ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส

มาตรา ๑๕๙๘/๓๘ ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับ อุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี 

มาตรา ๑๕๙๘/๓๙ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่า อุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้ 

มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้ ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้ 

มาตรา ๑๕๙๘/๔๑ สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละหรือโอนมิได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562
         ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด 

         เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้ จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ  

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562
         จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ 

        ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561 
          คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์ บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561
        โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561
        การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560
        สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560
        การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560
       โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว 

        เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่ แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2560
     คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ป. ที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท ทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยมีภาระหนี้สินมากและมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดาและครอบครัว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอลดเงิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู ต่อมาจำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2559 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 จึงถือได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด ส่วนคำร้องของจำเลยที่ขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น จำเลยอ้างว่า จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกิดจากโจทก์และบุตรกับภริยาคนใหม่ ทั้งจำเลยยังกู้ยืมเงินจากธนาคาร ก. จำนวน 1,500,000 บาท พฤติการณ์รายได้หรือฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง แม้หนี้เงินกู้ดังกล่าวจำเลยอ้างว่าเพื่อสร้างบ้านให้แก่บิดาที่จังหวัดเชียงรายและต่อเติมตกแต่งบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้ว่ามีภาระต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท แต่จำเลยกลับไปสร้างภาระหนี้สินจำนวนมากมายดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุผลให้กระทบเสียหายต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าใช้จ่ายอื่นแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560
       การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี" เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7070/2560
     โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลชั้นต้น ในข้อ 2 ว่า "ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามร่วมกัน" ข้อ 3 วรรคสองของสัญญาระบุว่า "สำหรับค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ" จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า หากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามพักอาศัยอยู่กับใครคนนั้นจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสามไปดูแลในช่วงที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามนั้น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับสัญญาประนีประนอมที่ทำไว้ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าศาล ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560
    โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6  

        ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4142/2560
        ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย 3,600,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเดือนละ 50,000 บาท โดยอาศัย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่อาจทำได้เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามคำพิพากษา จึงกำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับชำระจริง หาใช่เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้เป็นก้อนหรือผ่อนชำระให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดไม่ โจทก์มีหน้าที่ตามคำบังคับที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560
      การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560
       โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10289/2559
        หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นช่วงระยะเวลาจนบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับไม่ชอบ และที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามานั้นจึงไม่ชอบเช่นกัน เห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559
        จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533 รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว 

        ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้ จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559 
    โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559
      ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2558 
      ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคท้าย ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่ โดยหากศาลไม่มีดุลพินิจเป็นประการอื่นก็ต้องสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุด ตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 167 วรรคหนึ่ง การที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี โดยให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้ในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งด้วย สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า "ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวนี้ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ แต่ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแทนโจทก์ จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนแก่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10773/2558
       ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์ จึงไม่ชอบ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10769/2558
       โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองฝ่ายเดียว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ไม่อาจฟ้องหย่าได้ จำเลยยังประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแย้งว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ขอให้บุตรทั้งสองอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยมีอำนาจปกครอง ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามฟ้องแย้งจำเลยว่า ไม่ประสงค์หย่ากับโจทก์และยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะบิดามารดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลยตามมาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกันแม้ศาลจะมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้โจทก์ปฏิบัติตามฟ้องแย้งได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2558
     โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ม. จำเลยให้การว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้จดทะเบียนสมรส และใช้วิทยาการทางการแพทย์โดยการผสมเชื้ออสุจิเพื่อตั้งครรภ์เด็กชาย ม. ให้โจทก์ โดยไม่เคยได้ใช้ชีวิตดังสามีภริยาเลย เมื่อเด็กชาย ม. คลอด โจทก์ไม่ส่งเงินมาให้ ไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่กลับขู่ให้ส่งมอบบุตรให้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่โดยให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนที่ปราศจากความยินยอมที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างแท้จริง เนื่องจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเพราะโจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยให้ตั้งครรภ์บุตรให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยต่างไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริงและไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จึงเป็นการสมรสที่ผิดเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1458 ซึ่งมีผลให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคสองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ แต่เมื่อบุตรผู้เยาว์คลอดระหว่างที่ศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2558
        ในคดีหย่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดและอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสองและมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนละ 4,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะจึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558
       ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล. คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4398/2558
      โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 ขอแบ่งสินสมรส ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ถึงวันฟ้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนบรรลุนิติภาวะ และให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ เมื่อผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในประเด็นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ประเด็นสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนฟ้อง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ และประเด็นการแบ่งสินสมรส และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ถูกเรียกค่าทดแทน สำหรับประเด็นหย่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเด็นเรียกค่าทดแทนที่เรียกจากจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมิได้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคสอง ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น ส่วนประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1526 ระบุว่า ค่าเลี้ยงชีพศาลจะกำหนดให้เมื่อมีการหย่าเท่านั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนหย่า การสมรสจึงสิ้นสุดเพราะการตาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ศาลฎีกาเห็นควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะทั้งสามประเด็นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557
       หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพียงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจึงไม่ชอบ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13723/2557
        คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้ จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2557
     ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความจะนำมาพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพของข้อเท็จจริงแต่ละราย หากข้อเท็จจริงใดเป็นเรื่องที่คู่ความประสงค์จะให้เป็นข้อพิจารณาโดยแท้ในชั้นไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาศัยความจริงใจของคู่กรณีที่จำเลยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นคุณเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูล ข้อมูลเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในภายหลังได้ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคู่กรณีต่อระบบการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทที่ต่อไปคู่กรณีอาจไม่เปิดเผยข้อมูลแก่กันเพื่อหาทางระงับคดี แต่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดที่ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ ก็เป็นที่ทราบของคู่กรณีอยู่แล้วก็ดี หรือข้อมูลใดคู่ความประสงค์ให้นำมาเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา เมื่อการไกล่เกลี่ยไม่อาจตกลงกันได้ก็ดี ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อในการไกล่เกลี่ยจำเลยเสนอว่าสามารถชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท แต่ตกลงกันไม่ได้ แล้วต่อมาจำเลยแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ในชั้นไกล่เกลี่ยจำเลยยินดีให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 บาท และแถลงแทนการสืบพยานบุคคล ศาลจึงรับฟังคำแถลงดังกล่าวได้ในฐานเป็นจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรของโจทก์จำเลยต่อไป โดยพิจารณาประกอบสภาพเศรษฐกิจและพฤติการณ์ในการทำมาหาได้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 4,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2557
       ป.รัษฎากร มาตรา 47 (1) (ญ) กำหนดให้ลดหย่อนภาษีสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวปรากฏตามเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 36) พ.ศ.2548 คือ โดยที่มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุตร สมควรกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนหรือสามีภริยาของตน นำค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ การหักลดหย่อนดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด ทั้งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรก็กำหนดไว้ว่า ผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาของตนจึงจะใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 47 (1) (ญ) ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557
       โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2556
       ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน ให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและแบ่งสินสมรส จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเรื่องเหตุหย่าเพียงประการเดียว จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556
          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้..." คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า "จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู" แต่มีคำว่า "ค่าขาดรายได้" เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2556
      การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวัน ระบุว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีกนั้น ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 ข้อตกลงในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18859/2555
  โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แม้โจทก์ร่วมบรรยายคำร้องเพียงว่าผู้ตายมีรายได้จากการทำงานทั้งสิ้น 8,603,813.25 บาท โดยไม่ได้บรรยายว่าในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือหรือส่งเสียหรือให้การช่วยเหลือโจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์ร่วมระบุจำนวนเงินค่าขาดไร้อุปการะที่เรียกจากจำเลยเท่ากับจำนวนรายได้ที่ผู้ตายจะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งศาลสามารถพิจารณากำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้ คำร้องของโจทก์ร่วมจึงแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง แล้ว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555
        ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2555
      โจทก์ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าซึ่งที่ถูกคือค่าเลี้ยงชีพนั้นจะต้องเป็นกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล และคดีต้องฟังได้ว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงหย่ากันในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อตกลงตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานนอกจากเรื่องหย่าแล้วยังมีเรื่องทรัพย์สินรวมทั้งเงินที่จำเลยตกลงแบ่งให้แก่โจทก์ โดยในขณะที่ตกลงกันนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จำเลยย่อมบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นความผูกพัน โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15066/2555
     โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก เขตปกครองเรนเซลาเออร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย อ. เป็นรายเดือนแก่โจทก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญา การที่จำเลยกลับมาประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลยชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อข้อ 6 แห่งสัญญาระบุว่า สัญญานี้จะผูกพัน โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี..." เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และคำสั่งศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11462/2555
       เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วไม่ส่งอีก โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เมื่อเงินเดือนจำเลยเพิ่มขึ้นโจทก์ขอให้อายัดเพิ่มเป็นเดือนละ 8,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะและมีงานทำแล้ว ขอให้งดการบังคับคดี โจทก์จำเลยจึงตกลงกันไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม และเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยตามข้อตกลงใหม่จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว โจทก์จะอ้างว่าข้อตกลงใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม ขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ เพราะโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยในอัตราใหม่ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดูไปตามพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้และผู้รับก็มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552
       ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552
    การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้ ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว