แบบพินัยกรรม

มาตรา ๑๖๕๕ พินัยกรรมนั้น จะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

มาตรา ๑๖๕๖ พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดั่งนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ใน ขณะนั้น

การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้

มาตรา ๑๖๕๗ พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

บทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้

มาตรา ๑๖๕๘ พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ

(๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน

(๒) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง

(๓) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

(๔) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลง วัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ

การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

มาตรา ๑๖๕๙ การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้น จะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เมื่อมีการร้องขอเช่นนั้น

มาตรา ๑๖๖๐ พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ

(๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม

(๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น

(๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย

(๔) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น

การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

มาตรา ๑๖๖๑ ถ้าบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวกหรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นแบบเอกสารลับ ให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานซึ่งข้อ ความว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำดั่งที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๖๖๐ (๓) และถ้าหากมีผู้เขียนก็ให้เขียนชื่อกับภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรมนั้นไว้ ด้วย

ให้กรมการอำเภอจดลงไว้บนซองเป็นสำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ปฏิบัติตามข้อความในวรรคก่อนแล้ว แทนการจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา ๑๖๖๒ พินัยกรรมซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนั้น กรมการอำเภอจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมี ชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมจะเรียกให้กรมการอำเภอส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใดๆ กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้

ถ้าพินัยกรรมนั้นทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบพินัยกรรม ให้กรมการอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรมไว้แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรมนั้นจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่

มาตรา ๑๖๖๓ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้

เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น

พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย

ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน

มาตรา ๑๖๖๔ ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมซึ่งทำขึ้นตามมาตราก่อนนั้นย่อมสิ้นไปเมื่อ พ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรม ตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้

มาตรา ๑๖๖๕ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐ จะให้เสมอกับลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น

มาตรา ๑๖๖๖ บทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พยานผู้ที่จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐

มาตรา ๑๖๖๗ เมื่อคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ พินัยกรรมนั้นอาจทำตามแบบซึ่งกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ก็ได้

เมื่อทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอตามมาตรา ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑, ๑๖๖๒, ๑๖๖๓ ให้ตกแก่บุคคลดั่งต่อไปนี้ คือ

(๑) พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ

(๒) พนักงานใดๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้นๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้

มาตรา ๑๖๖๘ ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรมนั้นให้พยานทราบ เว้นแต่กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๖๖๙ ในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหาร จะทำพินัยกรรมตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๘ มาตรา ๑๖๖๐ หรือมาตรา ๑๖๖๓ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านั้น ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ

บทบัญญัติวรรคก่อนให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการ เกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารทำพินัยกรรมในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการ เพื่อประเทศในภาวะการรบหรือการสงครามในต่างประเทศโดยอนุโลม และในกรณีเช่นว่านี้ ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียว กับพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย

ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตามความในสองวรรคก่อนนั้นป่วยเจ็บหรือต้องบาดเจ็บ และอยู่ในโรงพยาบาล ให้แพทย์แห่งโรงพยาบาลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอหรือพนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย แล้วแต่กรณีด้วย

มาตรา ๑๖๗๐ บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้

(๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(๒) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(๓) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง

มาตรา ๑๖๗๑ เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน

ถ้าบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่นๆ

มาตรา ๑๖๗๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และต่างประเทศ มีอำนาจและหน้าที่เท่าที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้นๆ ที่จะออกกฎกระทรวง เพื่อให้การเป็นไปตามประมวลกฎหมายบรรพนี้ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2563
          การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2562
           ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ โดยข้อ 1 ของพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อผู้คัดค้านเป็นวัดทางคริสตศาสนามีที่ตั้งที่แน่นอนและอยู่ภายใต้สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยตามหนังสือรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ระบุว่าคริสตจักร ศ. สังกัดคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประกอบกับตามสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของผู้คัดค้านก็ระบุว่า มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อความตามพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1684 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด" ดังนี้ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมตีความตามความประสงค์ของผู้ตายว่า ผู้ตายประสงค์ที่จะยกที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเพื่อใช้ในกิจกรรมของผู้คัดค้าน เมื่อมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามตราสารการตั้งมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวระบุเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินไว้ว่า ได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์สุดแต่จะมีผู้ศรัทธาหรืออุทิศบริจาคให้ ดังนี้ ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยย่อมรับเอาที่ดินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ไว้ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นอีก เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562
              ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562
           จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562
              ในคดีไม่มีข้อพิพาท ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งหากผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านกลับกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้อย่างครบถ้วน เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง เลือดออกในโพรงสมองและสมองบวมอันเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ คำร้องคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายทำขึ้นจริง ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แม้คำคัดค้านจะไม่ได้บรรยายเรื่องผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมและพินัยกรรมเป็นโมฆะไว้ก็ตาม แต่ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561
               เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่พึงจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยจ่ายให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ ถ้าสมาชิกผู้ใดออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ ดังนี้ หากสมาชิกประสงค์จะให้ผู้รับโอนประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ก็จะต้องคงความเป็นสมาชิกไว้จนตายจะถอนเงินค่าหุ้นหรือออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ และเงินทุนเรือนหุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ก็มิใช่เงินที่สมาชิกสามารถที่จะเบิกถอนไปใช้ได้ก่อน เว้นแต่จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้วซึ่งก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวนก็ได้ เงินค่าหุ้นจึงมีลักษณะพิเศษที่มิใช่เป็นทรัพย์ของสมาชิกโดยแท้ เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติให้สมาชิกสหกรณ์สามารถทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้นหรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน การจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ก็ต้องทำเป็นหนังสือในลักษณะเดียวกันมอบให้สหกรณ์ถือไว้ และถ้าในที่สุดไม่มีผู้รับเงิน เงินนั้นก็จะนำไปสมทบเป็นเงินทุนสำรองของสหกรณ์ เมื่อเงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยเพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายจึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม โดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีก โดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ 
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561
             พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2561
           โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่ข้อกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ร. เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันเป็นการกำหนด การเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2561
             ที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ค. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า ส. และ บ. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อ ส. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองขณะ น. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561
           ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561
           ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8570/2560
           ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า ผู้ร้องรื้อบ้านให้เช่าของผู้ตายแล้วเอาบ้านไม้ไปโดยทุจริต ทำให้กองมรดกได้รับความเสียหายนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนฎีกาที่ว่าผู้ร้องรื้อบ้านของผู้ตายและนำเงินที่ขายได้ไปใช้ส่วนตัวโดยพลการนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่นำสืบว่าผู้ร้องนำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมแซมบ้านซึ่งผู้ตายพักอาศัย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากที่ดินที่ระบุหลักฐานโฉนดที่ดินในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่นที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน ซึ่งหากผู้ตายมีเจตนาจะยกทรัพย์สินดังกล่าวให้ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อความที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดก จึงมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ก็อ้างว่าผู้ร้องใช้การฉ้อฉลแสดงเจตนาหลอกลวงให้ผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และร่วมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรม ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงและพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ทำให้เชื่อว่าหากผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การจัดการมรดกก็จะมีข้อขัดแย้งและเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560
             โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

              ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560
           โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2560
            ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย รค.2 เป็นเพียงสำเนา ผู้คัดค้านมิได้นำต้นฉบับมาแสดง ต้องห้ามมิให้รับฟัง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) เอกสารหมาย รค.2 นอกจากจะมีข้อความระบุในตอนเริ่มต้นว่า "พินัยกรรมนี้เขียนด้วยมือตนเอง..." แล้วยังมีข้อความว่า "ที่นาโฉนดเลขที่ 497 อีกโฉนดเลขที่ 3817 ทั้งสองโฉนดนี้เป็นชื่อ ช. คิดจะเอาไว้เลี้ยงชีวิตยามชรา บัดนี้เราชราลง ได้มีบุญช่วยให้ชีวิตพอดำรงได้โดยไม่ต้องขายที่นากิน จึงยกให้ลูก ๆ พี่น้อง 11 คน..." ถ้อยคำดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายสำนึกถึงความชราและประสงค์จะกำหนดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนที่ยังมีอยู่ ทั้งเป็นข้อความที่ต่อเนื่องมาจากคำว่า พินัยกรรมนี้ แม้ในเอกสารดังกล่าวจะไม่มีคำว่าเผื่อตาย แต่บุคคลทั่วไปอ่านแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าผู้ตายมีเจตนายกที่ดินให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่มีเจตนายกให้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ประกอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า "คำสั่งของบุคคลที่กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว" จึงถือว่าผู้ตายได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้ เอกสารหมาย รค.2 จึงเป็นพินัยกรรม ผู้คัดค้านย่อมเป็นทายาทตามพินัยกรรมของผู้ตายและมีสิทธิยื่นคำคัดค้าน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2560
           พันตำรวจตรี ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรมแล้วแต่ไม่อาจจัดตั้งได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1679 วรรคท้าย บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผลและหลังจากนั้นพันตำรวจตรี ท. ได้จัดการแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นโดยโอนไปเป็นของตนเองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 การจัดการมรดกรายพิพาทจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า พันตำรวจตรี ท. ทำผิดหน้าที่ โอนที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ไม่ได้นำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อการจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 อีกต่อไป ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเป็นคดีนี้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสามจะไม่ได้กล่าวมาในคำคัดค้านอย่างชัดแจ้งถึงเรื่องอำนาจร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3536/2560
            ผู้ร้องนำสืบพยานและอ้างส่งสำเนาพินัยกรรมต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีระบุพยาน และเป็นเอกสารที่ผู้ร้องต้องส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ ก็ถือเป็นการไม่ชอบ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดก โดยผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือ ส. เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่าที่ดินตามพินัยกรรมเป็นของผู้คัดค้านนั้น เป็นการอ้างว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้าน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว ผู้ตายมาพบเจ้าพนักงานปกครอง และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วเจ้าพนักงานปกครองพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย เมื่อไปพบผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตแล้ว เจ้าพนักงานปกครองอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตาย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และพยานสองคนฟัง ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตายและพยานสองคนลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไป ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560 
         แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560
          คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736 ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10809/2559
         ข้อความในพินัยกรรมส่วนที่เพิ่มเติมตอนท้ายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับ เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น ทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความได้สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้ ส. เป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559 
           ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดแต่เจ้ามรดกกับ ส. ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แม้ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกจะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งลายมือชื่อตัวอย่างลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีสะดุด ขณะลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นมีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง ทั้งผู้ร้องไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์ เพิ่งมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารหลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559
          คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2559
          พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7,0625 ตารางวา โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนดังกล่าวหลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่ ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติ "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมโจทก์และ ส. ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่เป็นการทำพินัยกรรมกำหนด การเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559
           พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559 
          การร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก่อนปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นเรื่องอำนาจฟ้องหรืออำนาจยื่นคำร้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐเป็นเจ้าของหรือผู้ปกปักรักษาตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ออกตามความใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 123 เป็นกุศลสถานสำหรับมหาชนแม้ผู้ตายจะเป็นผู้ดูแลขณะมีชีวิต ก็หาทำให้ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตลอดทั้งทรัพย์สินและผลประโยชน์ของศาลจ้าวนั้นเป็นมรดกของผู้ตายอันจะตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ตายจะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรมได้ แม้จะกำหนดไว้ในพินัยกรรมก็ไม่มีผลบังคับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559
            เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาทดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559 
          จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558 
         ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558
         จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ ส. จะทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากทำหนังสือปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับโอนประโยชน์
         
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 - 9685/2558
พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่

การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8687 - 8688/2558
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย คำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไป แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบมิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลอนุญาตให้ ท. เป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงชอบแล้ว

พินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคนและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 การที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. กับ ห. เมื่อบุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557
การโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลาที่สมควรนั้น ต้องโต้แย้งภายหลังเมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างตนเอง และหรืออ้างบุคคลอื่นเข้ามาเบิกความเป็นพยานได้ อีกทั้งพยานเอกสารที่ได้อ้างประกอบการถามพยานผู้ร้องที่ศาลแพ่งก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ อันมีผลเท่ากับให้ถือเอาบัญชีระบุพยานที่นาย ด. เคยยื่นไว้ก่อนถึงแก่ความตายเป็นบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้าน และอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ แต่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)

