การใช้สิทธิโดยสุจริต

มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560 
        ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2560 
        การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัท ด. จ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่พนักงานของรัฐ บริษัท ด. เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีไปให้นักการเมืองได้โดยตรง จึงทำสัญญาจ้างบริษัท ย. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการเพื่ออำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวและโจทก์ยอมนำเงินตามเช็คของบริษัท ย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัท ด. จ่ายให้เข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558 
        โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14405/2557 
     การที่โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยมารวมกับต้นเงินดังที่โจทก์คำนวณมาในคำฟ้อง เมื่อภาระหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์มีจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์ต้องรับผิดชำระแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13267/2557 
        จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้ รู้ดีว่าในวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้ง 17 ฉบับ พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น บริษัท ก. ลูกหนี้ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังถือโอกาสที่บริษัทเงินทุน ย. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ถึงการบอกเลิกบริษัทของตนนำเช็คที่สั่งจ่ายในนามของบริษัท ก. ไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุน ย. อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมได้เงินจากการขายลดเช็ค โดยทราบดีว่าเจ้าหนี้ไม่อาจจะบังคับเอาจากบริษัท ก. ลูกหนี้ได้เพราะลูกหนี้ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ และจำเลยที่ 4 นำสืบในศาลชั้นต้นแล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำข้อกฎหมายมาปรับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตได้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการสิ้นสภาพบุคคลแห่งบริษัท ก. เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2557 
       บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่าคู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุอีกว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง และความก้าวหน้าในทางราชการของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้อง มาตรา ๖ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558 
      โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานใน ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ในการรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าว แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2552
       คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อน สำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำข้อตกลงให้แก่โจทก์ว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยที่ 3 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีโดยสัญญาว่าหากเกิดการทุจริตในการขอรับ เงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดจำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วง หน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความไว้เฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15187/2551
การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความ รายละเอียดลงไป แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำ หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือ กระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอน 5 ปีนับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก. แล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธี ปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2551
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ และโจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 2 แต่ทางดังกล่าวในที่ดินของจำเลยที่ 2 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทางจำเป็น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าโจทก์ ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือทั้ง สองอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง

ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมอยู่จนไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ปิดล้อมอยู่นั้นเปิดทาง เพื่อให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 อันเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2551
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ต่อเติมแนวกันสาดจากอาคารมากเกินความจำเป็นและไม่ได้วางแผงขาย สินค้าบนถนน ฎีกาของจำเลยที่ว่ากระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด เพราะโจทก์ยินยอมแล้วเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขัดแย้งแตกต่างไปจากคำให้ การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

จำเลยต่อเติมแนวกันสาดและนำสินค้ามาวางขายบนถนนเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารศูนย์การค้าย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความ เสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 แม้เจ้าของร้านค้ารายอื่นจะกระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ด้วย แต่เมื่อโจทก์ประสงค์จะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนซึ่งเกิดจากการกระทำของ จำเลยให้สิ้นไป การที่โจทก์ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551
ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่ เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและ เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อ กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2551
ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ที่โจทก์นำยึดมิใช่สินสมรสของจำเลย แต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องได้รับมาจากบุพการี โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องด้วยจึงไม่มีอำนาจยึดที่ดินพิพาท ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้องแล้วว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึด นั้นมิใช่ของจำเลยหรือเป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง และมีคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาจากบุพการีโดยวิธีใดและเมื่อใด เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้หาจำต้องบรรยายมาในคำ ร้องไม่ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม

ผู้ร้องรู้เห็นและยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันตัวผู้ ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันแต่ จำเลยไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ได้ไม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส หรือสินส่วนตัว ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวและจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อย ที่ดินพิพาทหาได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2551
ผู้ร้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อจะให้ผู้ร้อง เข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ เป็นการสมคบกับจำเลยเพื่อจะมิให้มีการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ ของจำเลยไปชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2550
แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นจะให้สิทธิแก่โจทก์ที่ จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินก็ตาม แต่เหตุที่ไม่มีการหักเงินจากเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เนื่องจากนาย ว. ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขณะนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาที่จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้และค้ำประกัน ไม่ยอมดำเนินการ เพราะนาย ว. ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังป่วยอยู่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันแสดงว่าเหตุที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ใช้สิทธิตาม กฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึง ถึงความเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจะพึงได้รับ กรณีไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2550
สัญญากู้เงินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญา ข้อ 1 และข้อ 2 วรรคแรกระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี (ปัจจุบันร้อยละ 13.75 ต่อปี) วรรคสอง ระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ 2 ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้ กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนด ให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ โดยให้คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่คงค้างทั้งจำนวน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 1 เป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยใช้อัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. และให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้แต่แรกได้ ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นเรื่องที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นในกรณีที่จำเลย ผิดนัดซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย กรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับแต่จำเลยผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเท่านั้น จึงไม่ชอบ

ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องผ่านชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นราย เดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,300 บาท โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่าหากจำเลยผิดนัดในข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาให้ถือว่าผิด นัดทั้งหมด และจำเลยยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีก็ตามก็หาใช่เป็นการบังคับ ว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้คืนจากจำเลยทันทีไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผ่อนผันให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระหนี้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัด เพราะเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ดังนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและสำเนาประกาศของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยกรณีผิดนัดนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมานั้นไม่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนดโดย อาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรา ดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3212/2550
โจทก์มีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์เป็นหลักฐาน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ แต่เมื่อศาลพิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นโมฆะโจทก์ไม่สามารถบังคับ ได้ หนี้เงินกู้ตามสัญญากู้จึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับไป การที่โจทก์นำสัญญากู้มาฟ้องจึงเป็นการฟ้องเพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ที่ มีอยู่ตามกฎหมายถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8839/2549
โจทก์แก้ไขเดือนในใบส่งของเพื่อไม่ให้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แล้วนำมาฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายและใช้อ้างเป็นพยานในคดี เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระราคาค่าสินค้าตามใบส่งของดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2549
โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท ส. ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดินชื่อโครงการไดร์อิน ต่อมาปี 2528 บริษัท ส. ปิดโครงการดังกล่าวโดยที่ยังขายที่ดินไม่หมด ผู้ถือหุ้นในบริษัท ฯ จึงตกลงแบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท ส. ในส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ได้รับแบ่งปันที่ดินประมาณ 20 แปลง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท ส. จะใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะเป็นปรปักษ์แก่กันตามหนังสือของกรมที่ดิน และเวลาขายต่อจะต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงจะได้กระจายใส่ชื่อบุคคล ซึ่งโจทก์ไว้วางใจให้ถือแทนหลายราย ข. เป็นลูกจ้างโจทก์คนหนึ่ง ซึ่งโจทก์ให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปดแปลงแทนโจทก์ และโจทก์ได้จำนองที่ดินดังกล่าวค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคาร และโจทก์นำสืบว่านอกจากที่ดินทั้งแปดแปลงแล้ว โจทก์ยังดำเนินการให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนอีกหลายแปลง การกระทำของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับ ข. และผู้อื่นกระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของ ป.พ.พ. มาตรา 80 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การที่โจทก์ฟ้องเพื่อขอคืนที่ดินทั้งแปดแปลงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ ที่ดินทั้งแปดแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549
ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อ โจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อ ถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2549
โจทก์ จ้าง ส. ออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทแทนบริษัท ฟ. เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจึงมีสิทธิในเครื่องหมายบริการพิพาท แม้โจทก์จะเป็นผู้คิดค้นคำว่า LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า แต่เป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. และการจ้างออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทก็เป็นการกระทำแทนบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการพิพาทที่แท้จริง การที่ ป. ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาทและต่อมาโอนให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมกับพวกนำเครื่องหมายบริการพิพาทไปขอจดทะเบียนแล้วโอนมา เป็นของโจทก์เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2549
ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ โจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระเงินเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์หักเงินเดือนจำเลยทุก ๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีของทุก ๆ ปี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชำระหนี้ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลย วิธีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันย่อมไม่สามารถกระทำต่อไปได้อีก แต่ก่อนหนี้จะถึงกำหนดชำระในงวดเดือนกันยายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อขอชำระหนี้โดยการโอนเงินค่างวดเข้าบัญชีเงิน ฝากของโจทก์ โดยให้โจทก์แจ้งหมายเลขบัญชีและธนาคารที่โจทก์ให้โอนเงินให้จำเลยทราบเพื่อ จะได้โอนเงินให้ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ได้รับหนังสือแล้ว แต่หาแจ้งให้จำเลยทราบไม่ จำเลยจึงต้องแจ้งโจทก์อีก 2 ครั้ง แต่โจทก์กลับเพิกเฉยเช่นเดิม จำเลยจึงได้ชำระหนี้โจทก์โดยส่งเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติ แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ ซ้ำกลับทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดโดยอ้างว่าจำเลยผิดนัดจนจำเลยต้องนำ เงินไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แสดงให้เห็นถึงความขวนขวายที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อขอบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัย สิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่าย เดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่ง ต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและ ภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่า มีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจาก ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2549
จำเลย ที่ 1 เป็นผู้ปลูกเพิงบนถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำสิ่งของต่าง ๆ จำพวกยางรถยนต์และเศษไม้มาวางบนถนนพิพาทซึ่งเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของ โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์และบริวารของโจทก์ได้ รับความสะดวกในการใช้ถนนพิพาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือขาดความ สะดวกแก่โจทก์แล้วโจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์หรือบริวารของโจทก์สร้างราวตากผ้าในถนนพิพาทด้วย ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพราะจำเลยทั้งสองทำให้ประโยชน์แห่งถนนพิพาท ซึ่งเป็นทางภาระจำยอมลดไปหรือขาดความสะดวกแก่โจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

แม้จำเลยทั้งสองปลูกสร้างเพิงและวางสิ่งของจำพวกยางรถยนต์และเศษไม้จำนวนมาก บนถนนพิพาทตั้งแต่ปี 2533 คิดถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันฟ้องเกิน 1 ปีแล้ว แต่เมื่อเพิงและสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกระทำขึ้นยังมีอยู่บนถนนพิพาทตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี นี้ สิทธิในการฟ้องขอให้รื้อถอนเพิงและขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ออกไปจากถนนพิพาทซึ่งเป็นทางภาระจำยอมจึงยังคงมีอยู่ตลอดไป คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4351/2548
บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยกับ ว. ที่ให้โจทก์ทั้งสามถอนฟ้องคดีอาญาที่ยื่นฟ้องจำเลยกับ ว. ไว้ ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ นอกจากมีข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นโมฆะแล้ว ยังมีข้อตกลงอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว คงเหลือเฉพาะข้อ 4 และข้อ 5 เท่านั้น ที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้นำเงินจำนวน 700,000 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์แล้วแจ้งให้จำเลยทราบ และจำเลยได้ไปขอรับเงินดังกล่าวแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่จ่ายเงินให้เพราะจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้ง สามโดยปราศจากภาระติดพันได้ แสดงว่าฝ่ายจำเลยก็มีความประสงค์จะบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงประนีประนอมยอม ความ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าประสงค์ให้ข้อตกลงส่วนอื่นนอกเหนือจากเรื่อง การถอนฟ้องคดีอาญาคงมีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอยู่เช่นเดิม และข้อตกลงส่วนอื่นทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่ง ทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพฤติการณ์แห่งกรณีจึงสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีทั้ง สองฝ่ายเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ จึงไม่ทำให้ข้อตกลงประนีประนอมยอมความดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ข้อตกลงส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อตกลงเรื่องการถอนฟ้องคดีอาญายังคงมีผลผูกพันคู่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 173

จำเลยนำที่ดินไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่บุคคลภายนอกหลังจากทำบันทึกข้อตกลง ประนีประนอมยอมความกันแล้วโดยจำเลยไม่มีอำนาจกระทำได้ตามข้อตกลง จำเลยย่อมรู้ว่าทำให้โจทก์ทั้งสามเสียเปรียบ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และศาลพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามโดยปลอด ภาระจำยอมได้ไม่เป็นการกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก เพราะมิได้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยตามคำพิพากษาโดยลำพังเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2545
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลซึ่งการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของผู้ร้อง เมื่อ ส. เช่าซื้อรถของกลางจากผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะนำรถของกลางไปใช้กระทำผิดเมื่อใดการที่ผู้ร้องมาขอคืนรถของกลางภายหลังเกิดเหตุ 1 ปีเศษ ไม่พอฟังว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะได้รถของกลางคืนแต่เป็นการขอคืนเพื่อประโยชน์ของ ส. ผู้เช่าซื้อทั้งการที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทั้งที่ ส. ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 5 งวดสุดท้ายนั้น ก็น่าจะเป็นการให้โอกาสแก่ ส.ซึ่งเป็นลูกค้าชั้นดีและตามพฤติการณ์ไม่ปรากฏว่าส.รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ผู้ร้องมาขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2543
กำหนดเวลา "หนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด" ในการยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 หมายถึงกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่คดีเรื่องนั้นถึงที่สุด โดยเริ่มนับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกา มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบของกลาง แล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ และแม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในเรื่องริบของกลางแต่จำเลยยังอุทธรณ์เรื่องขอให้รอการลงโทษจำคุกอยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด
เหตุเกิดในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลบังคับ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์อยู่ จึงเป็นผู้มีอำนาจร้องขอคืนของกลางได้การที่ผู้ร้องยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนไปจากผู้ร้องและจะถือว่าผู้ร้องทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ซึ่งตามทางนำสืบก็มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2543
เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบฟังได้ว่าจำเลยต้องข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วก็เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำพยานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำให้การและยังขาดนัดพิจารณาอีกด้วย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการบังคับคดี เมื่อระยะเวลาในการบังคับคดีใกล้จะสิ้นสุดจึงมาฟ้องคดี ทำให้มีการคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมาและเป็นจำนวนมากนั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จะถือเป็นกรณีที่มีเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6487/2540
ผู้ร้องเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ การให้เช่าซื้อเป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในหลายข้อของผู้ร้อง ดังนั้น การที่ผู้ร้องให้เช่าซื้อรถยนต์คันของกลางจึงเป็นการประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของผู้ร้อง หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องมุ่งประสงค์แต่เพียงผลกำไรจากการขายสินค้าและราคาเช่าซื้อเป็นสำคัญไม่ ที่ผู้ร้องมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในชั้นสอบสวนก็ได้ความว่าเมื่อ พ. ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 4 งวดติดต่อกัน ผู้ร้องได้ให้พนักงานติดตามจึงทราบว่ารถยนต์คันของกลางถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ที่สถานีตำรวจ ทั้งปรากฏว่าขณะนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแล้ว ที่ผู้ร้องมิได้ร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในชั้นสอบสวนจึงมิใช่เป็นข้อพิรุธแต่ประการใด แม้สัญญาเช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้ออยู่ตลอดไปจนกว่าจะครบและรับผิดชอบบรรดาค่าเสียหายทั้งปวงในการใช้รถยนต์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่า พ. ยังจะต้องชำระค่าเช่าซื้ออีกหลายแสนบาท การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางที่แท้จริงยื่นคำร้องขอคืนในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยแท้ หาใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือพ. ผู้เช่าซื้อไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2538
เมื่ออธิบดีกรมทะเบียนการค้าออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ให้แก่จำเลยแล้วต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ใบม่านบังตาสำหรับเหล็กยืดจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านต่ออธิบดีกรมทะเบียนการค้าอธิบดีกรมทะเบียนการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของจำเลยจำเลยอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการสิทธิบัตรจำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีกับโจทก์เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดผลิตภัณฑ์ของโจทก์เป็นของกลางเมื่อผลิตภัณฑ์ของโจทก์มีลักษณะส่วนใหญ่หรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยมีข้อแตกต่างกันเพียงในรายละเอียดปลีกย่อยอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของจำเลยจึงมีเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522มาตรา36ให้มีสิทธิผลิตผลิตภัณฑ์หรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรหรือขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีผลิตแต่เพียงผู้เดียวการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานแต่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่เจ้าพนักงานตำรวจอายัดและยึดทรัพย์สินต่างๆของโจทก์เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ใช้ดุลพินิจอายัดและยึดสิ่งของซึ่งน่าจะเป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาในคดีอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของพนักงานสอบสวนไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หากเจ้าพนักงานตำรวจผู้ยึดมิได้ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจให้รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดโจทก์จะมาเรียกร้องจากจำเลยไม่ได้แม้ตามบันทึกการตรวจค้นระบุว่าจำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์ในการยึดและอายัดสิ่งของทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2537
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสัญญาเช่าซื้อระบุว่าจำเลยที่ 1ต้องประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และเสียเบี้ยประกันภัยโดยโจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เอาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้กับบริษัท ร. ก็เป็นการตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือโจทก์ให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อได้จากบริษัท ร.อีกทางหนึ่งด้วย อันมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อแสดงเจตนาต่อบริษัทร.ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วแต่บริษัทร. ก็อาจจะยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่สัญญาขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 การที่โจทก์จะเรียกร้องให้บริษัท ร. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ จึงมีขั้นตอนเสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อการสูญหายของรถยนต์เช่าซื้อโดยตรง การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัท ร. แต่ได้เรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยตรงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตชอบที่จะกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2549
จำเลยติดต่อขอชำระหนี้ และส่งเงินชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่รับชำระหนี้กลับยื่นฟ้องจำเลย การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5