ฎีกาปัญหาการคิดดอกเบี้ยบัญชีเดินสะพัดของธนาคารพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557 

บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด โจทก์ 

บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิวสิเนส แอนด์ ลีแก็ลเคาน์ซึลเลอะ (1987) จำกัด กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 193/33(1), 224, 859 

ป.วิ.พ. มาตรา 183 

         จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น
 ________________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 263,624.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 136,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 39,227.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 147,735.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ 

             จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง 

             ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

             โจทก์อุทธรณ์ 

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

            โจทก์ฎีกา 

           ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้ตามสัญญาข้อ 2 จะระบุให้ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมหมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา และแม้ตามประกาศของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในเงินให้สินเชื่อ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา ก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ แต่คดีนี้เมื่อโจทก์อ้างส่งประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 โดยมิได้ส่งประกาศอัตราดอกเบี้ยในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ว่าโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าใด และขณะที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันก็ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราใด จึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 303,557.82 บาท ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชี อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณรายการเดินสะพัดทางบัญชีที่ปรากฏในการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งได้ความว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ 2 รายการ รวมจำนวน 460,267.54 บาท ทั้งสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 1 เลิกกันในวันที่ 31 มีนาคม 2536 ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงต้องนำเงินดังกล่าวมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระแก่โจทก์ในจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ด้วยส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 303,557.82 บาท และเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แบบไม่ทบต้นของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นเงินประมาณ 109,530.31 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 413,088.13 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินฝากประจำที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้นำมาหักชำระหนี้ดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น 

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

( วิรุฬห์ แสงเทียน - วีระวัฒน์ ปวราจารย์ - ประทีป ดุลพินิจธรรมา ) 

ศาลแขวงพระนครใต้ - นายณัฐพล พิทักษ์วงศาโรจน์ 

ศาลอุทธรณ์ - นายบุญส่ง กุลบุปผา 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

หม่อมไฉไลยุคลพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 5, 11, 193/27, 193/30, 745, 856, 859 

          แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)
 ________________________________ 

           โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 47,574,591.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 41,369,210.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบ 

             จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง 

             ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

             โจทก์อุทธรณ์ 

            ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

             โจทก์ฎีกา 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-3-9703-8 ซึ่งมีวิธีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และวันที่ 25 สิงหาคม 2520 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ตามประเพณีของธนาคาร โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2521 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,500,000 บาท รวมเป็น 5,500,000 บาท และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประกันอีก 1,500,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2525 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนจำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2526 นำเข้าอีก 1,582.18 บาท จากนั้นมิได้มีการนำเงินเข้าบัญชีหรือเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก 

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลสิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลเดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลจำนองไว้เท่านั้นตามกฎหมายข้างต้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน 

       พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลชำระเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 ถึง 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ. 

( จรัส พวงมณี - นินนาท สาครรัตน์ - สถิตย์ ทาวุฒิ ) 

ศาลแพ่ง - นายโสภณ โรจน์อนนท์ 

ศาลอุทธรณ์ - นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2546 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน โจทก์

นางกฤตยา รุ่งธนเกียรติ กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 150, 858, 859 

ป.วิ.พ. มาตรา 245 

พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 

        โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ 

         ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นคนละเรื่องกัน สำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้นอาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือน ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ว่าคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว มิใช่ต้องสิ้นสุดลงภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีตามมาตรา 858 จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร เมื่อตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงินแม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม ชั้นอุทธรณ์โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 1,500,000 บาทโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2 พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปและต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยและกรณีเป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนองคำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) 
________________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ สาขาสุรินทร์ วงเงินจำนวน 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16 ต่อปี) ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ได้มีการตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็น 5,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16ต่อปี) กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินตามประเพณีธนาคารและโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามแต่โจทก์เห็นสมควร เพื่อประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6228 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดและค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคิดถึงวันฟ้องจำนวน 7,280,180.66 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 742,229.28 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,022,409.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,280,180.66 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ 

        จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อสัญญาที่โจทก์ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา โจทก์เรียกดอกเบี้ยในต้นเงินที่เกินวงเงินไม่ชอบเนื่องจากไม่มีข้อตกลงไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีการหักทอนบัญชีใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา สัญญาจึงสิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2539 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2539 เป็นต้นไป จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง 

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 8,022,409.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2541 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 18มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6228 ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ 
 
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน 

          จำเลยที่ 1 ฎีกา 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สัญญาข้อ 2 มีความว่า "ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด ภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเว้นแต่เมื่อผู้กู้ปฏิบัติผิดนัด ผิดเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัด ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแทนอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปดังกล่าวข้างต้นซึ่งขณะทำสัญญานี้ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 16.5 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5ต่อปี แต่ต่อไปอัตราดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ผู้ให้กู้จะประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ของยอดหนี้ที่ปรากฏตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด และกำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน" เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา 

        ปัญหาประการต่อไปมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใด จำเลยที่ 1ฎีกาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจึงต้องสิ้นสุดลงภายในกำหนด 6 เดือน ตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีเห็นว่า ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เป็นคนละเรื่องกันสำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้น อาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้ เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือนอย่างเช่นในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3 เพียงแต่ว่าคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 859 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คงมีแต่ข้อตกลงเฉพาะการหักทอนบัญชี และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.13 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวนี้ จึงชอบแล้ว 

        ปัญหาที่จะวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนเกินวงเงินกู้ จำนวน 5,500,000 บาท ดังจำเลยที่ 1 ฎีกาได้หรือไม่ เห็นว่า จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 และข้อ 3 ได้มีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงิน แม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม สรุปแล้วฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง โดยมิได้กำหนดให้คิดจากต้นเงินจำนวนเท่าใดไว้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนเป็นการไม่ถูกต้อง กับปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่3 เมษายน 2544 ว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป กรณีจึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปและต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย และมูลหนี้ดังกล่าวจำนวน 1,500,000 บาท เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนอง คำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2ผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน7,280,180.66 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 18 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระแก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ( ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ - สายันต์ สุรสมภพ - สมศักดิ์ เนตรมัย ) ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819/2556 ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน)โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์แม็กซ์ จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทน โจทก์ บริษัทดับบลิวแมท จำกัด กับพวก จำเลย ป.พ.พ. มาตรา 856, 860, 702, 708, 728, 747 ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104, 118 หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารมหาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า... เป็นเงินรวมกันไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ...จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แทนไปนั้น คำว่า ในเวลานี้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมหมายถึง การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนี้ สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย มิใช่จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น แม้คำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่า เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนอง ในวงเงิน 11,800,000 บาท ก็เป็นการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด สำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อสัญญาจำนองฉบับนี้ระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อให้เกิดขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท ดังนั้น คำว่า ประกันหนี้ในเวลานี้ จึงมีความหมายว่า เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจำนองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาจำนองด้วย และจำเลยที่ 5 คงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 39209 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินจำนองเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว ในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว ________________________________ 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 19,472,936.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 12,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนเกินวงเงิน 3,480,939.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน 24,205,452.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน 16,691,994.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 7,880.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ 

          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง 

         ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความและบริษัทบริหารสินทรัพยแม็กซ์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้เบิกเกินบัญชี 14,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2542) ต้องไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี หักทอนด้วยเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,758.21 (ที่ถูก 607,798.21) บาท และจำนวน 1,088,488.68 บาท และให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 15,249,348.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปของต้นเงิน 14,000,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเบิกเงินส่วนที่เกินวงเงินของต้นเงิน 1,249,348.36 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามขอ หักทอนด้วยเงินชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท วันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,793.21 (ที่ถูก 607,798.21) บาท กับ 1,088,488.68 บาท และให้รับผิดชำระหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน 14,700,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระหนี้ 1,805,328.32 บาท แก่โจทก์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี ตามขอ และให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 7,880.91 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รวมแล้วต้องไม่เกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ตำบลคลองตัน อำเภอคลองเตย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 บังคับชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 40,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยที่ 5 ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองกับโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ หรือไม่นั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ตามที่จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ไว้ และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยที่ 5 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกัน (สำหรับการขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหรือไม่ พิเคราะห์ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 ที่ระบุว่า จำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนอง และลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันในหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และช่องผู้จำนอง ปรากฏว่าคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ในหนังสือ รวมทั้งคล้ายคลึงกับลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อไว้ ในข้อนี้จำเลยที่ 5 ก็ยอมรับว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ 1 และหนังสือสัญญาจำนอง คล้ายคลึงกับลายมือชื่อจริง แต่อ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอม โดยทางนำสืบของจำเลยที่ 5 มีเพียงจำเลยที่ 5 เบิกความอ้างตนเองว่า มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2539 และมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมจำนองที่ดิน ฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 5 กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ตามหนังสือเดินทางพร้อมคำแปล แต่ปรากฏตามหนังสือเดินทางและตารางการเดินทางเข้า - ออกระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 5 เดินทางเข้ามาประเทศไทย และเดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2539 ดังนั้น ในวันที่ 22 มีนาคม 2539 อันเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน จำเลยที่ 5 จึงอยู่ที่ประเทศไทย มิใช่ประเทศออสเตรเลียดังที่กล่าวอ้าง ทั้งหนังสือสัญญาจำนอง เป็นเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันเป็นเอกสารมหาชน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เมื่อจำเลยที่ 5 มิได้นำสืบพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือประกอบกับลายมือชื่อดังกล่าวคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 5 ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายทราบเรื่องที่มีการปลอมเอกสารดังที่กล่าวอ้างแล้วก็น่าจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 5 หาได้กระทำไม่ รวมทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันประกอบด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดิน ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 ไม่มีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนอง กับโจทก์จริง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเพียงใดนั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญายอมรับผิดชดใช้เงินไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า... เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1... ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้รายละเอียดปรากฏตามหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ได้ออกและหรือที่จะออกนั้น... จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้เงินแทนนั้น เห็นว่า คำว่าในเวลานี้หมายถึงจำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้น สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ย่อมครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันด้วย มิใช่ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว ส่วนคำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันตาม และได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา ดังที่จำเลยที่ 5 อ้าง แต่การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญา โดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่าเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนองในวงเงิน 11,800,000 บาท จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองดังกล่าวก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา และสัญญาจำนองเป็นประกันในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญา และวงเงินตามสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ จำเลยที่ 5 รับผิดในหนี้ตามสัญญา และหนังสือสัญญาจำนอง เกินวงเงิน 14,700,000 บาท ที่จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วนสำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า สัญญาจำนองดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท การจำนองจึงเป็นประกันแต่เฉพาะหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุว่าจำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท นั้น คำว่าประกันหนี้ในเวลานี้หมายถึงเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารอยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้น สัญญาจำนองจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนองด้วย จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แล้วก่อนทำสัญญาจำนองด้วย แต่ข้อที่จำเลยที่ 5 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 14,000,000 บาท จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่เกินกว่าวงเงินจำนองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท 

( วาสนา หงส์เจริญ - วีระวัฒน์ ปวราจารย์ - ปิยกุล บุญเพิ่ม ) 

ศาลแพ่ง - นายประสิทธิ์ ศักดิ์ศรีมณีกูล 

ศาลอุทธรณ์ - นายบุญสิทธิ์ คงสุวรรณ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9043/2554 

ธนาคารซิตี้แบงก์ โจทก์ 

นายสุพรรณ ผ่องแผ้ว จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 193/34(7), 856 

         ลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 เป็นสัญญาที่คู่ความแต่ละฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ฝ่ายที่เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่าจะต้องชำระหนี้ในส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาคเมื่อตัดทอนบัญชี หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวแม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ สัญญาให้สินเชื่อที่จำเลยทำกับโจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้โดยให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อการหักทอนคิดจำนวนเงินที่จำเลยยังคงเป็นหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะของการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบกันแต่อย่างใด สัญญาให้สินเชื่อจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด การเบิกถอนเงินจำเลยอาจกระทำได้หลายวิธีตามที่กำหนดไว้ในสัญญา นอกจากใช้บัตรซิตี้การ์ดกับเลขรหัสประจำตัวเบิกถอนเงินจากพนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์หรือจากเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) แล้ว จำเลยอาจใช้วิธีออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวัน หรือมีคำสั่งผ่านทางบริการซิตี้โฟนแบงก์กิ้งให้โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก หรือโดยวิธีการอื่นๆ ที่โจทก์ให้บริการ ทั้งนี้เงินที่จำเลยเบิกถอนไปไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามสัญญาข้อ 6 ระบุให้ถือว่าเป็นต้นเงินกู้ที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้แก่จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดจึงเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่จำเลยในการเบิกถอนเงินวิธีหนึ่งในจำนวนหลายวิธีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้เท่านั้น จำเลยอาจเลือกใช้วิธีอื่นในการเบิกถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรซิตี้การ์ดที่โจทก์ออกให้เลยก็ย่อมกระทำได้ เงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยเบิกถอนไปแต่ละครั้ง จึงไม่มีลักษณะเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนไปก่อน แต่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ตามวงเงินสินเชื่อที่จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ แม้โจทก์เก็บค่าสมาชิกจากจำเลยเป็นรายปี ก็เป็นเพียงค่าตอบแทนอย่างหนึ่งที่โจทก์เรียกเก็บเท่านั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปดังที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
 _______________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 62,278.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 31,346.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

              จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง 

            ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 62,278.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 31,346.63 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547) จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท 

              จำเลยอุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

            จำเลยฎีกา 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งได้ความว่า จำเลยสมัครขอรับบริการสินเชื่อประเภทหมุนเวียน (Revolving loan) กับโจทก์ ชื่อบริการ “ซิตี้แบงก์เรดดี้เครดิต” โจทก์อนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยในวงเงิน 50,000 บาท โดยใช้บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้กับโจทก์ โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ด เลขรหัสประจำตัว และมอบเช็คให้จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงิน จำเลยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาให้สินเชื่อทุกประการ หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินจากวงเงินสินเชื่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายใช้บัตรซิตี้การ์ดเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ครบกำหนดชำระภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 แต่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ระงับการให้วงเงินสินเชื่อและส่งใบแจ้งยอดหนี้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ ปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาให้วงเงินสินเชื่อโดยใช้บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยทำกับโจทก์ไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้จำเลยไว้เพี่อใช้เบิกถอนเงินสดแล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง โดยโจทก์เรียกเก็บเงินค่าสมาชิก ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาค ลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ฝ่ายที่เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่าจะต้องชำระหนี้ในส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาคเมื่อมีการตัดทอนบัญชี หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว แม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ สัญญาให้สินเชื่อที่จำเลยทำกับโจทก์ ข้อ 10 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้รวมถึงวิธีนำเงินหรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันระบุว่า “...ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าธนาคารจะนำเงินที่ได้รับจากผู้กู้ตามข้อนี้ไปชำระบรรดาหนี้อุปกรณ์ที่ผู้กู้มีต่อธนาคารตามสัญญาฉบับนี้อันได้แก่ เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย... และหากยังมีเงินคงเหลืออยู่ ธนาคารจะนำไปชำระคืนหนี้ประธานอันได้แก่ต้นเงินกู้” ส่วนกรณีนำเงินหรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันโดยผู้กู้ไม่มีหนี้ค้างชำระอยู่ในบัญชี สัญญาข้อ 11 ระบุว่า “...ผู้กู้ตกลงยินยอมและขอมอบอำนาจชนิดเพิกถอนไม่ได้ให้ธนาคารโอนเงินสดที่ผู้กู้นำฝาก และ/หรือ เงินที่ธนาคารเรียกเก็บได้ตามเช็คที่นำเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นบัญชีย่อยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นเป็นการภายใน ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่งยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์...” และข้อ 20 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ผู้กู้ตกลงเปิดบัญชีกระแสรายวันแบบพิเศษจำนวน 1 บัญชี ไว้กับธนาคาร...” เห็นได้ว่า บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้กับโจทก์เป็นเพียงบัญชีที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการหักทอนคิดจำนวนเงินที่จำเลยยังคงเป็นหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะของการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบกันแต่อย่างใด สัญญาให้สินเชื่อจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า การเบิกถอนเงินจำเลยอาจกระทำได้หลายวิธีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 5 กล่าวคือ นอกจากใช้บัตรซิตี้การ์ดกับเลขรหัสประจำตัวเบิกถอนเงินจากพนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์หรือจากเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) แล้ว จำเลยอาจใช้วิธีออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวัน หรือมีคำสั่งผ่านทางบริการซิตี้โฟนแบงก์กิ้งให้โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก หรือโดยวิธีการอื่นๆ ที่โจทก์ให้บริการ ทั้งนี้เงินที่จำเลยเบิกถอนไปไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตามสัญญาข้อ 6 ระบุให้ถือว่าเป็นต้นเงินกู้ที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดให้แก่จำเลยไว้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดจึงเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่จำเลยในการเบิกถอนเงินวิธีหนึ่งในจำนวนหลายวิธีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้เท่านั้น จำเลยอาจเลือกใช้วิธีอื่นในการเบิกถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรซิตี้การ์ดที่โจทก์ออกให้เลยก็ย่อมกระทำได้ เงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยเบิกถอนไปแต่ละครั้งจึงไม่มีลักษณะเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนไปก่อน แต่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ตามวงเงินสินเชื่อที่จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ แม้โจทก์เก็บค่าสมาชิกจากจำเลยเป็นรายปี ก็เป็นเพียงค่าตอบแทนอย่างหนึ่งที่โจทก์เรียกเก็บเท่านั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปดังที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

( มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ - อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ) 

ศาลจังหวัดธัญบุรี - นายสุรพล กล่อมจิตต์ 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางปดารณี ลัดพลี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2550 

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

นางเพ็ญประภา สินธุวราวรรณ จำเลย 

ป.พ.พ.มาตรา 856 

        การที่จำเลยขอใช้บริการสินเชื่อบัตรทองโดยจำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ก็เพื่อนำบัตรทองดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและบริการอื่นๆ แทนเงินสดเป็นสำคัญโดยให้โจทก์ออกเงินชำระแทนไปก่อน บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่จำเลยขอเปิดไว้กับโจทก์ก็เปิดไว้เพียงเพื่อให้โจทก์หักเงินไปชำระหนี้ หาใช่หักทอนหนี้สินระหว่างกันอย่างบัญชีเดินสะพัดไม่ เพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ด้วย รวมทั้งไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ และมิได้มีข้อสัญญาให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็ค แม้ด้านหลังคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันจะมีข้อตกลงให้จำเลยถอนเงินด้วยเช็คและกรณีเงินฝากที่เหลือในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็ค หากโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนจำเลยยอมผูกพันจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้โจทก์โดยถือเสมือนหนึ่งจำเลยได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามกฎหมายให้แก่โจทก์และยอมให้นำดอกเบี้ยนี้หักจากบัญชีเมื่อถึงวันสิ้นเดือน... ก็เป็นเพียงรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูปของโจทก์ แต่ตามความเข้าใจของโจทก์และจำเลยการใช้บัตรทองมิได้กำหนดให้จำเลยสามารถถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็คแต่อย่างใด หนี้ที่จำเลยค้างชำระตามบัญชีดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ________________________________ 

       โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 229,854.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 104,875 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา 

         ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 

         โจทก์อุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

         โจทก์ฎีกา 

       ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2532 จำเลยขอใช้บริการสินเชื่อบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสที่ออกโดยบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด กับโจทก์ และเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 1173074103 กับโจทก์ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน โจทก์ให้วงเงินสินเชื่อแก่จำเลยเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการอันเกิดจากการที่จำเลยนำบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสไปใช้แทนเงินสด และให้บริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด และบุคคลอื่น ส่งใบแจ้งยอดหนี้มาเรียกเก็บเงิน มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนี้ที่จำเลยค้างชำระตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่เปิดไว้แก่โจทก์เป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยขอใช้บริการสินเชื่อบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสโดยจำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ก็เพื่อนำบัตรทองดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและบริการอื่น ๆ แทนเงินสดเป็นสำคัญโดยให้โจทก์ออกเงินชำระแทนไปก่อน บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่จำเลยขอเปิดไว้กับโจทก์ก็เปิดไว้เพียงเพื่อให้โจทก์หักเงินไปชำระหนี้ หาใช่หักทอนหนี้สินระหว่างกันอย่างบัญชีเดินสะพัดไม่ เพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ด้วย รวมทั้งไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ และมิได้มีข้อสัญญาให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็ค แม้ด้านหลังคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน จะมีข้อตกลงให้จำเลยถอนเงินด้วยเช็คและกรณีเงินฝากที่เหลือในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็ค หากโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนจำเลยยอมผูกพันจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้โจทก์โดยถือเสมือนหนึ่งจำเลยได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามกฎหมายให้แก่โจทก์และยอมให้นำดอกเบี้ยนี้หักจากบัญชีเมื่อถึงวันสิ้นเดือน... ก็เป็นเพียงรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูปของโจทก์ แต่ตามความเข้าใจของโจทก์และจำเลยการใช้บัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสมิได้กำหนดให้จำเลยสามารถถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็คแต่อย่างใด หนี้ที่จำเลยค้างชำระตามบัญชีดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น แต่ตามคำฟ้องและเอกสารหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งแทนการสืบพยานบุคคลปรากฏว่า ตามสำเนาใบสมัครบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรส ระบุวันที่เปิดวงเงินสินเชื่อ วันที่ 12 เมษายน 2532 โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2540 ยอดหนี้ตามรายการบัญชีกระแสรายวันที่ระบุว่า เมื่อคิดถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 226,838.04 บาท โดยเป็นต้นเงิน 104,875 บาท ดอกเบี้ย 121,963.04 บาท จึงไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

        มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ แต่ต้นเงินที่จำเลยใช้จ่ายบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสก็ไม่เสียไปคงเป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบนั้น โดยโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า หลังจากจำเลยสมัครเป็นสมาชิกและรับบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสไปแล้ว จำเลยนำบัตรทองดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและบริการอื่น ๆ แทนเงินสดหลายคราว โจทก์ได้หักเงินจากบัญชีของจำเลยและจ่ายให้แก่บริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด ตามข้อตกลงหลายคราวเช่นกัน แต่ปรากฏตามรายการบัญชีกระแสรายวัน เมื่อเริ่มแรกจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 100,000 บาท โดยไม่อาจทราบได้ว่าเป็นหนี้ค่าอะไร ทั้งที่วงเงินสินเชื่อตามสำเนาใบสมัครบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง จำเลยมีวงเงินสินเชื่อเพียง 50,000 บาท แต่สำเนาใบสมัครบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสกลับระบุว่าจำเลยมีวงเงินสินเชื่อ 100,000 บาท ทั้งที่เป็นสำเนาใบสมัครจากต้นฉบับเดียวกันเอกสารที่โจทก์อ้างส่งแทนการสืบพยานบุคคลจึงมีข้อพิรุธ ชอบที่โจทก์จะนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสของจำเลยหรือหลักฐานอื่นมาแสดงให้เห็นว่าข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายจริง นอกจากนี้เมื่อตรวจดูรายการบัญชีกระแสรายวัน คงมีแต่รายการที่จำเลยฝากเงินสดเพื่อชำระหนี้ กับรายการดอกเบี้ย ไม่ปรากฏรายการที่จำเลยใช้บัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสชำระค่าสินค้าและบริการอื่น ๆ แทนเงินสดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องแต่ประการใด โจทก์ยืนยันในคำฟ้องว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2540 แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นมาตั้งแต่จำเลยเป็นหนี้โจทก์จนถึงวันดังกล่าว โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่ายอดหนี้จำนวน 100,000 บาท ตามรายการบัญชีกระแสรายวัน แผ่นที่ 1 ไม่ใช่ยอดหนี้ที่เกิดจากการคิดดอกเบี้ยทบต้นแล้วโอนมาเป็นยอดหนี้ตามบัญชีของจำเลยดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งแทนการสืบพยานบุคคลจึงไม่อาจทราบได้แน่นอนว่าจำเลยเป็นหนี้ต้นเงินจากการนำบัตรทองอเมริกันเอ็กซ์เพรสไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ แทนเงินสดเป็นจำนวนเท่าใดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” 

พิพากษายืน 

( วีระชาติ เอี่ยมประไพ - สมศักดิ์ เนตรมัย - อิศเรศ ชัยรัตน์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8117/2548 

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ 

นายสันติหรือธนภัทร โล่ห์สกุล กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 193/1, 193/4, 193/8, 856, 860 

        ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวัน และกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน ทั้งยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน จึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้โดยไม่ถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี ________________________________ 

            โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,955,837.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,954,364.43 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยหนี้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,334,246.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองและบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ 

         จำเลยทั้งสามให้การมีใจความทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,955,837.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,954,364.43 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,334,246.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองและบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามชำระหนี้จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท 

             จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสามจำนวน 104,127.50 บาท 

            จำเลยทั้งสามฎีกา 

         ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 319-6-01555-6 กับโจทก์ สาขาอำนาจเจริญ มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ฉบับ โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด ฉบับแรกลงวันที่ 29 เมษายน 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็ม.อาร์.อาร์. บวกสองต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 เมษายน 2541 และตกลงว่าให้หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระอยู่กับโจทก์เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทุกวัน กำหนดชำระเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน หากมียอดหนี้เกินวงเงินจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยได้และยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 11 แปลง เป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และได้จำนองที่ดิน 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 9,120,944.17 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้เนื่องจากโจทก์ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค 

        คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์นำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า หากวันปิดบัญชีสิ้นเดือนตรงกับวันหยุดทำการจะต้องถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี เมื่อไม่ชำระจึงจะมีสิทธินำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/4 มาตรา 193/8 นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2. กำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน และข้อ 3. ยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน ตามบัญชีกระแสรายวันจึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2540 ไม่ถูกต้องนั้น เมื่อพิจารณาบัญชีกระแสรายวันและรายการคำนวณดอกเบี้ย ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2540 อันเป็นวันปิดบัญชีสิ้นเดือนจึงเป็นการคำนวณวันและคิดดอกเบี้ยทบต้นถูกต้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น 

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

( สถิตย์ ทาวุฒิ - ปัญญา ถนอมรอด - เฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ) 

ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ - นายเอนก เวชศาสตร์ 

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายชาติชาย อัครวิบูลย์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547 

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

ห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์ประทานก่อสร้าง กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 67, 314, 655, 657, 698, 744, 856, 1249, 1270 

          จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ 
________________________________ 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 2,197,186.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ในต้นเงิน 1,595,942.62 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของ จำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

          โจทก์อุทธรณ์ 

    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

         โจทก์ฎีกา 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไม่มีอำนาจ ดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลง และหักทอนบัญชีกันแล้วโดยคำนวณจากรายการในการ์ดบัญชีกระแสรายวัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงิน เกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้ามาฝาก ในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงินออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากก็คือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้น จึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตาม การ์ดบัญชีกระแสรายวันว่ามีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีวันที่ 19 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 20 เมษายน 2537 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีประมาณ 2,132,418 บาท และเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี แบบไม่ทบต้นของต้นเงินดังกล่าวตามที่โจทก์ขอมานับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

( สำรวจ อุดมทวี - สายันต์ สุรสมภพ - สิทธิชัย รุ่งตระกูล ) 

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายทวี เนียมประดิษฐ์ 

ศาลอุทธรณ์ - นายประสิทธิ์ ศรไชย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2546 

ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน โจทก์

นายกมล วะสุรีย์ จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 7, 856 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 

          คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไรและเพียงใด ทั้งๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชี ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับและถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์ คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง มิใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
 ________________________________ 

       โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 18 ตุลาคม 2538 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ในวงเงินสัญญาละ 200,000 บาท ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15.25 ต่อปี และอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี ตามลำดับ โดยยอมให้โจทก์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงสุด และตกลงจะเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันที่เปิดไว้กับโจทก์ โดยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเป็นรายเดือน และยินยอมปฏิบัติตามประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีและการเดินสะพัดทางบัญชีของธนาคารพาณิชย์ จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันการชำระหนี้ และขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 1 ครั้ง ครบกำหนดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาโดยสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินเกินบัญชีหลายครั้ง และไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเป็นรายเดือนเรื่อยมาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 ปรากฏยอดหนี้จำนวน 559,121.85 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองกับทวงถามให้ชำระหนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวไม่ทบต้นในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 68,209.62 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 627,331.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 559,121.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 795 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน 

          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะขณะฟ้องโจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจกระทำโดยบุคคลซึ่งไม่มีอำนาจ และระบุให้ฟ้องจำเลยผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วง โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดจากสัญญาทำให้ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้เบิกหรือถอนเงินตามที่ปรากฏรายการในบัญชีกระแสรายวันโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตกลง สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยมิได้เดินสะพัดทางบัญชีอีกโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันดังกล่าวเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง 

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 559,121.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤษภาคม 2543) ต้องไม่เกินจำนวน 68,209.62 บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 795 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน 

           จำเลยอุทธรณ์ 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 387,779.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 17,000 บาท มาหักชำระด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

            จำเลยฎีกา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จำเลยฎีกาในปัญหาข้อแรกว่า การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยก่อนวันถึงกำหนดชำระตามข้อตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ก่อนถึงกำหนดมารวมเป็นต้นเงินและนำต้นเงินคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไปผิดจากข้อตกลงในสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ในปัญหาดังกล่าวจำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เห็นว่า คำให้การดังกล่าวของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไร และเพียงใด ทั้ง ๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว ดังนั้น คำให้การของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่ชัดแจ้งไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เมื่อจำเลยยังคงหยิบยกปัญหาดังกล่าวฎีกาขึ้นมาอีก ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ 

      ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ใช่อัตราร้อยละ15 ต่อปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับ เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ข้อ 2 จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับ และถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 7 คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จดังที่ระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ข้อ 2 ดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง หาใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ดังจำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" 

พิพากษายืน 

( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - สายันต์ สุรสมภพ - สมชาย จุลนิติ์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7080/2546 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

นางเกษมศรี อัครเวสสะพงษ์หรือศิลปวานิชย์ จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 856 

ป.วิ.พ. มาตรา 142 

       คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด โดยตกลงว่าจำเลยจะเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันโดยใช้เช็ค การที่โจทก์นำสืบว่า ยอดหนี้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเกิดจากจำเลยเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตของโจทก์แล้วจำเลยนำเซลส์สลิปที่ พ. ซื้อสินค้าจากจำเลยโดยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยและจำเลยใช้เช็คเบิกถอนเงินไปแล้ว ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินจาก พ. ไม่ได้ โจทก์จึงนำจำนวนเงินดังกล่าวมาหักออกจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยนั้น เป็นการนำสืบที่มาของหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์และจำเลยใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ โดยโจทก์ยังคงขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้อง มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ________________________________ 

      โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๒๓,๓๑๐.๕๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙.๗๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๒,๘๒๘.๗๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๒๓,๓๑๐.๕๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙.๗๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๒,๘๒๘.๗๗ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท 

       จำเลยอุทธรณ์ 

     ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑,๕๐๐ บาท 

      โจทก์ฎีกา

      ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัด ประเภทบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ โดยจำเลยใช้เช็คในการเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว และจำเลยเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตของโจทก์ ต่อมาจำเลยนำเซลส์สลิปของนางสาวพัชรินทร์ อภิชาติภุชงค์ ที่มาซื้อสินค้าของจำเลยโดยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์ได้นำเงินค่าซื้อสินค้าดังกล่าวเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์จึงนำเงินค่าสินค้าดังกล่าวมาหักทอนกับเงินในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวทำให้จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม ๒๓,๓๑๐.๕๑ บาท 

        มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นการวินิจฉัยนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ 

        เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่โจทก์นำสืบว่า ยอดหนี้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเกิดจากจำเลยเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตของโจทก์ แล้วจำเลยนำเซลส์สลิปที่นางสาวพัชรินทร์ อภิชาติภุชงค์ ซื้อสินค้าจากจำเลยโดยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยและจำเลยใช้เช็คเบิกถอนเงินไปแล้ว ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินจากนางสาวพัชรินทร์ไม่ได้ โจทก์จึงนำจำนวนเงินดังกล่าวมาหักออกจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยนั้น เป็นการนำสืบที่มาของหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์และจำเลยใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ โดยโจทก์ยังคงขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้อง มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จึงหาเป็นการวินิจฉัยนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย 

         พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

 ( วิศณุ เลื่อมสำราญ - สายันต์ สุรสมภพ - สมศักดิ์ เนตรมัย ) 

ศาลแขวงนนทบุรี - นายสมชาย เงารุ่งเรือง 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสมชัย เดชะอังกูร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2546 

ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทผู้บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ 

นายวรวิทย์ หิรัญจารุวงศ์ จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 224, 856, 859 

        คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีข้อตกลงว่า เป็นการเปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ถ้าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ตามปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าโจทก์ยอมผ่อนผันจ่ายไป จำเลยยอมรับผูกพันตนที่จ่ายเงินส่วนที่เกินคืนโจทก์เสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ การคิดดอกเบี้ยเงินส่วนที่เกินบัญชีดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เรียกเก็บได้ ซึ่งขณะทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราตามประกาศของธนาคาร โจทก์ได้ออกประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ประเภทต่าง ๆ และออกประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง โดยในกรณีของจำเลย เมื่อพิจารณาจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย บันทึกการคิดอัตราดอกเบี้ย และประกาศของโจทก์แล้วเห็นได้ว่า โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเดียวกับลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินและลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีวงเงิน ซึ่งโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าวโดยอาศัยข้อตกลงในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์จึงทำได้โดยชอบ ________________________________ 

       โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๒,๒๔๒.๘๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๘๔๕,๗๑๕.๘๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

         จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา 

        ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ 

       โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตามพระราชบัญญัติกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต 

         ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราตามฟ้องได้หรือไม่ คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ข้อ ๑๖ มีข้อตกลงเป็นสาระสำคัญว่า เป็นการเปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ถ้าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ตามปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าโจทก์ผ่อนผันจ่ายไป จำเลยย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนโจทก์ เสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ การคิดดอกเบี้ยเงินส่วนที่เกินบัญชีดังกล่าวมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ ๑๖ ด้วยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เรียกเก็บได้ ซึ่งขณะทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราตามประกาศของธนาคาร โจทก์ได้ออกประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ประเภทต่างๆ และได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งภายใต้ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในกรณีของจำเลยเมื่อพิจารณาจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย บันทึกการคิดอัตราดอกเบี้ยและประกาศของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่า โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเดียวกับลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินและลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีวงเงิน ซึ่งโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าวโดยอาศัยข้อตกลงในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์จึงทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

         พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๒,๒๔๒.๘๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๘๔๕,๗๑๕.๘๗ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

( สายันต์ สุรสมภพ - สมศักดิ์ เนตรมัย - เรวัตร อิศราภรณ์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2546 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน โจทก์ 

นายสุนทร ครุประทีป จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 801, 856 

ป.วิ.พ. มาตรา 90, 144, 148, 172 

         หนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจง ทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคล แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจฟ้องจำเลยมาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินรวม 1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมากแต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้ในคดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีคำนวณไม่ถูกต้องจึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีที่สองในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งคดีทั้งสองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งคดีนี้โจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีก่อนแล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ ________________________________ 

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยในวงเงิน 300,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อัตราดอกเบี้ยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่มีประกาศกำหนด หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์คำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นคราว ๆ ไป และยอมให้ดอกเบี้ยนั้นกลายเป็นต้นเงินที่จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่ากันและมีกำหนดชำระอย่างเดียวกันจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นต่อมาจำเลยขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวน 1,200,000 บาท รวมเป็นวงเงินจำนวน 1,500,000 บาท จำเลยนำที่ดินเลขที่ 1413 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน หลังจากวันทำสัญญาจำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชี แต่ระยะหลังบัญชีเดินสะพัดของจำเลยแสดงยอดเป็นลูกหนี้โจทก์เรื่อยมา ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มายื่นฟ้องใหม่ โจทก์ได้คำนวณหนี้ของจำเลยใหม่ตามหลักเกณฑ์ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 2,198,173.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,877,571.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1413, 1879 และ 1884 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทุกแปลง รวมตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน 

          จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับมูลหนี้เดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นจนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงนำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก โดยใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิม จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องอย่างรวบรัด โดยนับแต่วันกู้เบิกเงินเกินบัญชีจนถึงวันฟ้องซึ่งในแต่ละช่วงจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน จำเลยไม่มีทางทราบได้ว่ารวมแล้วมียอดหนี้แต่ละเดือนจำนวนเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ยังเป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,198,173.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,877,571.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดิน น.ส.3ก. เลขที่ 1413, 1879 และ 1884 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ 

           จำเลยอุทธรณ์ 

           ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน 

           จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์เคยใช้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 577/2540 ของศาลชั้นต้นมาแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้ฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าเดิมนายโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายยิ่งศักดิ์ตันตินุชวงศ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนโจทก์ในการบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ทวงถามทรัพย์สิน บอกกล่าวให้ไถ่ถอนจำนอง ฟ้องคดีแพ่ง คดีล้มละลายตั้งทนายความและผู้รับมอบอำนาจช่วงเพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดหรือบางส่วนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ต่อมานายยิ่งศักดิ์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายยุทธนา รักษีกาญจน์ส่อง ให้มีอำนาจเรียกร้องทวงถามรับชำระหนี้ แจ้งความร้องทุกข์ฟ้องคดีแพ่ง บังคับจำนองหรือจำนำ ต่อสู้คดีในศาลฟ้องคดีล้มละลาย ฯลฯ และผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจตั้งทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงได้อีกช่วงหนึ่งด้วยดังปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด เมื่อโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ถูกต้องตามที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข) ท้ายประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคลดังนั้น แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 577/2540 ของศาลชั้นต้น มาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจให้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

      จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีรายละเอียดของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือน และไม่มียอดสรุปว่าแต่ละเดือนจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใด จำเลยย่อมไม่อาจทราบยอดหนี้ของแต่ละเดือนได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากที่จำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แล้ว จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ได้วงเงินรวม 1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมาก แต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม 

       จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้เงิน กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ถูกต้อง และศาลไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้องให้โจทก์ แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องคำนวณยอดหนี้มาให้ถูกต้อง จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 

     ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 ศาลยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 ศาลยกฟ้องโดยอ้างว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งโจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 แล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

        จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาแผ่นบัญชีเดินสะพัดและแผ่นบัญชีหนี้เกินกำหนดชำระ ตามบัญชีพยานโจทก์ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 อันดับที่ 17 ต่อมาคือเอกสารหมาย จ.15 ให้แก่จำเลย จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดมีจำนวนหลายฉบับ โจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 ต่อศาลว่า เอกสารดังกล่าวซึ่งรวมถึงเอกสารอันดับที่ 16 และ 18 มีลักษณะเป็นชุดซึ่งคู่ความทราบดีอยู่แล้วถึงความมีอยู่จริง และมีจำนวนมาก หากคัดสำเนาจะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้า โจทก์จึงของดส่งสำเนาเอกสารให้แก่คู่ความ โดยขอส่งเอกสารต่อศาลเพื่อให้คู่ความตรวจดูภายในเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า อนุญาตเอกสารแยกเก็บ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารที่เป็นชุดให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว โจทก์ย่อมสามารถนำสืบเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน และศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งปรากฏว่านับแต่วันที่โจทก์ส่งเอกสารต่อศาลวันที่ 11 พฤศจิกายน2541 จนถึงวันสืบพยานโจทก์ วันที่ 25 มีนาคม 2542 เป็นเวลา 4 เดือนเศษ จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบเอกสารของโจทก์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน การที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลย จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือเสียโอกาสในทางคดีแต่อย่างใด การที่ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าว ประกอบกับพยานบุคคลและพยานเอกสารอื่นฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น" 

พิพากษายืน 

( วิรัช ลิ้มวิชัย - ไพศาล เจริญวุฒิ - ศิริชัย สวัสดิ์มงคล )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2546 

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน โจทก์

นายจักร์รบ โชติดำรงค์ จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 856 

ป.วิ.พ. มาตรา 131(2), 148(3), 183 

       คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) เป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131(2) ได้ โดยคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้นมีประเด็นเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเพียงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงทำให้ไม่ทราบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว ________________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 และวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีกเป็นเงิน 1,500,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 โดยจำเลยตกลงใช้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 000-6-07676-3 และตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ และให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ไว้แก่โจทก์วงเงิน 500,000 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 19 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ในวงเงิน 1,500,000 บาท และวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2800, 2801 และ 2802 ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบจังหวัดตราด ในวงเงิน 1,200,000 บาท โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจนครบ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้นวงเงินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อีกเป็นเงิน 100,000 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 19 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อีกเป็นเงิน 200,000 บาทต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ลดวงเงินจำนวน 2,300,000 บาท คงเหลือยอดหนี้จำนวน 1,200,000 บาท โดยจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 19 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ดังกล่าว วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ออกไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 และยืนยันว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันดังกล่าวทั้งสิ้น 329,165.91 บาท จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา ต่อมาเมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันครบกำหนดบอกกล่าววันที่ 17 กันยายน 2540 จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,705,054.28 บาท หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจากต้นเงิน 1,690,878.69 บาท อัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2540เป็นเวลา 1 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 833.88 บาท และ อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19กันยายน 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 127,371.81 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,833,259.95 บาท (ที่ถูก 1,833,259.97 บาท) ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน1,833,259.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,690,878.69บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ 

         จำเลยให้การว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงเพียงวันที่ 20 กรกฎาคม 2537ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา แม้หากศาลฟังว่าจำเลยต่ออายุสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 17 กันยายน2540 ยอดเงินตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริงและไม่ถูกต้องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมาเป็นเบี้ยปรับไม่น่าจะเกินร้อยละ 9 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ 

         จำเลยอุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

         จำเลยฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นจะไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ก็ไม่ควรที่จะวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีทั้งหมดแล้ว เท่ากับเป็นการชี้ข้อบกพร่องของพยานหลักฐานของโจทก์ จึงทำให้จำเลยเสียเปรียบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) บัญญัติเป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำในกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามบทบัญญัติของมาตรา 131(2) ได้ เฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้น มีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ยเพียงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นไปถึงว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ 

     การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดตามสัญญา คือวันที่ 20กรกฎาคม 2538 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ จนถึงวันดังกล่าวและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับถัดจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 รวม 3 แผ่น ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยาน มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เท่ากับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าในวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงินเท่าใดศาลชั้นต้นจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์ได้ กรณีเช่นนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บกพร่องไม่นำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีมาสืบหรือนำสืบได้ไม่ครบถ้วน หากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง ทำให้ไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่ประการใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" 

        พิพากษายืน

(สำรวจ อุดมทวี - วิชัย วิวิตเสวี - เกรียงชัย จึงจตุรพิธ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2546

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน โจทก์ 

ห้างหุ้นส่วนจำกัดธนกิจค้าไม้ก่อสร้าง กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 856, 859 

        สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว โจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก และโจทก์ก็มิได้บอกเลิกสัญญาถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2534 แล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัด คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1ค้างชำระในแต่ละเดือนทบเป็นต้นเงิน โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 ธันวาคม2534 แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 30 ธันวาคม2534 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้าย หาได้เลิกกันในวันที่ 30 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นซึ่งจำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ โจทก์จะสามารถนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 หักทอนบัญชีหักลบกลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตาม แต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับ เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่30 ธันวาคม 2534 และจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 มาหักโอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันที หลังจากนั้นหากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนอีกต่อไปไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือ อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น 
________________________________ 

   โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 830,542.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 816,845.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

          จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เดินบัญชีกับโจทก์อีก โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ไม่เกินวันที่ครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี หรือไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2536 ที่โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 อันเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ ตามระเบียบของโจทก์จะไม่ยอมให้ลูกค้ามีหนี้ค้างชำระเกินวงเงินหลักประกัน เมื่อโจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้แล้วจำเลยทั้งสองไม่มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง 

  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 551,095.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2536 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่27 มีนาคม 2537 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2537 อัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9มีนาคม 2539 และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

           จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

           จำเลยทั้งสองฎีกา 

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนและยอมให้โจทก์เพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระหนี้ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2534 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและมอบเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 312-213173-7 ของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1โดยยอมให้โจทก์หักเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้ได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้กับโจทก์หลายครั้งอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์เรื่อยมา วันที่ 30กันยายน 2536 โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,335,606.80 บาท ชำระหนี้โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย 

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือนครบกำหนดวันที่ 26 ตุลาคม 2534 แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายจ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 31 ตุลาคม 2534 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 และวันที่ 30ธันวาคม 2534 โจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีกและโจทก์ก็มิได้บอกเลิกสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีจำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2534 ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 30 ธันวาคม 2534 แล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีกเลย คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละเดือนทบเป็นต้นเงินเท่านั้นโดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,271,831.02 บาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 271,831.02 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นสุดของเดือนในวันและเวลาทำงานของธนาคาร สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้ายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ หาได้เลิกกันในวันที่ 30 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ต่อไป 

          ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินฝากประจำจำนวน 2,000,000 บาท เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเงินฝากจำนวนนี้ จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านของพยานโจทก์สองปากคือ นายวุฒิศิน สมอุ่นจารย์ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขามุกดาหารและเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายเมธา แสนโคตร เจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารโจทก์สาขามุกดาหารว่า ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีที่จำเลยที่ 2 นำมาฝากไว้เป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จะต่ำกว่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.4 ระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีดังกล่าวอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ซึ่งเมื่อคิดดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ทำหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2534 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเป็นเงินจำนวน 120,833.33 บาท ดังฎีกาของจำเลยทั้งสอง แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นเอกสารหมาย จ.6 จะแสดงว่าธนาคารโจทก์มีสิทธิและอำนาจจัดการแก่เงินฝาก กล่าวคือ สามารถนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 หักทอนบัญชีหักกลบลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตามแต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 และจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ชอบที่ใช้สิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 มาหักโอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันที หลังจากนั้นหากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น แต่โจทก์กลับเพิกเฉยและยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิตลอดมาทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 เป็นเวลา 22 เดือน แล้วจึงนำเงินฝากของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีจึงไม่ถูกต้อง ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 30 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,271,831.02 บาท เมื่อนำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 120,833.33 บาท หักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว ในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 จึงคงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้แก่โจทก์จำนวน 150,997.69 บาท ซึ่งหนี้เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งปรับเปลี่ยนอีกต่อไปไม่ได้คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 คืออัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน" 

      พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,997.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 30กันยายน 2536 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 

( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - สายันต์ สุรสมภพ - สมชาย จุลนิติ์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2545

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน โจทก์ 

นายโชคชัย สัจจเดว์ จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 193/30, 306, 856 ป.วิ.พ. มาตรา 4, 249, 242 

พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 185 

      ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยระบุตรงกันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 20/96 ถนนสุขุมวิท ซอยพร้อมมิตร แขวงคลองตันเหนือ เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ การที่จำเลยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้างเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธี

       พิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจึงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมด โดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 185 มิใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 จึงไม่ต้องทำหลักฐานการโอนหนี้เป็นหนังสือแม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กับโจทก์และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง 

     จำเลยเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อมาจำเลยทำความตกลงกับโจทก์เพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิต ตกลงให้ใช้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในการเรียกเก็บเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปด้วย ข้อตกลงและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาโดยมีการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างโจทก์และจำเลยหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลกิจการผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ออกทดรองไป เมื่อกฎหมายในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 และนำยอดเงินการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มาหักจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 เมื่อหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์2538 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยมิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ________________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ โดยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 040-3-02005-7 ในนาม "รามาคอลเลคชั่น" ไว้แก่โจทก์ที่สาขาซอยไชยยศ มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเงินในบัญชีเดินสะพัดด้วยการใช้เช็คหรือเอกสารอื่นของโจทก์เป็นหลักฐานแห่งการเบิกเงินและตัดทอนบัญชีเดินสะพัดต่อกันหากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แต่โจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนจำเลยยอมผูกพันตามยอดเงินที่โจทก์จ่ายไป และยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในยอดเงินดังกล่าวแก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืมได้ ในขณะทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้สูงสุดในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จำเลยบันทึกข้อตกลงกับโจทก์เพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตหลายชนิดที่ผู้ถือบัตรเครดิตนำมาใช้ซื้อสินค้าหรือบริการแทนการชำระเงินสด โดยจำเลยต้องตรวจดูความถูกต้องของบัตรเครดิตและราคาสินค้าหรือบริการแก่ผู้ถือบัตรเครดิตตามเงื่อนไขและวงเงินที่โจทก์กำหนดให้ ถ้าผู้ถือบัตรเครดิตต้องการซื้อสินค้าหรือบริการมากกว่าวงเงินที่กำหนด จำเลยต้องขออนุมัติจากโจทก์ก่อน ซึ่งจำเลยจะต้องบันทึกรหัสที่โจทก์อนุมัติเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรลงในหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิป และส่งให้โจทก์เรียกเก็บเงินให้แก่จำเลย โดยยอมให้โจทก์คิดค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยหรือนำเงินเข้าบัญชีจำเลยแล้วหากปรากฏในภายหลังว่าจำเลยปฏิบัติผิดไปจากข้อตกลงที่ระบุไว้หรือกรณีอื่นใดที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเซลสลิปได้จำเลยจะต้องคืนเงินที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บได้ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลย และยอมให้โจทก์หักเงินพร้อมดอกเบี้ยออกจากบัญชีของจำเลยได้ทันที หากเงินในบัญชีไม่มีหรือไม่พอชำระหนี้ให้ถือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นต้นไป จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีและเงินเข้าบัญชีดังกล่าว กับได้ส่งเซลสลิปมาขึ้นเงินสดกับโจทก์หลายครั้ง โจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีจำเลยทุกครั้ง ต่อมาโจทก์ได้ส่งเซลสลิปของจำเลยจำนวน 35 ฉบับ เป็นเงิน 1,223,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารที่ออกบัตรเครดิตของผู้ถือบัตร แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ โดยธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตแจ้งว่าบัตรเครดิตที่ใช้ซื้อสินค้าตามเซลสลิปดังกล่าวเป็นบัตรเครดิตปลอมและคืนเซลสลิปแก่โจทก์ โจทก์จึงหักเงินที่ได้จ่ายแก่จำเลยตามเซลสลิปดังกล่าวออกจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลย แต่เงินในบัญชีของจำเลยมีไม่เพียงพอ จึงถือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้น กับได้ทวงถามให้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยเพิกเฉย สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,891,172.85 บาท จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ไม่ทบต้นนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์2538 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 721,779.46 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,612,952.31 บาทขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,612,952.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,891,172.85 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ 

          จำเลยให้การว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำฟ้องเกิดขึ้นเมื่อปี 2534 ก่อนที่โจทก์จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับโอนสิทธิหน้าที่และความรับผิดของธนาคารโจทก์เดิมฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม และโจทก์เป็นผู้ค้ารับทำการงานแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี มูลหนี้ตามฟ้องเกิดขึ้นในปี 2534 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง 

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,109,308.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท 

            โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ 

       ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,801,066.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินจำนวน 340,061.74 บาท ออกให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท 

             จำเลยฎีกา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้หรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยระบุข้อเท็จจริงตรงกันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 20/96 ถนนสุขุมวิท ซอยพร้อมมิตรแขวงคลองตันเหนือ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ การที่จำเลยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้าง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย... 

        ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กับโจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจึงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2534 มาตรา 185 มิใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 จึงไม่ต้องทำหลักฐานการโอนหนี้เป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกา แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด กับโจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่มีว่า หลักฐานการใช้บัตรเครดิต แทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมหรือไม่ และบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดอันจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม2534 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 04-02005-7 ชื่อบัญชี"รามาคอลเลคชั่น" ที่ธนาคารโจทก์สาขาซอยไชยยศ เพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตตามเอกสารหมาย จ.6 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2536 จำเลยนำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ เป็นเงิน 1,223,000 บาท ส่งมอบต่อโจทก์เพื่อขอรับเงินสดจากโจทก์ โจทก์นำเงินเข้าบัญชีจำเลยแล้วแต่เรียกเก็บเงินจากผู้ออกบัตรเครดิตไม่ได้ โดยบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตปฏิเสธว่า หลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปดังกล่าวเป็นหลักฐานอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งโจทก์มีนายสุวิทย์ หมื่นเดชเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการบัตรเครดิต มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเครดิตเป็นพยานเบิกความว่า ตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปตัวอักษรซีวี มีขนาดใหญ่กว่า และมีลักษณะผิดจากตัวอักษรในบัตรมาตรฐานจำเลยไม่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับนั้น เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมประกอบกับตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตกำหนดให้เป็นหน้าที่ของร้านค้าต้องตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือบัตร เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทาง และประเทศที่ออกหนังสือเดินทางด้วย แต่จำเลยมิได้กระทำการดังกล่าว ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าการขายสินค้าของจำเลยเป็นการปฏิบัติไปตามปกติที่เคยกระทำมา และไม่ใช่ความผิดของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนข้อที่ว่าความรับผิดของจำเลยเป็นความรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ชื่อบัญชี รามาคอลเลคชั่น บัญชีเลขที่ 040-3-02005-7 ต่อมาจำเลยทำความตกลงกับโจทก์เพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิต ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 7 ตกลงให้ใช้บัญชีเดินสะพัดชื่อบัญชีรามาคอลเลคชั่น บัญชีเลขที่ 040-3-02005-7 ของจำเลยเป็นบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในการเรียกเก็บเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปด้วย ตามข้อตกลงข้อที่ 8 ถึงข้อที่ 10 กำหนดให้ใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด โดยยินยอมให้โจทก์หักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบหนี้กันได้ ตามวิธีและประเพณีปฏิบัติของธนาคารเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดหากจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่เงินในบัญชีไม่มีให้หักหรือมีแต่ไม่พอให้หักชำระหนี้ได้ครบจำนวน จำเลยยินยอมให้โจทก์นำหนี้ทั้งจำนวนนั้น หรือจำนวนที่คงเหลือหลังจากหักชำระแล้วนั้นลงจ่ายในบัญชีเพื่อให้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นของจำนวนเงินที่เป็นหนี้ตามประเพณีการคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดของธนาคารด้วยนับแต่วันที่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นต้นไป หลังจากมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ส่งหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.8 มาเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์คิดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บแล้วได้เอาเงินเข้าบัญชีของจำเลยตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.12 เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.12 ประกอบกันแล้ว จะเห็นได้ว่าหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปทั้งหมดเป็นรายการขายสินค้าระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 25 เมษายน 2536 ซึ่งโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ปรากฏยอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันดังกล่าวว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้ ในระหว่างนี้จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 29 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.7 ถอนเงินออกจากบัญชี ทำให้ปรากฏยอดเงินคงเหลือในบัญชีว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ ดังนี้เห็นได้ว่าข้อตกลงและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาโดยมีการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างโจทก์และจำเลยหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด 

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลกิจการผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ออกทดลองไปเมื่อกฎหมายในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 และนำยอดเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มาหักจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 เมื่อหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,801,066.67 บาทต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลยโดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น 

          อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,801,066.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงินจำนวน 340,061.75 บาท ออก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์3,000 บาท เท่านั้น มิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง เมื่อมีคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูกต้อง" 

           พิพากษายืน ให้จำลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์รวม 8,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

( สายันต์ สุรสมภพ - ไพศาล เจริญวุฒิ - สมศักดิ์ เนตรมัย ) 

หมายเหตุ 

        เรื่องเขตอำนาจศาลถือว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นก็ตาม และศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ด้วยตามมาตรา 142วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 246 แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ซึ่งเป็นการไม่ชอบ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้เพราะถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ามาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงน่าจะวินิจฉัยปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลให้ด้วย

 ไพโรจน์ วายุภาพ