ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2547

ข้อ 1. 

นายสมโชคเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10 ด้านทิศตะวันตกติดถนนสาธารณะ ส่วนด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 11 ของนายทองดีซึ่งเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โดยที่ดินของนายทองดีด้านทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12 ของนายมี และที่ดินของนายมีทางด้านทิศใต้ติดกับ ถนนสาธารณะ ซึ่งนายทองดีมีสิทธิเดินผ่านที่ดินของนายมีออกไปสู่ถนนสาธารณะในฐานะทางจำเป็นได้ ต่อมา นายสมโชคได้ซื้อที่ดินของนายทองดีและจะใช้ทางที่นายทองดีเคยเดินผ่านที่ดินของนายมีออกไปสู่ถนนสาธารณะ แต่นายมีปิดทางไม่ยอมให้นายสมโชคเดินผ่าน และนายมียังอ้างว่าต้นมะม่วงอายุ 2 ปี ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินที่นายสมโชคซื้อจากนายทองดี เป็นของนายมีเพราะต้นมะม่วง งอกจากเมล็ดมะม่วงที่ตกมาจากต้นมะม่วงในที่ดินของนายมี 

ให้วินิจฉัยว่า นายสมโชคจะฟ้องบังคับนายมีให้เปิดทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นได้หรือไม่ และใคร เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วง 

ธงคำตอบ 

การที่นายสมโชคซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11 มาจากนายทองดีนั้น แม้เดิมนายทองดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11 จะมีสิทธิใช้ทางเดินในที่ดิน โฉนดเลขที่ 12 ของนายมีในฐานะทางจำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ก็ตาม นายสมโชคผู้รับโอนที่ดิน ดังกล่าวหาได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วย อย่างภาระจำยอมไม่ เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วย ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็น เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 11 ซึ่งนายสมโชคซื้อมามีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 10 ของนายสมโชคซึ่งอยู่ติดกันได้อยู่ แล้ว นายสมโชคจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 12 ของนายมีที่นายทองดีเคยใช้ต่อไปอีก (คำพิพากษาฎีกา ที่ 811-812/2540, 5672/2546 ประชุมใหญ่) ดังนั้น นายสมโชคจึงฟ้องบังคับให้นายมีเปิดทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นไม่ได้ 

ส่วนกรณีต้นมะม่วงตามปกติจะมีอายุยืนกว่า 3 ปี จึงเป็นไม้ยืนต้น แม้ต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของนายสมโชคซึ่งซื้อมาจากนายทองดี จะมีอายุ เพียง 2 ปี ก็ถือว่าเป็นไม้ยืนต้นเพราะดูที่ประเภทไม้ ดังนั้น ต้นมะม่วงจึงเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงที่นายสมโชคซื้อมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อนาย สมโชคเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 144 วรรคสอง ถึงแม้ต้นมะม่วงนั้นจะงอกจากเมล็ดมะม่วงที่ตกมาจากต้นมะม่วงของนายมีก็ตาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811 - 812/2540
แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วยอย่างภารจำยอมเพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็นเมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้นเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 หรือมาตรา 1350 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2546
การที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์รับโอนมามีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์จะได้สิทธิในทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภารจำยอม เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทั้งเป็นการจำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินซึ่งโจทก์รับโอนมามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกัน แม้ส่วนที่ดินที่ติดกันกว้างเพียง 1.16 เมตร และทางเดินออกสู่ทางสาธารณะกว้างเพียง 1.35 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์ เท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น 

ข้อ 2. 

นายสมชายทำสัญญาซื้อไก่พันธุ์พิเศษที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มไก่ของนายพินิจเท่านั้นจำนวน 1,000 ตัว ในราคา 50,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 5,000 บาท ตกลงจะมีการส่งมอบและชำระราคาที่เหลือในอีก 1 เดือน ก่อนวันส่งมอบ ประมาณ 1 สัปดาห์ ปรากฏว่ามีโรคไข้หวัดนกระบาดเข้าไปถึงท้องที่ฟาร์มไก่ของนายพินิจ เป็นเหตุให้ไก่ที่นายพินิจเลี้ยงอยู่ประมาณ 10,000 ตัว ตายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ทางการได้ประกาศให้ท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตไข้หวัดนกระบาดและมีคำสั่งให้นำ ไก่ในเขตนั้นไป ทำลายโดยเร็ว ครั้นถึงวันส่งมอบไก่ นายพินิจไม่ส่งมอบไก่แก่ นายสมชาย แต่ขอให้นายสมชายชำระราคาที่เหลือ นายสมชายไม่ยอมชำระราคาไก่ที่เหลือ และเรียกร้องให้นายพินิจ คืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายที่นายสมชายไม่ได้กำไรจากการซื้อขายครั้งนี้ 10,000 บาท 

ให้วินิจฉัยว่า นายพินิจมีสิทธิเรียกร้องราคาไก่ที่เหลือจากนายสมชายหรือไม่ และนายพินิจต้องรับผิดต่อนายสมชายหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

สัญญาซื้อขายไก่เป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่เมื่อยังไม่มีการคัดเลือกไก่ จึงมิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 370 และมาตรา 371 เมื่อก่อนส่งมอบมีโรคไข้หวัดนกระบาดเข้าไปในฟาร์มไก่ของนายพินิจ และทางการได้มีคำสั่งให้นำไก่ในเขตนั้นไป ทำลายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุที่โทษลูกหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนไม่ได้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้นั้นตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง 

และ ขณะเดียวกันลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา 372 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายพินิจไม่จำต้องส่งมอบไก่แก่นายสมชาย และนายพินิจไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาไก่ที่เหลือจากนายสมชาย แต่นายพินิจต้องคืนเงินมัดจำ 5,000 บาท แก่นายสมชาย และกรณีนี้ถือว่าการชำระหนี้ของนายพินิจตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอันจะ โทษนายพินิจไม่ได้ นายพินิจมิได้เป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา นายสมชายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากขาดกำไรจากนายพินิจ 

ข้อ 3. 

นายเหี้ยมหาญเป็นครูสอนวิชาพลศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง นักเรียนของนายเหี้ยมหาญ มีอายุระหว่าง 11 - 13 ปี ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลา 13 - 14 นาฬิกา นายเหี้ยมหาญสั่งให้นักเรียนในชั้นทั้งหมด 30 คน วิ่งรอบสนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร จำนวน 12 รอบ เพื่อลงโทษที่ นักเรียนกลุ่มนั้นทำผิดระเบียบ ในระหว่างวิ่งรอบที่ 11 เด็กชายอ่อนซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วเป็นลมล้มลง และเสียชีวิตเมื่อไป ถึงโรงพยาบาล ทั้งนี้โดยนายเหี้ยมหาญมิได้รู้มาก่อนว่าเด็กชายอ่อนป่วยเป็นโรคหัวใจ 

ให้วินิจฉัยว่า นางแข็งมารดาของเด็กชายอ่อนผู้ตายจะฟ้องนายเหี้ยมหาญ และเจ้าของโรงเรียนผู้เป็นนายจ้างเพื่อให้รับผิดในความตาย ของเด็กชายอ่อนได้ หรือไม่ เพียงใด 

โดยเฉพาะจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้หรือไม่ หากโรงเรียนที่เกิดเหตุมิใช่โรงเรียนเอกชน แต่เป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร บุคคลที่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยจะแตกต่างออกไป หรือไม่ อย่างไร 

ธงคำตอบ 

การที่นายเหี้ยมหาญลงโทษเด็กนักเรียนอายุเพียง 11-13 ปี โดยสั่งให้วิ่งรอบสนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร เป็นจำนวนมาก ถึง 12 รอบ ในช่วงเวลาบ่ายนั้น ถือเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่กรณี โดย นายเหี้ยมหาญสามารถคาดเห็นได้ว่าการลงโทษเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายแก่เด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษได้ จึงเป็นการ กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เด็กชายอ่อนถึงแก่ความตาย เป็นการทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง ดังนั้น นางแข็งจึงฟ้อง นายเหี้ยมหาญในฐานะลูกจ้าง และเจ้าของโรงเรียนในฐานะนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของ นายเหี้ยมหาญที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อมีผลโดยตรงต่อความตายของเด็กชายอ่อนและเป็นการกระทำใน ทางการที่จ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 425 ค่าเสียหายที่เรียกได้ คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ตามมาตรา 443 ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของนางแข็งมารดาของ เด็กชายอ่อนตามมาตรา 443 วรรคสาม แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446 มิได้ เพราะมิใช่ เป็นการกระทำละเมิดแก่ร่างกาย อนามัย หรือเสรีภาพ การที่เด็กชายอ่อนเป็นโรคหัวใจเป็นพฤติการณ์ที่อาจนำมาใช้ในการกำหนด ค่าเสียหายให้ลดลงได้ตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง คือพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงของการละเมิด แต่จะนำมายกเว้นความ รับผิดของนายเหี้ยมหาญและเจ้าของโรงเรียน โดยอ้างว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5129/2546) 

หากโรงเรียนที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เฉพาะ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด ที่นายเหี้ยมหาญเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการ ปฏิบัติหน้าที่ครูสอนพละเท่า นั้น ในกรณีนี้นางแข็งจะฟ้องนายเหี้ยมหาญเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพลศึกษาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายนับเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้วิ่งต่ออีก 3 รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วแต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยแบบเดิมอีก จำเลยที่ 1 ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่น การที่สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบและเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันอากาศร้อนและมีแสงแดดแรงนับเป็นการใช้วิธีการลงโทษที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนซึ่งอายุระหว่าง 11 ปี ถึง 12 ปีได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ ทั้งการออกกำลังกายโดยการวิ่งย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ จำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติจนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว จึงเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย การที่จำเลยที่ 1 ทำการสอนวิชาพลศึกษาของโรงเรียนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อทำให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชาย พ. ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้ การที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะถูกทำละเมิดโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตกเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในปัจจุบันและในอนาคตภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เด็กชายจะสามารถทำงานมีรายได้มาอุปการะโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม 3 รอบ เพื่ออบอุ่นร่างกายและการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นักเรียนวิ่งต่อไปอีก 3 รอบ เพราะนักเรียนวิ่งกันไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบ เป็นวิธีการสอนและลงโทษนักเรียนตามสมควรแก่เหตุและเหมาะสม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้วิ่งอีก 3 รอบสนาม ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 เป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหวังให้นักเรียนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจำเลยที่ 1 ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เหมือนดังวิสัยของครูทั่วไป แม้เป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือกระทำการประมาทอย่างร้ายแรง เพียงแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบและไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพครูสอนพลศึกษาจะพึงปฏิบัติและสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของเด็กชาย พ. ไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างความไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้ แต่ศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของการทำละเมิดได้ แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่ขณะที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วสิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

ข้อ 4. 

นายแมนทำหนังสือสัญญาเช่าบ้านหลังหนึ่งจากนายหมูมีกำหนด 3 ปี มีข้อตกลงด้วยว่าห้ามนำบ้านหลังดังกล่าวไปให้เช่าช่วง ต่อมาในระหว่างสัญญาเช่า นายแมนตกลงด้วยวาจาให้นายเจนเช่าบ้านหลังนี้โดยไม่กำหนดระยะเวลากันไว้ อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ชำระค่าเช่าทุกวันสิ้นเดือน หลังจากให้นายเจนเช่าบ้านได้ 6 เดือน นายแมนเห็นว่ายังเหลือระยะเวลาตามสัญญาเช่าเดิม อีก 1 ปี และตนเองอยากกลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ อีกครั้ง จึงบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าแก่นายเจนในวันสิ้นเดือนของเดือนหนึ่ง ขอให้นายเจนขนย้ายออกจากบ้านเช่าภายใน 15 วัน ครบ กำหนด 15 วันแล้วนายเจนไม่ยอมออก นายแมนจึงยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้น ขอให้ขับไล่ นายเจนออกจากบ้านเช่า นายเจนให้การต่อสู้คดีว่า (ก) นายแมนให้นายเจนเช่าช่วงบ้านฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาที่ทำไว้กับนายหมู นายแมนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าของนายแมนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายเจนไม่ได้ทำผิดสัญญา และนายแมนบอกกล่าวให้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเจนทั้งสองข้อรับฟังได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) แม้นายแมนทำหนังสือสัญญาเช่าบ้านจากนายหมูมีข้อตกลงห้ามนำบ้านไปให้เช่าช่วง แต่การที่ นายแมนฝ่าฝืนข้อตกลงโดยนำบ้านหลังดังกล่าวไปให้นายเจนเช่าช่วง ก็เป็นเรื่องที่นายแมนต้องรับผิดต่อนายหมู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 ไม่เกี่ยวกับนายเจนผู้เช่าช่วง เมื่อนายเจนตกลง เช่าช่วงบ้านจากนายแมน การเช่า ช่วงดังกล่าวย่อมผูกพันนายแมนและนายเจนในฐานะบุคคลสิทธิและนายเจน ย่อมถูกปิดปากมิให้โต้แย้งอำนาจของนายแมนซึ่งตนเข้า ทำสัญญาด้วย นายเจนไม่อาจยกข้ออ้างที่นายแมนให้ตนเองเช่าช่วงบ้านโดยฝ่าฝืนข้อตกลงตาม สัญญาเช่าที่ทำกับนายหมูมาต่อสู้นาย แมนได้ นายแมนมีอำนาจฟ้อง 

(ข) การเช่าบ้านระหว่างนายแมนและนายเจนทำกันด้วยวาจา ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงฟ้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 กรณีเช่นนี้ถือว่านายเจนผู้เช่าเข้าอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายแมนผู้ให้เช่า เมื่อนายแมนไม่ประสงค์จะให้อยู่ต่อก็สามารถ ฟ้องขับไล่ได้ แม้นายเจนจะมิได้ทำผิดสัญญาใด ๆ นอกจากนี้การเช่าที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น แม้จะมิได้กำหนดเวลาเช่ากันไว้ก็ไม่ อยู่ในบังคับของมาตรา 566 ที่นายแมนที่จะต้องบอกกล่าวการเลิกสัญญาแก่นายเจนให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง เป็นอย่างน้อย นายแมนมีสิทธิฟ้องขับไล่นายเจนได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 20/2519) ข้อต่อสู้ของนายเจนทั้งสองข้อรับฟังไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2519 
เช่าบ้านไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้เช่าขับไล่ผู้เช่าได้โดยไม่ต้องบอกเลิกตาม มาตรา 566 ซึ่งใช้ในกรณีมีหนังสือเช่าเป็นหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าเช่าเป็นหลักฐานการเช่าได้หรือไม่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่จะยกขึ้นอ้างเมื่อใดก็ได้ 

ข้อ 5. 

นายดำทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนายแดง 1,000,000 บาท โดยจำนำแหวนเพชรหนึ่งวงราคา 600,000 บาท เป็นประกันการ ชำระหนี้ มีนายขาวเป็นผู้ค้ำประกันและนายเขียวจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้กู้ยืมดัง กล่าวซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ต่อมานายแดง ให้นายดำยืมแหวนเพชรวงดังกล่าวไปใช้แล้วนายดำมิได้นำมาคืน ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2547 นายแดงมีหนังสือทวงถามไปยังนายดำ ให้ชำระหนี้กู้ยืมภายใน 15 วัน และมีหนังสือบอกกล่าวไปยังนายเขียวให้ไถ่ถอนจำนองโดยเร็วที่สุด นายดำและนายเขียวได้รับหนังสือ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2547 แต่นายแดงลืมทวงถามให้นายขาวชำระหนี้ วันที่ 3 กันยายน 2547 นายแดงฟ้องนายดำ นายขาว และนายเขียว ให้รับผิดตามสัญญากู้ยืม ค้ำประกัน และจำนอง ตามลำดับ 

ให้วินิจฉัยความรับผิดของนายดำ นายขาว และนายเขียว 

ธงคำตอบ 

นายดำเป็นผู้กู้ยืมเงินนายแดงโดยมีสัญญากู้ยืมเป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายดำผู้กู้ แม้สัญญาไม่มีกำหนดเวลาใช้คืนเงินกู้ นายแดงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 652 เมื่อนายแดงบอกกล่าวแล้วนายดำไม่ชำระหนี้ นายดำตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ 1,000,000 บาท แก่นายแดง 

นายขาวเป็นผู้ค้ำประกัน แม้นายแดงลืมบอกกล่าวทวงถามให้นายขาวชำระหนี้ แต่เมื่อนายดำลูกหนี้ ผิดนัดแล้ว นายแดงย่อมมีสิทธิเรียกให้นายขาวชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามแก่ นายขาว (คำพิพากษาฎีกาที่ 6389/2534) การที่นายแดงผู้รับจำนำให้นายดำยืมแหวนเพชรไปทำให้ทรัพย์ที่จำนำกลับคืนสู่ ครอบครอง ของนายดำผู้จำนำ สิทธิจำนำจึงระงับตามมาตรา 769 (2) (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2517/2534) และเป็นเรื่องเจ้าหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจรับช่วงสิทธิจำนำได้เพราะการ กระทำของเจ้าหนี้ตามมาตรา 697 นายขาวผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ ตนเสียหายคือ 600,000 บาท ดังนั้น นายขาวต้องรับผิดต่อนายแดง 400,000 บาท 

สำหรับนายเขียวผู้จำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภาย ในเวลาอันสมควรซึ่ง กำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ตามมาตรา 728 หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของนายแดงมิได้กำหนดเวลาให้นายเขียวชำระหนี้ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ นายแดงยังไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง นายเขียวจึงยังไม่ต้องรับผิดต่อนายแดง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2534
จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะสืบ ต. ในประเด็นว่าโจทก์โดย ต. มิได้บอกกล่าวทวงถามชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อนแต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การข้อที่จะขอนำสืบ ต. ดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการสืบ ต. เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไร้สาระให้งดสืบนั้น จึงชอบแล้ว แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 371391/355 และมีหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355 แต่ภายหลังจำเลยที่ 3ยื่นคำให้การแล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้เป็นว่าทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 271391/355 จำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันตามข้อสัญญาในการออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับการสั่งซื้อสินค้ารายนี้ ซึ่งก็คือสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง สัญญาทรัสต์รีซีทกับสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ลงบนตั๋วแลกเงินถึงวันที่จ่ายจริง แม้การทำสัญญาทรัสต์รีซีทจะไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แล้วหรือไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2534
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนำให้จำเลยผู้จำนำเช่าเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 769(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิจำนำของผู้ร้องจึงระงับสิ้นไปตามมาตรา ดังกล่าว ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำที่จะร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ได้ 

ข้อ 6. 

นายเอกเปิดร้านขายอาหารอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากนายโทเพื่อนำไปใช้ในร้าน นายเอกออกเช็คธนาคารกรุงทอง จำกัด สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือลงวันที่ 7 มกราคม 2547 ชำระหนี้แก่ นายโทที่ร้านนั้นเอง นายโทสลักหลังและส่งมอบเช็คดังกล่าวแก่นายตรีเพื่อชำระหนี้เงินยืม นายตรีรับเช็คไว้แล้วหลงลืม จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 จึงนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงิน ในบัญชีไม่พอจ่าย นายตรีทวงถามนายเอกและนายโทให้ใช้เงินตามเช็ค ทั้งสองคนต่อสู้ว่านายตรีนำเช็คไปเรียก เก็บเงินล่าช้า จึงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ตน 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเอก และนายโทฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

เช็คที่นายเอกสั่งจ่ายเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับสถานที่ออกเช็ค แม้นายตรีผู้ทรงจะมิได้ยื่นเช็ค แก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 แต่ไม่ปรากฏว่าการไม่ยื่นเช็คภายในกำหนดดังกล่าวทำให้นายเอกผู้สั่งจ่ายต้องเสียหายอย่างใด นายตรีจึงไม่เสียสิทธิที่มีต่อนายเอกและ มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากนายเอกได้ ตามมาตรา 900 และมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3242/2530) ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังไม่ขึ้น 

นายโทสลักหลังเช็คผู้ถือ ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายจึงต้องผูกพัน เป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกับนายเอกผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 มาตรา 940 วรรคหนึ่ง และมาตรา 967 ประกอบด้วยมาตรา 989 นายโทไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอันจะพ้นความรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็ค ต่อผู้สลักหลังโอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย นายโทไม่หลุดพ้นจากความรับผิดและต้องร่วมรับผิดกับนายเอก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1007/2542) ข้อต่อสู้ของนายโทฟังไม่ขึ้นเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2530
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์แม้จำเลยสั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของ พ.ที่มีต่อโจทก์แต่เมื่อพ. ยังไม่ได้ชำระหนี้ต่อโจทก์ หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังคงมีอยู่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ทั้งจะนำบทบัญญัติในเรื่องการผ่อนเวลาของเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับเพื่อให้จำเลยพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่ ความเสียหายอันเกิดจากผู้ทรงเช็คไม่นำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคาร ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 นั้นหมายถึงผู้สั่งจ่ายเสียเงินที่มีอยู่ในธนาคารเพราะการที่ผู้ทรงไม่นำเช็คไปขึ้นเงินภายในกำหนด เช่นธนาคารล้มละลาย เป็นต้น ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าการที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินล่าช้าจน พ. หลบหนีไปแล้วจึงดำเนินการ ทำให้จำเลยเสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก พ. ได้ กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2542
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอัน จะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้ 

ข้อ 7. 

บริษัทสยาม จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2547 มีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายหนึ่ง และนายสองเป็นกรรมการ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2547 บริษัทฯ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ จึงขอยืมเงินจากนายหนึ่ง จำนวน 1,000,000 บาท อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2547 กิจการของบริษัทฯ ได้ดีขึ้น ผู้ถือหุ้นประสงค์จะตอบแทนความ ช่วยเหลือของนายหนึ่ง ผู้ถือหุ้นจึงได้ประชุมกันลงมติพิเศษ ให้บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนทั้งสิ้น 10,000 หุ้น โดยให้เสนอขายให้นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาท โดยให้ถือว่า เงินที่ กู้ยืมส่วนหนึ่งจำนวน 900,000 บาท ที่บริษัทฯ ยืมไปจากนายหนึ่งเป็นเงินชำระค่าหุ้นและให้คืนเงินที่กู้ยืมที่เหลืออีก 100,000 บาท ให้ นายหนึ่ง 

ให้วินิจฉัยว่า มติพิเศษของผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่ผู้ถือหุ้นบริษัทสยาม จำกัด ลงมติพิเศษให้เพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นให้นายหนึ่งคนเดียวนั้นกระทำไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1222 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้นต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวน หุ้น ซึ่งเขาถืออยู่ ส่วนที่ลงมติเสนอขายในราคาหุ้นละ 90 บาท ต่อหุ้นก็กระทำไม่ได้ เพราะต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ จึงขัดต่อมาตรา 1105 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ออกขายหุ้นในราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ และที่ลงมติให้นายหนึ่งชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน โดยทำการ หักกลบลบหนี้กับเงินที่บริษัทสยาม จำกัด ยืมมาจากนายหนึ่งก็กระทำไม่ได้เช่นกัน เพราะขัดต่อมาตรา 1119 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในการใช้เงินค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่ ดังนั้น มติพิเศษของผู้ถือหุ้นทั้งสามประการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ข้อ 8. 

นายมิตรและนางสาวมุ้ย ต่างมีอายุ 25 ปี ทำสัญญาหมั้นกัน โดยนายมิตรได้มอบแหวนเพชร 1 วง ราคา 200,000 บาท ให้แก่ นางสาวมุ้ยเป็นของหมั้น แล้วนายมิตรกับนางสาวมุ้ยก็อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดย นางสาวมุ้ยลาออกจากงานซึ่งขณะนั้นได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท เพื่อช่วยนายมิตรทำการค้าที่บ้านนายมิตร ครั้นถึงกำหนด วันจดทะเบียนสมรสตามที่ตกลงกันไว้แล้ว นายมิตรไม่ยอมไปจดทะเบียน กลับนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่กินในบ้านและขับไล่นางสาวมุ้ย นางสาวมุ้ยจึงกลับไปอยู่กับนางแม้นมารดา ต่อมานายมิตรยอมใช้ค่าทดแทนความเสียหายในการที่นางสาวมุ้ยมาอยู่กินกับนาย มิตร ให้แก่นางสาวมุ้ยเป็นเงิน 200,000 บาท โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้ หลังจากนั้นนางสาวมุ้ยก็ถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะถึงแก่ความตาย คงมีแต่นางแม้นและนายมุ่ง น้าของนางสาวมุ้ยมีชีวิตอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น 

ให้วินิจฉัยว่า นางแม้น และนายมุ่ง มีสิทธิในแหวนเพชรของหมั้น ค่าทดแทนความเสียหายตามหนังสือ รับสภาพ กับค่าทดแทนความเสียหายที่นางสาวมุ้ยลาออกจากงานหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

นางแม้นและนายมุ่งต่างเป็นมารดาและน้าของนางสาวมุ้ยผู้ตาย จึงเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) และ 1629 (6) ตามลำดับ แต่นายมุ่งเป็นทายาทที่อยู่ลำดับถัดลงไปจากนางแม้น ย่อมไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกตาม มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง นางแม้นจึงเป็นทายาทโดยธรรมของ นางสาวมุ้ยแต่ผู้เดียว การที่นายมิตรกับนางสาวมุ้ยหมั้นกันโดยที่ทั้งสองฝ่ายมีอายุเกินกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ทั้งไม่ได้เป็นผู้เยาว์และนายมิตรได้ส่งมอบแหวน เพชรให้แก่นางสาวมุ้ยเป็นของหมั้น การหมั้นจึงทำได้และสมบูรณ์ตามมาตรา 1435 วรรคหนึ่ง และ 1437 วรรคหนึ่ง ของหมั้นจึงตกเป็นสิทธิของนางสาวมุ้ยตามมาตรา 1437 วรรคสอง เมื่อนายมิตรไม่ยอมจดทะเบียน สมรส ถือว่านายมิตรผิดสัญญาหมั้น นางสาวมุ้ยไม่ต้องคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 ของหมั้นย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางแม้น 

การที่นางสาวมุ้ยไปอยู่กินร่วมกันกับนายมิตรฉันสามีภริยา ทั้งยังถูกนายมิตรขับไล่ ย่อมเป็นเหตุให้ นางสาวมุ้ยได้รับความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง ตามมาตรา 1440 (1) (คำพิพากษาฎีกาที่ 982/2518) และการที่นางสาวมุ้ยลาออกจากงานเพื่อช่วยนายมิตรทำการค้า ถือว่าเป็นกรณีที่สมควร นางสาวมุ้ยย่อมได้รับ ความเสียหายตามมาตรา 1440 (3) (คำพิพากษาฎีกาที่ 3366/2525) นายมิตรจึงต้องใช้ค่าทดแทน ความเสียหายทั้งสองประการแก่นางสาวมุ้ย ตามมาตรา 1439 ซึ่งสิทธิที่เรียกร้องดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้และ ไม่ตกทอดไปถึงทายาท แต่สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงนั้น เนื่องจากนายมิตรได้รับสภาพไว้เป็นหนังสือ แล้ว สิทธิเรียกร้องเฉพาะส่วนนี้ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางแม้น ตามมาตรา 1447 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2518
ชายหญิงหมั้นกันโดยตกลงว่า เมื่อทำพิธีแต่งงานกันแล้วจะไปจดทะเบียนสมรสภายใน 15 วัน แต่เมื่อได้ทำพิธีแต่งงานและได้อยู่ร่วมกัน 46 วันแล้ว ชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิงแต่กลับขับไล่หญิงให้กลับไปอยู่บ้านบิดาเช่นนี้ชายผิดสัญญาหมั้น เป็นเหตุให้หญิงต้องได้รับความอับอายขายหน้า เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงและร่างกายชายต้องรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) 

โจทก์ชนะคดี 1 ใน 3 ของคำฟ้อง ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมเต็มจำนวนตามฟ้องก็ได้เมื่อไม่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลฎีกาไม่แก้ไข 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2525
จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439,1440 การกำหนดค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์นั้นต้องพิเคราะห์ถึงการศึกษาอาชีพและรายได้ของโจทก์ฐานะของครอบครัวของโจทก์และการที่โจทก์เป็นหญิงมาอยู่กินกับจำเลยจน มีบุตรแต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงทั้งเป็นการยากที่จะทำการสมรสใหม่ ก่อนรับหมั้นจำเลย โจทก์ทำงานอยู่บริษัทฯ เมื่อแต่งงานแล้วโจทก์ได้ลาออกจากงานเพื่อมาช่วยงานบ้านจำเลยถือได้ว่าโจทก์ได้จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเมื่อจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ได้แต่ต่อมาโจทก์ได้เข้าทำงานใหม่แม้จะลาออกจากงานอีกครั้งหนึ่งก็มิใช่ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเพราะในระยะนั้นทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่อาจจะจดทะเบียนสมรสกันได้แน่นอน โจทก์จึงเรียกไม่ได้