มาตรา ๗๕๙ ผู้รับจำนำจำต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัย และต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้นเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
มาตรา ๗๖๐ ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจำนำนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา ๗๖๑ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น
มาตรา ๗๖๒ ค่าใช้จ่ายใด ๆ อันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำนั้น ผู้จำนำจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับจำนำ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา
มาตรา ๗๖๓ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันส่งคืน หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนำ คือ
(๑) ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันผู้รับจำนำก่อให้เกิดแก่ทรัพย์สินจำนำ
(๒) ฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำ
(๓) ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่ผู้รับจำนำ เพราะความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินจำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2545
โจทก์มีอาชีพขายเครื่องประดับอัญมณี โจทก์นำเครื่องประดับอัญมณีไปขายฝากหรือจำนำที่ห้างทอง พ. เป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือโดยการไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้ ซึ่งแน่นอนว่าโจทก์ต้องมีหลักประกันที่น่าเชื่อถือให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวนมากไปไถ่ทรัพย์สินให้โจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือหลักประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไถ่ทรัพย์สินมาแล้วโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ทันทีเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่า อุปกรณ์ครบถ้วนตามมาตรา 758ส่วนการที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินไปขายให้แก่บุคคลอื่นโดยโจทก์กำหนดราคาขายให้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำจะช่วยขายทรัพย์สินที่จำนำให้แก่โจทก์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืน แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่เรื่องตัวการตัวแทนทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินจำนำให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ แต่กลับได้ความจากโจทก์เองว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินเพื่อชำระหนี้จำนำทรัพย์สินดังกล่าวให้ เสร็จภายใน 30 วัน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินไปแล้วและยังไม่ได้ชำระเงินค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากการ หักชำระหนี้จำนำคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งที่โจทก์ต้องฟ้องร้องขอชำระหนี้ที่จำนำหรือ เรียกราคาทรัพย์สินคืนจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2535
ทรัพย์ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทั้ง 7 รายการ เป็นของจำเลยจำเลยเพียงแต่มอบทรัพย์ดังกล่าวให้ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันเงิน กู้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากผู้ร้องเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระ หนี้ได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2525
โจทก์มอบแจกันพิพาทให้แก่จำเลยไว้เป็นประกันเงินกู้เข้าลักษณะจำนำตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 โจทก์ได้ชำระหนี้และรับแจกันคืนมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2522 พบว่าแจกันปากแตกบิ่นจึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันผู้รับ จำนำก่อให้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 พ้น 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินจำนำตาม มาตรา 763(1) คดีขาดอายุความแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2512
โจทก์มอบรถยนต์ของโจทก์พร้อมด้วยทะเบียนรถและใบโอนรถซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ในช่อง ผู้โอน ให้ ส.นำไปขายผู้อื่น แล้ว ส.นำรถยนต์ไปจำนำไปกับจำเลยผู้ซึ่งรับจำนำไว้โดยสุจริต การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการเชิด ส. ให้เป็นตัวแทนของโจทก์ ฉะนั้น โจทก์จะติดตามเอารถยนต์คืนโดยไม่ไถ่ถอนการจำนำก่อนหาได้ไม่ จำเลยมีสิทธิยึดรถยนต์ไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน