ทรัพยสิทธิ สาธารณะสมบัติ การได้ทรัพย์มาโดยทางอื่น

มาตรา ๑๒๙๘ ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น


มาตรา ๑๒๙๙ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าการ ได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้า หน้าที่


ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว


มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียน สิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้


มาตรา ๑๓๐๑ บทบัญญัติแห่งสองมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงการเปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาแห่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วยโดยอนุโลม


มาตรา ๑๓๐๒ บทบัญญัติแห่งสามมาตราก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม


มาตรา ๑๓๐๓ ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต


ท่านมิให้ใช้มาตรานี้บังคับถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งระบุไว้ในมาตราก่อนและในเรื่องทรัพย์สินหาย กับทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด


มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น


(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน


(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ


(๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์


มาตรา ๑๓๐๕ ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา


มาตรา ๑๓๐๖ ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน


มาตรา ๑๓๐๗ ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2562

ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของ ส. และ ต. ภายหลังแบ่งแยก ต. ผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ ต. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์และบริวารก็ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวตลอดมา การตกลงกันดังกล่าวถือเป็นการทำนิติกรรมก่อตั้งสิทธิภาระจำยอมระหว่างกัน หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ต. หรือโดยวิสาสะไม่ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยนิติกรรมดังกล่าว อันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้ทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็อาจได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้ว่า เป็นการใช้โดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อ ต. เจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาทคนเดิมและเจ้าของที่ดินคนต่อ ๆ มาหรือไม่


โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมตลอดมา เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว แม้จะเป็นการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ก็ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเรื่องการรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6445/2562

จำเลยที่ 4 ได้รับการยกให้จากบิดา จากนั้นเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและแบ่งปันที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท เป็นการอ้างว่า ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง


ผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562

เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้


แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561

คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้


ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ


การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2560

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ห้ามมิให้ฟ้องร้องเกินห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง การที่จะวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง หรือไม่นั้น จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่า การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยให้การต่อสู้ว่า มีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า มีข้อตกลงกันจริงหรือไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงขายที่ดินทรัพย์มรดกในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยจริง และไม่มีทรัพย์มรดกในส่วนอื่นที่จะต้องแบ่งปันอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการจัดการทรัพย์มรดกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เกินกว่าห้าปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559

ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559

การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2559

ร. เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญอันเป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่ ป.วิ.อ. บัญญัติรับรองไว้และยังเบิกความเป็นพยานต่อศาลโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 243 รายงานผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ที่ ร. จัดทำขึ้นผ่านขั้นตอนการจัดทำทั้งการถ่ายรูป สำรวจ และทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีวิชาชีพในแต่ละสาขานั้นโดยตรง และเป็นไปตามหลักวิชาการ มีมาตรฐาน แม้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้แต่ก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ อ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ อันเป็นกระบวนการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอื่นอย่างเป็นระบบ ประกอบกับมีการซักถามและอธิบายโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ฉายภาพประกอบ อันถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ในศาลจนเป็นที่ยอมรับและสิ้นสงสัย พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบและพิสูจน์ถึงความถูกต้องเป็นจริงได้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ


ในปี 2510 ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง ที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนั้นเป็นที่ชายทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) แม้ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้ในภายหลังน้ำทะเลร่นหรือเขินไปทางทิศตะวันตกทำให้กลายเป็นที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงก็ตาม ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1309 ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ถอนสภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ประกอบ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่เช่นเดิม ส่วนที่ดินเกิดเหตุส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกที่เป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงและไม่ปรากฏมีผู้ครอบครองทำประโยชน์นั้น เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) แม้จะมีบทบัญญัติว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1334 ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 4 ก็บัญญัติรับรองให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับเท่านั้น แต่การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยเป็นเวลาภายหลังปี 2519 และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2559

สิทธิที่จะใช้ที่ดินของ ล. เป็นทางเข้าออกอันเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมตามข้อตกลงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ เมื่อจำเลยได้รับโอนที่ดินจาก ล. ก็มิได้ขัดขวางการใช้ทางพิพาทของ ป. และโจทก์ ถือว่าจำเลยตกลงยอมรับที่จะผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่าง ล. กับ ป. โดยปริยาย โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินและสิทธิจาก ป. ย่อมอาศัยข้อตกลงฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิและรับโอนที่ดินจาก ล. ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์


ล. สร้างบ้าน ทำคันปูนและปลูกต้นไม้รุกล้ำทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยรื้อต้นไม้และคันปูนออกแล้วต่อเติมเป็นห้องพักให้ ล. โจทก์จึงไม่สามารถใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นทางเข้าออกได้ โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ภาระจำยอมในที่ดินส่วนนั้นจึงสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399


โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยกว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินโจทก์ แผนที่พิพาท ไม่ระบุตำแหน่ง ไม่ระบุความกว้างยาวและเนื้อที่ของทางภาระจำยอมไว้ ถือว่าโจทก์ประสงค์ได้ทางภาระจำยอมมีความกว้างตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินด้านทิศตะวันออกของจำเลย กว้าง 1.74 เมตร เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินของจำเลยบางส่วนที่เป็นภาระจำยอมสิ้นไปแล้วตกเป็นภาระจำยอมด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15303/2558

การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์ ส่วนที่ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยวันที่ 16 มีนาคม 2541 จนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 และฟ้องคดีวันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือได้ว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559 

ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) 


การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ 


การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558 

ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น 


โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13566/2558 

จำเลยที่ 1 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นบุคคลคนเดียวกับคริสตจักรในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจหรือมีพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เอาไปขายให้โจทก์ จึงเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ไม่มีผล โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ดังนั้น โจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองให้ออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองครอบครองใช้ประโยชน์อยู่โดยมีสิทธิ ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองจึงสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13476 - 13482/2558 

เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลอันเป็นบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย การยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐจึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วย โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนให้มีวัตถุประสงค์ในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งแปดและบริวารออกจากที่ดินพิพาท 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340 - 10378/2558

แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 - 9685/2558 

พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่ 


การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2558 

การที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองที่ดินนั้นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 18 ปีนั้น เป็นการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยทั้งหกกระทำโดยไม่สุจริตและโจทก์ทั้งสี่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งมิได้มีคำขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสี่อันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2558 

ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. 3 ก. ของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยกให้จาก อ. ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่ยังมิได้จดทะเบียน และจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากกองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล โดยไม่ทราบว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาก่อน โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557 

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ 


จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2557 

การที่เนื้อที่ดินของโจทก์ถูกน้ำเซาะกลายสภาพเป็นคลอง แต่โจทก์ยังแสดงการหวงกันอยู่ โดยการปักเสาแสดงอาณาเขตไว้ไม่ประสงค์ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินใต้คลองในส่วนนั้นก็ยังถือเป็นที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ใดมาตักดินหรือทำลายแนวเขตที่ดินของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10081/2557

ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ แม้โจทก์จะตั้งแผงค้าขายบนทางเท้าพิพาทล้ำหน้าอาคารของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ก็ได้ความจากโจทก์ว่าโจทก์ตั้งแผงค้าขายเวลา 9 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น มิได้ตั้งแผงค้าขายตลอดทั้งวัน เมื่อมีการนำกระถางต้นไม้มาตั้งบริเวณหน้าอาคารของจำเลยทั้งสอง โจทก์ก็ย้ายแผงค้าขายไปอยู่หน้าอาคารอีกด้านหนึ่ง โจทก์ต้องตั้งแผงค้าขายต่อจากแนวกระถางต้นไม้จนถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจยึดของในแผงไป ตามพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์ได้สละการยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาทแล้ว โดยมีจำเลยทั้งสองเข้ายึดถือครอบครองแทน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาท เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือครอบครองแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิหวงกันผู้อื่นในการใช้ทางเท้าพิพาทได้ การที่จำเลยทั้งสองตั้งกระถางต้นไม้บนทางเท้าพิพาทที่ตนเข้าครอบครองแทนโจทก์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2557 

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมใด ๆ อันเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินพิพาทและให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น เป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) (3) ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และคำพิพากษาที่ชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลคดีนี้คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแทน 


สิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสามย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และสิทธิเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นทรัพยสิทธิที่ไม่สูญสิ้นไปเพราะเหตุแห่งการไม่ใช้สิทธินั้น แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ก็ตาม คำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลก็หาได้หมดความจำเป็นแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใดไม่ จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2557 

ป.พ.พ. มาตรา 1304 บัญญัติว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน... การที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพเคหะ จำกัด โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินพิพาทจึงกลับมาเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนับแต่วันนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้ได้ แม้การจดทะเบียนดังกล่าวรัฐผู้รับโอนจะมิได้เสียค่าตอบแทนก็ตาม และ ป.พ.พ. มาตรา 1306 มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีอยู่เดิม ไม่ใช้บังคับกับที่รับโอนมาจากเอกชนแต่อย่างใด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13999/2556

ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก็เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้จัดให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น


เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินของรัฐแล้วย่อมต้องห้ามมิให้บุคคลทั่วไปยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 หากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการออกทับที่ดินที่บิดาจำเลยและจำเลยมีสิทธิครอบครองจริง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการขอเพิกถอนหรือแก้ไขตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.2529 และฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเท่านั้น หาใช่ฝ่าฝืนที่จะอยู่ในที่ดินของรัฐต่อไปได้ไม่


การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐแต่ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เท่านั้น ทั้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองต่อเนื่องจากบิดาของจำเลยที่ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนนานแล้ว จึงมีสาเหตุที่ทำให้จำเลยอาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อน และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเมื่อปี 2535 เป็นการออกทับที่ดินของจำเลย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556 

แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556 

โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556 

ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก 


เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2556 

ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์ของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่ เว้นเสียแต่เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเอกชนจะได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 แม้มีชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปทำนา ทำสวน ทำไร่และขนพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า เจ้าของที่ดินได้อุทิศหรือยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การใช้ทางพิพาทเฉพาะผู้ที่มีที่ดินอยู่ด้านในถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นลักษณะการถือวิสาสะหรือการใช้ทางจำเป็นหรือภาระจำยอมเท่านั้น มิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อการสัญจรไปมาตามปกติของพลเมืองหรือประชาชนหมู่มากโดยทั่วไป ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าทางพิพาทมิได้สิ้นสุดเพียงในที่ดินของจำเลยที่ 2 เท่านั้นหรือเชื่อมต่อกับทางสาธารณประโยชน์อื่นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หรือเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปทำนาและปลูกต้นกล้วยในทางพิพาทจึงไม่เป็นการร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555 

ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555 

การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน 


ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ 


การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11036/2555 

โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีอาณาเขตติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ จ. ต่อมาที่ดินทั้งสองแปลงถูกเวนคืนไปบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล ทำให้ที่ดินของ จ. ถูกแบ่งแยก บางส่วนที่ดินพิพาทยังเหลือติดอยู่กับที่ดินของโจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินของ จ. บริเวณดังกล่าวเรื่อยมาจนได้สิทธิครอบครอง ต่อมา จ. โอนขายที่ดินพิพาทให้ ก. ต่อมา ก. ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง สิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ 


เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทต่อจาก ก. ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. เป็นคนแรก และได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งนอกจากไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ด้วยว่ากระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์เป็นผู้ได้ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองซึ่งเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกสิทธิที่ได้มาโดยการครอบครองขึ้นต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10185/2555 

ว. เจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนาอุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงย่อมมีผลให้ที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที โดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วก่อนที่ ว. จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ประชาชนทั่วไปในละแวกนั้นจะได้ใช้ทางเดินพิพาท และเมื่อทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์เสียก่อนแล้ว การที่จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทางเดินพิพาทตามแนวทางเดินเดิมที่ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางเดินพิพาทจึงมิอาจโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29420 ซึ่งรวมเอาทางเดินพิพาทไว้ด้วยภายหลังจากที่ทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2555

โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกผู้มีเพียงบุคคลสิทธิเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ตามสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. กับจำเลยที่ 2 หรือให้จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัท ด. โอนทะเบียนรถพิพาทมาให้โจทก์ได้ เพราะหลังจากทำสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ไม่เคยได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทอันจะสามารถโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ได้


ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น การเรียกเอาสังหาริมทรัพย์ตามหลักกฎหมายดังกล่าวผู้เรียกต่างต้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกด้วยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ในลำดับต่อไป แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิจะได้รับเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัท พ. ครบถ้วนแล้วเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดๆ ได้ แม้ว่าโจทก์จะครอบครองรถบัสพิพาทก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2555 

โจทก์ร่วมขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย แต่ธนาคารหาโฉนดที่ดินพิพาทไม่พบ จึงยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาโจทก์ร่วมย้ายที่อยู่ จำเลยไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมมาดำเนินการได้ กรณีจึงไม่ใช่ปล่อยทิ้งไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และการที่โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าโฉนดที่ดินสูญหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบแทนโฉนดที่ดินมาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย หาใช่กรณีที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้ดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ จำเลยจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2554 

