ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2554

ข้อ 1.

นางดาวเรืองเป็นเจ้าำของที่ดินโฉนดเลขที่ 131 และเลขที่ 132 ซึ่งมีเขตที่ดินติดต่อกัน เมื่อปี 2540 นายขาวเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 131 โดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตน และได้ปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 132 เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้ตนอยู่อาศัย และทำประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปี 2554 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมานางดาวเรืองถึงแก่ความตาย ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 131 ให้นายแก้ว และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 132 ให้นายขวัญ นายแก้วและนายขวัญได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินมาใส่ชื่อของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีก 5 เดือนต่อมา นายขาวทราบเรื่องจึงแจ้งให้นายแก้วและนายขวัญไปดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลง แต่ทั้งสองคนเพิกเฉยให้วินิจฉัยว่า นายขาวจะฟ้องขอให้นายแก้วและนายขวัญเพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 131 และเลขที่ 132 โดยอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วได้หรือไม่
 


ธงคำตอบ
 


นายขาวครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 131 ซึ่งเป็นที่ดินของนางดาวเรือง แม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนำเป็นเจ้าของ เมื่อเป็นการครอบครองมาตั้งแต่ปี 2540 ถึงปี 2554 โดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันมาเกิน 10 ปี นายขาวย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2641/2550 , 5596/2552) การที่นายแก้วจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินอันเป็นเวลาภายหลังที่นายขาวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกำรครอบครองปรปักษ์แล้ว นายแก้วจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่่าตอบแทนตามมาตรา 1299 วรรคสอง นายขาวผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ย่อมเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงฟ้องนายแก้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 131 ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามมาตรา 1300 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1886/2536)
 

นายขาวปลูกบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 132 ของนางดาวเรืองเพราะเข้ำใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้ตนอยู่อาศัย แสดงว่านายขาวครอบครองที่ดินโดยไม่ได้มีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ครอบครองติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 5352/2539) นายขาวจึงไม่เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 ย่อมไม่อาจขอให้นายขวัญเพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 132 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2550
การครอบครองที่ดินโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ก็ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ มิใช่นับแต่ที่จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นที่ดินของโจทก์เพราะถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552 
การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536 
จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2539
จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัยแสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้เจตนาเป็นเจ้าของแม้ครอบครองติดต่อกันนานเกินกว่า10ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดเวลาที่ยังอยู่ในที่ดินนั้นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนบ้านออกไปจึงไม่ขาดอายุความ



ข้อ 2. 
นายมั่นทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากนายคงในราคา 2,000,000 บาท สัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุว่ำ ในวันทำสัญญานายมั่นผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงินสด จำนวน 50,000 บำท และสั่งจ่ายเช็คอีกจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 1,900,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน เดือนละ 20,000 บำท โดยให้ถือเป็นเงินมัดจำด้วย งวดสุดท้ายเป็นเงิน 1,700,000 บำท จะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุไว้ ยอมให้ผู้จะขายริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมด และให้ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยมิต้องบอกกล่าว หลังจากทำสัญญานายมั่นได้ผ่อนชำระเงินเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน เป็นเงิน 200,000 บำท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอน นายมั่นผิดนัดไม่ไปรับโอนและไม่ชำระราคาที่เหลือ นายคงจึงบอกเลิกสัญญำและริบเงินทั้งหมด
ให้วินิจฉัยว่า นายคงมีสิทธิริบเงินจำนวน 250,000 บาท และเงินตามเช็คจำนวน 50,000 บาท ที่นายคงได้รับหรือไม่ เพียงใด


 

ธงคำตอบ

 
มัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น และมัดจำอาจเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเอง เมื่อเช็คเป็นทรัพย์สินและเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 747/2544) ดังนั้น เงินสดวางมัดจำไว้ในวันทำสัญญำจำนวน 50,000 บาท และเงินตามเช็คอีกจำนวน 50,000 บาท จึงเป็นมัดจำ เมื่อนายมั่นผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ นายคงมีสิทธิริบเงินมัดจำรวมจำนวน 100,000 บาท ได้ ตามมาตรา 378 (2)
 

ส่วนเงินค่างวดที่นายมั่นชำระไปเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาระบุให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่มัดจำตำมกฎหมำย แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อนายมั่นผิดสัญญา และนายคงบอกเลิกสัญญาแล้ว นายคงต้องใช้เงินดังกล่าวคืนแก่นายมั่นเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงในสัญญาที่ให้นายคงริบได้โดยไม่ต้องคืน จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงินตามมาตรา 379 ซึ่งนายคงมีสิทธิริบได้ทั้งหมด แต่หากศาลเห็นว่าเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 9514/2544 , 7122/2549) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2544
คำว่า มัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377มีความหมายว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญาซึ่งอาจจะเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเอง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้รับเงินจำนวน 1,788,000 บาท เพื่อเป็นการวางมัดจำไว้กับผู้จะขายโดยเงินมัดจำดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 3 ฉบับ และโจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 เพียง 1 ฉบับ เมื่อเช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินเมื่อทวงถามให้แก่ผู้รับเงินจึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้แม้เช็คลงวันที่หลังจากวันทำสัญญา เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9514/2544
แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้ สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 9 ระบุว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมด กับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แม้เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9 อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหากเป็นเงินครั้งละ 10,000บาท ก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อน จึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549
คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ข้อ 3.

นายเพชรขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์เก๋งของนายทองที่แล่นอยู่เสียหาย นายเพชรยอมรับผิดโดยให้นายทองนำรถยนต์ไปให้นายเพชรซ่อมที่อู่เคาะพ่นสีของนายเพชร นายทองจะไปทำงานต่างประเทศหลายปีจึงขำยรถยนต์คันดังกล่าวให้นายนาก และบอกนายนาก ว่าให้นำรถยนต์ไปซ่อมส่วนที่เสียหายซึ่งยังไม่ได้ซ่อมที่อู่ของนายเพชร นายนากชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ให้นายทองครบถ้วนและจดทะเบียนรับโอนรถยนต์มาเป็นของนายนากแล้วนายนากนำรถยนต์ไปให้นายเพชรซ่อมจนเสร็จ ต่อมานายนากตรวจพบว่าสีที่นายเพชรซ่อมไม่ตรงกับสีเดิม นายนากขอให้นายเพชรซ่อมสีให้ใหม่ นายเพชรไม่ยอม นายนากจึงปรึกษานายทอง นายทองให้นายนากนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่อื่น นายนากนำรถยนต์ไปซ่อมสีที่อู่อื่นเสียค่ำใช้จ่ายไป 20,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า นายนากมีสิทธิเรียกให้นายเพชรชำระเงิน 20,000 บาท แก่ตนได้หรือไม่


 

ธงคำตอบ
 


นายเพชรขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์เก๋งของนายทองที่แล่นอยู่เสียหาย เป็นการกระทำละเมิดจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นให้แก่นายทองตามประมวลกฎหมำยแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มูลแห่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เหนือบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสิทธิผูกพันระหว่างนายทองกับนายเพชร มิใช่ทรัพยสิทธิเหนือรถยนต์ที่จะโอนไปยังนายนากผู้ซื้อรถยนต์ การที่นายทองบอกนายนากให้นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ของนายเพชรตามที่นายเพชรยอมรับผิด มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องให้นายนากโดยทำสัญญาเป็นหนังสือตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง และการที่นายเพชรซ่อมรถยนต์ให้แก่นายทอง เป็นการชดใช้ค่ำสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันนายเพชรได้ก่อขึ้นตามมาตรา 438 วรรคสอง เมื่อนายนากพบว่าสีที่นายเพชรซ่อมไม่ตรงกับสีเดิม และนายนากขอให้นายเพชรซ่อมสีใหม่ นำยเพชรไม่ยอม จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้นั้น การที่นายนากนำรถยนต์ไปซ่อมสีใหม่ตามที่ได้ปรึกษากับนายทองและต้องเสียค่าใช้จ่ายไป 20,000 บาท เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การละเมิดนั้นตามมาตรา 213 ประกอบ มาตรา 438 ซึ่งยังเป็นสิทธิของนายทองอยู่ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ที่จะเป็นของนายนาก ดังนั้น นายนากจึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวจากนายเพชร


Read more