ความสามารถของผู้เยาว์

มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์


มาตรา 20 ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448


มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น


มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง


มาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว


มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร


มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์


มาตรา 26 ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร


มาตรา 27 ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้


ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว


ถ้าการประกอบธุรกิจหรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้


ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้


การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือนการใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558

จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2558

จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่ง ป.พ.พ. ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันได้ การทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2558

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง เมื่อขณะยื่นคำร้องขอผู้เยาว์มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ผู้เยาว์จึงต้องยื่นคำร้องขอเอง ผู้เยาว์จะให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ยื่นคำร้องขอแทนในนามของผู้เยาว์มิได้ แม้ผู้เยาว์จะเป็นบุคคลพิการก็ตาม ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ แต่ทั้งนี้ผู้เยาว์ยังคงมีสิทธิฟ้องหรือร้องขอด้วยตนเองได้ตามมาตรา 1556 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125 - 2126/2558

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558

แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558

โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11520 - 11521/2557

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร การที่จะพิจารณาว่าผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่เต็มใจนั้น ต้องพิจารณาเจตนาภายในใจของผู้เยาว์ คดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีเจตนาไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปเองตามลำพัง จำเลยที่ 1 มิได้บังคับผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้จะถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2557

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2553 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียก ส. พนักงานคุมความประพฤติกับ ก. นายช่างรังวัดที่ดินมาไต่สวนโดยอ้างว่า ส. เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ตไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์ผู้เยาว์จนเป็นเหตุให้ผู้เยาว์เสียเปรียบในการแบ่งแยกที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นการร้องต่อศาลให้สั่งการโดยอ้างว่า การกระทำของผู้กำกับการปกครองไม่เป็นไปตามที่ศาลมอบหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 169 วรรคสาม ซึ่งมีบทบัญญัติให้ผู้อยู่ใต้การกำกับการปกครองต้องร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้ทราบการกระทำ เมื่อผู้ร้องทราบเรื่องที่พนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้เยาว์ก่อนมายื่นคำร้องเกิน 15 วัน กรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2557

แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างระบุชื่อผู้ว่าจ้างคือ จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว แต่ในหนังสือสัญญาดังกล่าวข้อ 1 มีข้อตกลงระบุให้โจทก์ว่าความในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 อีกทั้งใบแต่งทนายความก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความในคดีดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวความในคดีดังกล่าว การจ้างโจทก์ว่าความจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อย่างแท้จริง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาจ้างว่าความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556

ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2556

เด็กหญิง ช. เป็นผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ต. แม้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก็เป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ เด็กหญิง ช. โดย ต. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายย่อมเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556

เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2556

การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวัน ระบุว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีกนั้น ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 ข้อตกลงในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2555

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้" และวรรคสามบัญญัติว่า "ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้" ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ว. โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าการซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทนี้ห้ามแบ่งแยกกัน แม้จะได้ความจาก ว. ที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ว. ต้องการให้โจทก์มีที่ทำกินในอาคารพาณิชย์พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสองไปเรื่อย ๆ แต่ ว. เป็นเพียงผู้ออกเงินชำระค่าที่ดินมิใช่เจ้าของรวม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการถาวร การที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ก็มิใช่ข้อห้ามแบ่งแยกและไม่ใช่กรณีไม่เป็นโอกาสอันควรแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่อาจทำกิจการค้าต่อไปได้ และการที่จะให้ผู้อื่นเช่าก็เกิดปัญหากับจำเลยทั้งสองถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ จะให้จำเลยทั้งสองครอบครองโดยให้ประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ก็เกิดปัญหาเรื่องจำนวนค่าตอบแทน การถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์ การที่โจทก์ต้องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเป็นสิทธิของโจทก์และมีความเหมาะสม โจทก์จึงเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความ สามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้ ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2549

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ตามฟ้องก็ดี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความก็ดีมีองค์ประกอบความผิดร่วมกันประการหนึ่งว่า "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล..." ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการกระทำความผิดกฎหมายทั้งสองมาตรานี้ที่กฎหมาย มุ่งคุ้มครองคืออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั่นเอง มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทั้งสอง มาตรานี้ตามมาตรา 2 (4) แห่ง ป.วิ.อ. จึงได้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ทั้งสองในขณะที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกัน กระทำความผิด หาใช่ตัวผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไม่


ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงาน อัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง ในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2541

เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาให้ฟ้องและดำเนินคดีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนได้หาจำต้องได้ รับความยินยอมจากบิดามารดาอีกครั้งไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2537

ผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ต้องกระทำโดยผู้แทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3,5 และ 6 การที่ผู้เสียหายซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยลงชื่อแต่งตั้งทนายความด้วยตนเองแต่ลำพังเพื่อให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณานั้น มิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขความบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 56 วรรคสี่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 6 และ 15 เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เยาว์มิได้เป็นผู้ฎีกาขึ้นมาและคดีไม่อาจทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมมีอายุเกินกว่า 20 ปี บรรลุนิติภาวะแล้วจึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องสั่งให้แก้ไขในข้อบกพร่องเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2537

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครอง จะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตนั้นเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการ คุ้มครองทรัพย์สิน และกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจึงจะอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ ในเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมาย ความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดย ชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาต จากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฉะนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 จะทำสัญญาในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทดังกล่าวก็ไม่มี ผลผูกพันจำเลยที่ 3และกรณีมิใช่โมฆียะกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ การที่จำเลยที่ 3 แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันแต่จำเลย ที่ 2 และที่ 3 หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ ดังนั้นแม้สัญญาจะไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้นส่วนสัญญาจะซื้อจะขาย ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4682/2541

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศ.เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล ผู้คัดค้านทั้งสามร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็น ผู้อนุบาล ศ. เนื่องจากคำร้องของผู้ร้องที่ขอเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. และคำร้องขอเป็นผู้อนุบาลของ ศ.เป็นความเท็จ และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตปิดบังข้อเท็จจริง และปิดบังพินัยกรรมของบิดาผู้ร้องที่ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ของนางสาวศรีสกุล ทั้งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ของ ศ.อยู่ก่อนที่ผู้ร้องจะขอเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. และคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านไม่ได้ขอถอนการเป็นผู้อนุบาลโดยอ้าง เหตุตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/8 เนื่องจากมาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติให้การแต่งตั้งผู้อนุบาลอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาลให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.นี้และมาตรา 1598/18 วรรคสอง บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับในกรณี ที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาลให้นำบท บัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้น การแต่งตั้งผู้อนุบาลจึงต้องอนุโลมตามการแต่งตั้งผู้ปกครองด้วย ดังนี้ เมื่อได้ความว่า หากปรากฏว่าบุคคลที่ศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาล เป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้อนุบาลตามมาตรา 1587 อยู่ในขณะที่ศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาล โดยปรากฏแก่ศาลเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้อนุบาลนั้นเสียอันเป็นกรณีร้องขอให้เพิก ถอนคำสั่งตั้งผู้อนุบาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมตามมาตรา1588 ภายหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อล่วงเลยเวลาที่จะยื่นคำคัดค้านแล้ว ทั้งไม่ใช่กรณีที่ขอถอนผู้อนุบาลตามมาตรา 1598/8ผู้คัดค้านจึงยื่นคำคัดค้านได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2534

การขาย อสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์เอง หรือ ผู้ใช้ อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้วจะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนหรือถือว่านิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำด้วยตนเองในขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยมิได้รับ อนุญาตจากศาลมีผลผูกพันผู้เยาว์เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งผิดไปจากเจตนารม ณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่จำเลย ที่ 8 ได้กระทำไปในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ที่ 8 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลย ที่ 8 จะบรรลุนิติภาวะแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2532

สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมของทายาทของผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 137นั้น จะมีได้ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้ถึงแก่ความตายลงโดยมิได้มีการบอกล้างโมฆียะกรรมก่อนถึงแก่ความตาย ฉะนั้นเมื่อบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่แม้จะทำนิติกรรมขณะวิกลจริต โจทก์ก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ทายาทอันจะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะได้.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2526

ในคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะระบุชื่อโจทก์ทั้ง 4 คนแล้วตามด้วยคำว่าโดย ช. บิดาผู้ปกครองผู้แทนโดยชอบธรรมโดยมิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์คนไหนฟ้องคดีเอง และคนไหนฟ้องโดยผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม แต่ในคำฟ้องก็ยังปรากฏว่าโจทก์ได้ระบุอายุของโจทก์ที่ 1 ว่า 24 ปี โจทก์ที่ 2 อายุ 16 ปี ส่วนโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 นั้น แม้โจทก์จะมิได้ระบุอายุของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ไว้ แต่กลับระบุอายุของบิดาไว้แทนก็ตามแต่ก็ปรากฏในคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 3 เป็นเด็กหญิง และโจทก์ที่ 4 เป็นเด็กชายดังนี้ย่อมพอเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์ที่ 1 บรรลุนิติภาวะแล้วและฟ้องคดีด้วยตนเองส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2517

ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยบิดาให้ความยินยอมนั้นมิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย เพราะในคดีอาญานั้นผู้เยาว์จะเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3,5 และ 6


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2506

ความยินยอมของบิดามารดาที่ให้บุตรของตนซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ บิดาลงชื่อแต่ผู้เดียวให้ความยินยอมในการจดทะเบียนบุตรของตนเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นนั้น หากปรากฏว่ามารดามิได้ว่ากล่าวคัดค้านอย่างไรตลอดมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ และเมื่อเกิดมีคดีพิพาทเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของการรับบุตรบุญธรรมนี้มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง มารดาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องคัดค้านเลย ดังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่ามารดาได้ให้ความยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรม