พินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์

มาตรา ๑๖๘๖ อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใดๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น

มาตรา ๑๖๘๗ ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นแก่บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น

การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นี้ ห้ามมิให้ตั้งขึ้นเป็นเวลาเกินกว่ากำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์ หรือกำหนดที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๖๘๘ การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นั้น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา ๑๖๘๙ นอกจากบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถบริบูรณ์ จะรับตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็ได้

มาตรา ๑๖๙๐ ผู้ปกครองทรัพย์นั้น ย่อมตั้งขึ้นได้โดย
(๑) ผู้ทำพินัยกรรม
(๒) บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา ๑๖๙๑ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพินัยกรรมผู้ปกครองทรัพย์จะทำพินัยกรรมตั้งบุคคลอื่นให้ทำการสืบแทนตนก็ได้

มาตรา ๑๖๙๒ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นในส่วนที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ได้รับมอบไว้ ผู้ปกครองทรัพย์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ปกครองตามความหมายในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2545
การเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนโดยผู้ทำพินัยกรรมนั้น กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 ถึง 1697 คือ ทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสารแม้จะมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่ รับรองพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองนั้นไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมแล้ว ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมที่ทำไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2540
โฉนดที่ดินซึ่งออกให้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2462 มีข้อความว่า โฉนดที่ดินฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน แสดงให้เห็นว่า ล. มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นทรัสต์ที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการ มรดกที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของ ล. อันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

ทรัสต์ที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1686 มีผลสมบูรณ์ใช้ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง

ล. มีชื่อเป็นทรัสต์ในโฉนดที่ดินก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 จึงต้องใช้กฎหมายก่อนนั้นบังคับ คือ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้ใดเป็นทรัสต์ในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่แล้วให้มีอำนาจมาจดทะเบียน ชื่อให้มีข้อความบ่งชัดในหลังโฉนดว่าเป็นทรัสต์ด้วย เมื่อโฉนดที่ดินว่าโฉนดที่ดินมีข้อความฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน จึงฟังได้ว่ามีการตั้งทรัสต์ขึ้นจริง เพราะตามกฎหมายเรื่องทรัสต์ขณะนั้นการตั้งทรัสต์ไม่ต้องทำเป็นตราสารตามแบบ พิธีอย่างใดเป็นพิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2540
ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ช่วยกันออกเงินซื้อที่ดินโดยให้ ล.เป็นผู้จัดการ ขณะร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพ โดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้ ล. เป็นทรัสตี ต่อมา ล.ได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า อันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1686 แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ ลักษณะของป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่สถานีที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือ กลุ่มพวกพ้องของ ล. เท่านั้น แต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใครถือได้ว่าทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้ เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายอันเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไป ลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชน จึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป แม้ต่อมา ล. ได้ถึงแก่กรรมที่ประเทศสิงคโปร์แล้วก็ตาม แต่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไป ผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนได้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของ ล. คนในบังคับอังกฤษ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่าที่พิพาทเป็นของ ล. ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ล. ดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่ และที่พิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นฮวงซุ้ยของชาวจีนทั่วไปจากสภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตน ทั้งตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำ สืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบ ครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครอง ปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2538
ตามพินัยกรรมเอกสารหมายค.9และค.11ทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้คัดค้านที่1เป็นผู้ จัดการมรดกและให้ผู้คัดค้านที่2เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้ เดียวแม้จะฟังว่าพินัยกรรมเอกสารหมายค.11ไม่มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1686เพราะมีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นก็ตามพินัยกรรมฉบับ นี้ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.9ซึ่งไม่มีข้อกำหนดใน การก่อตั้งทรัสต์ขึ้นทั้งไม่ปรากฏว่าคู่ความได้โต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมที่ ไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใดพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.9จึงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้ตามกฎหมายเมื่อพินัยกรรมดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านที่2เป็นผู้ รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าผู้ร้องทั้ง สองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็น ผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1608วรรคท้ายผู้ ร้องทั้งสองจึงเป็นทายาทที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายย่อมไม่มี อำนาจที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713วรรคหนึ่งจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องทั้ง สองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1727วรรคหนึ่ง ปัญหาว่ามีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่1ได้ดำเนินการโอนเงินของผู้ตายซึ่งมีอยู่ในธนาคารใน ประเทศไทยไปเข้ากองมรดกของผู้ตายหมดแล้วและหุ้นของผู้ตายในบริษัทในประเทศ ไทยบริษัทดังกล่าวก็ถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้วจึงไม่มีทรัพย์สินของผู้ตายใน ประเทศไทยให้จัดการมรดกได้ผู้คัดค้านที่1เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะ มีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทยดังนี้เมื่อผู้คัดค้านที่1ยืนยันชัด แจ้งว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทยย่อม ไม่มีเหตุที่จะตั้งให้ผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2535
ที่ดินพิพาทมีพระบรมราชโองการแสดงถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินแก่เจ้ามรดกเพื่อใช้เป็นที่ทำฮวงซุ้ยฝังศพบุคคลใน ตระกูล ตลอดไปไม่พึงประสงค์ให้บุคคลภายนอกละเมิดสิทธิ เมื่อเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ผู้สืบตระกูล ต่างมีสิทธิร่วมกันในที่ดินมิให้โอนขายจำหน่ายสิทธิ ทั้งระบุให้ผู้สืบตระกูล มีหน้าที่ปฏิบัติตามพินัยกรรมนั้น หากทำตามความประสงค์ไม่ได้ ก็มีทางแก้ไขเฉพาะวิธีการทำฎีกาทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ข้อความในพินัยกรรมดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายเป็นการก่อตั้งทรัสต์ แต่เมื่อได้กระทำก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2468ก็นับว่าพินัยกรรมส่วนนี้สมบูรณ์ใช้ได้ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1686 พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย่อมมีผลเป็น กฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิก เพิกถอนโดยเฉพาะแล้วพระบรมราชโองการนั้นย่อมมีผลอยู่ ฉะนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการรับรองความ ถูกต้องของพินัยกรรมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ฝังศพของบุคคลในตระกูลเจ้ามรดก เป็นการถาวรดังความในพินัยกรรม ทั้งทรงห้ามบุคคลใดฟ้องร้องเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากมีการฟ้องร้องดังกล่าวก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิด ไปจากพินัยกรรมนั้น ย่อมมีผลรวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครอง ปรปักษ์ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจเป็นช่องทางให้ทายาท หรือผู้จัดการมรดกหลีกเลี่ยงข้อความในพินัยกรรมและขัดต่อพระราชประสงค์ โดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์ และใช้ที่ดินพิพาทไปแสวงประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นที่ฝังศพของตระกูล เป็นการทำให้วัตถุประสงค์ในพินัยกรรมไร้ผลเมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาอายุความครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2508
เจ้ามรดกซึ่งเป็นตาทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้หลานซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยตั้งผู้ปกครองทรัพย์ด้วยนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ผู้รับ แต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไม่จำ ต้องให้เจ้ามรดกเป็นผู้จดทะเบียนเสมอไป

ในระหว่างที่ผู้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์กำลังตั้งผู้ปกครองทรัพย์ เพื่อให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1688 อยู่นั้นบิดาของผู้เยาว์จะถือโอกาสแย่งการเป็นผู้ปกครองทรัพย์ของผู้เยาว์ไป จากผู้รับแต่งตั้งในระหว่างกำลังดำเนินการเพื่อให้บริบูรณ์อยู่นี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2490
ทำสัญญากันว่า ยอมสละสิทธิและหน้าที่ปกครองบุตรของโจทก์ตลอดจนทรัพย์สินตามพินัยกรรม ให้โจทก์ผู้เป็นมารดาเป็นผู้ปกครองต่อไปตามกฎหมาย แต่มีข้อผูกมัดโจทก์ว่า โฉนดสำหรับที่ดินตามพินัยกรรมซึ่งยกให้แก่บุตรนั้นโจทก์ยอมมอบให้จำเลยเป็น ผู้รักษาไว้ก่อน จนกว่าผู้รับมรดกจะบรรลุนิติภาวะ โจทก์จะไม่ขายหรือก่อภาระติดพันแก่ทรัพย์รายนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากจำเลยเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1690 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาสมบูรณ์บังคับได้