สัญญาซื้อขาย

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย


มาตรา 454 การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไปและคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว


ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควรและบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้นก็ได้ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล


มาตรา 455 เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์


มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย


สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย


มาตรา 457 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2563

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) ซึ่งทางราชการได้ออกใบจองให้แก่ ส. ซึ่งทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่ ส. ส. เพียงแต่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด และต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก ดังนั้น แม้ ส. ได้ขายที่ดินพิพาทแก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจองให้ ป. ยึดถือ แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอน นิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับ ป. เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะ ที่ดินจึงยังคงเป็นของรัฐ แต่การที่ ส. ส่งมอบการครอบครองให้แก่ ป. แสดงว่า ส. สละเจตนาครอบครอง ไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แม้การซื้อที่ดินของ ป. จะไม่สามารถยกขึ้นอ้างต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน เมื่อ ป. ครอบครองและทำประโยชน์มาตลอดตั้งแต่ปี 2520 ที่ซื้อจาก ส. จากนั้นได้แบ่งแยกให้จำเลยทั้งสามและ ด. เข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อมา จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ซึ่งเป็นบุตรของ ส. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2562

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ท่าข้าว ก." สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2562

แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายห้องชุดของตนก่อนวันที่ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาคดีแพ่งเพียง 1 วัน แล้วยักย้ายถ่ายเทหรือย้ายไปเสียซึ่งเงินที่ได้จากการขายห้องชุดดังกล่าว เป็นการส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับโจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ มีผลให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน ดังนี้ ก็ไม่อาจมีการกระทำความผิดตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังที่โจทก์อ้างมาได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2562)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562

โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2562

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานรับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2562

เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าแฟรนไชส์ส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยส่งมอบเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะมือสองให้แก่โจทก์และไม่ส่งแผ่นพับและธงญี่ปุ่นให้โจทก์มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ และถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย แม้โจทก์และจำเลยยังคงมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลือจำนวน 175,000 บาท ให้แก่จำเลย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะของจำเลยเกิดการขัดข้องในการใช้งาน เนื่องจากมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับการเซ็ทระบบและภูมิอากาศในประเทศไทย โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่จำนวน 175,000 บาท ได้จนกว่าจำเลยจะแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะดังกล่าว หรือหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2562

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ท่าข้าว ก." สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2562

โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2561

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาททั้งสิบระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 3.2 ระบุว่า ในกรณีที่อาคารชุดยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีเนื้อที่ห้องชุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนที่ระบุในสัญญา คู่สัญญาตกลงคิดราคาห้องชุดตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามที่กำหนดในข้อ 3.1 และให้นำราคาห้องชุดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเพิ่มหรือลดลงจากราคาห้องชุดตามข้อ 3.1 และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามข้อ 4.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระบุไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 466 ไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ซื้อจะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับ ไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 466 มาใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ห้องชุดพิพาททั้งสิบมีเนื้อที่มากไปกว่าที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะบอกปัดไม่รับเสียหรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9990/2560

คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยและบริษัท ว. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกันก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากตารางการชำระเงินและใบเสร็จรับเงินว่า ภายหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยในฐานะผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์และชำระราคาห้องชุดพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่บริษัท ว. และบริษัท อ. ไปครบถ้วนแล้ว เช่นนี้จำเลยซึ่งได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้บริษัท อ. ในฐานะผู้จะขายจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทให้แก่ตนได้ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2


ส่วนที่จำเลยให้การและนำสืบรวมทั้งอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิในห้องชุดพิพาทได้ก่อนโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. โดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับมอบห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาทตลอดมา โจทก์ซึ่งเพิ่งมาซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. เมื่อปี 2554 จึงน่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าในห้องชุดพิพาทมีจำเลยพักอาศัยอยู่ การที่โจทก์ยังคงตกลงซื้อห้องชุดพิพาทโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความถึงสาเหตุที่จำเลยเข้าพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาท เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจยกเรื่องความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องขับไล่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559

การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559

คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่ พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2559

คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปใช้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบก็ดี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดผลว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เป็นการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โดยโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในเวลาอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ดังนี้ การจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 ยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของโจทก์ในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยก ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกมาปรับแก่คดีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยสุจริตมิได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440 - 3441/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ


สำหรับประเด็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่นั้น ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลใดที่ต้องร่วมกันกับโจทก์แสดงเจตนาลวงในการทำนิติกรรมดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกว่า จะไม่ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น และจะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้ต่อเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าไถ่จำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนแล้วนั้น ก็เป็นเพียงคำมั่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวและกำหนดเวลาให้โจทก์ซื้อที่ดินคืน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตาม คำมั่นดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผลไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559

บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2559

ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า "การบริหารสินทรัพย์หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" และกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิเดิมซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกัน จึงเป็นการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับซื้อหรือรับโอนหนี้สินด้อยคุณภาพจากผู้ขอสวมสิทธิเดิม โดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โดยชอบ หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559

ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558

ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า "บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น" แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558

การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10258/2558

โจทก์เพียงต้องการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทจึงลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความให้ อ. นำไปจำนอง จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเป็นขาย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเป็นว่าโจทก์ขายแก่จำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์และ อ. ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนซื้อขาย ไม่รู้เห็นยินยอมให้ขายและไม่ได้รับเงินค่าขายแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสีย จริงอยู่แม้การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 รู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นผู้ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายคือที่ดินและบ้านที่ ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 ชี้ให้ดู อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการซื้อขาย ไม่ได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทเนื่องจากถูก ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จำเลยที่ 2 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสียเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนอันอาจได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวเอาจาก ธ. ก. และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9477/2558

แม้หนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีคำชี้ขาดนี้จะเป็นหนี้เงิน ซึ่งกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ผิดนัด แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ต้องเป็นไปตามข้อเรียกร้อง และคำขอที่ให้ชี้ขาดในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องมิได้มีคำขอดอกเบี้ยหลังวันชี้ขาดด้วย และอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดดอกเบี้ยเฉพาะตามที่ขอ เมื่อผู้ร้องมาขอบังคับตามคำชี้ขาด ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีคำขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาท้ายคำร้อง ก็เป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดที่กำหนดสถานะความรับผิดของผู้คัดค้านจากการผิดสัญญาซื้อขายไว้โดยเฉพาะแล้ว และตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9383/2558

การส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ห่างกันโดยระยะทางต้องมีการขนส่งจากต้นทางมายังปลายทางโดยใช้บริการของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโดยลักษณะการขนส่งประเภทนี้จะต้องมีการใช้ท่าเรือหรือท่าเทียบเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือเดินทะเลตามแต่ลักษณะทางกายภาพของสินค้า มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบและรับมอบสินค้ากันให้เสร็จสิ้นตามสัญญาซื้อขายได้ และในขณะเดียวกันการที่สินค้าได้รับการขนส่งจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ยังเกี่ยวพันกับกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากผู้นำเข้าสินค้านั้นมาถึงปลายทาง การที่เรือเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือที่โจทก์เป็นผู้บริหารและให้บริการ โดยมีการจัดเตรียมอาคารสถานที่ พื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไว้รองรับตั้งแต่การเข้าเทียบท่าของเรือ การบรรทุก การขนถ่าย การเคลื่อนย้ายสินค้ามายัง ไปจาก ขึ้น หรือลงจากเรือเดินทะเล จึงเป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อให้การดำเนินการส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ต่อเนื่องจากการบริการของเรือเดินทะเลตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศให้ดำเนินไปและเสร็จสิ้นลงได้ และขณะเดียวกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของตน โดยที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายเป็น CIF Bangkok ผู้ขายจึงมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและชำระค่าระวางล่วงหน้า ดังนั้นจากข้อตกลงและพฤติการณ์ในทางปฏิบัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า การที่เรือที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งได้บรรทุกสินค้ามาส่งมอบขึ้นที่ท่าเรือที่โจทก์ให้บริการ เป็นการนำมาส่งมอบไว้แก่โจทก์เพื่อให้จำเลยในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายหรือผู้นำเข้าตามความหมายของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มารับการส่งมอบไปจากโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณา ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 41 และมาตรา 10 ทวิ แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ทราบล่วงหน้าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับมอบสินค้า และเมื่อจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยนำเอกสารเกี่ยวกับการรับสินค้ามาติดต่อขอรับสินค้าจากโจทก์พร้อมชำระค่าภาระต่าง ๆ แล้วเท่านั้น โจทก์จึงจะส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนสินค้าแก่ผู้ใดก็จะคืนให้แก่ผู้นั้น พร้อมกันนั้นผู้นั้นก็จะต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ แก่โจทก์ด้วย มิฉะนั้นโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าเหล่านั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระภาระต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 670 อันสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 61 และ 63 ซึ่งหมายถึงเมื่อของที่นำเข้ามากลายเป็นของตกค้างเพราะเหตุที่ไม่มีผู้ติดต่อขอรับและเสียค่าภาษี อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้จัดการกับของนั้นได้ เมื่อคำนึงถึงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ผู้ซื้ออาจมีเหตุที่จะปฏิเสธการรับมอบสินค้าได้แล้ว ที่จำเลยยังมิได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อขอรับสินค้าที่โจทก์เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแลจากอารักขาของศุลกากร จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระการให้บริการท่าเรือตามที่โจทก์เรียกร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558

ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง น. ตามคำสั่งศาลจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดก ซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2558

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเป็นนิติกรรมที่คู่สัญญามีอิสระในการแสดงเจตนาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 แต่การแสดงเจตนาดังกล่าวต้องไม่ฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอื่นเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 457 บัญญัติเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายเท่านั้นที่คู่สัญญาพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย หาได้บัญญัติถึงค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ด้วย ประกอบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นฤชากรที่เรียกเก็บจากจำเลยซึ่งเป็นผู้มีรายได้จากการขาย ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เป็นภาระภาษีซึ่งจำเลยในฐานะผู้มีรายได้จากการขายมีหน้าที่ต้องชำระต่อหน่วยงานของรัฐ ข้อตกลง ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการที่จำเลยผู้จะขายทำข้อตกลงผลักภาระดังกล่าวไปเป็นของโจทก์ผู้จะซื้อย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อบ้านและที่ดินโครงการของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขาย จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 8 (4) ที่บัญญัติว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางมีอำนาจกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร เพื่อให้ผู้ขอใบอนุญาตทำการจัดสรรที่ดินใช้ในการประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.นี้และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรระหว่างผู้จัดสรรที่ดินกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด เมื่อก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้ประกาศกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรว่า กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ให้ใช้ตามแบบ ข ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้จะขายเป็นผู้ออกทั้งสิ้น จำเลยจึงต้องใช้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามแบบมาตรฐานดังกล่าว ประกอบกับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายออกชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะส่วนดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยไม่อาจอ้างหลักอิสระในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาในการเกี่ยงให้โจทก์ผู้จะซื้อรับภาระเป็นผู้ชำระเงินภาษีอากรแทนได้ แม้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายมีหน้าที่ต้องรับภาระในการชำระเงินค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และโจทก์เป็นฝ่ายออกชำระเงินดังกล่าวแทนจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญาอันทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวเนื่องจากมีข้อกำหนดในสัญญาและโจทก์ได้ชำระในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ หาถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จึงไม่อาจนำอายุความในมูลลาภมิควรได้มาใช้บังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2558

ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้น ไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา..." ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยคดีนี้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2558

โจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตตามคำสั่งศาลเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ย่อมมีอำนาจดำเนินการใดๆ ในชั้นบังคับคดี รวมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองใหม่ได้ คดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดระหว่างที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ การที่ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินค่าซื้อทรัพย์เพิ่มอีกร้อยละ 5.5 และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลืออีกครั้งระหว่างการไต่สวนคำร้องขอของโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินไปจนกว่าคดีที่โจทก์ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจะถึงที่สุด อันเป็นไปตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สิน ข้อ 14 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์จะได้รับเงินคืนและผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดหรือสาขา แล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้คืนเงินให้ผู้ซื้อ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อโดยเหลือไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อขาย หากศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ซื้อชำระราคาส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยคำสั่งนี้สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ข้อ 85 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมบังคับคดีขยายกำหนดเวลาชำระเงินได้ตามที่เห็นสมควร หากทรัพย์ที่ขายมีราคาสูงมากหรือมีเหตุผลพิเศษประการอื่น คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175 - 6177/2558

โจทก์ทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน ต้องห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่น ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 จึงหาอาจเรียกคืนได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558

การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558

เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่ การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2557

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อตกลงว่า หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อจะดำเนินการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องไปขอสินเชื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย สถาบันการเงินหรือธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา หากสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่ให้กู้ สัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารถึงสองธนาคาร แต่ธนาคารทั้งสองแห่งไม่อนุมัติ เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นผล สัญญาไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดช่วงเวลาหรือจำนวนสถาบันการเงินหรือธนาคารที่โจทก์จะดำเนินการขอสินเชื่อ โจทก์จึงยังอาจดำเนินการขอสินเชื่อได้อีก ไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย แต่ก็ไม่แน่นอนว่าการดำเนินการขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคารใดหรือไม่ เมื่อไร ทั้งการดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารมาสองแห่งแล้ว ถือว่าโจทก์ขวนขวายดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาตามสมควรแล้ว กรณีมิใช่ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของคู่สัญญา เมื่อโจทก์พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วแต่ไม่สำเร็จไม่สามารถนำเงินมาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้ จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ผิดนัดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2557

ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายเป็นข้อตกลงกำหนดล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายยางธรรมชาติ จำนวนโดยประมาณ มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้ว และจำเลยต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด อันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนกัน จำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางให้แก่โจทก์ แสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ


คำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยมิชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2553

ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 อีก การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะต้องการที่ดินพิพาทโดยไม่รู้มา ก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามโอนไว้ กรณีดังกล่าวไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดย รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหรือกระทำการชำระหนี้อันเป็นการ ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ค่าที่ดินที่ได้ชำระมาแล้วให้แก่โจทก์


โจทก์อ้างหนังสือสัญญาซื้อขายเพื่อแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลว่าได้มีการทำสัญญา ซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2553

สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาเบื้องต้น การทำสัญญาซื้อขายต่อมาภายหลังก็เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ในสัญญาจะซื้อ จะขายให้มีผลสมบูรณ์ เว้นแต่สัญญาซื้อขายจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาจะ ซื้อจะขาย ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย มีผลผูกพันคู่สัญญาดังเช่นสัญญาซื้อขาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553

ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า โครงการคิดถึงคอนโดมิเนียม เป็นอาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา จึงเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา ส่วนที่จอดรถของอาคารชุดไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่าจะมีที่ จอดรถได้กี่คันและตามแผ่นพิมพ์โฆษณาอาคารชุดก็ไม่ได้ระบุจำนวนรถยนต์ที่จะ จอดได้ไว้เช่นเดียวกัน ที่จอดรถจำนวน 17 คัน คงปรากฏอยู่ในคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นต่อเทศบาลตำบลแสนสุขเท่านั้น ความจริงอาคารชุดมีที่จอดรถได้เพียง 6 คัน จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้ต่อเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้ดำเนินคดีในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นหรือโฆษณาที่ให้ไว้แก่ผู้จะซื้อ อีกทั้งอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับของการจัดบริเวณที่จอดรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2517) จะถือว่าโจทก์และ ด. สำคัญผิดในข้อนี้ไม่ได้


การผิดเงื่อนไขในเนื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นไปตาม สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่เป็นสาระสำคัญแห่งการทำสัญญาจะซื้อจะขายอันจะ เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ที่ดิน ห้องชุดจึงเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย การผิดเงื่อนไขในจำนวนเนื้อที่ดินจึงเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของ อาคารชุดอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งจะต้องบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือภายในเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552

จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน


เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนด ที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้ บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่ง ป.พ.พ. ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2552

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองกับธนาคาร ถ้าโจทก์ไถ่ถอนจำนองเมื่อไรจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทันที สัญญาซื้อขายฉบับนี้จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ...หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วน แล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายนี้ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความว่าโจทก์ รับราคาดังกล่าวไปจากจำเลยเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2541 การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงแล้วโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเพียง 90,000 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยไปชำระต่อธนาคาร พ. เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2551

น. ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริม ทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550

จำเลย ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2550

การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ม. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อ ม. ส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองมาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย ม. ย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อ ม. ออกจากโฉนดที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7422 - 7426/2549

น. ได้แบ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าเป็นบางส่วนที่ผู้ร้องแต่ละคนครอบครองอยู่พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินให้ผู้ร้องแต่ละคนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ โดย น. สัญญาว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องแต่ละคนในภายหลังตามเนื้อที่ที่ผู้ร้องแต่ละคนซื้อ แต่ น. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โดยยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่ผู้ร้องแต่ละคน แสดงว่า น. ผู้ขายที่ดินพิพาท และผู้ร้องทั้งห้า ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่างมีเจตนาจะไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อขายกันเฉพาะส่วนได้กระทำสำเร็จแล้ว การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับผู้ร้องทั้งห้า จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนที่แต่ละคนครอบครองอยู่ จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของ น. ตามสัญญาจะซื้อจะขาย อันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทน น. มิใช่การยึดถือในฐานะเจ้าของ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยัง น. ว่าไม่เจตนายึดถือที่ดินพิพาทแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7183/2549จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ สัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นนิติกรรมนอกวัตถุประสงค์ของโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว และโจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


สัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ ปรส. ระหว่างโจทก์กับ ปรส. เกิดขึ้นจากการที่ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 7 (3) ให้อำนาจ ปรส. มีอำนาจชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งในคดีนี้คือ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม.ซี.ซี. จำกัด (มหาชน) เพราะบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ และพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ยังให้อำนาจ ปรส. มีอำนาจขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวได้อีกโดยเปิดประมูลอย่างเปิดเผย เมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อสินทรัพย์และสินเชื่อซึ่งมีจำเลยเป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ การซื้อขายของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นไปตามที่ พ.ร.ก.การปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 กำหนด สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขายความกัน และมิได้เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6315/2549

ป.พ.พ. มาตรา 457 ใช้บังคับแก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ต้องชำระตาม ป.ที่ดินนั้น เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎร ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 104 บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายและมีลักษณะเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าในระหว่างผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วยกันนั้นฝ่ายใดตกลงเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนชำระค่าธรรมเนียมที่ขาดอยู่ทั้งหมดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6289/2549

จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้กำหนดวันที่คู่สัญญาจะไปจดทะเบียนโอนกันไว้ จึงไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขาย แม้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม แต่ปัญหาว่าหนังสือสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจะบังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ได้หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ


ข้อความในหนังสือสัญญาซื้อขาย แม้จะระบุว่าผู้ขายได้รับชำระค่ามัดจำเป็นเงินจำนวนหนึ่งและยอมให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือภายใน 1 ปี พร้อมกับการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าหากผู้ซื้อชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายจะไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังต่อไป หนังสือสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจนำหนังสือสัญญาซื้อขายมาฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549

อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2549

สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกแก่ผู้ซื้อต่อเมื่อชำระราคาเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนแล้วจึงถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ซึ่งกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ จนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วน ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์ในภายหน้ากันนั้น ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติการเป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว ผู้ขายจึงไม่จำต้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอยู่ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาให้แก่โจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549

คดีล้มละลายเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องซ้อน

ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2549

จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โดยสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อ 2 ระบุว่า "ผู้ซื้อสัญญาว่า ถ้าเลิกกิจการเลื่อยไม้ หรือโอนกิจการให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือผู้ซื้อไม่ทำประโยชน์กับที่ดินผืนนี้แล้ว ผู้ซื้อยินยอมขายคืนให้แก่ผู้ขายในราคาตามข้อ 1 นอกจากผู้ขายตกลงไม่ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร" จึงเป็นคำมั่นของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกกิจการโรงเลื่อยหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น หรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท คำมั่นดังกล่าวเป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งกฎหมายบังคับว่า ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วน จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง กฎหมายหาได้บังคับว่าคำมั่นเช่นว่านี้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่อย่างใดไม่ เมื่อคำมั่นดังกล่าวทำเป็นหนังสือและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับประทับตราจำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2548

หากผู้ซื้อและผู้ขายมิได้ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ดินกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องออกค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 457 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขาย ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ โดยตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าให้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวคนละครึ่ง โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมตามฟ้องไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2548

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเองเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ โจทก์ไม่อาจบังคับผู้อื่นนอกจากคู่สัญญาได้ จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอยู่ก่อนโดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า อ. ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาท มิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์การครอบครองของ อ. จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์นั้น มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่วินิจฉัยมาแต่อย่างใด เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง จึงต้องทำตามแบบตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548

การที่ ณ. ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวมีเงื่อนไขระบุไว้ว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นยังมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 ยังไม่ระงับสิ้นไป ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้ว และไม่เป็นกรณีที่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป. รัษฎากรฯ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของสหกรณ์จำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2548

