- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2566 จำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่ โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เช่นนี้ การกำหนดบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 ย่อมเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก คงมีอำนาจวินิจฉัยตามประเด็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) หรือไม่ หากศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นก็ปรับบทกำหนดโทษจำเลยตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าต้องปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษจำเลยอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) โดยมิได้อ้าง ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 หาได้ไม่ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดี ภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาในข้อที่ว่าที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2566 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม 4 คดี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นกักขังแทนทั้ง 4 คดี ตาม ป.อ. มาตรา 23 เมื่อโทษกักขังเป็นโทษที่ลงแทนโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ยังคงต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุดและอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก็มิใช่เหตุที่จะนำโทษกักขังจำเลยที่ 2 มานับต่อจากโทษในคดีอื่นไม่ได้ ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2566 สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยศาลตั้งให้ ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อจำเลยเป็นบุพการีของผู้ร้องและมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566 ตามบทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566 จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2566 บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโจทก์และผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้น กับมีจำเลยและผู้อื่นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ก่อนคดีนี้ บริษัท ย. โดยจำเลย ฟ้องบุคคลอื่นอ้างว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท ย. มีอำนาจเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในที่ดินพิพาทฝ่ายเดียวแล้วนำเงินที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายมาวางศาลทุกเดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จำเลยได้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันโดยมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกรวมถึง ฉ. เข้าทำประโยชน์แทนบริษัท ย. ดังนี้ แม้บริษัท ย. จะไม่ได้ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันเอง แต่ก็ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทน โดยบริษัท ย. ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายผลปาล์มน้ำมันที่จำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ย. ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมบัญชีรับ-จ่าย การที่ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทที่จำเลยมอบอำนาจให้ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันได้ ฟังได้ว่า จำเลยตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทแล้วไม่นำเงินที่ได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายไปวางต่อศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน แต่กลับนำไปใช้เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัท ย. ไม่มีรายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยหยุดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทในวันที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จำเลยจึงหยุดกระทำละเมิดในวันดังกล่าว และต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ย. ถึงวันดังกล่าวเท่านั้น การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัท ย. ดังนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับการปลูกหรือการตัดต้นปาล์มน้ำมันย่อมมีผลต่อรายได้ของบริษัท จึงต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการอื่นด้วย การที่จำเลยในฐานะกรรมการบริหารจัดการงานไปโดยลำพังในการขุดคูและตัดต้นปาล์ม 20 ต้น แล้วเกิดความเสียหายแก่บริษัท ย. จึงเป็นการละเมิดและต้องรับผิดต่อบริษัท ย. จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในปัญหาอำนาจฟ้องว่า ต้นปาล์มน้ำมันและผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของป่า ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูก และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566 ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2566 ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าชธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก็นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) อัตราอากรร้อยละ 10 โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องจึงไม่ชอบ เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2566 สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 9.2 กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนด โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าตามเงื่อนไขดังนี้... 9.2.2 กรณียกเลิกสัญญาในปีที่ 2 ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละ 40 ของยอดค่าเช่าพึงชำระ นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา...” สัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นการให้เช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี หากครบกำหนดโจทก์จะได้รับค่าเช่า 876,000 บาท แต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยการคืนรถยนต์ที่เช่าและให้โจทก์รับรถวันที่ 19 มีนาคม 2561 หลังจากทำสัญญาเช่าเพียง 1 ปี 4 เดือน 19 วัน โจทก์ได้รับค่าเช่าเพียง 242,548.39 บาท จึงไม่ได้รับค่าเช่าส่วนที่เหลือ 633,451.61 บาท แต่อย่างไรก็ตามสัญญา ข้อ 9.2.2 ดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4257/2566 คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าว จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า “สั่งในฎีกา” และมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า “จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้โดยมาแสดงตนต่อศาล รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา ปิดได้” จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง ทั้งนี้ แม้คำร้องของจำเลยจะมีใจความทำนองว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2566 แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย กรณีเชื่อว่าก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ” แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2566 ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปีนับแต่วันที่นำเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปีไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนำเข้า ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำเข้า แตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่ใช้อ้างอิงเท่านั้น และอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 กรณีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เข้าตรวจค้นบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 จากนั้นโจทก์เข้าชี้แจงรายละเอียดและส่งมอบเอกสารให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จนพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2560 และจัดส่งให้แก่โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ถือได้ว่าขั้นตอนกระบวนการประเมินเพื่อให้โจทก์รับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อจำเลยที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมินในวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ส่วนการจัดส่งแบบแจ้งการประเมินเป็นขั้นตอนการแจ้งให้โจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรเพื่อทราบและปฏิบัติตามกฎหมายต่อไปไม่ใช่การดำเนินการประเมิน กรณีจึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 19 มาใช้บังคับในคดีนี้ ส่วนปัญหาการออกแบบแจ้งการประเมินภายหลังกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้วจะมีผลอย่างไรไม่เป็นประเด็นปัญหาในคดีนี้ ดังนั้น การประเมินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกอากรที่ขาดภายใน 10 ปี นับจากวันที่นำเข้าตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การประเมินของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย ตามคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ ตามพิกัดประเภท 72.07 ไม่ว่าประเภทใด ๆ ก็ตามต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหล่อแบบต่อเนื่องที่มีหน้าตัดตันและต้องไม่เป็นม้วน สินค้าพิพาททั้งสองกลุ่มขณะนำเข้าไม่มีลักษณะหน้าตัดตัน มีการขึ้นรูปที่มีลักษณะเฉพาะไว้แล้วไม่ต้องจัดทำรูปทรงเพิ่มเติมอย่างมาก และเมื่อเปรียบเทียบรูปทรงสินค้าพิพาทขณะนำเข้ากับเมื่อเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูปพร้อมใช้งานแล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือเค้าโครงไปจากเดิม สินค้าพิพาทจึงไม่มีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ไม่อาจจัดอยู่ในพิกัดประเภท 72.07 ได้ แต่สินค้าพิพาททั้งสองกลุ่มมีลักษณะเป็นของที่ขึ้นรูปมีรูปร่างหรือเค้าโครงของของหรือส่วนประกอบที่สำเร็จตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 บัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 2 (ก) แล้ว แม้ยังไม่พร้อมใช้งานได้ทันทีแต่ก็สามารถใช้เพื่อผลิตเป็นของหรือส่วนประกอบสำเร็จรูปโดยกระบวนการผลิตเพิ่มเติมเป็นแต่เพียงกระบวนการตกแต่งพื้นผิวชิ้นงานให้มีสภาพเหมาะสมต่อการนำไปใช้เท่านั้น และเมื่อสินค้าพิพาททั้งสองกลุ่มจัดอยูในพิกัดประเภทย่อย 8708.94.99 พิกัดประเภทย่อย 8708.94.93 และพิกัดประเภทย่อย 8708.94.95 จึงไม่อาจจัดเป็นของอื่น ๆ ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าตามพิกัดประเภท 73.26 ตามที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและขอสงวนสิทธิ์ขอคืนอากรได้ เนื่องจากคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ระบุไม่ให้คลุมถึงของที่ตีขึ้นรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในประเภทพิกัดอื่นของพิกัดอัตราศุลกากรนี้ (เช่น ส่วนประกอบที่สามารถบอกได้ว่าเป็นของเครื่องจักรหรือของเครื่องใช้เชิงกล) หรือของที่ตีขึ้นรูปยังทำไม่เสร็จซึ่งต้องการการจัดทำมากไปกว่านี้ แต่มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ซึ่งทำเสร็จแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2566 ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 ป.อ. มิได้นิยามคำว่า ผู้มีวิชาชีพไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ รวมกับคำว่า วิชา หมายถึงผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรง หรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ กรณีจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย เมื่อจำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยจึงเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในการก่อสร้างซึ่งเกิดจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างอันเป็นการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ และเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2566 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (4/2) เป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อันเป็นการขัดหรือแย้งกับ ป.วิ.อ. มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงทำให้โจทก์มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2566 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 เป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดนำเอาความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาลในคดีใดคดีหนึ่งซึ่งความเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญแก่คดีที่เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/ 2562 ของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยที่ 3 นำคําเบิกความที่จำเลยที่ 1 เคยเบิกความอันเป็นเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ไปยื่นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าเบิกความรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2566 แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานทำการใหม่ คือ เลขที่ 124 ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของกรรมการและที่ตั้งของผู้ร้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่ในคำร้องดังกล่าวผู้ร้องระบุอ้างแต่เพียงว่ามีเหตุขัดข้องในการแจ้งให้ผู้ร้องทราบผลคดี ทำให้ทราบในระยะเวลากระชั้นชิดเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะให้ที่อยู่ที่แจ้งใหม่เป็นภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานเพียงแห่งเดียวของผู้ร้องแต่อย่างใด กรณีจึงยังต้องถือว่า อาคารเลขที่ 13/47 เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของผู้ร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 69 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 ดังกล่าวโดยวิธีปิดหมาย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกันเพื่อประกันความเสียหาย ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) แต่ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้ง ๆ ที่คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งที่สุดแล้วศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไป และไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้าโดยไม่มีมูลมีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้อง หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2566 ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ ในอันที่ต้องยอมรับกรรมบางอย่างด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 243749 ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอม เรื่อง ทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคใด ๆ แก่ที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 1003 เมื่อโจทก์รวมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 10516, 10517, 243749 และ 158942 เป็นแปลงเดียวกันเป็นโฉนดเลขที่ 10516 ภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 10516 ฉบับใหม่จึงมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243749 เดิมเท่านั้น การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียว มิได้มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดได้กระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ด้วย ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 10516 ที่มิใช่เป็นส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 243749 เดิม ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมดังกล่าว และมิใช่เป็นกรณีที่ภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ดังจําเลยฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2566 ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคบโดยรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลกระทำการชักชวน ว. ให้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น โดยจะให้เงินเป็นการตอบแทนเพื่อกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยความผิดดังกล่าวจะกระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกให้ ว. ไปรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้วนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิผสมกับไข่ใส่เข้าไปในรังไข่ของ ว. ซึ่งสามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าออกจากกันได้ ความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2566 แม้การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 24 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คดีนี้ไม่มีการสืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบแล้ว หญิงซึ่งรับตั้งครรภ์แทนตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 21 ที่จะรับตั้งครรภ์แทนได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันพาหญิงดังกล่าวไปตรวจมดลูกที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อม และเดินทางไปฝังตัวอ่อน อันเป็นการดำเนินการครบถ้วนในทางการแพทย์ที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์โดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แล้ว จากนั้นเป็นการเจริญของทารกในครรภ์ในมดลูกของหญิงตามธรรมชาติ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการค้าแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 24 โดยไม่จำต้องให้หญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์แทนตั้งครรภ์ก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นการพยายามกระทำความผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2566 แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องลูกหนี้ทั้งสามให้ล้มละลาย แต่หากศาลล้มละลายกลางพิจารณาสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบสำนวนของศาลล้มละลายกลางตามกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็จะทราบว่าเจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ทั้งสามต่อศาลล้มละลายกลาง มูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องเป็นคดีต่อศาลล้มละลายกลางวันที่ 18 เมษายน 2551 ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มูลหนี้ตามคำพิพากษาจึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้คำพิพากษาดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2566 แบบส่งเงินอายัด เป็นเอกสารที่ธนาคารจัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ล้วนเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2566 การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนแล้วมาฟ้องคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 คดีนี้และจำเลยในคดีก่อนจะเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน แต่จำเลยในคดีก่อนและจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ พ. (จำเลยซึ่งในคดีนี้) เป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3950/2566 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ อันเป็นการพนันตามที่ระบุไว้ในบัญชี ก. อันดับที่ 23 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนัน กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมั่วสุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน ทั้งความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกันและจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมและมั่วสุมกัน ณ บ้านที่เกิดเหตุอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดก็โดยมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2566 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2) มีองค์ประกอบของความผิด คือ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติ คำว่า “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปรวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม คำว่า “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ความผิดที่กระทำในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ... และคำว่า “ความผิดร้ายแรง” หมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น ซึ่งความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นและช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2) อนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยังร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดนั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2566 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (4) บัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องคิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 109 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย คดีนี้ ก่อนผู้ร้องเสนอเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2214 และ 3656 รวม 2 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 138,614,320.12 บาท จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละสามจากยอดหนี้จำนวน 138,614,320.12 บาท ที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872 - 3873/2566 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทกล่าวอ้างว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาอันถือเป็นสัญญาจ้างทำของ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยนับจากวันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 แล้ว ส่วนเงื่อนไขให้ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติก่อนส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้นมิอาจถือเป็นเงื่อนไขให้เริ่มนับอายุความได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย แม้การที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรก อาจถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แต่เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 193/18 เมื่อผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งหลังเกิน 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 จึงขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3853/2566 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ธนาคาร อ. ผู้รับจำนองทราบก่อนการขายทอดตลาด เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดทางละเมิดในกรณีเช่นนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน” ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กล่าวคือ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้...” กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ได้ระบุยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น กรณีต้องรับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่โจทก์โดยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3805/2566 ขณะที่โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อท้ายหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้างอย่างแน่นอน โจทก์มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป โจทก์ทราบถึงจำนวนค่าจ้างซึ่งนำเพียงฐานเงินเดือนเท่านั้นที่นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ และพอใจในจำนวนเงิน 1,098,236.95 บาท ที่จำเลยเสนอให้เป็นอย่างดี โจทก์จึงขอรับเงินตามที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะไม่ดำเนินการเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลยอีก และขอสละสิทธิทั้งหลายที่โจทก์พึงมีต่อจำเลยในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์และจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีแก่กันให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามที่ตกลงกันดังกล่าว จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์ย่อมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยเพิ่มเติมอีก ในขณะที่จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิเสนอข้อตกลงที่นำเพียงฐานเงินเดือนที่จำเลยเข้าใจว่าเป็นค่าจ้างมาคิดคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์พิจารณาได้ การเสนอข้อตกลงจ่ายเงินดังกล่าวของจำเลยจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อเสนอที่มุ่งเอาเปรียบโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่ำกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไม่ ข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ หาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะส่งผลให้เป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า จำเลยไม่จำต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2566 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ดังนั้นแม้ว่าโจทก์จะมิได้ระบุคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวัน แต่โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 65 มาแล้ว และเมื่อฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 21 จึงต้องระวางโทษจำเลยตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง และลงโทษปรับเป็นรายวันมานั้น จึงไม่เกินคำขอของโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2566 คดีนี้โจทก์ฟ้องของให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 32, 43 ซึ่งมาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” และวรรคสองบัญญัติว่า “การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ได้ความจาก ส. พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า ภาพช้างสีขาวสองเชือกหันหน้าเข้าหากันภายใต้น้ำพุสีเหลืองทองประกอบข้อความภาษาไทยสีขาวว่า “เครื่องดื่มตราช้าง” ข้อความภาษาอังกฤษสีขาวว่า “Chang” บนพื้นหลังสีเขียวตรงกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท บ. ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทน้ำดื่ม เครื่องดื่มน้ำแร่ น้ำโซดา และขวดน้ำดื่มตราช้าง และมีสัญลักษณ์ตรงกับเครื่องดื่มตราช้างบนแผ่นป้ายไวนิล อีกทั้งภาพถ่ายขวดเบียร์ช้างไม่มีคำว่าเครื่องดื่มตราช้าง มีแต่ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษว่า “PRODUCT OF THAILAND”, “LAGER BEER”, “CLASSIC BEER” และ ส. ยอมรับอีกว่า บริษัท บ. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเบียร์ น้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ แยกต่างหากจากกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า แผ่นป้ายไวนิลตามฟ้องเป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ จึงเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าประเภทน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 การที่จำเลยติดแผ่นป้ายไวนิลที่หน้าร้านจึงไม่เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า “ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น “ภูมิลำเนา” ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว...” แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659/2566 จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ท. สาขาตลาดใหม่ทุ่งครุ จำนวน 5 ฉบับ ให้โจทก์ โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคาร ท. สาขาถนนวิทยุ เพื่อให้ธนาคารดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ท. สาขาตลาดใหม่ทุ่งครุ ธนาคาร ท. สาขาตลาดใหม่ทุ่งครุปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ความผิดเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คมิได้ตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงปทุมวัน ศาลแขวงปทุมวันจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ธนาคารที่นำเช็คเข้าบัญชีหาได้เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามเช็คให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 22, 23 เป็นเพียงเรื่องความมีผลของการส่งและการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น มิได้มีผลทำให้หน้าที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโอนไปเป็นหน้าที่ของธนาคารที่เรียกเก็บ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3638/2566 ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยแต่ที่สุดที่จะเป็นไปได้...” ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เพียงใด ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุดเป็นประการสำคัญด้วย เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในปี 2528 จากนั้นดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ รวมกันเกินกว่า 200 แปลง กับจัดสร้างถนนคอนกรีตและกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบที่ดินจัดสรรและบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาย ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ในขณะนั้นก็ดี และโจทก์ที่ได้รับโอนที่ดินมาในฐานะผู้จัดการมรดกของ นาย ส. เมื่อปี 2551 ระยะเวลารวมกันนานกว่า 30 ปี นาย ส. และโจทก์ต่างไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกยาว 8 เมตร บ่งชี้ว่าการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวมิได้มีผลใด ๆ ต่อการออกสู่ทางสาธารณะต่อที่ดินของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น โจทก์ได้เลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งได้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินของโจทก์เดิมมิได้ขวนขวายหาทางออกสู่ทางสาธารณะให้ที่ดินเสียตั้งแต่ได้มาเมื่อปี 2510 และปล่อยทิ้งร้างที่ดินไว้เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อปี 2528 จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินหลายแปลงด้วยการขออนุญาตจัดสรรและด้วยเงินลงทุนที่สูงมากจนสามารถพัฒนาที่ดินทำให้สภาพแวดล้อมมีความเจริญ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ถนนคอนกรีตมีความสะดวกสบายในการใช้สอยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสให้ตนเองกับบริวารสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินจัดสรรได้โดยไม่ต้องลงทุนในการทำถนนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ไปในตัว ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและเข้าไปใช้สอยถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยในฐานะที่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2566 ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์และมิได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศรัฐสภา โดยผู้จัดการสโมสรรัฐสภาและคณะกรรมการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา อนุมัติการจ่ายเงินของสโมสรรัฐสภา และจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาหรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา คำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด ทั้งการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การกระทำความผิดของจําเลยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำต่อรัฐซึ่งเป็นอำนาจของหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตาม ป วิ อ. มาตรา 28 (1) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611 - 3612/2566 ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 158 (5) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเดือนปีที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นการไม่ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลากระทำความผิด เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ดนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วยอันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์ อันเนื่องจากมีข้อตกลงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่มีต่อกันจำนวนหลายรายการและหลายคราว โดยจำเลยยังคงค้างชำระค่าหุ้นที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการขายหลักทรัพย์ให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว โดยจำเลยนำสืบต่อสู้ มิได้หลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิด ทั้งโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามระเบียบวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” พร้อมทั้งคืนเช็คและใบคืนเช็คให้แก่โจทก์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 และฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 โดยโจทก์ได้ส่งสำเนาเช็ค สำเนาใบแจ้งผลเช็คคืน และสำเนาใบนำส่งเช็คคืนและแจ้งการหักบัญชีของเช็คทั้งหกฉบับมาท้ายฟ้อง ซึ่งสำเนาใบแจ้งผลเช็คคืน และสำเนาใบนำส่งเช็คคืนและแจ้งการหักบัญชี ระบุวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คือวันที่ที่โจทก์ได้รับเช็คคืนจากธนาคาร ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2566 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิด ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ต้องรับผิดทางแพ่งโดยเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (7) และ 89/1 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (7) อีกทางหนึ่งด้วย การที่จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง ข้อ 1.3 และ 1.4 ครบถ้วนก็เป็นเรื่องของความรับผิดทางแพ่งมีผลให้หนี้ภาษีอันเป็นหนี้ทางแพ่งระงับ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความรับผิดทางอาญาหาใช่ทำให้ความรับผิดทางอาญาระงับไปด้วยไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2566 ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี” ดังนั้น เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1193/2560 ของศาลจังหวัดภูเขียว ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1930/2560 ของศาลจังหวัดภูเขียว ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1582/2560 ของศาลจังหวัดภูเขียว ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 120,000 บาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 โดยศาลในทั้งสามคดีรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนดคดีละ 2 ปี ทั้งนี้ การที่ศาลที่พิพากษาคดีหลังจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษจำเลยไว้ในคดีก่อนทั้งสามคดีมาบวกเข้ากับโทษจำคุกจำเลยในคดีหลังได้ จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีหลังในระหว่างเวลาที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาการรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อน แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ และฐานฉ้อโกง อันเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวล้วนเป็นความผิดสำเร็จเมื่อผู้กระทำความผิดลงมือหลอกลวงและได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย มิใช่ความผิดต่อเนื่องกัน การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องทั้งภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษและภายหลังจากนั้น กรณีจึงมิต้องตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก และไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนทั้งสามคดีมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำคุกของจำเลยในคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566 แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดจนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2566 การลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดหลายคนที่ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรในขณะที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มีผลใช้บังคับ ต้องกำหนดให้ผู้ร่วมกระทำความผิดรับผิดรวมกันเป็นเงินจำนวนสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เมื่อมาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ก็ต้องบังคับเรื่องโทษปรับเช่นเดียวกัน แต่ต่อมาภายหลังได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 บัญญัติไว้แตกต่างจาก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ไม่มีข้อความว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ” ดังเช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ดังนั้น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังและใช้ในขณะจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดจึงมีวัตถุประสงค์ลงโทษปรับแก่จำเลยเป็นรายบุคคลโดยไม่พักต้องคำนึงถึงจำนวนรวมของค่าปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ดังเช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม ไม่อาจนำกรณีของมาตรา 27 กับมาตรา 27 ทวิ ซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ฉบับเดียวกันมาใช้เทียบเคียงได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2566 เมื่อฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลย ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลาง อันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปยังจังหวัดระนอง เห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายเป็นที่เข้าใจแล้วว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่ารถยนต์เก๋งของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ที่ให้ริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 ต้องการให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร การที่จำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลาง 610 ซอง จากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดระนอง อันเป็นระยะทางข้ามจังหวัด หากไม่มีรถยนต์เก๋งของกลางมาบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 610 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนมากดังกล่าวได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2566 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า เมื่อหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2566 โจทก์แยกฟ้องการกระทำผิดของจำเลยทั้งสามข้อโดยคำฟ้อง 1.1 และข้อ 1.2 โจทก์ระบุวันเวลากระทำผิดอย่างเดียวกันคือระหว่างวันนี้ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดกับบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อ 1.1 ว่า ร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารโฉนดที่ดินของผู้เสียหาย และข้อ 1.2 ว่า ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.1 ร่วมกันปลอม ทำปลอมหนังสือมอบอำนาจ (ท.ค. 21) ขึ้นทั้งฉบับ จากนั้นบรรยายการกระทำตามฟ้องข้อ 1.3 ว่า วันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวัน ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.2 ร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมตามฟ้องข้อ 1.2 อ้างแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาอย่างเดียวคือเพื่อจะทำสัญญาขายฝากที่ดินของผู้เสียหายกับ ท. ให้ได้ การกระทำได้ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2566 แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี คดีนี้จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าว หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุมนั้นไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2566 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) นั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้จำเลยเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยว่า “..จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานนวนิยายของโจทก์ดังกล่าวด้วยการคัดลอกและดัดแปลงบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉาก ในนวนิยายของโจทก์แต่ละเล่มแล้วนำไปเรียบเรียงไว้ในบทนวนิยายของจำเลย...” อันเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนที่อยู่ในนวนิยาย 2 เล่ม ของโจทก์ หาใช่เป็นการคัดลอกดัดแปลงนวนิยายทั้งฉบับทั้ง 2 เล่ม ที่การบรรยายฟ้องนี้อาจจะทำให้จำเลยพอเข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร แต่เมื่อเป็นการคัดลอกดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมจะต้องบรรยายฟ้องข้อเท็จจริงให้พอเข้าใจได้ว่าบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉากนั้น เป็นส่วนไหนในนวนิยายเล่มใดใน 2 เล่ม ของโจทก์ และจำเลยคัดลอกและดัดแปลงงานดังกล่าวอย่างไร รวมทั้งนำไปใช้อยู่ในส่วนไหนของนวนิยายของจำเลย อันจะทำให้จำเลยสามารถเทียบเคียงได้ว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นเป็นการคัดลอกดัดแปลงจริงหรือไม่ กรณีเช่นนี้หาใช่รายละเอียดที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นหรือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อีกทั้งเป็นการพิจารณาถึงการแสดงออก (Expression) ไม่ใช่แนวคิด (Idea) ต่างจากที่โจทก์ฎีกาว่า การวินิจฉัยต้องพิจารณาเนื้อหาของงานทั้งหมดโดยรวมประกอบกัน มิใช่แยกพิจารณาออกมาเป็นส่วน ๆ เฉพาะที่มีการคัดลอกเท่านั้น อนึ่ง การบรรยายฟ้องที่เพียงใช้ข้อความตามกฎหมาย เช่น การทำซ้ำหรือดัดแปลง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสมควรว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงอย่างไร ย่อมไม่อาจทำให้จำเลยสามารถเข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ ประกอบกับปัญหานี้เป็นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของการบรรยายฟ้องเรื่องการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด จึงไม่เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องอื่น ๆ ส่วนการพิจารณาว่าฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากฟ้องเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบได้ ทั้งเป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาก่อนไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมูลฟ้องมาพิจารณาประกอบเช่นกัน เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนของการกระทำความผิดของจำเลยว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นถูกกระทำโดยจำเลยในส่วนไหน อย่างไร ย่อมต้องถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425 - 3426/2566 คำให้การของผู้คัดค้านในคดีแพ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการอ้างว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อสัญญาที่ผู้ร้องอ้างถึง มีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงทุนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2566 ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17 บัญญัติว่า การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามข้อบังคับ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ... มาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 33 ตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ... ซึ่งในมาตรา 39 บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า การจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดยังคงเป็นอำนาจเด็ดขาดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดอยู่ เพียงแต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นิติบุคคลอาคารชุดในการใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่จำต้องแสดงเจตนามอบอำนาจให้แก่นิติบุคคลไปดำเนินการเป็นราย ๆ ไปอีกในการปกปักรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อความสะดวกแก่เจ้าของร่วมอาคารชุด เนื่องจากเจ้าของร่วมแต่ละอาคารชุดมีเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีบทบัญญัติมาตราใดโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ลบล้างอำนาจของเจ้าของรวมในการจัดการทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1358 การฟ้องคดีเพื่อขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขายห้องชุดชำระค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ส่วนกลางเกิดความชำรุดบกพร่องตามฟ้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินนั้นตามแผนผัง แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่หรือเจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่นก่อน ส่วนข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด อ. หมวดที่ 3 ว่าด้วยวัตถุประสงค์นิติบุคคลอาคารชุด หมวดที่ 4 ว่าด้วยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด หมวดที่ 13 ว่าด้วยการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เป็นข้อบังคับที่อนุวัติการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หามีผลทำให้อำนาจแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์อันเป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่บรรยายฟ้องมาด้วยว่า นิติบุคคลอาคารชุดเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิฟ้องแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และจะขอให้หมายเรียกนิติบุคคลอาคารชุดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตามคำร้องขอของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่โดยโจทก์ร่วมมิได้คัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่และโจทก์ร่วมต่างมีอำนาจฟ้อง และการที่โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2566 การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ การตีความสัญญาเพื่อให้เห็นถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรืออักษรตามมาตรา 171 สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดให้บุคคลฝ่ายโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากฝ่ายจำเลยไล่เรียงกันไป ก. (โจทก์ในคดีแพ่ง) ท. และโจทก์ ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกพิพาทให้ นอกจากนี้ ข้อ 3 ก็กำหนดให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ไล่เรียงลำดับกันไปโดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับข้อ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลฝ่ายโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 เป็นลำดับไป การตีความข้อความตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ที่ว่า “…หากว่าจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ไม่ไปดำเนินการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากบุคคลภายนอกและโอนให้แก่โจทก์ภายในกำหนดจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ยินยอมชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)” คำว่า “โจทก์” ดังกล่าว จึงต้องแปลความหมายว่าฝ่ายโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วยเนื่องจาก ก. และ ท. ได้ถึงแก่ความตายแล้วก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 1,000,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2) เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยศาลได้ออกหมายบังคับคดี และโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยพบว่าจำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ไม่เพียงพอที่จะยึดมาชำระหนี้ได้กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การและส่งบันทึกถ้อยคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท แต่ไม่ได้ส่งหลักฐานใด ๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (1) แม้จำเลยจะรับราชการตำรวจและเคยเสนอจะโอนที่ดินตีใช้หนี้โจทก์ก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยเสนอตีโอนใช้หนี้นั้นมีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ประกอบกับจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เลย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2566 ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 กฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2566 โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้... (6) .. ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ... เช่าซื้อ... (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งแยกจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ... เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรองรับ ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2566 คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ในส่วนของจำเลยไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องเสีย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327/2566 เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์” ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำเป็นต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วันนับแต่วันชำระเงิน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน แต่ยังพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่พิพากษากลับ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุก เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ทั้งเป็นกรณีที่ไม่อาจรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2566 ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า “หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้ โดยจะคิดทบไปทุกปี จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา” จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3277/2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เฉพาะวรรคความผิดในมาตราเดียวกัน แต่ความผิดในวรรคสองและวรรคห้ามีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก จึงเป็นการแก้วรรคและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลล่างทั้งสองต่างเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อทางพิจารณาของศาลฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติไว้ว่า ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยในความผิดดังกล่าว เป็นเรื่องกฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีมาฟ้องในข้อหานั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เท่านั้น อันเป็นขั้นตอนของการยื่นฟ้องคดี มิใช่การพิพากษาคดีของศาล ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดนั้นได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3265/2566 สินค้าพิพาทซึ่งมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของเฟืองเกียร์เพื่อจัดทำต่อเป็นเฟืองเกียร์สำเร็จ ใช้สำหรับนำไปประกอบชุดเกียร์ขับเคลื่อนของรถแทรกเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งรถแทรกเตอร์เป็นยานบกตามประเภทพิกัด 87.01 จึงอยู่ในหมวด 17 ตอนที่ 87 ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว ประเภทพิกัด 87.08 “ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ตามประเภท 87.01 ถึง 87.05” โจทก์นำเข้าสินค้าเฟืองเกียร์ตามใบขนสินค้าพิพาทเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของกระปุกเกียร์ของรถแทรกเตอร์ จัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8708.40.90 ในฐานะเป็น “ส่วนประกอบของกระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ตามประเภท 87.01 ถึง 87.05” กรณีนำเข้าก่อนปี 2555 และพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8708.40.91 ในฐานะเป็น“ส่วนประกอบของกระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ตามประเภท 87.01” กรณีนำเข้าตั้งแต่ปี 2555 ตามการประเมินของจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2566 โจทก์ทำงานในส่วนการผลิตเช่นเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากผู้ประกอบกิจการในลักษณะอย่างเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาโดยตรงโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ดังนั้น เมื่อเงินโบนัสถือเป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ประกอบกับโจทก์ทำงานมาประมาณ 3 ปี เกินระยะเวลาทดลองงาน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างทดลองงาน อีกทั้งแม้การจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวเกิดจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงาน ท. ซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นจำนวนไม่ถึงสองในสามส่วนของลูกจ้างทั้งหมดยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 แล้วเจรจาตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวกันไว้ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานตามหลักเกณฑ์การประเมินผลงานของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 และสหภาพแรงงาน ท. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ตลอดมาทุกปีตั้งแต่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทุกคน ไม่ใช่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงซึ่งทำงานในส่วนงานผลิตเช่นเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 2 และไม่ได้มีลักษณะเป็นลูกจ้างทดลองงาน จึงถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามมาตรา 11/1 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191/2566 บันทึกของเจ้าพนักงานที่ดินที่ได้สอบสวนไกล่เกลี่ยเรื่องการคัดค้านแนวเขตที่ดิน ระหว่างผู้ขอซึ่งหมายถึงจำเลย และผู้คัดค้านซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 ทั้งสองฝ่ายทราบถึงแนวเขตของที่ดิน โดยยึดถือหลักฐานแผนที่เดิมและหลักฐานแผนที่แสดงแนวเขตคัดค้าน ตกลงกันได้โดยรูปแผนที่แนวเขตที่คัดค้านกันนั้นให้เป็นของผู้ขอหรือจำเลยประมาณ 1-1-52 ไร่ เป็นของผู้คัดค้านหรือโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 0-2-00 ไร่ และผู้คัดค้านหรือโจทก์ที่ 1 ขอยกเลิกการคัดค้าน เป็นกรณีที่จำเลยและโจทก์ที่ 1 ตกลงกันว่าที่ดินในแนวเขตที่คัดค้านกันนั้น ตามหลักฐานแผนที่เดิมเป็นที่ดินของจำเลย ตกลงให้เป็นของจำเลยเนื้อที่ประมาณ 1-1-52 ไร่ เป็นของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 0-2-00 ไร่ และโจทก์ที่ 1 ยกเลิกการคัดค้าน อันเป็นการที่จำเลยและโจทก์ที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทในแนวเขตที่ดินที่คัดค้านให้เสร็จสิ้นไปโดยยอมผ่อนผันให้แก่กันแล้ว แม้ในบันทึกดังกล่าวจะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแผนที่ บริเวณหรือหลักหมุดใดก็ตาม ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเนื้อที่ดังกล่าวอยู่ภายในแนวเขตที่คัดค้านและต้องแบ่งตามแนวเขตของที่ดินทั้งสองแปลงนั้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2566 จำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2566 การอยู่ร่วมกันของเจ้าของร่วมในอาคารชุดเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นโดยการรวมตัวของบุคคลที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในการรับบริการส่วนรวมและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมโดยมีนิติบุคคลอาคารชุดบริหารจัดการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 33 ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดตามมาตรา 38 (1) ให้ดำเนินไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด โดยอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามมาตรา 42/1 หรือการประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 42/2 ในกิจการปกติ มติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ส่วนกิจการที่มีความสำคัญ มติที่ได้รับความเห็นชอบต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด กรณีคะแนนเสียงไม่ครบกึ่งหนึ่งและมีการเรียกประชุมใหม่ตามมาตรา 48 วรรคสอง การเข้าร่วมประชุมจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของร่วมที่ต้องให้ความร่วมมือโดยเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือ ให้ความคิดความเห็น เสนอแนะ และร่วมตัดสินใจลงมติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็วอันจะให้กิจการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปโดยเรียบร้อย กรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการนัดเรียกหรือการนัดประชุมหรือการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วเพื่อให้กิจการของนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วม เมื่อไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 บังคับใช้โดยเฉพาะแก่การนัดเรียกหรือการประชุมหรือการลงมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. หมวด 4 บริษัทจำกัด ซึ่งบัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น” มาใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงนับว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหานิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย แต่การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับกรณีการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้นั้นต้องเป็นกรณีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ดังนี้ กรณีการลงมติในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันตามข้อบังคับซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 48 (5) หากมติของที่ประชุมไม่ได้รับความเห็นชอบโดยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดในการประชุมเจ้าของร่วมครั้งแรก กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยจะต้องมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อนและต้องมีการลงมติกันใหม่อีกครั้ง ได้ความตามรายงานประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2558 ถึงปี 2560 ว่าในการประชุมใหญ่สามัญของแต่ละปีมีการลงมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าเป็นการจัดเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญกลับมิได้เรียกให้มีการประชุมใหม่เพื่อให้เจ้าของร่วมลงมติกันใหม่อันเป็นขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง การเรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวจึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนจึงสิ้นสภาพไปโดยที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แต่อย่างใด จำเลยไม่อาจถือเอาประโยชน์จากมติดังกล่าวมาเรียกให้โจทก์เจ้าของร่วมชำระเงินเพิ่มได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้แก่จำเลยคืนได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาวินิจฉัยแก่คดีโดยวินิจฉัยว่าเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือเจ้าของร่วมร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ มติของที่ประชุมใหญ่นั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา การที่จำเลยเรียกเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดตามฟ้องแก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2566 เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้ โดยต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่ง ม. 90/12 (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องไว้เพื่อพิจารณาแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่คณะอนุญโตตุลาการต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ได้งดการพิจารณาไว้จึงเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3098/2566 คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือนอกจากมีวัตถุประสงค์เป็นการตรวจสอบข้อมูลบุคคลเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ต้องหา ตรวจสอบประวัติอาชญากรเพื่อประกอบการพิจารณาเงื่อนไขในการเพิ่มโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 92 และมาตรา 93 และยังกระทำเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐานในคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 (1) และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวน อันเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ซึ่งรัฐย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมและเก็บข้อมูลของบุคคลได้ภายในขอบเขตความจำเป็น ทั้งยังสามารถนำข้อมูลจากการพิมพ์ลายนิ้วมือมาประกอบการดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ แก่จำเลยได้ แม้คดีนี้และคดีก่อนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งมิอาจนำประวัติการกระทำความผิดในครั้งก่อนหรือครั้งหลังมาเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 94 แต่การพิมพ์ลายนิ้วมือมิใช่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มโทษเพียงประการเดียว ดังนั้น ที่จำเลยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งพนักงานสอบสวนโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 368 วรรคแรก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2566 เงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ต้องวางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 7 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชําระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นําเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการยื่นอุทธรณ์อีกเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนเท่านั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 วางเงินแทนจำเลยที่ 1 ไม่ และเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชําระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชําระหนี้แก่คู่ความฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชนะคดี และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกําหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะร้องขอให้คืนเงินที่วางนั้นได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2566 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาปล่อยเงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเป็นการแสดงเจตนาลวง โจทก์จำเลยไม่มีเจตนากู้ยืมเงินกัน เป็นการอำพรางนิติกรรมที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยเพื่อไปซื้อยางก้อนถ้วยมาส่งให้แก่โจทก์ โดยจำเลยจะได้รับค่าตอบแทน ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว โดยเนื้อหาที่บรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น และเมื่ออ่านอุทธรณ์ทั้งฉบับโดยเฉพาะในหน้าที่ 14 และหน้าที่ 15 แล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งแล้ว อนึ่ง คดีนี้จำเลยฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาล 66,375 บาท แต่เมื่อศาลฎีกาย้อนสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ เช่นนี้ จำเลยชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2566 โจทก์มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของนางสาว ซ. และทำหน้าที่ลงชื่อในสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทนฯ แทนนางสาว ซ. เจ้าของโครงการเท่านั้น ซึ่งคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ แต่โจทก์นำสัญญาพิพาทมาฟ้อง ทั้งในคดีอื่นที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น โจทก์เบิกความเท็จว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง เป็นการใช้สิทฺธิทางศาลโดยไม่สุจริต คดีมีประเด็นตามคำให้การแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของนางสาว ซ. แต่โจทก์กลับฟ้องคดีนี้โดยอ้างสิทธิในฐานะตัวการเสียเอง โดยมิได้ระบุว่ากระทำในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนางสาว ซ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่แท้จริง โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2566 โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปได้พบโฆษณาโครงการของจำเลยที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ยูทูบย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมอยู่ในโครงการของจำเลยที่ 1 และการผ่าตัดศัลยกรรมกับโครงการของจำเลยที่ 1 จะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น และจะได้รับการบริการในราคาถูก ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนพบเห็นหรือทราบข้อความที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ในวิดีโอคลิปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังถือว่าการที่จำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 สนทนากับโจทก์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตามบันทึกการสนทนานั้นเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาอันถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 ตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 11 แล้ว เมื่อเป็นการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่โจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาททั้งในเรื่องผิดสัญญาและละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้บริการทางการแพทย์ มิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในมูลละเมิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงเป็นความรับผิดอันเกิดจากสัญญา ซึ่งสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการ การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินโครงการโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3037/2566 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ มิใช่เรื่องการทำละเมิด โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเฟซออฟโดยแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดดึงหน้าในโครงการผ่าตัดศัลยกรรมของจำเลยที่ 1 จะไร้รอยแผลเป็น ไม่เจ็บ หน้าจะเด็กลงนั้น มีลักษณะเป็นการเสนอให้บริการทางการแพทย์ เมื่อโจทก์หลงเชื่อการโฆษณาและตกลงเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์รู้ว่าการทำศัลยกรรมของจำเลยที่ 4 ที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ไม่ดีโดยนำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความการที่จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าเป็นการผ่าตัดไร้รอยแผล แม้จะเป็นการโฆษณาเกินความจริง แต่แผลเป็นหลังผ่าตัดที่ยังคงเหลืออยู่ที่ขมับ หลังใบหู และท้ายทอยของโจทก์เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นตามปกติของการผ่าตัด ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าผลการผ่าตัดทำให้ใบหน้าโจทก์เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม กรณียังไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036/2566 จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการตัดสินใจรับผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการตรวจร่างกายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 และหากมีผู้เข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 จำนวนมากก็จะทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์จากค่าผ่าตัดเป็นจำนวนมากไปด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินโครงการร่วมกัน และจำเลยที่ 1 ในฐานะร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 ในการผ่าตัดศัลยกรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการด้วยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ก่อขึ้น ในส่วนของความรับผิดในการโฆษณาด้วยข้อความที่เกินความจริง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องอาจเป็นได้ทั้งละเมิดและสัญญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ กรณีต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำโฆษณาและคำรับรองของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เมื่อการโฆษณาและรับรองไม่ตรงกับความจริง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าผ่าตัดไร้รอยแผลเข้าลักษณะข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงอันเป็นกรณีจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 ถือได้ว่าดำเนินการโครงการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการด้วยข้อความเกินความจริง แต่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 ยังรับทำศัลยกรรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาตลอด ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเกินจริง จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566 ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียว ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้อง ด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ประกอบกับสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. เมื่อพิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 อย่างไรก็ตามหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคต ยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 252 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 มาตรา 182/1
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2566 จำเลยทั้งสองต่างเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้รายที่ 2 เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงยังเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 อยู่ เจ้าหนี้รายที่ 2 ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน แต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ตามความเห็นของผู้คัดค้าน คำสั่งดังกล่าว ถึงที่สุดแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแต่อย่างใด แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิในทรัพย์หลักประกัน คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 41348 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ร่วมกับเจ้าหนี้รายที่ 2 แต่ก็เป็นสิทธิในหลักประกันเฉพาะส่วนซึ่งประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากผู้ร้องเห็นว่าตนมีสิทธิเช่นไรผู้ร้องย่อมใช้สิทธิของตนได้ ผู้ร้องไม่อาจมาขอสวมสิทธิแทนเจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2566 จำเลยที่ 1 นำข้าวเปลือกและข้าวสารไปจำนำเป็นประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังของจำเลยที่ 1 เป็นที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำ แม้จำเลยที่ 1 ผู้จำนำมีสิทธิเข้าออกโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำได้ตลอดเวลา แต่สัญญาจำนำไม่ได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ การนำทรัพย์จำนำออกจากสถานที่เก็บรักษาเพื่อการไถ่ถอนทรัพย์จำนำก็ดี การนำทรัพย์จำนำไปขาย จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาระผูกพันหรือบุริมสิทธิใด ๆ กับทรัพย์จำนำก็ดี หรือการนำทรัพย์จำนำเข้าออกจากสถานที่เก็บรักษาก็ดี ล้วนแต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนทั้งสิ้น และไม่ถือว่าทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญารักษาทรัพย์จำนำก็ระบุให้ผู้รักษาทรัพย์จำนำดูแลและรักษาทรัพย์จำนำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และแทนโจทก์เท่านั้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รักษาทรัพย์จำนำมิได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์จำนำแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้รักษาทรัพย์จำนำไม่มีสิทธิเคลื่อนย้าย นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระใด ๆ แก่ทรัพย์จำนำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทรัพย์จำนำอยู่ในครอบครองของโจทก์ตลอดเวลา โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำทรัพย์จำนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำจึงหาระงับสิ้นไปไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2566 แม้ได้ความจาก ส. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อจำเลยมาชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโทรทัศน์ ผู้เสียหายที่ 1 ถามพยานว่าให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหรือไม่ ตอนแรกพยานไม่ยอมให้ไป เมื่อผู้เสียหายที่ 1 รบเร้าพยานจึงอนุญาต แต่การอนุญาตดังกล่าวก็เป็นการอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโทรทัศน์ที่บ้านของจำเลยเท่านั้น มิใช่อนุญาตให้ไปกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลยและกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 พฤติการณ์ของจำเลยจึงบ่งชี้แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาพาผู้เสียหายที่ 1 จากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกจากการปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้การปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2566 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แทนวิธีการตามที่กำหนดในข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 แต่ก็มีผู้ถือหุ้นบางส่วนรวมทั้งโจทก์ยังคงคัดค้านการใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ทั้งเมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาเหตุที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วดำเนินการลงมติเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ ประกอบกับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกคำสั่งกล่าวโทษจำเลยที่ 1 เหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 ทำให้กลุ่มของจำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นกรรมการ อีกทั้งยังปรากฏว่าศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมเกี่ยวกับวาระเลือกตั้งกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แต่กรณียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2979/2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนคดีถึงที่สุดแล้ว ระหว่างจำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า “จำหน่าย” ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำอย่างเดียวกันคือการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งแยกเป็นคนละฐานความผิด จึงต้องลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 เพียงบทเดียว ส่วนการที่จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ป.