เพราะการสละมรดกตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 1612 ต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ทั้งบันทึกคำให้การฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของ ล. ฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้า หน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1612 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินมรดกส่วนของ ล.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456 - 12457/2547
ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมี 7 คน การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทต้องแบ่งกันตามที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ การที่ทายาทอื่นมิได้เรียกร้องมาด้วยนั้น จะถือว่าทายาทอื่นนั้นสละมรดกหาได้ไม่และจะแบ่งโดยเอาส่วนแบ่งทายาทอื่นไป ให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคงได้ส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2547
การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ ป.พ.พ. มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเอง ทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอ ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545
พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคนแต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1656ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

บันทึกข้อตกลงที่มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของ ส. ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดก ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 นอกจากนี้เงิน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนจึงมีผลเป็นการสละมรดกตาม มาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2545
พินัยกรรมใช้กระดาษที่มีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสอง และรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วนจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656

ผู้ทำพินัยกรรมมิได้ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิ ให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ รับมรดก

การที่ ท. คู่สมรสของ ม. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นเหตุให้ ม. ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของ ม.เป็นโมฆะ แต่ไม่มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของ ท. และ น. เป็นพยานแต่อย่างใด และข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2544
การสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ ตาย โดยจะยกให้ ด. ผู้เดียว จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2544
ผู้สาบสูญได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้สุเหร่าคันนายาวต่อ เมื่อได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายตัดทายาทโดยธรรมของตนทุกคนมิให้รับมรดกใน ที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง เมื่อสุเหร่าคันนายาวได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลใน ทำนองเดียวกับมูลนิธิตามที่ปรากฏในพินัยกรรม ย่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2540
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ตกลง ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีอื่นและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว โดยผู้ร้องในฐานะบุตรบุญธรรมขอสละมรดก ของผู้ตายโดยสิ้นเชิงและไม่มีเงื่อนไขทั้งขอถอนตัวจากการ เป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้และไม่คัดค้านในการที่ผู้คัดค้าน ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้แสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละมรดกของผู้ตายโดยทำเป็นสัญญาประนี ประนอมยอมความ การสละมรดกของผู้ร้องย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612และตามมาตรา 1615 กำหนดให้การสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอถอดถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้ จัดการมรดกได้ ประกอบกับทายาทอื่นเห็นว่าผู้คัดค้านเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตายต่อไป กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2539
ท. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหลังจากโจทก์สละมรดกแล้ว4วันจังเป็นการแสดงเจตนาสละ มรดกที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1619การสละมรดกจึงไม่เกิดผลตามกฎหมายถือเท่ากับว่าไม่มีการสละมรดกโจทก์จึงยังคงมีสิทธิในทรัพย์มรดก ในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมและการที่โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครอง ที่ดินมรดกและไม่เคยติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดกก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือว่า เป็นการปิดปากและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์สละมรดกนั้นแล้ว เมื่อการสละมรดกโดยโจทก์ไม่เกิดผลตามกฎหมายโจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกอยู่การไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกโดยจำเลยตกลงรับสภาพหนี้ ต่อธนาคารและผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารก็ปรากฎว่าโจทก์และน้องๆทุกคนก็ช่วยกัน ออกเงินคนละ20,000บาทให้จำเลยไปดำเนินการหาใช่เป็นเงินของจำเลยเพียงคนเดียว ไม่อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีการตกลงกันระหว่างพี่น้องจำเลยให้จำเลยไปจัดการไถ่ ถอนจำนองที่ดินมรดกแล้วจำเลยจะได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับ ตามพินัยกรรมเป็นการตอบแทนที่ดินมรดกในส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ ของโจทก์ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกโดยโจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่าโจทก์เป็น ทายาทโดยพินัยกรรมมีสิทธิรับมรดกจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิ ชอบไม่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าคดีเกี่ยวกับ การจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงจะนำอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754มาบังคับใช้กับ กรณีนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1012/2535
การที่โจทก์ร่วมแบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำที่พิพาทมาขายคืนให้แก่โจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิอันหากจะมีภายหน้าในการสืบมรดก ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1619 หนังสือสัญญาการซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้โดยแน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิ ครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียว ที่พิพาทยังคงเป็นมรดกของ พ.การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของพ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ป. ผู้เป็นมารดา เข้ายึดถือครอบครองในที่พิพาทจึงเป็นเพียงโต้แย้งสิทธิโจทก์ร่วมในทางแพ่ง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2532
การที่จำเลยขอกู้เงินโจทก์และในวันเดียวกันนั้นได้แสดงเจตนาขอสละทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องทั้งที่ตนไม่มีทรัพย์อื่นอีก และผู้ร้องเป็นผู้เยาว์ยังอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย พฤติการณ์การสละมรดกยังไม่สมเหตุผล ถือว่าเพียงแต่ให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกไว้แทนเท่านั้น จำเลยยังคงเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์มรดกผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์มรดก และโจทก์ยึดทรัพย์มรดกได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ปัญหามีว่า ทรัพย์มรดกยังเป็นของจำเลยหรือไม่ การที่ศาลวินิจฉัยว่า การสละมรดกของจำเลยเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกแทนจำเลยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอก ประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2264/2529
ทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมือเปล่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้โจทก์โดยข้อกำหนดในพินัยกรรมระบุว่าให้พินัยกรรมมีผลเมื่อภริยาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ให้จำเลยเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมตั้งแต่เจ้า มรดกยังมีชีวิตอยู่หลังจากเจ้ามรดกตายแล้วแต่ในระหว่างที่ภริยาของเจ้ามรดก ยังมีชีวิตอยู่นั้นโจทก์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วได้แสดงเจตนาสละสิทธิในทรัพย์ มรดกเมื่อภริยาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรมจำเลยก็ได้ครอบครองทรัพย์มรดกอย่างเป็น เจ้าของนับแต่นั้นเป็นต้นมาดังนี้ทรัพย์มรดกจึงตกเป็นของจำเลยแล้วโจทก์ฟ้อง เรียกทรัพย์มรดกและเงินผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์มรดกจากจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2786/2523
โจทก์เป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายให้ ร่วมกันนำเงินและทรัพย์สินในกองมรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เป็นกรณีที่เจ้าหนี้กองมรดกฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาท เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกแม้ต่อมาจำเลยทั้งสองได้สละ มรดกเสียในระหว่างพิจารณา โจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว หากแต่ฟ้องในฐานะเป็นทายาทและก็เพื่อให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สิน ในกองมรดกดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2518
การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ต่อเมื่อหลังจากที่เจ้ามรดก ตายแล้ว และผู้สละเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นด้วย หากเจ้ามรดกยังไม่ตาย ก็ย่อมจะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกสละได้ ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 1615 บัญญัติให้การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2501 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2504 ผู้ร้องและเจ้ามรดกได้ทำสัญญากันมีใจความว่า ผู้ร้องไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของเจ้ามรดก นอกจากนา 10 ไร่ และยุ้งข้าวครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ดังนี้สัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดก เพราะได้ทำไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ไม่มีผลกระทบกระเทือนพินัยกรรมของเจ้ามรดกที่ทำไว้ข้างต้น และเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย จึงชอบที่จะตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2508
เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งตายก่อนเจ้ามรดก ส่วนมรดกที่ทายาทโดยธรรมจะได้รับย่อมตกทอดแก่ผู้สืบสันดานทุกคนของทายาทโดย ธรรมนั้นในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ดังนั้น เมื่อทายาทโดยธรรมตาย มีผู้เอาชื่อผู้สืบสันดานคนหนึ่งใส่ลงในหน้าโฉนดเป็นผู้รับมรดกจึงหาทำให้ ผู้สืบสันดานคนอื่นๆ เสียสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในที่ดินนั้นไปไม่

คำสั่งของผู้ตายให้ยกที่ดินให้แก่ใครคนหนึ่งนั้นมิใช่พินัยกรรมจึงหาลบล้าง สิทธิของทายาทโดยธรรม หรือผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมนั้นไม่

การสละมรดกจะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

การที่มารดาจะสละมรดกแทนผู้เยาว์ได้ จะต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2502
บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองตาม ม. 1627 นั้นย่อมหมายตลอดถึงทารกซึ่งยังอยู่ในครรภ์มารดาในขณะที่บิดาตาย มีสิทธิเป็นทายาทได้ ถ้าหากภายหลังได้เกิดและรอดอยู่ด้วย