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารกับให้รื้อถอนโครงหลังคาเหล็กและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อโจทก์ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายที่จะอยู่หรือใช้สอยประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ต่อไป คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง 


ส่วนที่ว่าโครงหลังคาเหล็กปลูกสร้างตั้งแต่เมื่อใด โจทก์เสียหายอย่างไรและคำนวณค่าเสียหายจากฐานข้อมูลใด รวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระผูกพันของเจ้าของที่ดินเดิมนั้นล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีก่อนจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคดีนี้และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์ที่อ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งตนจึงเป็นทรัพย์คนละอย่างต่างกันเพราะคดีก่อนโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากการรบกวนการครอบครองสิ่งปลูกสร้าง 


ส่วนคดีนี้โจทก์รับว่าสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยทั้งสองแต่ที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้รื้อถอนออกไปและเรียกค่าเสียหายที่ยังคงอยู่บนที่ดิน คดีทั้งสองนี้จึงมีประเด็นพิพาทไม่เหมือนกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และมาตรา 144 โจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โดยชอบเพราะมีสิทธิเหนือพื้นดิน ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ แต่เป็นคำฟ้องที่ขอปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) และ (4) 


จำเลยทั้งสองได้สิทธิเหนือพื้นดินจากเจ้าของที่ดินโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1298 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ต่อมาเจ้าของที่ดินจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินนี้ต่อสู้โจทก์ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2554 

โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดและได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาททางทะเบียนโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางโต้แย้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านพิพาทจากทายาทของ ส. ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิของ ส. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเดิมนั่นเอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะบริวารของ ส. ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15964/2553 

พฤติการณ์ของจำเลยที่เป็นเจ้าของที่ดินได้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความใดๆ ให้ชัดเจนว่าต้องการจะขายที่ดิน แล้วยังมอบโฉนดที่ดินสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนของจำเลยให้ ล. ผู้ติดต่อจะซื้อที่ดินไปดำเนินการนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ ล. และ อ. ผู้รับมอบอำนาจนำไปใช้ในกิจการอื่นด้วยการกรอกเพิ่มเติมข้อความว่า ให้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแทนจำเลย ถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยจะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตเพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2553 

ภาระจำยอมเมื่อจดทะเบียนแล้วมีผลผูกพันตราบเท่าที่ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนเพราะเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1298 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเข้ามาในคดีนี้ แต่ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากและคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือกลับว่าการจดทะเบียนภาระจำยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน จึงต้องฟังว่าการจดะเบียนภาระจำยอมชอบและมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ให้ต้องปฏิบัติตาม แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่ามีการจดทะเบียนภาระจำยอม ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นความรับผิดในเรื่องทรัพยสิทธิที่จดทะเบียนแล้วได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2552

ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาระหว่างจำเลยที่ 1 และ ผ. เจ้ามรดกเป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส


ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นมรดกของ ผ. กึ่งหนึ่งตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ. เป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและ ได้จดทะเบียนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552

ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับ มอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใด ใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่ พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดย ปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้


การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2552

โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันที่ทำสัญญาแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์สอบถามไปยังบริษัท ส. จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัท ส. และชำระราคาแล้ว แล้วได้มีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมื่อคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัท ส. ด้วย ทำให้บริษัท ส. ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัท ส. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัท ส. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัท ส. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2551

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทั้งโจทก์และจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันเอง หรือโจทก์กับจำเลย บุคคลใดครอบครองทำประโยชน์เป็นเจ้าของมาก่อนย่อมอ้างสิทธิใช้ยันต่อผู้ที่ มารบกวนการครอบครองภายหลังได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1375 จำเลยไม่มีสิทธิยกเอาระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551

จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือ เพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึด ถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่า ไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2551

โจทก์ซื้อที่ดินจาก น. ซึ่งแบ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดย น. ตกลงกับโจทก์ให้โจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของ น. เป็นการได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมอันเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่จดทะเบียนการได้มาจึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก แม้การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมของโจทก์จะไม่บริบูรณ์ หากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำ ยอมติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี โจทก์ก็มีสิทธิได้ภาระจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382


การย้ายทางภาระจำยอมเป็นสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภาระทรัพย์โดยจำเลย เป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1392 แต่จำเลยจะต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยและต้องไม่ทำให้ ความสะดวกของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามทรัพย์ลดน้อยลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2551

จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2550

การอายัดเป็นการที่ศาลมีคำสั่งห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่าย สิทธิเรียกร้องและห้ามบุคคลภายนอกมิให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะใช้คำว่า อายัด ผิดพลาดก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ศาลย่อมพิจารณาจากลักษณะอันแท้จริงตามกฎหมายของกรณีนั้นๆ ว่าที่ถูกต้องแล้วเป็นการยึดหรืออายัด


โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 ซึ่งเป็นการชำระเงินค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งต้องห้ามมิให้ยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 259 โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยึดเงินดังกล่าวก่อนพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8419/2550

ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ใดย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และยังไม่มีพระ ราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น


โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า การที่จำเลยซื้อเฉพาะบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วไม่ยอมรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของ โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทได้


โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับ ประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยและจำเลยไม่ได้แย่งการครอบ ครองไปจากโจทก์ จำเลยจึงยกความอายุความ 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2550

ที่พิพาทเดิมเป็นที่ป่า แต่ต่อมาได้ถูกถอนสภาพ ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ผู้ครอบครองที่พิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2550

ส. บิดาโจทก์ทั้งสองได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนาอิสลาม ต่อมาได้มีการก่อสร้างมัสยิดลงบนที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบางส่วนได้ทำเป็น สุสานฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม การอุทิศที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นการอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้ นับถือศาสนาอิสลามหรืออิสลามนิกชนโดยทั่วไป มิได้จำกัดแต่เพียงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะ บุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วม กันนับแต่เวลาที่อุทิศแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ยึดมาแล้วต้องนำออกขายทอดตลาด หากมีผู้ซื้อได้ก็ต้องมีการโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ จึงมิใช่เพียงแต่ยึดไว้เท่านั้น การที่ศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้โจทก์จะได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยโอน ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มี สิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ก็มีบทบัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง


ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดิน พิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่ มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อ บังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5393/2550

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกชำระหนี้และบังคับจำนองศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนอง มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอื่นเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจะอ้างว่ามีสิทธิเหนือที่ดินที่โจทก์นำยึดมาร้องขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2550

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม คำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" ก็คงมีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิ ของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้ เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียน แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่นๆ และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีโดยชอบและไม่กระทบถึงสิทธิอื่นๆ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2550

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็น กรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยผลแห่งคำ พิพากษาคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ซึ่งถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ก่อน โจทก์ ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อบังคับคดีเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 เช่นกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จด ทะเบียนทรัพยสิทธินั้น ๆ แล้ว สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันโจทก์ได้ และปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาบังคับให้ จำเลยที่ 1 ไปโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อฟ้องบังคับให้โอนที่ดินตามหนังสือท้ายสัญญาหย่า ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องปล่อยปละละเลยมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดทะเบียนการ ได้มา อีกทั้งกฎหมายก็มิได้บังคับไว้ว่าต้องจดทะเบียนโอนกันภายในระยะเวลาใด โจทก์จะบังคับยึดที่ดินดังกล่าวอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องซึ่ง มีอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4377/2549

ช. ยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แม้จะระบุว่า ช. จะมาจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 3 วัน แต่เป็นการยกให้เป็นทางสาธารณะจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ตามกฎหมายทันทีที่ ช. ได้แสดงเจตนาโดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก ทั้งการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่ต้องมีนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้อง ที่แสดงเจตนารับ


ทางพิพาทติดจำนองอยู่โดยสัญญาจำนองระบุว่า ผู้จำนองจะให้สิทธิหรือทรัพยสิทธิไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่ผู้อื่นในทรัพย์สินที่จำนอง เป็นที่เสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้จำนองเองในทรัพย์สินที่จำนอง ผู้จำนองต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้จำนองกับผู้รับจำนอง ทั้งในหนังสือสัญญาจำนองก็ระบุไว้ว่า ถ้าผู้จำนองประพฤติผิดหรือไม่ประพฤติตามสัญญาที่กำหนดไว้ข้อหนึ่งข้อใดหรือ ทั้งหมด ผู้รับจำนองมีสิทธิจะเรียกให้ผู้จำนองชำระหนี้และบังคับจำนองได้ทันทีเท่า นั้น การที่ธนาคารผู้รับจำนองมิได้ให้ความยินยอมจึงไม่มีผลบังคับให้การยกทาง พิพาทเป็นทางสาธารณะเสียเปล่า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549

ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่ง ถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2549

การที่มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้า หนี้ผู้รับจำนองที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะมีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาด โดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความ คุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกอง ทรัพย์สินของลูกหนี้


ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ ล้มละลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิ ของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จาก การขายทอดตลาดจึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด


แม้มีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยก คำร้องดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำ พิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549

อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดย ทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2549

สาเหตุที่โจทก์ที่ 3 ชักชวนโจทก์อื่นกับชาวบ้านในหมู่ที่ 3 ทำทางพิพาทตั้งแต่แม่น้ำนครชัยศรีถึงทางสาธารณะสายวัดไร่ขิง - ทรงคนอง ก็เนื่องจากหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ไม่มีทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณะ ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและชาวบ้านมีความเดือดร้อนในการสัญจรไปมาติดต่อกับ ท้องถิ่นอื่นและขนส่งพืชผลทางเกษตรกรรมออกไปจำหน่ายในท้องตลาด จึงได้มีการเจรจากับจำเลยขอใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะ สายวัดไร่ขิง - ทรงคนอง เมื่อจำเลยตกลงแล้ว จึงเป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเหนือที่ดินของจำเลยอัน เป็นเหตุให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่าง เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำ ยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณี โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2549

โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็น ข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์เป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิ ได้จดทะเบียนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องกล่าวเพียงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวว่าโจทก์ไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดย สุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2539/2549

ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก กำหนดให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่มิได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ยันและไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญา เท่านั้น มิได้เป็นการกำหนดให้นิติกรรมนั้นในส่วนที่เป็นบุคคลสิทธิตกเป็นโมฆะเสีย เปล่าไป นิติกรรมดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียน ไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างโจทก์กับจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549

จำเลย ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่ สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จด ทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969 - 1972/2548

ที่ดินมีโฉนดของ ป. บางส่วนถูกน้ำเซาะพังลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินส่วนที่หายไปในน้ำแม้จะมิได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งหักออกจากโฉนด ที่ดินตามความเป็นจริง ก็มิได้แสดงว่าที่ดินของ ป. ยังคงมีเนื้อที่อยู่เต็มตามโฉนดที่ดิน แต่คงมีอยู่ตามสภาพที่เหลืออยู่ตามความจริงเท่านั้นเพราะที่ดินบางส่วนพังจน กลายเป็นลำน้ำที่มีการใช้สัญจรไปมาของเรือแพเป็นเวลานานจนกระทั่งเป็นสาธารณ สมบัติของแผ่นดินไปแล้ว โจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินตามโฉนดจาก ป. ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกน้ำเซาะจนหายไปในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว แม้ต่อมาแม่น้ำมีสภาพตื้นเขินเนื่องจาก มีการทำเขื่อนภูมิพลกั้นน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลเบาลงจนน้ำในแม่น้ำแห้ง เรือไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทั้งมีการดูดทรายอีกด้านหนึ่งของเกาะมาปิดทางน้ำเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ดี การที่โจทก์ทั้งสามถมดินในที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อเทศบาลจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2548

จำเลย ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 โดยที่จำเลยที่ 1 และ พ. ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 และชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 และได้ครอบครองกับชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292 - 339/2548

จำเลย ที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2496 แม้ตามมาตรา 8 จะกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโอนกิจการ สิทธิ หน้าที่ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงคมนาคม ตลอดจนพนักงานขององค์การดังกล่าว ก่อนวันพระราชกฤษฎีกานี้บังคับให้แก่จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และตามมาตรา 9 บัญญัติว่า "ให้กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร" ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 บางส่วนได้รับโอนจากกระทรวงคมนาคม แต่ตามมาตรา 11 ก็กำหนดให้รายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนตามมาตรา 12 กำหนดให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้วรายได้ของจำเลยที่ 1 เหลือเท่าใด จึงให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แสดงให้เห็นว่ารายได้ของจำเลยที่ 1 ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดินอันจะยึดไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 กรณีเช่นนี้ ศาลแรงงานย่อมออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 ในส่วนดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2548

ร. ผู้จัดการมรดกผู้ตายจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนดัง กล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5641/2548

ผู้ร้องอ้างเพียงว่า บ. บิดาผู้ร้องได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยและได้ชำระราคาครบถ้วน แล้วโดยบิดาผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนกระทั่งบิดาผู้ร้องถึงแก่ความตายและผู้ ร้องได้ครอบครองต่อมาอีกเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ดังนี้ แม้หากข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้ร้องอ้าง ก็ไม่มีข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่ สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้ จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยัน โจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9085/2547

เมื่อการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่น ดินกับที่ดิน ส.ค. 1 ระหว่างฝ่ายจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของฝ่ายโจทก์ มิใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงบังคับกันได้ และหากมีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นก็สามารถโอนให้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนี้ การกระทำของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7011/2547

ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1298 และการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้า หน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของถนนพิพาทจะทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกได้ และต่อมาเมื่อถนนพิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ถนนพิพาทได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อตกลงตามหนังสือยินยอมและอนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ถนนพิพาทดัง กล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่เป็นทรัพยสิทธิและถนนพิพาทไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมตามกฎหมาย


การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิใช้ถนนพิพาทได้ก็โดย อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินยินยอมและอนุญาตให้ใช้ แม้โจทก์จะใช้ถนนพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่มิใช่เป็นการใช้ถนนโดยเจตนาที่จะให้ได้ภาระจำยอม จึงไม่อาจได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2547

โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียน จำนองที่ดินพิพาท แต่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จะขอบังคับให้จำเลยไถ่จำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทาง ทะเบียนอย่างหนึ่งไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1301


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546

ส. โอนขายที่ดินมีโฉนดอันเป็นที่ดินแปลงเดิมให้บริษัท บ. เมื่อปี 2519 ขณะที่โอนที่ดินแปลงเดิมไปมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้นแล้ว เพราะ ส. ขอออกโฉนดที่งอกตั้งแต่ปี 2516 แต่ยังไม่เป็นที่ยุติว่ามีส่วนที่เป็นที่งอกมากน้อยเพียงใด เพราะการออกโฉนดยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ และไม่เคยมีการบันทึกในโฉนดเดิมไว้ให้ปรากฏการเกิดมีที่งอกขึ้นมาในที่ดิน ย่อมจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 เมื่อที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกได้โอนให้บริษัท บ. ไปแล้ว ที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกย่อมตกติดไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลของบทกฎหมายดังกล่าว ส. พ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่า ส. จะได้ขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกค้างไว้ แล้วต่อมาในปี2522 ได้มีการออกโฉนดสำเร็จบริบูรณ์เป็นชื่อของ ส. ก็ไม่ทำให้ ส. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกนั้นไป และไม่มีอำนาจที่จะขายที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่า ส. และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินจาก ส. อันเป็นที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่งจากเจ้าของเดิมมาโดยถูกต้อง ย่อมทำให้ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกนั้นด้วยโดยผลของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2546

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 36 ทวิ บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แสดงว่าที่ดินใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและผู้ครอบครองไม่สามารถแสดงสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่ดินเหล่านั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ที่ดินที่โจทก์นำยึดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ ให้อำนาจ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 8 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นของ ส.ป.ก. หาใช่ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดไม่ ทั้งยังถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 อีกด้วย เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้สิทธิในที่ดินไม่ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาด เพื่อชำระหนี้โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2545

หาดทรายชายทะเลซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติโดยทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันจึงเป็นสาธารณสมบัติของ แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสองที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่โจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2545

ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์ นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความ ขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543

เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับ พลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2542

โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกิน ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทน ในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2533

โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยได้ขายรถยนต์พิพาทให้ผู้ร้องสอดแต่กลับรับรถยนต์นั้น ไว้ก่อน กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้การครอบครองรถยนต์ไว้โดยสุจริต การที่โจทก์นิ่งเสียไม่แจ้งเรื่องที่โจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยให้ผู้ ร้องสอดทราบในขณะที่ผู้ร้องสอดและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกันยังไม่ เสร็จ ย่อมทำให้ผู้ร้องสอดหลงผิดเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ให้ผู้ร้องสอดได้ ดังนี้ โจทก์จะมาอ้างในภายหลังว่ารถยนต์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้ผู้ร้องสอดอีก เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3383/2524

เมื่อโจทก์ได้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินภายในกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากแล้ว คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ เพราะการจดทะเบียนไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นเพียงการทำให้การกลับคืนมาซึ่ง ทรัพยสิทธิในที่ดินบริบูรณ์เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2501

การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ขายฝากนำยึดทรัพย์ที่ขายฝากแต่หลุดเป็น สิทธิของผู้ซื้อฝากแล้วนั้นหากก่อนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อฝากมาคัดค้านว่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นของตน ผู้ซื้อรู้แล้วยังขืนซื้อไป ถือว่าผู้ซื้อ ซื้อการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตและแม้จะจดทะเบียนโดยชอบแล้วก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300