เช่าซื้อ

มาตรา ๕๗๒ อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว


สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ


มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง


มาตรา ๕๗๔ ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563

จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2562

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์


แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562

สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5714/2562

หนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอื่นนั้น มิใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่างซึ่งลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 แต่เป็นกรณีที่คำพิพากษาได้กำหนดขั้นตอนการชำระหนี้ไว้เป็นลำดับแล้ว กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อนเป็นลำดับแรก หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาแทน ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อยังอยู่ในสภาพที่ส่งมอบคืนได้ โจทก์จะเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระราคาแทนโดยไม่ส่งมอบรถคืนจำเลยไม่ได้ ที่โจทก์นำเงินราคาใช้แทนกับหนี้อย่างอื่นตามคำพิพากษารวม 274,468.09 บาท ไปวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมรับเงินราคาใช้แทนดังกล่าวไปจากศาล หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าจำเลยสละสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรก โจทก์จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่จะต้องส่งมอบรถคืน การที่โจทก์นำเงิน 274,468.09 บาท ไปวางศาลจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้เสร็จสิ้นครบถ้วนตามคำพิพากษา


เมื่อโจทก์ยังมีหนี้ที่ต้องส่งมอบรถคืนแก่จำเลยและไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะครอบครองใช้รถของจำเลยได้โดยชอบอีกต่อไป แม้จำเลยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะติดตามเอารถคืนโดยไม่ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถหรือเสียโอกาสที่จะได้กรรมสิทธิ์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2562

สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า "วินาศภัย" ว่า ให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้นการที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยเอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหาย ได้ระบุข้อยกเว้นความรับผิดไว้สองประการ กล่าวคือ ประการแรกความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกโดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนอง หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ประการที่สอง การใช้รถยนต์นอกอาณาเขตที่คุ้มครอง จึงเห็นได้ว่าในข้อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ระบุเรื่องการใช้รถยนต์ผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ตามกรมธรรม์ เป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ไม่ ทั้งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยรวมตลอดถึงเงื่อนไขและการคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ก็ไม่มีเงื่อนไขข้อใดที่ระบุไว้ว่าหากผู้เอาประกันภัยนำรถไปใช้ผิดเงื่อนไขจะทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่โจทก์นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปใช้ผิดเงื่อนไขโดยออกให้บุคคลภายนอกเช่าจึงไม่เป็นการกระทำเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาจึงไม่ชอบและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โจทก์ฎีกาในปัญหานี้อีกว่า การที่โจทก์นำรถยนต์ออกให้เช่าในกรณีนี้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัยจึงเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน โดยโจทก์ฎีกาว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์ไปจากโจทก์มาตั้งแต่ต้น เหตุที่ทำสัญญาเช่าก็เพื่อเป็นกลอุบายเพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์คันดังกล่าว การที่ ธ. รับมอบหรือครอบครองรถยนต์จึงไม่ใช่การรับมอบหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 5.1 ในข้อนี้โจทก์มี ธ. ตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ธ. ได้ใช้กลอุบายหลอกทำสัญญาเช่ารถยนต์ของโจทก์เพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป โดยไม่มีเจตนาเช่าจริง และ ธ. ได้ร่วมกับพวกใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการลักรถยนต์รายอื่นในจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายครั้งตามหมายจับ ธ. ของศาลแขวงเชียงใหม่ ข้อหากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ให้จับตัวพวกของ ธ. รวม 2 คน ข้อหากระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายและมี น. เบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยถูก ธ. ขอทำสัญญาเช่ารถยนต์ของพยานโดยไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์จริงเช่นกัน โดยในคืนเดียวกับวันทำสัญญาเช่า ธ. ได้ตัดสัญญาณติดตามรถยนต์ของพยานออกเพื่อไม่ให้สามารถติดตามรถยนต์ได้ เมื่อ ธ. ถูกจับกุมก็ยอมรับกับพยานว่าไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์แต่ต้องการจะนำรถไปขายต่อ เห็นว่า พฤติการณ์ของ ธ. ที่ขอเช่ารถยนต์จากบุคคลหลายคนซึ่งได้ความจากคำเบิกความของ น. และคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ว่า เมื่อได้ครอบครองรถยนต์แล้ว ธ. ลักรถยนต์ไปขายต่อ สอดคล้องกับคำเบิกความของ ธ. เองที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทำทีเป็นเช่ารถยนต์จากฝ่ายโจทก์โดยมีเจตนาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ แสดงให้เห็นว่า ธ. มิได้มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทไปจากโจทก์เพื่อใช้สอย หากแต่มีเจตนามาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ไปจากโจทก์ การติดต่อขอเช่ารถยนต์เป็นเพียงวิธีการหรือกลอุบายเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต ที่จำเลยให้การและนำสืบหักล้างว่าโจทก์เคยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ธ. กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กรณีจึงไม่ใช่ ธ. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายนั้น เห็นว่า การแจ้งความเป็นเพียงการร้องทุกข์กล่าวหาในเบื้องต้น ส่วนการกระทำของ ธ. จะเป็นการกระทำความผิดฐานใดต้องดูจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนและคำพิพากษาของศาลซึ่งจะมีต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าแม้โจทก์ได้แจ้งความในเบื้องต้นให้ดำเนินคดีแก่ ธ. ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ต่อมาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าพฤติการณ์ของ ธ. เป็นลักษณะลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ข้อนำสืบของจำเลยในส่วนนี้ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์ แต่มีเจตนาลักเอารถยนต์นั้นมาแต่ต้น การที่ ธ. ได้รถยนต์ไปอยู่ในความครอบครองจึงมิใช่การครอบครองตามสัญญาเช่า ดังนั้นที่ ธ. นำรถยนต์ดังกล่าวหลบหนีไปจึงไม่เป็นกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดขึ้นโดยบุคคลซึ่งครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามข้อ 5.1 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนทุนประกันภัยที่ระบุไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562

เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562

ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2561

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด..." ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อโดยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวในอันที่จะใช้สิทธิร้องขอคืนได้ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวมา ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 กลับเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561

แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง


ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท


ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2561

จำเลยเสนอขายห้องชุดในโครงการซึ่งก่อสร้างห้องชุดเสร็จแล้ว จำเลยในฐานะนิติบุคคลที่ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยย่อมทราบเนื้อที่ของห้องชุดและราคาซื้อขายเป็นข้อสำคัญ ผู้ซื้อย่อมต้องการรับโอนห้องชุดที่มีเนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือหากจะแตกต่างไปบ้างก็ไม่ควรขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนเกินสมควร ทั้งจำเลยสามารถคำนวณและตรวจสอบเนื้อที่ห้องชุดได้อยู่แล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคเช่นโจทก์ทั้งสองไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย การที่จำเลยกำหนดสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อโดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 จำเลยส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญา คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่ยังคงให้โจทก์ทั้งสองรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วน ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของจำเลยเอง ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดที่แท้จริงถึง 165,291 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ทั้งสองคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4


เมื่อข้อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ที่กำหนดให้คู่สัญญายินยอมให้ใช้เนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นเนื้อที่ที่เช่าซื้อตามสัญญาฉบับนี้โดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดต่อกันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยจึงต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่อันแท้จริงและต้องคืนเงินในส่วนที่ส่งมอบเนื้อที่ห้องชุดขาดตกบกพร่องแก่โจทก์ทั้งสองด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561

จ. ผู้เอาประกันภัย เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาจากธนาคาร ธ. หากรถยนต์สูญหายไปโจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร ธ. เจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับประกันภัยของโจทก์หลงลืมระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ และยังคงยืนยันว่าผู้รับผลประโยชน์คือธนาคาร ธ. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับ จ. มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. จึงฟังได้ว่า จ. ยินยอมให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง


จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้า บริเวณทางเข้าและทางออกลานจอดรถไม่มีการมอบและคืนบัตรจอดรถ ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ คงมีแต่เพียงกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อบันทึกภาพรถเข้าและออก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถป้องกัน ระงับ หรือยับยั้งการโจรกรรมรถยนต์ได้ เช่นนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลย งดเว้น ไม่สอดส่อง ตรวจตรา ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถตามหน้าที่ตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งจอดอยู่ในลานจอดรถศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 สูญหายไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย


สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ความตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ณ อาคารศูนย์การค้า ซ. แต่สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยและเอกสารแนบท้ายหาได้ระบุให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินตลอดจนรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ แม้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 จะทำให้เข้าใจได้ว่ามีการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าด้วย แต่ความเข้าใจของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเช่นว่าไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 เกินไปกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป จำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2561

การก่อให้เกิดสัญญาต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ปาก ธ. และ ณ. ต่างเบิกความว่า พนักงานของจำเลย สาขาปทุมธานี แจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า หากไม่โอนเล่มทะเบียนต้องมีคนค้ำประกัน และหากจะให้ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนเล่มทะเบียนไปเป็นชื่อของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ณ. เพิ่มเติมว่า พยานได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากพนักงานของจำเลยโดยตลอดว่ามีการอนุมัติสินเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปาก ด. ว่า ฉ. ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้า และการจัดสัญญาในเขตปทุมธานีของจำเลยได้มาปรึกษาพยานเรื่องที่โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สามคัน ฉ. ได้แนะนำโจทก์ว่า ระหว่างที่รอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อของจำเลยก่อน ต่อมาสำนักงานใหญ่ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ฉ. จึงแจ้งให้โจทก์ทราบและคืนเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อเช่าซื้อ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเงินค่าโอนและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับคืนโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของจำเลย สำนักงานสาขาปทุมธานีของจำเลยไม่มีอำนาจอนุมัติและทำสัญญาเช่าซื้อแต่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าแล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าขอสินเชื่อให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ปรากฏว่า ฉ. มีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อด้วยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์ของ ฉ. ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่า ฉ. เป็นตัวแทนในการอนุมัติสินเชื่อของจำเลย การที่โจทก์ยื่นแบบคำขอสินเชื่อต่อจำเลย และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปก่อน ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำสัญญา เพราะสำนักงานใหญ่ของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อของโจทก์ จึงเป็นเพียงคำเสนอเท่านั้น สัญญาให้สินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์จึงยังไม่เกิด จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561

แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2561

การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6834/2560

เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากัน ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและตามข้อกำหนดเงื่อนไข โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามที่ระบุในสัญญาเช่า เมื่อคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่าเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งมียอดค่าเช่าตรงกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


เมื่อพิจารณาถึงสัญญาเช่าแล้วมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าเรื่องการส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด การสิ้นสุดสัญญาเช่า เงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560

ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย


แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10346/2559

เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้หลายอย่างอันจะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 ดังนั้น หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำก่อนจึงเป็นหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน อันแสดงว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อและมีสิทธิติดตามเอาคืนเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ อีกทั้งโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ กรณีไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดได้โดยแน่นอน ดังนั้นจึงไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนของราคารถใช้แทนให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9961/2559

สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" และข้อ 11 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้ง หากผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใด ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่น ๆ" เมื่อพิจารณาข้อสัญญาทั้งสองข้อประกอบกันด้วยแล้ว เห็นได้ว่า แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ไม่อาจถือเป็นเด็ดขาดว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องเลิกกันทันทีตามสัญญา ข้อ 9 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาให้ผู้เช่าซื้อ ดังที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 โดยยินยอมให้เวลาผู้เช่าซื้อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายหลังจากครบกำหนดเวลาชำระค่างวดตามสัญญาได้ และถือว่าสัญญายังคงมีความผูกพันกันต่อไป คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 13 งวด โดยตั้งแต่การชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยโจทก์เองก็ยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัด และยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดในคราวการชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 แม้จะครบกำหนดระยะเวลาชำระแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยอีก หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญา ข้อ 9 แล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8619/2559

โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559

ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559

คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2559

การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิมได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อมาตามสภาพและราคาขณะเกิดเหตุ ไม่อาจเรียกจากราคาเช่าซื้อรวมถึงเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระไปแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2559

ก่อนเกิดเหตุ ย. แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถจักรยานยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว ย. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำไปขายต่อให้แก่ผู้ใช้ชื่อว่า ข. เพื่อแลกกับเงินสด 13,000 บาท โดยจะมีชายไม่ทราบชื่อไปรับรถและมอบเงินให้ แต่ ย. ต้องไปแจ้งความว่ารถหายเพื่อให้ผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมโดยให้ ก. ติดต่อขอกู้ยืมเงิน 20,000 บาท จากผู้ใช้ชื่อว่า ข. และผู้ใช้ชื่อว่า ข. แจ้งให้ ก. ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำมามอบให้แลกกับเงิน 20,000 บาท การที่ ก. นัดจะส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะมอบเงินให้ ก็เป็นเรื่องที่ ก. วางแผนจับกุมจำเลยโดยจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยเอง มิใช่จำเลยจะเอาไปซึ่งการครอบครองรถจักรยานยนต์จาก ก. โดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานพยายามลักทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2559

พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น" เมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่อาจส่งมอบคืนได้ ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้ราคาแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของราคาเช่าซื้อ ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จึงย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อที่จะต้องคืนหรือใช้ราคารถในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันด้วยเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายด้วย สัญญาข้อดังกล่าวกำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี โดยไม่ได้แบ่งแยกความรับผิดกรณีเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ และกรณีไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อไว้ต่างหากจากกัน จึงเป็นการได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดให้ข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคาแทนเป็นจำนวนพอสมควรได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559

หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2559

พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6 บัญญัติว่า ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตาม พระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และวรรคสองบัญญัติว่า ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องราษฎรที่ได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้มีที่ดินไว้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่ได้รับมาด้วยประการใด ๆ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ดังนั้นภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยผู้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผลหรือมีลักษณะไปในทางที่สละ หรือโอน หรืออาจต้องถูกบังคับคดีให้มีการโอนสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวได้


การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินขณะอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ซึ่งตามลักษณะของสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในอันที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเสียสิทธิการครอบครองที่ดินซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นเคหสถานและประกอบอาชีพ และพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยก่อนทำสัญญาที่ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีข้อห้ามโอน เห็นได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมที่มีเจตนาที่จะโอนที่ดินกัน แม้จะมีเงื่อนไขให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจยกนิติกรรมอันเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อบังคับให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่ง ช. ผู้เป็นเจ้าของเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ช. ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ ช. ขับให้รับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ ช. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ประมาท แต่จำเลยเพิกเฉย ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนแล้ว ทั้งตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็สนับสนุนข้ออ้างที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประจักษ์ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม


โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทน หลังเกิดเหตุ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์จนมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อได้แสดงตนแล้ว และกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อเช่นโจทก์ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15401/2558

ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 (ข้อบังคับเดิม) ข้อ 15 (1) มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยา ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น" เป็นการกำหนดให้การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านจะต้องอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เบิกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับ โดยตนเองและสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น แต่ในข้อบังคับใหม่ ข้อ 15 (1) กำหนดว่า "ในกรณีที่พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้พนักงานผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนและอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดตาม ข้อ 6 ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเองหรือคู่สมรส ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้น จะเบิกจ่ายได้เพียงหลังเดียว" ตามข้อบังคับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ต้องเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านเฉพาะในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น แต่กำหนดให้เป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ด้วย โดยเปลี่ยนแปลงให้ตนเองหรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้นสามารถจะเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้เพียงหลังเดียว


โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์


ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21 ส่วนที่กำหนดให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณและลูกจ้างมิได้ยินยอม จึงไม่สามารถใช้เพื่อตัดสิทธิของโจทก์ให้ลดน้อยลงจากสิทธิที่โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระย้อนหลังได้ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (1) แต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15399/2558

ตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 ข้อ 15 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้..." ดังนั้นการที่พนักงานของจำเลยจะนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 ข้อ 4 ระบุว่า "ท้องที่หมายความว่า กรุงเทพมหานคร อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอ และหรือกิ่งอำเภอที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันตามข้อ 5 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง" และข้อ 5 ระบุว่า "ให้คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางมีอำนาจประกาศกำหนดให้อำเภอและหรือกิ่งอำเภอหลายท้องที่รวมกันเป็นท้องที่เดียวกันได้" เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี แต่โจทก์ได้ไปเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในอำเภอวารินชำราบโดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางได้ประกาศกำหนดให้สองอำเภอดังกล่าวเป็นท้องที่เดียวกันอำเภอวารินชำราบจึงเป็นท้องที่อื่น มิใช่เป็นท้องที่ที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2558

แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว


โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15357/2558

โจทก์กำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ให้คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในการซื้อขายซึ่งนำมาใช้บังคับกับการเช่าซื้อ โจทก์ส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญาเช่าซื้อ 6.51 ตารางเมตรคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วนได้ ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของโจทก์เอง จำเลยจะต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดถึง 162,000 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ อีกทั้งโจทก์เป็นฝ่ายบกพร่องในการคำนวณเนื้อที่ห้องชุดและสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้อยู่ก่อนแล้วถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย จึงไม่อาจใช้บังคับได้


สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่จริงจึงจะเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายได้หากโจทก์ไม่ปรับลดราคาห้องชุด จำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายและถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อห้องชุด เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ไม่มีผลบังคับ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับเอาห้องชุดที่โจทก์ส่งมอบเนื้อที่ขาดจำนวนจากสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าร้อยละ 5 การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เป็นการใช้สิทธิบอกปัดโดยขอเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันซึ่งมิใช่เป็นการเลิกสัญญาด้วยความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อไว้ ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วแก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องส่งมอบห้องชุดคืนแก่โจทก์ และการที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ห้องชุดถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม ในส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อตามฟ้องแย้ง จึงต้องหักด้วยค่าใช้ทรัพย์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองห้องชุดของโจทก์


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15303/2558

โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์


รายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใดจึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยจนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน และฟ้องคดีเป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์


โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้


จำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15145/2558

เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อ โดยลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่คืนเจ้าหนี้ย่อมได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับเพราะเหตุที่ลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้อีก แต่เนื่องจากหนี้ที่เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้นั้น ต้องเป็นหนี้เงินซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นค่าขาดราคารถ (ที่ถูก ค่าขาดประโยชน์) จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายเพราะลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถคืนแก่เจ้าหนี้อันถือได้ว่ามูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ในการติดตามเอารถคืนจากลูกหนี้มิใช่หนี้เงินอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ส่วนคำขอรับชำระหนี้กรณีหากคืนรถไม่ได้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ราคาแทนเท่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มิใช่หนี้อันพึงขอรับชำระในคดีล้มละลายได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15107/2558

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14971/2558

จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 12 งวด จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถบรรทุกที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์นับแต่งวดที่ 13 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถบรรทุกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม มิใช่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่ผิดนัดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558

โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14780/2558

โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่เป็นการอ้างสัญญาเช่าซื้อเป็นหลักแห่งข้อหา และเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจากเจ้าหนี้เดิมผ่านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหายเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นการใช้สิทธิแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะติดตามเอาทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิติดตามเอารถยนต์คืนจากจำเลยทั้งสองได้อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดวันที่ 23 มีนาคม 2534 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 11 ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดสองงวดติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14516/2558

โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อ อ. เจ้ามรดก ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของ อ. ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2558

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ คงอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ยินยอมให้นำรถยนต์ออกให้เช่า เมื่อรถยนต์สูญหายจึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกหาได้ไม่ ฎีกาในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง) เห็นว่า ที่โจทก์ขอเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ตามใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์นั้น จำเลยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีความเสี่ยงภัยมากกว่าการใช้ส่วนบุคคล ซึ่งในใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์ มีข้อความระบุว่า 1. ให้ยกเลิกรายการใช้รถยนต์เดิม และใช้รถยนต์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้แทน 2. ให้ปรับเบี้ยประกันภัยให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลบังคับเฉพาะต่อรถยนต์ที่ระบุไว้ข้างต้น เงื่อนไขและสัญญาประกันภัยข้ออื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผลบังคับของเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงยังเป็นเช่นเดิม เพียงแต่การใช้รถยนต์ตามที่ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงจากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ หากเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ เช่น รถยนต์เกิดอุบัติเหตุในขณะนำรถไปใช้เพื่อการพาณิชย์ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่โจทก์ ส่วนเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหายยังต้องเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยในหมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ที่ระบุการยกเว้นความรับผิดของจำเลย ตามข้อ 5.1 ว่า ยกเว้นไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเงื่อนไขความคุ้มครองในหมวดนี้ยังคงมีผลบังคับโดยหาได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์แต่อย่างใดไม่


การที่โจทก์ยินยอมให้ ป. นำรถยนต์ออกให้เช่า โดยโจทก์กับ ป. มีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากค่าเช่ารถยนต์ที่ได้รับ เช่นนี้ โจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองรถยนต์เพื่อนำออกให้เช่าผ่าน ป. เมื่อ ศ. ทำสัญญาเช่ารถยนต์กับ ป. ซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์มอบหมาย ก็เท่ากับโจทก์มอบการครอบครองรถยนต์แก่ ศ. โดยการดำเนินการของ ป. นั่นเอง เหตุที่รถยนต์สูญหายมาจากการที่ ศ. ผู้เช่า ไม่ส่งคืนรถยนต์ จึงเป็นการยักยอกทรัพย์โดยบุคคลที่ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ย่อมเข้าเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามข้อ 5.1 ดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558

จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14208/2558

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ คดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่เพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลาที่โจทก์เรียกรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13390 - 13391/2558

ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13385/2558

โจทก์อ้างสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะเป็นตราสาร จึงต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้หรือยกปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารที่เกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์เพราะในการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จำเลยทั้งสามเสนอต่อโจทก์ เมื่อไม่อาจรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานได้ พยานหลักฐานอื่นของโจทก์ไม่มีน้ำหนักดีไปกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13184/2558

จำเลยทั้งสองให้การชัดเจนในประเด็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและหนังสือมอบอำนาจให้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่ารถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายไปในระหว่างสัญญาเช่าซื้อแต่ประการใด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เกี่ยวกับรถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่นอกเหนือคำให้การที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีกจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถยนต์เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะใช้รถยนต์เช่าซื้อตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์เช่าซื้อ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ อันเป็นผลตามบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม การที่โจทก์จะประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์หรือไม่นั้น ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13073/2558

เมื่อจำเลยทั้งสองขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ยอมรับคำขอของจำเลยทั้งสอง โดยเรียกค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจากจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน เมื่อได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมย่อมระงับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก และมาตรา 350 โจทก์ไม่อาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558

โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้


ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558

การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12851/2558

เมื่อบริษัท ธ. ผู้ให้เช่าซื้อตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของบริษัท ธ. ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้หาใช่เป็นการซื้อขายความไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องได้จากการขายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และฝ่ายจำเลยผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9487/2558

การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตาม มาตรา 107 การถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2558

เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคารถที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาได้นับแต่วันเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่นับแต่วันที่ประมูลขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขาดราคาจึงขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6850/2558

สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีรถยนต์เสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญา สัญญาดังกล่าวได้แบ่งความรับผิดของผู้เช่าซื้อเป็นสองกรณีโดยพิจารณาจากความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อว่าเกิดขึ้นจากความผิดของผู้เช่าซื้อหรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจากการประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระหรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์นำรถยนต์เช่าซื้อออกประมูลขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายในกรณีที่รถยนต์เช่าซื้อเสียหายที่ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 คือค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายไป ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเงินลงทุนของโจทก์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่เสียหายกับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์และเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว เห็นว่ามีจำนวนเพียงพอต่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายเพราะเหตุประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) แล้ว จึงไม่กำหนดให้อีก


โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2558

สัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อกำหนดว่าในกรณีที่มีการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปทำประกันภัยแล้วรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายผู้ให้เช่าซื้อต้องไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อเอากับผู้เช่าซื้อ โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อเอากับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้โดยไม่จำต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5636/2558

โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาและเรียกร้องค่าเสียหายจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา แต่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 หยุดชำระค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ทั้งโจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา การที่โจทก์มาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธต่างๆ หลายประการ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีจึงมีเพียงว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดในคดีอาญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็น แม้โจทก์จะอ้างสัญญาเช่าซื้อแนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่โจทก์อยู่ในบังคับที่จะต้องบรรยายสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นให้ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่อ้างเพียงเอกสารท้ายฟ้องซึ่งมีข้อตกลงต่างจากที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหาบรรยายฟ้องมา แล้วจะถือเอาว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องในเรื่องนั้น ๆ มาแล้วหาได้ไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดอาญาเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่โจทก์มิได้ฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์จะฎีกาในปัญหานี้ได้ เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว 15 งวด ครั้งสุดท้ายเป็นการชำระของงวดวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่างวด การที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2548 เป็นต้นมา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ การที่โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และอาศัยเป็นเหตุในการเลิกสัญญาและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ต่อมา ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่าเช่าซื้อเอง อันเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง ทั้งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอริบรถยนต์ที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกริบ ถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4649/2558

โจทก์บรรยายคำฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย และโจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ตามคำฟ้องของโจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายใด ๆ อันเนื่องมาจากความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อในกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยเป็นความผิดของจำเลย แต่ได้ความจากทางพิจารณาว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลย เป็นเรื่องของการรับฟังข้อเท็จจริงซึ่งศาลจะนำมาวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลยและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามคำฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4646/2558

คู่สัญญาอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าเมื่อเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาไม่จำต้องกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมได้ ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้...ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความรับผิดของผู้เช่าซื้อจึงหาได้ระงับไปพร้อมกับสัญญาด้วยไม่


ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้สัญญาระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อเจ้าของแม้ในเหตุสุดวิสัย ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากการใช้รถมิใช่เหตุสุดวิสัยที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาตินั้น โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเนื่องจากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ไม่ได้อ้างว่าสัญญาเลิกกันโดยเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากรถที่เช่าซื้อเสียหายจากภัยธรณีพิบัติ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง


ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวหาได้ระบุจำกัดสิทธิดังเช่นสัญญาข้อ 5 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเฉพาะเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากรถหรือการใช้รถไม่ ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง


ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นเบี้ยปรับจึงควรกำหนดเบี้ยปรับตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งกำหนดไว้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย เอ็ม อาร์ อาร์ บวก 10 ต่อปี นั้น จำเลยที่ 2 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขายรถที่เช่าซื้อแก่บุคคลภายนอกโดยยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ เกิดเหตุธรณีพิบัติเป็นเหตุให้รถได้รับความเสียหาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพราะสัญญากำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดจากผู้เช่าซื้อหรือไม่ เป็นข้อสัญญาที่ทำให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระเกินกว่าปกติทำให้ผู้ให้เช่าซื้อได้เปรียบผู้เช่าซื้อนั้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการค้าหรือวิชาชีพในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น" สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า หากรถที่เช่าซื้อเสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิม โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4649/2558 

โจทก์บรรยายคำฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย และโจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ตามคำฟ้องของโจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายใด ๆ อันเนื่องมาจากความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อในกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยเป็นความผิดของจำเลย แต่ได้ความจากทางพิจารณาว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลย เป็นเรื่องของการรับฟังข้อเท็จจริงซึ่งศาลจะนำมาวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลยและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามคำฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2558 

จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงิน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 90,543 บาท เหลือเพียง 50,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระกับระยะเวลาชำระเสร็จขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้ครบ 50,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป และก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2558 

เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2539 และงวดที่ 11 ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จึงเป็นการผิดนัดสองงวดติดต่อกันตามสัญญา โจทก์จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2539 รวมทั้งค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายประการหนึ่งที่ศาลกำหนดให้ได้ตามพฤติการณ์ความเสียหายซึ่งโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ หาจำต้องรอให้ขายรถยนต์เสียก่อนไม่ อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าขาดราคาเพราะหากเป็นกรณีเป็นไปดังที่โจทก์ฎีกาแล้ว กรณีย่อมไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะนำรถออกประมูลขายเมื่อใด อันมีผลทำให้โจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ซึ่งไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความสิบปี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728/2558 

สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 15 ของเดือน โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยตลอด แต่เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 รับไว้และนำส่วนหนึ่งไปหักเป็นดอกเบี้ยของการชำระค่างวดล่าช้า แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยให้ระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่โจทก์พอสมควรแล้ว จึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ โจทก์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะขอบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน โดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2558 

กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อพังเสียหายจากการถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าปะทะกับต้นไม้และพลิกตะแคงอยู่กับเศษวัสดุต่าง ๆ ที่แตกหักเสียหายเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายใช้การไม่ได้และสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่าหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควรและตามข้อ 11 กำหนดว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืน แม้โจทก์ฟ้องเป็นกรณีผิดสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดกรณีสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากเหตุที่มิได้เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดังเดิม แต่รถยนต์หาได้สูญสิ้นสภาพไปทั้งหมดยังคงมีตัวทรัพย์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายจากธรณีพิบัติภัยอันเป็นเหตุสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการส่งมอบรถยนต์คืนตามสภาพที่ใช้การได้ดี แต่ต้องส่งมอบคืนตามสภาพที่เป็นจริงหลังเกิดธรณีพิบัติภัย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในการคืนทรัพย์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทน โดยกำหนดให้ในลักษณะของค่าซากรถเป็นเงิน 20,000 บาท ตามคำฟ้องของโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายใด ๆ อันเนื่องมาจากความรับผิดตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายโดยสิ้นเชิงจากเหตุธรณีพิบัติภัย แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายตามราคารถยนต์ที่โจทก์ออกเงินลงทุนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้เสียหายจากธรณีพิบัติภัยและ ย. ชำระค่าเช่าซื้อครบ 48 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 44,979.37 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าซื้อที่ ย. ผ่อนชำระแล้ว 8 งวด รถยนต์ก็เสียหายโดยสิ้นเชิงจนมีสภาพเป็นเพียงซากรถ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 37,400 บาท เมื่อค่าซากรถและค่าเสียหายที่กำหนดให้เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยของค่าเสียหายอีก ส่วนค่าใช้ทรัพย์และค่าเช่าซื้อค้างชำระที่โจทก์ขอมานั้น ย. ผู้เช่าซื้อยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันคงต้องรับผิดเฉพาะการคืนทรัพย์แก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนและชดใช้ค่าเสียหายดังที่วินิจฉัยแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557 

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557 

ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557 

สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557 

จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15433/2557 

โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14578/2557 

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย ซึ่งสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ว่า หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญา แต่หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเห็นได้ว่า แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อก็ยังคงมีความรับผิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์นำมาเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้ ส่วนจะใช้ค่าเสียหายอย่างไร เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์จึงพอถือได้ว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายรวมอยู่ด้วยแล้ว สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ข้างต้นมิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า หากทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นอันระงับไปเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นราคารถยนต์นั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหาย และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนทั้ง 42 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินรวม 77,209.44 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มาเพียง 5 งวด รถยนต์ก็มาสูญหายเสียก่อน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,100 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12953/2557 

คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบางส่วน แล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ โดยโจทก์นำค่าเช่าซื้อบางส่วนไปชำระปิดบัญชีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือโจทก์สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และมีการนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินโจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่และเป็นการรับไว้โดยมูลอันจะอ้างตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8638/2557 

เขตอำนาจศาลที่จะรับคำฟ้องย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญากันที่สำนักงานของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อยังระบุว่า คู่สัญญาตกลงกันว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญานี้ก็ให้เสนอคดีต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นคดีนี้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลจังหวัดนนทบุรีต่างมีเขตอำนาจในคดีนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะระบุให้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ แต่เมื่อศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในคดีนี้ด้วย ย่อมไม่จำกัดสิทธิของผู้รับมอบอำนาจที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นที่คดีอยู่ในเขตอำนาจอีกศาลหนึ่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2557 

ส. และ ว. ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของ ส. และ ว. คือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อ ส. และ ว. ยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัท จ. ย่อมถือว่า ส. และ ว. เปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. และ ว. ต่างนำสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่า ส. และ ว. จะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเพียงใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูง ส. และ ว. ทำสัญญาเช่าซื้อสร้อยคอทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้ ส. และ ว. ได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำรูปพรรณให้ ส. และ ว. เพื่อนำไปขายอีก พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2557 

การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง แม้เนื้อหาของหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ไม่มีข้อความว่าเพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2557 

วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกรณีผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกรณีผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เริ่มนับเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด ค่าขาดราคารถที่เช่าซื้อ และค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้าหนี้มรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรู้ถึงความตายของผู้เช่าซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ย่อมต้องอยู่ภายใต้บัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความตายดังกล่าว หรือภายในสิบปีนับแต่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557 

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียก ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจาก ศ. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับ ศ. โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4564/2557 

 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกยักยอกโดย ก. ซึ่งเป็นผู้ที่ขอยืมรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไปใช้ ทั้งไม่ได้ความว่า ก. เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยร่วม ผู้รับประกันภัย จะปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีเงื่อนไขข้อใดที่ระบุว่า หากผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่ไม่แจ้งความเสียหายหรือไม่แจ้งเหตุที่ทำให้เกิดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยร่วม ผู้รับประกันภัย ทราบในทันที จะทำให้จำเลยร่วมหลุดพ้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ไปปรึกษากับพนักงานสอบสวนในเรื่องรถยนต์ถูกยักยอกแล้วไปแจ้งโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อเพื่อให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจแจ้งความดำเนินคดีก็เป็นการดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว ส่วนโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่มีหน้าที่แจ้งเหตุให้จำเลยร่วมทราบ ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเหตุรถยนต์ถูกยักยอกไปให้จำเลยร่วมทราบจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยร่วมปฏิเสธความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2557 

ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้ คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และ ห. ผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2557 

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้วให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง..." เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขณะจำเลยใช้รถยนต์คันนี้กระทำความผิดผู้ร้องยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ - 2576 กรุงเทพมหานคร จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในประเด็นอื่นอีกเพราะไม่มีผลที่เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19031/2556 

โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใดขัดต่อบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 88 อันจะทำให้ศาลรับฟังการ์ดบัญชีเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ส่งสำเนาการ์ดบัญชีให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน อันเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 90 แต่การ์ดบัญชีเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงถึงการชำระค่าเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 90 ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2556 

เมื่อ บ. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,500 บาท แล้ว ในวันเดียวกัน บ. นำสร้อยคอทองคำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 11,437 บาท ส่วน ส. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,603 บาท แล้วนำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 10,000 บาท การที่ บ. และ ส. ขายทองคำที่ได้รับมาไปในทันที โดย บ. และ ส. ต้องผ่อนชำระวันละ 95 บาท เป็นเวลา 174 วัน และ 175 วัน ตามลำดับ เชื่อได้ว่า บ. และ ส. ต้องการเงินจากบริษัท จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาเช่าซื้อทองคำไว้เป็นของตน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินมิใช่การเช่าซื้อ แม้มีการทำสัญญาเช่าซื้อก็เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่แท้จริง โดยการกู้ยืมเงินดังกล่าวคิดผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 80 ต่อปี เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14621/2556 

การนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถทั้งสองคันแทนโจทก์ เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงระหว่างตัวการกับตัวแทน ไม่เกี่ยวกับการนำสืบเพื่อให้มีการบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ และไม่ต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9822/2556 

ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภทแก่บุคคลทั่วไป ส. นำรถยนต์ของกลางมาทำสัญญาเช่าซื้อไว้กับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมไม่อาจจะรู้ว่าจำเลยที่ 2 พี่สาวของผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีจะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ก็ระบุความโดยสรุปว่า หากรถถูกใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิด หรือใช้รถในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับใด ๆ หรือใช้รถโดยประการอื่นใด เป็นเหตุให้รถถูกริบ ยึด อายัด ตกเป็นของรัฐ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลงทันที และผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง และเมื่อผู้ร้องมีหนังสือยืนยันการเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว การที่ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ก็เป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งเป็นช่องทางการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายของผู้ร้องทางหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ติดตามรถยนต์ของกลางทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีการนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือยื่นคำร้องเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556 

จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4578/2556 

โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าเช่าซื้อที่ ส. มีอยู่ต่อบริษัท ม. ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้ที่ ส. มีอยู่แก่บริษัท ม. หลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของการเป็นเจ้าหนี้แทนบริษัท ม. ที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ชำระหนี้แก่บริษัท ม. อันเป็นเวลาหลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมิใช่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยอยู่ในขณะที่ ส. ถึงแก่ความตาย เพราะสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากการตายของ ส. ผ่านพ้นไปแล้ว อายุความในการใช้สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้ไม่ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2556 

ค่าเช่าซื้อนั้นมีราคารถยนต์รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง มิใช่ค่าเช่าหรือค่าใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว เมื่อรถยนต์สูญหายนอกจากจะทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้รับรถยนต์คืนหรือไม่ได้รับค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ยังทำให้โจทก์ผู้เช่าซื้อไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์รถยนต์หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนด้วย แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสองผู้ซ่อมแซมรถยนต์แล้วรถยนต์สูญหายไปได้ชดใช้เงินให้แก่บริษัทประกันภัยที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไป กับให้โจทก์ผู้เช่าซื้อไปอีก 80,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไปงวดละ 13,905 บาท รวม 16 งวด แต่โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเพียง 80,000 บาท ประกอบด้วยแล้ว เห็นได้ว่า โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายอยู่อีก จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์เพิ่มอีก 50,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2556 

จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ศ. ผู้ให้เช่าซื้อเดิมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ คดีมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนับจากวันทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประเด็นอายุความอันเกี่ยวด้วยการเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่และค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 30 วัน และมีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันดังฟ้องของโจทก์ การที่ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่เมื่อต่อมาบริษัท ศ. ติดตามรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2539 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2555 

ผู้ร้องเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง แม้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า ฉ. ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องแล้วกี่งวด เป็นเงินจำนวนเท่าใดและยังค้างชำระอยู่จำนวนเท่าใด ก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และการที่ผู้ร้องรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้เช่าซื้อกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และผู้ร้องจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกี่ครั้งหรือเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องจะดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อจาก ฉ. หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ 


เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17167/2555 

ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถถือเป็นผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของรถตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 นอกจากนี้ผู้มีสิทธิครอบครองรถก็ถือว่าเป็นเจ้าของรถด้วยซึ่งหาได้จำกัดเฉพาะแต่ผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อเพียงอย่างดียวไม่ แต่ผู้เป็นเจ้าของรถที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ หากเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 ที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย คดีนี้จำเลยขายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุให้ พ. ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขบังคับโดยมีข้อสัญญาว่ากรรมสิทธิ์ในรถจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วน และจำเลยมอบรถให้ พ. ไปครอบครองเป็นผู้ใช้แล้ว พ. ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หาใช่จำเลยผู้ขายซึ่งมิได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยมิใช่ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จึงไม่ต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12034/2555 

ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมีกำหนดผ่อนชำระ 12 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มิถุนายน 2547 งวดสุดท้ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2547 เจ้าพนักงานตำรวจจับ ส. พร้อมยาเสพติดให้โทษ และยึดรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 แต่เพิ่งบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 หลังทราบเรื่องนานถึง 1 ปี 7 เดือน ทั้งยังแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อต่อไป แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินการเพื่อให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางคืน ทั้ง ๆ ที่ทราบว่ามีการนำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิด และเพิ่งยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสี่ จึงไม่อาจคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2555 

ว. เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย แต่ ว. นำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยมาให้โจทก์ซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อม โจทก์จึงต้องเก็บรักษารถยนต์ที่โจทก์ซ่อมซึ่งเป็นของจำเลยไว้ในอู่อีก ย่อมเป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าบำรุงรักษารถยนต์ในส่วนค่าจอดรถจากจำเลยได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10499/2555 

โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสีย หายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้ โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821


สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับ จำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่า ขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6267/2551

การบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่ จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับที่ระบุไว้ เมื่อในระหว่างการบังคับคดีในคดีเดิมจำเลยได้ขอรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาล เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว เท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืนและถือ ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และแม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ก็ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2551

ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราช อาณาจักรหรือไม่" ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไป คือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนักงานของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ ข้อตกลงที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งนั้น จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่อาจใช้บังคับได้


สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามสัญญาเช่าซื้อไปก่อน ที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหาย เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนอกจากโจทก์จะได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดในความเสียหายหากต่อมาการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 217 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามที่สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ และย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อไม่ส่งคืนก็ต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ได้จนถึงวันที่รถยนต์สูญหายไป หลังจากนั้นโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2551

การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัท อ. ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ที่จะต้องให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อ ทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วย กฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่า ซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย


เมื่อบริษัท อ. ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ และบริษัท อ. เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัท อ. จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที ก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการ บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ


เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ตาม เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัท อ. รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินโจทก์จึงต้อง คืนเงินจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2551

สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะ ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2551

คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลย (โจทก์คดีนี้) หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคากับโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง จำเลยไม่สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ เพราะโจทก์มีเจตนานำเอารถหลบหนี การที่จำเลยยอมรับเงินค่ารถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ และค่าเสียหายจากโจทก์โดยที่จำเลยมิได้บอกปัดหรือทักท้วงให้โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนก่อน จึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์ตามที่จำเลยฎีกาไม่ และแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่า การที่จำเลยเลือกบังคับคดีโดยรับชำระราคาแทนการบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ เป็นการสละสิทธิในการบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คืนตามคำพิพากษา แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันไปแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ดังกล่าว ถือได้โดยปริยายว่า จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ รถยนต์คันพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่โอนทะเบียนและส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2550

ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง "เจ้าของ" เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็น จำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น "เจ้าของ" แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อ ในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ "เจ้าของ" จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมี กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย เมื่อ ค. ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจาก ห. โดย ห. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้ ค. ไว้แล้ว เพียงจะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดย ค. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วย เท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ได้ให้ ห. เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาท และ ห. นำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น "เจ้าของ" รถแทรกเตอร์คันพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห. ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์แต่ กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคล อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830 - 3831/2550

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2550

ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้ก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2549

จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ทั้งปรากฏตามหลักฐานใบรับรถซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายอ้างส่งว่า โจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น จึงต้องฟังว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายจากจำเลยได้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพรถที่เช่าซื้อซึ่งเป็นรถใหม่ และการนำรถไปใช้บรรทุกดินเพื่อรับจ้างของจำเลยแล้ว เห็นควรกำหนดค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในแต่ละเดือน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2550

แม้ตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับ ให้โจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อการชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างอันโจทก์จะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ต้องใช้ราคาแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่จำเลยจนครบถ้วน แล้วจำเลยรับไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าจำเลยได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในรถยนต์ที่เช่าซื้อและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3807/2549

โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

อายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้น เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ จะเอามาใช้กับสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อไม่ได้

ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ไว้แล้วรวมทั้งเงินดาวน์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5900/2549

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์และลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ไว้ในสัญญาเช่าซื้อล่วงหน้าโดยยังไม่ได้รับรถยนต์ไป การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบให้เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5379/2549

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.รถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยได้ชำระเงินค่าจดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียน ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันให้โจทก์มีหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ หลังจากทำสัญญาแล้ว 9 เดือน โจทก์ยังไม่ไปดำเนินการจดทะเบียน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่งมอบรถยนต์บรรทุกโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ได้ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549

ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2549

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนออกประมูลขายได้เงินน้อยกว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าว จำนวน 284,007 บาท โดยีการลดค่าเสียหายเหลือเพียง 170,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2548

โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่บทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2548

ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไม่ตรงตามกำหนดตลอดมาแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจากผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่โต้แย้ง จึงต้องผูกพันตามความประสงค์ของคู่สัญญาที่ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญเช่นกัน เมื่อจะบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาที่สมควรก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อเพียง 3 งวด การที่โจทก์ขอชำระค่าเช่าซื้อแต่จำเลยไม่ยอมรับอ้างว่าค้างชำระถึง 9 งวด จึงเป็นการไม่รับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะอ้างได้ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกเลิกสัญญายังถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดนัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8011/2548

สัญญาเช่าซื้อไม่ได้ทำเป็นหนังสือ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง หมายถึงเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย สัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นพร้อมกันและคู่สัญญาตกลงให้สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดย่อมเป็นสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น เมื่อคู่สัญญาลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในสัญญาแม้เพียงแห่งเดียวก็ย่อมมีผลเป็นสัญญาเช่าซื้อที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อก็ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หาใช่ว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายที่ท้ายหนังสือสัญญาในส่วนสัญญาเช่าซื้ออีกด้วยไม่ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2548

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้ว แม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญา ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตามหนังสือแสดงการจดทะเบียน ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2548

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วก่อนเลิกสัญญา และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 574

ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดว่า "อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าที่ซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ" เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม พ.ร.บ. มาตรา 383 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880/2547

สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์หรือเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อสัญญาเช่าซื้อไม่อาจใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ คดีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ และแม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริง แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น คดีจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4962/2546

การที่โจทก์ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้ออย่างหนึ่ง โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญา เป็นหนังสือแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5861/2545

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในขณะที่โจทก์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องซ้ำซ้อนกัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และค่าเสียหายอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2630/2545

การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องบอกเลิกเป็นหนังสือ หากผู้ให้เช่าซื้อกระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ออกให้เช่าซื้ออีกต่อไป ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว