การประกันภัย

มาตรา ๘๖๑  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

มาตรา ๘๖๒  ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า ผู้รับประกันภัยท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
คำว่า ผู้เอาประกันภัยท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คำว่า ผู้รับประโยชน์ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา ๘๖๓  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา ๘๖๔  เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณาในการวางกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัย และภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไป ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยลงตามส่วน

มาตรา ๘๖๕  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา ๘๖๖  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา ๘๖๕ นั้นก็ดีหรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

มาตรา ๘๖๗  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง

กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) วัตถุที่เอาประกันภัย
(๒) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
(๓) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
(๔) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
(๕) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
(๖) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
(๗) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
(๘) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
(๙) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
(๑๐) วันทำสัญญาประกันภัย
(๑๑) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย

มาตรา ๘๖๘  อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10099/2559
จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ อ. กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่า อ. กับพวก มีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาและสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อ. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. กับพวก ร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อเป็นความผิดฐานใด ส่วนจำเลยร่วมมี น. เบิกความว่าพยานสอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การแสดงให้เห็นว่า อ. ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริงไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็น อ. มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า อ. เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่าแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์ไปจึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตอนหลังกลับวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ยังต้องการให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง โจทก์ต้องอุทธรณ์ ไม่ใช่เรื่องของจำเลยร่วมที่จะต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559
ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246 - 3250/2559
สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ ขณะที่ ส. ขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า ส. ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์ รวมเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยกว่า 47 ล้านบาท ย่อมถือได้ว่า ส. เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการขอเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินที่สูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเหมาะสมกับฐานะหรืออาชีพของ ส. หรือไม่อย่างไร และอาจมีมูลเหตุไปในทางไม่สุจริต การเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ ส. ต้องเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าทราบ เพราะอาจจูงใจให้จำเลยทั้งห้าเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับประกันภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำประกันภัยตามฟ้องกับ ส. จึงเกิดจากความไม่สุจริตของ ส. ที่ไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าบอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558
โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2558
แม้ตามกรมธรรม์จะมีข้อยกเว้นระบุว่า "การประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง... 2. ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้... ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท" มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม ดังนั้นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะถูกฆาตกรรมจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16999/2557
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า แม้สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนและสัญญาประกันชีวิตที่ฟ้องคดีนี้ทำขึ้นในวันเดียวกันและรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน แต่ก็เป็นสัญญาแยกต่างหากจากกันได้เพราะมิได้มีกฎหมายใดกำหนดให้สัญญาประกันชีวิตแบบพิเศษในคดีนี้เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ในคดีก่อน สัญญาประกันชีวิตแต่ละฉบับมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองทั้งสัญญาก็แยกคนละฉบับและเงื่อนไขแยกจากกัน ถือได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้ แม้ประเด็นแห่งคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมีว่า ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงและจำเลยบอกล้างสัญญาแล้วจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็เกิดจากสัญญาประกันชีวิตคนละฉบับซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขแยกจากกัน ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้

ป. ไปพบแพทย์หญิง ศ. ที่คลีนิกเพื่อรักษาอาการไอและเป็นไข้ ผลตรวจและเอกซเรย์ปอดพบว่า ป. มีอาการหลอดลมอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนที่ ป. ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะต้องได้รับยาฉีดและดูอาการ แสดงว่าโรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้หลอดลมอักเสบมิใช่โรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้เป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องนอนพักรักษาอาการในโรงพยาบาล ส่วนแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นมานานมากแล้ว แพทย์หญิง ศ. ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นวัณโรค ผลตรวจเสมหะไม่พบเชื้อโรค ทั้งไม่มีการตรวจปอดว่าแท้จริงแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นเพราะสาเหตุใด เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตหรือไม่ ป. ตายด้วยโรคโลหิตเป็นพิษและความดันโลหิตต่ำ มิใช่เป็นผลจากแผลเป็นและก้อนเนื้อในปอด ถือไม่ได้ว่าขณะที่ ป. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ป. รู้อยู่แล้วแต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจจะจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา หรือ ป. รู้อยู่แล้วแต่แถลงข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

คำสั่งนายทะเบียนที่ 13/2541 ข้อ 1 ระบุว่า เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยที่เพิ่มเติมตามคำสั่งนี้ให้รวมถึงผู้เอาประกันภัยที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับด้วย ฉะนั้น บันทึกสลักหลังแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยตามคำสั่งฉบับดังกล่าวจึงใช้บังคับกับสัญญาประกันชีวิตก่อนวันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13043/2557
กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2557
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง เมื่อจำเลยผู้รับประกันภัยปฏิเสธชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนและให้การต่อสู้โดยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่ตกเป็นโมฆียะแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วภายใน 1 เดือน นับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ เมื่อทางนำสืบของจำเลยฟังไม่ได้ว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด และจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้เมื่อใด จำเลยนำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 2 ปี นับแต่วันต่ออายุสัญญาเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยนำสืบว่าจำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันภัยภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตามมาตรา 865 วรรคสอง ดังกล่าว ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8518/2555
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น... ข้อความในกฎกระทรวงและในกรมธรรม์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยและเป็นผู้ขับขี่มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดและมีผู้ต้องรับผิดต่อผู้ตายตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย ทั้งไม่อาจตีความข้อความตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423 - 6424/2555
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711 - 11712/2554
เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156

เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7332/2555
พฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อรถยนต์จากบริษัทผู้ขายรถยนต์ซึ่งได้ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยผู้รับประกันภัยก่อนโจทก์ชำระราคารถยนต์ โดยมีตัวแทนจำหน่ายของบริษัทผู้ขายรถเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย และระบุชื่อโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ขายรถยนต์ จำเลยย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9135/2554
โจทก์เป็นเจ้าของเรือชื่อเบญจมาศ ขอทำประกันภัยไว้กับจำเลยโดยรับรองว่าเรืออยู่ในสภาพดีพร้อมที่จะเดินทาง จำเลยตกลงรับประกันภัยโดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยโดยระบุเงื่อนไขและข้อยกเว้นความรับผิดที่สำคัญไว้หลายประการ คือ การประกันภัยให้บังคับตามกฎหมายและประเพณีปฏิบัติของประเทศอังกฤษ ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งปวงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือต้องมีใบอนุญาตพร้อมและได้รับการจดทะเบียนจากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีตลอดอายุกรมธรรม์ประกันภัย (WARRENTED THE VESSEL IS LICENSED AND REGISTERRED BY HARBOUR DEPARTMENT THROUGHOUT THE CURRENCY OF THE POLICY) และผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้เหมาะสมตามข้อบังคับของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (WARRENTED VESSEL BE PROPERLY EQUIPPED IN ACCORDANCE WITH THE REQUIREMENT OF THE HARBOUR DEPARTMENT) แต่ปรากฏจากผลการสำรวจความเสียหายของบริษัทผู้สำรวจภัยรายงานว่าเหตุที่เรือจม เกิดจากสาเหตุที่ตัวเรือและเครื่องจักรมีอายุใช้งานมานาน และไม่ได้รับการซ่อมแซมดูแลอย่างเพียงพอ ซึ่งในทางประกันภัยถือว่าไม่มีความเหมาะสมในการเดินทะเล และไม่ปรากฏพยานหลักฐานแสดงว่าเรือชนวัตถุใต้น้ำหรือเผชิญสภาวะอากาศเลวร้าย ทั้งจากการตรวจสอบหลักฐานทะเบียนทางเรือแล้ว ไม่ปรากฏว่าเรือได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการเพราะเอกสารตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือชั่วคราวนั้น มิใช่เอกสารที่ออกโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อรับรองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยในข้อคำรับรองว่าเรือต้องได้รับใบอนุญาตและได้รับการจดทะเบียนจากการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และเรือต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมตามเงื่อนไขของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (Breach of warranty on Seaworthiness of ship) อันเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากการรับผิดในทันที ฉะนั้น ขณะเกิดเหตุกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่ให้ความคุ้มครอง ไม่ว่าภัยที่เกิดแก่เรือจะได้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551
บริษัท ม. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท อ. แล้วบริษัท ม. ให้ พ. เช่าซื้อช่วง โดย พ. นำรถไปประกันภัยไว้กับโจทก์ มีบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยย่อมเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ถือว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหายไปในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมของจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551
ช. เป็นตัวแทนในการหาผู้เอาประกันมีหน้าที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาทำสัญญาประกัน ชีวิตกับจำเลย ไม่ใช่ตัวแทนในการทำสัญญาประกันชีวิตของจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 และมาตรา 71 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ ช. ได้ทราบหรือควรจะทราบข้อความจริงขณะทำหนังสือรับรองสุขภาพว่า ส. เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากได้รักษา ตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จะถือว่าจำเลยได้ทราบความจริงดังกล่าวด้วยหาได้ไม่

