ตัวแทน (บททั่วไป)

มาตรา ๗๙๗ อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตร ๗๙๘ กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา ๗๙๙ ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำ

มาตรา ๘๐๐ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา ๘๐๑ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง
แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
(๑) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
(๒) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
(๓) ให้
(๔) ประนีประนอมยอมความ
(๕) ยื่นฟ้องต่อศาล
(๖) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา ๘๐๒ ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทำการใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ ก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น

มาตรา ๘๐๓ ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา ๘๐๔ ถ้าในสัญญาอันเดียวตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้

มาตรา ๘๐๕ ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการจะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

มาตรา ๘๐๖ ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559 

       ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559 
           ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559 
            จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้ง การเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14778/2558 
           จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดไว้กับธนาคารและระบุเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็คว่า ว. กรรมการของจำเลยจะลงลายมือชื่อในเช็คและประทับตราสำคัญของจำเลย ซึ่งตรงกับการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลที่จะผูกพันจำเลยได้จะต้องลงลายมือชื่อ ว. กรรมการกับประทับตราสำคัญตามหนังสือรับรองบริษัท แต่ ว. ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยไม่ประทับตราสำคัญ เมื่อเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของจำเลยและด้านหน้าก็พิมพ์ชื่อจำเลยไว้ บุคคลที่รับเช็คย่อมเข้าใจว่าเป็นเช็คของจำเลย การที่ ว. กรรมการจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ถือได้ว่าจำเลยเชิด ว. แสดงออกเป็นตัวแทนของตน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ว. สั่งจ่ายเช็คพิพาทในนามของตนเอง จึงรับฟังไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558 
           จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14047/2558 
         โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัท ต. โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัท ต. ซื้อรถยนต์ตามคำร้องของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่ามีกำหนดเช่า 36 เดือน จำเลยนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์มาตลอดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ประสงค์นำค่าเช่าไปชำระเอง แต่ก็ไม่นำไปชำระ บริษัท ต. ทวงถามค่าเช่ารถยนต์มายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่กรณีจำเลยจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์ จึงมิใช่ข้อตกลงหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามมาตรา 76 (3) และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12352/2558 
        การระบุวัน เดือน ปีในหนังสือมอบอำนาจเป็นการมุ่งหมายให้ทราบว่ามีการมอบอำนาจเมื่อใดเพื่อแสดงว่าขณะตัวแทนทำการนั้นตัวแทนมีอำนาจหรือไม่ แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ส. ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์โดยแนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งหนังสือมอบอำนาจระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องจำเลยโดยให้มีอำนาจถอนฟ้องและประนีประนอมยอมความ จึงเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวว่าโจทก์มอบอำนาจก่อนหรืออย่างน้อยในวันที่ ส. ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนั้นเอง ส. จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ การที่ ส. แถลงขอถอนฟ้องซึ่งกระทำได้ตามหนังสือมอบอำนาจและศาลแรงงานกลางอนุญาตจึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558 
            การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558 
       แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9365/2558 
          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความปลอมรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ขึ้นทั้งฉบับโดยมีใจความสำคัญว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 นำเอกสารปลอมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโดยมีโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อโจทก์ได้ชำระราคาที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต หรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อ นาง พ. หัวหน้าส่วนงานหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเบิกความว่า ไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ปลอมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อโจทก์จะถือเอาคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 และกระทำการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วสรุปว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 หาได้ไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) และหากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้โจทก์สามารถเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายและจะถือว่าจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) กระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 - 8566/2558 
            การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2558 
           จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558 
             สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558 
          การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2558 
            คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าตนเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขับรถยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้กระทำ และถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558 
            สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848 - 2849/2558 
           จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่จำเลยที่ 6 โดยให้ถือว่านิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และกิจการใด ๆ ที่จำเลยที่ 6 ทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ ไม่ว่านิติกรรมสัญญาหรือกิจการใด ๆ ดังกล่าวจะได้กระทำลงก่อนหน้านี้ก็ตาม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2558 
      การตั้งผู้สอบบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลที่บริษัทจัดทำขึ้นโดยตรวจจากสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชีและหลักฐานอื่น ๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามแนวทางปฏิบัติงานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ เพื่อวินิจฉัยและแสดงความเห็นว่า งบการเงินที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใด ฐานะและบทบาทผู้สอบบัญชีจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่และตามกฎหมายหรือไม่ ดูแลว่าบัญชีของบริษัทได้ลงไว้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงินของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นว่าฐานะทางการเงินตามที่แสดงไว้นั้นถูกต้อง ผู้สอบบัญชีจึงต้องแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สอบบัญชีจะเป็นกรรมการ ตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทในขณะที่ตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้ ผู้สอบบัญชีต้องขึ้นตรงต่อผู้ถือหุ้น กฎหมายจึงกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนและให้บำเหน็จแก่ผู้สอบบัญชีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1208 ถึง 1211 เว้นแต่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี ตามมาตรา 1212 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558 
            ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557 
           การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557 
             ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557 
            สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557 
             สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18531/2555 
            จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์ซื้อที่ดินจากธนาคาร น. โดยได้ออกเงินทดรองชำระราคาที่ดินพิพาทแทนโจทก์ไปและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะเรียกเอาเงินชดใช้จากโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 819 จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ชำระค่าที่ดินพิพาทจนครบถ้วน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2553
        จำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างจากกรมทางหลวง ตามสัญญาจำเลยจะนำไปทำสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่ได้ จำเลยผิดสัญญานำไปให้บริษัท บ. รับเหมาช่วง ความรับผิดขั้นสุดท้ายต่อกรมทางหลวงยังอยู่ที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรง สัญญาข้อ 9 จำเลยรับว่า ผู้รับจ้างช่วงเป็นตัวแทนของจำเลย บริษัท บ. จึงเป็นตัวแทนจำเลยในการทำงานโดยมีจำเลยเป็นตัวการ เมื่อบริษัท บ. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2551
       จำเลย ที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์และทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ ดังกล่าว โดยมีข้อสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินดังกล่าว เป็นการร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นและได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้นั้นจึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ในฐานะภริยาต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นสามีรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย

ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติเพียงว่า ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลา อันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น มิได้บัญญัติบังคับว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือด้วยการมอบ อำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3799/2551
      ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยให้จำเลยเป็นผู้ถือ กรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง จำเลยย่อมมีฐานะเป็นตัวแทนของผู้ร้องและผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิ ได้เปิดเผยชื่อ การที่จำเลยซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทนำที่ดินดัง กล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ ถือว่าผู้ร้องยอมให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการในการ จำนองที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มี ต่อจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 การจำนองที่ดินพิพาทจึงมีผลผูกพันผู้ร้อง ไม่ว่าผู้ร้องจะทราบเรื่องการจดทะเบียนจำนองหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2551
ตาม หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 โจทก์มอบอำนาจให้ บ. กระทำกิจการตามที่ได้ระบุไว้รวม 15 ข้อ โดยข้อ 15 ระบุว่า "กิจการที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจช่วงให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของธนาคารคนใดเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนก็ได้ แต่การมอบอำนาจช่วงเช่นว่านี้จะทำได้ครั้งหนึ่งเฉพาะกิจการอย่างหนึ่งเท่า นั้น จะมอบอำนาจให้กระทำการแทนโดยทั่วไปหรือในกิจการหลายอย่างในการมอบอำนาจช่วง ครั้งหนึ่งๆ ไม่ได้" เช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจช่วงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์กระทำการแทนก็ ได้แต่ครั้งหนึ่งเฉพาะกิจการอย่างหนึ่ง จะมอบอำนาจให้กระทำกิจการหลายอย่างในการมอบอำนาจช่วงครั้งหนึ่งๆ หรือกระทำกิจการเดียวโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งไม่ได้ หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า บ. ผู้รับมอบอำนาจ... ขอมอบอำนาจช่วงให้ ป. และ/หรือ พ.... มีอำนาจดำเนินการในกิจการดังต่อไปนี้กับ ธ. และ ศ. เพื่อประโยชน์ของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จนเสร็จการ ข้อ 1 ให้มีอำนาจติดตามหนี้สิน... ข้อ 2 มีอำนาจในการดำเนินคดีทางแพ่ง ได้แก่ การออกหนังสือบอกกล่าวและทวงถาม การฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งและการอื่นใดที่เกี่ยวกับคดีจนเสร็จการ เช่น รับเงินและเอกสารต่างๆ จากศาล ข้อ 3 ให้มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ได้แก่ การแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ...ฯลฯ ดังนี้จะเห็นได้ว่าการมอบอำนาจเช่นว่านี้เป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ ช่วงกระทำการแทนหลายอย่าง คือ ฟ้องคดีแพ่ง ฟ้องคดีอาญา ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญาต่อจำเลยทั้งสองโดยไม่จำกัดว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับ เรื่องใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่ง และคดีอาญาได้ทุกเรื่องโดยมิได้จำกัดให้ฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาได้เพียง เรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว เป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนาของโจทก์ที่แสดงไว้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 การมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นการกระทำที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำนอกเหนือขอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 ผู้รับมอบอำนาจช่วงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551
โจทก์ ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ไม่ขัด ต่อมาตรา 798 วรรคสอง
โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลย เป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ กับจำเลย จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนอง ที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอก ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลย รับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ และคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำ ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2551
ลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการลงทุนลูกหนี้ในฐานะตัวแทน ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝืมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในการนำเงินของเจ้าหนี้ไปลงทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 807 วรรคสอง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม การที่ลูกหนี้นำเงินของเจ้าหนี้ไปซื้อลดตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัท ก. และเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินสั่งจ่ายให้แก่ ม. กับมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. เป็นผู้อาวัล เป็นการลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันนโยบายการลงทุนที่ลูกหนี้มีถึง ประธานคณะกรรมการของเจ้าหนี้ว่า จะลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรองจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดย ปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามที่ตัวการได้มอบหมาย ซึ่งผลปรากฏต่อมาว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้ แม้เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินตามตั๋วแลกเงินจากผู้สั่งจ่าย ผู้อาวัล และผู้สลักหลัง กับได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของผู้อาวัลและศาลมีคำสั่งอนุญาต ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าหนี้จะได้รับเงินครบถ้วนหรือไม่ การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551
นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญา กู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2551
การ ที่ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ภ. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง แม้ขณะนั้น ส. ยังมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้เป็นผู้ฟ้องคดีแทนก็หาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้อันจะตกเป็นโมฆะไม่ ผลคงมีเพียงว่า ภ. ยังไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ทำกันไว้ในขณะนั้น ได้เท่านั้นต่อมาเมื่อ ส. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องคดีแทนแล้วก็มิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือทำหนังสือมอบอำนาจช่วงขึ้นใหม่หนังสือมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ มีผลทำให้ ภ. มีอำนาจแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ ส. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นต้นไป
ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) ห้ามมิให้ตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปฟ้องคดีแทนตัวการในกรณีที่การมอบอำนาจ มิได้ระบุให้ตัวแทนฟ้องคดีแทนตัวการได้เท่านั้นแต่ข้อความในหนังสือมอบอำนาจ ของโจทก์ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ โดยให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ ที่กระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ รวมทั้งให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้เป็นตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์โดยตรง อยู่แล้ว และไม่จำต้องระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ฟ้องจำเลยที่ 1 หรือบุคคลใด หรือฟ้องข้อหาใด จึงเป็นการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551
ช. เป็นตัวแทนในการหาผู้เอาประกันมีหน้าที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาทำสัญญาประกัน ชีวิตกับจำเลย ไม่ใช่ตัวแทนในการทำสัญญาประกันชีวิตของจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 และมาตรา 71 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ ช. ได้ทราบหรือควรจะทราบข้อความจริงขณะทำหนังสือรับรองสุขภาพว่า ส. เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากได้รักษา ตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จะถือว่าจำเลยได้ทราบความจริงดังกล่าวด้วยหาได้ไม่
