บิดามารดากับบุตร

มาตรา ๑๕๓๖ เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้ บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอัน ดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)

ปัจจุบันเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้วเด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุม ประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะ เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2545
เด็กหญิง อ. เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับจำเลย แม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กหญิง อ. ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 แม้เด็กหญิง อ. จะอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ น. กับ ป. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 หรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้วน. กับ ป. จะไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. เป็นบุตรบุญธรรมก็ตามก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเด็กหญิง อ. โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมในการนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง อ. เป็นบุตรตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ เพราะการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้ระบุให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของ เด็กเป็นผู้ฟ้องแทนผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจกระทำในนามส่วนตัวได้ แต่กระทำการในฐานะผู้ฟ้องแทนได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2537
แม้การสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ตายจะตกเป็นโมฆะแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 ก็บัญญัติว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเกิดขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1เป็นภริยาของผู้ตาย เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบหรือมีพยานมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย จึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การที่ศาลชั้นต้นตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง แต่ได้ระบุฐานะของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 2 นั้นเกินคำขอท้ายคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้อุทธรณ์ไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2529
บทบัญญัติมาตรา 1536 ซึ่งบัญญัติว่า เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี หมายถึงเด็กที่เกิดจากหญิง ขณะที่เป็นภริยาชายโดยชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีในกรณีที่ เด็กเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่การสมรสของชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสได้สิ้น สุดลงตามกฎหมาย

มาตรา ๑๕๓๗ ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๓ และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ ที่ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2519
โจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 เมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดวันใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 บัญญัติให้นับอายุตั้งแต่วันต้นแห่งปีปฏิทินหลวงซึ่งเป็นปีที่เกิด จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 เมื่อนับถึงวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ต้องขาดไร้อุปการะ ขณะฟ้องคดีโจทก์ทั้ง 4 เป็นผู้เยาว์ ก็เป็นเพียงบกพร่องในเรื่องความสามารถ ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนและแก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 56 มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง

เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 4 ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถอีก และถือได้ว่าโจทก์ที่ 4 มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้น (อ้างฎีกาที่ 1638/2511)

เรื่องอำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1537 วรรค 2 นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 ไม่ใช่แต่เพียงบิดาเท่านั้นที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร มารดาก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน

การขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรค 3 หมายถึงการขาดสิทธิในอันที่จะได้รับการอุปการะ จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง ทำให้มารดาโจทก์ตาย โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงชอบที่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นจากจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้อง พิจารณาว่า บิดาโจทก์จะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์อยู่หรือไม่ (อ้างฎีกาที่ 1742/2499)

มาตรา ๑๕๓๘ ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จด ทะเบียนสมรสครั้งหลัง

ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็น สามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ มาใช้บังคับ

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ด้วย

มาตรา ๑๕๓๙ ในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา ๑๕๓๖ มาตรา ๑๕๓๗ หรือมาตรา ๑๕๓๘ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น

แต่ถ้าในขณะยื่นฟ้องมารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่จะฟ้องเด็กแต่ผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่ไม่ว่ามารดาของเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่เป็นบุตรก็ได้ ในกรณีที่มารดาของเด็กหรือทายาทของเด็กยังมีชีวิตอยู่ ห้ศาลส่งสำเนาคำร้องนี้ไปให้ด้วย และถ้าศาลเห็นสมควรจะส่งสำเนาคำร้องไปให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีแทนเด็กด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

มาตรา ๑๕๔๐ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๕๔๑ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๓๙ ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว

มาตรา ๑๕๔๒ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗ หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา ๑๕๓๘ ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา ๑๕๓๖ ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๑๕๔๓ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีได้ฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรแล้ว และตายก่อนคดีนั้นถึงที่สุด ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของ เด็กนั้นจะขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่หรืออาจถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีก็ได้

มาตรา ๑๕๔๔ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กอาจฟ้องได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้

(๒) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี

การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๑) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๒) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ให้นำมาตรา ๑๕๓๙ มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๔๕ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงต่อเด็กว่าตนมิได้เป็นบุตรสืบสายโลหิตของชายผู้เป็นสามีของมารดาตน เด็กจะร้องขอต่ออัยการให้ฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นก็ได้

การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเด็กได้รู้ข้อเท็จจริงก่อนบรรลุนิติภาวะว่าตนมิได้เป็นบุตรของชายผู้เป็นสามีของมารดา ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าเด็กรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้ว ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กรู้เหตุนั้น

ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามมิให้ฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ

มาตรา ๑๕๔๖ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2542
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของร.และอ.ซึ่งมีตัวตนแน่นอนส.และสค. ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่ ส.ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส. จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของ ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส. จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่ ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง
ดูฉบับย่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2517
แม้ในตอนต้นของคำฟ้องจะมีชื่อโจทก์เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ปรากฏจากคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของผู้ตายและเป็นมารดาของผู้เยาว์ทั้ง 3 คน ทั้งได้เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาของบุตรทั้ง 3 คนนั้นด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ด้วย แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2517
ขณะที่ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงตาย ผู้ตายเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ที่ 2 และผู้ตายยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์ที่ 2 ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2516
บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาแต่อำนาจปกครอง โดยแท้จริงคงอยู่ที่บิดา บิดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้ใช้อำนาจปกครองเท่านั้นที่มีสิทธิเอา เงินของบุตรมาใช้ได้ตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1545 มารดาหามีสิทธิไม่

บิดาเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ ธนาคารให้บุตรผู้เยาว์ โดยมอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการ ศึกษาของบุตร แล้วบิดามารดาต่างได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวระคนปนกับเงินได้ของบุตร โดยมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากนั้นให้แก่บุตรดังนี้ เงินในบัญชีเงินฝากจึงเป็นของบุตรทั้งสิ้น หาใช่เป็นเงินที่บิดามารดาฝากไว้เป็นของตนเอง โดยฝากไว้ในนามของบุตรทำนองลงชื่อบุตรเป็นนามแฝงไม่ แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากธนาคารได้นั้น ก็เป็นเรื่องระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต่างหาก ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1545 และ 1546 ก็บัญญัติให้อำนาจและวิธีการแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองที่จะนำเงินของบุตรไปใช้ จ่ายได้ ย่อมจำเป็นที่จะต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการถอนเงินของบุตรจากธนาคาร ไว้ด้วย มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากในกรณีที่จะต้องนำเงินมาใช้จ่ายตามอำนาจ ที่บิดามอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของบุตรจึงเป็นเรื่องการมอบหมายให้มารดาทำหน้าที่แทนบิดาตาม ธรรมดานั่นเองมารดาหามีสิทธิถอนเงินของบุตรไปใช้สอยส่วนตัวไม่

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอุทลุมในนามของตนเองแทนเด็กตามอำนาจและหน้าที่ใน กฎหมาย โดยไม่มีการแต่งตั้งทนายศาลไม่สั่งให้ค่าทนายความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2495
มารดาซื้อที่ดินให้แก่ผู้เยาว์ หาใช่เพียงลงชื่อผู้เยาว์ไว้ในฐานะเป็นตัวแทนมารดาไม่ที่ดินที่ซื้อจึงย่อม เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เยาว์ ฉะนั้นเจ้าหนี้ของมารดาตามคำพิพากษาจะยึดเอาที่ดินของผู้เยาว์ดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 วรรคท้ายไม่ได้