การใช้จารีตประเพณีบังคับแทนกฎหมาย

มาตรา 4 กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559
            โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2559
         การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับและในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2559
            ส. เป็นผู้เอาประกันภัยสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคาร ก. เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าธนาคาร ก. แสดงเจตนาขอรับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าว ธนาคาร ก. จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ส. ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ค่าสินไหมทดแทนไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ส. มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย เพราะได้มาหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของ ส. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นมารดาของ ส. ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ส. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559
        ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดระบุว่า กรณีใดมิได้ตราไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รวมถึงกฎหมายอาคารชุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ตลอดจนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดมิได้มีบทบัญญัติให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ได้แก่มาตรา 1176 และมาตรา 1195 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การมอบฉันทะให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นกรณีที่การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเป็นการประชุมซึ่งมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1176 การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมย่อมเสียไปทั้งหมด หาใช่มีผลเพียงไม่นับการออกเสียงลงคะแนนของ อ. เป็นองค์ประชุมและคะแนนที่จะใช้ลงมติไม่
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558
            ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกสำนวนให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยให้ตกลงแบ่งระหว่างกันก่อน หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันโดยให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลระหว่างกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยที่ประชุมตกลงเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทรัพย์ต้องวางเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ประมูลได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประมูล หากไม่วางเงินส่วนที่เหลือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้ แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ ข้อตกลงในการประมูลนี้ถือเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกันอันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีผลใช้บังคับได้ สำหรับความรับผิดของผู้ประมูลได้ที่ไม่ชำระเงินก้อนแรก ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ บทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้คงมีเพียงมาตรา 516 เมื่อฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงในการประมูล ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558
         กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร" และแม้คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2554
              แม้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาล แต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่น นอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9750/2544
          ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายพร้อมกัน สิทธิของผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงยังไม่เกิด จึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้รับประโยชน์ เงินตามสัญญาประกันชีวิตก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย แต่แม้มิใช่มรดกของผู้เอาประกันภัยเพราะได้มาหลังจากผู้เอาประกันถึง แก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาท โดยธรรมของผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9764/2552
        เดิมโจทก์และจำเลยเป็นผู้เช่าห้องแถวซึ่งปลูกติดกันบนที่ดินแปลงเดียวกันของผู้ให้เช่า ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกธนาคารยึดขายทอดตลาด โจทก์จำเลยและผู้เช่าอื่นร่วมกันซื้อที่ดินจากธนาคารมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละ แปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็ต้องรื้อส่วน ที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพเดิมไปก่อน ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่ง ปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ หาใช่กรณีที่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1312 มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2552
            จำเลยปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและ มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึด ถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูก สร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดิน พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและ สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551
              ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของ นิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอด จนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042/2551
            ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมในระหว่างที่เช่าซื้อ... ที่ดินที่เช่าซื้อจะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งมาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม... ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" แต่ไม่ปรากฏว่ามีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ก็มีระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคหก ของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวใช้บังคับอยู่ ก่อนที่ ฉ. ถึงแก่กรรม จึงต้องนำระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวมาใช้กับ ที่ดินที่ ฉ. เช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 การสืบสิทธิการเช่าซื้อที่ดินของ ฉ. จึงต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าว ดังนั้นสิทธิการเช่าซื้อของ ฉ. จึงตกทอดทางมรดกแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรกก็คือโจทก์นั่นเองตามระเบียบคณะ กรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 หมวด 2 การตกทอดทางมรดกของสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อข้อ 11 ที่กำหนดว่า "เมื่อเกษตรกรถึงแก่กรรมให้สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็น อันดับแรก" ดังนั้นมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่วินิจฉัยให้แบ่งสิทธิ การเช่าซื้อของ ฉ. จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแบ่งสิทธิการเช่าซื้อของ ฉ. แก่โจทก์ทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551
            ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือน กับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2551
           บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องซึ่งร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านที่ผู้ ร้องปลูกอยู่ในที่ดินของผู้อื่นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ส่วน ป.ที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงวิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน ที่ดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1382 มิใช่กฎหมายใกล้เคียงที่นำมาใช้แก่กรณีของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2551
         การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดิน ดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้ เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุก ล้ำ แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องอยู่ภาย ใต้บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยก เว้นตามมาตรา 142 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2550
              จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินของ ล. เจ้าของที่ดินโดยสุจริต บ้านดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย หลังจาก ล. ถึงแก่ความตายมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวปรากฏว่าบ้านของจำเลยอยู่ในที่ดิน ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่โครงหลังคาบ้านซึ่งติดอยู่กับบ้านเป็นส่วนหนึ่งของบ้านล้ำเข้าไปในที่ดิน ส่วนที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นกรณีที่เทียบเคียงได้กับการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดย สุจริตตามบทกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคแรก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อกรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีต ประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เมื่อใช้มาตรา 1312 วรรคแรก ประกอบมาตรา 4 วรรคสอง มาปรับแก่คดีแล้ว ที่ดินของโจทก์ส่วนที่โครงหลังคาบ้านของจำเลยรุกล้ำเข้าไปจึงเป็นภาระจำยอม ที่ต้องไปจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวตามบทบังคับของมาตรา 1312 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2549
                   มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุด นั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการ เครื่องหมายการค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โดยโจทก์ไม่ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะคดีนี้มิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนฯ เนื่องจากมีผู้คัดค้านการจดทะเบียนตามมาตรา 35 ถึงมาตรา 38 แต่เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนฯ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 16 และมาตรา 18 และกรณีไม่อาจนำกำหนดเวลายื่นฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม มาตรา 38 มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. เพราะจะเป็นการนำบทกฎหมายใกล้เคียงกันอย่างยิ่งมาใช้บังคับในลักษณะจำกัด สิทธิของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2548
           ผู้ ร้องซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของห้าง โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างมีอำนาจกระทำการ แทนห้าง เพื่อผู้ร้องจะได้กระทำกิจการต่างๆ ในนามห้างได้ อันเป็นการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องของห้างมิให้เกิดความเสียหายเนื่องจากหุ้น ส่วนผู้จัดการคนอื่นไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจร่วมกับผู้ร้อง เพื่อดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้อื่นฉ้อโกงห้างทำให้ห้างเสียหาย แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของห้างว่างลงตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 73 บัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาวินิจฉัยคดีได้ดังนั้นหากได้ ความจริงตามคำร้องขอศาลก็สามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมาย ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2547
            เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวมิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดี โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษี ก่อนได้ กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตาม กฎหมายดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2548
           ผู้ร้องซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของห้าง โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างมีอำนาจกระทำการแทนห้าง เพื่อผู้ร้องจะได้กระทำกิจการต่างๆ ในนามห้างได้ อันเป็นการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องของห้างมิให้เกิดความเสียหายเนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการคนอื่นไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจร่วมกับผู้ร้องเพื่อดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้อื่นฉ้อโกงห้างทำให้ห้างเสียหาย แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของห้างว่างลงตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 73 บัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาวินิจฉัยคดีได้ดังนั้นหากได้ความจริงตามคำร้องขอศาลก็สามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2540
              จำเลยมีเจตนาก่อหนี้ด้วยวิธีนำเช็คไปแลกเงินสดอันเป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งที่ใช้บังคับได้เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินแต่เพียงบางส่วนจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้จนครบหนี้อันเกิดจากการนำเช็คไปแลกเงินสดตามกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ปรากฏว่าจำเลยชำระหนี้เป็นบางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่30มิถุนายน2534อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่30เมษายน2536ภายในอายุความสิบปีสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่าการนำเช็คไปแลกเงินสดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือออกกฎหมายลักษณะกู้ยืมเมื่อการนำเช็คไปแลกเงินสดมีจำนวนเงินเกินกว่า50บาทมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยไว้เป็นสำคัญโจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่นั้นจำเลยให้การว่าโจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องการนำเช็คไปแลกเงินสดไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมหรือผิดสัญญาซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญดังนั้นฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2539
          จำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือเข้าเทียบท่าและขนถ่ายสินค้าจากเรือเข้าโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยรายงานเรื่องเรือเข้าออกต่อกรมเจ้าท่าและกรมศุลกากรติดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคนที่มากับเรือแจ้งให้บริษัทอ.ผู้รับสินค้าทราบถึงการมาถึงของสินค้าและให้ผู้รับสินค้าไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าเป็นการกระทำแทนบริษัทผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้นไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616และมาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเรื่องรับขนของทางทะเลเพราะในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการนั้นและไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งร่วมในการขนส่งสินค้าพิพาทจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2537
             สัญญาประกันภัยทางทะเลที่ทำขึ้นนั้น เมื่อประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายทะเล ทั้งไม่มีจารีตประเพณี จึงต้องวินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 เมื่อกรมธรรม์ทำเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายของอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไป ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความให้ผู้เอาประกันภัยนำเรือไปตรวจสภาพ และปฏิบัติตามคำแนะนำให้ซ่อมแซมเรือ ตามกฎหมายอังกฤษข้อความดังกล่าวเป็นคำรับรองของผู้เอาประกันภัย เป็นคำมั่นสัญญาที่ผู้เอาประกันต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด และไม่จำต้องมีข้อความต่อท้ายว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติแล้วผู้รับประกันภัยจะหลุดพ้นความรับผิด ผู้เอาประกันภัยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก่อนนำเรือออกทะเล เมื่อเรืออับปางที่ต่างประเทศ ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดการที่บริษัทรับประกันภัยต่อได้จ่ายเงินให้จำเลยในรูปสินไหมกรุณา ซึ่งเป็นเงินที่ผู้รับประกันภัยจ่ายให้แม้จะมีความเห็นว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขในกรมธรรม์โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงไม่อาจเข้ารับช่วงทรัพย์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้