ส. รู้อยู่ว่าตนเป็นโรคตับอักเสบแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้ จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นย่อมทำให้สัญญาประกัน ชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1657/2550
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน..." มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อ ว. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องคดี แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ ว. เป็นการบอกกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ถือว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4870/2550
ผู้ ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องโดยได้รับการยกให้จากมารดาของผู้ร้อง แต่เนื่องจากสามีของผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวจึงใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทแทนผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์กรณีตามคำ ร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวถึงหากจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่ง เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการ ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สามีของโจทก์ได้ทราบเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของสามีของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ที่มีต่อจำเลยผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็น ตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ ตามป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2550
ส. เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยกระทำการแทนจำเลยได้ แม้ ส. ไม่ได้ประทับตราของจำเลย แต่หนังสือรับสภาพหนี้มีชื่อของจำเลยที่ด้านบนของกระดาษประกอบพฤติการณ์ของ ส. จึงถือว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลย การที่ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ ถือเป็นการกระทำของจำเลย หนังสือรับสภาพหนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า "...ขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันชำระค่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายเดือนต่อไป" จึงเป็นการกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องไม่ เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2550
โจทก์ เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ว่าการ ส. จึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่ น. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการ กระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะ น. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกอง กฎหมายนั้น เป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของ โจทก์เท่านั้น การที่ น. มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติ หน้าที่ตามระเบียบที่วางตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัว การตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ส. ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาตามลำดับชั้นและลง นามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071 - 2074/2550
การ ที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 เป็นการตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้สัญญาตัวแทนจะระงับไปเมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม ทนายผู้ร้องก็ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ ของผู้ร้องต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของผู้ร้องจะอาจเข้ามาปกปักรักษาผล ประโยชน์ของผู้ร้องโดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
ผู้ร้องถึงแก่กรรมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องจึงอาจร้องขอเข้า มาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของผู้ ร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องถึงแก่กรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แต่ก็ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายผู้ร้องจะจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว ทนายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549
หนังสือ มอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว.ยื่นฟ้องต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ หาได้ระบุมอบอำนาจให้ ว.ฟ้องผู้คัดค้านเป็นการเฉพาะคดีแต่ประการใดไม่ ว.จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้รับมอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549
การ ที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ที่ 2 ได้รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจาก โจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่ง โจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกา แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5900/2549
จำเลย ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์และลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ไว้ในสัญญาเช่า ซื้อล่วงหน้าโดยยังไม่ได้รับรถยนต์ไป การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบให้เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549
หนังสือ มอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว. ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ ว. จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุก คดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้มอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549
การ ที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ที่ 2 ได้รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจาก โจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่ง โจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกา แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2549
ผู้ ร้องมอบอำนาจให้ อ. ยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้องโดยให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจน กว่าจะถึงที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาและมีสิทธิมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการ แทนได้ตามความจำเป็นทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย ซึ่ง อ. ได้มอบอำนาจให้ น. เป็นตัวแทนช่วงยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง แม้ในหนังสือมอบอำนาจฉบับที่สองนี้จะระบุไว้แต่เพียงว่าให้ น. มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนโดยไม่มีข้อ ความว่า ให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจทั้ง 2 ฉบับ รวมกันแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าผู้ร้องมอบอำนาจให้ น. มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด อันมีความหมายรวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ อุทธรณ์ฎีกาได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7022/2548
การ ตั้งตัวแทนจะต้องมีการแต่งตั้งจากตัวการโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้มี อำนาจทำการแทนตัวการตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 797 บัญญัติไว้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่งตั้งจำเลยร่วมเป็นตัวแทน แต่จำเลยร่วมให้การว่าเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของจำเลยที่ 1 ในการขายรถคันที่ให้เช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอก บันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมทำไว้ต่อกันก็เป็นเพียงแต่จำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยร่วมครอบครองรถคันที่เช่าซื้อต่อจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่เรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยร่วมไปดำเนินการ การที่จำเลยร่วมรับมอบรถคันที่เช่าซื้อไว้จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการรับมอบในฐานะตัวแทนหรือนายหน้าของจำเลยที่ 1 ในการขายรถให้แก่บุคคลภายนอก มิใช่ในฐานะตัวแทนของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดส่งมอบรถคันพิพาทให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548
จำเลย ที่ 2 เคยมาติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องตัวแทนเชิดเพราะการตัวแทนเชิดนั้นตัวการไม่ปรารถนา ที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2548
โจทก์ ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้รับจำนองมาเป็นชื่อโจทก์อันเป็น เรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 798

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5196/2548
การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน การที่โจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มี หนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำแทน โจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว
โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาของโจทก์มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งและโจทก์ไปที่ สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะ ได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไป
เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืน สู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วยซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยใน กรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548
หนังสือ มอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทน โจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใดผู้รับมอบอำนาจ ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำ ต้องระบุว่าให้ดำเนินคดีแก่จำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2547
การมอบ อำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคล ใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้ รับมอบอำนาจคือนาย ส. ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นาย ส. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้ง ห้าอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7626/2547
โจทก์ เป็นตัวแทนของจำเลยในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร แล้วนำเงินที่กู้ยืมมามอบให้จำเลย แม้การเป็นตัวแทนในการกู้ยืมเงินจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง ก็มีผลบังคับกันได้ระหว่างตัวการกับตัวแทน เมื่อโจทก์ถูกบังคับชำระหนี้ที่กู้ยืม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องเสียไปคืนให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2547
หลัก ฐานเอกสารที่โจทก์ระบุอ้างว่าได้มีการทำสัญญารับขนของทางทะเลนั้นเป็นเพียง ตารางการเดินเรือที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาส่งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าไป กับเรือหรือไม่ ในใบตราส่งซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลก็ไม่มีชื่อบริษัท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง แม้จะมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ระบุว่าได้ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งไว้ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ขนส่ง นอกจากนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลผู้ขนส่งจะต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่า ระวางเรือ แต่จำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นบำเหน็จตัวแทนที่เกิดจากส่วนต่างของค่าระวาง เรือที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์หักด้วยค่าระวางเรือที่จำเลยที่ 1 ได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับค่าระวางเรือไว้ในฐานะตัวแทนผู้ขนส่งก็ต้องส่งไปให้ตัวการซึ่ง เป็นผู้ขนส่ง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเป็นตัวแทนนายหน้า จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการขนส่งของทางทะเลให้แก่โจทก์ โดยรับค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จ หาใช่เป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดจากการที่ สินค้าพิพาทส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10443/2546
โจทก์ กู้เงินจากจำเลยและมอบหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อ ความให้แก่จำเลยยึดถือไว้ โดยมีข้อตกลงด้วยว่าหากโจทก์ไม่มีเงินชำระคืนตามกำหนด ให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยได้ การที่ต่อมาโจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนจำเลยได้และจำเลยได้กรอกข้อความใน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เป็นไปตามที่ตกลงกัน จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่เอกสารปลอม และนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2546
ศาล ชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในคดีนี้ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคาร โรงเรียนเทคโนโลยี ร. การที่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการกิจการโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. แทนจำเลยผู้ไม่อยู่ชั่วคราว จนกว่าจำเลยจะกลับมา และผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ผู้ร้องมีอำนาจ จัดการแต่เฉพาะในกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. อันเป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็น เพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง หาใช่กรณีที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็น ผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับ ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่แม้ในเหตุฉุกเฉินผู้ร้องก็ไม่อาจจะก้าวล่วงไป จัดการในกิจการอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1398/2545
ผู้ ร้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป. และ ธ. กระทำการแทนผู้ร้อง โดยให้มีอำนาจยื่นคำร้องขอรับรถของกลางในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1769/2542 ของศาลจังหวัดนราธิวาสคืน อันเป็นการแสดงว่าผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ ป. และ ธ. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องได้ ซึ่งหนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องไม่ได้จำกัดว่าผู้รับมอบอำนาจแต่ละคนจะ ต้องกระทำการร่วมกันตามที่ได้รับมอบอำนาจ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจคนใดคนหนึ่งจึงสามารถยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2545
ขณะ ที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์และเสนอขายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงกันไว้ว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์จากโจทก์และนำมาชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถ ยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่อง มาจากข้อตกลงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างว่าหากโจทก์ตรวจสอบพบชื่อของจำเลยที่ 1 ในสมุดรับประกันและสอบถามไปก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์จากจำเลยที่ 2 ไม่เป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เพราะสิทธิหน้าที่และความรับผิดระหว่างตัวการกับตัวแทนเป็นเรื่องที่จำเลย ทั้งสองจะต้องว่ากล่าวเอาเองอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2545
หนังสือ มอบอำนาจระบุไว้แจ้งชัดว่า บริษัทโจทก์โดย บ. ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงให้แก่ ณ. หรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อจำเลยทั้งสองต่อศาลฐานผิดสัญญาเช่า ซื้อ ค้ำประกัน กรณีจึงเป็นการมอบอำนาจให้ ณ.หรือ ส. คนใดคนหนึ่งฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำ ประกันเท่านั้น กิจการที่ ณ. หรือ ส. กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องจำเลยทั้งสองเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หาได้กระทำแยกกันต่างคนต่างฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งสองหรือฟ้องบุคคล อื่นอันมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ ส. จะเป็นผู้แต่งตั้งทนายความ และ ณ. เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากิจการที่บุคคลทั้งสองกระทำเป็นกิจการเดียวกัน จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ข้อ 7(ก) เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ 30 บาท จึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ข้อ 7(ก) แล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6728/2545
โจทก์ มอบหมายให้ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยการมอบหมายไม่ ได้ทำเป็นหนังสือจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 798 แต่จำเลยรับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องแสดงว่าโจทก์ยอมรับการบอกกล่าวบังคับจำนองของทนายความ แล้ว เป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำของทนายความ ทนายความจึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 823
ก. เป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีลูกหนี้ที่ผิดนัดค้างชำระหนี้ รวมทั้งติดตามเรียกร้องหนี้สินค้างชำระ เบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบเอกสารเกี่ยวกับหนี้สินจำเลยว่ามีอยู่และถูก ต้องแท้จริง เป็นการเบิกความถึงสิ่งที่พยานมีหน้าที่เกี่ยวข้องรู้เห็นและทราบข้อความใน เรื่องที่เบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของก. จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2538
โจทก์ ลงลายมือชื่อใน หนังสือมอบอำนาจโดยยังไม่กรอกข้อความจำเลยที่1นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปกรอก ข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่1เป็นผู้มีอำนาจยื่นคำขอจดทะเบียนโอนขาย ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่1โดยโจทก์ไม่รู้เห็นด้วยนิติกรรม การโอนเกิดขึ้นจากการทุจริตจึงตกเป็น โมฆะ ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ฉะนั้นการที่จำเลยที่2รับจด ทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่1จึงไม่เกิดผลให้จำเลยที่2มีสิทธิตาม นิติกรรมจำนองโจทก์จึงมีสิทธิขอให้ เพิกถอนนิติกรรม จำนองระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2526
แม้ ตัวแทนของจำเลยจะได้ทำสัญญาขายไม้ให้แก่โจทก์แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตัวแทนของจำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวในนามของจำเลยกับตัวแทนของจำเลยเองโดย อาศัยโจทก์เป็นเครื่องมือ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการ สัญญานั้นย่อมไม่ผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 805

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2506
ยายยกที่ดินให้หลาน โดยทำใบมอบอำนาจให้หลานไปทำนิติกรรมแทนแม้หลานนั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้รับมอบอำนาจได้