ส. รู้อยู่ว่าตนเป็นโรคตับอักเสบแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้ จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นย่อมทำให้สัญญาประกัน ชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2550
สิทธิ ตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดต้องใช้ลักษณะนั้นบังคับ จะยกเอาบทบัญญัติในเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ขายอันเกิด แต่สัญญาประกันภัยไม่ได้ ในเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันภัยอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยจะมีเพียงใดก็ต้อง เป็นไปตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 (ผู้ขาย) และจำเลย (ผู้รับประกันภัย) ได้ตกลงประกันภัยทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่ง สินค้าจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบเอฟ. โอ. บี. แต่การคุ้มครองจะมีตลอดเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึง ปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2550
โจทก์ นำรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ มาประกันภัยไว้กับจำเลย ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวโดยมีรถพ่วงอยู่ด้วย ไปเกิดอุบัติเหตุชนการ์ดเลนคอสะพานเป็นเหตุให้การ์ดเลนคอสะพานและรถยนต์ บรรทุกมีประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ซึ่งตามสัญญาประกันภัยได้กำหนดถึงการคุ้มครองความรับผิดไว้ในสัญญา แต่ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นรับผิดไว้หลายประการ โดยมีสัญญาข้อหนึ่งไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัท แสดงให้เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยไม่ประสงค์จะคุ้มครองถึงกรณีที่มีการใช้รถยนต์คัน ที่เอาประกันภัยไปลากจูงหรือผลักดัน อันทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะให้คุ้มครองถึงส่วนที่ลากจูงก็จะต้องแจ้ง ความจำนงให้ชัดเจนเพื่อผู้รับประกันภัยจะได้กำหนดเบี้ยประกันให้พอเหมาะกับ ความเสี่ยงที่มากขึ้น การที่โจทก์นำรถที่เอาประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงอีกคันหนึ่งจึงเป็นการกระทำ เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2550
ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5. ระบุไว้ว่า ...ถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกัน อัคคีภัยเอง ผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบ ถ้วนภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบ... ตามข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ย ประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549
ตาม สัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อ โจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อ ถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2548
ข้อ ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.8.4 ที่ตกลงกันว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองการใช้รถโดยบุคคลของอู่ เมื่อรถยนต์ได้มอบให้อู่ทำการซ่อมนั้น หมายถึงกรณีที่นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปมอบให้แก่อู่เรียบร้อยแล้ว ต่อมามีการใช้รถโดยบุคคลของอู่ กรณีนี้อู่ของจำเลยที่ 2 ยังมิได้รับมอบรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 2 ในการไปขับรถยนต์มามอบให้อู่ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้รถโดยบุคคลของอู่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4556/2547
โจทก์ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคารถยนต์พิพาท จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รถยนต์พิพาทสูญหายไป เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยทั้งสี่ต้องชำระราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยร่วม และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของรถยนต์พิพาทจากจำเลย ร่วมผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามที่ จำเลยทั้งสี่ขอดังกล่าวแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิด ตามสัญญาประกันภัยให้โจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2546
แม้ จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง ไว้แก่ธนาคารโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมาย ที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2546
รถ บรรทุกของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับห้างฯ จำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้มีคนตายถึง 3 คน ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ทำหนังสือตกลงเรื่องค่าปลงศพของผู้ตายให้ไว้แก่ทายาทของผู้ตายทั้งสาม ส่วนค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ตกลงกันไม่ได้จึงนัดตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละสิทธิ เรียกร้องอื่น แสดงว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาตกลงเฉพาะเรื่องค่าปลงศพเท่านั้น หาได้รวมถึงค่าเสียหายอื่นไม่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2546
รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ นาย ส.ค. เป็นผู้เช่าซื้อ โดยมี นาย ส.พ. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียวในบรรดา อุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ส่วนตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจำต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วม นาย ส.พ. ผู้ค้ำประกันจึงมีส่วนได้เสียในความเสียหายของรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และนาย ส.พ. จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไป แล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2545
สัญญา ประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยทำกับผู้เอาประกันภัยระบุว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย จำเลยเป็นผู้เอา ประกันภัย โดยมี ง. บุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์เป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ต่อเมื่อ ง. ได้แสดงเจตนาขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่อโจทก์ ตามป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์แล้วจะทำให้ ง. มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทันที

ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ความว่า ง. ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ ประกันภัย ก่อนที่โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลย ดังนั้น ง. จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ย่อมเป็น ผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ เอาประกันภัยตามป.พ.พ. มาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์จึงเป็นการรับไว้โดยชอบด้วย กฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544
โจทก์ เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสีย ชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองไว้ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตก ได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดยตรง หาใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตายไม่ โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสียชีวิตของ ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2543
โจทก์ นำสืบโดยส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อเป็นพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จริง ส่วนจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยมิได้ต่อสู้ว่าเอกสารสัญญาเช่าซื้อปลอม ไม่สมบูรณ์แต่ประการใด จำเลยร่วมจะอ้างคำเบิกความของ พ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือพยานบุคคลอื่นมาหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งระบุว่าจำเลย ที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์และมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบตลอดจนต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ ความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงแม้จะให้ผู้อื่นนำรถยนต์ไปใช้หรือชำระค่าเช่าซื้อเบี้ยประกันแทนก็หาทำ ให้เสียสิทธิหรือหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่จำเลยร่วมจึงต้องผูกพันตาม กรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย