การเช่าทรัพย์

มาตรา ๕๓๗ อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

มาตรา ๕๓๘ เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา ๕๓๙ ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาเช่านั้น คู่สัญญาพึงออกใช้เสมอกันทั้งสองฝ่าย

มาตรา ๕๔๐ อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

มาตรา ๕๔๑ สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็ให้ทำได้

มาตรา ๕๔๒ บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านว่าทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

มาตรา ๕๔๓ บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน อาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านให้วินิจฉัยดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภทซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียนท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อนด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ 
(๒) ถ้าการเช่าทุก ๆ รายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียนท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตนก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ
(๓) ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภทซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่า เว้นแต่ผู้เช่าคนอื่นจะได้ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียก่อนวันจดทะเบียนนั้นแล้ว

มาตรา ๕๔๔ ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า
ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา ๕๔๕ ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่
อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562
 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ และโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าตามสัญญาแล้ว โดยข้อ 7 วรรคสอง กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องสำรวจศึกษาพื้นที่โครงการ ผู้บุกรุก ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในพื้นที่เช่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไข โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง อันมีความหมายว่าหากต้องมีการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าให้อำนาจแก่ผู้เช่าหรือมอบหมายให้ผู้เช่าฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยแทนผู้ให้เช่าได้ โดยผู้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการดำเนินการจัดหาประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา ถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้โจทก์ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้บุกรุกที่ดินที่เช่า ฉะนั้น แม้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าแล้วไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้เพราะจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2562
    จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท ส. ผู้เช่า และตกลงว่า ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวในบรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้าพร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัท ส. หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามรถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562
     เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2561
   การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2561
      สัญญาชาร์เตอร์เรือหรือจ้างเหมามี 3 ประเภท ได้แก่หนึ่งการจ้างแบบรายเที่ยว (Voyage Charter) สองได้แก่การเหมาแบบมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter) โดยมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด และสามสัญญาเช่าเรือเปล่า (Bareboat Charter) ซึ่งไม่มีคนประจำเรือ กรณีสัญญา Voyage Charter และ Time Charter มีผู้เกี่ยวข้องหลักคือเจ้าของเรือหรือ Owner และคู่สัญญาอีกฝ่ายเรียกว่า Charterer เจ้าของเรือเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่ง โดย Charterer จะนำสินค้ามามอบให้เจ้าของเรือ แล้วเจ้าของเรือนำสินค้าไปส่งปลายทาง นายเรือและลูกเรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของเรือ อำนาจในการสั่งการและสิทธิครอบครองเรือยังอยู่กับเจ้าของเรือ เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบกิจการขนของทางทะเลด้วยจึงเป็นที่มาของกฎหมายใช้คำว่าจ้างเหมาระวางบรรทุก ผู้ว่าจ้างหรือ Charterer เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือ เหตุผลเป็นเพราะผู้ว่าจ้างสามารถสั่งเรือให้ไปที่ใดก็ได้ เจ้าของเรือไม่อาจคิดค่าน้ำมันไว้ล่วงหน้าได้ ในกรณีที่เรือไปโดนกับเรือลำอื่นหรือไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเจ้าของเรือต้องรับผิดชอบ ส่วนสัญญาเช่าเรือเปล่า (Bareboat Charter) เจ้าของเรือส่งมอบเรือเปล่าให้แก่ผู้เช่า ผู้เช่ามีหน้าที่จัดหานายเรือและลูกเรือเอง และสัญญาชาร์เตอร์ซึ่งเป็นที่มาของข้อพิพาทภาษีคดีนี้ เป็นสัญญาใช้ประโยชน์จากเรืออันเป็นสัญญาขนส่ง มิใช่สัญญาเช่าเรือเดินทะเล ในส่วน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น มีมาตรา 4 บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรหรือจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร..." ดังนั้น เมื่อการขนส่งโดยเรือ 3 ลำ ดังกล่าวไม่ได้ขนสินค้าออกจากราชอาณาจักร หรือขนเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ในการตีความสัญญานั้น ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 และคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็อ้างประเพณีในการขนส่งระหว่างประเทศและในการนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเพณีดังกล่าว ในประเพณีการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเล ถือว่าการที่เจ้าของเรือทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer นั้น เจ้าของเรือเป็นผู้ขนส่ง ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญา Time Charter Party 3 ฉบับ ดังกล่าวก็มีเหตุผลแสดงให้เห็นว่าโจทก์และคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาให้เป็นไปตามประเพณีการขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าวซึ่งถือว่าโจทก์เจ้าของเรือเป็นผู้ขนส่งตามข้อสัญญา Time Charter Party และตามประเพณีการค้าการขนส่งระหว่างประเทศก็ล้วนถือได้ว่าโจทก์ตกลงทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer โดยโจทก์เป็นผู้ขนส่ง การประกอบการของโจทก์ในส่วนที่มีการทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer 3 ฉบับ สำหรับเรือ 3 ลำ ของโจทก์เป็นการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศมิใช่การเช่าทรัพย์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6834/2560
    เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากัน ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและตามข้อกำหนดเงื่อนไข โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามที่ระบุในสัญญาเช่า เมื่อคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่าเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งมียอดค่าเช่าตรงกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อพิจารณาถึงสัญญาเช่าแล้วมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าเรื่องการส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด การสิ้นสุดสัญญาเช่า เงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2560
     ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 ให้นิยามคำว่า "ค่ารายปี" หมายความว่า "จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ" ค่าเช่าที่จะถือเป็นค่ารายปีนั้นต้องเป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ หากค่าเช่าที่เจ้าของทรัพย์สินตกลงไว้กับผู้เช่า มิใช่เป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้หรือมิใช่เป็นค่าเช่าอันแท้จริง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจประเมินค่ารายปีชอบที่จะกำหนดค่ารายปีตามค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ เมื่อคดีนี้ปรากฏอัตราค่าเช่าช่วงสูงกว่าอัตราค่าเช่าที่โจทก์ให้ผู้เช่าเช่า ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงไม่ใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่าเช่าเฉลี่ยเป็นอัตราค่าเช่าช่วงปานกลางเดือนละ 13,500 บาท ของโรงเรือนชั้นที่หนึ่งไปคิดเป็นค่าเช่าในชั้นที่สองและชั้นที่สามด้วย รวมเป็นค่าเช่าทั้งสามชั้น ในอัตราเดือนละ 40,500 บาท ทั้งที่ไม่มีการเช่าช่วงในชั้นที่สองและชั้นที่สามย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2560
    แม้การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นละเมิด แต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ สำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ขายทอดตลาดโดยเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 โดยบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด" ตามพฤติการณ์แห่งคดีฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560 
            คดีนี้ พ. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเป็นผู้ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่า เป็นเวลา 30 ปี บริษัท บ. ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวกัน พ. ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลาน และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แต่เพิ่งไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่า คือ พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับเงินค่าเช่าแทน พ. เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11058/2559 
     สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7052/2559 
               รายจ่ายที่จะนำมาคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิได้นั้น ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ตลอดจนเหตุผลจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป โจทก์เป็นเพียงผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ และกองทุนรวมดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าแก่โจทก์จนครบเมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า การที่โจทก์ประกันค่าเช่าเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ การประกันค่าเช่าจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กองทุนรวมดังกล่าว มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ดังนั้น เงินที่โจทก์จ่ายเป็นเงินประกันค่าเช่าให้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2559 
          การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวและจะต้องขายทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ในการขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด จึงชอบแล้ว ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์กล่าวอ้างว่าจำเลยขอร้องให้ผู้ซื้อทรัพย์ช่วยประมูลซื้อทรัพย์และให้สัญญาว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ชนะการประมูล จำเลยจะโอนสิทธิการเช่าทรัพย์ที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ แล้วจำเลยผิดสัญญา หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคดีนี้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 หาใช่เป็นผู้แทนจำเลยไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558 
              แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558 
             สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามแบบแปลนท้ายสัญญาเช่า โดยมีการกำหนดเวลาเริ่มลงมือก่อสร้างและเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จไว้ การที่โจทก์ไม่สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่เช่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานภายหลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ของโจทก์เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาเช่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ถือได้ว่าการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนกัน แม้จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าตอบแทนการเช่าที่ชำระไปแล้วในวันทำสัญญาคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2558
    โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องชุดพิพาทและจำเลยเช่าพื้นที่ห้องชุดดังกล่าวบางส่วนจากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่า ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย เป็นการฟ้องอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าและในฐานะเจ้าของห้องชุดพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 538 แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง และมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยยังคงอาศัยในห้องชุดพิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2558 
       การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับทรัพย์ที่เช่าซึ่งโจทก์ในฐานะลูกหนี้นำมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ โดยมีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนให้ถูกต้องตามคำพิพากษา เพราะยังไม่มีการตรวจสอบว่าทรัพย์ดังกล่าวใช้การได้ อีกทั้งโจทก์ต้องส่งมอบคืนยังสถานที่ที่ถูกต้องคือภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์โดยชอบแล้วโจทก์ในฐานะลูกหนี้จึงมีภาระต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 323 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาทรัพย์ที่เช่าและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17923/2557 
              แม้สัญญาหมาย จ.1 จะระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาเช่า แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเนื้อหา หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองประสงค์จะครอบครองที่ดินเพื่อใช้หรือได้รับประโยชน์ในที่ดินชั่วระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และโจทก์ทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 โดยแท้จริงไม่ แต่จุดประสงค์แห่งสัญญามุ่งเน้นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินจากจำเลยเพื่อก่อสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เจตนาที่จะเช่าทรัพย์กันแต่อย่างใด สัญญาหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคนต่างด้าว การซื้อที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนโจทก์ทั้งสอง มีลักษณะให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ครอบครองที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาซื้อขายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557 
            จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10924/2557 
            นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ตกลงทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน จึงมิใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาร่วมทุนแต่เนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นเรื่องที่ศาลต้องปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับเนื้อหาของสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ชื่อสัญญาจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่แท้จริงของสัญญา ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อหาของสัญญาได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2557
      โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท 2 คูหา อันมีค่าเช่าคูหาละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไปนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเดือนละ 14,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในส่วนนี้จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อมาด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทเป็นเงิน 450,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่จำเลยซ่อมแซมอาคารพิพาทนั้นล้วนเป็นการซ่อมแซมเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16350/2555 
          การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย แสดงเจตนาว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไป แต่เหตุที่โจทก์ยอมรับเงินค่าใช้ประโยชน์เป็นเพียงการยอมผ่อนผันให้แก่จำเลยและเป็นการบรรเทาความเสียหายของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2555 
             การที่จำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ โดยมีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการตามระยะทางที่ใช้งานจริงเป็นรายเดือนหรือช่วงระยะเวลาอันจำกัดตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยตกลงยอมชำระตามอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการค้าและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิดทุกประเภท รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน ดังนั้น การให้เช่าท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงของโจทก์จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าสังหาริมทรัพย์จากจำเลย อันมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) ขณะอนุญาตให้จำเลยใช้บริการนั้นโจทก์ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการไว้ โจทก์เพิ่งกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ตามลำดับ ย่อมแสดงว่าก่อนหน้าที่ระเบียบดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโจทก์และจำเลยไม่อาจนำปริมาณการใช้ท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 มาคิดคำนวณเป็นค่าเช่าในแต่ละเดือนได้เพราะยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการกันไว้ ต่อมาเมื่อโจทก์มีระเบียบกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายใช้บังคับ โจทก์จึงสามารถนำอัตราค่าใช้บริการตามระเบียบดังกล่าว ไปคำนวณกับปริมาณการใช้งานจริงเพื่อให้ทราบถึงค่าเช่าในแต่ละเดือนได้ โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551
การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้ จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสีย หายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2551
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ภายหลังจากที่สัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปและบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออก ไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไป เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยในมูลละเมิด มิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าทรัพย์ โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ได้โดยไม่จำ ต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าที่ดินเป็นพยานหลักฐานในคดี แม้สัญญาเช่ามิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551
จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2551
โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า สัญญาเช่าที่จำเลยเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองได้ครบกำหนดระยะเวลาการเช่า แล้ว โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าอยู่อีกต่อไป จึงฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อตกลงเช่ากันเป็นเวลา 20 ปี จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่า สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด ประเด็นข้อพิพาทข้อแรกจึงมีว่า ในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้นั้น สัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยครบกำหนดระยะเวลาการเช่า แล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยโดยยกข้อต่อสู้ของจำเลยในทำนองที่ว่า หากฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่ามีสิทธิเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองได้ 20 ปี นับจากวันทำสัญญาก็ตามขณะที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาอยู่ระยะเวลาการเช่าก็ครบ กำหนดแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกจากอาคารพิพาทนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยโดยใช้ระยะเวลาในการตั้งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสอง และข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ตรงกับเหตุในคดี แต่เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไปเกินสมควร เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อน ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก

ข้อตกลงที่จะยินยอมให้โจทก์ทั้งสองระบุจำนวนค่าเช่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามกฎหมาย นั้น ย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยจึงไม่อาจยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้มาเบิกความหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวก็ตาม จำเลยและสามีเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำเป็นห้องอาหารและห้องเล่นสนุกเกอร์ แม้จะใช้เงินลงทุนปรับปรุงอาคารถึง 7,000,000 บาท แต่ก็เป็นการลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยและสามีเอง ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

เมื่อสัญญาเช่าตามฟ้องครบกำหนดระยะเวลาและโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลย เช่าต่อไปแล้ว การอยู่ในอาคารพิพาทต่อมาของจำเลยจึงเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายนับแต่วันผิด สัญญาถึงวันฟ้องและนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพิพาท ตามคำขอของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2551
จำเลยเช่าอาคารจากโจทก์เป็นเวลา 10 ปี การที่จำเลยเปลี่ยนลักษณะการใช้อาคารจากร้านขายของเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบายในการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2551
จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน เพื่อทำสวนโดยเสียค่าเช่าปีละ 7,500 บาท มีการทำสัญญาเช่ากันครั้งละ 1 ปี โดยโจทก์ให้จำเลยเช่าตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปีแล้ว แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินพิพาทให้เป็นไปที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และหากมีระยะเวลาการเช่าเพียง 1 ปี ตามปกติ จักทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ไม่คุ้มกับที่จำเลยได้ลงทุนไปในการพัฒนาที่ดินและทำสวนมะนาว ทั้งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย โจทก์เองก็ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งตกลงยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นการตอบแทน สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10264/2550
หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า นัดโอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2534 กำหนดโอนสิทธิการเช่าซึ่งต้องกระทำภายใน 3 เดือนนั้นก็จะครบกำหนดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 การที่คู่สัญญากำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นการแน่นอนตามวันแห่งปฏิทินเช่นนี้ ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามมิได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อัน เป็นกรณีที่ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลา ดังกล่าวแล้วคือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12

