อายุความมรดก

มาตรา ๑๗๕๔ ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

มาตรา ๑๗๕๕ อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562
           จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2562
         การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368 การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นอีก 3 คน ตกลงให้ที่ดินมรดก 1 แปลง ตกแก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดโดยนำไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินพิพาทในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892 - 893/2562
         คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ข. พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แต่ข้อนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่ ข. ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการให้การต่อสู้เรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง กับให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี อันเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560
         ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2560
         แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นทำนองว่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่เหตุที่โจทก์อ้างเป็นหลักในคำฟ้องก็เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุที่โจทก์อ้างในคดีก่อนว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำขอบังคับในคดีนี้จะแตกต่างจากคดีก่อนก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน กล่าวคือ ในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ทั้งสามครั้งตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ส่วนการใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกเอาจากทายาท กรณีจำต้องอยู่ภายใต้อายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เมื่อโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งทราบการตายของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 นอกจากนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายและโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560
           ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2560
         จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นการถือครองที่ดินแทนทายาทคือโจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่ แม้จำเลยจะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และการที่โจทก์ทั้งสองขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการขอแบ่งทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 โดยไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดก จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาปรับแก่คดีได้ การขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แม้ศาลจะพิพากษาให้แบ่งปันทรัพย์สินกัน แต่ยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนในการแบ่งทรัพย์สินกันตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 คำขอของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมูลหนี้ที่ไม่อาจคาดการณ์หรือกล่าวอ้างได้ในอนาคต จึงไม่ใช่มูลหนี้ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องในการเรียกร้องค่าเสียหาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2560) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560
          คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736 ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2560
          ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น ดังนั้น นอกจากจำเลยทั้งสองจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งสองต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า มารดาจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา เมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยโต้แย้งและคัดค้าน โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกอะไรบ้างรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความและเป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6325/2559
         กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่ามีการแบ่งปันมรดกกันแล้ว โจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์แทน และฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยเกินสิบปี นับแต่บิดาโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13044/2558
        โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. กลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โอนกลับคืนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย มิใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยทั้งสาม กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาคืนทรัพย์สิน จะนำอายุความมรดกมาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10318/2559
โจทก์ฟ้องขอให้แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมหรือฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมในฐานะผู้รับพินัยกรรม แม้จะมีคำขอให้จำเลยนำเงินจากกองมรดกของ อ. มาชำระให้แก่โจทก์ด้วย ก็เป็นเพียงการเรียกส่วนแบ่งคืนทุนและผลกำไรที่คำนวณได้จากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. ซึ่งอยู่ในกองมรดกของ อ. เท่านั้น หาใช่คดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ แม้จะฟังว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว ฟ้องโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14516/2558
โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อ อ. เจ้ามรดก ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของ อ. ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558
        คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9745/2558
โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. และ ส. เจ้ามรดก ฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากเจ้ามรดกทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจาก ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของ ส. โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อนแต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบอันเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558
ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
         โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19775/2557
คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ฐานยักยอกทรัพย์มรดกของ น. จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 คดีนี้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของ น. แทนที่ ส. บิดาตนที่ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท น. อีกคนหนึ่งได้กระทำความผิดอาญาโดยแจ้งเท็จปิดบังทายาทของ น. คนอื่น จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเองและไปจดทะเบียนขายแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งเนื่องจากอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ซึ่งอายุความในการฟ้องทางแพ่งต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลด้วย โดยคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17502/2557
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวผู้รับโอนทรัพย์มรดกและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยไม่ชอบเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนและให้จำเลยโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกกลับคืนมาเป็นกองมรดกของ พ. เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทคนหนึ่ง จึงเป็นคดีมรดก จำเลยมีสิทธิยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์และบุตรทุกคนของ พ. ไม่เคยติดตามการจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นเวลา 22 ปี นับแต่ พ. ถึงแก่ความตายและเกือบ 20 ปี นับแต่วันที่ ส. โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของ พ. จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ส. โอนที่ดินให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557
         อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14174/2557
โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ เมื่อ ก. บิดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ด้วย แต่ อ. มารดาโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ก. หรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1754 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่า ก. ถึงแก่ความตายเมื่อใด แต่ตามคำฟ้องระบุว่า ก. ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่ อ. ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่ ก. ถึงแก่ความตายแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ แม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ก. ก็ตาม แต่ อ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของ อ. ทายาทโดยธรรมของ ก. ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12093/2557
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แต่จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุในคำให้การว่าโจทก์ฟ้องเกินสิบปี จึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างคือ อายุความมรดกตามมาตรา 1754 จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามมาตรา 1733 วรรคสอง แม้จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกก็ตาม แต่จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยยกอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ฎีกาข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557
ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557
อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556
โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556
คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556
การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556
สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4578/2556
โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าเช่าซื้อที่ ส. มีอยู่ต่อบริษัท ม. ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้ที่ ส. มีอยู่แก่บริษัท ม. หลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของการเป็นเจ้าหนี้แทนบริษัท ม. ที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ชำระหนี้แก่บริษัท ม. อันเป็นเวลาหลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมิใช่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยอยู่ในขณะที่ ส. ถึงแก่ความตาย เพราะสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากการตายของ ส. ผ่านพ้นไปแล้ว อายุความในการใช้สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15039/2555
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555
โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างในฎีกาอีกว่าอายุความสิบปีสะดุดหยุดลงเพราะจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฆ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างให้ชัดแจ้งว่าข้อฎีกาดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691/2554
จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า คดีขาดอายุความเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกิน 10 ปี ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดกและโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีจึงขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทได้แก่ ภริยาและบุตรทั้งเจ็ดโดยภริยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในการรับมรดกเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (1) ภริยาขอรับโอนที่ดินพิพาทแทนทายาทและยกที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งด้วยเพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่าภริยาเจ้ามรดกผู้โอน โจทก์ที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหนึ่งในแปดส่วนและชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ลงในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2553
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของ ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2552
นับแต่วันที่ ส. ตาย ทายาทของ ส. คือโจทก์ จำเลย และ อ. ได้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แล้ว และถือได้ว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วนับแต่วันที่ได้มีการครอบครองเป็นส่วนสัด จึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี ตามมาตรา 1754 หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ. ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น

           จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2552
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และจำเลยที่ 1 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ สินสมรสส่วนของ ส. กึ่งหนึ่งจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดก เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบท บัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาทเพราะบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 6 ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น

การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของ ส. บางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของ ส. และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. อีกคนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722

ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ไม่ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งมีโจทก์ทั้งห้ารวมอยู่ด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. และโจทก์ทั้งห้าที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. คนหนึ่ง จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำโดยตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2551
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครอง ทรัพย์เป็นส่วนสัดแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ไม่ และไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งดั่งเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาอาจยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึด ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระ หนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป

ตามสัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัยแต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทน ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนแก่ผู้ให้กู้ก่อนการ ชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น จะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่า จ. ละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับ จ. ตามกฎหมายที่จะต้องให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. รับผิดชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2551
พล ตรี น. ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับพิพาท คงมีพันเอก พ. ลงชื่อเป็นพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทมาอ้างอิงแสวงสิทธิใดๆ ได้

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำ พินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทเป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำ พินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น หากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้ง ฉบับ

บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมี สิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550
ท. ขับรถไปในทางการที่จ้างของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างชนรถยนต์ของ ธ. ที่เอาประกันภัยไว้ต่อบริษัท ว. ได้รับความเสียหาย หลังจาก ท. ตายโจทก์ทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้โจทก์ชำระ แก่ ธ. และบริษัท ว. และโจทก์ได้ชำระไปแล้ว สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจาก ท. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 จึงเพิ่งเกิดเมื่อวันที่โจทก์ชำระเงิน

สิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตามมาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้บังคับ ในการฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. รับผิดไม่ได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. (วันที่โจทก์ชำระเงิน) ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่ สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตาย ของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็น ประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวน นั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม

แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติถึงอายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทอ้างว่า เจ้ามรดกต้องรับผิดเพราะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์ คดีย่อมอยู่ในบังคับอายุความมาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2549
การฟ้องคดีมรดกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1754 หมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียก ร้องในส่วนแบ่งทรัพย์มรดก

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินและมีคำขอบังคับให้ จำเลยแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกตามที่ ม. มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ม. ยกที่ดินส่วนของ ม. ให้แก่จำเลย และจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ ม. ยกให้จนได้สิทธิครอบครองแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่า ม. มิใช่เจ้าของรวม แม้จำเลยจะให้การว่า ม. กับโจทก์ไม่มีบุตรด้วยกันและจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ม. ก็เป็นการยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่า ม. ยกที่ดินส่วนของ ม. ให้แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ม. ด้วยผู้หนึ่ง จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่ง ทรัพย์มรดก แต่พิพาทกันในเรื่องความเป็นเจ้าของรวมที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุมาฟ้องขอแบ่ง ทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความหาใช่การฟ้องคดีมรดกไป จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย..." คำว่า คดีมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิ เรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของทายาทคือจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ บ. และโจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินจากจำเลยทั้งสองเพื่อ นำมาแบ่งปันแก่ทายาทของ บ. กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2549
พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบและทราบการตายของ อ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 และโจทก์ที่ 1 โดยรองอธิบดีฝ่ายที่ 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ที่ 1 ทราบการตายของ อ. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ทราบการตายของ อ. ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงอยู่ในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549
โจทก์เป็นบุตรของ ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของ ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว แต่เมื่อจำเลยกับ ศ. เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งและเมื่อจำเลยไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทน ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2548
นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการสบคบกันฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง โจทก์ยังฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ส. เจ้ามรดกได้ทำไว้กับโจทก์ด้วย จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องคดีนี้หลังจากได้รู้ถึงความตายของ เจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2548
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ส. เจ้ามรดกให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ส. ทำไว้กับโจทก์ จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม มีอายุความ 1 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องคดีหลังจากได้รู้ถึงความตายของ ส. เกินกว่า 1 ปี แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท จึงมีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2548
โจทก์ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์และ ข มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอมด้วย ข. จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทเกินกว่าส่วนของตนให้แก่จำเลยทั้งสอง ได้

เมื่อทรัพย์พิพาทส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งเป็นสินสมรสไม่ใช่ทรัพย์มรดกจึงไม่อยู่ในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2548
ร. ผู้จัดการมรดกผู้ตายจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนดัง กล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430/2547
กรณี ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้น หมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกในขณะที่เจ้าหนี้ ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อายุความ 1 ปี ก็ยังไม่เริ่มนับ หนังสือสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่แจ้งไปยังโจทก์ระบุว่า พ. ถึงแก่ความตายแล้ว และตามสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่ส่งไปพร้อมกับหนังสือดังกล่าวมีมรณบัตรของ พ. เป็นหลักฐานด้วย ก็รับฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของ พ. เจ้ามรดกตั้งแต่ปี 2535 แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าจะฟ้องร้องบุคคลใดได้บ้าง ก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ต่อเมื่อโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและคณะ กรรมการดังกล่าวทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทาง แพ่งต่อโจทก์ โดยเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นจนถึงรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรม โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทด แทน และเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7499/2547
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของพันโท ช. รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่พันโท ช. ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของพันโท ป. ไว้แก่โจทก์ เมื่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น ทั้งผู้ค้ำประกันย่อมจะหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ สิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และมาตรา 698 ความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้ จะต้องชำระนั้น เห็นได้ว่าเป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกัน มิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของพันโท ป. ผู้กู้ยกอายุความเกี่ยวแก่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันมีต่อ เจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ และปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อพันโท ป. เจ้ามรดกขาดอายุความแล้วทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ ศาลย่อมพิพากษาให้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขาดนัดซึ่งจะต้องรับผิดในฐานะทายาทของพันโท ช. ผู้ค้ำประกันหนี้ของพันโท ป. แก่โจทก์ด้วยได้ แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายหลังโจทก์ได้รู้ถึงความตายของพันโท ช. เจ้ามรดกเมื่อยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547
โจทก์ กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบ ครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การ ต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิ ยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์