เมื่อพิจารณาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 แล้ว ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายและหัวแม่มือขวา และมีนาย อ. กับดาบตำรวจ ช. เป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายไว้ ซึ่งตามพินัยกรรมระบุข้อความไว้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์หัวนิ้วมือซ้ายเป็นสำคัญต่อหน้าพยาน จึงเห็นได้ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือขวาของผู้ตายเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเกินกว่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปแต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวยังมีผลสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12430/2556
ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2 เป็นเรื่องนาง ก. ผู้รับสัญญาตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่นาง ก. ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นาง ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เหตุนี้ ข้อความต่อมาตามข้อตกลงที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนนาง ก. เต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนนาง ก. ด้วยอันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556
กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17338/2555
การแก้ไขชื่อสกุลของเจ้ามรดกในพินัยกรรม โดยมีการลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับในบริเวณที่แก้ไข แต่ไม่มีพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมขณะที่แก้ไข อันเป็นการไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายระบุไว้ จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง มีผลทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทำไม่ถูกต้อง และถือว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม พินัยกรรมคงมีข้อความตามเดิม หามีผลทำให้พินัยกรรมที่เดิมสมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับหรือตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7057/2554
ป.พ.พ. มาตรา 1662 กำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บรักษาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า ตามปกติจะต้องเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะเก็บรักษาเอง กรมการอำเภอก็ต้องส่งมอบให้ แต่ก่อนส่งมอบพินัยกรรมคืนกรมการอำเภอจะต้องคัดสำเนาไว้พร้อมลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ แล้วเก็บสำเนาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ ได้ความจาก ด. เจ้าพนักงานปกครอง 7 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า สำเนาสมุดทะเบียนพินัยกรรม ในช่องผู้ซึ่งได้รับมอบพินัยกรรมไป ระบุว่า พินัยกรรมของ พ. และ ส. ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมกลับไปในวันเดียวกับที่ทำพินัยกรรม หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมการอำเภอถ่ายสำเนาพินัยกรรมและเก็บสำเนาพินัยกรรมไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ และมอบต้นฉบับพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของ พ. และ ส. ผู้ทำพินัยกรรมว่าต้องการจะรับพินัยกรรมกลับไปเก็บไว้เอง และเจ้าพนักงานกรมการอำเภอได้คัดถ่ายสำเนาพินัยกรรมดังกล่าวเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามป.พ.พ. มาตรา 1662 แล้ว การที่พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้เก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

ป.พ.พ. มาตรา 1662 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามกรมการอำเภอเปิดเผยต้นฉบับหรือสำเนาพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนการที่ผู้ทำพินัยกรรมขอรับพินัยกรรมกลับคืนไป แล้วนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามไว้ คดีนี้ไม่ปรากฏว่ากรมการอำเภอได้เปิดเผยพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่นทราบ ส่วนการที่ผู้รับพินัยกรรมจะทราบข้อความในพินัยกรรมจากผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มิได้ถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไม่มีเนื้อความระบุว่าหากฝ่ายใดไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย อีกฝ่ายก็จะไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นั้น พ. และ ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ต่างไม่มีสามีและบุตร การที่บุคคลทั้งสองมีเจตนาตรงกันและยกทรัพย์สินบางส่วนของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อตนถึงแก่ความตายไปก่อน หาใช่เป็นการทำพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมจึงจะมีผลแต่อย่างใดไม่ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่า พินัยกรรมตามฟ้องปลอมหรือไม่ แต่ในคำฟ้องนอกจากจะอ้างว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องมาด้วยว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมต่างมิได้รู้เห็นขณะที่ ส. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการยกเอาแบบของพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้พินัยกรรมไม่มีผลใช้บังคับด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2553
แม้ในตอนบนของเอกสารจะมีข้อความว่า "หนังสือพินัยกรรม" แต่ไม่มีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง จึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย และหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ข้าพเจ้า ล. หรือ ช. ได้ถวายที่ดินจำนวนประมาณ 15 ไร่ ให้วัดวังก์พงในปีที่วัดวังก์พงได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระอุโบสถนั้น... เนื่องจากทราบว่าเอกสาร น.ส.3 ที่ได้ถวายได้สูญหายไปจากวัดวังก์พงเมื่อปี 2525 และยังติดตามไม่พบและในเอกสารยังมีชื่อของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าจึงขอทำหนังสือฉบับนี้ยืนยันการถวายที่ดินแปลงดังกล่าวและหากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอให้ถือหนังสือฉบับนี้เป็นพินัยกรรมยืนยันการถวายมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดวังก์พงต่อไป ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือยืนยันการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งในปัจจุบันขณะทำหนังสือดังกล่าวจนถึงว่าหากถึงแก่กรรมก็ยังยืนยันยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือแสดงเจตนาของ ล. ที่ยืนยันว่ามีเจตนายกที่ดินพิพาทให้โจทก์มาตั้งแต่แรกจนถึงขณะทำหนังสือดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ล. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วที่ดินพิพาทจึงเป็นธรณีสงฆ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2551
ผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต้องเป็นกรมการอำเภออันหมายถึงนาย อำเภอเท่านั้น และสามารถทำนอกที่ว่าการอำเภอได้ เมื่อมีการร้องขอ ดังนั้น การที่ผู้ร้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองขอนแก่นขอให้ไปทำพินัยกรรมแบบ เอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาล และแม้ ป. ซึ่งเป็นเพียงปลัดอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นผู้จัดทำพินัยกรรม แต่ขณะทำพินัยกรรม ป. รักษาราชการแทนนายอำเภอ การที่ ป. ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาลจึงเป็นการชอบด้วย กฎหมาย และแม้ผู้ร้องจะเป็นผู้แจ้งความประสงค์ให้ ป. ทราบว่าผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมอย่างไร จนเป็นเหตุให้ ป. สามารถให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความต่างๆ ในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่นจนเสร็จเรียบร้อยก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลก็เป็น เพียงการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหอบหิ้วเครื่องพิมพ์ดีด และกระดาษไปพิมพ์ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ป. สอบถามผู้ตายว่าประสงค์จะทำพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องบอกกล่าวในเบื้องต้นหรือ ไม่ ผู้ตายก็ยืนยันต่อหน้าพยานสองคนว่าเป็นความประสงค์ของผู้ตายจริง การสอบถามของ ป. และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นความหมายเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่นายอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) หลังจากนั้น ป. อ่านข้อความให้ผู้ตายและพยานฟัง ผู้ตายเห็นว่าถูกต้องก็ลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ ป. ลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551
จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงิน ที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดย เสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว

พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน พร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติ ดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2551
พล ตรี น. ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับพิพาท คงมีพันเอก พ. ลงชื่อเป็นพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทมาอ้างอิงแสวงสิทธิใดๆ ได้

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำ พินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทเป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำ พินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น หากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้ง ฉบับ

บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมี สิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทตก เป็นโมฆะ ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2550
สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่ อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสีย ไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549
ว. ได้เบิกความเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้ตายสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบ สวนโดย ว. ยืนยันว่า ขณะที่ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้มีการจัดพิมพ์ข้อความและมีบุคคลอื่น ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและช่องพยานมาก่อนแล้ว อ. จึงได้นำพินัยกรรมมาให้ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน แสดงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้า อ. และ ว. ซึ่งเป็นพยานพร้อมกัน และ อ. และ ว. ก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามลักษณะการทำพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมอันจะมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการ ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิต ผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูก คุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662 - 3663/2548
ก่อนที่ ล. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชันจะลงลายมือชื่อและประทับตราสำนัก งานเขตตลิ่งชัน ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (4) บัญญัติ ล. ได้ดำเนินการให้แก้ไขพินัยกรรมที่พิมพ์ผิดพลาดโดยใช้ยาลบหมึกกลบถ้อยคำแล้ว พิมพ์ใหม่เป็นต้นฉบับหรือคู่ฉบับ แก้ไขชื่อจาก "นายสัมพันธ์" เป็น "นายสมพันธ์" เพื่อให้ถูกต้องตามความจริง โดยผู้ทำพินัยกรรม (นายสัมพันธ์) และพยานรู้เห็น จากนั้น ล. จึงลงลายมือชื่อและประทับตราสำนักงานเขตตลิ่งชัน ดังนี้ ไม่ถือว่าเป็นการขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม จึงไม่จำต้องให้ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และ ล. ลงลายมือชื่อกำกับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2548
การขีดฆ่า คำว่า "ดังนี้" ในพินัยกรรมออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกไปแล้วพิมพ์ใหม่เป็นว่า "ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้" การขีดฆ่าคำว่า "ดังนี้" ไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรม เพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าคำดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ข้อความที่พิมพ์ ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า "ผู้รับมอบ" แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า "พยาน" ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่า จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรมมิใช่เป็นผู้รับมอบ การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับ ทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึง ไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง ไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2547
การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ ป.พ.พ. มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเอง ทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอ ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546
ผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ระบุว่า"ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทายาทของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว" นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงิน ฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดัง กล่าว เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545
พินัยกรรม ที่ไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ไว้ แม้จะมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน ในขณะทำพินัยกรรม ก็ต้องถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีส่วนได้เสียใน อันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้

การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ทำบันทึกมีข้อความว่า ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกแล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีกนั้น เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์ มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ทั้งยังปรากฏว่าเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับไปนั้นเป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สิน ที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ทำบันทึกดังกล่าวจึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่เพียงบางส่วนตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613 ซึ่งมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีอำนาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544
การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658(1) บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ใน พินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน แต่ขณะปลัดอำเภอ ค. สอบถามความประสงค์ของผู้ตายในการทำพินัยกรรมนั้น ผู้ตายนอนป่วยอยู่บนรถพยาบาลไม่สามารถลงจากรถได้ และ พ. ซึ่งเป็นผู้พิมพ์ข้อความในพินัยกรรมและลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ไม่ได้เห็นตัวผู้ทำพินัยกรรมปลัดอำเภอ ค. กับผู้ร้องเป็นคนบอกให้ พ. พิมพ์พินัยกรรมจากนั้นปลัดอำเภอ ค. กับผู้ร้องได้นำพินัยกรรมไปอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟังแล้วนำกลับมาให้ พ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานจึงฟังได้ว่าผู้ตายมิได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน ซึ่งการอยู่ต่อหน้าพยานนั้นจะต้องอยู่ต่อหน้าโดยพยานได้เห็นได้ยินผู้ทำ พินัยกรรมแจ้งข้อความมิใช่เพียงแต่เห็นมีการทำพินัยกรรมและข้อความใน พินัยกรรมเท่านั้น ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2544
จ. ทำพินัยกรรมไว้ที่อำเภอระบุว่า ขอมอบที่ดินให้เป็นสมบัติแก่สุเหร่าคันนายาวเพื่อเก็บเงินซึ่งได้จากค่าเช่า ที่ดินใช้เป็นประโยชน์ในทางกุศลของสุเหร่าคันนายาว จะทำการหักโอนให้เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อสุเหร่าคันนายาวได้จด ทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เป็นการแสดงถึงเจตนาโดยแน่ชัดของจ. ว่า จะยกที่ดินให้แก่สุเหร่าคันนายาวเมื่อได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้ว แม้ภายหลังจำเลยมิได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแต่ก็ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การสาธารณกุศลตรงตามวัตถุประสงค์ของ จ. ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ไม่มีอำนาจนำมาแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2544
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1658 ที่บัญญัติว่า "(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตน แก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน (2) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการทำพินัยกรรมมีเฉพาะ ส. เข้าไปในบ้านเพื่อทำพินัยกรรมให้กับ บ. ตามที่ได้ยื่นคำร้องไว้ โดยปลัดอำเภออาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอกับ ถ. นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านอาหารตรงกันข้ามกับปากตรอกทางเข้าบ้าน บ. เมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ส. จึงนำพินัยกรรมนั้นมาให้ปลัดอำเภออาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอและ ถ. ลงลายมือชื่อที่ร้านอาหารแม้ในหน้าสุดท้ายของพินัยกรรมจะระบุว่า ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอ รับรองว่าเป็นผู้ทำหน้าที่จดข้อความ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้ทำหน้าที่จดข้อความคือ ส. แม้จะฟังว่า ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอสั่งให้ ส. ช่วยจดข้อความแทน แต่ขณะจดข้อความนั้นมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันพินัยกรรม นี้จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9412/2542
นอกจากหัวข้อด้านบนจะระบุว่าพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า "ข้าพเจ้า อ. ขอแสดงเจตนาเพื่อทำพินัยกรรมขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ที่ดินตาม ข้าพเจ้าขอยกให้แก่ แต่เพียงผู้เดียว" และ "ข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ" บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าอ. มีเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้น เมื่อ อ. ตายหาใช่มีเจตนายกให้ขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า"เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย" ถือได้ว่าอ. ได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้แล้ว

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646มิใช่แบบของพินัยกรรมที่บังคับให้ต้องระบุข้อความกำหนดการเผื่อตายโดย ต้องมีคำว่า "เผื่อตาย" ระบุไว้โดยชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2540
นายอำเภอสั่งให้ ข. ปลัดอำเภอซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง นอกที่ว่าการอำเภอแทนนายอำเภออันเป็นการสั่งตามอำนาจหน้าที่ในทางราชการ ข. จึงมีอำนาจหน้าที่ทำพินัยกรรมตามคำสั่งของนายอำเภอได้ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2540
พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ แต่ไม่ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมอันเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และเมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลจะมีข้อความว่า ป.เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ โดยผู้ทำลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93กรณีไม่อาจฟังว่า ป. เจ้ามรดกทำพินัยกรรมนั้นไว้จริง เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วย กฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันระหว่าง ป. เจ้ามรดกกับผู้คัดค้านเป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรมเพราะ ป.เจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฎว่า ป. เจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมของ ป. ไม่สมบูรณ์ และ ไม่มีผลตามกฎหมาย และเมื่อ ป.เจ้ามรดก ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของ ป.ทั้งเมื่อไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2540
ส. ผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน3 คน ซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของส.ไว้เป็นการทำพินัยกรรม ถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ก็มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผล ให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ สินสมรสเป็นทรัพย์ที่ ส.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตายส.จึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2538
พินัยกรรมไม่ลงวัน เดือน ปี ในการทำพินัยกรรมจึงมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการ ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ท.บิดาผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตายได้ตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่บิดา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และ 1713ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าของมรดกได้ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัด ค้านที่ 2 แต่ผู้เดียวก็ตามก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 บัญญัติให้ผู้ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ การที่ผู้ทำพินัยกรรมมีอาการป่วยหนักพูดจาไม่ได้ ไม่สามารถให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าขณะผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมนั้นผู้ทำ พินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จะทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2529
พินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 และ 1666

พินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ มีพยานรับรองพินัยกรรมสองคน คนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมือ อีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อ และมี พ.ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่เมื่อปรากฏว่า พ. อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมมาแต่ต้นจนกระทั่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้ว มือต่อหน้าพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้ว พ.จึงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของ พ.ก็ถือได้ว่าพ.เป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่งเพราะพยานในพินัยกรรมไม่ จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อ เป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยาน ก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ (อ้างฎีกาที่363/2492)

พยานที่ลงลายมือชื่อเป็น พยานในพินัยกรรมขณะทำพินัยกรรมไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ของผู้ทำพินัยกรรมอีกหนหนึ่ง เพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9,1665 และตามมาตรา 1656(อ้างฎีกาที่111/2497)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2529
เจ้ามรดกมีเจตนาจะทำพินัยกรรมเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองแต่ไม่ได้ไปทำต่อกรมการ อำเภอจึงไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1658แต่พินัยกรรมดังกล่าวเจ้ามรดกเป็นผู้เขียนขึ้นเองทั้งฉบับ จึงมีผลใช้บังคับได้ตามมาตรา1657หากเจ้ามรดกไม่ประสงค์ให้พินัยกรรมมีผล บังคับได้ต่อไปจะต้องเพิกถอนเสียโดยการทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ ตามมาตรา1695แม้เจ้ามรดกจะได้พูดสั่งเสียต่อหน้าญาติผู้ใหญ่หลายคนเป็นทำนอง เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดในพินัยกรรมแต่ไม่มีการบันทึกและลงลายมือชื่อให้ ถูกต้องสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งตามมาตรา1656ถึงมาตรา1669จึงไม่มี ผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรม การที่จำเลยตกลงแบ่งที่นาบ้านและยุ้งข้าวพิพาทให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมแล้ว เพิ่งกลับใจไม่ยอมโอนให้ในภายหลังย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่ง ประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา192แม้โจทก์จะฟ้อง คดีภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วเกิน1ปีคดีก็ไม่ขาดอายุความ บ้านและยุ้งข้าวพิพาทเป็นของเจ้ามรดกมีมาก่อนแต่งงานกับจำเลยจึงมิใช่สิน สมรสของจำเลยกับเจ้ามรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2512
บันทึกการแบ่งทรัพย์ที่เจ้ามรดกทำขึ้นมิได้ลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของ เจ้ามรดก จึงไม่มีผลเป็นพินัยกรรม แม้จะถือว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมด้วยวาจาต่อหน้า ค.และอ. เพราะเจ้ามรดกไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ แต่ ค.และอ.ก็มิได้ไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ สั่งไว้ ตลอดจนวันเดือนปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม และพฤติการณ์พิเศษ บันทึกการแบ่งทรัพย์ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลเป็นพินัยกรรม จำเลยซึ่งมิได้เป็นภรรยาเจ้ามรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิอ้างเอาประโยชน์จากบันทึกนี้ได้ และไม่มีสิทธิรับมรดก

เจ้ามรดกยังไม่ได้ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลย การให้ย่อมยังไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2486
การทำพินัยกรรมด้วยวาจากฎหมายบังคับว่าต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนและพยาน เช่นว่านั้น จะต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรม สั่งด้วยวาจานั้น

พยานที่นั่งทำพินัยกรรมด้วยวาจา ไปแจ้งและแสดงตัวต่อกรมการอำเภอภายหลังวันทำพินัยกรรมเกือบ 4 เดือน โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอในการไปแจ้งล่าช้า พินัยกรรมด้วยวาจานั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้