แม้การโอนสิทธิการเช่าในกรณีนี้จะต้องได้รบความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อนก็ ตาม แต่กำหนดเวลาของการชำระหนี้โดยการโอนสิทธิการเช่านั้นเกิดจากความตกลง ระหว่างบุคคลเพียง 2 ฝ่าย คือ ผู้โอนกับผู้รับโอนซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาโอนสิทธิการ เช่ามิได้มีส่วนในการกำหนดเวลาในการชำระหนี้ด้วยแต่ประการใด ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่ ระบุให้โอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน จึงมีผลบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7722/2550
การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่ด้าน นอกบริเวณด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 ในการติดป้ายโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ 1 ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเป็นรายปี และจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 80,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเช่าทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537

เมื่ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 และทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็น ผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์จึงเป็นการเช่าอสังหาริม ทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

เมื่อข้อตกลงการเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็น หนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าตามข้อ ตกลงการเช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2550
เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้รับมอบสิทธิในตึกแถวแล้ว ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดแล้ว ระยะเวลาการเช่าห้องพิพาทส่วนที่เกินกว่านั้นย่อมไม่ตกมายังโจทก์ตามมาตรา 569 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426/2550
บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความว่า "ข้าพเจ้านาง บ. (จำเลย) ขอรับว่าเป็นหนี้ค่าเช่าที่ขายของคุณ อ. (โจทก์) จริงตามคำบอกกล่าวของทนายที่แจ้งมาแล้วนั้น แต่นาง บ. (จำเลย) ขอลดหนี้จะชำระเพียง 70,000 บาท จึงยังตกลงกันไม่ได้ ทนายจึงต้องสอบถามจากคุณ อ. (โจทก์) เจ้าหนี้เสียก่อนว่าจะมีความเห็นประการใด จึงได้ลงชื่อกันไว้ต่อหน้าพยาน" เป็นเรื่องที่จำเลยยอมรับว่าได้เช่าที่ดินโจทก์และยังค้างค่าเช่าอยู่จริง เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าวย่อมถือเป็นหลักฐานการเช่าอันจะนำมา ฟ้องร้องขอให้บังคับคดีได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8196 - 8199/2549
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติว่า เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป หาได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีตราสารจัดตั้งที่จำกัดอำนาจให้ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 แม้หนังสือมอบอำนาจที่ ส. มอบอำนาจให้ ป. มีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 1 จะปรากฏว่า ส. เพียงแต่ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี แล้ว โจทก์ที่ 1 ต้องต่อสัญญาเช่าออกไปอีกจนกว่าจะครบ 30 ปี แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2549
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นทางเดินและที่ตั้งตลาดและทำสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้เช่าเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าต้องชำระเงินเพิ่มจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงตามสัญญาเช่าทรัพย์สิน การฟ้องเรียกเบี้ยปรับต้องดำเนินการฟ้องเสียภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6472/2548
สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ส. ผู้เช่านั้น จำเลยคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 1,235 บาท ซึ่งเมื่อคำนึงถึงว่าเป็นการเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าเป็นเวลานานถึง 20 ปี แล้ว อัตราค่าเช่าดังกล่าวนับว่าเป็นจำนวนน้อยมากและไม่น่าจะเป็นค่าเช่าตามปกติธรรมดาทั่วไป ดังนั้นเงินค่าสิทธิการเช่าจำนวน 2,790,550 บาท จึงมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่จำเลยเรียกล่วงหน้าจาก ส. นั่นเอง ทั้งตามสัญญาเช่าระบุให้ผู้เช่าไม่มีสิทธิรับเงินค่าสิทธิการเช่าคืนเฉพาะกรณีอื่น หาได้รวมถึงกรณีสัญญาเช่าระงับเพราะเหตุการตายของผู้เช่าแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเช่าระงับเพราะเหตุการตายของ ส. ผู้เช่า จำเลยผู้ให้เช่าจึงต้องคืนเงินค่าสิทธิการเช่าอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่ชำระล่วงหน้าตามส่วนที่มิได้ใช้ประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4809/2548
สัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจให้ข้อกำหนดของสัญญาบางข้อแตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย อันเป็นการรักษาสิทธิและประโยชน์ของตนที่ชอบในเชิงธุรกิจ แม้อาจมีข้อที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันบ้างและแตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ก็มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้ คู่สัญญาจึงต้องผูกพันตามข้อสัญญานั้น การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามตามสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2548
คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสัญญาเช่าทรัพย์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ใน 2 กรณี คือ โดยกำหนดแห่งสัญญาประการหนึ่ง กับโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 มิใช่ว่าเมื่อสัญญาเช่าไม่มีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจะไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียเลย
ป.พ.พ. มาตรา 548 กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่าไว้ว่า ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ดังนั้น หากมีข้อเท็จจริงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ได้
จำเลยทำสัญญาเช่าที่จอดรถจากโจทก์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลย ตามสัญญาเช่ากำหนดว่าโจทก์ผู้ให้เช่าเป็นผู้ทำบัตรจอดรถ 100 ใบ มอบให้จำเลยนำไปให้ลูกค้า ซึ่งหากไม่มีบัตรจอดรถลูกค้าของจำเลยที่นำรถเข้าไปจอดจะต้องเสียค่าบริการจอดรถตามปกติ บัตรจอดรถย่อมเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องทำบัตรจอดรถมอบให้แก่จำเลย เมื่อบัตรจอดรถหายไป 83 ใบ และโจทก์ได้ทำบัตรจอดรถใหม่ให้แก่จำเลยแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าการทำบัตรจอดรถใหม่นั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้จำเลยชำระเงินค่าทำบัตรจอดรถให้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวอีกเรื่องหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลย สัญญาเช่าจึงยังคงมีผลบังคับ แต่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด การที่จำเลยไม่ได้ให้ลูกค้าของจำเลยนำรถมาจอดในอาคารของโจทก์ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่า จำต้องผูกพันชำระค่าเช่าจนกว่าจะครบสัญญาเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548
โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป. ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป. ถึงแก่ความตายทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2538 กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
เมื่อจำเลยและบริวารไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุด การที่จำเลยและบริวารยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาท จึงเป็นการอยู่โดยปราศจากสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ตึกแถวพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2548
ตึกแถวพิพาทมีมาแต่เดิมแล้ว โจทก์ได้ทำสัญญาให้ อ. เช่าตึกแถวพิพาทดังกล่าวพร้อมที่ดิน อ. ไม่ได้ช่วยค่าก่อสร้างให้โจทก์ ดังนี้ แม้ อ. ได้จ่ายเงินให้ ส. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขายตึกแถวพิพาทและสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ อ. เป็นเงินจำนวน 1,400,000 บาทก็ดี หรือ บ. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจาก ส. และ ส. จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้ บ. ก็ดี ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงเงินที่จ่ายให้แก่กันเพื่อรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากบุคคลที่มีสิทธิก่อนตน คือจาก ส. มาเป็น อ. หรือจาก บ. มาเป็น ส. เท่านั้น หาใช่เงินค่าก่อสร้างไม่ และไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ อ. มีลักษณะตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าทรัพย์ธรรมดาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2548
สัญญามีข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่า ระยะเวลาการเช่าค่าเช่าที่ผู้เช่าตกลงชำระเป็นรายเดือน หน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา สิทธิในการยกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่า อันเป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์ตาม ป.พ.พ. โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า แม้ตามสัญญาข้อ 6 จะให้ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่า ก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าหากประสงค์จะซื้อในอนาคต คู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์
การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกสัญญาก็ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับของไปรษณีย์มาแสดงจึงถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2547
การบอกเลิกสัญญาเช่าเพราะเหตุจำเลยต่อเติมอาคารที่เช่าและนำอาคารที่เช่าไปให้ บุคคลอื่นเช่าช่วงอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ทันทีตามสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้วสัญญาเช่าย่อมเป็นอันสิ้นผลผูกพัน จำเลยจึงต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารที่เช่าและส่งมอบอาคารดัง กล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลย ชำระค่าเช่าที่ค้างอีกภายหลังจากที่โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย และจำเลยได้กระทำตามโดยได้ชำระค่าเช่า ที่ค้างภายในกำหนดเวลา หามีผลทำให้สัญญาเช่าซึ่งสิ้นผลผูกพันไปแล้วกลับมีผลผูกพันขึ้นมาใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2547
ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2547
ที่ดินที่เช่าเป็นที่ดินเปล่าและเป็นท้องนาลึกประมาณ 1 เมตร จำเลยเช่าที่ดินเพื่อใช้วางอุปกรณ์ก่อสร้างของจำเลย การที่จำเลยถมที่และล้อมรั้วสังกะสีเสาไม้รอบที่ดินที่เช่าตามที่สัญญาเช่ากำหนดไว้ ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยผู้เช่า ส่วนข้อสัญญาเช่าที่กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าปลูกสร้างบ้านพักคนงานและสถานประกอบการใดลงบนพื้นที่ซึ่งให้เช่าได้ ก็ไม่ใช่ข้อบังคับให้ผู้เช่าต้องกระทำ แต่เป็นการให้สิทธิผู้เช่าจะปลูกสร้างได้ แม้สัญญาเช่าจะระบุว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วให้สิ่งที่กระทำลงนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีเว้นแต่โครงเหล็กสองชั้นก็ตาม เมื่อการถมที่และสร้างรั้วเป็นการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าเอง ส่วนบ้านพักคนงานที่จำเลยผู้เช่าปลูกสร้างขึ้นตามสิทธิของจำเลยก็เป็นอาคารชั่วคราว ราคาไม่สูง และเมื่อที่ดินที่เช่าเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา ตั้งอยู่ตำบลประเวศ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร สามารถให้เช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท การที่สัญญาเช่ากำหนดค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ก็เพื่อให้เหมาะสมกับการที่จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2547
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 มิได้บังคับว่าผู้ให้เช่าจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า เพียงแต่ผู้ให้เช่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน แม้ทรัพย์สินที่เช่าจะมิใช่ของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยยอมรับทำสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
สัญญาเช่ากำหนดไว้ 3 ปี สัญญาย่อมระงับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลา โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน การที่จำเลยต่อสู้ว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ โจทก์ก็รับไว้โดยมิได้ทักท้วง ถือว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลานั้น หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย หากมีการต่อสัญญาเช่ากันจริงก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะชำระค่าเช่าสูงกว่าอัตราค่าเช่าตามที่ระบุในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อนำสืบของจำเลยเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าจึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟังและไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่ากันใหม่ จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินที่เช่าทันทีที่สิ้นสุดกำหนดเวลา โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยก่อนฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1015/2547
ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ราษฎรผู้ครอบครองไม่อาจยกสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมยกการยึดถือครอบครองขึ้นยันผู้อื่นได้
โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต่อมาจำเลยขอใช้ประโยชน์ในที่พิพาทเพื่อปลูกบ้านโดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์เป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ต่อไป จำเลยจึงต้องออกจากที่ดินพิพาท
หมายเหตุ วรรคสองวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา (ครั้งที่ 1/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2546
จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาทใต้อาคารบ้านที่จำเลยปลูกสร้างถูกน้ำกัดเซาะเป็นเหตุให้ตลิ่งพังทลายลงสู่แม่น้ำ ที่ดินพิพาทกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยยังคงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ตลอดมาซึ่งโจทก์ก็ยังคงสงวนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นค่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่ มิได้ปล่อยทิ้งให้เป็นที่ชายตลิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงและล่วงเลยเวลาที่โจทก์ผ่อนผันให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2546
แม้องค์การโทรศัพท์โจทก์จะมีระเบียบในการแจ้งเตือนให้ผู้เช่าที่ค้างชำระค่าเช่าใช้บริการตั้งแต่ 30 วัน นำเงินมาชำระภายใน 15 วัน หากไม่ชำระตามกำหนดหนังสือแจ้งเตือนแล้วเสนอผู้จัดการเพื่องดให้บริการก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในเพื่อให้พนักงานของโจทก์ปฏิบัติ ไม่ใช่ข้อที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่าที่ค้างแต่อย่างใด และการที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ก็เป็นการชำระค่าเช่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระ มิได้เกิดจากการที่โจทก์แจ้งเตือนหรืองดให้บริการ ประกอบกับในสัญญาเช่าระบุว่า กรณีที่ผู้เช่าสงสัยว่าจำนวนเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ไม่ถูกต้อง ผู้เช่ามีสิทธิยื่นคำร้องขอตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยผู้เช่าต้องชำระค่าบริการก่อน แต่จำเลยก็มิได้ทำการเช่นนั้น ฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาการเช่าใช้บริการโทรศัพท์ เมื่อปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขที่จำเลยเช่า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ ทั้งการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าใช้บริการที่ค้างชำระมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะนำพฤติการณ์ที่โจทก์งดให้บริการล่าช้ามาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าเสียหายของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2546
สัญญาเช่าอาคารที่โจทก์ทำกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่า สัญญาดังกล่าวจึงบังคับได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และต้องถือว่าการเช่าใน 3 ปีแรก เป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าหลังจากเช่าไปแล้ว 1 ปีเศษ ถือว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดให้สิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2546
ทรัพย์สินที่บริษัทโจทก์ให้จำเลยได้สิทธิเป็นผู้เช่าเป็นร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า จึงเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(3) ให้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ค่าภาษีและค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จัดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดไอเย็น แสงสว่าง สิ่งอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวกอันเป็นส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ล้วนมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระตามมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2545
สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟมีข้อความว่าถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเลิกสัญญาเสียได้ทันที ส่วนเงินประกันและเงินค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าไว้ ผู้ให้เช่าก็อาจริบเสียได้ เมื่อจำเลยผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้และไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันแก่จำเลย กรณีไม่อาจนำเงินประกันดังกล่าวมาหักชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2545
สัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลา 6 ปี แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่หลังจากครบ 3 ปีแล้ว จำเลยยังคงเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งโจทก์จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่ครบ 2 เดือน ไม่ถูกต้องตามมาตรา 566 การเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ แต่นอกจากโจทก์จะตั้งสภาพแห่งข้อหาว่าสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์ยังตั้งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าอีกด้วย ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในข้อนี้ไว้ เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างแล้ว นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามมาตรา 560 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่าและเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2545
โจทก์ทำสัญญาเช่าสถานที่ประกอบการค้ากับจำเลย โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องตบแต่งสถานที่ตามที่จำเลยอนุมัติ โจทก์มิได้ติดตั้งระบบไฟฟ้า ตามแบบที่จำเลยอนุมัติ เป็นการผิดสัญญาต่อจำเลย เมื่อสัญญากำหนดว่าหากโจทก์ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิปิดกั้นหน้าร้าน ตัดน้ำและกระแสไฟฟ้าในสถานที่เช่าได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2540
สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินและเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยแต่เมื่อ ก. ผู้ให้เช่ายินยอมให้โอนสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านยึดและขายทอดตลาดได้เช่นนี้ ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจยึดและขายทอดตลาดสิทธิการเช่าอาคารพิพาทของจำเลย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2540
การเช่าทรัพย์สินนั้นปกติฝ่ายผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าจะสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้ทรัพย์สินที่เช่าและในการดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ฉะนั้นสิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัวเมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าเป็นอันระงับไปไม่ตกทอดไปถึงทายาทที่สัญญาเช่าข้อ4ระบุว่าในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาผู้เข่ามีสิทธิที่จะโอนการเช่าให้แก่ผู้อื่นได้แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินให้แก่ผู้ให้เช่านั้นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนการเช่าในระหว่างที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่ายังมีชีวิตอยู่ซึ่งอาจทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา544และเป็นเพียงบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะคู่สัญญาหาได้ตกทอดมายังจำเลยแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2037/2539
แม้ในสัญญาเช่าช่วงอาคารพิพาทระหว่างโจทก์โดยผู้ชำระบัญชีผู้ให้เช่าช่วงกับ ด.ผู้เช่าช่วงจะมีข้อตกลงว่า ด.ให้เงินค่าตอบแทนแก่โจทก์ก็ดี กำหนดให้อายุของสัญญาเช่าช่วงเท่ากับอายุของสัญญาเช่าที่เหลืออยู่จากการที่โจทก์ทำสัญญาเช่าเดิมก็ดี หรือกำหนดให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งโจทก์มีอยู่ตามสัญญาซึ่งเดิมตกเป็นของ ด.ก็ตาม ล้วนแต่เป็นข้อตกลงอันเกิดจากสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับ ด.ทั้งสิ้น คู่สัญญาย่อมทำข้อตกลงให้ผูกพันกันได้ เจตนาของคู่สัญญาให้มีผลผูกพันอย่างการเช่าช่วงก็ย่อมต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญานั้น หาทำให้ข้อความในสัญญาแปรเปลี่ยนไปเป็นการขายหรือโอนสิทธิการเช่าไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ ม.และ อ. ข้อ 6 และ ข้อ 7 แล้ว จะเห็นได้ว่าในข้อ 7 นั้นเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าตกลงยอมให้ผู้เช่านำอาคารที่เช่าบางส่วนหรือทั้งหมดให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้ แต่ในข้อ 6เป็นกรณีที่ผู้เช่าจะโอนสิทธิให้บุคคลอื่น จะต้องจ่ายค่าแก้ไขสัญญาเช่าให้ผู้ให้เช่าครั้งละ 2,000 บาท ดังนั้น ในกรณีโอนสิทธิการเช่าจึงต้องมีการแก้ไขสัญญาให้ผู้ที่จะรับโอนสิทธิการเช่าเข้าเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรง แต่โจทก์หาได้แก้ไขสัญญาให้ ด.ไปผูกพันเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรงไม่ สัญญาระหว่างโจทก์กับ ด.จึงมิใช่การโอนสิทธิการเช่า โจทก์ยังมีสิทธิในฐานะคู่สัญญากับ ม.และ อ.อยู่ ย่อมอ้างถึงสิทธิตามสัญญาเช่าเดิมที่ทำไว้นั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2539
กรณีที่ผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเช่าด้วยการนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โดยไม่มีข้อตกลงให้ทำได้ไว้ในสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิได้ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 387ซึ่งเป็นบททั่วไปว่าด้วยการเลิกสัญญา ดังนั้น ก่อนบอกเลิกสัญญาเช่าและก่อนฟ้องคดี โจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาเช่าภายในระยะเวลาอันสมควรตามที่โจทก์กำหนดเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2537
สัญญาขายสิทธิการเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยจำเลยเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะเรียกร้องเอาราคาค่าโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ ในขณะเดียวกันก็เป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการที่จะเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ และเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาค่ารับโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทจะมีผลต่อเมื่อผู้ให้เช่ายินยอมเสียก่อนจึงจะโอนกันได้ จะถือเอาคำพิพากษาบังคับผู้ให้เช่ายอมให้โจทก์เช่าห้องพิพาทไม่ได้ ต้องพิพากษาให้จำเลยแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่ายอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์