โจทก์เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ซื้อจากจำเลย ส่วนบริษัท ส. ซึ่งจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นลูกหนี้ค่าปรับปรุงพัฒนาที่ดินกับบริษัท ว. บริษัท รก. และบริษัท รพ. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จำเลยตกลงกันให้นำเงินที่บริษัท ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้บริษัท ว. กับพวกมาหักชำระเป็นค่าหุ้นที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย กรณีเช่นนี้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำหนี้ที่ได้ตกลงไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าหุ้นที่จำเลยรับชำระไปแล้วคืนเนื่องจากสัญญาซื้อขายหุ้นเลิกกัน หาใช่เป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายหุ้นไม่ กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2548

หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่บ้านดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินราชพัสดุซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ฉะนั้น จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินและบ้านที่ปลูกสร้างอยู่เท่านั้น เมื่อจำเลยทำสัญญาขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์ และส่งมอบการครอบครองที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์โดยรับค่าตอบแทนจากโจทก์ไป จึงฟังได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยโอนการครอบครองให้แก่โจทก์ไปแล้วตามมาตรา 1377 และมาตรา 1378 ทั้งจำเลยยังยอมรับสิทธิของโจทก์โดยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ไว้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยยึดถือครอบครองที่ดินและบ้านแทนโจทก์ เมื่อจำเลยผิดสัญญาเช่าและโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านอีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2547

โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงให้แก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และทำบันทึกต่อท้ายสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงว่า หากจำเลยได้ขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว จำเลยจะแบ่งผลประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ เป็นกรณีที่เห็นได้ว่าค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้น น้อยเกินไป แต่ขณะเดียวกันจำเลยผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นก็ไม่ต้องการจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่านี้ในขณะทำสัญญา จึงเลือกให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าวในอนาคต ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยตกลงทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นอันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยเจตนาลวงของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยซึ่งมีเจตนาจะอำพรางสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง แต่เป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกต่อไป แต่คงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2547

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าให้จำเลยและโจทก์ตกลงรับจะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าให้ เมื่อทำการโฆษณาแล้วจำเลยตกลงจะชำระเงินค่าโฆษณาให้แก่โจทก์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่จำเลย และจำเลยตกลงจะใช้ราคานั้น ไม่เข้าลักษณะสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยซื้อขาย แต่เป็นเรื่องโจทก์ผู้รับจ้างตกลงจะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าจนสำเร็จให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง และจำเลยตกลงจะชำระเงินค่าโฆษณาหรือสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น อันเข้าลักษณะของการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2547

โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและเป็นผู้ครอบครองที่ดิน จำเลยไม่ยอมโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ถึงแม้ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะก็ตาม แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อจำเลยส่งมอบการครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


กำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน คดีจึงไม่มีประเด็นปัญหาการแย่งการครอบครองอันจะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2546

การโอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรายของจำเลยที่ถูกโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ผู้รับโอน เมื่อผู้รับโอนได้มอบอำนาจให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าว การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็น ลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จึงมีสิทธิยื่นคำร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2546

โจทก์และจำเลยเคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากที่ดินส่วนของโจทก์ขาดหายไปประมาณ 30ตารางวา โจทก์ต้องการที่ดินส่วนของโจทก์ 100 ตารางวา แต่จำเลยไม่ยินยอม ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินโดยให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นจำนวนเนื้อที่แน่นอนคือ 100 ตารางวา เมื่อโจทก์จำเลยขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์โดยแยกที่ดินส่วนของตนเองออกมา ปรากฏว่าที่ดินทั้งแปลงขาดหายไป 30 ตารางวา จำเลยจะเอาเนื้อที่ที่อ้างว่าขาดหายไปมาหักจากเนื้อที่ดินทั้งแปลงแล้วแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในโฉนดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวน 100 ตารางวา ตามที่ซื้อขายจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2546

ตามสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 320,000 บาทได้รับเงินมัดจำไว้ 170,000 บาท ส่วนที่เหลือ 150,000 บาท จะชำระในวันที่ 29มกราคม 2541 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีการแบ่งชำระราคาซื้อขายเป็น 2 งวดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 มิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ผู้คัดค้านจึงมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

Read more

นิรโทษกรรม

มาตรา 449 บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดีกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

มาตรา 450 ถ้าบุคคลทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย
ถ้าบุคคลทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉินผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น
ถ้าบุคคลทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุบุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

มาตรา 451 บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหนี้ที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้และถ้ามิได้ทำในทันใดมีภัยอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดั่งสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมากหรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
การใช้กำลังดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าต้องจำกัดครัดเคร่งแต่เฉพาะที่จำเป็นเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายเท่านั้น
ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำการดั่งกล่าวมาในวรรคต้นเพราะหลงสันนิษฐานพลาดไปว่ามีเหตุอันจำเป็นที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลอื่นแม้ทั้งการที่หลงพลาดไปนั้นจะมิใช่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน

มาตรา 452 ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้นและยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2538
คนร้ายเคยเจาะกำแพงอิฐบล็อกโรงงานของจำเลยแล้วลักเอาสิ่งของจากโรงงานไปคนงาน ของจำเลยจึงคิดวิธีป้องกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่ภยันตรายจะถึงโดยขึงเส้นลวดไว้ ที่ไม้สี่เหลี่ยมตั้งอยู่ที่พื้นปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ากับเส้นลวดวันเกิดเหตุ กำแพงอิฐบล๊อกโรงงานจำเลยถูกเจาะที่เดิมอีกผู้ตายเป็นผู้เจาะกำแพงอิฐบล๊อก แล้วมุดเข้าไปในโรงงานเพื่อลักทรัพย์ของจำเลยแต่ผู้ตายเหยียบแผ่นไม้สี่ เหลี่ยมที่มีกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นลวดจนถูกช็อตจนถึงแก่ความตายถือว่าจำเลยได้ กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยย่อมได้รับนิรโทษกรรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449ว รรค หนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2537
ผู้ต้องขังที่ก่อเหตุร้ายพาตัวประกันที่ถูกมัดไว้เป็นคู่ ๆ เดินออกมาโดยมีผู้ต้องขังคนหนึ่งถือลูกระเบิดมือพร้อมกับพูดขู่และชูลูก ระเบิดมือทำท่าจะขว้างมายังกองอำนวยการที่จำเลยที่ 2 กับพวกอยู่ห่างเพียง 4-5 เมตรจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงผู้ต้องขังดังกล่าวโดยก่อนมีคำสั่ง ได้ประชุมตกลงกันว่าให้ยิงได้ทีละนัดพร้อมทั้งกำหนด ให้เจ้าพนักงานแต่ละคนยิงผู้ต้องขังเป็นรายตัวไป มิใช่ว่า ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มผู้ก่อเหตุร้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของตัวประกันอย่างดีที่สุด และจำเป็นต้องสั่งการโดยฉับพลันเนื่องจากผู้ต้องขังชูลูกระเบิดมือทำท่าจะ ขว้างมายังจำเลยที่ 2 กับพวก การที่ลูกระเบิดมือของผู้ต้องขังเกิดระเบิดขึ้นและถูกตัวประกันถึงแก่ความ ตาย ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 17(1)(3),21เจ้าพนักงานเรือนจำไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของตนทั้งทาง แพ่งหรือทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำไปโดยสุจริตและการกระทำนั้นเป็นไปตาม เงื่อนไขที่ระบุไว้ในหมวด 4 ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นผู้ต้องขังหรือบุคคลอื่นก็ตาม ฉะนั้นแม้ตัวประกันถึงแก่ความตายเพราะการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้งสิบก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2537
โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นผู้ประกอบกิจการค้าภาพยนตร์ด้วยกันก่อนโจทก์ได้ลิขสิทธิ์การฉาย ภาพยนตร์พิพาท จำเลยที่ 1ได้โฆษณาแนะนำภาพยนตร์พิพาทมาก่อน ต่อมาเมื่อโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาท โจทก์โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันทำนองว่าโจทก์ทุ่มเงินซื้อภาพยนตร์พิพาททำ ให้จำเลยที่ 1 ช้ำใจ เสียหน้า เสียน้ำตาเมื่อโจทก์เริ่มทำการฉายภาพยนตร์พิพาทแล้วก็ยังมีการโฆษณาเป็น ทำนองทำลายชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 อยู่เรื่อย ๆ ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 1 ทำให้ได้รับความเสื่อมเสียการที่จำเลยที่ 1 ออกโฆษณาโต้ตอบเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นโดยตรง และเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันตนตามคลองธรรม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5807/2533
ที่นาจำเลยตั้งอยู่เหนือที่นาโจทก์ ปกติน้ำจะไหลจากที่นาโจทก์ระบายผ่านที่นาจำเลย การที่จำเลยปิดร่องน้ำในที่นาจำเลยเพื่อมิให้ดินไหลเข้ามาทำความเสียหายแก่ ต้นข้าวในที่นาของจำเลยเป็นการป้องกันความเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะก่อความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2521
รถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ น้องชายโจทก์เช่าไปขับรับจ้างชักลากไม้ให้บริษัทจำเลยที่ 3 โดยน้องชายโจทก์ได้เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากจำเลยที่ 3 แล้วยังชักลากไม้ให้ไม่ครบตามจำนวนเงินที่ขอเบิกล่วงหน้าไปต่อมาโจทก์ต้อง การใช้รถยนต์พิพาท จึงให้น้องชายโจทก์พาคนไปขับรถยนต์พิพาทไปเสียจากบริษัทจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ควบคุมรถยนต์บรรทุกไม้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ ได้ไปขอกำลังตำรวจติดตามไปยึดรถยนต์พิพาทไว้โดยคำนึงอยู่แต่อย่างเดียวว่า น้องชายโจทก์ยังติดค้างหนี้สินบริษัทจำเลยที่ 3 อยู่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในระหว่างที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของบริษัทจำเลย ที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายซึ่งเกิดจากผลของการละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 451 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ติดตามรถยนต์พิพาทไปกับจำเลยที่ 1 และแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจอีกท้องที่หนึ่งยึดรถยนต์พิพาทไว้ เมื่อปรากฏว่าได้กระทำไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยสุจริตใจจึงไม่ต้อง รับผิดเป็นส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3347/2516
ม้าตัวผู้ของโจทก์ตามเข้าไปสัดม้าตัวเมียของจำเลยที่ 1 ที่ใต้ถุนบ้านของจำเลยที่ 1 ม้าจำเลยที่ 1 ขัดขืนและเตะม้าโจทก์ซึ่งเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยินยอมด้วยถือได้ว่าเป็นภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน การที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้ไม้ตีม้าของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ขอร้อง นับว่าเป็นการกระทำโดยจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยควรจะใช้ไม้ตีเพียงเท่าที่จะไล่ม้าของโจทก์ออกไปจากเขตบ้านของ จำเลยที่ 1 เท่านั้นแต่จำเลยร่วมกันใช้ไม้ตีม้าของโจทก์บาดเจ็บจนถึงตาย จึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2513
โจทก์ก่อสร้างตึกเต็มเนื้อที่ดินของโจทก์ แล้วทำทางเท้าและคันหินบนทางเท้าล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดกัน โดยจำเลยตกลงยินยอมถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดิน อันเป็นทรัพยสิทธิ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์ ครั้นต่อมาจำเลยบอกกล่าวไม่ยินยอมให้มีทางเท้าและคันหินล้ำบนที่ดินของจำเลย อีกต่อไป โจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยได้แต่ทางเท้าและคันหินนั้น ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย

เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนทางเท้าและคันหินออกไปจากที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่ยอมรื้อถอน ก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิทางศาลไม่มีอำนาจเข้ารื้อถอนโดยพลการ เพราะไม่เข้าเกณฑ์แห่งบทบัญญัติว่าด้วยนิรโทษกรรม หากจัดการรื้อถอนเสียเอง ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617 - 1618/2500
จำเลยเป็นไวยาวัจกรของวัด ได้บอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งต้นไม้ที่ปลูกล้ำที่เช่าวัด ออกมา เพื่อทางวัดจะได้ขุดคูไปให้ทะลุคลอง ตามที่ได้ตกลงจ้างเขาไว้ โจทก์รับทราบและว่าจะจัดการแล้วต่อมาไม่จัดการ ประวิงเวลาไว้จนสัญญาที่ทางวัดจ้างผู้ขุดจะหมดจำเลยจึงได้เข้าจัดการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างและตัดต้นไม้ที่ล้ำนอกเขตเช่า โดยระมัดระวังพยายามให้เกิดการเสียหายน้อยที่สุด เพื่อขุดคลองแล้วนำไปกองไว้ให้โจทก์เช่นนี้ จำเลยยังไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพราะมิได้มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์แต่ จำเลยต้องรับผิดในการละเมิดที่ทำแก่ทรัพย์ของโจทก์ ไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลแพ่งมาตรา 451 นอกจากค่าเสียหายธรรมดาแล้วศาลยังคิดค่าเสียหายให้ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 446 อีกโสดหนึ่งด้วย
Read more