ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2546

ข้อ 1. 

เมื่อปี พ.ศ. 2520 นายแดงนำเรือบรรทุกที่ใช้รับจ้างส่งสินค้ามาจอดเกยตื้นอยู่ที่ปากแม่น้ำท่าจีนหน้าที่ดินมีโฉนดของนาย ดำ ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดสะดวกที่นายแดงและภริยาจะไปค้าขาย และใช้เรือบรรทุกนั้นเป็นที่อยู่อาศัยตลอดมา ไม่ได้ย้ายไปไหนเลยเป็นเวลา 12 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน พอขึ้นปีที่ 13 ชายตลิ่งที่จอดเรือบรรทุกก็ตื้นเขินติดต่อมาจากที่ดินของนายดำ เป็น เนื้อที่ 10 ตารางวา นายแดงจึงปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวอยู่อาศัยแทนเรือบรรทุกที่ผุพังแล้ว นายดำรู้เรื่องก็ไม่ว่ากล่าวอะไร ต่อมาปี พ.ศ. 2540 นายดำจะสร้างบ้านในที่ดินของนายดำ จึงบอกให้นายแดงออกจากที่ดินนั้น นายแดงไม่ยอมออก นายดำจึงฟ้องขับไล่ นาย แดงให้การต่อสู้ว่าได้เข้าครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว 

ให้วินิจฉัยว่า นายดำหรือนายแดงเป็นผู้มี กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าว 

ธงคำตอบ 

เดิมที่ดินตามปัญหาเป็นที่ชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) นายแดงมีสิทธินำเรือบรรทุกไปจอดใช้เป็นที่อยู่อาศัยในที่ชายตลิ่งดังกล่าวเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อที่ จอดเรือบรรทุกของนายแดงตื้นเขินกลายเป็นที่งอกเชื่อมต่อมาจากที่ดินมีโฉนดของนายดำ ที่ดินส่วนดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินของนาย ดำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ส่วนที่นายแดงอ้างว่าครอบครองที่ดินส่วนดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึง ปี พ.ศ. 2540 เป็นเวลา 20 ปี นายแดงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวแล้วนั้น ในช่วงเวลา 12 ปีแรก ที่ดินนั้นยังเป็นที่สาธารณสมบัติ ของแผ่นดินอยู่ แม้นายแดงจะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่หลังจากที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นที่งอกริมตลิ่งและตกเป็นของ นายดำแล้ว นายแดงเพิ่งเข้าครอบครองได้เพียง 8 ปีเท่านั้น ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายดำ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ที่ 126/2503 และคำพิพากษาฎีกาที่ 149/2543) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2503
ก่อนเป็นที่งอก ที่พิพาท เป็นที่น้ำท่วมถึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต่อมาที่พิพาทเริ่มเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกหน้าที่ดินของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308เมื่อ 3 ปีมานี้ การที่โจทก์ครอบครองปรปักษ์ต่อที่ดินของจำเลยดังกล่าวนี้เพียง 3 ปีโจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 

ข้อ 2. 

นายเขียวทำสัญญาจ้างนายเหลืองซึ่งมีอาชีพทนายความฟ้องนายม่วงให้ชำระหนี้ตามเช็คจำนวน1,000,000 บาท แก่นาย เขียว โดยตกลงว่านายเหลืองต้องฟ้องร้องและว่าความให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด คิดค่าจ้าง100,000 บาท จะชำระค่าจ้างทั้งหมดในวันที่ คดีถึงที่สุด นายเหลืองได้ฟ้องนายม่วงและว่าความให้นายเขียวโดยใช้ความรู้ความสามารถตามหน้าที่ตลอดมาจนถึงชั้นฎีกา นายเหลือง แจ้งให้นายเขียวทราบว่า ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 1 กันยายน 2544 ให้นายเขียวไปฟังคำพิพากษาและนำค่าจ้าง ไปชำระให้นายเหลืองด้วย ครั้นถึงวันนัดนายเหลืองไปฟังคำพิพากษา ส่วนนายเขียวไม่ไป ปรากฏว่า ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า นายม่วงชำระหนี้ให้นายเขียวครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2544 นายเหลืองแจ้งผลคดีให้นายเขียวทราบและขอให้ชำระค่าจ้าง จำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 เป็นต้นไป นายเขียวไม่ยอมชำระเงินดังกล่าว อ้างว่านายเขียวไม่ต้องรับผิดชำระเงินนั้น เนื่องจากนายเขียวแพ้คดีและนายเขียวยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

ให้วินิจฉัยว่า นายเขียวต้องรับผิด ชำระค่าจ้างและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กันยายน2544 แก่นายเหลืองหรือไม่

ธงคำตอบ

การที่นายเขียวทำสัญญาจ้างนายเหลืองให้ฟ้องนายม่วงและว่าความจนกว่าคดีถึงที่สุด เป็นสัญญาต่างตอบแทนก่อให้เกิดหนี้ที่ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระต่างตอบแทนกัน โดยหนี้ที่นายเหลืองจะต้องชำระนั้นเป็นหนี้ที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำซึ่งต้องใช้ ความรู้ความสามารถในการว่าความจนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อนายเหลืองได้ทำการฟ้องนายม่วงและว่าความโดยใช้ความรู้ความสามารถ ตามหน้าที่จนคดีถึงที่สุดแล้ว แม้ผลคดีนายเขียวจะแพ้คดีก็ตาม ก็ถือว่านายเหลืองได้ชำระหนี้ส่วนของตนด้วยการกระทำต้องตามความ ประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้แล้ว นายเหลืองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างจำนวน 100,000 บาท จากนายเขียวเป็นการตอบแทนตามสัญญา ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7406/2540) ส่วนดอกเบี้ย นั้นการที่สัญญาจ้างกำหนดว่า นายเขียวจะชำระค่าจ้างทั้งหมดในวันที่คดีถึงที่สุด ถือว่าเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระ แต่มิใช่ กำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทินที่นายเขียวจะตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง แต่เป็นกรณีตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ที่นายเขียวจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น นายเหลืองได้ให้คำเตือนแล้ว นายเขียวไม่ชำระหนี้ค่าจ้าง ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดในวันที่ 1 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำ พิพากษาอันถึงกำหนดเวลาชำระหนี้แล้ว แต่นายเหลืองมิได้เตือนให้นายเขียวชำระหนี้ นายเขียวจึงมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 นายเขียวจึงยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 แก่นายเหลืองตามที่นายเหลือง เรียกร้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2540
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความ ผลสำเร็จของงานย่อยอยู่ที่การว่าความจนคดีถึงที่สุด ส่วนการแพ้หรือชนะเป็นเพียงผลแห่งการงานในการชำระสินจ้างเท่านั้น เมื่อคดีที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความถึงที่สุด เพราะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและถอนฟ้องในคดีอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน เมื่อโจทก์ผู้รับจ้างได้ทำงานให้จำเลยผู้ว่าจ้างและจำเลยได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป ส่วนข้อตกลงที่ว่า "ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรและย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลย" นั้น เป็นเพียงข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144(เดิม) มาตรา 182(ใหม่) สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ 

ข้อ 3.

นายอำนาจลูกจ้างบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพล สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำ หมายค้นจากศาลไปทำการค้นร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชท การค้นไม่พบงานอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ด้วยความเชื่อว่า ร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชทมีการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริง และต้องการมีผลงานเพื่อความดีความชอบในหน้าที่ การงาน นายอำนาจจึงร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพลนำแผ่นวีซีดีและซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 10 แผ่น ที่บุคคลทั้งสองร่วมกันจับได้ ในคดีอื่นวางไว้ในบริเวณที่ตรวจค้นและอ้างว่าเป็นของกลางที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ซึ่งนางสาวแชทมีไว้เพื่อขายโดยรู้ว่าเป็นงานอันได้ ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น นางสาวแชทถูกฟ้องด้วยข้อหาดังกล่าว แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่เชื่อในพยานหลักฐานของโจทก์ 

ให้วินิจฉัยว่า นางสาวแชทจะฟ้องเรียกนายอำนาจ บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร้อยตำรวจเอกอิทธิพล และสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายฐานละเมิดได้หรือไม่ หากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด หรือสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่นางสาวแชทผู้เสียหายแล้วจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากนายอำนาจหรือร้อยตำรวจเอกอิทธิพลได้ หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การกระทำของนายอำนาจและร้อยตำรวจเอกอิทธิพล เป็นการจงใจกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เขาเสียหาย แก่เสรีภาพและสิทธิในชื่อเสียง เป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นายอำนาจจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนแก่นางสาวแชทในความเสียหายแก่เสรีภาพและชื่อเสียงของนางสาวแชท บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด นายจ้างต้องร่วมรับ ผิดกับนายอำนาจลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามมาตรา 425 แต่ชอบที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกจ้างได้ตาม มาตรา 426 

สำหรับร้อยตำรวจเอกอิทธิพลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทาง ละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ นางสาวแชทต้องฟ้องสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดโดยตรง จะฟ้องร้อยตำรวจเอกอิทธิพลไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทาง ละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และเนื่องจากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดด้วยความจงใจ หน่วยงานของรัฐจึงอาจ เรียกให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำและความชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 

ข้อ 4. 

นายเสือทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของนายช้างเพื่อสร้างตึกแถวหนึ่งห้อง สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่าเมื่อนายเสือ ก่อสร้างตึกแถวแล้วเสร็จยอมยกตึกแถวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายช้างทันที ทั้งนี้นายช้างยินยอมให้นายเสือเช่าตึกแถวพร้อมที่ดิน ดังกล่าวมีกำหนด 10 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท และอนุญาตให้นายเสือนำตึกแถวพร้อมที่ดินไปให้เช่าช่วงได้ เมื่อสร้างตึกแถว แล้วเสร็จนายเสือเข้าอยู่อาศัยในตึกแถวชั้นบน ส่วนตึกแถวชั้นล่างให้นายหมีเช่าทำการค้ามีกำหนด 3 ปี โดยนายเสือกับนายหมีไม่ได้ทำ หลักฐานการเช่าเป็นหนังสือกันไว้ อยู่มาได้ 1 ปี นายเสือผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารวม 3 เดือน นายช้างทวงถามให้นายเสือชำระค่าเช่า ภายใน 15 วัน นายเสือก็เพิกเฉย นายช้างจึงมีหนังสือถึงนายเสืออ้างว่านายเสือผิดสัญญา ขอเลิกสัญญาเช่า ให้นายเสือส่งมอบ ทรัพย์สินที่เช่าคืนภายใน 30 วัน และนายช้างมีหนังสือถึงนายหมีอ้างเหตุว่า นายเสือถูกบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ไม่มีสิทธิให้นายหมีเช่า ช่วงต่อไป ขอให้นายหมีออกไปจากตึกแถวภายใน 30 วัน นายเสือกับนายหมีได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม 

ให้วินิจฉัยว่า นายช้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายเสือ และมีสิทธิขับไล่นายหมีออกจากตึกแถวได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

สัญญาเช่าระหว่างนายเสือกับนายช้างที่มีข้อตกลงว่า เมื่อนายเสือก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินที่เช่าแล้วเสร็จ ยอมยกตึกแถวให้เป็น กรรมสิทธิ์ของนายช้างทันที โดยนายช้างยินยอมให้นายเสือเช่าตึกแถวพร้อมที่ดินมีกำหนด 10 ปี เป็นทั้งสัญญาเช่าและเป็นสัญญาต่าง ตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้จะเช่ากันเกินกว่า 3 ปี ก็ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 538 แต่คู่สัญญาต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ด้วย เมื่อนายเสือผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ตามกำหนดและนายช้างผู้ให้เช่าบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว นายเสือเพิกเฉย นายช้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายเสือได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 412/2511) สำหรับนายหมีได้เช่าตึกแถวพร้อมที่ดินโดยความยินยอมของนายช้าง จึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบตามมาตรา 544 และถือว่านาย หมีผู้เช่าช่วงเข้าอยู่ในตึกแถวโดยอาศัยสิทธิของนายเสือผู้เช่าเดิม แต่เมื่อนายเสือผิดสัญญาจนเป็นเหตุให้นายช้างบอกเลิกสัญญาเช่า แล้ว นายเสือย่อมหมดสิทธิที่จะครอบครองและให้นายหมีเช่าช่วงตึกแถวพร้อมที่ดินต่อไป ถือได้ว่าสัญญาเช่าช่วงสิ้นสุดลง นายช้างจึงมี สิทธิขับไล่นายหมีออกจากตึกแถวได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 471/2533) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2511
สัญญาก่อสร้างที่ผู้สร้างยอมยกกรรมสิทธิ์ในเคหะที่สร้างให้แก่เจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้ก่อสร้างเช่าเคหะนั้นเป็นสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดาด้วยแม้จะระบุให้เช่าได้มีกำหนด 11 ปี ก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่ในเรื่องเช่านั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ตามธรรมดาคือผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าเมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าก็เป็นการผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าก็ย่อมบอกเลิกการเช่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2533
จำเลยให้ อ. เช่าที่พิพาทโดย อ. มีสิทธินำไปให้เช่าช่วงได้ อ. นำที่พิพาทไปให้โจทก์เช่าช่วงโดยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าช่วงแต่เมื่อ อ. ประพฤติผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยโดยไม่ชำระค่าเช่า จนจำเลยต้องบอกเลิกสัญญาฟ้องขับไล่ และศาลพิพากษาขับไล่ อ. ออกจากที่พิพาทแล้ว อ. ก็หมดสิทธิครอบครองและให้โจทก์เช่าช่วงที่พิพาทได้ต่อไปเหตุนี้โจทก์จึงจะใช้หนังสือมอบอำนาจของ อ. มาบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่าที่พิพาทให้โจทก์หาได้ไม่ ไม่ว่าการเช่าช่วงที่โจทก์อ้างจะกระทำกันก่อนหรือหลังที่ศาลพิพากษาให้ขับไล่ อ. ออกไปจากที่พิพาทผลของคดีก็ไม่แตกต่างกัน หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับ อ.ผู้ให้เช่าช่วงแล้วประพฤติผิดสัญญาดังกล่าวต่อไป

ข้อ 5. 

นางแก้วกู้เงินนายธนาคม จำนวน 500,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี มีนาย เพชรเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งระบุในสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท และมีนาง มณีนำที่ดินแปลงหนึ่งของตนมาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนอง ตามสัญญานี้ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ ผู้รับจำนองจนครบจำนวนด้วย ต่อมานางแก้วผิดนัดไม่ชำระหนี้และไม่มีทรัพย์สินใดที่จะนำมาชำระหนี้แก่นายธนาคมได้ นายธนาคมจึง ทวงถามให้นายเพชรในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนางแก้วชำระต้นเงินและดอกเบี้ยก่อนการทวงถาม ซึ่งนายธนาคมขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 875,000 บาท แต่นายเพชรขอชำระหนี้ให้เพียง 500,000 บาท นายธนาคม ไม่ยอมรับชำระหนี้จากนายเพชรและบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินของนางมณี 

ให้วินิจฉัยว่า นายเพชรและนางมณีจะต้องรับผิดต่อนาย ธนาคมหรือไม่เพียงใด 

ธงคำตอบ 

การที่นายเพชรทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดจำกัดวงเงินสำหรับต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท แม้นายเพชรตกลง ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 แต่ก็มีความหมายเพียงว่านายเพชรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ยอมรับผิดร่วมกับนางแก้วในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในวงเงินที่จำกัดจำนวนไว้ กล่าวคือ ในต้นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวม เป็นเงิน 500,000 บาท เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับนางแก้วผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อ หนี้ถึงกำหนด นายเพชรขอชำระหนี้แก่นายธนาคมโดยชอบแล้วตามมาตรา 701 วรรคหนึ่ง แต่นายธนาคมไม่ยอมรับชำระหนี้จากนาย เพชร โดยจะให้นายเพชรชำระหนี้ในยอดหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของนายเพชร ย่อมทำให้นายเพชรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจาก ความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามมาตรา 701 วรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 382/2537) ส่วนการที่นางมณีทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนอง ตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจน ครบจำนวน ข้อตกลงนี้แม้จะแตกต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่ กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นางมณีผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2538 และที่ 168/2518) นางมณีจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยในการบังคับ จำนองขายทอดตลาดที่ดินตามสัญญาจำนอง ถ้าได้เงินไม่พอจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว ขาดจำนวนอยู่เท่าใด นายธนาคมย่อมบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนางมณีได้จนครบจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้วด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537
ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกแม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาทเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรก แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่ มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่าถ้าในการบังคับจำนองได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนแต่หนี้ที่น. ลูกหนี้ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์ที่จำเลยจำนอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2518
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ตามสัญญาจ้างปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคากรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการบกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายนั้นได้ ร้านสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้ว แต่หาได้มีการลงบัญชีรับสินค้าไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการอาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สินค้าบางรายการลงบัญชีจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความเป็นจริงร้านสหกรณ์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญ ซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกันจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ ก็ย่อมกระทำได้ 

ข้อ 6. 

นายชูไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าพบนายวิทย์ นายชูเห็นเป็นโอกาสจึงทวงถามเงินที่นายวิทย์ยืมไป นายวิทย์ได้ออกเช็คผู้ ถือโดยมิได้ลงวันที่ออกเช็ค และได้ขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่แล้วมอบเช็คแก่นายชู นายชูลงวันที่ในเช็คแล้วนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคาร ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายชูไปแจ้งความร้องทุกข์และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของนายวิทย์ นายสันต์บิดาของนายวิทย์กลัว ว่านายวิทย์จะถูกจับกุม จึงรับรองต่อนายชูว่าจะใช้เงินตามเช็คให้ภายในกำหนด 7 วัน โดยนายสันต์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้ด้วย แต่เมื่อครบกำหนด 7 วัน นายสันต์ก็ไม่ยอมชำระ นายชูจึงฟ้องนายวิทย์กับนายสันต์ให้ร่วมกันใช้เงินตามเช็ค นายวิทย์ต่อสู้ว่าได้ขีดเส้น สีดำไว้ในช่องวันที่แสดงว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเติมวันที่ในเช็ค ส่วนนายสันต์ต่อสู้ว่าได้สลักหลังเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงินแล้วจึงไม่ต้องรับผิด

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายวิทย์และนายสันต์ฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายวิทย์ออกเช็คโดยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ จึง หาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 กรณีจึงถือได้ว่านายวิทย์ออกเช็คโดยมิได้ ลงวันออกเช็คไว้ นายชูผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายจึงลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2542) ข้อต่อสู้ของนายวิทย์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของนายสันต์นั้น แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว เช็คดังกล่าวซึ่งมีรายการครบถ้วนตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 ก็ยังเป็นเช็คตามความหมายแห่งมาตรา 987 นายสันต์สลักหลังเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมเป็น ประกัน (อาวัล) สำหรับนายวิทย์ผู้สั่งจ่าย จึงมีความรับผิดอย่างเดียวกับนายวิทย์บุคคลซึ่งตนประกันตามมาตรา 921, 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 แม้จะสลักหลังเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้วก็ไม่ทำให้ไม่เป็นอาวัล นายสันต์จึงต้องรับ ผิดตามเช็คนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 5766/2537) ข้อต่อสู้ของนายสันต์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงิน บ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมา บ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5766/2537
เมื่อเช็คพิพาทมีรายการครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 988 แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็ยังคงเป็นเช็คตามมาตรา 987 จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้สลักหลังยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทตาม มาตรา 900 เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์หรือผู้ถือ จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทย่อมเป็นประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 และมีความรับผิดอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921,940 ประกอบด้วยมาตรา 989 ทั้งต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้รับอาวัลรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ตามมาตรา 967ประกอบด้วยมาตรา 989 แม้จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คพิพาท 

ข้อ 7. 

นายหนึ่ง นายสอง นายสามและนายสี่ ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย โดยนายหนึ่งและนายสองลงหุ้นคนละ 100,000 บาท ไม่จำกัดความรับผิด ส่วนนายสามและนายสี่ลงหุ้นคนละ 200,000 บาท จำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนายหนึ่ง และนายสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีรายการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ โดยได้โฆษณาในราชกิจจา นุเบกษาเรียบร้อยแล้วว่า "นายหนึ่งและนายสองลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วน" ต่อมา ในวันที่ 21 กันยายน 2546 นายหนึ่งและนายสองต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงได้มอบอำนาจให้นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เข้าจัดกิจการงาน ในห้างแทนตนเป็นเวลา 10 วันในวันที่ 25 กันยายน 2546 นายสามในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายหนึ่งและนายสองได้ทำสัญญา แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อซื้อขายสินค้าจากนายเอ จำนวน 1,000,000 บาท และในวันที่ 26 กันยายน 2546 นายสี่ซึ่งเป็นหุ้นส่วน จำพวกจำกัดความรับผิด ได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนเพื่อซื้อสินค้าจากนายบี จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อนายหนึ่งและนายสอง กลับมาจากต่างประเทศก็ได้รับเอาสัญญาที่นายสามทำไว้แทนห้างหุ้นส่วน แต่ไม่ยอมรับเอาสัญญาที่นายสี่ทำไว้ เช่นนี้หากนายเอและ นายบี ได้เรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ให้วินิจฉัยว่า นายเอ และนายบีจะเรียกให้บุคคลใดรับผิดได้บ้าง 

ธงคำตอบ 

การที่นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเขัาจัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างฯตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 แม้ว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานดังกล่าวจะทำ โดย ได้รับมอบอำนาจก็ตาม นายสามจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯโดยไม่จำกัดจำนวน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 691/2524) เมื่อนายสามได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องให้เข้าทำสัญญา สัญญาซึ่งนายสามทำไว้กับนายเอจึงมีผลผูกพันห้างฯ เมื่อห้างฯผิดนัด นายเอจึงเรียกให้ห้างฯในฐานะคู่สัญญา รวมทั้งนายหนึ่งและนายสองในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และนายสามในฐานะหุ้นส่วน จำกัดความรับผิด ที่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ร่วมกันรับผิดได้ตามมาตรา 1070 ประกอบกับมาตรา 1080 นายสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจจัดการงานให้ผูกพันห้างฯ อีกทั้งนายบีก็ทราบถึงรายการเกี่ยวกับอำนาจจัดการซึ่งได้จดทะเบียนไว้ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพราะรายการดังกล่าวได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าทุกคนทราบถึงข้อความ ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1022 ดังนั้นสัญญาซึ่งนายสี่ได้กระทำขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันห้างฯ นายบีไม่ สามารถเรียกให้ห้างฯรับผิด แต่เรียกให้นายสี่รับผิดเป็นส่วนตัวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2524
จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งต่อมาได้เลิกกิจการ จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 

ข้อ 8.

นายมิ่งกับนางขวัญเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกันสองคน คือนายสดและนางสวย หลังจาก คลอดนางสวยแล้ว นางขวัญก็ถึงแก่ความตาย นายมิ่งได้รับรองบุตรทั้งสองคนเป็นบุตรโดยพฤตินัยแล้ว ต่อมานายสดได้สมรสกับนาง บุญโดยจดทะเบียนสมรส ก่อนสมรส 1 วัน นายมิ่งซื้อรถยนต์เก๋ง 1 คัน ราคา 2,000,000 บาท ให้เป็นของขวัญแก่คู่สมรส เมื่อเสร็จงาน สมรสแล้ว นายมิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัดแต่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสดเศร้าสลดจนห้ามใจไม่ได้จึงฆ่าตัวตาย ปรากฏว่า นายมิ่งมีทรัพย์มรดกจำนวน 8,000,000 บาท 

ให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้ 
(ก) ทรัพย์สินอะไรบ้างเป็นมรดกของนายสด 
(ข) ทรัพย์มรดกของนายสดตกทอดได้แก่ใคร คนละเท่าใด 

ธงคำตอบ 

(ก) ทรัพย์มรดกของนายมิ่งจำนวน 8,000,000 บาท ย่อมตกทอดไปยังนายสดและนางสวยบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) คนละส่วน เป็นเงินคนละ 4,000,000 บาท เฉพาะ ส่วนของนายสดแม้จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสก็ตาม แต่เป็นการได้มาโดยทางมรดก จึงเป็นสินส่วนตัวของนายสดตามมาตรา 1471 (3) เป็นเงิน 4,000,000 บาทสำหรับรถยนต์เก๋ง 1 คัน ราคา 2,000,000 บาท ซึ่งนายมิ่งได้ซื้อให้เป็นของขวัญแก่คู่สมรส แม้ให้ ก่อนสมรสเพียง 1 วัน แต่นายมิ่งผู้ให้มีเจตนามอบให้แก่คู่สมรสไว้ใช้สอยเมื่ออยู่ร่วมกัน จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสเป็นเจ้าของ ร่วมกัน จึงต้องแบ่งทรัพย์สินส่วนนี้ให้แก่นายสดและนางบุญคนละส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1625 (1), 1532 คือ เป็นทรัพย์สินของนาย สดเป็นเงิน 1,000,000 บาทดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายสดจึงได้แก่สินส่วนตัว 4,000,000 บาท และสิทธิในรถยนต์อีก 1,000,000 บาท รวมเป็นมรดกทั้งสิ้น 5,000,000 บาท 

(ข) การที่นายมิ่งและนางขวัญจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ของนายสดและนางสวยเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องถือตามความเป็นจริง (คำพิพากษาฎีกาที่ 4828/2529) นางสวยจึงเป็นทายาทโดย ธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของนายสดตามมาตรา 1629 (3) สำหรับลำดับส่วนแบ่งระหว่างนางสวยและนางบุญคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมเป็นไปตามมาตรา 1635 (2) ดังนั้น นางสวยและนางบุญจึงมีสิทธิรับมรดกของนายสดคนละกึ่ง คือ คนละ 2,500,000 บาท 

หมายเหตุ 

กรณีรถยนต์นั้น ผู้ตอบจะให้เหตุผลว่าเป็นสินสมรสตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2259/2529 หรือจะให้เหตุผลว่าเป็นสิน ส่วนตัวของแต่ละคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ก็ให้ได้คะแนนเท่ากัน 
แต่ถ้าตอบว่าเป็นสินส่วนตัวของนายสดเพียงคนเดียวตามมาตรา 1471 (3) ถือว่าผิด เพราะนายมิ่งมิได้มีเจตนาให้แก่ นายสดเพียงคนเดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2529
การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริงส่วนบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่กรรมและผู้ตายก็ไม่มีผู้สืบสันดานพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 จึงเป็นผู้จัดการศพผู้ตายมีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพเพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่1ขับรถยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายได้ ฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นพี่ชายและพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกันโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยทั้งสองคือค่าปลงศพค่ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยระบุค่าเสียหายแต่ละรายการมาด้วยว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใดและขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้อบังคับทั้งข้ออ้างและข้อหาส่วนรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้องฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2529
ของขวัญที่เป็นของใข้ในครอบครัวซึ่งญาติและเพื่อนของคู่สมรสมอบให้เนื่องในวันสมรสนั้นผู้ให้ย่อมมีเจตนาที่จะให้คู่สมรสได้ใช้สอยเมื่ออยู่ร่วมกันถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ให้รายใดได้แสดงเจตนาไว้เป็นพิเศษว่ามอบให้แก่คู่สมรสฝ่ายใดโดยเฉพาะแล้วแม้จะเป็นของที่มอบให้ก่อนวันแต่งงาน1วันก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) ของใช้ในครอบครัวแม้จะเป็นของขวัญวันแต่งงานหรือเป็นของที่ซื้อมาหลังการสมรสแล้วก็ตามก็เป็นสินสมรส เข็มขัดทองซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่โจทก์นั้นเมื่อจำเลยได้ใช้ให้บุคคลภายนอกไปเอาคืนมาจากบิดาโจทก์จำเลยก็ต้องรับผิดคืนให้แก่โจทก์ด้วย