ยาเสพติด มาตรา 153 ยังคงบัญญัติให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งดังกล่าวน้อยกว่าอัตราโทษ ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ ทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 แต่กฎหมายใหม่กำหนดหลักเกณฑ์ให้โจทก์ต้องระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล หรือมิฉะนั้นผู้กระทำความผิดต้องยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจึงจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ส่วนการกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ป.ยาเสพติด มาตรา 126 ยังคงบัญญัติให้ระวางโทษผู้พยายามกระทำความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 แต่เมื่อลงโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว จึงต้องบังคับตามกฎหมายใหม่ มาตรา 126 ด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 4,018 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 70.823 กรัม และจำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1,996 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35.180 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบการกระทำความผิดของจำเลยมาจากผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้โทษที่เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย จึงวางแผนล่อซื้อและจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลาง พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และหากมีการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางออกไปย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังผู้เสพหลายคนโดยสภาพเข้าลักษณะเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) มิใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ทั้งยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป อันเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เช่นนี้ เมื่อ ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท และการมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามกฎหมายใหม่ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่จำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,996 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 4,018 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวลงโทษได้เพียงกระทงเดียว โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทั้งในเรื่องการกำหนดโทษและจำนวนกระทงลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 126 ป.อ. มาตรา 80 และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2566 การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่จำเลยที่ 2 มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยมิได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ถือเป็นการชำระอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวน 1,850,000 บาท ไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทยอยถอนเงินที่จำเลยที่ 1 นำฝากออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารโดยมิได้คืนให้จำเลยที่ 1 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2951/2566 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองร่วมกันมียาแก้ไอซึ่งมีส่วนผสมของไดเฟนไฮดรามีนและคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต อันเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตรายจำพวกฮิสตามีนและแอนติฮิสตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และขอให้ยึดรถกระบะของกลางที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นยานพาหนะไปรับและส่งยาแก้ไอให้แก่ลูกค้า เมื่อคดีมิได้มีการสืบพยานและข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถกระบะของกลางไปรับและส่งยาแก้ไอของกลางในลักษณะอย่างไร ทั้งรถกระบะโดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถกระบะของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยสองได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถกระบะของกลาง ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2566 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2566 เหตุบกพร่องของสัญญาไม่ว่าจะเป็นการแสดงเจตนาลวงหรือกลฉ้อฉลของผู้คัดค้านอันนำไปสู่ข้ออ้างของผู้ร้องว่าเป็นการกระทำละเมิดของผู้คัดค้าน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขาย จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญา และการมีผลใช้บังคับของสัญญา ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 การยื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญา หาใช่มูลละเมิด และตามคำร้องดังกล่าวเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับข้อโต้แย้งตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ทั้งผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องดังกล่าวแล้วว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านหรือเพื่อจะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ย่อมมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2566 ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งปรากฏในคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้ว การที่ผู้ร้องมิได้ระบุโฉนดที่ดินเลขที่ 18874 เป็นหลักฐานประกอบไว้ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินและทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ก็จะฟังว่า ผู้ร้องไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 มิได้กำหนดระยะเวลาในการขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้ไว้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะขออนุญาตแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้จากการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2863/2566 เมื่อสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าคดีนี้ไม่มีคุณลักษณะที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหน่วยของเครื่องดังกล่าว และอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยเฉพาะ แต่ยังสามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นได้ นอกจากนี้ ตามรายละเอียดของสินค้าและข้อมูลในแค็ตตาล็อกระบุคุณลักษณะและประสิทธิภาพการทำงานของสินค้าพิพาทว่าเหมาะกับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่านำไปใช้สำหรับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหน่วยของเครื่องดังกล่าว และอุปกรณ์โทรคมนาคมเท่านั้น ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของสินค้านั้น จึงไม่อาจจัดเข้าในพิกัดศุลกากร ประเภท 8504.40.11 ในฐานะเครื่องจ่ายไฟสำรอง (ยูพีเอส) ได้ แต่จัดอยู่ในพิกัดศุลกากร ประเภท 8504.40.90 ในฐานะเป็นเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ อื่น ๆ อัตราอากรร้อยละ 10
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2566 โจทก์ว่าจ้างจำเลยควบคุมงานก่อสร้างโครงการอาคารชุดของโจทก์ การควบคุมงานในส่วนงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมอันเป็นงานก่อสร้างของบริษัท น. งานที่ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องและยังไม่ได้แก้ไข จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมงานให้ถูกต้องตามที่ได้ให้สัญญา เป็นการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่การควบคุมงานในส่วนงานระบบของบริษัท อ. เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าจ้างควบคุมงานของเดือนมีนาคม 2559 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่มาควบคุมงาน การที่จำเลยไม่มาควบคุมงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะทิ้งงาน ที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2559 แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และมีหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แต่ตามหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยกลับมาทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างภายใน 15 วัน และขอให้จำเลยเรียกบริษัท อ. เข้ามาแก้ไขความบกพร่องที่เกิดจากการทำงานของบริษัทดังกล่าว เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา เท่ากับว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยทิ้งงานและเหตุที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท อ. ซึ่งทั้งสองเหตุนี้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ มีผลเท่ากับกับโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 4 วรรคสอง ระบุไว้ในตอนท้ายว่า การที่โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญา ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามสัญญา จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท น. ได้ยื่นฟ้องขอให้บังคับโจทก์คืนเงินประกันผลงานและชำระค่าจ้างทำงานก่อสร้างดังกล่าวส่วนที่ยังค้างชำระ โจทก์ฟ้องแย้งขอให้บังคับบริษัท น. ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานก่อสร้างบกพร่อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2309/2561 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์คืนเงินประกันผลงานที่โจทก์หักไว้จากค่าจ้างในแต่ละงวด รวม 14,256,971.38 บาท และให้รับผิดในค่าจ้างที่ยังไม่ได้ชำระ 7,978,778.68 บาท แก่บริษัท น. โดยให้หักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่บริษัท น. ทำงานก่อสร้างบกพร่อง เป็นเงิน 4,857,212.97 บาท ซึ่งค่าเสียหายในส่วนของงานก่อสร้างที่บกพร่องเป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้ ถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จำเลยและบริษัท น. ต้องรับผิดแก่โจทก์เช่นอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 การที่บริษัท น. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้กับเงินประกันผลงานและค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระ ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้ของจำเลยในคดีนี้ระงับไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แก่โจทก์อีก ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 5 ระบุว่า หากโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 4 แล้ว จำเลยจะต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยสัญญาข้อ 4 วรรคสอง มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่จำเลยได้รับไปแล้วคืน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2566 ที่ดินพิพาทมีชื่อ ป. ท. ส. จำเลยที่ 2 และ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเจ้าของรวมเหล่านั้นมิได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนของ น. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งมีผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 รวมอยู่ด้วย สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของ ส. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมถึงผู้ร้องที่ 4 ด้วย บุตรของ น. และ ส. ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเช่นเดียวกับ น. และ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทอยู่แต่เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทายาททุกคนของ น. และ ส. ทราบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง และมาตรา 287 (4)การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสองแม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2566 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ย่อมมีผลให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองทำการงานให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจึงไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้นั้น การที่จะชดใช้คืน ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้เถียงกันเกี่ยวกับการงานที่ได้ทำไปแล้ว กรณีจึงมีข้อพิจารณาว่า ค่าแห่งการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์นั้นมีเพียงใด เห็นว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการเฉพาะ มุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่โจทก์สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่เคยผลิตเครื่องสำอางเป็นผลสำเร็จและส่งมอบผลงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้แม้แต่ชิ้นเดียว แม้จำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการคิดค้น วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้โจทก์จนสามารถนำไปขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่ได้ความจากจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สูตรในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าวตลอดจนส่วนประกอบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้บอกให้โจทก์ทราบเนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ หากโจทก์ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น จะต้องว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตเท่านั้น แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่สามารถนำสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่จำเลยทั้งสองตระเตรียมไว้ไปใช้ประโยชน์หรือว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการผลิตต่อให้แล้วเสร็จได้เลย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2833/2566 หนังสือแจ้งความจำนงชำระเงินที่ยืมมีข้อความว่า ธ. ได้ยืมเงินจากผู้ตาย จำนวน 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้ ธ. ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ผ่อนชำระไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท และจะขอผ่อนชำระกับโจทก์ทั้งสอง (ภริยาผู้ตาย) เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และ ธ. ได้เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวด้วยตนเองโดยทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทวงถามเงินจาก ธ. เมื่อ ธ. มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้แก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกต้องไปว่ากล่าวเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเพื่อรวบรวมและแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสองต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2566 เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ข้อ 2 แล้ว โจทก์ไม่บรรยายว่า ข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นของจําเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างเป็นมูลเพื่อขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสี่ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ และฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้นั้น มีข้อความอย่างไร หรือเป็นความเท็จด้วยเหตุใดและความจริงเป็นอย่างไร ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสี่ไม่ยอมออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและจําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์ทราบมาก่อน ก็ไม่มีรายละเอียดของการกระทำว่าเป็นการเรียกประชุมครั้งใด เมื่อวันที่เท่าใด อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ฯ มาตรา 41 และ 42 อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้อ้างบทบัญญัติความผิดอื่นมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) ไม่อาจลงโทษจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ ส่วนจําเลยที่ 1 แม้ตามป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึง คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องไม่ชอบ ซึ่งต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2720 - 2721/2566 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้มีความผิดมูลฐานเพื่อกำหนดประเภทของความผิดอาญาที่นำมาใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อบุคคลที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อทรัพย?สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และดำเนินการทางแพ่งร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น หาได้บัญญัติความผิดมูลฐานขึ้นมาเป็นฐานความผิดใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเหมือนดังเช่นความผิดอาญาทั่วไปไม่ ดังนั้น การพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานจึงไม่จำต้องพิจารณาแยกเป็นรายกรรมเหมือนความผิดอาญาทั่วไป แต่ต้องพิจารณาตามบทนิยามของความผิดมูลฐานนั้น ๆ เมื่อความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ได้กำหนดองค์ประกอบของความผิดในส่วนวงเงินในการกระทําความผิดเพียงว่า มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค?าตั้งแต?ห?าล?านบาทขึ้นไป โดยมิได้ระบุว่าเป็นวงเงินในการกระทำความผิดแต่ละครั้ง จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานในส่วนดังกล่าวจากวงเงินในการเล่นการพนันที่จัดให้มีขึ้นทั้งหมด หากจัดให้มีการเล่นการพนันหลายครั้งต่อเนื่องกันก็ต้องพิจารณาจากวงเงินในการเล่นการพนันทุกครั้งรวมกัน บ่อนการพนันทั้งสามแห่งจัดให้มีการเล่นการพนันหมุนเวียนกัน เปิดให้เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน มีนักพนันหมุนเวียนกันเข้ามาเล่น บางช่วงเวลาถึงกับต้องรอคิวที่จะเล่น โดยเปิดให้เล่นการพนันประเภทไพ่ป๊อกบ่อนละประมาณ 2 ถึง 5 โต๊ะ มีตั้งแต่โต๊ะที่เปิดให้เล่นในราคา 50 บาท 100 บาท 200 บาท 500 บาท 1,000 บาท และ 2,000 บาท หากมีผู้เล่นจำนวนมากก็จะเปิดโต๊ะพนันเพิ่ม การเล่นใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ต่อตา ผู้เล่นสามารถแทงกับเจ้ามือกี่คนก็ได้ ในการเล่นแต่ละตาหากเป็นโต๊ะ 100 บาท จะมีเงินสะพัดประมาณ 10,000 บาท หากโต๊ะใหญ่ขึ้นจะมีเงินสะพัดประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ประกอบกับได้ความว่าทางบ่อนยังรับจำนำทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เข้าเล่นที่เสียการพนันจนหมดเพื่อนำเงินไปเล่นต่อ โดยในวันเข้าตรวจค้นเจ้าพนักงานสามารถยึดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำได้ถึง 63 ดอก แสดงว่าบ่อนทั้งสามแห่งมีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังได้ความจาก ธ. ว่าเป็นหนี้การพนันค้างชำระผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนมาก จึงโอนที่ดินสี่แปลงพร้อมอาคารสี่ชั้นตีราคาใช้หนี้การพนันประมาณ 15,000,000 บาท คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นมาตรการทางแพ่ง การพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดมูลฐานต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องหาจำต้องนำสืบถึงขนาดให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยเหมือนดังเช่นคดีอาญาไม่ เมื่อพิจารณาจำนวนหนี้การพนันของ ธ. ที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบพฤติการณ์ที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งเป็นบ่อนการพนันที่มีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูงและเปิดให้เล่นการพนันต่อเนื่องกันมาหลายครั้งเป็นเวลานานหลายปีแล้ว พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2710/2566 การที่ผู้ร้องไม่ได้แจ้งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคท้าย คงทำให้ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิอันจะได้รับชําระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จํานองเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่ใช้สิทธิขอกันส่วนได้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 (2) และที่ผู้ร้องไม่ได้ส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด สิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 (2) ก็ไม่ได้เสียไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องรับการแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชําระเพื่อกันเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดห้องชุดหลังจากบังคับจํานองชําระหนี้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2566 จำเลยที่ 2 หัวหน้าสำนักงานปลัดมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการ และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปมีหน้าที่ในขั้นตอนการจัดทำและรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณตามที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเสนอมาเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาและเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารโดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้างและเบิกจ่ายเงินงบประมาณในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 โดยภาระดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาด้วยความโปร่งใสและไม่ผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบอนุมัติการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างปิดกั้นคลองบางแพรกให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีการจัดจ้างจริง เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปในการจัดจ้างอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2693/2566 จำเลยทั้งสามร่วมกันทำการประมงโดยใช้อวนลากคานถ่างซึ่งถือเป็นประมงพาณิชย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 36 จึงเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา 114 (2) เรือยนต์ประมงหางยาวพร้อมเครื่องยนต์ของกลางซึ่งจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องริบเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 169 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2566 คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกไปจากผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์ขอมาด้วย คดีในส่วนแพ่งจึงต้องดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652/2566 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง...” จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2566 โจทก์นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของฝ่ายจำเลยในการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศครั้งนี้ไว้แล้ว โดยเฉพาะการกระทำตามอำเภอใจของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่การเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการเจรจากับโจทก์มาตลอด การไม่ยอมชำระค่าบริการสินค้าตั้งแต่แรกด้วยการอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน การทำสัญญาค้ำประกันโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญทั้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับลายนิ้วมือแต่ไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 รวมทั้งการทำหลักฐานการโอนเงินให้แก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อธนาคารแต่อย่างใด การกระทำเหล่านี้นับเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการไม่สุจริตในลักษณะที่ตนเองเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงแบบพิธีของจำเลยที่ 1 ในการประทับตราสำคัญ หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าได้ทำขึ้นโดยเจตนาให้มีลักษณะเป็นทางการอย่างเช่นหนังสือที่ออกโดยนิติบุคคลทั่วไป แต่มีลักษณะที่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำในนามส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่โจทก์และยอมปล่อยสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ค้าผู้สุจริตได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 เพื่อรับผิดในหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2566 การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินสาธารณูปโภคพร้อมที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่บรรษัท บ. เป็นการโอนที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ การโอนที่ดินดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 และผลของการโอนไม่ตกเป็นโมฆะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. ขายที่ดินเปล่าที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อคืนให้แก่โจทก์ ให้นิยามคำว่า “ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร” ทำนองเดียวกันว่าผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ให้นิยามเพิ่มเติมว่า ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดที่ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิจากผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินไม่ว่าในทางใด ย่อมเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้บรรษัท บ. ไม่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัท บ. และโอนที่ดินตีใช้หนี้แก่บรรษัท บ. ถือได้ว่าบรรษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร และเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจัดสรรจากบรรษัท บ. เนื่องจากการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปอันเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ตนซื้อและเหลืออยู่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ฯ มาตรา 49 วรรคสองสำหรับค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเข้าไปตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้อย่างไร และมีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ส่วนค่าตัดหญ้าในที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องดูแลที่ดินแปลงสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตัดหญ้าในส่วนนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2566 ลูกหนี้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยคดีนี้ แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองของลูกหนี้ จึงย่อมมีสิทธิเลือกที่จะยื่นคำขอชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือไม่ก็ได้ หากโจทก์ไม่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเพราะเห็นว่าหลักประกันที่มีอยู่นั้นคุ้มกับจำนวนหนี้ โจทก์ก็ยังคงครองสิทธิจำนองเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอยู่ในลำดับเดิมต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อโจทก์มาฟ้องบังคับจำนองในคดีแพ่งได้เอง โดยหาจำต้องขอบังคับบุริมสิทธิตามมาตรา 95 หรือต้องขอมติที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อนไม่ เมื่อทรัพย์จำนองเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้มีมาก่อนล้มละลายและไม่ปรากฏว่ากรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้สละสิทธิในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายอยู่ในอำนาจจัดการของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2566 การมีค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 (1) และมาตรา 77/1 (8) (ฉ) โจทก์ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีเจตนาเพียงแจ้งเลิกกิจการเนื่องจากบริษัทของโจทก์มีการโอนกิจการบางส่วนเท่านั้น มิได้ยื่นเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรในกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน การขายกิจการของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 สัญญาขายและโอนกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. เป็นการซื้อขายกิจการและโอนกิจการบางส่วนหาใช่การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ เมื่อโจทก์มีการขายสินค้าอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงยังคงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินของจําเลยการที่โจทก์เปลี่ยนนโยบายบัญชีจากเดิมตัดจําหน่ายค่าความนิยมด้วยวิธีเส้นตรง (Straight-Line Method) มาเป็นวิธีประเมินการด้อยค่าทรัพย์สินค่าความนิยมแทนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 เป็นต้นมา โดยไม่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์ยังคงดำเนินกิจการนายหน้าในการจำหน่ายและสามารถขายธุรกิจการเป็นนายหน้าในการจำหน่ายในปี 2553 ได้นั้น จึงเท่ากับว่าโจทก์ยังคงมีค่าความนิยมเหลืออยู่เรื่อยมาจนถึงวันเลิกกิจการ ฐานภาษีสำหรับกรณีของโจทก์ซึ่งมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ จึงต้องใช้ราคาตลาด ณ วันเลิกกิจการตามมาตรา 79/3 (5) และมาตรา 79/3 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการและงบการเงินของโจทก์จะเห็นได้ว่ากิจการของโจทก์ประกอบด้วยสินทรัพย์หลายประเภทรวมถึงค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่น การที่โจทก์ขายธุรกิจจัดจําหน่ายในราคา 82,280,000 บาท และขายกิจการนายหน้าในการจําหน่ายในราคา 114,333,525 บาท นั้น จึงเป็นราคาที่รวมมูลค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่นอยู่ด้วย จึงไม่อาจนํามาหักได้ทั้งจำนวน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความผิดที่ตรวจพบกรณีแจ้งเลิกกิจการ โดยใช้วิธีคํานวณราคาตลาดค่าความนิยมตามงบการเงินที่จัดทำตามกฎหมายภาษีเป็นฐานภาษีในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หาใช่ราคาตลาดตามงบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่โจทก์อ้าง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นํารายรับบางส่วนมาหักให้แล้ว จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่กรณีแล้วป.รัษฎากร มาตรา 85/18 กำหนดไว้แต่เพียงว่าในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19 โดยมิได้กําหนดให้ความรับผิดของผู้ประกอบการจดทะเบียนในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหมดสิ้นไปด้วย ดังนั้น การขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีผลเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เกิดขึ้นก่อนแล้วของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว คดีนี้ตามข้อ 9 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการ หรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินยังมิได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นก่อนที่โจทก์ถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่พฤติการณ์ของโจทก์ที่บันทึกค่าความนิยมของกิจการมีมูลค่า ณ วันที่โจทก์ซื้อกิจการเป็นจำนวนถึง 600,000,000 บาทเศษ แต่ภายหลังจากโจทก์ซื้อกิจการดังกล่าวมาได้ 2 ปีเศษ กลับเปลี่ยนวิธีการทางบัญชีในการบันทึกค่าความนิยมโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรและคํานวณค่าความนิยมของกิจการโจทก์ให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ ซึ่งข้อเท็จจริงในการบันทึกบัญชีและมูลค่าของค่าความนิยมล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น แต่โจทก์กลับบันทึกบัญชีแสดงมูลค่าของค่าความนิยมให้ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่สมเหตุสมผล ถือว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2566 บทบัญญัติในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 บัญญัติให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นขอคืนของกลางในคดีค้ามนุษย์ แต่คดีได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ กระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง และไม่ก่อสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง ศาลฎีกาจึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้ร้องเพื่อให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2566 คำว่า “กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด” ตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงโทษ หรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด และมีผลให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 (1) ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุก 8 เดือน กับจำคุก 10 ปี และปรับ 700,000 บาท ตามลำดับ เมื่อโทษที่กำหนดในภายหลังสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบ ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน หรือปรับไม่เกิน 26,666.66 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ความผิดทั้งสองฐานจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้ แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2566 การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และฐานพยายามจําหน่ายเป็นหลายกรรม และการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ออกบังคับใช้ในภายหลังได้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และรวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ซึ่ง ป.ยาเสพติด มาตรา 1 บทนิยามคําว่า “จําหน่าย” มีความหมายรวมถึงการมีไว้เพื่อจําหน่ายด้วย ดังนั้น ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจําหน่ายและฐานพยายามจําหน่ายจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน การที่ศาลปรับบทความผิดทั้งสองฐานเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังซึ่งลงโทษจําเลยฐานจําหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) เพียงกรรมเดียว กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วน ป.ยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้เช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จําเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อตาม ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นําไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่มิใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษเพราะการกระทำผิดซ้ำไว้ เมื่อจําเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเพราะไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคําขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจําเลยได้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2566 กรณีเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีเจตนาวางแผนร่วมกันนำเข้าสินค้าโดยแยกกันนำเข้าเพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าและได้รับประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน โดยในวันที่ 29 เมษายน 2547 วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 สำแดงเป็นแชสซีที่มีเครื่องยนต์ (Chassis Fitted with Engine for Truck/Tractor) ประเภทพิกัด 8706.00 เสียอัตราอากรร้อยละ 10 ส่วนที่จำเลยที่ 2 สำแดงเป็นชิ้นส่วนหัวเก๋ง (Cab Shell) พร้อมอุปกรณ์ (Parts and Accessories of Cab) ประเภทพิกัด 8707.900 ประเภทพิกัด 8708.400 ประเภทพิกัด 8708.940 และประเภทพิกัด 9401.200 เสียอัตราอากรร้อยละ 40 ร้อยละ 30 ร้อยละ 10 และร้อยละ 10 ตามลำดับ การสำแดงและแยกการนำเข้าดังกล่าวเป็นการกระทำที่แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบและชักพาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรผิดหลงในรายการสินค้าและประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าเพื่อจะได้ชำระอากรขาเข้าเป็นเงินจำนวนน้อยกว่าอากรขาเข้าตามประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าที่ถูกต้อง คือ ชิ้นส่วนของ Truck Tractor Chassis with Cab and Accessories of Cab เพื่อประกอบเป็นรถทรัคแทรกเตอร์ครบชุดสมบูรณ์ทั้งคัน (CKD) เข้าประเภทพิกัด 8701.20 อัตราอากรร้อยละ 30 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดในทางอาญาเป็นคนละส่วนกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาปัญหาประเภทพิกัด เมื่อในขณะนำเข้าสินค้าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แยกการนำเข้าต่างหากจากกัน การพิจารณาปัญหาพิกัดจึงต้องแยกการพิจารณาเป็นรายบริษัท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อยืนยันว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ (11) พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490” แต่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ยังบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าในส่วนที่ให้ปรับรวมและกฎหมายใหม่ในส่วนโทษแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2566 ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง หาจำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทของผู้ตายทุกกรณีไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผู้ตายที่ 1 กับ ศ. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตาย ก่อนตายผู้ตายที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 419 และ 420 โดยผู้ตายที่ 1 กับผู้ตายที่ 2 ทำประโยชน์และมีชื่อเป็นผู้ครอบครองร่วมกันตั้งแต่ปี 2516 โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ตายที่ 1 เป็นผู้ทำกินโดยปลูกข้าวและนำผลผลิตมาอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายที่ 2 หากผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายก็ให้ที่ดินทั้งหมดตกเป็นสิทธิของผู้ตายที่ 1 เพียงผู้เดียว ต่อมาผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ตายที่ 1 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงแก่ความตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายที่ 1 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของผู้ตายที่ 2 เมื่อปรากฏว่าการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องและผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2566 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยมีเนื้อความว่า “ตัวเองไม่ต้องคืนเงินพี่แล้วนะ แล้วพี่ก็จะไม่ทวงไม่ทำให้ตัวเองลำบากใจอีก พี่ขอโทษกับเรื่องราวที่ผ่านมา และอยากให้รู้ว่าพี่ยังรักตัวเองอยู่” ข้อความการสนทนาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะทวงเงินที่จำเลยยืมไปอีก เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการปลดหนี้จำนวนอื่น ไม่ใช่หนี้จำนวน 105,000 บาท จำเลยยืมไปแล้วยังไม่ชำระคืนให้โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า โจทก์ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์ทวงเงินคืนจากจำเลย และส่งข้อความถึงจำเลยให้เวลาจำเลยคืนเงินภายในเวลา 1 เดือน เมื่อจำเลยมีพยานหลักฐานคือข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทวงเงินคืนจากจำเลยว่าโจทก์ปลดหนี้ตามฟ้องให้จำเลยแล้ว แม้ข้อความจะไม่ได้ระบุชัดว่ามูลหนี้ใดและโจทก์อ้างว่าหมายถึงหนี้ จำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น แต่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยืมจากโจทก์ก็คงมีเพียงมูลหนี้ 105,000 บาท เพียงอย่างเดียว เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามเพิ่มว่า โจทก์คบหากับจำเลย ระหว่างที่คบหาก็มีการให้ยืมเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างประมาณ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาท บ้าง และให้ทั้งที่เป็นเงินสดและโอนเข้าบัญชีการให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยเสน่หา ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าเงินจำนวนเล็กน้อยที่โจทก์อ้างนั้นเป็นการให้โดยเสน่หาเฉกเช่นคนรักที่คบหากัน ไม่ใช่มูลหนี้อื่นตามที่โจทก์อ้าง และไม่ปรากฏว่าโจทก์นำพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีมูลหนี้ที่จำเลยยืมจากโจทก์จำนวนอื่นอีก แม้การแสดงเจตนาปลดหนี้จะใช้วิธีการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งมิใช่การส่งผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ตามที่โจทก์เคยใช้ติดต่อกับจำเลย ก็ได้ความจากคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เองว่า จำเลยตัดช่องทางการติดต่อกับโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์แต่จำเลยไม่รับ จึงติดต่อไปทางแอปพลิเคชันวีแชต จึงเชื่อว่าหนี้ที่โจทก์แสดงเจตนาปลดหนี้เป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมตามฟ้อง การส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชตเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับด้วย เมื่อโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ส่งข้อความดังกล่าวให้จำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนโจทก์ได้ ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8 พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2566 จำเลยนำซากรถยนต์เก๋งยี่ห้อ MINI AUSTIN และหัวเก๋งยี่ห้อ MINI ROVER พร้อมเครื่องยนต์อีก 2 เครื่อง มาประกอบเข้าด้วยกันเป็นรถยนต์ของกลางแล้วโฆษณาประกาศขาย ซึ่งการซื้อซากรถยนต์เก๋งยี่ห้อ MINI AUSTIN และหัวเก๋งยี่ห้อ MINI ROVER ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้ขายได้แจ้งจดทะเบียนการโอน ทั้งไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถ บ่งชี้ให้เห็นว่าซากรถยนต์และหัวเก๋งดังกล่าวจำเลยซื้อมาในสภาพของชิ้นส่วนอะไหล่เก่า การที่จำเลยนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นรถยนต์ของกลางเท่ากับเป็นการผลิตสินค้าตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 หาใช่การซ่อมแซมหรือบำรุงรักษารถยนต์เก่า รถยนต์ของกลางจึงเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต การที่จำเลยมีรถยนต์ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตไว้เพื่อขายจึงเป็นความผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2566 การขับรถกระบะบรรทุกของกลางที่มีการทำหลังคาฝาปิดด้านข้างและด้านท้ายจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจังหวัดสมุทรปราการมีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินไปได้เอง จำเลยจำเป็นต้องใช้รถของกลางเป็นยานพาหนะพาคนต่างด้าวเดินทางไป โดยใช้วิธีการให้คนต่างด้าวสองคนหลบซ่อนอยู่ในช่องใต้หลังคาด้านบนของหัวรถ แล้วใช้ถังน้ำมันขนาดประมาณ 30 ลิตร หลายถังปิดบังไว้ อันเป็นการซ่อนเร้นคนต่างด้าวดังกล่าว จึงมิใช่การใช้รถของกลางตามสภาพอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่มุ่งประสงค์จะใช้รถของกลางในการช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม รถของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2566 จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารรับฝากเงิน ทำการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความว่าเป็นการรับฝากเงินสงเคราะห์ แบบคุ้มครองสินเชื่อแก่ลูกค้าผู้กู้ของธนาคาร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ฝากเงินสงเคราะห์และเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ฝากเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรลูกค้าผู้กู้และคู่สมรส อายุระหว่าง 20 ปี ถึง 70 ปี ชำระเงินต่อปี โดยมีผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรับเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนสงเคราะห์ ข้อความโฆษณาดังกล่าวจำเลยนำมาจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ย่อมทำให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจว่า หากผู้ตายเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลย นำเงินไปฝากกับจำเลยตามจำนวนและต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาแล้ว ผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ที่จำเลยโฆษณาไว้ด้วย จำเลยจึงต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามที่ตนโฆษณาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 การที่ผู้ตายขอฝากเงินสงเคราะห์ต่อจำเลยโดยมุ่งหวังรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 จึงเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตให้แก่ผู้ตายอยู่ด้วย เพราะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1878/2566 โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยภาคบังคับให้รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกันกับการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ละเมิด เมื่อกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยสำหรับการเสียชีวิตจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคนสำหรับการเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องชําระแก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่เป็นทายาทโดยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 22 บัญญัติว่า “การได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 ไม่ตัดสิทธิผู้ประสบภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และมาตรา 31 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทน....ไปแล้วจำนวนเท่าใดให้บริษัท...มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าวหรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินดังกล่าวได้” อันหมายความว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อผู้ประสบภัยได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. จากผู้ก่อความเสียหายได้อีก และในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจำนวนเท่าใด บริษัทก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้จึงเป็นการจ่ายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขความคุ้มครองหมายถึงค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัยดังกล่าว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. นั่นเอง คดีนี้ผู้ตายขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถกระบะของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หากจำเลยที่ 3 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป จำเลยที่ 3 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้ ในกรณีนี้คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับ รวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยภาคบังคับ แม้การฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดจะเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ตาม ในส่วนที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดนี้ หากจำเลยที่ 3 ชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเท่าใดก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิดหรือผู้ก่อความเสียหายได้ ตามมาตรา 31 แห่งบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ดังนั้น เมื่อเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ แม้การฟ้องจะแยกจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องรับผิด ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชําระเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้เกินจำนวนความเสียหายที่ได้รับ และไม่ให้บุคคลภายนอกผู้ก่อความเสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าที่ต้องรับผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมตามจำนวนความเสียหายที่กําหนดให้แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามคําพิพากษาจนเป็นที่พอใจแล้ว กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชําระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมได้อีก เพราะจะทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งหากจำเลยที่ 3 ชําระให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมแล้วก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินไปกว่าจำนวนความเสียหายที่แท้จริง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2566 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือ และต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ ประการแรก ต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีการอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนั้น ประการที่สอง จะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และประการที่สาม คำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางนำมาใช้วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางอ้างถึงเหตุต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาอย่างชัดแจ้ง คงปรากฏเฉพาะเพียงการนำคำพยานโจทก์และพยานจำเลยมาเรียงต่อกัน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลย โดยไม่ปรากฏถึงเหตุผลของคำวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเหตุใดศาลแรงงานกลางจึงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนั้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1788/2566 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้กำหนดกรณีดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2566 การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ศาลมีอำนาจที่จะขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำต้องร้องขอ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ต่อมาโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แต่ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายหลังรับคำร้องนานเกือบ 3 เดือน แล้วมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว นับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่ระยะเวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิดังกล่าว ทำให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ต้องถือว่าศาลมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ จ. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามที่ศาลชั้นต้นให้ขยาย กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2566 คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและการทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2566 ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ยังคงบัญญัติให้ผู้แข่งรถในทางเป็นความผิดอยู่ และมาตรา 134/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังคงบัญญัติให้ผู้จัด หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางเป็นความผิด กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 134 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม) แต่อัตราโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษปรับขั้นต่ำสูงกว่ากฎหมายเดิม และโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกและปรับสูงกว่ากฎหมายเดิม ดังนั้น โทษตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนการที่บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งเป็นคุณกว่าบทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (เดิม) ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนโดยไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย แต่ก็ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566 ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2566 สัญญาเช่าข้อ 10.3 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องรับผิดชอบชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า สอดคล้องกับข้อ 3.2 ซึ่งกำหนดว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยเหตุจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เช่าหรือผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลา ผู้เช่าตกลงให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้สัญญาเช่าข้อ 11 ยังระบุว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบกำหนดสัญญาแล้ว ไม่มีการต่อสัญญาออกไปตามข้อ 9 หรือโดยการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10 หรือด้วยเหตุอื่นใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อ 11.1 ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันที โดยมิจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครองยึดหน่วง และขนย้ายทรัพย์สินทั้งปวงที่อยู่ในทรัพย์สินที่เช่าออกไป รวมทั้งมีสิทธิดำเนินการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปด้วย และสัญญาจ้างบริการข้อ 8 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการใช้บริการได้ในกรณีสัญญาจ้างบริการสิ้นสุดโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของจำเลย แสดงให้เห็นว่าหากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจำเลยจะมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าอีกต่อไป รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการเช่าและเงินประกันการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าและสัญญาจ้างบริการก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันตามสัญญาเช่าข้อ 10.3 เมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระเสมือนหนึ่งเป็นการเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่เลิกกันไปแล้วหาได้ไม่ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่บอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญาโดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2566 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ให้ผู้ต้องขังชาย ด. เป็นผู้เขียนอุทธรณ์ และผู้ต้องขังชาย ด. ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ท้ายฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ต้องขังชาย ด. มิได้เป็นทนายความ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยพลั้งเผลอที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงผิดพลาดไป อันจะทำให้ฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องว่ามีบุคคลซึ่งมิได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้น ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่ให้มีอำนาจเรียงฟ้องอุทธรณ์ เป็นผู้เขียนฟ้องอุทธรณ์และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงในฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 สั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องดังกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2566 เมื่อคดีฟังได้ว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ให้บริการในการที่ผู้เอาประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ โจทก์จึงมิได้เป็นตัวกลางผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อบำเหน็จ ค่าตอบแทนที่โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยต่อจ่ายให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อเป็นเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิ ที่คำนวณโดยนำจำนวนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต้นเป็นตัวตั้งและหักด้วยส่วนลดที่โจทก์เรียกว่า Fee and Commission Income Local สำหรับการประกันภัยต่อในประเทศ และเรียกว่า Fee and Commission Income Non Local สำหรับการประกันภัยต่อในต่างประเทศตามอัตราที่ตกลงกันไว้ ซึ่งมีอัตราหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอัตราส่วนความเสียหายและความเสี่ยงในแต่ละสัญญาประกันภัย บริษัทผู้รับประกันภัยต่อจึงได้รับเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิเป็นค่าตอบแทนเพื่อความเสี่ยงตามสัญญาประกันภัยต่อ และเมื่อโจทก์มิใช่นายหน้าหรือผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อ ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร จึงไม่ใช่ค่านายหน้า แต่เป็นเพียงตัวแปรในวิธีการคำนวณเพื่อให้ได้เบี้ยประกันภัยต่อสุทธิตามปกติธรรมเนียมประเพณีของธุรกิจประกันภัย และการที่โจทก์ทำสัญญาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่ออีกทอดหนึ่ง แยกต่างหากจากการทำสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัย โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยต่อจึงอยู่ในฐานะผู้รับบริการ ส่วนผู้รับประกันภัยต่ออยู่ในฐานะผู้ให้บริการ และเมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้บริการใด ๆ ต่อผู้รับประกันภัยต่อ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ใช่ค่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) ดังนั้น ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อในประเทศและต่างประเทศจึงมิใช่มูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการอันเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 วรรคหนึ่งกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ ถือว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศเป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยต่อให้บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2) ส่วนฐานภาษีที่โจทก์ต้องนำมาคำนวณเพื่อส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรวมส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อหรือไม่นั้น ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2) บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีเมื่อมีการชำระค่าบริการให้ผู้ประกอบการ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อเป็นตัวคำนวณหาค่าเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ผู้รับประกันภัยต่อ มิใช่ส่วนลดที่ผู้รับประกันภัยต่อลดให้โจทก์จากค่าเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิที่กำหนดไว้แล้ว อันจะนำมาเป็นค่าบริการของผู้รับประกันภัยต่อ เมื่อส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศไม่ใช่ค่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) จึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ต้องนำส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อดังกล่าวมารวมเป็นฐานภาษีเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566 ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2566 ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศ เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสามฐานร่วมกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวอีกกระทงหนึ่งได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2566 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 มาตรา 12 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1 ใน 6”และมาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชกฤษฎีกานี้... “ผู้กระทำความผิดซ้ำ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว และกลับมาต้องโทษจำคุกในคราวนี้อีกภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคราวก่อน กับความผิดทั้งสองคราวไม่ใช่ความผิดฐานลหุโทษหรือประมาท..." เมื่อคำว่าผู้กระทำความผิดซ้ำเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมาตรา 12 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่านักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกับผู้ร้องจะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษหรือไม่ เพียงใด อันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในข้อที่วินิจฉัยแปลความคำว่า นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ตามมาตรา 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ยกเรื่องการแปลความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ทั้งคู่ความไม่ได้ยกเรื่องการแปลความดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาด้วย ศาลฎีกาก็ยกเรื่องการแปลความคำว่านักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ตามมาตรา 3 ขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225ผู้ร้องได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2829/2543 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีอันมีผลให้ถือว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว แม้การล้างมลทินไม่ได้เป็นการลบล้างความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่ผลของการล้างมลทินที่ให้ถือว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว ย่อมมีความหมายชัดเจนอยู่ว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำในคดีก่อน ผู้ร้องจึงไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ย่อมไม่มีทางที่ผู้ร้องจะเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำไปได้ กรณีจึงไม่อาจพิจารณาให้ผู้ร้องได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 มาตรา 12
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2566 ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรง เพื่ออธิบายว่ากรณีจะต้องบังคับตามรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.20 หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน คำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 การบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2566 ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่จําเลย ครบกำหนดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานปกติ โดยมิได้ถูกกําหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 แต่จําเลยมิได้ยื่นฎีกาในวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งหากจําเลยประสงค์ยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยื่น ส่ง และรับคําคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 ข้อ 7 วรรคสาม ก็ต้องยื่นภายในวันครบกำหนดได้รับอนุญาตให้ขยายฎีกาตามเวลาทำการปกติคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.30 นาฬิกา เช่นเดียวกัน เมื่อจําเลยยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19 : 39 : 09 นาฬิกา จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกําหนดเวลาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2566 บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์มีข้อความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้ระบุว่าส่วนของเจ้าของรวมแต่ละคนมีแนวเขตตั้งแต่บริเวณใดถึงบริเวณใด จำนวนเนื้อที่เท่าใด ไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 โจทก์ไม่มีสิทธินำบันทึกดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2566 จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบล ห. ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และจำเลยวางเงินรวม 73,060 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 73,060 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 93,060 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 73,060 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 93,060 บาท และต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า เงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2566 จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบลหนองเรือ ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และมีการวางเงิน 72,597 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 72,597 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 92,597 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 72,597 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 92,597 บาท และการที่เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าว และขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง นำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2566 แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อน พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 20 ที่กำหนดให้สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณี (3) ให้นําความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ หากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากโดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชําระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมาจำเลยผู้ซื้อฝากได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือนตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังอยู่ภายในกำหนดไถ่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300/2566 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221” วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” มิได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าหากมิได้ดำเนินการตามมาตรา 1119 แล้ว จะทำให้การเป็นผู้ถือหุ้นเป็นโมฆะ หรือกลับกลายเป็นไม่เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมีผลแต่เพียงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวยังมิได้ใช้เงินเป็นค่าหุ้นแก่บริษัทเท่านั้น กรรมการจึงสามารถที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทเสียเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1124 ทั้งตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในขณะที่ ส. ยังมีชีวิตอยู่ ส. ก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้วหรือไม่ และโดยวิธีใด เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเรียกเงินค่าหุ้น จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่เคยได้รับมอบใบหุ้น ไม่เคยเข้ามีส่วนได้เสียในบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้ส่วนได้เสียของบริษัท เช่น กำไร ขาดทุน นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ไปรับหรือไม่ จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือเชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจะว่าโจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เข้ามามีส่วนได้เสียของบริษัทหาได้ไม่ จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และ ป.อ. มาตรา 137แม้คำฟ้องของโจทก์ ข้อ 2.1 ที่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น โจทก์จะมิได้บรรยายเจตนาพิเศษมาในคำฟ้องก็ตาม แต่ต่อมาในข้อ 2.3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 และฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการหรือยินยอมให้มีการปลอมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามฟ้อง ข้อ 2.1 เพื่อลวงโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) แล้ว ดังนี้ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566 ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลยจำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วยภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566 การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสาม ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 86 และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566 จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่งการที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2566 โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งหกชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์อาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคําขอสินเชื่อ คําขอสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินออกหนังสือค้ำประกัน คำขอและข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารออกหรือต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ที่ระบุว่า “หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันไปนั้น” ข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชําระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งแม้จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นําสืบข้อเท็จจริง ให้ได้ความตามฟ้อง ปัญหาว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 เดิม หรือตามมาตรา 686 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขใหม่ หรือไม่เพียงใด ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติของมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่จึงต้องบังคับใช้กับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2566 ป.วิ.อ มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี...(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” ซึ่งคำว่า “ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย...”นั้น หมายถึง กรณีที่ศาลตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าคำฟ้องที่ยื่นนั้น โจทก์กระทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยเขตอำนาจศาลที่ยื่นฟ้องตามมาตรา 157 หรือกระทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 158 (1) ถึง (7) มาตรา 159 และมาตรา 160 หากผลการตรวจคำฟ้องปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ศาลสามารถสั่งให้แก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องโดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้องให้ถูกต้องเสียก่อน จึงเป็นข้อผิดพลาดที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงประกอบอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนพบข้อผิดพลาดของโจทก์และศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้ศาลชั้นต้นสั่งโจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ การที่ศาลอุทธรณ์ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเสร็จแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 215 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2566 คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง “ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ” ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6 (3) ประกอบมาตรา 90/3 กิจการของลูกหนี้ไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจยกคำร้องขอของผู้ร้องขอทั้งสองตั้งแต่ในชั้นตรวจคำร้องขอได้ โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองไว้ก่อนไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2566 หนี้ตามสัญญากู้เงินพิพาทเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริง หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำ แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่ายังมีหนี้ค้างชำระกันอีก หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินพิพาทจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566 ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” กับคำว่า “บริการสาธารณะ” แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะเมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไปตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไประเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2566 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนห้องชุดของจำเลยไว้เป็นเพียงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะยึดทรัพย์สินนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326ห้องชุดมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมสามารถบังคับคดีเอาแก่ห้องชุดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง การบังคับคดีของโจทก์จึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่มีสิทธิ หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริต การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ทั้งมิได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดชําระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2566 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) จึงมิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) วรรคแรก ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2566 การที่ ย. รู้ถึงข้อเท็จจริงที่ตนเคยได้รับการตรวจสุขภาพ และแพทย์ให้ข้อสังเกตว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนแล้ว แต่ไม่เปิดเผยข้อความจริงนั้น ซึ่งหาก ย. เปิดเผยย่อมจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาไม่ว่า ย. จะได้รับการรักษาต่อไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือไม่ จะเข้าพบแพทย์ด้วยสิทธิประโยชน์ทางใด หรือจะได้รับการจ่ายยาเพื่อรักษาโรคหรือไม่ รวมทั้งแท้จริงแล้ว ย. จะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อมูลที่จำเลยได้รับขณะทำสัญญาประกันภัยไม่ถูกต้องและเป็นข้อสำคัญที่จำเลยจะปฏิเสธไม่รับประกันภัย หรือหากจะรับประกันภัยก็ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าควรเสี่ยงรับประกัน ย. หรือไม่ ทั้งข้อวินิจฉัยของแพทย์ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์แล้วว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ไม่ว่า ย. จะถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุใด การที่ ย. ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความดังกล่าว สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566 แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566 ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า ...จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค...อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ...(3) การธนาคาร..” แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า “ผู้ใด” ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้องความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2566 แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองรวมแปดโฉนด ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปี และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดสัญญากู้โดยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนอง ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนองแก่ผู้ให้กู้ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อันเป็นการระบุว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและพยานวัตถุฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจำนองตกลงกันว่าจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 204,300 บาท แต่พยานขอลดหย่อนเหลือเดือนละ 200,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยแบ่งชำระเงิน 2 ยอด ยอดแรกชำระ 150,000 บาท อีกยอดชำระ 50,000 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้เฉพาะยอดเงิน 150,000 บาท เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้นเงิน 13,620,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 170,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่าที่รวบรวมใบเสร็จรับเงินได้ 12 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย การรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2566 เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์” ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดที่พิพาทนี้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงินถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2566 การร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบและการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เรียกเงินและสนับสนุนการเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจาก พ. น. อ. และ ว. ซึ่งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป กับ ม. และ ช. ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง แตกต่างกันทั้งจำนวนเงินและระยะเวลา ประกอบกับหากบุคคลทั้งหกคนใดคนหนึ่งให้เงินหรือไม่ให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่บุคคลทั้งหกเป็นรายบุคคลไป แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ที่ประสงค์จะให้เกิดผลของการกระทำความผิดต่อบุคคลทั้งหกแยกออกจากกันโดยชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2566 ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นโดยตรง กรณีที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าวทั้งสิบห้าคนซึ่งหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนี้ รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินรวมที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางที่คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ของกลางดังกล่าวมาใช้บรรทุกคนต่างด้าว 15 คน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และคนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในห้องโดยสารในลักษณะแออัดยัดเยียด ซึ่งผิดวิสัยของการนั่งโดยสารมาในรถตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการใช้รถยนต์ผิดประเภทและลักษณะการใช้งานของตัวทรัพย์เท่านั้น มิใช่พฤติการณ์ที่ถึงกับบ่งชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยตรงดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2566 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้ถือเอาอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสำคัญแต่ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ กล่าวคือในความผิดฐานใดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว แม้จำเลยให้การรับสารภาพ กฎหมายก็บังคับให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้เมื่อข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงสิบปีหกเดือน ถึงแม้โทษจำคุกสิบปีหกเดือนนี้จะเป็นโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกห้าปีแต่ก็เป็นอัตราโทษอย่างสูง ส่วนอัตราโทษอย่างต่ำในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนขึ้นไป ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกสิบปีหกเดือนลงมาจนถึงจำคุกหนึ่งปีหกเดือนก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 6 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่ได้สืบพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยนั้น ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566 แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2566 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากจะอุทธรณ์ได้เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จะต้องมีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้นด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้อุทธรณ์นอกจากจะโต้แย้งว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ชอบอย่างไรแล้ว จะต้องโต้แย้งในเนื้อหาของคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้องอย่างไรด้วย โดยในส่วนหลังนี้ต้องบรรยายให้ได้ความครบถ้วนตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง จึงจะเป็นอุทธรณ์ที่จะพึงรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำในอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์โต้แย้งแต่เพียงว่าศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานเพียงประการเดียว แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า เนื้อหาคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ขัดกับข้อเท็จจริงหรือขาดข้อเท็จจริงใดที่สมควรจะมีอยู่ หรือมีข้อกฎหมายสารบัญญัติใดที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาจบรรยายว่าพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนัก หรือหากมีการสืบพยานต่อไป พยานโจทก์จะมีน้ำหนักพอให้ลงโทษจำเลยได้เพราะอย่างไร เป็นต้น ดังนี้ กรณีฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 196
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2566 เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 – 4618/2560 ซึ่งเป็นคดีสาขาในชั้นบังคับคดีของคดีตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ได้พิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุว่า หากผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีต่อไป ต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำกับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ซึ่งมีบริษัท ต. เป็นโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แม้ทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 แต่การปฏิบัติการชําระหนี้สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจน กรณีไม่เป็นคําพิพากษาของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันนั้นขัดกันอันจะตกอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่งเมื่อ จ. และ ส. จำเลยทั้งสองตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยื่นคําร้องขอให้งดการโอนที่ดินพิพาทตามคําขอของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการบังคับคดีในลำดับแรกโดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นพ้นวิสัย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวและได้แต่รับมัดจำ รวมทั้งค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จะมาเรียกให้บังคับคดีในลำดับแรกอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2566 หนังสือรับรองสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิขององค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินและมีผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน อันเป็นกิจการที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นกิจการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2566 ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสี่ และวรรคห้า เป็นบทบัญญัติเพื่อให้หนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินได้รับการกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนองและให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ซื้อโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินว่า ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อความปรากฏว่า ก่อนขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแล้ว แต่ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ดังกล่าวล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามที่มาตรา 335 บัญญัติไว้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าลูกจ้างที่ดูแลรับผิดชอบที่ทำการของผู้ร้องในขณะนั้นไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการของผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้อง โดยลูกจ้างคนดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตนั้น กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ที่ศาลฎีกาจะขยายระยะเวลา 30 วัน ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองได้ ทั้งความปรากฏตามคำขอออกหมายบังคับคดีว่า จำเลยมีภาระหนี้คงค้างชำระอยู่แก่โจทก์เป็นเงิน 7,371,398.92 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 3,223,150.73 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยประกันภัย แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 ขายทอดตลาดได้ในราคาเพียง 3,700,000 บาท น้อยกว่าภาระหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะจ่ายให้แก่ผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2566 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดี อันได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีเป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่ขอใช้บริการในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นเป็นผู้ชำระ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 292 (1) และ (5) ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด การที่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว โดยไม่ได้แถลงให้ชัดเจนว่าโจทก์ขอถอนการบังคับคดี ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังเกษียนสั่งว่า โจทก์แถลงผลการชำระหนี้ภายนอก แต่ยังไม่สละสิทธิการบังคับคดีก็ตาม แต่ตามคำแถลงของโจทก์ย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีจากทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ได้อีกต่อไป ซึ่งต้องถือว่าเป็นการที่โจทก์ขอถอนการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (7) เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์แถลงว่าจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 327 ด้วยการให้ผู้ร้องเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากโจทก์เนื่องด้วยมีการถอนการบังคับคดีนั่นเอง จึงเป็นกรณียึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. กับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง และมาตรา 169/2 วรรคสี่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2566 จำเลยยื่นฎีกาและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่าการพิจารณาสิทธิฎีกาของจำเลยอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจําเลยไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ให้ยกคำร้อง วันที่ 17 มิถุนายน 2565 จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกฉบับหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจําเลยก็ตาม แต่การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครั้งหลังนี้ ได้ล่วงพ้นผลระยะเวลาที่จําเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจําเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจําเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597 - 602/2566 การทำงานล่วงเวลา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป” ซึ่งหมายความว่า หากนายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแล้ว นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในแต่ละคราว ๆ ไป นายจ้างถึงจะมีสิทธิให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานและเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาจ้างแรงงานข้อ 2. การปฏิบัติงาน ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่า เวลาปฏิบัติงานปกติให้ถือเวลาที่กำหนดโดยนายจ้าง ข้อ 2.2 ค่าจ้างล่วงเวลาให้ถือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานปกติ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานในข้อ 1. ค่าจ้างแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าข้อ 1.1 เวลาทำงานปกติ อัตราค่าจ้างต่อวัน (8 ชั่วโมง) วันละ...บาท อัตราค่าจ้างล่วงเวลา (4 ชั่วโมง) วันละ….บาท จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน การกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงานไว้ล่วงหน้าวันละ 4 ชั่วโมง เป็นการขัดต่อมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่อาจนำสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 มารับฟังทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการทำงานปกติและเวลาการทำงานล่วงเวลาได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยไว้โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมดูแลการทำงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะลูกจ้าง ด้วยการกำหนดเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และเมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านกันที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งการกำหนดเวลาการทำงานปกติดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงทำงานตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น เงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับจากการทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์ 2 ถึงที่ 7 ในช่วงระหว่างการทำงาน 4 ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2566 หนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าที่โจทก์เสียไปตามสำเนาใบแจ้งหนี้ เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวคำนวณรวมกับหนี้อื่นที่รับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้การที่โจทก์นำมูลหนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่ามาเป็นมูลหนี้ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันส่งทรัพย์สินที่เช่าคืน จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ของโจทก์บางส่วนขาดอายุความแล้ว อันเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ทำให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ของโจทก์มีจำนวนไม่ถึงสองล้านบาท กรณีจึงถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534 - 535/2566 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากสารบบความ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ย่อมเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2566 เช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2566 การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 265 ต้องระบุองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาพิเศษให้ปรากฏด้วยว่า จําเลยได้กระทำเพื่อนําเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน เมื่อคําฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจตามฟ้องว่า จําเลยคิดคดนําหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ในทางทุจริต และบรรยายต่อไปว่าโดยจําเลยนําหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความนำมาใช้ทำนิติกรรมสัญญายกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คําฟ้องของโจทก์จึงบรรยายเจตนาของจําเลยในการกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วว่ามีเจตนาไม่ซื่อเพื่อนําเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการซึ่งหมายถึงการงานที่ประกอบหรือธุระในการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ไปเป็นของจําเลย จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในดังกล่าวครบถ้วน และทำให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2566 สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จากจำเลยที่ 3 ในสัญญาระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการ หลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาได้บัญญัติว่า ถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายก็ไม่ตกเป็นโมฆะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566 แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2566 จำเลยเป็นกรรมการบริษัทคนหนึ่งจึงมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1207 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นและวาระการประชุมและข้อมติจะเป็นความเท็จ รายงานการประชุมก็ไม่เป็นเอกสารปลอม คงเป็นรายงานการประชุมที่จำเลยทำขึ้นเป็นเท็จ ส่วนที่จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม 2 แห่งใต้ข้อความว่า รับรองรายงานการประชุมถูกต้อง ย่อมเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม ส่วนอีกแห่งหนึ่งแม้น่าจะเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุม ซึ่งจำเลยไม่อาจเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประธานที่ประชุมที่ต้องจัดทำหรือรับรองรายงานการประชุม การที่จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมแม้เป็นความเท็จ แต่เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อของตนเอง จึงเป็นการลงลายมือชื่อจำเลยว่าเป็นประธานที่ประชุมอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำปลอมรายงานการประชุม จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2566 แม้โจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสมัครบัตรเครดิตมาแสดงต่อศาล คงมีเพียงรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายโดยไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการสูญหายของเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน ซึ่งตามใบแจ้งบัญชีบัตรเครดิต/ใบเสร็จที่โจทก์นำส่งปรากฏรายการใช้จ่าย ยอดชำระเงิน และจำนวนหนี้คงเหลือในระหว่างเดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2562 เวลาต่อเนื่องกันทุกเดือนเกือบ 6 ปี ลักษณะเป็นข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา และประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความดังกล่าวดังที่บัญญัติในมาตรา 7 ได้ มูลหนี้ตามคำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้บัตรเครดิตต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2566 แม้ได้ความตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 จำเลยทั้งสองวางเงิน 240,000 บาท ต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้เช็คพิพาท ทำให้ความผิดตามเช็คพิพาทฉบับนี้ระงับไปแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2565 ว่า ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์เกี่ยวกับเงินที่จำเลยทั้งสองวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น โจทก์แถลงว่าจะรับไว้โดยเป็นการเฉลี่ยเพื่อชำระหนี้ตามเช็คทุกฉบับ คำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า เงินที่จำเลยทั้งสองชำระนั้นโจทก์มิได้รับไว้เป็นการชำระหนี้เฉพาะเจาะจงตามเช็คพิพาทดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่เป็นการรับไว้เพื่อเฉลี่ยชำระหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องทุกฉบับ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เต็มตามมูลหนี้เช็คพิพาทครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวจึงมิได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงมิได้เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2566 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละ 1 เดือน 15 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ต่างไปจากศาลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์แยกฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไพ่ผสมสิบและจำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมกันเล่นการพนันภายในสวนไม่มีเลขที่ ซึ่งเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมล้อมวงเล่นการพนันไพ่ผสมสิบในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง, 12 (2) เป็นเงิน 750 บาท และให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 และสั่งให้จ่ายสินบนนำจับจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2566 โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2566 สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับจำพวกและรายการสินค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิในลักษณะที่เป็นการหวงกันมิให้ผู้อื่นนําเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยมิชอบ ดังนั้น ขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีจำกัดเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคําว่า HIKARI ที่ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าสว่านมือสำหรับเจาะเหล็ก กบไสไม้สำหรับไสไม้ให้บางลง เครื่องขัดสำหรับขัดเหล็กให้ผิวเรียบ ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้จำเลยที่ 11 ใช้เครื่องหมายการค้าคําว่า HIKARI กับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้าจักรเย็บผ้า มอเตอร์จักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นการใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับจำพวกและรายการสินค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 11 ไม่มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคําขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ได้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2566 ปลอกกระสุนปืนเล็กกลขนาด 7.26 มม. Russian 1 ปลอก ที่จําเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงไปแล้ว ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนําสืบให้เห็นว่า จําเลยจะใช้ปลอกกระสุนปืนของกลางไปอัดหรือใช้ประกอบให้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตหรือวัตถุได้ ดังนั้น ปลอกกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จําเลยมีไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แม้จําเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2566 ศาลนำเรื่องการวางเงินชำระหนี้บางส่วนของจำเลยมาพิจารณาประกอบเป็นเหตุบรรเทาโทษและลดโทษให้แก่จำเลย เท่ากับจำเลยได้รับประโยชน์จากการวางเงินดังกล่าวแล้ว ซึ่งการวางเงินของจำเลยก็เจตนาเพื่อชำระหนี้ตามเช็คให้ผู้เสียหายมารับไป และเมื่อผู้จัดการมรดกผู้เสียหายแสดงความประสงค์ขอรับเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2566 โดยสภาพการจ้างงานและสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบและกฎหมาย มีลักษณะแตกต่างจากลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการจึงมิใช่ลูกจ้างชั่วคราว แต่เป็นพนักงานของรัฐซึ่งถือว่าเป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2566 การบรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งความเท็จ ต้องระบุชัดเจนถึงข้อความเท็จนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร คำฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาล น. เพื่อขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎรของผู้มีชื่อ แต่ข้อความเท็จนั้นจำเลยแจ้งว่าอย่างไรไม่ปรากฏ และถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าในการขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎร จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนด้วยว่าข้อความจริงที่จำเลยปกปิดไว้เป็นอย่างไร เหตุใดการปกปิดไว้นั้นจึงถือได้ว่าเป็นการแจ้งข้อความเท็จ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้หากเหตุผลอันจำเลยอ้างในคำร้องเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่งจะเป็นความเท็จ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตรง หาได้เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียใด ๆ ของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 แต่เพียงว่าจำเลยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใด ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2566 เดิมโจทก์ร่วมฟ้อง ส. เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 902/2556 หมายเลขแดงที่ 2060/2557 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่และรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินโจทก์ร่วม และห้าม ส. กับบริวารเกี่ยวข้อง จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจ ส. ต่อสู้คดี ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส. เป็นทางสาธารณะ พิพากษาให้ ส. รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมและห้าม ส. กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของโจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด โดยคดีก่อน ส. กับจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ส. ให้การและเบิกความรับว่า พ. บิดาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินมือเปล่าหลายพันไร่ โดยใส่ชื่อ พ. ส. จำเลย กับบุตรอื่นของ พ. ในเอกสารสิทธิหลายฉบับบางฉบับใส่ชื่อผู้จัดการมรดกของ พ. เยี่ยงนี้ ส. จึงมีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแทน พ. นับแต่วันออกเอกสารสิทธิ เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ ส. และจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของ พ. การที่ ส. ผู้ถูกโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดิมย่อมอยู่ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกแทนจำเลยและทายาทอื่นของ พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1356 และ 1359 จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับ ส. และถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หาใช่บุคคลภายนอกที่ไม่ถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมไม่ เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จแล้ว จำเลยกระทำละเมิดขึ้นใหม่ กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองในคดีเดิมวินิจฉัยไว้ว่าการกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการละเมิดด้วยการปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามบนทางสาธารณประโยชน์ปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่ใช้เข้าออกจากที่ดินของโจทก์ร่วม เมื่อคดีเดิม ส. ฎีกาโดยโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา และต่อมา ส. แถลงขอยุติคดีโดยไม่ต้องการฎีกาต่อไปและขอถอนจำเลยจากการเป็นผู้รับมอบอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีเดิมจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันแถลงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และผูกพันโจทก์ร่วมกับจำเลย การที่จำเลยยังคงดื้อรั้นดันทุรังไม่ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาตามกฎหมายโดยยังคงเข้าไปปักเสาปูนและกั้นรั้วลวดหนาม ทั้งศาลชั้นต้นในคดีเดิมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อถอนเสาปูนและรั้วรวดหนามบางส่วนตามที่คู่ความตกลงกัน จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แก่ใจว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส.เป็นทางสาธารณะ ทั้งประสงค์ให้เกิดผลเป็นการปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่โจทก์ร่วมใช้เข้าออกจากที่ดินพิพาทสู่ทางสาธารณะ ซึ่งจิตใจของวิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปโดยวิสัยและพฤติการณ์เยี่ยงจำเลยพึงรับรู้และคาดหมายได้อย่างแน่แท้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เดิม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2566 คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในอันที่จะต้องนำมาผูกพันให้รับฟังว่าการกระทำของ บ. กับพวกเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาในคดีอาญา และคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวหาใช่คำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลอันจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) วันที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นวันที่โจทก์ถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไป อันเป็นวันวินาศภัย โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาแล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่สุด เพราะคำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในเวลาต่อมา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทควรจะย้อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย การที่วันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/18 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2566 การที่จำเลยที่ 2 ทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โจทก์เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสอง ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีแพทย์ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาเบิกความประกอบการให้ถ้อยคำในชั้นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับการแบ่งประเภทผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยเหลือตนเองได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังระหว่างการตรวจ หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงที่มีไม้กั้นของหอผู้ป่วยในระหว่างการตรวจ และมีนักรังสีการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะทำการตรวจทุกราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตนเองได้ สามารถปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจตามที่รังสีแพทย์สั่งได้ เช่น การพลิกตะแคงตัว หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงตรวจไฟฟ้าของหน่วยงานซึ่งออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถปรับความสูงต่ำของเตียงได้ (ไม่มีที่กั้นเตียง) เพื่อความสะดวกของแพทย์ในการตรวจ เห็นได้ชัดว่าการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเป็นเวชปฏิบัติทั่วไปขั้นพื้นฐานเพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้เหมาะสมแก่การตรวจและรักษา ลักษณะเป็นข้อมูลวิชาการไม่เอนเอียงเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ล. นักรังสีการแพทย์พยานจำเลยทั้งสองอีกปากเบิกความว่า มาตรฐานการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องตรวจอัลตราซาวด์ของโรงพยาบาล จ. จะจัดวางเหมือนกันทุกห้องตามหลักการจัดวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจห้องตรวจจะมีลักษณะแยกเดี่ยว 4 ห้อง ภายในห้องตรวจมีเครื่องอัลตราซาวด์และเตียงตรวจ มีผ้าม่านกั้น เตียงตรวจมีขนาดกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร มีทั้งแบบที่มีและไม่มีที่กั้นเตียง เตียงที่มีที่กั้นจะใช้แก่ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยตนเองไม่ได้ การจัดวางเตียงไม่ชิดผนังเพื่อความสะดวกของผู้ช่วยระหว่างการตรวจซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับในโรงพยาบาลเอกชนที่พยานทำงานนอกเวลา ในวันเกิดเหตุ พยานเรียกโจทก์เข้าห้องตรวจหมายเลข 2 ก่อนเข้าห้องพยานสอบถามโจทก์ว่าเดินได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าเดินได้นิดหน่อย พยานจึงเข็นรถโจทก์ไปใกล้เตียงตรวจเพื่อให้โจทก์ลุกเดินไปยังเตียง จากนั้นพยานและบุตรโจทก์ช่วยกันพยุงโจทก็ให้ลุกขึ้นยืนและขยับตัวไปนั่งแล้วให้นอนหงายบนเตียงนำผ้าห่มมาคลุมตัวเพื่อเตรียมทำการตรวจบริเวณช่องท้อง แล้วพยานแจ้งให้จำเลยที่ 2 มาตรวจโจทก์ ต่อมาพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนเรียก พบโจทก์อยู่ข้างเตียงในลักษณะกึ่งหงายกึ่งนั่ง พยานจึงไปขยับเตียงและเครื่องมือแพทย์ออก แล้วพยุงตัวโจทก์ให้นั่งพร้อมกับเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องตรวจ พบโจทก์นอนอยู่บนเตียงเพื่อรอการอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 2 ทำการตรวจวินิจฉัยในท่านอนหงาย พบว่าการถ่ายภาพไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจนเนื่องจากมีลมในลำไส้บังและติดชายโครงด้านขวา ตามมาตรฐานท่าที่ใช้ตรวจมีทั้งท่านอนหงายและท่านอนตะแคง จำเลยที่ 2 สอบถามโจทก์ว่าสามารถนอนตะแคงด้วยตนเองได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าทำได้ จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์นอนตะแคงตัวไปทางด้านซ้ายยกทางด้านขวาขึ้น โดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ทางด้านขวาของโจทก์ตรงหน้าเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ จังหวะที่โจทก์กำลังจะนอนตะแคงเกิดพลัดตกเตียง ไหล่และเข่าซ้ายกระแทกพื้น ศีรษะไม่กระแทก รู้สึกตัวดี จำเลยที่ 2 รีบเข้าไปประเมินอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นพร้อมเรียกเจ้าหน้าที่ โจทก์มีบาดแผลถลอกหนังเปิดที่เข่าซ้าย 4 เซนติเมตร และเจ็บไหล่ซ้าย แต่สามารถขยับได้ หายใจปกติ ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ จึงทำแผลเบื้องต้นพร้อมสั่งเอกซเรย์กระดูกเชิงกราน สะโพกทั้งสองข้าง กระดูกเข่าซ้ายไหล่ซ้าย และปอด พบว่าไม่มีการแตกหักจึงส่งโจทก์ไปแผนกอุบัติเหตุเพื่อเย็บแผลและให้ยาปฏิชีวนะโดยมีจำเลยที่ 2 ไปด้วย ดังนี้ การนัดหมายโจทก์มาทำการตรวจอัลตราซาวด์ในวันเกิดเหตุ โจทก์เป็นเพียงผู้ป่วยนอก ญ. บุตรโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์สามารถช่วยเหลือตนเองและเดินได้ตามปกติไม่ต้องมีใครช่วยดูแล โจทก์จึงจัดอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 กล่าวคือ โจทก์รู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตนเองลุกขึ้นเดินไปนั่งและนอนรอจำเลยที่ 2 บนเตียงเพื่อรับการตรวจได้ แม้โจทก์จะต้องนั่งรถเข็นมายังห้องตรวจก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อพิจารณาสภาพห้องที่เกิดเหตุตามภาพถ่าย ขนาดความกว้าง ยาวและสูงของเตียง ตลอดจนวิธีการจัดวางไม่ได้แตกต่างไปจากมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาลอื่น ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามาภายในห้องตรวจ โจทก์ขึ้นไปนอนรออยู่บนเตียงแล้ว ไม่มีอาการอื่นใดบ่งชี้ในเวลานั้นที่แสดงให้จำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำการตรวจภาพถ่ายไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงสอบถามโจทก์ว่าสามารถพลิกตะแคงตัวไปด้านซ้ายเพื่อถ่ายภาพใหม่ได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าได้ ดังที่ปรากฎในบันทึกคำให้การของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวน หากโจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็น่าจะต้องแจ้งจำเลยที่ 2 เสียตั้งแต่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกคำให้การดังกล่าวอีกว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้องเพียงลำพัง ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถือหัวตรวจอัลตราซาวด์ไว้ในมือและต้องเพ่งมองจอภาพเครื่องดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ข้างหัวเตียงด้านขวาของโจทก์ เมื่อโจทก์พลิกตะแคงตัวตามที่จำเลยที่ 2 บอก แม้เตียงมีขนาดกว้างเพียง 60 เซนติเมตร แต่ก็เป็นขนาดมาตรฐานบุคคลทั่วไปในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขนาดที่โจทก์จะพลัดตกจากเตียง เพราะการนอนตะแคงตัวใช้พื้นที่ไม่มาก อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรสอบถามโจทก์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566 แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วเกิดขึ้นในศาลขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับหนี้ตามฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก กรณีจึงไม่มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111 - 112/2566 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท ไม่ชอบที่จะนำรถออกให้จำนำได้ โดยมิได้รับฟังข้ออ้างข้อเถียงของคู่ความถึงนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน จึงเป็นการด่วนวินิจฉัยข้อกฎหมายจากการฟังข้อเท็จจริงที่ยังไม่สิ้นกระแสความ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2566 จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราธนบัตรของรัฐบาลไทยชนิดราคา 100 บาท และมีธนบัตรปลอมนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นของปลอม เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ทำปลอมและมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อนำออกใช้แล้ว จากนั้นจำเลยนำธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์ ด้วยการใส่ธนบัตรปลอมดังกล่าวเข้าไปในช่องรับเงินของตู้เติมเงินบุญเติมของผู้เสียหายเพื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของผู้มีชื่อที่จำเลยมีหรือเปิดไว้ใช้งานโดยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาเงินดังกล่าวไป เป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2566 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 นว วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิบุคคลใดจะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรก็ได้ ซึ่งอาจรวมถึงการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะถึงขนาดเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้น กฎหมายบัญญัติให้สิทธิเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้ย่อมต้องไม่ใช่บุคคลใดก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรโดยตรง เช่น บุคคลผู้ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากการที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาในด้านสิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากอนุสิทธิบัตรโดยจํากัดเพียงการกระทำดังที่บัญญัติในมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว บุคคลอื่นที่ต้องเสื่อมเสียสิทธิในที่นี้คือ บุคคลที่จะกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวนั่นเอง กรณีหาใช่การตีความอย่างกว้างหรืออย่างแคบไม่ แม้โจทก์เป็นส่วนราชการมีภารกิจและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552 ข้อ 2 และดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กล่าวอ้างมา แต่การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเพียงการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาหาแนวทางปรับการทำงาน การจัดประชุม การจัดสัมมนา และการออกกฎกระทรวงและประกาศ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทโดยตรง อันจะมีผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรพิพาทที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรพิพาทได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2566 โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิการเช่าพื้นที่การค้า มิใช่เป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่การค้า ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เอกสารหมาย จ.5 ระบุหมายเหตุการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าว่า ผู้ซื้อได้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอง (ถ้ามี) มิได้ระบุว่าผู้ซื้อสิทธิการเช่าได้จะต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าเดิมไปด้วย ทั้งตามสัญญาเช่าพื้นที่การค้าระยะยาว เอกสารหมาย จ.2 และสัญญาได้มาซึ่งสิทธิการเช่าระยะยาว (10 ปี) เอกสารหมาย จ.4 ก็มิได้ระบุให้ผู้รับโอนสิทธิการเช่าในกรณีการซื้อสิทธิการเช่าจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าเดิมไปด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ถ้ามี) ที่ระบุหมายเหตุการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี มิได้มีความหมายถึงภาระหนี้ค้างชำระบริการของ อ. แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ประมูลซื้อสิทธิการเช่าได้ โจทก์จึงไม่จำต้องรับโอนภาระหนี้ค้างชำระค่าบริการของ อ. ที่มีอยู่ก่อนวันที่จดทะเบียนรับโอนสิทธิการเช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าพื้นที่การค้าระยะยาวและสัญญาให้บริการในพื้นที่การค้าที่เช่า จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่การค้าที่เช่าดังกล่าว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2566 จําเลยทั้งสองและโจทก์ต่างมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกิจการต่อกัน ย่อมมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายกิจการระงับไป และเป็นการเลิกสัญญาก่อนที่เช็คพิพาททั้งสามฉบับจะถึงกำหนด โจทก์และจําเลยทั้งสองต่างต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้แก่จําเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธินําเช็คพิพาทที่ออกล่วงหน้าเพื่อชําระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จําเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566 ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2566 การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดประสงค์ต่อผลในการหลอกลวงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เมื่อคดีนี้ไม่มีการสืบพยานจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนทั่วไปทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะชักชวนบุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยและพวก และหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้จำเลยหลายครั้งตามวันเวลาที่โจทก์แยกบรรยายฟ้อง ซึ่งในแต่ละข้อที่โจทก์แยกบรรยายมานั้นมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายหลงเชื่อจากการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าว และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยกับพวก แม้การโอนเงินของผู้เสียหายดังกล่าวจะกระทำหลายคราว แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ จึงต้องฟังว่าจำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหาย ถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2566 ตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินมีข้อความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 และบ้านเลขที่ 335 ให้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนบ้านเลขที่ 426/2 ตกเป็นของจำเลย โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีบ้าน 2 หลัง เป็นสินสมรสเป็นที่อยู่อาศัย และจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่า ประกอบกับข้อความท้ายหนังสือแบ่งทรัพย์สินระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิใด ๆ หลังจากนี้ไม่ว่าจะกรณีใด เชื่อว่าโจทก์และจำเลยทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรสให้แล้วเสร็จไปทั้งหมด โดยให้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของบ้านคนละหลังรวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์มั่นคงต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโดยยังไม่มีการแบ่งแยกเอกสารสิทธิ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจระบุถึงรายละเอียดของที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ในหนังสือแบ่งทรัพย์สินได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร จึงไม่น่าเชื่อว่า ในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโจทก์และจำเลยจะมีเจตนาให้คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ไว้โดยมิได้ตกลงแบ่งกันให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผล เชื่อว่าโจทก์และจำเลยตกลงยกบ้านเลขที่ 426/2 รวมถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านให้แก่จำเลยตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2566 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ที่มีข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” นั้น เป็นคำขยายคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นแล้ว ส่วนเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมายอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เองต่างจากเดิมจึงไม่อาจอ้างการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมได้ ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ค. นักออกแบบชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งโจทก์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย กับคำดังกล่าวมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว จึงย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่นและมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีกด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม. 5/2566 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา กับลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 114 วรรคสอง (1), 167 ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ พิเคราะห์คำร้องประกอบเอกสารท้ายคำร้อง และคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว และมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในวันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 แต่มิได้กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งลงลายมือชื่อในแบบ และยื่นเอกสารประกอบไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยแสดงเอกสารประกอบเพียงหนังสือสําคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน สําเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ต่อมาผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ไม่ยื่นทำนองว่าไม่มีเจตนาเพิกเฉยและขอขยายระยะเวลาในการส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่กลับมิได้ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาวหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว จึงเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 (9) และมาตรา 105 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ. 2561 โดยกฎหมายมุ่งประสงค์ให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการทุจริตด้วยการให้บุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง อันจะทำให้ผู้ร้องสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติภายหลังจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบรายละเอียดและที่มาแห่งทรัพย์สินรวมทั้งหนี้สินของตนและทราบว่าตนมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่กลับไม่กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งไม่ยื่นเอกสารประกอบให้ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้ร้องไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาได้ มีผลเช่นเดียวกับการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่ผู้ร้องกำหนดและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาขอขยายระยะเวลา แต่กลับเพิกเฉยมิได้ดำเนินการตามที่ขอขยายระยะเวลาแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 ด้วยพิพากษาว่า นายชัยภัทรหรือชัยศิริ ตั้งหลัก ผู้ถูกกล่าวหา จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคสอง (1) ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตลอดไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
เขียนโดย
Vakin Youngchoay