จ้างแรงงาน

มาตรา ๕๗๕ อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา ๕๗๖ ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้าง

มาตรา ๕๗๗ นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา ๕๗๘ ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้

มาตรา ๕๗๙ การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

มาตรา ๕๘๐ ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่ายเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลาก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุดระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป

มาตรา ๕๘๑ ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้วลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา ๕๘๒ ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา ๕๘๓ ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา ๕๘๔ ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่าสัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง

มาตรา ๕๘๕ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร่และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร

มาตรา ๕๘๖ ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้ คือ
(๑) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ(๒) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2561
        ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี..." การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2561
       สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตาม และนายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน นายจ้างจึงไม่อนุมัติให้ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาได้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของลูกจ้างและลูกจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างอ้างว่าลูกจ้างขาดงานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีกตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะลูกจ้างลาออกมิใช่เป็นเพราะถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2561 
     การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก ไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุนในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการ ขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้นมีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561 
       โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2561
         แม้การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 โดยให้มีผลวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติก็ตาม แต่ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล คดีนี้ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือผลประโยชน์อื่นใดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงดังที่ศาลแรงงานกลางฟังยุติมาว่าโจทก์ได้รับเงินจากผู้เอาประกันภัยแล้วไม่นำเงินเข้าฝากบัญชีของจำเลยที่ 1 และไม่ได้นำเงินมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 ตามระเบียบคู่มือการปฏิบัติงานของฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 ทำให้เงินของจำเลยที่ 1 ขาดหายไป เป็นการประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ลาออกโดยให้มีผลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 อาจตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และหากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สอบสวนเสร็จจำเลยที่ 1 อาจมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกหรือเลิกจ้างได้ แต่โจทก์ยังคงชิงลาออกเสียก่อนตามที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย หลังจากนั้นโจทก์จึงได้นำคดีมาฟ้องอ้างว่าตนได้ลาออกจากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้เท่ากับอ้างเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบเพื่อมาเรียกร้องสิทธิในเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พฤติการณ์ทั้งหลายของโจทก์ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกเพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ตามฟ้องอันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2561 
        การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า "ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ... ทุจริตต่อหน้าที่.." เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2561 
        โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกอันจะถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393 - 3394/2561 
       โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจ้างกับจำเลยโดยมีระยะเวลาการทำงาน 10 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองและเรียกให้โจทก์ทั้งสองมาทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับใหม่ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละคราว การที่ในระหว่างสัญญาจ้างสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยมีมติแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 นั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ในการห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน แต่การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างฉบับใหม่กับโจทก์ทั้งสองถือเป็นกรณีระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงอันส่งผลให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต้องเลิกกันตามผลของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยกลั่นแกล้งไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 และไม่จำต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2560
        สัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศไทยบังคับกับสัญญาฉบับนี้ ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศไทย และสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศสวีเดน บังคับกับสัญญาฉบับนี้ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศสวีเดน แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 รวมทั้งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการกลับภูมิลำเนาก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ไม่ใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นผลให้ไม่ต้องนำกฎหมายของประเทศสวีเดนมาใช้บังคับตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560
        ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10431/2559
        คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9480/2559 
              คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์นักบิน ที่ระบุว่า 1. การไว้ผมต้องเรียบร้อยและชายผมต้องไม่เกินคอปกเสื้อ รวมถึงการย้อมสีผมต้องดูสุภาพและเหมาะสมเป็นธรรมชาติ 2. การไว้หนวดและจอนต้องให้เรียบร้อย โดยจอนต้องยาวไม่เกินติ่งหูและไม่อนุญาตให้ไว้เครา 3. การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบินต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบนั้น เป็นการออกคำสั่งภายใต้ระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบหน่วยงานกำหนดวิธีปฏิบัติหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อยู่ในความหมายของสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 โดยคำสั่งนี้ขยายความการปฏิบัติในเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และในตอนท้ายของคำสั่งที่ระบุว่าหากนักบินยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามให้งดปฏิบัติการบินจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมและจำเป็นต้องมีมาตรการให้นักบินต้องปฏิบัติตาม มิใช่การลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งเมื่อเป็นคำสั่งกำหนดแนวทางให้พนักงานในตำแหน่งนักบินทุกคนปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติและประกอบธุรกิจด้านบริการ โดยมิได้สร้างภาระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งนักบินเกินสมควร หรือขัดต่อสภาพทางกาย สุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาของโจทก์อันจะทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของโจทก์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ 

         การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ออกคำสั่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ Low Rank โดยโจทก์ยังคงได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนตามตำแหน่งนักบินที่ 1 ตลอดมา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9202/2559 
                   เมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว แม้สัญญาดังกล่าวข้อ 3.1 และ 3.2 จะได้ความว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลยทั้งที่กำหนดไว้แล้วในขณะทำสัญญาหรือกำหนดขึ้นใหม่ในภายหน้า ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โจทก์ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการฝึกซ้อม แข่งขัน และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีมหรือผู้บริหารทีมของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปรากฏวัตถุประสงค์หลักของสัญญาในข้อ 8 ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของสัญญาฉบับนี้ถูกต้องตรงกันแล้วว่าผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความผูกพันในความสำเร็จของงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างตามนโยบายของผู้ว่าจ้างเท่านั้น ประกอบกับระเบียบปฏิบัติแนบท้ายสัญญาข้อ 3 ถึงข้อ 5 ที่กำหนดการจ่ายโบนัสการแข่งขันโดยพิจารณาจากผลการแข่งขันเฉพาะผลการแข่งขันที่ชนะหรือเสมอว่าหากลงแข่งขันชนะจะได้รับโบนัสรวม 6,000 บาทต่อคน แต่หากผลการแข่งขันเสมอจะได้รับโบนัสรวม 3,500 บาทต่อคน กำหนดการประเมินผลและเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันและเงินรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดโดยคิดคำนวณจากการให้คะแนนจัดกลุ่มซึ่งคำนึงถึงการลงแข่งขันและการฝึกซ้อม แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หลักตามสัญญาว่ามุ่งถึงผลการแข่งขันและการมีชื่อเสียงของจำเลยจึงได้กำหนดค่าตอบแทนในความสำเร็จดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ฝึกซ้อม แข่งขัน ตลอดจนการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีม หรือผู้บริหารทีมของจำเลย โดยมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานที่รับจ้างซึ่งก็คือผลการแข่งขันและนำไปสู่การมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างอันเป็นเป้าหมายสำคัญของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 หากแต่เป็นสัญญาในทางแพ่งประเภทหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2559 
             ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการ โจทก์ทราบข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการที่ระบุห้ามพนักงานเข้าร่วมโครงการมีสิทธิได้รับคืนเงินโบนัสที่เตรียมไว้ชำระค่าจองซื้อหุ้นนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า ข้อบังคับโครงการเพิ่งจัดทำขึ้นหลังจากโจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งแรก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง สัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสมัครใจผูกพันกันตามโครงการจ่ายเงินโบนัสในรูปแบบหุ้นสามัญ ซึ่งจำเลยจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการส่งเสริมและจูงใจให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อองค์กร แสดงว่าเป็นสัญญาที่อยู่บนพื้นฐานนิติสัมพันธ์จ้างแรงงาน จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการข้อ 6.3 ระบุว่า "...ในกรณีที่การจ้างแรงงานของพนักงานสิ้นสุดลง พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรอีกต่อไป โดยถือเสมือนว่าธนาคาร (จำเลย) ได้ยกเลิกหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรดังกล่าวแล้ว" ไม่ได้กำหนดถึงกรณีพนักงานหรือลูกจ้างลาออกจากงาน และข้อ 6.5 ที่ระบุว่า "หากมิได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่ได้มีการจองซื้อหรือการยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรร ห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (เงินโบนัส) หรือค่าตอบแทนกรณีพิเศษสำหรับส่วนที่เตรียมไว้สำหรับชำระค่าจองซื้อหุ้น นอกจากการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าจองหุ้นที่ถูกจัดสรร" เป็นการกำหนดเงื่อนไขลอย ๆ ไม่ชัดแจ้งว่าสาเหตุที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นหรือยกเลิกสิทธิการจองซื้อหุ้นเกิดจากการกระทำหรือความผิดของฝ่ายใด ทั้งไม่มีข้อกำหนดอัตราค่าปรับหรือริบเงินโบนัสตามพฤติการณ์การกระทำที่เป็นเหตุให้ไม่ได้จองซื้อหุ้น เมื่อพิจารณาสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพ ความเดือดร้อนของโจทก์ ระดับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นของโจทก์ ฐานะแห่งกิจการของจำเลย สภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วไป และสภาพข้อบังคับโครงการประกอบกันแล้ว ข้อบังคับโครงการที่กำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิขอรับคืนเงินโบนัสซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาตั้งแต่จำเลยอนุมัติจ่ายให้ในแต่ละปีย่อมทำให้จำเลยในฐานะนายจ้างได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควร ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจสั่งให้ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานอันได้แก่ข้อบังคับโครงการในส่วนนี้มีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 โดยให้จำเลยจ่ายคืนเงินโบนัสส่วนที่ยังไม่ได้นำไปซื้อหุ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559 
           การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484 - 8485/2559 
           พฤติการณ์ของจำเลยที่มิได้มีการประกาศโครงการและผลตอบแทนเชิญชวนหาผู้สมัครใจลาออกให้ลูกจ้างทั้งระบบทราบ แต่ใช้วิธีกำหนดตัวบุคคลลูกจ้างเป้าหมาย คือ โจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีเงินค่าตอบแทนการจ้างสูงให้ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไว้ล่วงหน้า มีการจัดเตรียมเอกสารใบลาออก เงินค่าตอบแทนการลาออกของโจทก์ทั้งสองไว้ก่อนจะเชิญโจทก์ทั้งสองมาเจรจาขอให้ลาออก หลังให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในใบลาออกแล้วยังแจ้งการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ทั้งสองในครั้งแรกว่าเป็นการเลิกจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยพยายามหลีกเลี่ยงเบี่ยงเบนจัดทำหลักฐานทางเอกสารให้เป็นเรื่องของการลาออกโดยอาศัยอำนาจต่อรองของนายจ้างที่เหนือกว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออก ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 แม้โจทก์ทั้งสองจะรับว่าได้ลงชื่อในใบลาออกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าที่โจทก์ทั้งสองยอมลงชื่อในใบลาออกนั้นเพราะถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่สมัครใจลงชื่อในใบลาออก เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยประสบภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีความจำเป็นต้องลดรายจ่าย จึงมีโครงการปรับโครงสร้างองค์กรลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นปัญหาทางธุรกิจโดยรวมที่มีเหตุผลความจำเป็นสามารถอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หากมีการแจ้งเหตุผลความจำเป็น กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลิกจ้าง การคัดเลือกลูกจ้างที่จะให้ออกไว้แน่นอนและเป็นธรรม ประกาศให้ลูกจ้างทราบทั่วกัน และดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศแจ้งเหตุผลความจำเป็น หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกลูกจ้างให้ทราบโดยทั่วกัน ใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกโจทก์ทั้งสองเป็นเป้าหมายในการให้ออกจากงาน นอกเหนือไปจากการที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนการจ้างสูง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559 
               สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2559 
              พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้ นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่จะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานเนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้จะมิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ของบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559 
                โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30 จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559 
             การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7570/2559 
                คู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 ที่กำหนดให้พนักงานขายต้องรับผิดชอบบัญชีขายทุกรายการที่ตนเองขาย เช่น ร้านค้าเก็บเงินไม่ได้ เช็คคืน เป็นต้น เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนการขายจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนสิทธิและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่มีผลเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดระเบียบให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นระเบียบที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง คู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวคงมีผลบังคับใช้ให้โจทก์ที่ 1 รับผิดชำระค่าสินค้าแทนลูกค้าของจำเลยได้เฉพาะกรณีที่โจทก์ที่ 1 ตัดสินใจขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยได้เท่านั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นเช็คและต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าถูกต้องตามคู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวแล้ว หาได้มุ่งหมายให้จำเลยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าไม่ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริต โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายในจำนวนเงินค่าสินค้าตามเช็คให้แก่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5230/2559 
            ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" สัญญาจ้างดูแลสวนยางระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. ข้อ 3 กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ดังรายละเอียดอัตราค่าจ้างและงวดชำระเงินปรากฏตามเอกสารแนบท้ายสัญญานี้ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฉบับนี้ ซึ่งตามบัญชีการทำงานแนบท้ายสัญญามีข้อความว่า ระยะปลูก 76 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1,000 ไร่ และมีหมายเหตุต่อท้ายด้วยว่า หากผู้ว่าจ้างจัดทำพันธุ์ยางได้ไม่ครบจำนวนทันเวลา ผู้รับจ้างสงวนสิทธิในการจัดหาพันธุ์ยางเองในราคาต้นละ 15 บาท แสดงว่าสัญญาดังกล่าวมุ่งถึงผลสำเร็จของการปลูกต้นยางตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาตามช่วงเวลาจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ ทั้ง ข้อ 2 ยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินการปลูกยางพารา ปราบวัชพืช... โดยโจทก์ตกลงจะเป็นผู้จัดหาสัมภาระ เครื่องมือ ปุ๋ยบำรุง ยาปราบศัตรูพืช และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการบำรุงดูแลรักษาสวนยาง รวมถึงจะเป็นผู้จัดหาคนงาน โจทก์บริหารจัดการของโจทก์เอง โดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท พ. ซึ่งอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. จึงหาใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ แต่เป็นการให้บริการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648 - 3808/2559 
                   ก่อนการเลิกจ้างจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยได้แจ้งถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้จำเลยต้องประสบภาวะขาดทุน คือต้นทุนค่าแรง ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นต้นทุนที่สูงมากให้สหภาพแรงงาน ร. ทราบแล้ว แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้จนมีการนัดหยุดงานและแจ้งปิดงาน ต่อมาจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ร. เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งซื้อจึงต้องเปิดงาน แม้สหภาพแรงงาน ร. จะลดข้อเรียกร้องลงแต่ในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังคงมีอยู่จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในส่วนของต้นทุนค่าแรง ยอดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีไม่ว่าจำเลยจะขาดทุนหรือกำไร คือเงินเดือน ค่าแรงและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้าง ก่อนเลิกจ้างจำเลยจัดโครงการสมัครใจลาออก โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างเฉพาะลูกจ้างประจำไม่เลิกจ้างลูกจ้างรายปีเพราะลูกจ้างรายปีไม่มีโบนัส ไม่มีการปรับค่าจ้าง ทั้งการเลิกจ้างลูกจ้างประจำก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นลำดับไม่ได้เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งเน้นลดต้นทุนค่าแรง จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของจำเลยดำรงอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3533/2559 
             โจทก์ฟ้องโดยระบุข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้องว่า ผิดสัญญาจ้างแรงงาน ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรียกค่าเสียหาย และในคำฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 โจทก์บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสระบุรี มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติและบริหารงานของผู้จัดการสาขา ช่วยดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสาขาทุกระบบงานโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดูแลการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้โจทก์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรี แต่จำเลยไปไม่ทันกำหนดเวลาขายทอดตลาด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดอนุมัติให้ขาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลักแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นสำคัญ ส่วนการบรรยายฟ้องถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็เป็นการบรรยายฟ้องถึงลำดับเหตุการณ์ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องคือวันที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนับถึงวันฟ้อง ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ก่อนขายทอดตลาดประมาณ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ โดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าจะต้องไปก่อนเวลาขายทอดตลาด และการขายทอดตลาดครั้งก่อนมีผู้สู้ราคาและมีการคัดค้าน ซึ่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สำคัญที่จำเลยต้องไปดูแลและเตรียมความพร้อมโดยตรวจสอบสำนวนคดีและเส้นทางที่จะไปสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีล่วงหน้า ซึ่งจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อม การที่จำเลยไปไม่ทันกำหนดจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2559 

        โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวนเงินตรงกับจำนวนภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอ้างมูลเหตุในคำร้องขอคืนภาษีว่า โจทก์เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดแต่ได้นำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษี แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามที่จำเลยอุทธรณ์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะขอคืนภาษีเป็นจำนวนเกินกว่าที่ได้ยื่นคำร้องขอคืน แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องโดยคำนวณหาจำนวนภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนที่ถูกต้อง กรณีมิใช่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและชอบที่จะขอคืนภาษีได้ตามจำนวนที่ถูกต้อง ประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุ ครบ60 ปีบริบูรณ์โดยความสมัครใจร่วมกัน คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศฉบับนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ขณะออกจากงานโจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2559 
           สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงานในกรณีที่พนักงานมีหนี้สินรุงรัง และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้ บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไปด้วย การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อที่โจทก์อ้างว่ามูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นมูลหนี้ที่ ส. และโจทก์ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ก. ซึ่งต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งมีกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวอันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มีหนี้สินอยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เมื่อธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีหนี้สินขณะจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยกเว้นไม่นำกรณีที่โจทก์มีหนี้สินรุงรังมาเป็นเหตุเลิกจ้างนั้น ก็เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15022/2558 
             แม้ศาลจะมีคำสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 กับโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 เข้าด้วยกัน ทั้งออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละรายเป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์แต่ละคน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งหมดมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ขออายัดเงินต่อสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก และแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายินดีรับเงินตามจำนวนที่บุคคลภายนอกแจ้งมา เป็นการบังคับคดีเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 มิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนเฉลี่ยจากเงินจำนวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีและจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 จึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13244/2558 
             พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ต้องการให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการกำหนดจ่ายค่าจ้าง เมื่อนายจ้างลูกจ้างตกลงกันให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่ากำหนดดังกล่าวก็ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อตกลงว่าหากมีการเลิกจ้างจำเลยที่ 8 ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 3 เดือน แต่จำเลยที่ 8 บอกเลิกจ้างในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างเพียง 2 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือน 28 วัน แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินที่เรียกจากมูลกฎหมายที่แตกต่างกันมาในคราวเดียวกันได้ก็ตามแต่เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบ การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอาศัยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินโจทก์ก็นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13163/2558 
           นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คือ นายจ้างว่าจ้างอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อทำการงานให้ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบข้อบังคับในการทำงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานอะไรเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ต้องเข้าทำงานทุกวัน ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บริหารของบริษัทจำเลย นอกจาก อ. ซึ่งเป็นบิดาโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะไม่ได้ทำงานให้จำเลยและไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการบังคับบัญชาตามสายงานปกติของจำเลย การที่โจทก์เข้ามาทำงานในบริษัทจำเลยก็เพื่อช่วยเหลืองานของบิดาเท่านั้นย่อมเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และไม่ถือว่า อ. จ้างโจทก์แทนจำเลยโดยชอบ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2558 
            จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน ลงรายการรับเงิน เลขที่ใบเสร็จและจำนวนเงินในสมุดควบคุมเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าเช่าซื้อของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนัก จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นพนักงานจัดการทรัพย์สิน จำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้าสำนักงานภายหลังจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ทำงานและมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บเงินรวมถึงทรัพย์สินของโจทก์แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นสภาพการจ้างตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน 

          ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยไม่ได้มอบหมายให้มีพนักงานทะเบียนและพนักงานรับเงินเป็นคนละคนกันเนื่องมาจากว่าหากคนใดไม่มาทำงานจะไม่สามารถรับเงินจากลูกค้าได้ และต้องตรวจดูทะเบียนลูกหนี้รายตัวประกอบใบเสร็จรับเงินจึงจะทราบว่าการลงทะเบียนใบเสร็จรับเงินเป็นเท็จ 

          จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ดูแลงานด้านอื่นด้วย ไม่มีหน้าที่ควบคุมการรับเงินอย่างเดียวโดยตรง กองคลังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงก็ยังตรวจสอบไม่พบถึงความผิดปกตินั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้อย่างเคร่งครัดจึงเป็นเพียงการการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อธรรมดา โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น มิได้ให้รับผิดกรณีประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9770/2558 
          หลังจากการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงด้วยการลาออก จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ขอ โจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 585 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ตรงกับเนื้อหาส่วนคำวินิจฉัยที่ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามฟ้อง ทั้งเมื่อโจทก์ลาออกมีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันลาออกดังกล่าว คือต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายในวันดังกล่าวจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง กรณีดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558 
           โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2558 
           การที่โจทก์ลาออกจากงานไปก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผลให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่เมื่อในวันเดียวกับที่การลาออกมีผล โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างผู้บริหารกันจึงเกิดเป็นสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ทำให้โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานตามความหมายใน พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 การพ้นจากตำแหน่งของโจทก์ย่อมเป็นไปตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติดังกล่าว 

            ระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 กำหนดว่าพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์และให้ได้รับผลตอบแทนตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ที่บัญญัติให้การพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างผู้บริหารโดยมีกำหนดเวลา 2 ปี 8 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 ซึ่งตรงกับ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาแท้จริงของคู่สัญญาว่าประสงค์ให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงเพราะโจทก์เกษียณอายุ 

         ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยอาศัยอำนาจตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) จึงเป็นกรณีที่โจทก์พ้นตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบการพนักงานของจำเลยและเป็นไปตามผลของกฎหมายดังกล่าว 

            การพ้นตำแหน่งของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป เพราะแม้จำเลยจะให้โจทก์ทำงานต่อไปก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากโจทก์ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยต่อไปได้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามข้อ 59 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6719/2558 
          ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเนื่องจากจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม แม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลรูปคดีย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง เมื่ออายุงานเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานบางประการ การไม่นับอายุงานต่อเนื่องเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้อันเนื่องมาจากอายุงานเป็นการไม่คุ้มครองลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การนับอายุงานต่อเนื่องเป็นเพียงการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานเดิมมิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้เพราะระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ 2 คงนับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2558 
           การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยให้มีผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 แม้จะเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายยินยอม แต่ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายและประมาททำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ก่อนถึงวันที่การลาออกมีผลได้หาใช่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ที่โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแต่อย่างใดไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2558 
           การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2558 
           คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานในฐานมูลละเมิดอันเกิดแต่นายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้อง บ. และ ก. ในมูลเหตุเรื่องผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ย ในคดีดังกล่าวแม้จะเป็นมูลมาจากเรื่องซื้อขายปุ๋ยพิพาทเดียวกันกับคดีนี้ แต่เป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ถูกฟ้องในแต่ละคดีต้องรับผิด จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย 

           แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษาให้ บ. และ ก. รับผิดต่อจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยโดยให้คืนเงินค่าซื้อปุ๋ยเป็นเงินจำนวน 3,147,950 บาท แก่จำเลยนั้น ก็เป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อจำเลย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่เป็นผู้จัดซื้อปุ๋ยตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเองและให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยสั่งจ่ายเงินให้แก่ บ. และ ก. เป็นเงินจำนวน 5,050,000 บาท และ บ. และ ก. ส่งปุ๋ยให้จำเลยบางส่วนคิดเป็นเงิน 2,002,050 บาท คงค้างชำระเป็นเงินจำนวน 3,047,950 บาท ตามที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตามฟ้องแย้งในคดีนี้ 

         ดังนั้น หากจำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวจาก บ. และ ก. ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว ก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งในคดีนี้ลดลงตามไปด้วยเพียงนั้น จึงชอบที่หากจำเลยบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีในส่วนที่ให้คืนเงินแก่จำเลยจำนวน 3,047,950 บาท เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกจากความรับผิดชำระหนี้ของโจทก์คดีนี้ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19436/2557 
            เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ย. ต่อมาบริษัท ย. ขายแผนกไดเวอร์ซี่ลีเวอร์ให้จำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. สิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีสาเหตุอันเกิดจากโจทก์ บริษัท ย. จึงจ่ายเงินผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการและเงินสมทบที่บริษัท ย. จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ย. พร้อมดอกผลให้โจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. เงินทั้งสองจำนวนจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ย. เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 

         การที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการไปยังจำเลยที่ 1 และโอนเงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้ตามสัญญาจ้างไปยังกองทุนจำเลยที่ 2 (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้น) เพื่อนำเงินทั้งสองจำนวนมาใช้ประกอบการคำนวณผลประโยชน์เมื่อโจทก์ออกจากงาน จึงไม่ใช่การโอนทรัพย์สินที่เป็นเงินทั้งสองจำนวนให้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้นเงินทั้งสองจำนวนยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการให้โจทก์ 

           จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์ เงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างและโจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เงินจำนวนนี้จึงอยู่ในส่วนเงินสะสมของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้พร้อมดอกผลแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 ส่งคืนเงินนั้นให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด 

            กองทุนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลให้ไม่ว่าได้มีการจ่ายเงินและดอกผลคืนให้แก่นายจ้างไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกผลให้โจทก์ 

           พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า "เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่าย..." จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินสมทบพร้อมดอกผลที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 จากกองทุนจำเลยที่ 2 มาจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนนี้ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้นั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินจำนวนนี้อันเป็นเงินสะสมพร้อมดอกผลให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยที่ 2 กองทุนจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด การจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15186 - 15192/2557 
            สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวระบุว่า ป. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 2 แม้สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่กฎหมายมิได้บังคับให้สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อมีการเข้าทำงานก่อสร้างในโครงการดังกล่าวบางส่วนและจำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างในส่วนของงานที่ก่อสร้างไปแล้ว หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในส่วนดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ารับเอาผลงานที่โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของ ป. เป็นการทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้อันเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามมาตรา 70 และตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้าง เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานก่อสร้างดังกล่าวจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีตกับจำเลยที่ 2 โดยรับจะดำเนินงานแต่บางส่วนของงานดังกล่าวอันเป็นงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงตามบทนิยามในมาตรา 5 ดังนั้น หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิไล่เบี้ยเงินค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคืนจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 12 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14810/2557 
            ข้อความตามหนังสือขอรับข้อเสนอที่มีถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ว่าขอรับข้อเสนอของจำเลย ยอมรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่ติดใจจะเรียกร้องฟ้องร้องหรือค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้น เป็นกรณีทำคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้เสนอ เอกสารดังกล่าวจำเลยจัดเตรียมไว้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นคำสนองของโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วมีการขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกเสียก่อน มีการลงวันที่ในหนังสือและก่อนนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการของจำเลย จึงไม่มีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงเป็นอันสิ้นความผูกพัน ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่เรื่องการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557 
          เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2557 
          เดิมโจทก์ฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมารับมอบหน้าที่จากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้บังคับบัญชาไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 สะสางงานที่คั่งค้างหรือดำเนินการให้ค้นหาหรือชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่อ้างว่าสูญหาย และไม่สามารถระบุได้ว่าเอกสารที่โจทก์อ้างว่าสูญหายนั้นคือเอกสารอะไร ลูกค้ารายใด จำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกันให้จำเลยที่ 1 คำพิพากษามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายผู้ยื่นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11), 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานกลางได้มีพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือให้งดเสียถ้าหากมี คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2818/2557 
            สัญญาร่วมหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อ 4 ระบุว่าคู่สัญญาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในการดำเนินกิจการฝ่ายละครึ่งหนึ่งของผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละเดือน โดยจำเลยจะจ่ายเงินขั้นต่ำ 35,000 บาท ต่อเดือน ให้โจทก์ภายในวันที่ 15 ของแต่ละเดือนเพื่อเป็นประกันผลกำไรตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นระยะเวลา 28 เดือน และข้อ 6 ระบุว่าหากจำเลยผิดสัญญาข้อ 4 ในเดือนใดก็ตาม เงินที่ค้างจ่ายนั้นจะต้องยกยอดไปเดือนถัดไปบวกกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 หากจำเลยไม่จ่ายเงินประกันผลกำไรเป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน ย่อมมีผลให้สัญญาร่วมหุ้นนี้สิ้นสุดลงทันที แสดงว่าเงินที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยในแต่ละเดือนมีลักษณะเป็นการแบ่งผลกำไรและประกันผลกำไร และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสิ้นสุดลงของสัญญา มิได้มีลักษณะเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2557 
           แม้โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดทางแพ่งที่มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อนไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2557 
             ข้อตกลงข้อที่ 5 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ระบุว่าจำเลยมีนโนบายจ้างแรงงานจากบริษัทรับเหมาช่วงในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนพนักงานจำเลยในหน่วยงานนั้น แต่ถ้ามีความจำเป็นจำเลยว่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนพนักงานจำเลยในหน่วยงานนั้น เป็นเงื่อนไขการจ้างหรือประโยชน์อื่นของจำเลยหรือลูกจ้างตามความหมายของคำว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง" และ "สภาพการจ้าง" ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 เนื่องจากหากจำเลยจ้างแรงงานรับเหมาช่วงโดยไม่อยู่ในข้อตกลงข้อที่ 5 จำเลยจะจ้างแรงงานรับเหมาช่วงไปเรื่อย ทำให้สัดส่วนลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยน้อยลงไปเรื่อยโดยไม่มีข้อจำกัด ย่อมส่งผลกระทบต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการให้หยุดอยู่กับที่ไม่มีการพัฒนาต่อไป ข้อตกลงข้อที่ 5 มีผลบังคับเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงผูกพันจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11837 - 11838/2556 
             พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ (4) บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) (4) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11096/2556 
            โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด การขาย และลูกค้าสัมพันธ์ ในเวลาเดียวกันโจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท อ. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันและมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 บริษัท อ. ย่อมต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งเสริมการค้าขายของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์กระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556 
         วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4267/2556 
          จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยเบิกเงินยืนทดรองจ่ายเพื่อดำเนินคดีในฐานะทนายความให้แก่โจทก์ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จต้องนำใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญการจ่ายเงินมาหักล้างบัญชีเงินทดรองจ่าย หากไม่ได้ดำเนินคดีหรือมีเงินเหลือต้องส่งคืนแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินที่จำเลยยืมไปคืนตามความผูกพันที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีนายจ้างเรียกเอาคืนเงินที่ได้จ่ายทดรองที่นายจ้างจ่ายล่วงหน้าไปคืนตามมาตรา 193/34 (9) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2556 
            จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อผู้บังคับบัญชาระดับบริหารตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท จากจำเลย แม้หนังสือลาออกของโจทก์ (ที่กระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง) ไม่เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2556 
          การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในการทำงานของนายจ้างลูกจ้างจึงจะทราบเจตนาในการทำสัญญาว่าคู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ แม้สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของการหาโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองของจำเลยให้ได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญาว่าโจทก์กับพวกต้องหาโฆษณาจากบุคคลภายนอกมาตีพิมพ์โดยคิดค่าโฆษณามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท และ 32 ล้านบาท ภายในกำหนด 10 เดือน และ 12 เดือน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาได้ตามเป้าประสงค์ จำเลยก็ผ่อนผันให้แก่โจทก์กับพวก ทั้งยังจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้าให้ตามสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยยังทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกต่ออีก แสดงว่าเจตนาของจำเลยในการทำสัญญาจ้างโจทก์หาโฆษณาไม่ได้มุ่งถึงความสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างเป็นสำคัญ 

          จำเลยกำหนดให้โจทก์มีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและมอบบัตรประจำตัวพนักงานแก่โจทก์ พวกของโจทก์มีตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาทั้งสิ้น โจทก์มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างที่กระทำผิดแทนจำเลยได้ แสดงถึงอำนาจบังคับบัญชาที่จำเลยมีต่อโจทก์กับพวก นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552
  จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง ท่อก๊าซ จำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซให้บริษัท ว. จำเลยจ้างโจทก์เป็นวิศวกรและส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัท ว. จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการทำงานที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ให้โจทก์ตลอดมา อันเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับ ระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. นั้น เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัท ว. ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งาน สำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลง บริษัท ว. มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลง เป็นกรณีที่บริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลย แสดงว่าอำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7717/2551
      กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องเป็นไปตามมาตรา 118 วรรคสี่ โดยต้องเป็นสัญญาจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของ นายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของ งาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องแล้วเสร็จในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เงินที่จำเลยให้โจทก์ก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ตามสัญญาจ้าง จึงมิใช่ค่าชดเชย

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเดิมเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่ แน่นอนระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 13 เมษายน 2544 แล้วจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ ยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป ทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงต้องถือว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 581 กลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบ เมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7699/2551
โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ จ. ปฏิบัติตาม มีวันเวลาทำงานวันใด วันหยุดวันใด หากไม่อาจมาทำงานได้จะต้องปฏิบัติอย่างไร หากไม่ปฏิบัติตามนั้นจะมีผลอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานของ จ. โดยแท้ หาใช่ จ. ทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้นไม่ และในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าบริการแก่ จ. เป็นรายเดือนตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ จ. ทำงานให้โจทก์ โดยกำหนดค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด หาใช่โจทก์จ่ายสินจ้างให้ จ. เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำอันจะเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ นอกจากนี้ ในหัวข้อสุดท้ายของสัญญาดังกล่าวที่เป็นหมายเหตุยังกำหนดว่านอกเหนือจาก หน้าที่ขับรถตามสัญญาแล้ว ยังมีกรณีที่ จ. ต้องทำงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายอีกด้วย จะเห็นได้ว่าค่าตอบแทนในการทำงานจึงมิใช่เพียงเพื่อผลสำเร็จของการงานที่ทำ คือขับรถเท่านั้น แต่เป็นค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าเป็นงานหน้าที่ใดโดยกำหนดจ่ายเป็น รายเดือน ดังนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาจ้างทำของดังที่โจทก์อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6098/2551
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการแผนกรับรถได้รับเรื่องการสั่งซ่อมรถยนต์คันพิพาทจากแผนกควบคุมแล้ว โจทก์มีหน้าที่ส่งเรื่องพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อเคลมค่าอะไหล่กับบริษัทผู้รับประกันภายในเวลาอันสมควร แต่โจทก์ไม่กระทำ ถือว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 อันเป็นการวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยแล้ว
ส่วนการพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างอันแท้จริงของนายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างอาจจะไม่ใช่เหตุตามคำให้การของจำเลยหรือที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ก็ได้ และเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาการเลิกจ้างนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใดและเป็นธรรมหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกเอาประกาศเรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาปฏิบัติงานของแผนกแจ้งซ่อมเอกสารหมาย จ.3 และหนังสือแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเวลาปฏิบัติงานของแผนกแจ้งซ่อมเอกสารหมาย จ.4 มาวินิจฉัยประกอบทางนำสืบของโจทก์ว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นผลมาจากจำเลยไม่พอใจที่จำเลยขอเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานปกติของโจทก์แล้ว แต่โจทก์โต้แย้งคัดค้านและยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานจนเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานของโจทก์ได้ ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือประมาทเลินเล่อตามที่จำเลยให้การต่อสู้ได้ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2551
โจทก์ใช้ของแหลมมีคมขีดรถของนาย ส. ซึ่งจอดอยู่ในที่จอดรถพนักงานในบริษัทได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ ทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ชัดว่านอกจากจำเลยประสงค์จะมิให้มีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยแล้วยังต้องการให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลยได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับทรัพย์สินของจำเลยด้วย หากมีการกลั่นแกล้งทำลายทรัพย์สินกันในบริษัทจำเลย ลูกจ้างอื่นของจำเลยก็ย่อมทำงานอย่างไม่ปกติสุข โดยเฉพาะในที่จอดรถซึ่งเป็นสถานที่ที่ลูกจ้างของจำเลยต้องจอดรถของตนไว้ ไม่อาจดูแลได้ตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย จึงสมควรได้รับการดูแลจากจำเลยเป็นพิเศษดังจะเห็นได้ว่าจำเลยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เพื่อตรวจสอบหาพยานหลักฐานหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงทรัพย์สินที่ถูกกระทำเป็นรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาและลูกจ้างจำต้องใช้ในการเดินทางมาทำงานสถานที่ที่ถูกกระทำเป็นบริเวณที่จอดรถของบริษัทจำเลย และการใช้ของแหลมมีคมขีดรถของบุคคลอื่นเป็นการกระทำที่ไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของบุคคลอื่น ไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2035/2551
เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งบริษัท ส. เรื่อง การลงบันทึกเวลาในระดับผู้บริหารที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัทซึ่งเป็นคำสั่งในหน้าที่เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2551
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างไม่ว่านายจ้างนั้นจะเป็นบุคคล ธรรมดาหรือนิติบุคคล จึงมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่ กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นจึงต้อง ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ ด้วยเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 65 ปีบริบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจำเลยที่ 2 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 แม้จะเป็นเหตุให้สิทธิในการเกษียณอายุของโจทก์ต้องลดลงก็ตาม แต่เมื่อการโอนย้ายดังกล่าวโจทก์ยินยอมพร้อมใจ โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างใหม่ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กับนายจ้างใหม่ได้ การที่จำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งแต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผล อันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259 - 260/2551
ลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร ระหว่างปฏิบัติงานดื่มเบียร์ อันเป็นเครื่องดองของเมา ก่อนจะถึงเวลาเลิกงานเพียง 5 นาที ซึ่งพนักงานเสิร์ฟมิได้มีหน้าที่สำคัญที่อาจก่อความเสียหายแก่นายจ้าง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างมีอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างอย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าว่ามีลูกค้าของนายจ้างตำหนิการปฏิบัติงานของลูกจ้าง กรณีจึงยังไม่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แต่การที่ลูกจ้างดื่มเบียร์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้าง ทำให้นายจ้างไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7398 - 7399/2551
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ได้นิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าหมายถึง (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของ รัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) ที่มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัท ป. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทดังกล่าวจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ย่อมทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ดังนั้นบริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อีกต่อไป แต่จะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท บ. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ย่อมสิ้นสภาพเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้แล้วสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้มีการยกเลิกด้วยเหตุนายทะเบียนมีคำ สั่งให้ยกเลิกตามมาตรา 66

เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8.00 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชา โดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เอกสารทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อ ว. ผู้จัดการส่วนการพนักงาน หนังสือทั้งสองฉบับนี้ระบุว่าเป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และยังระบุเรื่องการกระทำผิดของโจทก์ด้วย อีกทั้งมีข้อความเหมือนกันว่า "ดังนั้นเพื่อให้ท่านแก้ไขและปรับปรุงความประพฤติของท่านให้เป็นพนักงานที่ ดีและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานการทำงานที่ดี บริษัทฯ จึงลงโทษท่าน โดยการออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติครั้งที่ 1 ขอตักเตือนว่าหากท่านฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของบริษัทโดยการกระทำผิดเช่นนั้นอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป" หลังจากนั้นปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไปไม่ถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงาน ตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ลงนามโดย ว. เช่นกัน แต่ระบุเรื่องว่าหนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อมีข้อความระบุการกระทำความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่า เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อ ไป มิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือนหลังจากออกหนังสือ ฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนั้น หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงมิใช่หนังสือเตือนแต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำ เตือน โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือ แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) การกระทำของโจทก์เป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นอาจิณ จำเลยเป็นนายจ้างสามารถไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทด แทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยย่อมมีเหตุผลอันสมควรที่ จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2551
โจทก์ใช้ของแหลมมีคมขีดรถของนาย ส. ซึ่งจอดอยู่ในที่จอดรถพนักงานในบริษัทได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ ทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ชัดว่านอกจากจำเลยประสงค์จะมิ ให้มีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยแล้วยังต้องการให้ทรัพย์สินของบุคคล อื่นในบริษัทจำเลยได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับทรัพย์สินของจำเลยด้วย หากมีการกลั่นแกล้งทำลายทรัพย์สินกันในบริษัทจำเลย ลูกจ้างอื่นของจำเลยก็ย่อมทำงานอย่างไม่ปกติสุข โดยเฉพาะในที่จอดรถซึ่งเป็นสถานที่ที่ลูกจ้างของจำเลยต้องจอดรถของตนไว้ ไม่อาจดูแลได้ตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย จึงสมควรได้รับการดูแลจากจำเลยเป็นพิเศษดังจะเห็นได้ว่าจำเลยติดตั้ง กล้องวงจรปิดไว้เพื่อตรวจสอบหาพยานหลักฐานหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงทรัพย์สินที่ถูกกระทำเป็นรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาและ ลูกจ้างจำต้องใช้ในการเดินทางมาทำงานสถานที่ที่ถูกกระทำเป็นบริเวณที่จอดรถของบริษัทจำเลย และการใช้ของแหลมมีคมขีดรถของบุคคลอื่นเป็นการกระทำที่ไม่สนใจไยดีในความ เดือดร้อนของบุคคลอื่น ไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้าย แรงอยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยอมรับว่ากระทำความผิดจริงและใช้ค่าเสียหายให้แก่นาย ส. จนนาย ส. ไม่ติดใจเอาความกับโจทก์แล้ว และโจทก์มีคุณความดีมาก่อน ควรที่จะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อให้โอกาสแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการปฏิบัติไปโดยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลย แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจในการลงโทษของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198 - 3279/2551
การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสอง ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ มาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 หมดสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เสนอให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองเลือกไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่เลือกและไม่แสดงความจำนงให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานหน่วยงานแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (5) และเป็นการละทิ้งการงานไปซึ่งจำเลยที่ 1 จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทอดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2035/2551
เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งบริษัท ส. เรื่อง การลงบันทึกเวลาในระดับผู้บริหารที่ไปจัดการธุรกิจให้บริษัทซึ่งเป็นคำสั่ง ในหน้าที่เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259 - 260/2551
แม้การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทบางข้อศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยโดยรวบรัดไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ตั้งประเด็นไว้ประกอบกัน แล้วมีการกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงโดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อม ด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 51 วรรคหนึ่ง

ลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร ระหว่างปฏิบัติงานดื่มเบียร์ อันเป็นเครื่องดองของเมา ก่อนจะถึงเวลาเลิกงานเพียง 5 นาที ซึ่งพนักงานเสิร์ฟมิได้มีหน้าที่สำคัญที่อาจก่อความเสียหายแก่นายจ้าง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างมีอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นาย จ้างอย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าว่ามีลูกค้าของนายจ้างตำหนิการปฏิบัติงานของลูกจ้าง กรณีจึงยังไม่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แต่การที่ลูกจ้างดื่มเบียร์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ถือว่าเป็นการจงใจขัดคำ สั่งนายจ้าง ทำให้นายจ้างไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

แม้ลูกจ้างจะขอให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดในอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาย่อมกำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยในอัตรา ร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587 - 8591/2550
โจทก์ทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ในวันทำงานปกติช่วงเวลาพักเที่ยงภายในลานจอดรถยนต์ในบริเวณที่ทำการของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ทั้งห้าได้พร้อมอุปกรณ์เล่นการพนัน เมื่อโจทก์ทั้งห้าเล่นไฮโลว์อันเป็นการพนันตามบัญชี ก. ท้าย พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แม้จะเล่นนอกเวลาปฏิบัติงาน แต่เล่นภายในบริเวณบริษัทจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามพนักงานเล่นการพนันภายในบริเวณบริษัทจำเลย และการพนันเป็นสาเหตุแห่งการวิวาทบาดหมาง ชักนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมอื่นได้ และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลย การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2550
ท. มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของบริษัท ฮ. มีหน้าที่บริหารงานของบริษัท ฮ. ให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบโรงงานของบริษัท ฮ. ถึง 4 แห่ง แต่กลับให้ บริษัท ช. ซึ่งประกอบกิจการอย่างเดียวกันกับบริษัท ฮ. จัดตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ฮ. โดย อ. ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของ ท. ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ช. พฤติการณ์ของ ท. จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าและเป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง บริษัท ฮ. จึงเลิกจ้าง ท. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2550
แม้ก่อนทำสัญญาจ้าง ฝ่ายจำเลยทั้งสองจะทำสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า ห้ามโจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อโจทก์คัดค้านจึงต้องทำสัญญาจ้างดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาจ้างก็มีข้อความระบุเงื่อนไขของการจ้างว่า โจทก์จะต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มาจากการเป็นพนักงานแก่บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด หรือกระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสัญญาที่โจทก์ไม่สามารถระมัดระวังมิให้โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาได้ ทั้งมิใช่ข้อตกลงที่มีผลทำให้โจทก์ต้องรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร เนื่องจากโจทก์เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมาก่อน แม้ในสัญญาจ้างจะไม่ระบุข้อความห้ามให้โจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อมีข้อความห้ามไม่ให้โจทก์กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท การที่โจทก์ไปเป็นลูกจ้างผู้อื่นในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษาในโรงเรียนที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการขัดต่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ข้ออ้างที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์เป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105 - 4108/2550
การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2550
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพไว้ว่า "ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว" สิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างดังกล่าวแยกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างกรณีหนึ่ง และกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชา โดยกรณีแรกนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็โดยนายจ้างให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วลูกจ้างก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ซึ่งเป็นกรณีความสามารถของลูกจ้างที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ส่วนในกรณีหลังซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับความประพฤติของลูกจ้างซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ในกรณีหลังนี้นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเคยตักเตือนเป็นหนังสือหรือเคยลงโทษลูกจ้างมาแล้ว แต่ลูกจ้างไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้น ข้อที่ว่านายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษมาแล้วจึงหาเป็นบทบังคับไปถึงกรณีแรกด้วยไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประเมินผลงานของโจทก์หลายครั้ง ผลงานของโจทก์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลยอันเป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษโจทก์มาก่อน จึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6021/2550
จำเลยเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียมีสำนักงานที่กำกับดูแลจำเลยคือ บริษัท จ. (สิงค์โปร์) โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (ออสเตรเลีย) และโอนย้ายไปเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (มาเลเซีย) โดยให้โจทก์มีสิทธินับเวลาทำงานติดต่อกันได้ และให้โจทก์คงได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมานานตามที่เคยได้รับต่อไป ต่อมาโจทก์โอนย้ายไปเป็นลูกจ้างจำเลย และได้ทำสัญญากับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) ระบุว่าเป็นการจ้างงานโจทก์ต่อเนื่องจากที่ได้ทำงานกับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) และโจทก์ยังคงมีสิทธิสะสมวันหยุดในกรณีที่ทำงานมานานต่อไปจากที่เคยได้รับ เมื่อข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหยุดพักผ่อนของลูกจ้างในกรณีทำงานมานานไว้ก็ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10332/2550
แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 แต่ได้ลงบันทึกข้อมูลของบริษัทจำเลยว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าอาหารให้โจทก์วันละ 10 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 20 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์แก้ไขข้อมูลว่ามาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นเบี้ยขยันเดือนละ 300 บาท และค่าอาหาร วันละ 10 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการระบุเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุผลให้จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว เพียงแต่ระบุวันที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ผิดพลาดไปซึ่งเป็นรายละเอียดเท่า นั้น จำเลยย่อมยกเหตุผลที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชด เชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2550
การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่าย หนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งอันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิก สัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวเลิกสัญญาจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับการบอกกล่าวได้ รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดย เฉพาะ จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่เมื่อทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2550
โจทก์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตต่อมาบริษัท ท. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 โดยรับโอนงานในส่วนประกันชีวิตจากบริษัท ท. มา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2543 บริษัท ท. ยังคงประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตทั้งสองประเภทควบคู่มาด้วยกันโดยยังไม่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา 121 วรรคสอง แต่เป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตภายใต้บทบัญญัติมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ที่ให้กระทำต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัท ท. ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิตออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น งานในส่วนประกันวินาศภัยและงานในส่วนประกันชีวิตต่างก็เป็นงานของบริษัท ท. ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์
หนังสือสัญญาข้อตกลงรับทราบเงื่อนไขในการจ้างทำขึ้นในตอนที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างทดลองงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 แต่ข้อความตามหนังสือก็ระบุว่าเป็นเงื่อนไขในการจ้างในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ท. ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่ใช้เฉพาะในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานเท่านั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัท ท. และทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ดังนั้น การที่บริษัท ท. ให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริการวินาศภัยทำงานประกันชีวิตด้วย งานประกันชีวิตซึ่งเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของบริษัท ท. จึงเป็นงานในความรับผิดชอบของโจทก์โดยชอบด้วยเงื่อนไขในการจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่โจทก์ทำงานประกันชีวิตให้บริษัท ท. ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2543 จำเลยซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ก็รับโอนทรัพทย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์และลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันชีวิตจากบริษัท ท. แต่ไม่ได้รับโอนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมาด้วย และหลังจากวันที่ 27 มีนาคม 2543 ถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง จำเลยมิได้ให้โจทก์ทำงานประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2550
สัญญาฝึกอบรมและดูงานต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลย มีข้อกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการส่งจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไปฝึกอบรมต่างประเทศและมีข้อกำหนดให้จำเลยนำวิชาความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่ได้จากการไปฝึกอบรมและดูงานต่างประเทศกลับมาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน แม้ระยะเวลาที่ให้โจทก์ส่งจำเลยไปฝึกอบรมจะมีกำหนด 2 สัปดาห์ แต่ระยะเวลาที่ให้จำเลยกลับมาทำงานให้โจทก์มีกำหนด 3 ปี ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลย เพราะในระหว่างที่จำเลยต้องกลับมาทำงานให้โจทก์นั้น จำเลยยังคงได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานตามปกติ มิได้ถูกตัดทอน ทั้งตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวยังให้สิทธิจำเลยไม่ต้องกลับมาทำงานให้โจทก์ได้โดยจำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการไปฝึกอบรมและดูงานทั้งหมดคืนแก่โจทก์ การคำนวณจำนวนค่าใช้จ่าย หรือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ในกรณีที่จำเลยกลับมาทำงานให้โจทก์ไม่ครบกำหนด 3 ปี โดยเอาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและดูงานทั้งหมดหารด้วย 36 เดือน แล้วคูณด้วยจำนวนเดือนที่จำเลยยังทำงานไม่ครบ ก็สอดคล้องกับข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเลือกชดใช้ค่าใช้จ่ายในการไปฝึกอบรมและดูงานทั้งหมดคืนโจทก์ แทนการกลับมาทำงานให้โจทก์มีกำหนด 3 ปี ไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยเช่นกัน จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฝึกอบรมและดูงานต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2549
หลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ซึ่งแม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242 - 8246/2549
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ... และคำว่า "ค่าล่วงเวลา" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6701/2549
การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 มาตรา 582 ซึ่งมิได้กำหนดว่าการบอกเลิกจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญา จ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบนั้น ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา เพียงแต่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใด คราวหนึ่ง เพื่อเป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าเท่านั้น การบอกเลิกจ้างจึงอาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6699/2549
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย
พนักงานขายบัตร ทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้จะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องยื่นใบลา ได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันหากขายไม่ได้หรือขายได้เพียงหนึ่งใบจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตามไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการ จึงเป็นการทำงานโดยอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายต้องถูกหักเงินเป็นค่าปรับ ก็มิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2549
จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้แก่โจทก์โดยจ่ายในนามของโจทก์เดือนละ 47,000 บาท และจ่ายในนามของมารดาโจทก์เดือนละ 73,730 บาท โดยมารดาโจทก์ไม่ได้มาปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 การที่ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ในนามของมารดาโจทก์ ก็โดยมีเจตนาเพื่อทำให้รายได้พึงประเมินของโจทก์ที่ใช้เป็นฐานคำนวณและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ป.รัษฎากร ของโจทก์ลดลงไปจากที่ได้รับจริง ดังนี้ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แม้มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินค่าจ้างอันมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์ได้ลดน้อยลงถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในส่วนนี้ได้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์< คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2549
โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายแก่ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายอื่นของจำเลย แก่ธนาคารสาขาของจำเลย บริษัทในเครือของจำเลย และแก่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในธุรกิจการธนาคารปกติของจำเลย งานของโจทก์เป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ดุลพินิจได้รัดกุม ถูกต้อง มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์จะสามารถแสดงความคิดเห็นให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระตามความรู้ความสามารถในวิชาชีพกฎหมายของโจทก์โดยไม่จำต้องมีผู้บังคับบัญชาคอยควบคุมสั่งการ และลงเวลาเข้าทำงาน แต่โจทก์ก็ต้องเข้าปฏิบัติงานในที่ทำงานของจำเลยพร้อมที่จะทำหน้าที่เมื่อมีคำปรึกษาหารือเข้ามา ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยและอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เงินรางวัล เงินบำเหน็จหรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานอื่นได้รับ แต่โจทก์ก็ได้รับเงินค่าตอบแทนตามสัญญาเป็นรายเดือน การลากิจลาป่วยก็ต้องรายงานต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ไม่สามารถหยุดงานได้ตามอำเภอใจของโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2549
สัญญาจ้าง ข้อ 11 ที่จำเลยตกลงทำสัญญากับโจทก์ว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยจะไม่ไปทำงานกับบริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจการค้าของโจทก์ ข้อห้ามดังกล่าวมิได้กำหนดพื้นที่ กำหนดแต่ระยะเวลาห้ามและการกระทำที่ห้ามซึ่งในคดีนี้คือการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสายการบินแข่งขันกับโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง แม้บริษัท ด. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จะเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ บริษัทดังกล่าวก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์เป็นเอกเทศ ถือไม่ได้ว่าธุรกิจของบริษัท ด. เป็นธุรกิจของโจทก์และไม่ปรากฏว่าบริษัท ด. ประกอบธุรกิจโดยนำผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไปจำหน่าย แม้จะมีผู้ประกอบธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ด. ก็ไม่มีผลกระทบถึงธุรกิจของโจทก์ การที่จำเลยเข้าทำงานกับบริษัท ว. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จึงไม่เป็นการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548
ประกาศของโจทก์ที่แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นลูกจ้างโจทก์ ระหว่างที่โจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โจทก์มิได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 2 ทำ ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างก็มิใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม มาตรา 75 และบทมาตราดังกล่าวก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดตาม มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7084 - 7289/2548
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันถึงที่สุด เป็นกรณีลูกจ้างฟ้องให้นายจ้างชำระเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลย ไม่ใช่ผู้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยให้ทำการแทน จึงไม่ใช่นายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และไม่ใช่ผู้ตกลงจะให้สินจ้าง จึงไม่ใช่นายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เมื่อผู้ร้องไม่ใช่นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2548
คำว่า "ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น" ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) หมายถึงสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ลูกจ้างเรียกร้องเอาจากนายจ้าง อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ไม่ใช่สิทธิตามสัญญาจ้าง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2548
ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ ดังนั้นเมื่อการทำงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของจำเลย หรือต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แสดงว่าการทำงานของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2548
โจทก์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด โจทก์ต้องมาทำงานทุกวัน บางวันหรือส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไซด์งาน การดำเนินงานหรือการแก้ปัญหาตามปกติ โจทก์ทำได้เองโดยอิสระ เว้นแต่เรื่องใหญ่ๆ หรือมีจำนวนเงินสูงๆ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ โจทก์ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมของกรรมการหรือปรึกษา ส. กรรมการบริษัทจำเลยก่อน โจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงานของบริษัทจำเลย โจทก์จึงทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจำเลยที่โจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมา แม้โจทก์จะได้รับเงินเดือนจากจำเลย ก็ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลย เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินใดๆ ตามสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189 - 2190/2548
แม้สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างก็ต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง และนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างเป็นการตอบแทนเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สำคัญคือ ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงกันโดยมุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของการงานอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ หรือคิดค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของการงานที่ตกลงกันแต่อย่างใด นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีสิทธิบังคับบัญชามอบหมายและควบคุมกำกับการทำงานของลูกจ้างให้ทำงานใด ๆ ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และสภาพการจ้างงานนั้นได้ ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้น ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามข้อตกลงที่ว่าจ้างให้ทำกัน โดยถือเอาผลสำเร็จของการงานที่ตกลงให้ทำกันนั้นเป็นสาระสำคัญ โดยผู้ว่าจ้างมิได้มีสิทธิบังคับบัญชาสั่งการผู้รับจ้างแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่มีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน และผู้ว่าจ้างจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานให้ผู้ทำงานนั้น แม้จะเป็นพฤติการณ์ที่มักเกิดขึ้นในกรณีของการจ้างลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ทำให้ฟังได้ว่าเป็นกรณีตามสัญญาจ้างแรงงานเสมอไปทั้งหมด เนื่องจากสัญญาจ้างทำของก็อาจมีพฤติการณ์การจ่ายค่าตอบแทนหรือการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำงานเช่นเดียวกับการจ้างแรงงานได้เช่นกัน