ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

มาตรา ๑๔๖๑  สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา

สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน

มาตรา ๑๔๖๒  ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้

มาตรา ๑๔๖๓  ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้

มาตรา ๑๔๖๔ ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต ไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายที่วิกลจริตตามมาตรา ๑๔๖๑ วรรคสอง หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด อันเป็นเหตุให้ฝ่ายที่วิกลจริตอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดความเสียหายทางทรัพย์สินถึงขนาด บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘ หรือผู้อนุบาลอาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริต หรือขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้นได้

ในกรณีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ขอต่อศาลในคดีเดียวกันให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยขอให้ตั้งตนเองหรือผู้อื่นที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้อนุบาล หรือถ้าได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถอยู่แล้ว จะขอให้ถอดถอนผู้อนุบาลคนเดิม และแต่งตั้งผู้อนุบาลคนใหม่ก็ได้

ในการขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตโดยมิได้เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วยนั้น จะไม่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะไม่ขอเปลี่ยนผู้อนุบาลก็ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าวิธีการคุ้มครองที่ขอนั้นจำต้องมีผู้อนุบาลหรือเปลี่ยนผู้อนุบาล ให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง แล้วจึงมีคำสั่งคุ้มครองตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๔๖๔/๑ ในระหว่างการพิจารณาคดีตามมาตรา ๑๔๖๔ ถ้ามีคำขอศาลอาจกำหนดวิธีการชั่วคราวเกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูหรือการคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2558
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเพราะเหตุละเมิด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้าที่ในการอุปการะของผู้ตายในฐานะสามีของโจทก์ที่มีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ตามที่โจทก์เรียกร้องเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันทำละเมิดคือ วันที่ 17 มกราคม 2554 จึงมากเกินสมควร กรณีมีเหตุสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ใหม่ตามส่วนที่โจทก์เรียกร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558
ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง

ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล.

คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง

ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2558
โจทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านพิพาทจนกระทั่งโจทก์ที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งหมายความรวมถึงการดูแลทุกข์สุขและความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีภริยาต่อกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สมัครใจที่จะดูแลโจทก์ที่ 2 การให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถดูแลโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยและอยู่อาศัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 จำเลยในฐานะภริยาของโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทเช่นกัน หากจำเลยมีพฤติกรรมกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิฟ้องหย่าเป็นคดีต่างหาก โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

ส่วนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจะใช้สิทธิของตนให้ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ จำเลยในฐานะภริยามีสิทธิพักอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่

ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552
วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550
แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้ เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้าน ละทิ้งไม่ดูแล ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ใน ระหว่างศึกษาเล่าเรียน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้ เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับ โจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่ เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้ง สองอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่ บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็น ผู้ใช้อำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินขอ

แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่าโจทก์ในฐานะสามี ไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยา เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมด แล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้วจะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้อง แย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8231/2549
ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามบันทึกข้อตกลงเป็นเงิน 11,000 บาท และจ่ายจากเงินบำนาญครึ่งหนึ่ง หรือให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันรับเงินบำเหน็จ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เต็มคำขอโดยตกลงว่า จำเลยยินยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ 11,000 บาท และโจทก์จำเลยไม่ติดใจว่ากล่าวคดีสืบต่อไป ย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยเป็นเงิน 11,000 บาท โดยไม่ติดใจที่จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกต่อไป ดังนี้ ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้ในคดีก่อนโจทก์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยอาศัยบันทึกข้อตกลงแต่มูล เหตุของการทำบันทึกข้อตกลงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์ จำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1461 วรรคสอง นั่นเอง แม้ในคดีก่อนโจทก์จะไม่อ้างบันทึกข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่า อุปการะเลี้ยงดูได้อยู่แล้ว ประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นประเด็นและเหตุเดียวกัน คือ การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มี ผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537
กรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องตั้งคู่สมรสเป็น ผู้อนุบาลก่อนเพียงคนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การจะตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน จะไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 การจัดการสินสมรสของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/16 คือถ้าเป็นการจัดการตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้ อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530
จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลย ทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตาม มาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม

เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้ว ตั้งโจทก์เป็นแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6575/2537
จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์จงใจทิ้งร้าง จำเลยเกินกว่าหนึ่งปี โจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีเจตนาทิ้งร้างจำเลยตามฟ้องแย้งและศาลชั้นต้นได้จดไว้ ในรายงานกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยลงชื่อโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงรับข้อเท็จจริงนี้อีก แม้จะมิได้ส่งสำเนาให้จำเลยมีโอกาสคัดค้านก็ตาม ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้ตามฟ้องแย้งโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริง ในประเด็นนี้อีก โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม แม้ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2512ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การ สมรสตามกฎหมายเดิม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4 และมาตรา 5การแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียบังคับ จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2511 ก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 ใช้บังคับ โดยบุตรสาวจำเลยยกให้โดยเสน่หาแต่มิได้ระบุว่ายกให้เป็นสินส่วนตัวตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1464(3) ที่ดินจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ ก็จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาใช้บังคับไม่ได้เพราะที่ดินตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ จำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2521
โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย ในที่สุดได้ทำสัญญาไว้ต่อกันเป็นข้อสารสำคัญว่า โจทก์จำเลยยอมคืนดีเป็นสามีภริยากันดังเดิม และข้อความในหนังสือสัญญานั้นได้กล่าวไว้ชัดว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อ ระงับการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์จำเลยไม่ต้องเป็นความกันต่อไป โจทก์จำเลยจึงได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันเป็นสัดส่วน กล่าวคือให้โจทก์ได้วัวที่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณ 16 ตัว ฯลฯ นอกจากทรัพย์ดังกล่าวนี้แล้วโจทก์ไม่ขอเอาอีกต่อไป หนังสือสัญญานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850

ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยและโจทก์ได้ตกลงพร้อมใจกันทำหนังสือยกทรัพย์สินสมรสและ สินเดิมให้แก่โจทก์ ฯลฯ นอกจากทรัพย์ที่โจทก์ได้รับไปนี้แล้ว ไม่ขอเอาอีกต่อไปเห็นว่าเมื่อข้อสัญญาระบุชัดว่าโจทก์จะไม่เอาทรัพย์อื่นนอก จากที่โจทก์ได้รับตามสัญญานี้ ก็เท่ากับยอมให้ทรัพย์พิพาทอันเป็นทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในขณะที่ทำสัญญานั้น ตกเป็นสิทธิของจำเลยฝ่ายเดียว โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทอีกไม่ได้

สัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อไม่บอกล้างภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ก็ต้องถือว่ายังคงบังคับได้อยู่เสมอ

(ข้อกฎหมายตามวรรค 2 และ 3 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2521)