การฟ้องขอใหัรับเด็กเป็นบุตร



มาตรา ๑๕๕๔ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนเด็กรับเป็นบุตร เพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้การจดทะเบียนนั้น อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันจดทะเบียน


มาตรา ๑๕๕๕  ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๒) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๓) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(๔) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(๕) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(๖) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(๗) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น
ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย


มาตรา ๑๕๕๖  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่ผู้สืบสันดานของเด็กเป็นผู้เยาว์ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๑๕๕๗  การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้


มาตรา ๑๕๕๘  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
ในกรณีที่ได้มีการแบ่งมรดกไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๑๕๕๙  เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้


มาตรา ๑๕๖๐ บุตรเกิดระหว่างสมรสซึ่งศาลพิพากษาให้เพิกถอนภายหลังนั้นให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2558
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง เมื่อขณะยื่นคำร้องขอผู้เยาว์มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ผู้เยาว์จึงต้องยื่นคำร้องขอเอง ผู้เยาว์จะให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ยื่นคำร้องขอแทนในนามของผู้เยาว์มิได้ แม้ผู้เยาว์จะเป็นบุคคลพิการก็ตาม ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ แต่ทั้งนี้ผู้เยาว์ยังคงมีสิทธิฟ้องหรือร้องขอด้วยตนเองได้ตามมาตรา 1556 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556
คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549
ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 188 (1)
ผู้ตายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดย ยื่นคำร้องขอมิใช่เสนอคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1558 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร หาใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการให้ ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10220/2551
        ในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 โจทก์ทั้งสองยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 มาแต่ต้น แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ก็ตาม แต่ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังฟ้องคดีแล้ว และถึงแม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1557 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนว่า "การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด" ก็ตาม แต่ในขณะที่จำเลยมีคำสั่ง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 1547 นั้น กฎหมายบัญญัติให้มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อจำเลย ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549
ผู้ร้องเกิดเมื่อกลางปี 2516 นับถึงวันยื่นคำร้องเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เหตุการณ์ในช่วงเวลาจัดพิธีสมรสและการตั้งครรภ์ไม่มีหลักฐานปรากฏวันเดือนปี ที่แน่นอนเป็นเรื่องคาดคะเนเอาโดยประมาณจึงอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง ทั้งร้องขอแก้ไขคำร้องขอโดยอ้างเหตุพิมพ์ข้อความผิดพลาดเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยทั้งมีเหตุผลสมควร ผู้ร้องมีสิทธิขอแก้ไขคำร้องได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 180 ตอนท้ายแล้ว

เดิมผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ในคำคัดค้านเพิ่งมายื่นคำ ร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อผู้ร้องอายุ 28 ปี เป็นการฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่บรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม หลังจากมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จไปบางส่วนแล้วอ้างเหตุผลว่าเป็นทนายความคนใหม่ของผู้คัดค้านเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและ ตรวจสำนวนพบคำคัดค้านยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านหลังจากพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เหตุที่อ้างก็ไม่ใช่เหตุผลอันสมควรตามกฎหมายและการขอแก้ไขเพิ่มเติมประเด็น เรื่องกำหนดเวลาฟ้องคดีตามาตรา 1556 วรรคสามเป็นอายุความฟ้องคดีซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่การแก้ข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แล้ว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความให้ศาลจำต้องวินิจฉัยและเป็นข้อมิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 (3) บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด สิทธิหน้าที่บิดากับบุตรพึงมีต่อกันตามกฎหมายจึงเริ่มในวันดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด มิใช่นับแต่วันฟ้องของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2545
เด็กหญิง อ. เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับจำเลย แม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กหญิง อ. ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 แม้เด็กหญิง อ. จะอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ น. กับ ป. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 หรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้วน. กับ ป. จะไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. เป็นบุตรบุญธรรมก็ตามก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเด็กหญิง อ. โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมในการนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง อ. เป็นบุตรตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ เพราะการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้ระบุให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของ เด็กเป็นผู้ฟ้องแทนผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจกระทำในนามส่วนตัวได้ แต่กระทำการในฐานะผู้ฟ้องแทนได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหา ทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้ เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 188 (1)

ผู้ตายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดย ยื่นคำร้องขอมิใช่เสนอคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1558 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมา จากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร หาใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาล พิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2542
ผู้ตายและนางบ. เป็นสามีภริยากันโดยมีนาง ค. ซึ่งเป็นบุตรของนาง บ. กับสามีเก่าพักอาศัยอยู่ด้วย นาง ค. คลอดผู้ร้องแล้วผู้ตายถึงแก่กรรม โดยผู้ตายมิได้เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(4) นางค. พักอาศัยในฐานะที่เป็นบุตรสาวของนางบ. มิใช่ในฐานะภริยาของผู้ตาย การที่ผู้ร้องใช้นามสกุลของผู้ตายก็เพราะสูติบัตรของผู้ร้องระบุว่าผู้ร้อง เป็นบุตรของผู้ตายกับนางบ. หาใช่เพราะผู้ตายยอมให้ใช้นามสกุลของตนเพราะเหตุที่ผู้ร้องเป็นบุตรของนาง ค.ไม่ จึงฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าผู้ร้องเป็นบุตรผู้ตาย ที่เกิดจากนางค. ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายรับผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2538
ผู้คัดค้านเพิ่งคลอดหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของผู้คัดค้าน ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายประมาณ 8 เดือนว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งกรณีถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องภายในอายุความมรดก ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1558 วรรคแรก สิทธิดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 อันเป็นลำดับถัดลงมาไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ มาตรา 1629, 1630

คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 หมายถึงผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยตรงมาตั้งแต่ต้น คือขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาใช่เกิดขึ้นในภายหลังตามสัญญาประนีประนอมยอม ความซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีดังเช่นในคดีนี้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2537
การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติว่าเมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ฉะนั้นศาลจึงไม่จำต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรตามคำขอของโจทก์ ส่วนการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ส. นั้นให้จ่ายตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่า ส. จะบรรลุนิติภาวะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 2 และนาง อ. บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่กู้จากโจทก์เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างปั๊มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวนาง อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะได้ลงนามร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่ นาง อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนาง อ. ดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 บัญญัติให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาและให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย และยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร และมาตรา 1556 ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างเด็ก เป็นผู้เยาว์ถ้าเด็กอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง เด็กหญิงธ.ผู้เยาว์อายุได้ 11 เดือนเศษ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรจึงมีอำนาจฟ้องแทนได้ และมาตรา 1565 บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยว่านอกจากอัยการจะฟ้องร้องแทนแล้วให้บิดาหรือมารดานำคดีขึ้นว่ากล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งให้รับผู้เยาว์เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตร การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าฟ้องคดีในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์จึงชอบแล้ว และฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยรับผู้เยาว์เป็นบุตรไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะเป็นการฟ้องตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้โดยเฉพาะ จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์และมีรายได้อื่นอีก ส่วนโจทก์ยังไม่มีอาชีพและรายได้ ผู้เยาว์จะต้องศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นตามวัยศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่าย ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ตามวันอายุของผู้เยาว์เหมาะสมดีแล้ว เว้นแต่ที่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตั้งแต่วันคลอดนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาล มีผลนับแต่วันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่ สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3)จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง ธ. เป็นบุตรทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20บัญญัติว่า เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมา ให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2537
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่ชายผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเสนอคดีนั้น จะเสนอคดีเป็นคำฟ้องโดยยื่นคำฟ้องผู้ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วไม่ได้ เพราะไม่มีตัวความที่จะฟ้องเป็นจำเลยและในเบื้องต้นก็ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ การเริ่มคดีในชั้นแรกจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านขึ้นมา ศาลจึงจะดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์จำเลยได้มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวและร่วมประเวณีกันหลายครั้งในระยะเวลา ที่โจทก์สามารถตั้งครรภ์ได้และทำให้โจทก์ตั้งครรภ์ในเวลาต่อมาและจำเลยเขียน จดหมายถึงโจทก์ยอมรับว่าเด็กหญิงที่คลอดจากโจทก์คือเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้วส่วน จำเลยและโจทก์ร่วมประเวณีกันเมื่อใดที่ไหนที่เป็นเหตุให้โจทก์ตั้งครรภ์และจำเลยยอมรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์ หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำ พิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557(3) ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่ วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนดคือเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5716/2533
คำสั่งศาลที่ว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ช. ผู้ตายมีผลทำให้ผู้ตายและจำเลยมีฐานะเป็นบิดาและบุตรชอบด้วยกฎหมายนับแต่วัน ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557(3) การที่จำเลยจะเกิดสิทธิรับมรดกของผู้ตายย้อนหลังไปถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ กรรมหรือไม่ เป็นผลอันเกิดจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1558 หาได้มีผลมาจากคำพิพากษาในคดีก่อนไม่ เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติใดให้สิทธิฟ้องขอเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้เช่นกรณีอื่น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2524
ในวันที่นาย ก. ถึงแก่ความตายโจทก์เป็นบุตรนอกสมรสยังมิได้มีฐานะเป็นทายาทของนาย ก. แม้ภายหลังจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วย กฎหมายของผู้ตายก็ย่อมไม่มีผลย้อนหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับส่วนแบ่งในเงินสงเคราะห์ตกทอดจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยซึ่งมีข้อบังคับให้ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1558 เป็นกรณีที่ให้สิทธิแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยคำพิพากษาภายหลังการตายของเจ้ามรดก รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการรับมรดกโดยตรง เมื่อเงินสงเคราะห์ตกทอดไม่ใช่มรดกจะนำมาตรา 1558 มาบังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2518
ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง บ. บุตรเขยเป็นผู้ปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้เยาว์ เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ญาติหรือเป็นพนักงานอัยการ จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556

เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมหรือถูกถอน อำนาจปกครอง ทั้งมารดาผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่แม้ไม่ทราบที่อยู่ไม่อาจติดต่อได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1555 เมื่อไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้การตั้งผู้ปกครองหลายคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1559 จึงไม่อาจทำได้

บ. ยังไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาผู้เยาว์ ย่อมรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้