เงื่อนไขแห่งการสมรส


มาตรา ๑๔๔๘ การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

มาตรา ๑๔๔๙  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา ๑๔๕๐  ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

มาตรา ๑๔๕๑  ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้

มาตรา ๑๔๕๒  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา ๑๔๕๓  หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(๑) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(๒) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(๓) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
(๔) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

มาตรา ๑๔๕๔  ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา ๑๔๓๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔๕๕  การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
(๑) ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
(๒) ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม
(๓) ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้

มาตรา ๑๔๕๖  ถ้าไม่มีผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมตามมาตรา ๑๔๕๔ หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้ ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรส

มาตรา ๑๔๕๗  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา ๑๔๕๘  การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

มาตรา ๑๔๕๙ การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ให้พนักงานทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน

มาตรา ๑๔๖๐ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้เพราะชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบหรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับถ้าหากจะมีการสมรสในวันแสดงเจตนาขอทำการสมรส การสมรสนั้นจะตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2562 
        ขณะเกิดเหตุละเมิด จ. ผู้ตาย เป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้านซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ค. มารดาของผู้ตาย หลังจาก จ. ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตาย เป็นผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับมารดาของผู้ตาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ขณะนั้น จ. มีอายุ 21 ปีเศษ และถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและ ค. บิดามารดาของ จ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ จ. เกิด คือตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 จ. จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานับแต่นั้น การทำละเมิดเป็นเหตุให้ จ. ถึงแก่ความตายย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาขาดไร้อุปการะ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2562
        ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5092/2562
       พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ ผู้คัดค้านเป็นบุตรของ ร. ซึ่งสมรสใหม่กับ ม. เมื่อฟังได้ว่า ม. ที่หลบหนีไปมีเฮโรอีน 24 หลอด ซุกซ่อนไว้ที่บ้านอันเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (1) แล้ว และต้องถือว่า ร. ภริยาของ ม. ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ม. การที่ผู้คัดค้านซึ่งพักอาศัยอยู่ที่อื่นฝากเงินสดจำนวนมากไว้กับ ร. แสดงให้เห็นว่ายังคงไปมาหาสู่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ร. และ ม. อย่างใกล้ชิด จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตตามมาตรา 51 วรรคสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562
       จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2562
     เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยนำรถบรรทุกของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดจนถูกศาลพิพากษาให้ริบไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของอันพึงต้องริบ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562
        เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้..." จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่ ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562
       จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2562
       คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562 
      จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561
       การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)  
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2561
       คดีเดิม ก. ซึ่งเป็นสามีฟ้องหย่าโจทก์ ซึ่งเป็นภริยา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์และ ก. หย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ต่อมา ก. นำคำพิพากษาดังกล่าวไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "การขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจและมีเหตุอันสมควร ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ จึงให้งดไต่สวนและอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ" ชี้ให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ถึงข้อความในคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวว่า ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า หากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะและในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าก็ได้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย อันเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การที่ ก. โจทก์ และทนายโจทก์ไม่แถลงคัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยในคดีดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า คู่ความในคดีนั้นประสงค์จะให้คดีแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดี หาใช่โดยการได้เปรียบกันด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความในคดีแพ่งสามารถกระทำได้โดยชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะใช้ดุลพินิจ มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ไม่ และกรณีเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ทั้งคดีหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์ก็เป็นคดีเกี่ยวด้วยสถานะของบุคคล เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีดังกล่าวในภายหลังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) จึงไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายโจทก์ในคดีนั้นแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาลชั้นต้นและวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้น ถือเป็นการเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อคำพิพากษาโดยคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดถูกเพิกถอน การที่ ก. ไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงถูกเพิกถอนไปด้วย สถานะของบุคคลระหว่าง ก. กับโจทก์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน เมื่อจำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับ ก. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 อันเป็นเวลาหลังจากมีการเพิกถอนทะเบียนการหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์แล้ว จึงเป็นการสมรสในขณะที่ ก. มีคู่สมรสอยู่ จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 จำเลยไม่อาจอ้างความสุจริตได้ การสมรสระหว่างจำเลยกับ ก. ไม่มีผลเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเพราะคำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้นเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลและมีผลผูกพันบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561
        ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561
      คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์ บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2561
     ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน... มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่..." ย่อมหมายความว่า การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย คดีนี้การดำเนินการให้ผู้คัดค้านตั้งครรภ์แทนและ ค. เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงเป็นการไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมผูกพันคู่สัญญาและใช้บังคับได้ แม้ตามกฎหมายดังกล่าว ระบุให้เฉพาะสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน และผู้ร้องกับ ม. มิอาจเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ก็ตาม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของอสุจิที่เข้าผสมกับไข่ของหญิงที่บริจาคจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วนำไปฝังในโพรงมดลูกของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. ในฐานะเป็นบิดาซึ่งผู้คัดค้านแถลงยอมรับในข้อนี้ และไม่คัดค้านหากศาลจะมีคำสั่งให้ ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องด้วยแล้ว จึงเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้สิทธิของผู้ร้องไว้โดยตรง ต้องอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 56 มาวินิจฉัยคดีนี้อย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. แต่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ค. จึงมีสถานะเป็นมารดาของ ค. เท่านั้น เมื่อกรณีผู้ร้องกับ ค. อยู่ในบังคับของบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 29 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคสอง (5) สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวได้ เพื่อความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2561
       ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 ได้แยกองค์ประกอบความผิดออกเป็นหลายประการ เนื่องจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีลักษณะการกระทำความผิดได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะกระทำต่อผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อมุ่งประสงค์หรือมีเจตนาที่จะให้ผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรง ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือจำต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยฝ่าฝืนใจโดยมิชอบเพราะถูกข่มเหงบังคับหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมให้จำต้องกระทำการ การกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ครอบคลุมถึงทุกลักษณะก็เพื่อสามารถกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อการบรรเทาทุกข์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ครบถ้วน สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์หรือใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำรอยอีก การที่จำเลยนำกระดาษเขียนข้อความมาติดที่หน้าบ้านโจทก์จนสีกะเทาะล่อน สีและปูนผนังรั้วเสียหาย ส่งเสียงตะโกนโวยวายหน้าบ้าน วิ่งวนไปมาหน้าบ้านโจทก์ นำลูกโป่งและสิ่งของมาผูกวางหน้าบ้านและโยนเข้าไปในบ้านโจทก์ และกดกริ่งหน้าบ้านโจทก์เป็นเวลานาน ๆ จนกริ่งไฟฟ้าเสียหาย เพื่อมุ่งประสงค์ให้โจทก์ส่งมอบหรือบังคับให้ผู้เยาว์ออกมาพบหรือพูดคุยกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจำเลยก็ไม่ยุติการกระทำดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการรบกวนความเป็นปกติสุขของโจทก์ เป็นการบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมที่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมจรรยาอันดีของประชาชน ผิดวิสัยวิญญูชนทั่วไปจะพึงปฏิบัติกันด้วยวิธีการโดยมิชอบ จำเลยกระทำต่อโจทก์ที่เป็นคู่สมรสเดิมซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวตามความหมายที่บัญญัติในมาตรา 3 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561
        เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561
     การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561
      การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560
        ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755 
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560
     โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560
      ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560
    การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8150/2560
      ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อรถยนต์ตามคำร้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. มีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ร. ก็ยื่นคำร้องคัดค้านได้เฉพาะทรัพย์สินในส่วนของตน ไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนของ ร. และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินในส่วนของ ร. ตกเป็นของแผ่นดิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7850/2560
     แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แต่เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าจำเลยยอมรับว่ามีข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวเกี่ยวกับบ้านพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยให้การและนำสืบว่าปัจจุบันบ้านพิพาทมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้เพราะโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่าให้ตกเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีอยู่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อนำสืบของจำเลย แล้ววินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา ในส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามประเด็นข้อพิพาทและข้อนำสืบในส่วนนี้ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวน เมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสแล้วโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้บ้านพิพาทจึงมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้อีก อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ให้นำหนี้ร่วมจำนวน 1,700,000 บาท มาหักออกจากราคาบ้านพิพาทก่อนแล้วจึงนำบ้านพิพาทมาแบ่งกัน โจทก์ฎีกาว่าไม่ต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวน 1,700,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 1,700,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 34,000 บาท ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ 8,500,000 บาท เป็นเงิน 170,000 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 34,000 บาท แก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560
       แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2560
      โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจาก พ. แล้วยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หาแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560
       การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี" เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560
    โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560
     การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560
     โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560
      แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560
      ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10289/2559
      หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นช่วงระยะเวลาจนบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับไม่ชอบ และที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามานั้นจึงไม่ชอบเช่นกัน เห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159/2559
      ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและแบ่งสินสมรส ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ฝ่ายชายตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันที ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่ายดังเช่นที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่มีรายละเอียดของสินสมรสที่คู่สัญญาทั้งสองตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559
       จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533 รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้ จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799 - 8801/2559
       โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ. คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 มีผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัวและสิทธิในการรับมรดกของโจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นของ บ. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการจัดการสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยปราศจากความยินยอมของ บ. มารดาโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มี บ. เป็นคู่สมรสแล้ว การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ประกอบมาตรา 1452 ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในประเด็นว่า การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับ บ. จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมวินิจฉัยต่อไปได้ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในภายหลังเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8594/2559
     โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2559
   คดีเดิมศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559
     โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559
      เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้ เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559
       การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559
    ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559
   การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2559
     ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการชื่อ บ. คาราโอเกะ และ ป. คันทรีคลับ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องรับโทษตามมาตรา 26 ทั้งไม่มีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตแก่กันได้ แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อโจทก์ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559
   การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5660/2559
       บุตรที่เกิดนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภายหลังได้ 3 ประการ คือ เมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาตามกฎหมายของ พ. และมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งการที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2559
       ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์ สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2559
     โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ว. โจทก์จึงมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.พ.พ. 1567 (1) และ (4) ขณะที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยที่สุราษฎร์ธานี ผู้เยาว์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตร และต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยจะได้จดทะเบียนรับรองผู้เยาว์เป็นบุตรอันทำให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตาม ก็หากระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ถูกต้องแห่งอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกบุตรคืนจากจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2559
     การฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง และค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหมั้น ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุที่ไม่อาจจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ไม่ดูแลจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขความประพฤติดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่แก้ไข จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นและไม่ต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559 
     แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2559
   พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7,0625 ตารางวา โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนดังกล่าวหลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่ ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติ "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมโจทก์และ ส. ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่เป็นการทำพินัยกรรมกำหนด การเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559
     ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2559 โจทก์ที่ 1 กับ อ. จดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีการทำบันทึกแบ่งสินสมรส ให้ อ. ดำเนินการเกี่ยวกับสินสมรสและภาระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า หากยังมีเหลืออยู่เท่าใด อ. จะยกให้แก่บุตรทั้งสอง อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งตามสัญญา ในข้อ 1 ระบุว่าผู้โอนสิทธิเป็นผู้มีสิทธิในการเก็บค่าเช่าห้องพักบนที่ดิน เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินตามบันทึกแบ่งสินสมรส ซึ่ง อ. ทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ อ. การที่ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่า โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559
     แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15401/2558
      ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 (ข้อบังคับเดิม) ข้อ 15 (1) มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยา ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น" เป็นการกำหนดให้การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านจะต้องอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เบิกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับ โดยตนเองและสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น แต่ในข้อบังคับใหม่ ข้อ 15 (1) กำหนดว่า "ในกรณีที่พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้พนักงานผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนและอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดตาม ข้อ 6 ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเองหรือคู่สมรส ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้น จะเบิกจ่ายได้เพียงหลังเดียว" ตามข้อบังคับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ต้องเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านเฉพาะในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น แต่กำหนดให้เป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ด้วย โดยเปลี่ยนแปลงให้ตนเองหรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้นสามารถจะเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้เพียงหลังเดียว โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์ ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21 ส่วนที่กำหนดให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณและลูกจ้างมิได้ยินยอม จึงไม่สามารถใช้เพื่อตัดสิทธิของโจทก์ให้ลดน้อยลงจากสิทธิที่โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระย้อนหลังได้ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (1) แต่อย่างใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
      คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2558
       โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ม. จำเลยให้การว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้จดทะเบียนสมรส และใช้วิทยาการทางการแพทย์โดยการผสมเชื้ออสุจิเพื่อตั้งครรภ์เด็กชาย ม. ให้โจทก์ โดยไม่เคยได้ใช้ชีวิตดังสามีภริยาเลย เมื่อเด็กชาย ม. คลอด โจทก์ไม่ส่งเงินมาให้ ไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่กลับขู่ให้ส่งมอบบุตรให้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่โดยให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนที่ปราศจากความยินยอมที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างแท้จริง เนื่องจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเพราะโจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยให้ตั้งครรภ์บุตรให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยต่างไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริงและไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จึงเป็นการสมรสที่ผิดเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1458 ซึ่งมีผลให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคสองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ แต่เมื่อบุตรผู้เยาว์คลอดระหว่างที่ศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331 - 6332/2556
โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
 
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
 
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4302/2528
เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แล้วแต่กลับยับยั้งการจดทะเบียนสมรสไว้ โดยหารือไปยังจังหวัดก่อนนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส อันผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แล้ว ในชั้นยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านอ้างเหตุที่ทำให้คำร้องเคลือบคลุมอย่างหนึ่งแต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าคำร้องเคลือบคลุมเป็นอีกอย่างหนึ่งต่างกันดังนั้นฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย'นั้นหาใช่บทกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะนำมาใช้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561 - 1562/2518
ชายและหญิงที่อยู่กินฉันสามีภริยากันหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หากชายหรือหญิงได้ทรัพย์สินใดมาในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากัน ทรัพย์นั้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างชายกับหญิงก็ต่อเมื่อชายและหญิงได้ร่วมแรงรวมทุนหาทรัพย์สินนั้นมา หากเป็นทรัพย์สินที่บุคคลอื่นยกให้แก่ชายหรือหญิง หรือชายหรือหญิงได้มาด้วยแรงหรือด้วยทุนของตน ทรัพย์สินนั้นก็เป็นกรรมสิทธิ์ของชายหรือหญิงซึ่งได้รับการยกให้หรือซึ่งออกทุนออกแรงแต่ฝ่ายเดียว ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

จำเลยและผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยาหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ระหว่างที่อยู่กินกับผู้ร้องได้รับ ยกให้ที่ดินพิพาท ต่อมาผู้ร้องขายที่ดินพิพาทให้แก่ บ.แล้วซื้อคืนจาก บ. โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเอาเงินที่ผู้ร้องและจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อคืน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาได้นำยึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดและมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ โดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของภริยาจำเลย ผู้ร้องจึงร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ดังนี้กรณีต้องสันนิษฐานว่าผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแต่ผู้เดียว เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวให้ได้ความว่าผู้ร้องซื้อที่พิพาทคืนด้วยเงินที่ผู้ร้องและจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้นโจทก์จะยึดที่พิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2513
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 20 พฤษภาคม 2511 การนับอายุความฎีกาจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2511 กำหนดหนึ่งเดือนจึงสิ้นสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวัดแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น แต่ในวันดังกล่าวนี้เป็นวันหยุดราชการ จึงต้องนับถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2511 ซึงเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าในอายุความฎีกาด้วย
 
ปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และโจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
 
โจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์เป็นเพียงบุตรนอกสมรสของผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งผู้ตายได้แจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเป็นบุตรของตน และอุปการะเลี้ยงดูโดยเปิดเผยตลอดมาเท่านั้น การที่ผู้ตายแจ้งทะเบียนคนเกิดว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของตนก็ดี หรือได้ทำการอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 ฉันบุตรตลอดมาก็ดี ก็หาทำให้โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายขึ้นมาไม่ เพราะบุตรนอกสมรสจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ก็ต้องเป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ที่ 2 คงมีฐานะเป็นเพียงบุตรที่ผู้ตายรับรองแล้วตามมาตรา 1627 และมีเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) จึงไม่มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ที่ทำให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ (อ้างฎีกาที่ 1259/2506) 

เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็มิใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพผู้ตายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2512
การที่ชายหญิงแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส. แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย. ก็หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีพิงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่.
ในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน.แต่ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องกับจำเลยปฏิบัติต่อกัน. เช่นผู้ร้องไปทำมาค้าขายโดยตนเอง. ส่วนจำเลยเลี้ยงบุตรเป็นแม่บ้าน. และผู้ร้องออกเงินซื้อที่ดินปลูกตึกและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดิน. แล้วผู้ร้องจำเลยกับบุตรก็เข้าอยู่ด้วยกันตลอดมา. ก็เป็นการแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของผู้ร้องและจำเลยร่วมกัน. ทั้งมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์พิพาทโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน. พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าบรรดาทรัพย์ที่ผู้ร้องหรือจำเลยหามาได้ระหว่างนั้น แม้จะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญ.ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน. และเมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน. ทรัพย์ทั้งหมดโดยเฉพาะทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ประเภทสินเดิมของผู้ร้องและจำเลยเท่าๆกัน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2510
บิดามารดาของผู้เยาว์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้เยาว์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาเมื่อปรากฏหลักฐานทางสูติบัตรและทะเบียนสำมะโนครัวว่าผู้เยาว์เป็นบุตรและมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป ว่า บิดามารดาผู้เยาว์เป็นสามีภริยากัน อยู่ร่วมเรือนเดียวกันโดยเปิดเผย บิดาผู้เยาว์ได้แนะนำมารดาผู้เยาว์ต่อบุคคลอื่นว่าเป็นภริยา บิดาผู้เยาว์ เคยไปที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเพื่อแจ้งการเกิดของผู้เยาว์แต่ไม่สบาย จึงต้องกลับเสียก่อนแล้วให้คนอื่นไปแจ้งการเกิดแทน ดังนี้ ฟังได้ว่า บิดาได้รับรองผู้เยาว์เป็นบุตรแล้ว จึงถือได้ว่าผู้เยาว์เป็นผู้สืบสันดาน เหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส

โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสที่ตกทอดเป็นมรดกของ ช. ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินที่ ช.ซื้อหรือร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ช. ซื้อหามาด้วยเงินของตนเอง แล้วใส่ชื่อของบุตรสาวไว้ ต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้นำสืบต่อสู้ไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำให้การว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แล้ว แต่ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า "ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของช." ดังนั้น หาก ช. ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็จะเรียกร้องให้จำเลยร่วมทั้งสามรับผิดไม่ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรสซ้อนอยู่แล้วจึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2555
ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยไม่ยินยอม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนเช่นนั้น จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายยินยอม ย่อมเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ในกรณีชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 และมีผลทำให้ชายผู้กระทำความผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ คดีนี้ได้ความว่าขณะที่จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกัน ทั้งจำเลยและผู้เสียหายมีอายุเกินสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยและผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากศาลก่อน อย่างไรก็ตาม จำเลยกับผู้เสียหายเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 เพราะเห็นว่าจะได้ลดโทษลงและตกลงกันว่าจะจดทะเบียนหย่ากันภายหลังที่ศาลพิพากษาแล้ว เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่แท้จริงที่จะจดทะเบียนสมรสกันอันจะมีผลตามกฎหมายทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามนัยแห่ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้ายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2552
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำแก่เด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) และวรรคท้าย (เดิม) มีความหมายว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่เกิน 17 ปีบริบูรณ์ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 หรือกรณีที่ชายและเด็กหญิงเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ทำการสมรสกันโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 อันเป็นกฎหมายพิเศษให้ใช้บังคับแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกเฉพาะในสี่จังหวัดดังกล่าวแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และบรรพ 6 จึงมีผลให้ผู้กระทำผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ

จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสตูลทำการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) แม้จำเลยไม่ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้

เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2545
การที่จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยผู้เสียหายยินยอม ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกส่วนในวรรคท้ายที่บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่า 13 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษนั้นหมายความว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจสมรสกัน ต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และมีผลให้ชายผู้กระทำผิดนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้เอง โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนถือว่าจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2544
จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน15 ปี โดยผู้เสียหายยินยอมย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง แต่ในวรรคท้ายบัญญัติว่า ความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ มีความหมายว่าในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ยังไม่อาจที่จะสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 หากจะสมรสกันอันจะทำให้ชายไม่ต้องรับโทษต้องมีคำสั่งของศาลอนุญาตให้ทำการ สมรส ฉะนั้น เมื่อขณะที่จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกันนั้น ทั้งจำเลยและผู้เสียหายมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว ย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสลามแล้ว ย่อมเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2544
ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย บัญญัติว่า "...และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกันผู้กระทำผิดไม่ต้องรับ โทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำผิดนั้นไป" หมายความว่า ชายหรือหญิงมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะสมรสกันจึงจะต้องขออนุญาตต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 แต่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ได้จดทะเบียนสมรสกันในเวลาต่อมา ย่อมเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องขออนุญาตต่อศาล จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2541
ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ม. มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์จึงมิอาจสมรสได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กรณีที่จำเลยต้องการอยู่กินฉันสามีภริยากับเด็กหญิง ม. โดยนาง จ.มารดาเด็กหญิง ม. ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขออนุญาตให้เด็กหญิง ม. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้วแม้ต่อ มาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะอนุญาตตามคำร้องดังกล่าวก็มิอาจลบล้างความผิด ที่จำเลยได้กระทำมา ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อ การอนาจารจึงชอบแล้ว แต่เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อนุญาตให้จำเลยและเด็กหญิง ม. สมรสกันการกระทำของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายแม้จำเลยจะมิได้ ฎีกามาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2527
เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสนั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 10 บัญญัติให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้เมื่อมีการร้องขอ การที่นายทะเบียนจะปฏิเสธได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่ง มาตรา 1448 ถึงมาตรา1454และมาตรา1458 ตามที่ได้ ตรวจชำระใหม่ ซึ่งมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ จดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสในกรณีที่นายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียน สมรสผู้มีส่วนได้เสียก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาล โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าการเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ก็ให้ศาลมีคำสั่ง ไปให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 15 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4981/2541
ผู้ร้องอ้างว่า ส.มีคู่สมรสอยู่แล้ว แต่กลับมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับผู้ร้องอีก การสมรสระหว่าง ส.กับผู้ร้องย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา1452 ประกอบมาตรา 1497 เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 1497 ให้สิทธิผู้ร้องในฐานะบุคคลผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรส เป็นโมฆะได้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีของผู้ร้องโดยทำเป็นคำร้องขอได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2527
เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสนั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 มาตรา 10 บัญญัติให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้เมื่อมีการร้องขอ การที่นายทะเบียนจะปฏิเสธได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่ง มาตรา 1448 ถึงมาตรา 1454 และมาตรา 1458 ตามที่ได้ ตรวจชำระใหม่ ซึ่งมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสในกรณีที่นายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียน สมรส ผู้มีส่วนได้เสียก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาล โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าการเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ก็ให้ศาลมีคำสั่งไปให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2545
ผู้เสียหายเป็นบุตรของโจทก์ร่วมกับนางเสงี่ยมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันผู้ เสียหายจึงไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วม ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนว่าผู้เสียหายเป็นบุตร โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองของผู้เสียหายและมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่จะมีอำนาจ จัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและไม่มี ฐานะเป็นโจทก์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2545
ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา 6 วรรคสอง คู่สมรสจะต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนและต่อ หน้าพยานสองคนซึ่งต้องลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนในขณะนั้นด้วย แต่ตามทะเบียนการสมรสปรากฏว่ามีลายมือชื่อพยานเพียงคนเดียว จึงถือไม่ได้ว่าได้มีการลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคน เป็นการมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การจดทะเบียนสมรสจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2535
แม้ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จะไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "คู่สมรส" ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่เนื่องจากเป็นถ้อยคำในจดหมาย จึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า"คู่สมรส" ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามบทบัญญัติ มาตรา 4แห่ง ป.พ.พ. คือ มาตรา 1552,1553 และ 1559 ซึ่งหมายถึงสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น คำว่า คู่สมรสตามพ.ร.บ. ประกันสังคม มาตรา 65 วรรคแรก จึงต้องหมายถึงสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ขณะที่น.ภริยาโจทก์คลอดบุตรโจทก์และ น. ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันน. จึงไม่ใช่คู่สมรสของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีที่ น. คลอดบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2545
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอ้างว่าได้จดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้า มิได้มีเจตนาจะอยู่กินเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริง ทั้งไม่เคยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด เหตุที่จดทะเบียนสมรสกันเนื่องจากเชื่อตามหมอดูทำนายเท่านั้น แต่ผู้ร้องทั้งสองมิได้นำพยานอื่นเข้าสืบประกอบว่าตนมิได้อยู่กินฉันสามี ภริยากันจริง และมิได้ส่งสำเนาทะเบียนบ้านว่ามิได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ร้องทั้งสองยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 3 ปีเศษ จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ พฤติการณ์ที่นำสืบเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยา กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 แล้วไม่มีเหตุที่จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสของผู้ร้องทั้งสอง ตกเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ ของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคย มาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงิน บำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2544
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับนาง ส. มารดาโจทก์เป็นโมฆะ โดยอ้างว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น โดยหญิงนั้นแอบอ้างชื่อว่าเป็นนาง ส. เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการจดทะเบียนสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยนาง ส. ไม่ได้ให้ความยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ โดยคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 ดังนั้น แม้นาง ส. ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงก่อนโจทก์ฟ้อง แต่เมื่อยังปรากฏความเป็นโมฆะอยู่โดยยังไม่มีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะ ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2537
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ได้บัญญัติไว้เฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์ทำนิติกรรมที่ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ผู้เยาว์เป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอง บิดาโจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อในฐานะพยานเท่านั้นดังนี้ จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ผู้เยาว์ทำขึ้น มี บ.ผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารนั้น ย่อมถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว ทั้งได้แสดงความยินยอมเป็นสามีภริยาโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและพยานซึ่ง เป็นพนักงานฝ่ายปกครองอีกด้วยเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจดทะเบียนสมรส ได้กระทำไปโดยเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายประการใดแล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1

มาตรา ๑๔๖๐ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้เพราะชายหรือ หญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบหรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่ อยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้ เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการจด ทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อ นายทะเบียนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มี ผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6365/2547
ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับพันโท ส. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 พันโท ส. จดทะเบียนสมรสกับนาง ส. อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น การสมรสระหว่างจำเลยกันพันโท ส. จึงฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 (เดิม) การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับจำเลยและพันโท ส. มิได้ทำการสมรสกัน จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ แม้ต่อมาภายหลังพันโท ส. จะได้จดทะเบียนหย่ากับนาง ส. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ก็หาทำให้การสมรสระหว่างจำเลยและพันโท ส. กลับมีผลเป็นการสมรสที่ชอบขึ้นมาไม่

การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 (เดิม) มิใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2545
ชายหรือหญิงที่ทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมาตรา 1497 ระบุว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ปรากฏว่าขณะที่ ท.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นท. มีคู่สมรสคือ ป. อยู่แล้ว การที่ ท. มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยที่ยังมิได้หย่าขาดจาก ป. จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ท. กับ จ. ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ก็เป็นทายาทโดยธรรมของ ท.เมื่อท. ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ ท. โจทก์ทั้งเจ็ดจึงอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาล พิพากษาว่าการสมรสระหว่าง ท. กับจำเลยเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2545
เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับ จ. เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495 เนื่องจาก จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วในขณะที่สมรสกับโจทก์ จึงมีผลเท่ากับโจทก์กับ จ. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรก ไม่อาจถือเอาเงินได้ที่ จ. ได้รับมาเป็นเงินได้ของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี โจทก์ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับเงินได้ จำนวนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2545
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ร. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ในระหว่างสมรสผู้ร้องมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก จ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2526 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดกันกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งแม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การ สมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วน ได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส กับ ร. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิ ที่ผู้ร้องมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูก สร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2544
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ค. ไปก่อนแล้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452

จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่า จำเลยไม่เคยสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6935/2543
ในขณะที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับ ฉ. นั้น ฉ.ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องอยู่ก่อนแล้ว และยังคงเป็นคู่สมรสกับผู้ร้องตลอดมา จนกระทั่ง ฉ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น แม้ ฉ. ได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ร้องนำคดีมาร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ อันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับ ฉ. และระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. สิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 ก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจผู้ร้องในอันที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1495 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การตกเป็นโมฆะย่อมมีผลเท่ากับว่าผู้คัดค้านและ ฉ. ไม่ได้สมรสกัน ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 133 (เดิม) และมาตรา 1497 (เดิม) มีสิทธิร้องขอให้การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2543
แม้ใบทะเบียนการสมรสมิได้ประทับตรานายทะเบียน ก็หาทำให้ทะเบียนการสมรสไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะไม่ เพราะ พ.ร.บ.การจดทะเบียนครอบครัวฯ กำหนดเพียงให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มิได้มีบทบัญญัติว่าต้องประทับตรานายทะเบียนแต่อย่างใด เมื่อจำเลยและ ก. จดทะเบียนสมรสในปี 2534 ขณะที่โจทก์และ ก. จดทะเบียนสมรสอยู่ก่อนแล้ว และยังมิได้มีการจดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างจำเลยกับ ก. จึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2541
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ป.ป. ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 แล้ว และยังเป็นคู่สมรสกับโจทก์ที่ 1อยู่ตลอดมาจนกระทั่ง ป. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ป. จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ภายหลังจากที่ ป. ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว ป.ได้ถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ป.สิ้นสุดลงก็ตาม จำเลยก็จะอ้างว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับ ป. โดยสุจริต การสมรสระหว่างจำเลยกับ ป.จึงไม่เป็นโมฆะหาได้ไม่ และเมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ป. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาป. และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับ ป.ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ป. เป็นโมฆะได้